เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 20805 หนังสืออนุสรณ์งานศพทุกประเภท
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 13 ส.ค. 10, 11:50

เรียนคุณเทาชมพู คลับคล้ายคลับคลาว่า คุณหญิงเผชิญ ท่านเพิ่งเสียไปใช่หรือไม่ครับ ถ้าอย่างนั้นผมอยากทราบประวัติของท่านจังครับ รบกวนคุณเทาชมพูเล่าให้ฟังได้มั้ยครับ อีกเรื่องนึงคือ อยากทราบประวัติของคุณหญิงปฤกษ์ มารดาของท่านอานันท์  ปันยารชุน ซึ่งท่านเป็นสมาชิกแห่งสกุล โชติกเสถียรเช่นกัน ถ้าคุณเทาชมพูมีข้อมูลก็ขอเชิญลงข้อมูลด้วยนะครับ....ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 13 ส.ค. 10, 12:28

คุณหญิงเผชิญ ท่านถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2549 นี้เองค่ะ   ส่วนคุณหญิงปฤกษ์ ดิฉันไม่แน่ใจว่ามีประวัติของท่านหรือไม่  ต้องไปค้นหนังสืองานศพในตู้ก่อน    ใครมีก็กรุณาเล่าให้ฟังด้วย

เริ่มด้วยประวัติของคุณหญิงเผชิญ
คุณหญิงเผชิญ อรรถยุกติ หรือน.ส.เผชิญ โชติกเสถียร  เกิดเมื่อ 2 พฤษภาคม 2454  ที่บ้านซอยแม้นศรี เขตสะพานดำ กรุงเทพ
ท่านเป็นบุตรสาวคนโตของคุณพระวิทยุทูระลิขิต (หั่ง โชติกเสถียร) และคุณนายผิว(สกุลเดิม นิมิหุต)

คุณปู่ของคุณหญิงเผชิญ คือพระยาทิพยโกษา (หมาโต  โชติกเสถียร) คุณย่าชื่ออิ่ม   ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(พุก โชติกพุกกณะ) และคุณหญิงเขียน
คุณทวดของคุณหญิงเผชิญ คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(เล่าเถียน หรือเถียน โชติกเสถียร)
เพราะฉะนั้นคุณหญิงเผชิญก็มีเชื้อสายของพระยาโชฎุึกราชเศรษฐีทั้ง 2 ท่านด้วยกัน ทั้งพระยาโชฎึก(พุก) และพระยาโชฎึก(เถียน)

ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ   อ่านประวัติท่านคร่าวๆแล้ว  เรื่องราวของบิดามารดาท่าน มีสีสันไม่แพ้สี่แผ่นดินเลยทีเดียว   ถ้าเล่าก็จะยืดยาวมาก  ต้องหาเวลามาโพสต์ทีละเล็กทีละน้อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 13 ส.ค. 10, 17:39

นำรูปคุณพ่อของคุณหญิงเผชิญมาลง    หลวงวิทยุทูระลิขิต   รูปร่างหน้าตาและชีวิตท่านพอจะเป็นพระเอกนิยายระดับสี่แผ่นดินได้ทีเดียว
คุณพระวิทยุหรือเด็กชายหั่งเป็นบุตรพระยาทิพยโกษา ที่เกิดจากภรรยาที่ไม่ใช่ภรรยาเอก    เจ้าคุณพ่อนำท่านไปฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระสุริยะภักดี  (สนิท บุนนาค)
ชื่อพระสุริยะภักดี บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ  เราคงจำได้จากกรณีลอบรักกับเจ้าจอมอิ่มในรัชกาลที่ 3 จนถูกประหารชีวิต   ส่วนลูกชายบุญธรรมถูกส่งตัวไปเรียนที่ปีนังตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ  อยู่ที่นั่้นจนอายุ ๑๒  ก็เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จปีนัง    เด็กชายหั่งถูกคุณอาคือพระยาธรรมนุกูลมนตรี( อ้าว  เจ้าคุณพ่อของคุณเปรมตามเสด็จไปปีนังด้วย  คุณวันดีกับคุณหลวงเล็กทราบหรือยังคะ?) เรียกตัวมาถวายการรับใช้เพราะพูดภาษามลายูได้คล่อง
เด็กชายหั่งทำงานถวายได้ดีเป็นที่สบพระอัธยาศัยของเจ้านาย  และก็คงเป็นเด็กหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูด้วย    สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯทรงเห็นว่ามีแววดี  ก็ทรงชวนไปเรียนต่อในยุโรป     พระยาทิพยโกษาก็ปลาบปลื้ม รีบสนองพระเมตตา ถวายลูกชาย      เด็กชายหั่งจึงได้ไปเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่เยอรมันจนกระทั่งจบ
กลับมาสยามอีกครั้งเป็นหนุ่มเต็มตัววัยเบญจเพส     มาดโก้ขนาดไหน  กรุณาดูในรูป    คุณเปรมเองก็คงไม่โก้ได้เท่านี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 13 ส.ค. 10, 21:50

พระยาทิพยโกษามีภรรยาเอกชื่อคุณหญิงกุหลาบ กับมีภรรยารองๆอีกหลายคน  รวมทั้งมารดาของนายหั่งหรือคุณหลวงวิทยุด้วย    เมื่อคุณหลวงวิทยุฯกลับมาก็เข้าใจทำตัวอ่อนน้อมให้แม่เลี้ยงเอ็นดู  จนคุณหญิงกุหลาบรักลูกชายคนนี้ของเจ้าคุณราวกับลูกแท้ๆของท่าน
เจ้าคุณมีธิดากำลังเป็นสาวอยู่หลายคน    ตามประสาชายเจ้าชู้ท่านก็หวงลูกสาวชนิดริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม  ไม่ยอมให้ออกไปไหน   แต่คุณหลวงวิทยุก็วางแผนพาน้องสาวทั้งหลายไปเที่ยวตามประสาหนุ่มๆสาวๆจนได้   คือใจกล้าชวนน้องสาวปีนลงจากบ้านไปเที่ยวหลังเจ้าคุณกับคุณหญิงเข้านอนแล้ว  ออกไปท่องราตรีกัน   เจ้าคุณและคุณหญิงจับไม่ได้
ฝีมือระดับนี้  คุณเปรมสู้ไม่ได้ค่ะ

ลูกสาวคุณหญิงกุหลาบมี ๔ คน คือ
- คุณเลื่อน  ต่อมาเป็นคุณหญิงของพระยาสุรเทพภักดี  (สกุล ณ นคร)
- คุณลัย  ต่อมาเป็นคุณหญิงของพระยาเทพาธิบดี  (สกุลบุนนาค)
- คุณเอื้อม   ต่อมาเป็นคุณหญิงพระยาเทพวิฑูร   (สกุลวณิกกุล)
- คุณปฤกษ์    ต่อมาเป็นคุณหญิงพระยาปรีชานุศาสตร์ (สกุลปัณยารชุน    บิดาของคุณอานันท์ ปัณยารชุน)

มีคำเรียกคล้องจองกันว่า   คุณเลื่อนเหลวไหล  คุณลัยเรียบร้อย  คุณเอื้อมแช่มช้อย  คุณปฤกษ์เปรี้ยวจี๋   ก็คงตั้งกันเองในหมู่พี่ๆน้องๆ  คุณหญิงเผชิญท่านท่องจำเอาไว้ได้

ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น  บิดามารดามักจะเป็นฝ่ายหาคู่ให้บุตรธิดาของตัว     ลูกสาวมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะถึงเวลามีคนมาสู่ขอ เธอก็แล้วแต่พ่อแม่   แต่ลูกชายนั้นพอโตเป็นหนุ่มก็มักจะได้สาวๆในบ้านเป็นเมียเสียก่อนแล้ว     แล้วค่อยไปมีภรรยาออกหน้าออกตาที่พ่อแม่เห็นสมควร ทีหลัง     เรื่องทำนองนี้ใครอ่านสี่แผ่นดินคงจะจำได้ว่าคุณเปรมก็เจริญรอยตามนี้    หรือใครอ่าน"ความผิดครั้งแรก"ของ "ดอกไม้สด" ก็คงจะนึกออกว่าหลวงปราโมทย์สามีของวไลนางเอกของเรื่อง ก็ทำแบบเดียวกัน

กลับมาที่เรื่องคุณหญิงเผชิญอีกทีนะคะ
คุณหญิงกุหลาบเมตตาลูกเลี้ยงมาก  จึงคิดจะหาคู่ครองที่เหมาะสมให้   ในที่สุดก็ไปสู่ขอสาวชาววังให้คนหนึ่ง เป็นหญิงสาวหน้าตาสวยงาม บุคลิกดี   ชื่อผิว  เธอเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี     คุณผิวกับคุณหลวงวิทยุก็ได้สมรสกัน
คุณผิวคือมารดาของคุณหญิงเผชิญ     ดูคุณสมบัติแล้วก็เหมือนแม่พลอย ประมาณนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 09:02

     เช่นเดียวกับคุณเปรมก่อนสมรสกับแม่พลอย    ก็มีแม่ของตาอ้นอยู่แล้วเงียบๆในบ้าน   เมื่อกลับจากเยอรมันไม่เท่าไรคุณหลวงวิทยุก็ได้ "แม่อบ" สาวใช้ในบ้าน  แต่ไม่มีลูกด้วยกัน    ต่อมาได้ "แม่กลิ่น" คนในบ้านอีกคน จนมีลูกชายด้วยกันคนหนึ่ง
    เรื่องนี้ คุณผิวทราบตั้งแต่ก่อนแต่งงาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่    เพราะสังคมสมัยนั้นเป็น polygamy  คือมีคู่สมรสได้หลายคน    การที่ผู้ชายมีเมียเดิมมาก่อนแต่งงาน ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย ตราบใดเขายังไม่มีภรรยาเอกซึ่งผู้ใหญ่ตบแต่งรดน้ำกันตามประเพณี   ต่อไปเธอก็จะเป็นคุณหญิง ซึ่งเจ้าคุณก็มักจะมีนางเล็กๆตามมาอีกหลายคน   คุณหญิงบางคนก็หานางเล็กๆให้สามีเสียเองเพื่อจะได้ควบคุมได้ง่าย
   อีกอย่างคุณหลวงวิทยุก็หล่อออกปานนั้น    แล้วยังเป็นนักเรียนนอกในยุคที่นักเรียนนอกมีได้นับคนถ้วน   โก้กว่าคุณเปรมก็ตรงนี้
   แต่สถานการณ์ของคุณผิวเมื่อแต่งไปแล้ว ไม่เหมือนแม่พลอย    ในกรณีแม่พลอย คุณเปรมขจัดความยุ่งยาก ด้วยการให้แม่ของตาอ้นออกจากบ้านไป ก็คงมอบเงินทองไปให้มากพอจะไปตั้งตัวหาสามีใหม่ได้    แม่พลอยจึงมีตาอ้นคนเดียวไว้ให้เลี้ยงอย่างลูก     แต่ในบ้านของคุณหลวงวิทยุ  แม่อบและแม่กลิ่นไม่ได้ออกจากบ้าน     นอกจากนี้แม่กลิ่นก็ยังมีลูกชาย ซึ่งเป็นสายใยผูกพันพ่อไว้ได้มาก    จนทำให้คุณผิวยุ่งยากลำบากใจ มีปัญหาเรื่องแม่กลิ่น จนคิดหนัก เครียดจนอาจเป็นเหตุให้บุตรชายคนแรกของเธอ พี่ชายของคุณหญิงเผชิญซึ่งมีชื่อว่า "คุณชูริก" เกิดมาไม่สมประกอบ
     ปัญหาคลี่คลายลงเมื่อคุณหลวงกับคุณผิวตัดสินใจย้ายออกจากบ้านพระยาทิพยโกษาไปอยู่บ้านของตนเอง   โดยไปซื้อที่ดินผืนหนึ่งไว้ที่สะพานดำติดกับบ้านของบิดามารดาคุณผิว      เมื่อคุณหลวงกับคุณผิวไปปลูกบ้านอยู่ใหม่ติดกับบ้านพ่อตาแม่ยาย    แม่กลิ่นกับคุณหลวงก็ขาดกันไปโดยปริยาย    แม่กลิ่นก็พาบุตรชายออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นกันสองคนแม่ลูก    ผ่านไปหลายปีจนโตเป็นหนุ่ม บุตรชายที่ชื่อคุณจรูญก็หวนกลับมาเยี่ยมบิดาที่บ้านสะพานดำ    แต่ก็ห่างเหินไม่รู้จักกับน้องๆที่เกิดขึ้นภายหลัง   มีคุณหญิงเผชิญคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักพี่ชายต่างแม่คนนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 12:09

ก่อนคุณหญิงเผชิญเกิด 1 ปี  เจ้าคุณทิพยโกษาผู้เป็นปู่ก็ถึงแก่กรรมกะทันหัน     เกิดปัญหาใหญ่กับครอบครัว  เพราะท่านจากไปในเวลาที่ทรัพย์สินทั้งหมดเอาไปจำนองหลวงไว้เพื่อลงทุนทำระบบประปาในกรุงเทพ     ในหนังสืออธิบายไว้สั้นๆแค่นี้   ไม่ได้บอกว่าทำไมสมัยนั้นระบบสาธารณูปโภค หลวงท่านไม่ทำเสียเอง    ทำไมเอกชนต้องมาทำ  ดิฉันก็ได้แต่เดาต่อว่าคงจะคล้ายสัมปทาน หรือไม่ก็เป็นกิจการของเอกชน 100%  เหมือนเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีท่านทำเรื่องไฟฟ้าละกระมัง   ใครทราบช่วยอธิบายด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

ในเมื่อทรัพย์สินไปติดจำนอง ทั้งหมดก็ถูกยึดเข้าหลวง    ภรรยาและลูกๆก็เดือดร้อนไม่มีที่อยู่      คุณนายผิวผู้เป็นสะใภ้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ วิ่งเต้นเข้าเฝ้าเจ้านายเก่าของเธอ     เธอมีญาติอยู่วังโน้นวังนี้หลายวังด้วยกัน ก็สามารถทูลขอความช่วยเหลือได้จากหลายพระองค์    ในที่สุดก็ได้ที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงอนุเคราะห์มา 7 ไร่ ด้วยกัน ที่สะพานเหลือง

คุณหญิงเผชิญเกิดแล้ว อายุได้ 5-6 ขวบ   คุณหลวงวิทยุและคุณนายผิวก็ขายบ้านที่สะพานดำซึ่งอยู่ติดกับบิดามารดาคุณนายผิว   ย้ายไปอยู่บ้านใหม่ที่สะพานเหลือง
ที่ดินใหม่เป็นที่ดินตาบอด คือไม่มีทางเข้า    เพื่อจะสร้างสะพานเข้าไป  คุณนายผิวต้องไปกู้เงินแปดถึงเก้าร้อยบาทจากคุณหญิงหุ่น ภรรยาพระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกเสถียร)  คุณหญิงหุ่นท่านใจดีมาก ยกเงินให้เลยไม่ต้องใช้คืน    คุณนายผิวจึงถือว่าคุณหญิงหุ่นเป็นผู้มีพระคุณต่อครอบครัวของท่าน

คุณนายผิวมีหัวทางธุรกิจมากเอาการ     สร้างฐานะให้ดีขึ้นด้วยการสร้างห้องแถวให้คนจีนเช่า  มีคนมาเช่าทำโรงยาฝิ่น และโรงหมี่   ส่วนท่านก็ทำธุรกิจของท่านเองคือทำโรงฟอกหนัง
นอกจากนี้ยังรับเย็บเสื้อแต่งงาน   แม้แต่โรงภาพยนต์ก็เคยทำ

คุณหญิงเผชิญเติบโตเป็นสาวในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ  ซึ่งทำให้ธุรกิจของคุณแม่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร      แต่อ่านดูแล้ว คุณนายผิวก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐินีคนหนึ่ง   สมเป็นสตรีไทยแบบ "เปลก็ไกว  ดาบก็แกว่ง" โดยแท้

ประวัติชีวิตคุณหญิงเผชิญ  ถ่ายทอดจากความทรงจำอันมีค่าของท่านต่อธิดา  มีการเอ่ยถึงญาติมิตรผู้ใกล้ชิดมากมาย   บางหน้ามีรายชื่อเข้าไปเกือบ 20 ชื่อ  ให้ถอดออกมาด้วยความยากลำบาก    จะเว้นก็รักพี่เสียดายน้อง ลังเลอยู่หลายครั้งกว่าจะดำเนินเรื่องมาได้
จึงขอให้ผู้อ่านกระทู้นี้โปรดเห็นใจ    ปาเข้าไปหลายความเห็นแล้ว คุณหญิงเผชิญยังไม่ได้เจอคุณหลวงวิสูตรสักที
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 16:17

ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงบุตรธิดาของพระยาทิพโกษา (หมาโต  โชติกเสถียร) แล้ว  ต้องขออนุญาตเอ่ยถึงบุตรอีกท่านหนึ่งของท่านเจ้าคุณ คือ นายพันโท หลวงจรูญอักษรศักดิ์ (จรูญ  โชติกเสถียร)  คุณหลวงจรูญฯ นั้นจะเป็นบุตรคุณหญิงทิพโกษาหรืออนุภรรยาไม่แจ้ง  แต่เพราะพระยานริศรราชกิจ (สาย  โชติกเสถียร - ต่อมาเปลี่ยนราชทินนามอีกหลายครั้งสุดท้ายเป็น พระยาวิสูตรสาครดิษฐ) กับคุณหญิงไม่มีบุตร  จึงได้ขอเด็กชายจรูญไปเป็นบุตรบุญธรรม  เมื่อพระยานริศรราชกิจย้ายจากภูเก็จตขึ้นไปเป็นข้าหลวงใหญ่ที่เมืองนครเชียงใหม่  ก็ได้หอบหิ้วเด็กชายจรูญขึ้นไปเล่าเรียนที่เมืองนครเชียงใหม่  ได้เป็นนักเรียนหมายเลข ๑ ของโรงเรียนสอนหนังสือไทยเมืองนครเชียงใหม่ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานริศราชกิจออกไปเป็นอัครราชทูตสยามที่กรุงโตเกียว  ก็ได้นำเด็กชายจรูญออกไปเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น  จนเป็นตนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยประเทศญี่ปุ่น  ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ นายร้อยโท จรูญ  โชติกเสถียร ก็ได้รับคัดเลือกไปในกองทูตทหาร  ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนส่วนพระองค์ไปเรียนวิชาเสนาธิการทหารบกที่ญี่ปุ่น  กลับมารับราชการในกองทัพบกจนได้เป็นนายพันโท  เมื่อเกิดกบฏบวรเดชได้เข้ากับฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช  ถูกตีถอยร่นกลับไปโคราชแล้วต้องลี้ภัยไปอยู่อินโดจีนอยู่ระยะหนึ่ง  สงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้วจุงได้กลับเมืองไทย  ท่านผู้นี้เป็นบิดาของคุณหญิงแสงดาว  สยามวาลา   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 18:51

ขอบคุณที่มาเล่ารายละเอียดเพิ่มค่ะ คุณ V_Mee 
พันโทหลวงจรูญที่คุณวีมีเล่ามา  เป็นคนละคนกับพี่จรูญลูกชายแม่กลิ่น  พี่ชายต่างแม่ของคุณหญิงเผชิญ   นับญาติแล้วบอกได้ว่าเป็นลุง(หรืออา)กับหลาน กัน
คุณจรูญพี่ชายคนละแม่ของคุณหญิงเผชิญ รับราชการที่กรมโยธาธิการจนเกษียณในปี 2511  ไม่มีบุตร   ในบั้นปลายไปบวชอยู่วัดภคินีนาถ จนถึงแก่กรรม

เพิ่งรู้ว่าคุณหญิงแสงดาวเป็นพวกโชติกเสถียร     ตอนเล็กๆบ้านอยู่ใกล้ท่าน ท่านสมรสกับคุณอนุมัติ  สยามวาลาและนับถือศาสนาอิสลาม    ดิฉันเข้าใจผิด   นึกว่าท่านเป็นมุสลิมมาแต่กำเนิดเสียอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 17:37

ทิ้งกระทู้ไปเสียนาน   ขอกลับมาต่อให้จบ  ก่อนจะเล่าเรื่องหนังสืองานศพเล่มต่อไป

คุณหญิงเผชิญอยู่บ้านสะพานเหลืองในซอยสองพระ  เมื่อโตพอจะเรียนหนังสือ ก็เข้าเรียนที่ร.ร.สายปัญญา ใกล้วัดเทพศิรินทร์   
ออกจากบ้านนั่งรถม้าโยกเยกโคลงเคลงไปตามถนนปูด้วยอิฐ   มีเงินติดตัวไปวันละ ๑๐ สตางค์   พอจบชั้นประถมก็ไปต่อชั้นมัธยมที่ร.ร.เซนต์โยเซฟ
อายุสัก ๑๓-๑๔  คุณนายผิวก็ให้ลูกสาวลาออก  ถือว่าเล่าเรียนเขียนอ่านได้แล้ว    ท่านไม่ได้ติดใจจะให้ลูกสาวเรียนมากกว่านี้   เพราะอยากให้มาช่วยทำกับข้าวกับปลา ดูแลบ้านและไปรับใช้ญาติผู้ใหญ่มากกว่า

ขอหมายเหตุว่าค่านิยมแบบนี้เป็นของธรรมดาสามัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖    เพราะผู้หญิงยังไม่มีบทบาทในสังคมนอกบ้าน   เรียนมากไปก็เกินความจำเป็นเปล่าๆ

คุณพ่อของคุณหญิงเผชิญ คือคุณหลวงวิทยุฯ ได้เลื่อนเป็นพระวิทยุทูระลิขิตในพ.ศ. ๒๔๕๕ (ในรัชกาลที่ ๖)   และได้รับพระราชทานยศนาวาเอก  ต่อมาก็ย้ายจากกองทัพเรือมาเป็นรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข  จนถูกดุลยภาพในพ.ศ. ๒๔๖๘   ออกจากราชการมารับบำนาญเมื่ออายุเพียง ๔๙ ปี

ส่วนคุณนายผิวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ชื่อของบุตรธิดาเกือบทุกคน สมเด็จฯพระราชทานให้รวมทั้งชื่อคุณหญิงเผชิญ    เว้นแต่ชื่อพี่ชายคนโตคือ "ชูริก" เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์     
ดิฉันเดาว่าชื่อนี้เป็นภาษาเยอรมัน  ไม่ใช่ภาษาไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 17:50

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  มีผลกระทบต่อครอบครัว  เพราะคุณพระวิทยุฯถูกรัฐบาลของคณะราษฎร์เพ่งเล็งว่าเป็นฝ่ายนิยมเจ้า    แต่ก็ยังโชคดี ไม่ถึงขั้นโดนการเมืองเล่นงาน   คุณพระไหวทัน ตัดสินใจพาครอบครัวลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่จ.เพชรบุรี     อ้างว่าสุขภาพของคุณนายผิวไม่ดี  มีอาการโรคหัวใจและเบาหวาน
ปี ๒๔๗๖      หลังกบฏบวรเดช  ครอบครัวก็ไปพำนักอยู่เพชรบุรี  ที่จวนเทศาภิบาลมณฑล คือพระยาสุรพันธ์เสนี
คุณหญิงเผชิญพักอยู่ที่เพชบุรีด้วยความสุขจนพ.ศ. ๒๔๗๗  วันหนึ่ง คุณนายผิวมีอาการเพลีย  ลงนอนพักแล้วสิ้นลมไปอย่างสงบ ไม่มีอาการเจ็บป่วยมากกว่านี้
ส่วนคุณพระวิทยุฯ ไปได้หญิงสาวชาวเมืองเพชรเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง โดยคุณนายผิวไม่ได้ระแคะระคายเรื่องนี้    เมื่อสิ้นภริยาหลวง คุณพระก็อยู่ที่เพชรบุรีต่อไปกับภริยาคนใหม่   ส่วนลูกๆย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพกับคุณแสน้าสาว ซึ่งเป็นน้องคุณนายผิว

ชะตาของคุณหญิงเผชิญ ก็พลิกผันไปนับแต่สิ้นมารดา  ตอนคุณนายผิวถึงแก่กรรม  คุณหญิงอายุ ๒๓ ปี

เกร็ดสั้นๆเรื่องคุณน้าแสของคุณหญิงเผชิญ สนุกราวกับนิยาย   น่าจะเป็นเรื่องสั้นของดอกไม้สด หรือยาขอบ ได้ทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 18:13

เมื่อมารับผิดชอบดูแลหลานๆที่เป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว  คุณน้าแสของคุณหญิงเผชิญ เป็นผู้ใหญ่อายุ ๔๒ ปี   วันหนึ่งเพื่อนบ้านของท่านชื่อคุณหญิงเพื่อน นรพัลลภ มาปรึกษาว่าอยากจะหาภรรยาใหม่ให้ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชื่อพลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์)  ซึ่งเป็นพ่อม่ายลูกติด ๑๒ คน
พระยาวิชิตฯ เป็นผู้ใหญ่มีตำแหน่งงานสำคัญในอดีตมากมาย เช่นเป็นแม่ทัพภาคที่ ๑   เป็นอัครราชทูตพิเศษ ประจำสหรัฐอเมริกา  และอัครราชทูตประจำของฝรั่งเศส  แล้วมารับตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ก่อนเกษียณอายุ
คุณน้าแสก็เต็มใจเป็นแม่สื่อ ชักนำเพื่อนหญิงชื่อแม่สม(หรือโสม) ซึ่งเป็นผู้หญิงงามมาก มาให้เจ้าคุณสนใจ     คุณแสก็ชวนแม่สมมาพักที่บ้านชั่วคราว   เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าคุณมาเยี่ยมเยียน  มาทีไรก็ได้เจอทั้งแม่สมและคุณแส
เจ้าคุณคงจะพอใจแม่สม จึงชวนเธอไปกินน้ำชาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล  (โอ้โฮ  โก้มากเชียว)     พอไปถึงเจ้าคุณก็ไปเจอเพื่อนฝรั่งเข้าคนหนึ่ง  จึงบอกให้แม่สมนั่งรอก่อน  ท่านขอไปสนทนากับเพื่อนฝรั่งสักประเดี๋ยว     ไม่รู้ว่าเจ้าคุณสนทนาเพลินไปหน่อย หรือว่าแม่สมเป็นคนใจร้อนกันแน่    ปรากฏว่ากว่าเจ้าคุณจะพูดกับเพื่อนเสร็จกลับมาที่โต๊ะน้ำชา    แม่สมก็กลับบ้านไปแล้วเพราะรอไม่ไหว
เจ้าคุณวิชิตฯไม่เห็นเงาแม่สม   ท่านก็รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เห็นทีจะมาเป็นภรรยาท่านไม่ได้  เพราะคงไม่อยู่ในโอวาทสามี    ท่านก็เลยหันมาสนใจแม่สื่อแทน   จนให้เถ้าแก่มาสู่ขอ  จดทะเบียนสมรสกันเรียบร้อย   
คุณแสจึงกลายเป็นคุณหญิงวิชิตวงศ์วุฒิไกรไปด้วยเหตุนี้   แต่งงานแล้วก็ย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่บ้านเจ้าคุณที่ถนนราชดำเนิน ตรงที่เป็นสโมสรร.ร.นายร้อยจ.ป.ร. ในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 18:36

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตอนนั้น ประสงค์จะให้เจ้าคุณวิชิตฯเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทำหน้าที่พระอภิบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล     เหตุการณ์นี้เองทำให้ชีวิตคุณหญิงเผชิญเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เพราะคุณหญิงแส พาหลานสาวคนโตไปอยู่ด้วยที่สวิสด้วย

พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่ออายุ ๒๕  ปี  คุณหญิงเผชิญก็ออกจากสยามเดินทางไปยุโรป   แวะที่ปีนัง เจ้าคุณกับคุณหญิงเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯที่ทรงลี้ภัยการเมืองมาประทับที่นั่น       พระธิดาของสมเด็จฯซึ่งในหนังสือไม่ได้บอกว่าเป็นองค์ไหน คงจะถูกชะตากับคุณหญิงเผชิญ  จึงทรงปรารภว่าอยากให้คุณหญิงรู้จักหลวงวิสูตร 
เป็นครั้งแรกที่คุณหญิงได้ยินชื่อคุณหลวงวิสูตร     โดยไม่รู้จักเลยว่าหลวงวิสูตรเป็นใคร

เมื่อเดินทางไปถึงสวิตเซอร์แลนด์  ก็ได้เข้าเฝ้าทั้งสี่พระองค์ คือพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  สมเด็จพระพี่นาง  สมเด็จพระอนุชา และพระราชชนนี คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี    สมเด็จพระศรีฯ ทรงอบรมสั่งสอนคุณหญิงเผชิญทุกอย่างทางด้านประเพณีฝรั่ง  แม้แต่การเก็บผ้าเช็ดหน้าไว้ในกระเป๋า

คุณหญิงไปถึงสวิสได้ ๒ สัปดาห์  อดีตเลขานุการเอกของเจ้าคุณวิชิตฯสมัยท่านเป็นอัครราชทูตที่ฝรั่งเศส ได้ข่าว ก็เดินทางมาเยี่ยมเยียนแสดงความเคารพท่าน     ข้าราชการสถานทูตคนนี้ก็คือหลวงวิสูตรวิรัชชเทศ   หรือนายวิสูตร อรรถยุกติ  บุตรพระยาเผด็จดุลยบดีศรีสรคม
หลวงวิสูตรในตอนนั้นอายุ ๓๒ ปี   มีตำแหน่งเป็นเลขานุการเอก และ Charge a'Affaires   (อ่านว่าชาร์เจ ดาแฟร์)  คือทำหน้าที่แทนราชทูต เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลสยามยังไม่ได้แต่งตั้งอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส

คุณหลวงวิสูตร เห็นคุณหญิงเผชิญก็ชอบใจ  จึงทาบทามผ่านทางผู้ใหญ่คือเจ้าคุณวิชิตฯ     คุณหญิงเผชิญเขียนจดหมายไปขอความเห็นจากคุณพ่อ คุณพระวิทยุ   ท่านก็ตอบกลับมาว่าแล้วแต่ลูกสาวจะตัดสินใจ  ขออย่าให้เป็นการบังคับจิตใจกัน  ส่วนตัวท่านไม่ขัดข้อง
ต่อมาอีก ๑ ปีคุณหญิงเผชิญก็เข้าสู่พิธีสมรสกับคุณหลวงวิสูตร      คุณหญิงแสก็ให้หลานสาวคนรองชื่อคุณผกายเดินทางมาอยู่กับท่านแทนคุณหญิงเผชิญ   ต่อมาก็พบกับคุณเผดิม บุนนาค  นักเรียนไทยจากฝรั่งเศส
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 20:37

ภาพวันแต่งงานของคุณหญิงเผชิญและคุณหลวงวิสูตร  
เจ้าสาวคือหญิงสาวคนที่สองจากขวา แต่งชุดขาว   ส่วนเจ้าบ่าวยืนตรงกลาง   สุภาพสตรีในชุดสีเข้มทางขวาของเจ้าบ่าวคือคุณหญิงแส วิชิตวงศ์วุฒิไกร
โปรดสังเกตว่าในรูปนี้   สมเด็จพระศรีนครินทรฯ ทรงร่วมฉายด้วย  ทรงยืนอยู่ขวาสุด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 25 ส.ค. 10, 11:00

จาก 25 ปีแรกที่เป็นลูกสาวคนโตดูแลน้องๆ  แบ่งเบาภาระในบ้านจากมารดา  พรหมลิขิตก็ส่งให้คุณหญิงเผชิญเริ่มชีวิตช่วงที่ 2  ในฐานะภรรยาข้าราชการสถานทูตที่ปารีส  อยู่ท่ามกลางฝรั่งมังค่า   งานเลี้ยงต้อนรับทูตานุทูต   ตลอดจนต้อนรับนักเรียนไทยและบุคคลสำคัญจากสยาม
เกร็ดเล็กๆน้อยๆ ในหนังสืออนุสรณ์ที่ธิดาของท่านเขียนถ่ายทอดจากประสบการณ์ของมารดา สนุกและน่าอ่านมาก     ดิฉันรู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งแอบอยู่หลังประตูห้อง ฟังแม่ลูกคุยกระหนุงกระหนิงกัน

อย่างเรื่องนี้
เมื่อมาอยู่ปารีสใหม่ๆ   คุณหญิงเผชิญต้องออกงานสังคมกับคุณหลวงตลอดเวลา    สมัยนั้นสุภาพบุรุษฝรั่งเศสแสดงคารวะกับสุภาพสตรีที่แต่งงานแล้ว ด้วยการก้มศีรษะและจูบหลังมือขวาของผู้หญิง      คุณหญิงเป็นกุลสตรีไทยมาตลอดชีวิตจึงไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมนี้สักที   และตกใจทุกครั้งที่ฝรั่งจูบมือ    ต้องยกมือตัวเองขึ้นมาดม  เพราะเกรงว่ากลิ่นกระเทียมจะทำเหตุ  เพราะคุณหญิงใช้มือทำกับข้าวทุกวัน

ที่ฝรั่งเศส  สม้ยมาเที่ยวครั้งแรกเมื่อหมั้นกับคุณหลวง  คุณหญิงพบญาติสนิทที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ชื่อคุณหลวงประเสริฐ (วงศ์ โชติกเสถียร)
บิดาคุณหลวงเป็นพี่ชายแท้ๆของคุณพระวิทยุบิดาของคุณหญิง
เมื่อมาอยู่ฝรั่งเศสอีกครั้งในฐานะภรรยาข้าราชการสถานทูต   ครอบครัวคุณหลวงประเสริฐและคุณหญิงก็สนิทสนมกัน  หลายปีต่อมาลูกๆของคุณหญิงก็ได้ไปอาศัยอยู่กับมาดามประเสริฐ ภรรยาชาวฝรั่งเศสของคุณหลวง  ถึง ๑๒ ปี เมื่อไปเรียนอยู่ที่ร.ร.ประถมและมัธยมทางตอนใต้ของฝรั่งเศส    มิตรภาพของสองครอบครัวก็ยืนยาวมาตลอดชีวิตของมาดามประเสริฐ

หลังแต่งงานไม่นาน  ท่านก็ฝันว่ามีผู้หญิงฝรั่งจูงเด็กชายฝรั่งเข้าประตูสถานทูตไทยมาหา  บอกว่าเด็กคนนี้เป็นลูกคุณหลวง     เมื่อตื่นขึ้นคุณหญิงเล่าฝันให้สามีฟัง  คุณหลวงก็ตอบว่าเธอน่าจะคิดอะไรมากไป     เรื่องนี้ก็ไม่มีใครพูดกันอีก   คุณหญิงมารู้ทีหลังว่าฝันนี้สำคัญมาก

หยุดแค่นี้ก่อนค่ะ   ถ้าเล่าต่อเดี๋ยวไม่ตื่นเต้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 09:22

ปลายปีที่แต่งงานกัน คือพ.ศ. ๒๔๘๐   คุณหลวงวิสูตรก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอุปทูตไทยประจำประเทศอิตาลี    คุณหญิงเผชิญก็ต้องย้ายจากปารีสไปอยู่ที่โรม   สถานทูตที่อิตาลีมีข้าราชการประจำอยู่คนเดียว  เมื่ออุปทูตไป ก็รวมเป็น ๒ คน
ปีต่อมา คุณหญิงเผชิญตั้งครรภ์บุตรคนแรก  มีเหตุการณ์ประทับใจเรื่องหนึ่งในปีนั้นคือวันหนึ่งคนรับใช้ชาวอิตาเลียนที่จ้างมาทำงาน มารายงานว่ามีสามีภรรยาไทยคู่หนึ่ง ท่าทางเป็นผู้ดีมาก  มารออยู่เพื่อจะพบอัครราชทูต   คุณหญิงก็ลงไปที่ห้องรับแขก   ก็พบว่าแขกคู่นั้นคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี    คุณหญิงก็รีบลงหมอบกราบถวายบังคม ทั้งๆลุกขึ้นแทบไม่ไหวเพราะครรภ์แก่มาก
วันนั้น คุณหญิงก็เลยได้เป็นเจ้าภาพถวายเลี้ยงพระกระยาหาร  อาหารอย่างหนึ่งที่ทำถวายคือน้ำปลาหวาน  และอาหารไทย  มีผักชีที่ปลูกไว้ในสวนโรยหน้าด้วย

พระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยกับคุณหลวง  เพราะเมื่อสละราชสมบัติ ทรงอยู่ที่ลอนดอน  คุณหลวงวิสูตรก็ได้ถวายงานรับใช้    เมื่อเสด็จอิตาลีจึงทรงแวะมาเยี่ยมเยียน      หลังจากนั้นเมื่อคุณหญิงคลอดลูกคนแรกแล้วก็ได้รับเสด็จอีกครั้ง เมื่อเสด็จมาที่โรมเป็นครั้งที่สอง     ดิฉันเดาว่าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ พระโอรสบุญธรรมและคุณหญิงมณี สิริวรสาร ตามเสด็จมาด้วย    ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งในสองครั้งนี่แหละ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง