เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160511 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 10:33

ชีวิตของจอมพลป.จบน่ะครับ
ห้องเรียนยังไม่จบ ตราบเท่าที่ยังมีคนอ้อยอิ่งอยู่ ผมยินดีจะตอบคำถามหรือเพิ่มเติมเรื่องอะไรที่ท่านยังสนใจ

หรือยังงงกันอยู่ ขึ้นต้นเป็นผู้ร้าย ไหงกลายเป็นพระเอกตอนจบ
ยังเสียดายมหากาพย์ ไม่อยากให้จบค่ะ
งงเล็กน้อย  อยากฟังความเห็นของคุณนวรัตน ว่าในสายตาคุณ จอมพลป.เป็นผู้ร้ายหรือพระเอก
แล้วดิฉันจะมาออกความเห็นบ้างนะคะ
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 13:41

มีคำถามค่ะท่านอาจารย์คะ (เพราะไม่อยากให้กระทู้นี้จบ)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ลาออกจาก ส.ส. หลบไปบวช และ แต่ง สี่แผ่นดิน ในช่วง ป.2 (พ.ศ.2496 หากจำไม่ผิด)

หนังสือเล่มนี้ ทรงอิทธิพลกับคนยุคหลังมาก เพราะทำให้หวนคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ทำให้ดิฉันเข้าใจ กบฏบวรเดช ผิดความจริงไปมาก

กว่าจะตาสว่างว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องมาเรียนหนังสือที่เรือนไทยนี่แหละค่ะ

อะไรคือสาเหตุที่ ท่านคึกฤทธิ์ แต่งสี่แผ่นดินออกมาในแนวนั้นคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 14:02

^
คุณร่วมฤดีถามเหมือนทราบคำตอบ ผมขอให้ท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นผู้ขยายก็แล้วกัน ส่วนผมจะตอบคำถามของท่านอาจารย์เทาชมพู
.
.
คนเราเกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่เด็กจนแก่นั้น ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่ามีการเกิดและดับทุกขณะจิต เพียงแต่กระบวนการนั้นเร็วมากจนคนที่ไม่ได้ฝึกมาจะไม่รู้สึก เห็นแต่สันตติ(ความต่อเนื่อง) อันนี้ทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้ด้วยการเอาฟิมล์ภาพยนต์มาส่องดู จะเห็นว่าเป็นภาพแต่ละภาพจะมีความแตกต่างกันอยู่ทีละนิดๆ แต่พอฉายเรากลับเห็นแต่ความต่อเนื่อง เพราะเราจับช่วงที่มันขาดตอนไม่ทันนั่นเอง จิตของคนนั้นเมื่อดับไปแล้วเกิดจิตดวงใหม่อย่างรวดเร็วกว่าที่เห็นจากภาพยนต์มาก และจิตดวงใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลง ผิดแผกไปกับจิตดวงเดิมเสมอ มีเพียงบางอย่างที่ถ่ายทอดมา บางอย่างก็เลิกละไป ด้วยอิทธิพลของกรรมในขณะนั้น

ลองพิจารณาทบทวนดูให้ดี เราเมื่อตอนเด็กๆมีความแตกต่างกับเราในปัจจุบัน แทบจะว่าเป็นคนละคนกันเลยก็ย่อมได้ รูปธรรมนั้นเปลี่ยนแน่ แต่นามธรรม บางอย่างเท่านั้นที่อาจจะสืบเนื่องไป เช่นความจำบางเรื่อง ซึ่งก็ไม่แน่นอนอีกว่าจะจำได้ตลอดไปหรืออีกนานแค่ไหน ส่วนความคิดความอ่านนั้นต่างกันแน่

จึงเป็นไปได้เรื่องผู้ร้ายกลับใจ หรือผู้ทรงศีลกลายเป็นผู้ทุศีล ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ผู้นั้นนำตนเข้าไปดูดซับอยู่

จึงไม่แปลกว่าหลวงพิบูลกับจอมพลป.จะเป็นคนละคนกันได้ด้วยเหตุนี้  สิ่งแวดล้อมในตอนแรกได้สร้างหลวงพิบูลที่ทะเยอทะยาน เป็นทหารที่ต้องฆ่าศัตรูเพื่อตนจะได้เป็นขุนศึก เป็นนักการเมืองที่ไม่กลัวบาปในการขจัดผู้ที่อยู่ตรงกันข้ามเพื่อตนจะได้เป็นใหญ่ เมื่อหลวงพิบูลกลายเป็นจอมพลป. เกมเดิมๆที่เคยเล่นแล้วได้ผลดีอยู่ ก็ชักจะไม่เที่ยงเสียแล้ว ศัตรูที่จะทำลายจอมพลป.ได้มิใช่คนอื่นไกลเช่นแต่ก่อน แต่เป็นพวกเดียวกันเองที่บางคนอยู่เคียงข้างกายด้วยซ้ำ แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จิตของคนก็ย่อมเปลี่ยนไป ไม่น้อยก็มาก

โชคดีที่จอมพลป.หันเข้าหาพระ จนมีความคิดที่จะสร้างพุทธมณฑลมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ล้างมืออันเปื้อนเลือดของพระองค์หันมาเป็นพุทธศาสนูปถัมภก นอกจากนั้นแล้ว จอมพลป.ยังมีความคิดที่จะสร้างหนังเรื่ององคุลีมาล เป็นนัยว่าจะบอกใบ้ให้คนไทยทราบว่า ฆาตกรฆ่าคนมาเป็นพันก็ยังสามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านไม่ใช่ฆาตกรอย่างนั้นด้วยซ้ำไป โปรเจคนี้ผมไม่ได้ว่าเรื่อยเปื่อย ท่านมีความคิดที่จะส่งอาจารย์กรุณา กุศลาสัยไปทำการวิจัยเพื่อเขียนบทเรื่องนี้ที่อินเดียด้วย เพียงแต่ยังทันได้ดำเนินการเท่านั้น

ผู้ที่ขี่หลังเสืออยู่ เมื่อเหนื่อยล้า ย่อมหาจังหวะที่จะกระโดดหนี แม้จะต้องโดนเสือกัดบ้างก็ขออย่าให้ถึงตาย คนส่วนมากอาจจะดูว่าจอมพลป.ท่านรอดมาแล้วย่อมไม่อยากกลับไปรนหาที่อีก แต่ผมเชื่อว่าถ้าท่านรู้แพ้รู้ชนะ รู้ละ แล้ววาง ใจเป็นเด็ดเป็นขาดตั้งแต่ตอนขับรถลงจากเวทีไม่ได้คิดกลับไปลุ้นให้บ้านเมืองวุ่นวายอีก 

อ้างถึง
อยากฟังความเห็นของคุณนวรัตน ว่าในสายตาคุณ จอมพลป.เป็นผู้ร้ายหรือพระเอก

ชีวิตคือละครโรงใหญ่ ผู้ที่เล่นเป็นนักการเมืองมีบทให้แสดงอยู่ 8 ประเภทในความเห็นของผม
1 มาอย่างพระเอก ไปอย่างพระเอก
2 มาอย่างพระเอก ไปอย่างจืดๆ
3 มาอย่างพระเอก ไปอย่างผู้ร้าย
5 มาอย่างจืดๆ ไปอย่างจืดๆ
6 มาอย่างผู้ร้าย ไปอย่างพระเอก
7 มาอย่างผู้ร้าย ไปอย่างจืดๆ
8 มาอย่างผู้ร้าย ไปอย่างผู้ร้าย
จอมพลป.ท่านได้รับบทให้โน้มน้าวใจคนดูว่า มาอย่างผู้ร้าย ไปอย่างพระเอก
ส่วนจอมพลสฤษดิ์ได้รับบทให้โน้มน้าวใจคนดูว่า มาอย่างพระเอก ไปอย่างผู้ร้าย
ส่วนจริงๆแล้ว ชีวิตของท่านทั้งสองที่อยู่นอกบทอาจจะเป็นอีกเรื่องนึง ในฐานะที่เป็นปุถุชนที่มีทั้งความชั่วและความดีเหมือนกับคนอื่น และอาจมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ทราบ จึงไม่สามารถฟันธงว่าสรุปบวกลบคูณหารกันแล้ว ใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย

เป็นหน้าที่ที่ท่านผู้อ่านจะใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล วินิจฉัยกันเอาเองนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 14:37

มีคำถามค่ะท่านอาจารย์คะ (เพราะไม่อยากให้กระทู้นี้จบ)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ลาออกจาก ส.ส. หลบไปบวช และ แต่ง สี่แผ่นดิน ในช่วง ป.2 (พ.ศ.2496 หากจำไม่ผิด)

หนังสือเล่มนี้ ทรงอิทธิพลกับคนยุคหลังมาก เพราะทำให้หวนคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ทำให้ดิฉันเข้าใจ กบฏบวรเดช ผิดความจริงไปมาก
กว่าจะตาสว่างว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องมาเรียนหนังสือที่เรือนไทยนี่แหละค่ะ
อะไรคือสาเหตุที่ ท่านคึกฤทธิ์ แต่งสี่แผ่นดินออกมาในแนวนั้นคะ

^
คุณร่วมฤดีถามเหมือนทราบคำตอบ ผมขอให้ท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นผู้ขยายก็แล้วกัน ส่วนผมจะตอบคำถามของท่านอาจารย์เทาชมพู


ไม่อยากให้คุณร่วมฤดีถือเอาคำตอบในเรือนไทยเป็นการชี้ขาด   แม้ดิฉันเชื่อว่าคุณนวรัตนค้นคว้าศึกษามาดีแล้วก่อนจะตอบก็ตาม  แต่อยากจะให้คุณร่วมฤดีเปิดใจไว้บ้าง   เหมือนเรามองเก้าอี้กลางห้อง มาจากมุมต่างๆของห้อง ก็ย่อมมองเห็นแต่ละมุมภาพของเก้าอี้ ไม่เหมือนกัน

สี่แผ่นดินแต่งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2493  เป็นช่วงหลังรัฐประหารของจอมพลผิน  ผู้นำจอมพลป.กลับคืนสู่อำนาจ     กบฏวังหลวงนำโดยนายปรีดีและทหารเรือส่วนหนึ่งซึ่งยึดพระบรมมหาราชวังเป็นที่บัญชาการต้องพ่ายแพ้  หลบหนีออกนอกประเทศไป    ถ้าใครสักคนหนึ่งมองพระบรมมหาราชวังเหมือนสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์   ก็คงจะสะเทือนใจ เมื่อนึกว่าในอดีตที่ตัวเองยังทันเห็น  สถานที่นี้เคยเป็นที่น่ายกย่องอย่างสูง  ผู้คนเคารพยำเกรง  ผ่านมาเพียง 27 ปี  กลายเป็นสนามรบ โดยต่างฝ่ายไม่กลัวเลยว่าปืนหรือรถถังนั้นจะถล่มส่วนไหนให้ทลายลงบ้าง  ไม่เกรงแม้แต่จะกระทบกระเทือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยกราบไหว้บูชากันอยู่  
เพราะมองเห็นข้อนี้   จึงไม่แปลกที่ม.ร.ว. ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จะเอาประสบการณ์เมื่อวัยเด็ก  คำบอกเล่าของเจ้านาย และหนังสือเก่าๆที่เกี่ยวกับเรื่องราวในวังและนอกวัง  มาผสมผสานผูกเป็นเรื่องขึ้นมา     ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นชาววัง  จะมีอะไรที่ท่านถนัดที่เขียนมากกว่าเรื่องวัง  และในเมื่อท่านรักวัง  ก็เป็นธรรมดาที่ท่านก็บรรยายวังได้งดงามอย่างยิ่งในความรู้สึกของท่าน

เมื่อเขียนขึ้นแล้ว  ท่านก็คงมองจากมุมมองของผู้รักอดีต และรักสถาบัน   เพราะฉะนั้นการโหยหาอดีตจึงมากกว่าพวกเราซึ่งเกิดไม่ทัน หรือเกิดก็คงอยู่ห่างๆ ไม่ได้ผูกพันใกล้ชิด      การมองกบฏบวรเดชว่าเป็นการฆ่ากันระหว่างคนไทย ก็ไม่ใช่มุมมองที่พูดได้ว่าผิดความจริง   ตาอ้น ทหารฝ่ายกบฏที่เสียน้ำตาทุกครั้งที่ต้องประหัตประหารข้าศึกซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันเอง ก็น่าจะมีทหารไทยหลายคนรู้สึกเช่นนี้  ไม่ได้ดัดจริตจนเกินไป  เพราะความเป็นจริง ก็ใช่ว่าทหารล้วนไชโยโห่ร้องที่ยิงกันได้เสียที่ไหน
ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชนั้น ก็อย่างที่คุณนวรัตนกำหนดตัวละครในโลกใบใหญ่ไว้   เราจะมองท่านเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายก็ได้     ถ้าคุณร่วมฤดีเชียร์คณะราษฎร์ว่าทำถูกแล้ว   พระองค์เจ้าบวรเดชท่านก็ต้องเป็นผู้ร้าย       แต่ถ้าคุณร่วมฤดีไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎร์  คุณก็อาจจะเสียดายว่าพระเอกทำการไม่สำเร็จ   หรือถ้ารู้สึกกลางๆไม่ได้ชอบฝ่ายไหนเป็นพิเศษ ก็อาจจะมองว่า ก็พอกันละน่า   ต่างฝ่ายต่างก็ประสงค์อำนาจไว้ในมือตนเอง     มันมีความหลากหลายในความคิดเห็น ที่เราเห็นต่างกันได้โดยไม่ต้องหักล้างกัน  
ส่วนตัวดิฉัน ชอบนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน  เพราะมองเรื่องนี้เป็นนิยายเป็นอย่างแรก และมองว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เป็นอย่างที่สอง    ข้อมูลอะไรถูกแย้ง  ถูกต่อว่าหรือหักล้างไปบ้างก็ไม่สำคัญ     เพราะมันไม่ได้ไปลดคุณค่าของเรื่องที่เต็มเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์   มองได้อย่างนี้แล้วอ่านต่อได้อย่างสบายใจค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 15:03

เป็นคำตอบที่ยอดเยี่ยมกว่าที่ผมคาดหวังมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 15:10

ทีนี้มาตอบเรื่องจอมพล ป.บ้าง

ก็เห็นว่าเป็นธรรมดาของผู้มีอำนาจ ใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ   ยิ่งอยู่ในอำนาจนานมากก็มีโอกาสใช้พระเดชได้มาก    เมื่อใช้มากก็ทำบาปได้มาก   ส่วนทำดีกับผู้คนก็คงจะมีอยู่ไม่น้อย  ไม่งั้นท่านคงไม่มีบารมีพอจะนั่งเก้าอี้อยู่ได้ตั้ง 25 ปี   คนอื่นว่าเก่งแค่ไหน หรือดีแค่ไหน ก็ยังหากองหนุนได้ไม่เท่าท่าน
ส่วนการทำบุญกุศลนั้นไม่ทราบรายละเอียดว่าท่านบำเพ็ญไว้มากน้อยแค่ไหน    ถ้าทำเรื่องพุทธมณฑล  ดิฉันก็เผอิญเป็นชาวพุทธที่เชื่อว่าอามิสบูชานั้นได้ผลไม่เท่ากับปฏิบัติบูชา    บางทีท่านบวช 24 วันอาจเป็นมรรคผล ลดละกิเลศได้ดีกว่าเสียอีก    เสียดายว่าท่านไม่ได้บวชนานกว่านี้  
ตอนจบของชีวิตนักการเมืองที่มาด้วยอำนาจ ก็ย่อมไปด้วยอำนาจ    จะเรียกว่าพระเอกหรือผู้ร้ายก็คงเรียกไม่ถูกอยู่ดีละค่ะ   เอาเป็นว่าเห็นต่างจากคุณนวรัตนนิดหน่อย  ว่าท่านน่าจะมาแบบผู้ร้ายครึ่งพระเอก  แต่ไปแบบจืดๆ มากกว่า     ถ้าไปแบบพระเอก ดิฉันขอยกให้พระยาฤทธิ์อัคเนย์ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 16:22

อ้างถึง
ถ้าทำเรื่องพุทธมณฑล  ดิฉันก็เผอิญเป็นชาวพุทธที่เชื่อว่าอามิสบูชานั้นได้ผลไม่เท่ากับปฏิบัติบูชา    บางทีท่านบวช 24 วันอาจเป็นมรรคผล ลดละกิเลศได้ดีกว่าเสียอีก


เป็นเช่นนั้นครับ

อ้างถึง
เอาเป็นว่าเห็นต่างจากคุณนวรัตนนิดหน่อย  ว่าท่านน่าจะมาแบบผู้ร้ายครึ่งพระเอก  แต่ไปแบบจืดๆ มากกว่า     ถ้าไปแบบพระเอก ดิฉันขอยกให้พระยาฤทธิ์อัคเนย์ค่ะ

เคารพในความเห็นต่างครับ
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 23:16

อ้างถึง
ถ้าคุณร่วมฤดีเชียร์คณะราษฎร์ว่าทำถูกแล้ว   พระองค์เจ้าบวรเดชท่านก็ต้องเป็นผู้ร้าย       แต่ถ้าคุณร่วมฤดีไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎร์  คุณก็อาจจะเสียดายว่าพระเอกทำการไม่สำเร็จ   หรือถ้ารู้สึกกลางๆไม่ได้ชอบฝ่ายไหนเป็นพิเศษ ก็อาจจะมองว่า ก็พอกันละน่า   ต่างฝ่ายต่างก็ประสงค์อำนาจไว้ในมือตนเอง     มันมีความหลากหลายในความคิดเห็น ที่เราเห็นต่างกันได้โดยไม่ต้องหักล้างกัน

ดิฉันเคารพในข้อคิดตรงนี้ของอาจารย์ค่ะ เห็นด้วยในความหลากหลาย และไม่ได้รังเกียจ สี่แผ่นดิน

เพียงแต่ รู้สึกเศร้าใจที่ History always repeat itself
เพราะจนถึงทุกวันนี้ ชาติของเรายังหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์
ที่ผู้นำทางการเมืองหรือทหารยังแย่งชิงอำนาจด้วยการ รัฐประหาร
 
ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หรือ เพราะความจงรักภักดีอย่างบริสุทธิ์

สี่แผ่นดิน เป็นหนังสือที่ดิฉันคิดว่าคนไทยต้องอ่าน นอกจากสาระในเรื่องแล้ว
อัจฉริยะภาพในการเขียนของท่านคึกฤทธิ์ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

ส.ศิวลักษณ์ เคยตั้งข้อสังเกตุว่า ยุคท่านจอมพล ป.
ท่านคึกฤทธิ์วิพากษ์วิจารการเมืองมากกว่ายุคจอมพล สฤษดิ์

ดูเหมือนว่า พี่น้องปราโมชทั้ง 2 ไม่ชอบคณะราษฏร์ค่ะ

 

 

บันทึกการเข้า
alias1124
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 00:21

กว่าจะตามอ่านกระทู้ได้ เล่นเอาเหงื่อหยดครับ เพราะผมตามมาตั้งแต่กระทู้พระยาทรงฯ
แล้วเผอิญไม่มีเวลาติดตามอยู่นาน กลับมาอีกที เพิ่มอีก 2 กระทู้ยาวๆ ขอเรียนท่าน
อาจารย์ทั้งหลายว่าขอบคุณมากที่ให้ความรู้ดีๆที่ไม่เคยได้ทราบ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 10:32

อ้างถึง
ส.ศิวลักษณ์ เคยตั้งข้อสังเกตุว่า ยุคท่านจอมพล ป.
ท่านคึกฤทธิ์วิพากษ์วิจารการเมืองมากกว่ายุคจอมพล สฤษดิ์

ดูเหมือนว่า พี่น้องปราโมชทั้ง 2 ไม่ชอบคณะราษฏร์ค่ะ

ตอบทีละข้อ
ม.ร.ว. เสนีย์ และม.ร.ว.คึกฤทธิ์  เป็นเหลนทวดของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย     ปู่ของท่านคือกรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒   
ถ้าลำดับญาติกันตามชั่วคน พูดด้วยภาษาสามัญคือ   กรมขุนวรจักรเป็นพี่น้องของรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔  พระองค์เจ้าคำรพท่านพ่อของคุณชาย ก็นับได้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องของรัชกาลที่ ๕   
ส่วนตัวม.ร.ว.เสนีย์และม.ร.ว.คึกฤทธิ์อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกับรัชกาลที่ ๖ และ ๗   
ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่คนเราจะไม่นิยมยินดีกับผู้ที่เป็นปรปักษ์กับญาติผู้ใหญ่ของเรา และยิ่งปรปักษ์นั้นเหวี่ยงแห เบียดเบียนไปทั้งตระกูล   เราก็คงจะทำใจให้เป็นมิตรกับคนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ดี

จอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกฯที่ไม่ได้มาจากคณะราษฎร์    ไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกัน   ตรงกันข้าม จอมพลสฤษดิ์แสดงให้เห็นด้วยว่าเชิดชูสถาบันกษัตริย์   แม้อำนาจการบริหารอยู่ที่ตัวจอมพลสฤษดิ์   แต่ก็ไม่ได้มองว่าสถาบันเป็น "อำนาจเก่า" ที่จะต้องปราบปรามให้หมดเสี้ยนหนาม อย่างความคิดของจอมพลป.
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 11:13

ความแตกต่างระหว่าง จอมพล ป. และ จอมพลสฤษดิ์ คือ

ฝ่ายแรก ใจแคบ กลัวเสียอำนาจ ทนคนคิดเห็นต่างจากตนไม่ได้ หวาดระแวงคนเก่ง โดยเฉพาะฝ่ายนิยมเจ้า ทำให้เหลือแต่คนไม่ดี หรือ มือไม่ถึงในการทำงานให้ประเทศ อันนี้น่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ ปราชญ์อย่างท่านคึกฤทธิ์อึดอัดใจ

จอมพลสฤษดิ์ แม้จะไม่ให้เสรีภาพหนังสือพิมพ์เท่าไรนัก แต่ก็ ยอมรับคนเก่งให้ทำงานโดยท่านจะไม่แทรกแซง เราจึงได้เห็น ท่านวรรณไวทยากรณ์ ด.ร.ถนัด คอมันต์ ด.ร.ป๋วย อึ้งภากร เข้ามาร่วมกันพัฒนาชาติ และที่สำคัญ ท่านให้ความเคารพสถาบันอย่างเห็นได้ชัด ยุคนี้ ท่านคึกฤทธิ์น่าจะสบายใจกว่า

ครุกรรม ที่ จอมพล ป.ทำไว้สมัยที่เรืองอำนาจ จะเบาบางหรือลดทอนลงได้ ก็ต้องด้่วย ครุกรรมฝ่ายดีที่มีกำลังมากกว่า

การสร้างพุทธมณฑล พร้อม ๆ กับการโกงเลือกตั้งในเวลาเดียวกัน ย่อมไม่อาจช่วยอะไรท่านได้เลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 11:40

เพื่อนคนหนึ่งที่ติดตามเรือนไทยประจำแต่ไม่ค่อยโพสต์ มองอีกมุมหนึ่งว่า   เรื่องปลงตกหรือปล่อยวางนั้นไม่รู้ละ   แต่เห็นว่าคนที่อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง ๒๕ ปี  จนเข้าวัยชรา   คงจะชั่งน้ำหนักได้ว่า ต่อให้กลับมาอยู่ในอำนาจได้อีก ก็คงจะเหลือเวลาไม่มากนักอยู่ดี   การขึ้นสู่อำนาจนั้นเหนื่อยสาหัส แต่การรักษาอำนาจยิ่งหนักหนาสาหัสกว่า    บวกลบแล้วก็คงไม่คุ้ม
ยิ่งถ้าพยายามกลับมาแล้วกลับไม่ได้  ก็อาจจะสูญเสียทุกอย่างที่มีอยู่ในเวลานี้     รัฐประหารต้องใช้ทั้งกำลังเงินและกำลังคน  
นอกจากนี้อำนาจเหมือนสายน้ำ  ไหลผ่านไปแล้วไม่กลับมา    ถึงไม่มีจอมพลสฤษดิ์ ก็มีคนอื่นที่เขาจะขึ้นมาแทน   เรื่องอะไรเขาจะให้ย้อนกลับมาที่ท่าน
ท่านอาจจะตรองด้วยเหตุผล มากกว่าตรองด้วยหลักธรรม  แต่ก็นำไปสู่คำตอบเดียวกัน

เรื่องจอมพลสฤษดิ์   เห็นว่าได้สร้างสังคมที่มั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยกว่าสมัยนี้    แต่เสรีภาพทางการเมือง น้อยกว่าสมัยนี้อย่างไม่เห็นฝุ่น      ชาวบ้านในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถ้ายึดหลัก "งานคือเงิน เงินคืนงาน บันดาลสุข" ก็จะก้มหน้าก้มตาทำงานสร้างตัวกันได้อย่างเป็นสุข ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน   ไม่ต้องไปคิดอะไรเรื่องการบริหารบ้านเมือง ปล่อยไว้ในมือท่านจอมพล

แต่คนๆเดียวที่ทำอะไรก็ได้ไม่มีใครท้วงติง   แม้เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง  แต่นานเข้าก็อาจจะเผลอออกนอกเส้นทางได้เหมือนกัน  ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นเหลือคณานับในตอนจบ
ทำให้พระเอกกลายเป็นผู้ร้ายได้อย่างที่คุณนวรัตนกล่าวมา

ถ้ากระทู้นี้มีคนเข้ามาออกความเห็น มายกมือขานรับว่ายังอยู่ครับ อยู่ค่ะ  ท่านกูรูใหญ่กว่า ผู้เป็นเจ้าของกระทู้ก็คงจะมีอะไรดีๆมาเล่าต่อได้อีกมาก  
ส่วนดิฉันก็กำลังรวบรวมข้อมูล แยกกระทู้ออกไปเป็นเรื่องของพ.ท.โพยม จุลานนท์     แต่ต้องรอให้กระทู้นี้ถึงเรื่องของจอมพลสฤษดิ์ก่อน  คนอ่านจะได้อ่านต่อเนื่องกันไปเลย
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 13:09

อ้างถึง
การขึ้นสู่อำนาจนั้นเหนื่อยสาหัส แต่การรักษาอำนาจยิ่งหนักหนาสาหัสกว่

น้อมรับค่ะ ข้อนี้จริงแท้ทีเดียวค่ะ ประสบการณ์เท่านั้น ที่จะสอน "เผด็จการคนหัวปี" คนนี้ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 28 ส.ค. 10, 14:30

ถ้าคุณร่วมฤดีอ่านนวนิยาย "เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ" ของม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน คงอ่านพบตอนต้นๆว่า กระแสผู้นำแบบเผด็จการเป็นกระแสที่ฮิทอยู่ในเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2    ฮิตเลอร์เป็นความหวังของคนเยอรมันว่าจะนำประเทศไปสู่มหาอำนาจได้    สยามของเราก็รับกระแสแบบนี้มาเหมือนกัน    ลักษณะของจอมพลป. นายทหารหนุ่มที่มีวาทศิลป์ดี  สั่งการได้เฉียบขาดจึงเป็นที่ถูกใจของคนร่วมยุคสมัย   
แต่เวลาผ่านมาอีกสองศตวรรษกว่า  โลกเปลี่ยนไปถึงยุคสงครามเย็น   ไทยอยู่ในฝ่ายเสรีนิยมของพี่เอื้อยสหรัฐอเมริกา  จอมพลป.ก็เหมือนหมดยุคไปแล้ว  ท่านถือนโยบายเหยียบเรือสองแคม แบบที่ทำกับญี่ปุ่น   แต่คราวนี้เปลี่ยนเป็นรักษาดุลย์ระหว่างจีนและอเมริกา  แต่ทำไม่สำเร็จ   ผู้นำคนใหม่ที่ยึดทางอเมริกาทางเดียวอย่างจอมพลสฤษดิ์ จึงอินเทรนด์ขึ้นมาแทน
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 29 ส.ค. 10, 08:12

เมืองนิมิตร เป็นหนังสือที่ดิฉันเฝ้าตามหามาตั้งแต่ปี 2530 ค่ะ กว่าจะหาซื้อได้ ก็เมื่อได้มาอ่านเรือนไทย และทราบว่ามีการพิมพ์ใหม่ จึงรีบตามไปหามาจนได้

ต้องกราบขอบพระคุณผู้ที่ตัดสินใจพิมพ์ครั้งล่าสุดเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รวมเอาเรื่องที่ดี ๆ เข้าไว้ด้วยกันหมด หนังสือแบบนี้ จึงเป็นหนังสือสะสม มีคุณค่ามากค่ะ

เคยสงสัยว่า ทำไมโลกสมัยสงคราม จึงปรากฏคนเผด็จการโหดเหี้ยมพร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกันหลายคน เช่น ฮิตเลอร์ มุสโสลินี เจียงไคเช็ค โตโจ และ ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำไทยในยุคเดียวกัน หรือ นี่คือ ปรากฏการณ์ของ กลียุค

ได้คำตอบจากหนังสือ เมืองนิมิตรนี่เองว่า เป็น กระแสนิยมของลัทธิการเมืองในยุคนั้น

การเปลี่ยนผ่านจากอำนาจกษัตริย์ มายังผู้ปกครองที่เป็นสามัญชน ต้องมีการเรียนรู้และ ปรับตัวทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง

กษัตริย์ เคยใช้อำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว สามัญชนที่ขึ้นมามีอำนาจใหม่ ๆ ก็เลียนแบบ เพราะคิดว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างน้อยในระยะแรก

เผด็จการ จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้และปรับตัว ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคประชาธิปไตย

แต่สามัญชนที่เป็นผู้นำเผด็จการ มักจะมาจากทหาร นิยมการออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีการโต้แย้ง

ดิฉันสงสัยว่า สามัญชนอย่าง ดร.ปรีดี หากได้อำนาจปกครอง จะใช้วิธีการไหนในยุคนั้น

จะมีประเทศไหนในโลกบ้าง ที่เปลี่ยนการปกครองจากกษัตริย์มาสู่ประชาธิปไตยของปวงชนได้อย่างสงบและสันติ ปรองดองกันแท้จริง

ดิฉันถูกตำราหลอกมาแต่เด็กว่า การเมืองไทย เปลี่ยนแปลงอย่างสงบไม่มีการนองเลือด นั่นเป็นการพูดเฉพาะระยะแรกเท่านั้นเอง

วันนี้ มีใครรู้ตัวเลขบ้างว่า กบฎ และ รัฐประหารทั้งหลาย เราเสียชีวิตผู้คนไปเท่าไร ใครบ้างที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ใครบ้างที่ต้องลี้ภัย

เมื่อได้ศึกษาย้อนไปแล้ว รู้สึกว่าเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และ 6 ต.ค.19 รวมทั้งล่าสุด เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อาจจะมีคนตา่ยน้อยกว่าเมื่อครั้งกบฎแมนฮัตตั้น (มีคนพูดว่า ตายเป็นพัน จากการต่อสู้ของทหารเรือและ ทหารบก แถวบ้านเก่าดิฉันเอง)

ลักษณะผู้นำ และ รูปแบบการปกครอง จึงเป็นของที่ไม่ควรเลียนแบบกัน

ประวัติศาสตร์ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้และปรับตัว ไม่ควรปล่อยให้ ซ้ำรอยเดิมค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง