เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160149 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 10:56

ม.ร.ว.เสนีย์แปลโคลงโลกนิติเป็นภาษาอังกฤษ โดยยังสัมผัสแบบโคลงไทยซึ่งยากมหาศาล    เชื่อว่าคุณเพ็ญชมพูน่าจะหามาลงในกระทู้นี้ได้  ส่วนดิฉันจำได้แต่ยังหาหนังสือไม่เจอ
พี่น้องในราชสกุลปราโมช ทั้งคุณชายพี่และคุณชายน้องมีความเป็นศิลปินสูงทั้งสองคน      บางครั้งดิฉันก็เสียดายว่าท่านไม่น่าเสียเวลาไปมีบทบาททางการเมืองเลย
ทุกวันนี้ โลกก็จดจำม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ในด้านผลงานวรรณกรรม   ไม่ใช่ผลงานทางการเมือง

กลับไปทบทวนแผนที่ซอยร่วมฤดีอย่างหนัก   เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเหมือนเก่าแล้ว  เข้าใจว่าบ้านคุณจำกัดน่าจะอยู่ลึกเข้าไปจากปากซอยด้านถนนเพลินจิต  แถวๆด้านหลังโรงแรมพลาซ่า แอทธินี     เมื่อก่อนมีบ้านไม้สองชั้นรุ่นเก่าประมาณรัชกาลที่ ๘  หน้าตาโอ่โถงอยู่ติดกันแถวนั้นสองบ้าน    เลยมาอีกถึงกลางซอยก็มีตึกใหญ่หน้าตาโอ่โถงเช่นเดียวกันแต่ทันสมัยกว่า คงปลูกหลังสงครามโลกอีก ๒ บ้าน

แม่ดิฉันเป็นเพื่อนอักษรรุ่นเดียวกับอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร     แต่ก็แปลกว่าแม่ไม่เคยพูดเลยว่าอาจารย์ฉลบอยู่ในซอยร่วมฤดี  เป็นได้ว่าเป็นบ้านทางฝ่ายสามี  เมื่อคุณกำจัด (ชื่อเจ้าคุณพ่อท่านและตัวท่าน จำยากมาก   คนหนึ่งชื่อจำกัด อีกคนชื่อกำจัด   ดิฉันไม่เคยจำได้เลยว่าคนไหนเป็นคนไหน)เสียไปแล้ว อาจารย์ฉลบอาจจะย้ายไปอยู่ที่อื่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 10:59

ชนกับคุณร่วมฤดีกลางอากาศ
สรุปว่าคงบ้านไม้แถวๆนั้นละค่ะ  ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว  กลายเป็นอาคารพาณิชย์ คอนโด อพาร์ตเม้นท์ ไปหมด
เมื่อก่อนอาจเป็นสวนฝรั่งจริงๆก็ได้ เพราะเป็นชานเมือง   ซอยนานาใต้ เมื่อ 50 กว่าปีก่อนยังมีสวนผักอยู่กลางซอยเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 11:06

ม.ร.ว.เสนีย์แปลโคลงโลกนิติเป็นภาษาอังกฤษ โดยยังสัมผัสแบบโคลงไทยซึ่งยากมหาศาล    เชื่อว่าคุณเพ็ญชมพูน่าจะหามาลงในกระทู้นี้ได้  ส่วนดิฉันจำได้แต่ยังหาหนังสือไม่เจอ


มีหนังสืออยู่แต่ยังหาไม่เจอเช่นกัน

คุณนวรัตนเคยบอกไว้ว่าให้ถามคุณกุ๊ก บอกเธอว่า เสนีย์ ปราโมช และ โคลง  สิ่งที่คุณเทาชมพูต้องการจะปรากฏโดยพลัน

ตัวอย่าง

บทที่ ๑

ฝูงชนกำเนิดคล้าย                            คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ                       แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน                           กันหมด
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง                             ห่อนแก้ฤาไหว

บทที่ ๒

รู้น้อยว่ามากรู้                                   เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน                                สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล                                 กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย                                มากล้ำลึกเหลือ

บทที่ ๓

พระสมุทรสุดลึกล้น                            คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา                              หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา                                กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้                                 ยากแท้หยั่งถึง


หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ดังนี้

บทที่ ๑

Born men are we all                        and one,
Brown, black by the sun                   cultured.
Knowledge can be won                    alike.
Only the heart differs                       from man to man

บทที่ ๒

So little yet so much                         one knows,
Like a frog which grows                    in a puddle,
Knowing not oceans so                     ever vast,
Becomes befuddled                          by its small world.

บทที่ ๓

Fathoms deep though the seas          may be,
Measurable are the seas                   in depth.
Scaled can mountains be                  in height.
Immeasurable is the depth,              this heart of man.

จากหนังสือ Interpretative Translations of Thai Poets โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พ.ศ.๒๕๐๘

โคลงสี่สุภาพอังกฤษ โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem122883.html
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem123102.html

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 11:17

อ้างถึง
แม่ดิฉันเป็นเพื่อนอักษรรุ่นเดียวกับอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร     แต่ก็แปลกว่าแม่ไม่เคยพูดเลยว่าอาจารย์ฉลบอยู่ในซอยร่วมฤดี  เป็นได้ว่าเป็นบ้านทางฝ่ายสามี  เมื่อคุณกำจัด (ชื่อเจ้าคุณพ่อท่านและตัวท่าน จำยากมาก   คนหนึ่งชื่อจำกัด อีกคนชื่อกำจัด   ดิฉันไม่เคยจำได้เลยว่าคนไหนเป็นคนไหน)เสียไปแล้ว อาจารย์ฉลบอาจจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

พระยาผดุงวิทยาเสริม นามเดิมว่า กำจัด คือ เจ้าคุณพ่อของคุณจำกัด อย่าเพิ่งงงนะคะ

และรูปข้างล่างนี่ตอบข้อสงสัยอาจารย์เทาชมพูค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 12:22

ขอแยกซอยไปทางคุณจำกัด พลางกูร
ชอบเพลง In the Persian Market ของริมสกี้ คอสซาคอฟ  เหมือนกันเลย

บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 12:46

อ้างถึง
ส่วนเรื่องอาชญากรสงครามที่เอาผิดจอมพลป.มิได้ อยู่ในมหากาพย์การเมืองตอน “หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น” หน้าตามที่โยงไว้ให้ ตั้งแต่คคห.341ไปครับ แต่ถ้าจะครบเครื่องต้องอ่านตั้งแต่คคห.1โน่นเลย แล้วอย่าลืมไปอ่านเรื่องพระยาทรงสุรเดชอีกด้วย

ยังทำการบ้านไม่ครบถ้วนดี เกิดข้อสงสัย จึงยกมือขึ้นกลางชั้นเรียน ขอถามอาจารย์ Navarat C ว่า

เกียรตินิยมอันดับหนึ่งทางกฏหมายจาก Oxford ทำไมไม่ทราบว่า พ.ร.บ.อาญากรสงคราม หรือ กฏหมายใด ๆ ก็ตาม ที่ตราออกใช้หลังการกระทำผิด ไม่มีผลย้อนหลังคะ หรือว่า พ.ร.บ.นี้มีก่อนเกิดสงครามกันแน่คะ

คือ แปลกใจว่า ท่าน ม.ร.ว.ผิดพลาดเรื่องพื้น ๆ เช่นนี้เองหรือคะ

กรณียุบพรรคในปัจจุบัน ที่เกิดจากการทุจริตก่อน รัฐประหาร 2549 ที่กำหนดโทษยุบพรรคไว้
ทำไมจึงให้ผลย้อนหลังได้คะ


บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 13:01

ขอแวะไปที่ กรณี จิตร ภูมิศักดิ์ กับ จอมพล ป. และ จอมพล สฤษดิ์

ที่ไม่ปรากฏว่าขัดแย้งหรือโจมตีจอมพล ป.รุนแรง เท่ากับที่ตอบโต้กับจอมพลสฤษดิ์นั้น

น่าจะเป็นเพราะว่า ในช่วงท้ายของชีวิตการเมือง จอมพล ป. เริ่มรู้ถึงภัยคุกคามจากอำนาจของอเมริกาแล้ว และ พยายามถ่วงดุลอำนาจด้วยการแอบส่งคนเข้าไปสานไมตรีกับฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ นักคิดนักเขียนทั้งหลายในยุคจอมพล ป. คงจะพอมีที่ยืนอยู่บ้าง

แต่เมื่อจอมพล สฤษดิ์มีอำนาจ คนเหล่านั้นถูกจับขังลืม และ เลยเถิดไปจำกัดเสรีภาพนักหนังสือพิมพ์อย่างร้ายแรง อีกทั้งยังมองงานเขียนของจิตร "ศักดินาในสังคมไทย" เป็นหลักฐานมัดจิตรเข้าคุก นี่คือการสยมยอมต่ออำนาจอเมริกาในสงครามเย็น โดยยอมทำร้ายคนไทยกันเอง น่าจะเป็นเหตุให้จิต ฝังใจแค้นมาก

จะถูกจะผิดประการใด ขอกราบผู้รู้ได้มาแสดงเหตุผลด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 13:49

ตั้งแต่มีเรื่องโยนบก - หนังสือมหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม จิตรก็ถูกมองจากฝ่ายปกครองว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาตลอด  "ศักดินาในสังคมไทย" คุณร่วมฤดีคงหมายถึง "โฉมหน้าศักดินาไทย" เป็นเพียงหลักฐานสนับสนุนเท่านั้น

ภายหลังจากกรณีโยนบกอันอื้อฉาว แม้ว่าในทางกฎหมายจะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อกองบังคับการตำรวจสันติบาลโดย พ.ต.ต.อรรณพ พุกประยูร ออกหนังสือที่ ๙๘๖/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๘ รับรองความบริสุทธิ์ให้จิตร และจิตรเองก็ได้เข้าศึกษาต่อ แต่ชื่อของจิตรก็ถูกจัดเข้าแฟ้มกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ คำสั่งจับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายจึงเกิดขึ้น ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็อยู่ในจำนวนนั้นด้วย

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 13:54

ขออนุญาตเข้าซอยจิตร ภูมิศักดิ์ ลึกเข้าไปหน่อยถึงผลงานอันลือลั่นของเขา

โฉมหน้าของศักดินาไทย

เช่นเดียวกับปัญญาชนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ ๒๔๙๐ ที่รับอิทธิพลความคิด "กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา" จิตรมองว่ารากเหง้าของความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดจากการกดขี่ขูดรีดของจักรวรรดินิยมจากภายนอก กับศักดินาจากภายใน แต่จากพื้นฐานความสนใจประวัติศาสตร์ไทย จิตรเริ่มต้นด้วยการสืบค้นรากเหง้าของศักดินาไทย

เมื่อได้รับการติดต่อจากสุวิทย์ ปิติกาญจน์ สหายรุ่นน้องจาก มธก. ที่กำลังจัดทำหนังสือที่มุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นคือ นิติศาสตร์ฉบับรับศตวรรษใหม่ ให้เขียนบทความวิเคราะห์สังคมไทย จิตรทุ่มเทให้กับการทำงานชิ้นนี้เป็นอันมาก ทวีป วรดิลก ได้บอกเล่าความยากลำบากของการทำหนังสือเล่มนี้ว่า

สุวิทย์ ปิติกาญจน์ ต้องเดินจากโรงพิมพ์ที่คลองหลอดไปยังเชิงสะพานเสาวนีย์บ้านจิตร เพื่อรับต้นฉบับ โดยที่จิตรเขียนวันต่อวัน วันหนึ่งจิตรเขียนได้ ๓ หน้ากระดาษ

จึงเป็นที่มาของบทความประวัติศาสตร์อันลือลั่น "โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน" ในนามปากกา สมสมัย ศรีศูทรพรรณ จิตรได้บันทึกถึงหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น

งานที่รับว่าเป็นการเขียนครั้งใหญ่คือ นิติศาสตร์ ฉบับ ๒๕๐๐ ซึ่งข้าพเจ้าเขียนหลายบทความ เป็นจำนวนหน้ากว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือนั้น (หนังสือขนาด ๘ หน้ายก หนากว่า ๕๐๐ หน้า แล้วโฉมหน้าฯ หนา ๑๓๖ หน้า)

"โฉมหน้าของศักดินาไทยฯ" ในแง่ขอบเขตของเนื้อหาไม่ต่างจากงานเขียนสกุลดำรงราชานุภาพ ที่ศึกษาสังคมไทยเริ่มจากสมัยสุโขทัย จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือ ขณะที่งานเขียนสกุลดำรงฯ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะศูนย์กลางของรัฐและสังคมไทย แต่จิตรได้แสดงให้เห็นอีกด้าน คือการดำรงอยู่ของพระองค์ในฐานะศูนย์กลางปัญหาของรัฐและสังคมไทย

แน่นอนว่างานเขียนเช่นนี้ต้องสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ "ฝ่ายนิยมเจ้า" เป็นอย่างมาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับต้องเขียนหนังสือออกมาตอบโต้ คือฝรั่งศักดินา

ไม่ทันที่วิวาทะเรื่องศักดินาไทยจะเริ่มต้น สฤษดิ์ก็ทำการรัฐประหารในเดือนตุลาคม ๒๕๐๐ ส่งผลให้นิติศาสตร์ ฉบับรับศตวรรษใหม่ กลายมาเป็นหนังสือต้องห้าม กว่าผลงานชิ้นนี้จะได้รับการเผยแพร่อีกครั้ง ก็ต้องรอจนหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

เริ่มจากชมรมหนังสือแสงตะวัน ได้นำมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มภายใต้ชื่อโฉมหน้าศักดินาไทย หลังจากนั้นก็ได้มีการพิมพ์ใหม่อีกครั้งนับรวมได้มากกว่า ๑๐,๐๐๐ เล่ม ส่งผลให้มีการจัดสัมมนาเรื่องโฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย ในเดือนธันวาคม ๒๕๑๘ เพื่อวิจารณ์การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะ

จนเป็นที่มาของวิวาทะรอบใหม่ เมื่อชัยอนันต์ สมุทวณิช เสนอศักดินากับพัฒนาการของสังคมไทย แย้งว่าจิตรมีความสับสนระหว่างสังคมที่มีทาสกับการตีความวิถีการผลิตของสังคมทาสตามความหมายของมาร์กซ์ เนื่องจากศักดินาในตะวันออกมีความแตกต่างจากการมีทาสและสังคมศักดินากับยุโรปสมัยโบราณ ซึ่งชัยอนันต์ได้เสนอว่าแนวคิดสังคมพลังน้ำน่าจะเป็นทฤษฎีที่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยได้เหมาะสมกว่า

งานชิ้นนี้ได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายซ้าย ดังเช่นที่อนุช อาภาภิรม ได้วิจารณ์ข้อเสนอว่า

เป็นการใช้ลัทธิมาร์กซ์ทำลายจิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นการยกจิตร ภูมิศักดิ์ มาทำลายลัทธิมาร์กซ์ โดยจะแสดงว่าลัทธิมาร์กซ์ไม่สามารถนำมาใช้กับสังคมไทยได้


จากบทความเรื่อง ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์ ของ คุณธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ จากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๗ ปีที่ ๒๕ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 14:03

สนใจอ่านเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์มากค่ะ น่าจะตั้งกระทู้เฉพาะเรื่องจิตร ชีวิตและ งาน เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ว่า ยุคสมัย2490-2506  ที่ดิฉันอยากจะเรียกว่า ยุคทมิฬนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 14:06

อ้างถึง
ยังทำการบ้านไม่ครบถ้วนดี เกิดข้อสงสัย จึงยกมือขึ้นกลางชั้นเรียน ขอถามอาจารย์ Navarat C ว่า
อ้างถึง
เกียรตินิยมอันดับหนึ่งทางกฏหมายจาก Oxford ทำไมไม่ทราบว่า พ.ร.บ.อาญากรสงคราม หรือ กฏหมายใด ๆ ก็ตาม ที่ตราออกใช้หลังการกระทำผิด ไม่มีผลย้อนหลังคะ หรือว่า พ.ร.บ.นี้มีก่อนเกิดสงครามกันแน่คะ

สั้นๆนะครับ พ.ร.บ.อาชญากรสงครามนี้ออกเมื่อหลังสงคราม และเป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่จะหนีการเป็นผู้แพ้สงคราม ด้วยการหาแพะมารับบาปว่าเป็นตัวการที่ไปร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยคนไทยที่เหลือทั้งชาติมิได้เห็นด้วย

ใจความสำคัญของพ.ร.บ.ระบุไว้อย่างชัดเจนในตัวบทกฏหมายว่า ไม่ว่าการกระทำอันบัญญัติว่าเป็นอาชญากรสงครามนั้น จะกระทำขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัติก็ดี ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงครามและจะต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น  

ตรงนั้นแหละที่เป็นตัวปัญหาที่นายปรีดีท่านอ้างว่าได้ทำกับดักทางกฏหมายซ่อนไว้ใต้เหยื่อ ให้นักกฏหมายด้วยกันงับ พอความรุนแรงของเหตุการณ์บรรเทาลงแล้ว ท่านจึงส่งสัญญาณให้มีการขอให้ศาลฏีกาตีความ เรื่องการบังคับลงโทษบุคคลด้วยกฏหมายย้อนหลัง

ข้อบัญญัติที่ว่าให้การกระทำก่อนพระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนี้ เป็นกฏหมายย้อนหลัง ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทยมาตรา14 ที่มีใจความสรุปว่าบุคคลมีเสรีภาพที่จะกระทำอะไรก็ได้ ที่ไม่ผิดกฏหมายซึ่งออกมาแล้วในขณะนั้น ซึ่งศาลตีความว่า ไม่อาจมีความผิดตามกฎหมายที่ประกาศใช้หลังการกระทำนั้นด้วย ดังนั้นศาลฏีกาจึงได้พิพากษาว่ากฏหมายอาชญากรดังกล่าวเป็นโมฆะตามมาตรา61ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ในคดีนี้ได้

ส่วนที่ถามเรื่องยุบพรรคในปัจจุบัน ผมไม่มีความรู้ บทสรุปยังไม่นิ่งครับ ถ้าไม่ใช่ประวัติศาสตร์แล้วผมตอบไม่สามารถตอบ หรือวิจารณ์ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 14:30

เอ้อ..ผมไม่ได้ว่าว่าม.ร.ว.เสนีย์ท่านงับเหยื่อนะครับ นักกฏหมายฝ่ายตรงข้ามเป็นพหูพจน์ อย่าลืมว่าเราออกกฏหมายนี้เพื่อเอาใจสัมพันธมิตร มิฉะนั้นเขาจะส่งจอมพลป.และจำเลยคนอื่นๆไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามของเขาก็ได้ ดังนั้น เพื่อแสดงอำนาจอธิปไตยทางศาลที่เราพึงสามารถพิจารณาโทษคนของเราได้เอง กฏหมายอาชญากรสงครามจึงได้มีการรีบบัญญัติขึ้น และฝ่านการกลั่นกรองของสัมพันธมิตรมาได้เพราะมีใจความในพ.ร.บ.ว่าให้มีอำนาจลงโทษย้อนหลังนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นใจความดีที่สุดแล้วที่จะนำไปบังคับคดีนี้

แต่อย่างว่าแหละครับ การตีความตามกฏหมายมันเป็นปัจเจกอยู่ดี เขาจึงต้องมีทนายไปสู้กันในศาลไงครับ ตัวบทอักษรในกฏหมายอ่านแล้วเข้าใจตรงกันหมดก็คงไม่มีเรื่องทะเลาะกันให้ทนายรวย แม้ผู้พิพากษาเองยังเป็นองค์คณะ เอาตามความเห็นส่วนใหญ่

แต่แน่ละครับ ในฐานะปุถุชน ความเห็นของผู้พิพากษาก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม สถานและกาลเวลาได้ โดยเฉพาะคดีการเมือง
เรื่องกฏหมายอาชญากรนี้ ถ้าทางสัมพันธมิตรเอาดาบปลายปืนจี้ให้ศาลฎีกาตีความเสียตั้งแต่บังคับใช้พ.ร.บ.ใหม่ๆ ผลพิพากษาอาจจะเป็นไปอีกทางหนึ่งก็ได้ ก็ใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ใครจะไปรู้ใจใครได้ล่ะครับ
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 14:57

กราบขอบพระคุณค่ะ อาจารย์ Navarat C คะ มีเบื้องหลังซ่อนเงื่อนอย่างนี้เอง อ.ปรีดีเก่งมาก

คำตอบที่ได้ทำให้รู้ต่อไปอีกว่า ทำไมชาวต่างชาติทั้งหลายจึงไม่ค่อยไว้ใจรัฐบาลไทย
แม้แต่การเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น ๆ คงกลัวจอมพล ป. พลิกแพลง จึงให้ไปเซ็นต่อหน้าพระแก้วมรกต

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 16:42

^
นั่นไปเสนอเขาเองครับ เรื่องอย่างนี้ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าใจซาบซึ้งในความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อพระแก้วมรกต ขนาดมาออกโจทย์เรียกร้องให้ทำอย่างเหมือนกับหนุ่มสาวชวนกันไปสาบานต่อพระแก้วมรกต  ว่าจะครองรักกันจนวันตาย

ดูเหมือนจะเป็นความคิดของหลวงวิจิตร ซึ่งเป้นคนหนึ่งที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย เสนอให้จอมพลป.เห็นชอบ
นัยว่า เพื่อแสดงความจริงใจของฝ่ายไทย

ญี่ปุ่่นก็ชอบใจ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 16:59

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) กล่าวถึงคดีอาชญากรววงครามไว้ว่า  คุณพระฯ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และนายสังข์  พัธโนทัย  โดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่  ๑๖  กรกฎาคม ถึงวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖  ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย 

บทบาทของคุณพระฯ กับนายสังข์  พัธโนทัย ที่ถูกกล่าวหานั้นคือ บทบาทของ "นายมั่น - นายคง" ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อในระหว่างสงคราม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.097 วินาที กับ 20 คำสั่ง