เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160545 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 11:12

^
ผมก็มีโอกาสคล้ายกัน แต่ทั้งๆที่มีคำถามในใจอยู่ก็ไม่เคยถามเหมือนกัน รู้สึกว่าคำตอบบางอย่างรู้ไปแล้วก็เท่านั้น เป็นอดีต ผ่านไปแล้วผ่านไปเลยอย่างที่สังคมเข้าใจดีกว่า ยิ่งบรรดาน้องๆรุ่นลูกรุ่นหลานที่นามสกุลคุ้นๆกับในกระทู้นี้ ผมยิ่งคุยเรื่องอื่นไปเลย เขาเกิดไม่ทันข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

แต่ว่าก็ว่าเถอะนะ ผมนึกหน้าพวกคุณไม่ออกจริงๆ ว่างๆหลังไมค์มาคุยกันบ้าง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 11:18

ภาพแห่งความหลังครั้งวันชื่นคืนสุข ที่ไม่คืนกลับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:07

ขอบคุณคุณศิลา รูปข้างบนสวยมากครับ
แต่ก่อนที่จะเดินเรื่องโฟกัสไปที่ท่านจอมพลป.ตามชื่อกระทู้ ผมจำเป็นที่จะต้องปูพื้นเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยโดยย่อๆให้ท่านผู้อ่านเข้าใจล่วงหน้า เวลาโยงกับวิถีชีวิตท่านจอมพลจะได้ไม่งง

จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัตินั้น มิได้มีการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นปีๆโดยมุ่งหวังจะก้าวขึ้นสู่อำนาจยิ่งใหญ่แทนจอมพลป.ผู้ที่ต้องถือว่ามีบุญคุณต่อกันเหลือล้น สฤษดิ์เองสุขภาพมิได้ดีนักตัวเองรู้อยู่ ถึงเป็นใหญ่เป็นโตไปได้ก็อยู่ไม่นาน สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นภาคบังคับตามที่โหรว่า ไม่อยากทำก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำเขา เขาก็ทำเรา ก่อนลงมือปฏิวัติก็เชคแล้วเชคอีก กลัวจะไม่สำเร็จ เพราะบารมีของจอมพลป.ยังมีมาก ไม่แน่ว่าทหารทุกคนจะเอากับตน สายของกลุ่มราชครูก็มีพล.จ.ชาติชาย ยังคุมกำลังส่วนหนึ่งอยู่ นอกจากเชคกับโหรแล้วมีข่าวว่ายังเชคกับอเมริกาอีก เพราะกลัวว่าปฏิวัติไปแล้วอเมริกาจะไม่รับรองรัฐบาลคณะปฏิวัติ เพราะไปล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยเขา แต่การะบุลอยๆว่าสฤษดิ์ไปขอคำปรึกษากับอเมริกาคงมิได้หมายถึงตัวทูต น่าจะเป็นหัวหน้าสายซีไอเอที่เป็นที่ปรึกษาให้กองทัพบก เหมือนกับบริษัทซีซัพพลายที่เป็นที่ปรึกษาให้ตำรวจ ซีไอเอทั้งสองสายดำเนินการเหมือนแข่งกันเอง แต่ขึ้นอยู่กับคนๆเดียวที่ไม่รู้ว่าเป็นฝรั่งคนไหน ดังนั้นข่าวลึกๆของตำรวจที่คนนอกไม่น่าจะรู้ แต่ซีไอเอกลับรู้ รู้แล้วยังตัดสินใจกระซิบไปที่สฤษดิ์ ถ้าบ่ายวันนั้นไม่กระซิบไป เผ่าอาจจะปฏิบัติการสำเร็จก็ได้ ไม่แน่

พอปฏิวัติสำเร็จ สฤษดิ์จึงส่งเทียบไปเชิญนายพจน์ สารสิน เลขาธิการใหญ่องค์การซีอาโต้มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เสร็จภายในสามเดือน การที่นายพจน์มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทั้งๆที่ยังอยู่ในตำแหน่งทางซีอาโต้เป็นสิ่งที่เห็นชัดว่าอเมริกาสนับสนุน เพราะรัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลขวาจัดที่แอนตี้คอมมิวนิสต์แน่นอน

คณะปฏิวัติยึดอำนาจได้2วัน ก็มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งฉีกทิ้งไป มาแก้ใขเฉพาะหมวดส.ส. ให้ทั้งหมดสิ้นสุดสถานภาพลง แล้วเลือกตั้งส.ส.ประเภท1ใหม่ภายใน90วัน และเลือกส.ส.ประเภท2จำนวน 123 ให้คนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาในทันที

เมื่อตั้งรัฐบาลนายพจน์ สารสินเสร็จ จอมพลสฤษดิ์ได้บินไปอเมริกาโดยด่วนเพื่อทำการรักษาโรคตับ อันเป็นผลมาจากการดื่มสุราจัดและร่างกายพักผ่อนไม่พอ ระหว่างที่อยู่ในอเมริกาได้มีโอกาสพบประธานาธิบดีไอเซนเฮาว์ รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือ แสดงถึงการยอมรับของอเมริกาว่านี่คือบุคคลสำคัญตัวจริงของเมืองไทย รัฐบาลพจน์มีเวลาสั้นไปที่จะทำงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากการแต่งตั้งอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ขึ้นมาไล่เบี้ยกับเผ่าและบรรดาอัศวินในวีรเวรทั้งหลายที่ได้ประกอบไว้กับฝ่ายตรงกันข้าม คดีต่างๆที่หมักดองไว้ถูกนำมาชำระสะสาง เป็นที่พอใจของประชาชนผู้ติดตามข่าวสารโดยทั่วหน้า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:14

การเลือกตั้งที่ปรากฏ ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงขาด แต่โดยที่พรรคสหภูมิได้คะแนนเถือประชาธิปัตย์หน่อยๆ พรรคสหภูมิก็ต้องจัดคณะรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ซึ่งค่อยยังชั่วและบินกลับมาแล้ว ได้ไปเกลี้ยกล่อมนายพจน์พร้อมกับถนอมและประภาส ขอให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่นายพจน์ปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาด

งานวันเกิดของจอมพลสฤษด์ ซึ่งบังเอิญเป็นจังหวะใกล้เคียงกันนั้น เมื่อแขกเหรื่อกลับเสร็จ เหลือที่ซี้ๆกันไม่กี่คนคุยกันว่าเรื่องนายกจะเอาอย่างไร ท่านหันมายิ้มให้ประภาสแล้วบอกว่า ไอ้ตุ๊ มึงมันชอบเป็นดาราหน้าปก คือท่านหาว่าประภาสชอบให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์  อ้าว..ก็เขาเพิ่งจะเป็นพระเอกเรื่องเลือกตั้งสะอาด หนังสือพิมพ์ก็ชอบเอาไมค์มาจ่อปากเป็นธรรมดา แต่ท่านกลับบอกว่า กูไม่ให้มึงละกูให้ไอ้หนอมดีกว่า ไอ้หนอมมันยิ้มสวย มันยิ้มสยาม

พล.อ.ถนอม กิตติขจรผู้มียิ้มอันอ่อนโยนเหมือนคนขี้แหย๋จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีถ.1 ด้วยประการฉะนี้ ผมหารูปจอมพลถนอมกำลังยิ้มสยามไม่ได้ ใครมีช่วยเอามาส่งส่วยให้กระทู้หน่อยครับ

เพื่อให้รัฐบาลถนอมมีเสถียรภาพ สฤษดิ์จึงได้ตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ ชื่อ“ชาติสังคม”โดยลงแรงเป็นหัวหน้าพรรคเอง แล้วลงทุนควักกระเป๋าซื้อตัวส.ส.มาสังกัดพรรคนี้ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา พอจ่ายเงินซื้อฝักถั่วให้พล.อ.ถนอมแถลงนโยบายผ่านสภาแล้วเสร็จ จอมพลสฤษดิ์ก็บินด่วนกลับไปเข้าโรงพยาบาลทันที

ตัวเลขส.ส.ของพรรคชาติสังคมเกินจำนวนแล้วก็จริง แต่ปัญหาตามมาอีกห้าร้อยละลายโจร จ่ายเท่าไหร่ส.ส.ในพรรคก็แบบมือขออีกแบบไม่รู้จักอิ่ม รัฐบาลต้องการแก้นโยบายขาดดุลย์ด้วยการเพิ่มภาษีบางตัว ก็ถูกส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันตีรวน ยิ้มสยามอย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว ต้องมีบารมีด้วย นายกถนอม1ท่านขาดตรงนี้ พูดอะไรออกไปใครก็ไม่ฟังเพราะภาพพจน์มันเป็นแค่พระรองไม่ใช่พระเอก ยิ้มสยามก็กลายเป็นยิ้มแห้งๆลงตามลำดับ จนถึงขั้นยิ้มไม่ออกไปในที่สุด

สฤษดิ์ซึ่งนอนรักษาตัวอยู่เมืองนอก ก็รู้สึกว่าที่นอนแข็งโป๊กเหมือนศิลาขึ้นมา นอนพักฟื้นอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องถอดสายน้ำเกลือบินกลับมาเมืองไทย เรียกประชุมนายทหารชั้นหัวกระทิ20นาย แล้วบอกว่า วันนี้เวลา15.00น.รัฐบาลจะลาออก ข้าพเจ้าจะนำกำลังเข้ายึดอำนาจการบริหาร  ในเวลา21.13น.เป็นฤกษ์ที่ทุกหน่วยจะเคลื่อนออกปฏิบัติการตามจุดต่างๆ ใครเห็นด้วยโปรดยืนขึ้น ใครไม่เห็นด้วยโปรดเชิญไปทางห้องโน้นได้

ไม่มีใครไม่ยืนและขยับตัวเดินไปไหน การปฏิวัติในคืนนั้นจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ใช้รถถังไม่กี่คัน ออกมาเดี๋ยวด๋าวก็กลับเข้ากรมไป จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง เสียงจริงของคณะปฏิวัติ ณ กาลครั้งนั้น หลังจากการทำปฏิวัติครั้งแรกสำเร็จประมาณ1ปี6เดือน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:20

การเดินทางออกจากประเทศไทยอีกสำนวนหนึ่ง โดยเล็ก พงษ์สมัครไทย เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรม ซึ่งผมเห็นควรนำมาลงไว้ด้วย


เย็นวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๖ กันยายน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่หอประชุมกองทัพบก เป็นการประชุมลับแต่ก็เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คงปฏิบัติหน้าที่ดูทีท่าของคณะรัฐประหารอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล มีข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง นายทหารร่วมชุมนุมอยู่ด้วย

เมื่อรู้แน่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินลงมาจากห้องพักชั้นบนของทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียก พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นายฉาย วิโรจน์ศิริ ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรีและดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล นายตำรวจเวร และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา แล้วพูดว่า "ไป"

รถซีตรองประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเคลื่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นคนขับ พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นั่งด้านซ้ายคู่กับจอมพล ป. นายฉาย วิโรจน์ศิริ และพันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล นั่งเบาะหลังทั้ง ๓ คน ฝนตกปรอยๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่มีลักษณะรีบร้อนหรือตื่นเต้นแม้แต่น้อย คงสูบบุหรี่และเปิดวิทยุในรถฟังตลอดเวลา จุดแรกที่ไปคือบ้านซอยชิดลม แล้วจอมพล ป. ได้ขึ้นไปบนบ้านและให้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามโทรศัพท์ตามหาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ว่าอยู่ไหน ผลคือไม่สามารถติดต่ออธิบดีกรมตำรวจได้

ทุกคนขึ้นประจำที่ที่รถซีตรองคันเดิม สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำกระเป๋าเอกสารแบบซิปรูดบรรจุเงินสด ๔๐,๐๐๐ บาท รถเคลื่อนตัวออกจากบ้านซอยชิดลมไปตามถนนสุขุมวิท ทุกคนอยู่ในอาการเงียบสงบ ไม่ทราบว่าท่านผู้นำคิดอย่างไร และกำลังจะไปไหน ถึงหน้าสถานีตำรวจพระโขนง ท่านผู้นำจอดรถชั่วขณะแล้วหันมาพูดกับผู้ติดตาม ๓ คนด้านหลังว่า ข้างหลังนั่ง ๓ คนอึดอัด ท่านจึงให้พันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล ลงแล้วหารถกลับเข้ากรุงเทพฯ หากมีโอกาสให้ไปดูสถานการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล และให้ไปรายงานที่บ้านพักรับรอง บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ขณะนั้นฝนตกพรำๆ จากนั้นท่านผู้นำขับรถมุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการอย่างไม่รีบร้อนนัก ขณะขับรถ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้แพ้ภัยการเมืองสูบบุหรี่ชนิดมวนต่อมวนไปตลอดทาง ขณะเดียวกันวิทยุในรถเปิดเพลงมาร์ชรักชาติ สลับกับเพลงปลุกใจ เมื่อถึงปากน้ำและมุ่งไปทางบางปู ถึงบ้านพักรับรองท่านผู้นำเพียงแต่หันไปมองชั่วครู่แต่ไม่เลี้ยวเข้า ท่านขับรถเลยไป ขณะนั้นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ฝนเริ่มเม็ดหนาขึ้นทุกที ท้องฟ้ามืดมิด รถมาถึงสะพานบางปะกง ทหารช่างจากแปดริ้วกำลังตั้งด่านตรวจรถ ขณะที่รถของท่านผู้นำไปถึงการตั้งด่านยังไม่เรียบร้อยจึงยังไม่ได้ลงมือตรวจ ท่านผู้นำและคณะจึงผ่านเลยไป เพียงชั่วอึดใจวิทยุในรถประกาศบ่อยครั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และจอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล รองนายกรัฐมนตรี ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:23

ท่านผู้นำและคณะได้ยินประกาศนี้ แต่ต่างคนต่างเงียบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฟังเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังคงสูบบุหรี่มวนต่อมวน เมื่อถึงศรีราชาท่านจึงพูดว่ามีคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โทรศัพท์มาบอกว่าขอเชิญตัวไปที่หอประชุมกองทัพบก แต่ท่านไม่รอให้ทหารมาเชิญจึงได้ขับรถออกมาทำเนียบรัฐบาลเสียก่อน รถน้ำมันหมดที่ศรีราชาและมอบให้นายฉาย วิโรจน์ศิริ และพลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นำรถย้อนกลับไปเติมน้ำมันที่ตลาด ส่วนจอมพล ป. กับพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขาหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมถนน

ครู่ใหญ่รถกลับมาจากเติมน้ำมัน ฝนยังคงหนาเม็ด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังทำหน้าที่ขับรถต่อไป ท้องฟ้าคะนอง ฝนตกหนักขึ้นทุกที เมื่อถึงสัตหีบท่านผู้นำไม่ยอมแวะไปหาพลเรือตรีประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายซึ่งเป็นผู้บังคับการฐานเรือสัตหีบ แต่ขับรถเลยไป ถนนจากสัตหีบเริ่มไม่ดี ฝนตกหนัก และเป็นเวลากลางคืน กระจกหน้ามีฝ้าจับมาก ท่านผู้นำต้องขับรถไปอย่างช้าๆ วิทยุในรถยังคงเปิดเพลงมาร์ชและเพลงปลุกใจ สลับกับการประกาศให้บุคคลที่คณะรัฐประหารต้องการตัวไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

เมื่อรถเลยสัตหีบไปแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถามขึ้นลอยๆ ว่าถนนที่จะไปเขมร โดยผ่านทางไปพลนั้นมีใครรู้จักเส้นทางบ้างไหม ผู้ติดตามจึงทราบว่าท่านผู้นำจะลี้ภัยการเมืองไปประเทศกัมพูชาแน่นอน เมื่อไม่มีใครรู้จักเส้นทาง ท่านจึงขับรถไปเรื่อยๆ ท้องฟ้าทางตะวันออกเริ่มสว่าง และรู้ว่าเข้าเขตจังหวัดตราด ท่านจึงเลี้ยวรถเข้าไปในดงมะพร้าว ฝนหยุด กำลังรุ่งสางแล้ว แต่เมฆฝนยังคงทะมึนอยู่ พร้อมที่จะตกได้ทุกเวลา

พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา ได้บอกกับท่านผู้นำว่าจะเข้าไปในตลาดเพื่อซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋พร้อมทั้งดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย จากนั้นจึงถอดเครื่องแบบตำรวจออกคงเหลือแต่เสื้อยืดคอกลมชั้นในเพียงตัวเดียว ขณะนั้นเป็นเวลา ๖ โมงเช้า ชาวตราดฟังวิทยุทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เช้าวันที่ ๑๗ กันยายน เป็นวันที่อากาศไม่แจ่มใสเสียเลยโดยเฉพาะกับผู้เผชิญปัญหาวิกฤตที่เอาเป็นเอาตายกันถึงชีวิต พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เดินไปที่ท่าเรือซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋ พร้อมทั้งสอบถามชาวเรือถึงการเช่าเรือแถวๆ นั้นด้วย แต่เมื่อชาวเรือถามว่าจะเช่าไปไหนก็ตอบไม่ได้เพียงแต่บอกว่าจะไปเที่ยว ชาวเรือทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามรสุมคลื่นลมแรงอย่างนี้ ไม่มีเรือลำไหนกล้าออกทะเลหรอก และเมื่อคืนนี้มีการปฏิวัติเหตุการณ์ยังไม่สงบ ไม่มีเรือกล้าออกไปไหน ถึงแม้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จะบอกว่าจะไปเที่ยวไม่ไกลนัก ชาวเรือก็ปฏิเสธที่จะออกจากฝั่ง พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงหิ้วกระป๋องกาแฟและถุงปาท่องโก๋กลับมารายงานท่านผู้นำ ซึ่งท่านบอกว่ากินกาแฟก่อนแล้วพยายามอีกครั้ง

ช่วงสาย พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ และนายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกไปตลาดอีกครั้งเพื่อหาเรือลี้ภัยไปเขมร ผู้คนในตลาดเริ่มพลุกพล่านต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โชคดีของคณะผู้ลี้ภัยที่นายฉาย วิโรจน์ศิริ ได้พบกับครูประชาบาลคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันมาก่อนและมีเรือหาปลาด้วย จึงขอร้องเชิงบังคับขอเช่าเรือออกทะเลโดยมิได้บอกจุดหมายปลายทางว่าจะไปไหน ครูประชาบาลเจ้าของเรือจำเป็นต้องรับปากอย่างไม่เต็มใจ ขณะนั้นท้องทะเลกำลังปั่นป่วน ด้วยคลื่นลมหน้ามรสุม ขณะเดียวกันพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ก็พบลูกน้องเก่าคนหนึ่งที่เคยรับราชการที่จังหวัดระยองด้วยกัน ชื่อนายดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแหลมงอบ และยินดีที่จะนำคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางไปยังเกาะกงของเขมร

เมื่อได้รับรายงานจากบุคคลทั้งสอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงวิตกกังวลซึ่งสังเกตได้จากใบหน้าของท่าน เมื่อตัดสินใจจะเดินทางในช่วงเที่ยง ท่านผู้นำจึงสั่งให้พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ เดินทางกลับยังพระนครและให้ไปรายงานต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่องการลี้ภัยของท่าน และถามพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ว่า

"คุณชุมพล คุณมีปัญหาอะไรไหม หมายถึงมีคดีทางการเมืองบ้างไหม"

"กระผมไม่เคยมีปัญหากับใคร และไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหนใช้ให้กระผมกระทำในสิ่งที่ผิดครับผม" นายตำรวจอารักขาตอบอย่างมั่นใจ

"คุณจะไปกับผมไหม"

"ท่านต้องการกระผมหรือเปล่า กระผมไม่มีเงินติดตัวเลย อาจจะเป็นภาระให้ท่านก็ได้ และท่านก็ใช่ว่าจะมีเงินไปมาก เงินภายนอกประเทศไม่มีเลย อยู่ในต่างประเทศจะหาใครอุ้มชู คงจะยาก เงินที่ท่านมีอยู่เพียงท่านคนเดียวคงไปได้ไม่ไกล" เสียงตอบจากนายตำรวจติดตาม

"ผมอยากให้คุณไปกับผม" จอมพล ป. พูดตัดบทกับนายตำรวจอารักขา

"กระผมทำหน้าที่อารักขาท่าน ขณะนี้หน้าที่ยังไม่สิ้นสุด ถ้าท่านคิดว่าจำเป็นที่จะต้องเอากระผมไปด้วย กระผมก็ยินดีและเต็มใจไปกับท่าน อนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง ผมเชื่อมั่นว่าภรรยาซึ่งเป็นครูคงจะมีรายได้พอจะเลี้ยงลูกทั้งสี่ของเราได้" พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ตอบอย่างมั่นคงในจิตใจ


จากนั้นพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้ฝากเครื่องแบบตำรวจไว้กับพลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ ให้ช่วยไปมอบให้ภรรยาและแจ้งข่าวการอารักขานายกรัฐมนตรีตามหน้าที่ซึ่งจำเป็นต้องเสียสละความสุขส่วนตัว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:24

สภาพของเรือประมงซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้ในการลี้ภัยการเมืองไปยังเกาะกง ประเทศกัมพูชา เป็นเรือหาปลาขนาดเล็กเครื่องยนต์ใช้น้ำมันเตา อุปกรณ์การเดินเรืออย่างอื่นไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวิทยุติดต่อ แผนที่เดินเรือหรือเข็มทิศ ตอนบ่ายคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผู้ติดตามประกอบด้วย นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา บ่าย ๒ โมงเรือเริ่มเดินเครื่องออกจากท่า แม้จะอยู่ตามชายฝั่งแต่เนื่องจากเป็นเรือเล็กและคลื่นแรงเรือจึงโคลงอย่างหนัก พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เกิดอาการเมาคลื่นอย่างสาหัส อาเจียนจนหมดเรี่ยวแรง แต่สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วท่านนั่งเฉยไม่มีอาการหวาดวิตกว่าเรือจะโคลง จะโดนคลื่น หรือเรือจะล่ม

เรือหาปลาลำเล็กแล่นฝ่ามรสุมไปอย่างบังคับทิศทางไม่ได้ เรือแล่นไปได้ไกลสักเท่าใดก็ไม่ทราบ ประมาณ ๒ ทุ่มเศษ เรือได้มาถึงหาดเล็กชายแดนไทย-กัมพูชา คณะจอดเรือเพื่อหาอาหารค่ำรับประทานโดยมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งทราบเรื่องได้พาลูกบ้านทำข้าวต้มเลี้ยงท่านผู้นำ ขณะเดียวกันวิทยุก็ประกาศให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไปรายงานตัวต่อคณะปฏิวัติที่หอประชุมกองทัพบก ทำให้ท่านมีสีหน้าที่ไม่สบายใจนัก เกือบ ๔ ทุ่ม ท่านจึงสั่งให้รีบออกเดินทางทั้งๆ ที่บรรยากาศมืดสนิท ท้องทะเลกำลังบ้า คลื่นลมแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะกลัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติจะสั่งให้กองกำลังตามจับ

พลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า

การเดินเรือคราวนี้เลวร้ายกว่าครั้งที่ออกจากตราดมาก ท้องทะเลปั่นป่วนและมืดสนิท พายุโหมกระหน่ำอย่างเกรี้ยวกราด คลื่นแต่ละลูกเหมือนภูเขา น้ำทะเลเข้าไปในเรือแต่ละโครมทำให้เรือถูกกระแทกอย่างแรง จนเอียงวูบเหมือนจะจม แต่ไม่จม ผมเจอทะเลบ้าครั้งนี้ อาเจียนจนไม่มีอะไรจะอาเจียนอีก แต่ยังครองสติได้ เมื่อน้ำทะเลซัดเข้าไปในท้องเรือ น้ำท่วมห้องเครื่อง ผมและลูกเรืออีกคนหนึ่ง พยายามสูบน้ำออกจากห้องเครื่อง แต่ปริมาณน้ำที่สูบออกเหมือน "เยี่ยวเด็ก" แต่น้ำที่เข้าไปเหมือน "ทำนบพัง" เครื่องถึงที่สุดของมันคือดับสนิท

เมื่อเครื่องเรือดับ การบังคับเรือทำไม่ได้เลย เรือหาปลาลำนี้ก็เหมือนกาบมะพร้าวลอยไปตามยถากรรม ตามแรงกระแทกของคลื่นยักษ์ ขณะนี้ผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าลงไปช่วยสูบและวิดน้ำออกจากห้องเครื่อง ถ้าเรือจมแน่นอนว่าต้องจมไปกับเรือ

การผจญกับคลื่นลม ความแปรปรวนของท้องทะเล และเรือต้องลอยไปตามยถากรรมนั้น ผมโผล่จากท้องเรือเห็นจอมพล ป. นั่งสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางความมืด ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก ไม่มีอาการเมาคลื่น หรืออะไรทั้งสิ้น

เรือประมงลำเล็กๆ ของเราจวนเจียนจะจมหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่จม ผมถามกัปตันเรือว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน อยู่ห่างจากฝั่งเท่าไร เรากำลังอยู่ฝั่งเขมร หรือลอยอยู่ในทะเลไทย กัปตันตอบว่า "ไม่รู้" ขณะที่เครื่องเรือเงียบสนิทและรอให้พายุสงบ

ท้องทะเลยังปั่นป่วนต่อไป เรือจะอับปางลงนาทีหนึ่งนาทีใดก็ไม่รู้ ผมขึ้นจากท้องเรือเพราะสู้กับปริมาณน้ำทะเลที่คลื่นซัดเข้าเรือไม่ไหว มานั่งกอดเสาอยู่หน้าจอมพล ป. ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่าภาวนา บนบานศาลกล่าวนึกถึงพระนึกถึงเจ้า พร้อมทั้งคิดว่าเราไม่เคยสร้างกรรมชั่วอะไรไว้ ทำไมจะต้องมาตายอย่างทารุณกลางทะเลบ้าอย่างนี้

ผมยังคิดว่า ถ้าตกลงไปในทะเลบ้า หรือมีเหตุให้เรือจม หรือจมไปกับเรือ ผมจะยิงขมับตัวเองทันทีจะไม่ยอมทรมานด้วยการจมน้ำตายเด็ดขาด

เหตุการณ์อันน่าหวาดกลัวและตื่นเต้นที่เกิดขึ้นกับพวกเราในครั้งนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ พวกเราเองก็รู้ว่ามันต้องเกิดขึ้น ทุกคนได้เตือนแล้ว หน้ามรสุมเช่นนี้ไม่มีใครกล้าออกทะเล แม้จะเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์การเดินเรือพร้อมก็ตาม แต่เราจำเป็นต้องออก และไม่คิดว่าทะเลจะบ้าคลั่งอย่างรุนแรง น่าสะพรึงกลัวอย่างนี้ พวกเราปลงตกว่าไม่มีใครแก้ได้ ทุกคนทำอะไรไม่ได้ นอกจากระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ช่วยคุ้มครองเท่านั้น

ภัยที่พวกเราผจญอยู่ในคืนนั้น มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสุดขีด คงไม่มีภัยใดที่น่ากลัวเท่านี้หรือกว่านี้อีกแล้ว ในช่วงที่เครื่องเรือดับและเรือผจญคลื่นขนาดใหญ่ของทะเลที่บ้าคลั่ง พายุโหมกระหน่ำอย่างไม่ปรานี การอยู่ในสภาพที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำใจให้สงบพร้อมที่จะตาย เหตุการณ์รุนแรงอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง มันเป็นครึ่งชั่วโมงที่ยาวนาน เป็นครึ่งชั่วโมงที่ทรมานโหดร้ายที่สุดในชีวิต

ลมฝนค่อยเบาลง แน่นอนคลื่นเล็กลงเป็นลำดับ ในที่สุดท้องทะเลก็เงียบสงบอีกครั้ง ผมหายจากอาการเมาคลื่น รีบลงไปใต้ท้องเรือช่วยกันวิดน้ำออกจนหมด เอาผ้ามาบิดให้แห้ง เช็ดเครื่องเรือ เผาหัว ติดเครื่องได้อีกครั้ง

ที่แน่นอนที่สุดของธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ หลังพายุฝนท้องฟ้าจะแจ่มใส ดวงดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับ กัปตันเรือสามารถบอกได้ทันทีว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน ห่างจากฝั่งเท่าไหร่โดยอาศัยดวงดาว ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่เดินเรือของพวกเขา

ถึงตีห้าเศษๆ คณะจึงรู้ว่าเรืออยู่ทางทิศตะวันออกเพราะท้องฟ้าเริ่มสว่างจ้าเห็นชัดเจนจนมองเห็นฝั่ง และเบื้องหน้าคือ "เกาะกง" จุดหมายการลี้ภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรือแล่นเข้าเกาะกงอย่างช้าๆ และก่อนถึงฝั่งทหารประจำเกาะขับเรือเข้าเทียบเรือประมงของคณะผู้ลี้ภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจ้งให้ทหารเหล่านั้นทราบว่า ท่านเป็นใคร มาจากไหน และต้องการมาลี้ภัย ทหารเขมรรับทราบและให้คณะลอยเรือรออยู่ก่อนเพื่อจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ครู่ต่อมาทหารเขมรได้ขึ้นมาควบคุมเรือแล้วลอยลำเข้าไปยังเกาะและเชิญให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม คุณฉาย วิโรจน์ศิริ และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ พักอาศัยที่เรือนรับรองในค่ายทหาร ส่วนนายดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม กัปตันเรือ และลูกเรือ ทางทหารเขมรปล่อยให้เดินทางกลับประเทศไทย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 18:27

ในขณะนั้นสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ พระประมุขประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศส และทรงมอบให้สมเด็จพระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลต้องรอรับสั่งจากสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุว่าจะทรงตัดสินพระทัยอย่างไร ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงให้ลี้ภัยที่เขมรได้ เพราะครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยลี้ภัยการเมืองที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน และรับสั่งให้ดูแลรับรองคณะจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่าให้ขาดตกบกพร่อง หลังจากนั้น ๒ วัน ผู้บังคับการค่ายทหารแจ้งแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ารัฐบาลยินดีให้ลี้ภัยได้และรัฐบาลจะจัดรถมารับไปยังกรุงพนมเปญในวันรุ่งขึ้น

รุ่งเช้าของวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลจัดเรือรบมารับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะ จนกระทั่งบ่ายโมงเรือรบเดินทางถึงเมืองเสียมเรียบซึ่งเป็นเมืองชายทะเลของเขมร และคณะต้องเดินทางต่อด้วยรถยนต์อีก ๔ ชั่วโมง จึงถึงกรุงพนมเปญ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุรับสั่งให้คณะพักที่บ้านหลังใหญ่ครึ่งตึกครึ่งไม้หลังพอเหมาะในบริเวณพระราชวังของพระองค์

วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขานายกรัฐมนตรีผู้ลี้ภัยได้เดินทางไปยังสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญเพื่อรายงานตัวและตั้งใจจะเล่าเรื่องราวการเดินทางให้ทูตรับทราบและถูกทูตปฏิเสธไม่ให้เข้าพบโดยแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ว่าไม่อยู่ บังเอิญที่ในเย็นวันนั้นทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญได้มาเยี่ยมจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเอาบุหรี่นาวีคัท มามอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะท่านชอบสูบบุหรี่ยี่ห้อนี้ พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงมีโอกาสพูดคุยกับทูตทหารท่านนี้และรับทราบว่าผู้มีอำนาจที่แท้จริงของไทยคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทูตทหารจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงถือโอกาสขอร้องให้ทูตทหารช่วยเรียนกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพลโทถนอม กิตติขจร หรือพลโทประภาส จารุเสถียร ท่านใดท่านหนึ่งถึงการทำหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี และเมื่อหมดหน้าที่แล้วจะขอเดินทางกลับประเทศไทย พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ พูดกับท่านทูตทหารว่าถึงรัฐบาลไม่ให้กลับก็จะกลับเพราะไม่มีความรู้อื่นใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่มีเงินพอที่จะอุปการะได้โดยตลอด และยินดีให้รัฐบาลจับถ้าเห็นว่ามีความผิดที่ทำหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี

๑ สัปดาห์ผ่านไป ทูตทหารกลับจากไทยมาบอกกับพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ว่าได้ไปรายงานต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถึงการลี้ภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะปฏิวัติพิจารณาแล้วเห็นว่าพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ไม่มีความผิดอะไร ให้เดินทางกลับประเทศไทยได้

สถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้ออกหนังสือรับรองสัญชาติไทยให้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นคนออกค่าตั๋วเครื่องบินของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ให้ วันเดียวกันนี้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พลตรีนิตย์ พิบูลสงคราม บุตรชาย และนาวาโททินกร พันธ์กวี กลับจากประชุมสภาสตรีสากลที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ไปพบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เขมร ซึ่งพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ถือว่าได้เสร็จสิ้นภารกิจการเป็นนายตำรวจอารักขาของตนเองแล้ว

วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๑๖.๐๐ น. พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้กราบลาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้ลี้ภัย และเดินทางถึงสนามบินดอนเมืองในช่วงค่ำ ซึ่งต้องเผชิญกับกองทัพนักข่าว พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ต้องการรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบก่อนให้ข่าวกับสื่อมวลชน จึงคิดหนีกองทัพนักข่าว โชคดีได้พบกับนาวาอากาศเอกกระแสร์ อินทรัตน์ (ภายหลังเป็นพลอากาศเอก อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร นาวาอากาศเอกกระแสร์ อินทรัตน์ จึงนำขึ้นรถจี๊ปของทหารอากาศออกมาทาง กองบิน บน. ๖ แล้วออกถนนพหลโยธิน ไม่มีนักข่าวคนใดตามมาเลย จากนั้นได้ไปรายงานตัวต่อพลตำรวจโท หลวงแผ้วพาลชน ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งได้สอบถามพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เพียงไม่กี่คำจากนั้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ ๒ สันติบาล เป็นผู้สอบสวน ซึ่งถูกสอบอยู่ ๘ ชั่วโมง ไม่ได้เข้าประเด็นอะไร รุ่งขึ้นพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงขอพบพลตำรวจเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ แทนพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

พลตำรวจเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจ แจ้งว่าไม่มีใครติดใจอะไร และแจ้งว่านายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องการให้เป็นนายตำรวจอารักขา พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ปฏิเสธขอไปทำหน้าที่ตำรวจตามวิชาชีพแต่ไม่อาจปฏิเสธได้คงต้องเป็นตำรวจอารักขานายกรัฐมนตรีอีก ๒ ท่าน นายพจน์ สารสิน และพลเอกถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ หน้าที่การเป็นตำรวจอารักขาของพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงสิ้นสุดลง

อนึ่งหลังจากลี้ภัยอยู่ในเขมรเป็นเวลา ๒ เดือน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยา ได้อุปสมบทที่พุทธคยาและเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งคราว และถึงอสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ขณะอายุได้ ๖๗ ปี ส่วนพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ครองยศสูงสุดคือพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ๒ สมัย และในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ๒ สมัย และถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขณะอายุได้ ๘๓ ปี


ข้อมูลจาก "ตำรวจอารักขา" ของพลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๔



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 19:11

นี่เป็นอีกสำนวนหนึ่งของพ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพที่คนนำไปอ้างอิงกันมาก และเป็นตัวอย่างของเรื่องที่เขียนจากเขาเล่าว่า มิได้เห็นด้วยตาและฟังด้วยหูของตนเอง เรื่องเดียวกันแท้ๆ บางสาระก็ผิดเพี้ยนเป็นคนละเรื่องไปเลย

จอมพล ป. เผ่น !

มาได้ข่าวทีหลังว่า ในวันที่เกิดเรื่องปฏิวัตินั้น ท่านจอมพล ป. ไม่ได้เข้าไปพบหัวหน้าคณะปฏิวัติตามคำประกาศเชิญ ท่านออกจากทำเนียบก็ขึ้นรถหลบหนีไปทางทิศตะวันออกทันที โดยเลียบฝั่งทะเล มุ่งหน้าไปทางเมืองชล ฯ จะไปพักพิงที่สัตหีบ ที่นั่นลูกชายของท่านเป็นผู้บังคับการทหารเรือฝ่ายนาวิกโยธิน อยู่ที่หน่วยนาวิกโยธินสัตหีบ ชื่อ พลเรือตรี ประสงค์ พิบูลสงคราม

ผบ. นาวิกโยธินผู้นี้เป็นเพื่อนร่วมชั้นของผมเมื่ออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ ไปยังไงมายังไง ถึงได้เป็น ผบ. นาวิกโยธินที่สัตหีบได้ ผมก็ไม่ทราบ

ท่านจอมพล ป. ไปตั้งหลักที่นั่นกับลูกชาย เปิดวิทยุฟัง ท่านมีนายตำรวจประจำตัวท่านติดตามไปด้วย นายตำรวจผู้นั้น ชื่อ พันตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ ผู้กำกับกอง 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล นายตำรวจผู้นี้ ผมส่งไปเป็นนายตำรวจติดตามท่านจอมพล ป. ให้มีหน้าที่อารักขาท่านจอมพล ป. โดยเฉพาะ โดยตำแหน่งเขาก็เป็นผู้บังคับการกองกำลังของตำรวจสันติบาลอยู่ด้วย เป็นหน้าที่ของกอง 4 โดยตรง

ท่านจอมพล ป. ไปเปิดวิทยุฟังอยู่ที่สัตหีบ ท่านได้ยินเขาเชิญให้ไปปรับความเข้าใจเหมือนกัน ท่านพูดกับผู้ที่นั่งฟังวิทยุด้วยกันว่า

“ เดี๋ยวเหอะ มาร์ชตำรวจคงขึ้น คอยฟังกันดีกว่า เผ่า ฯ เอาแน่ ”

แต่มาร์ชตำรวจก็ไม่ดังสักที กลับกลายเป็นประกาศคณะปฏิวัติดังออกมาว่า “ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจได้เข้าพบทำความเข้าใจกับหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วที่หอประชุมกองทัพบก ”

ท่านจอมพล ป. ก็อยู่ไม่ได้ ผิดความคาดหมายอย่างจัง ท่านเลยต้องออกจากที่นั่นไป ขืนอยู่ก็ไม่แน่ว่า ทางคณะปฏิวัติจะเอาอย่างไรกับท่าน และลงบุคคลทั้งสองได้พบกันอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะตกลงกันได้แค่ไหน ท่านเองก็ได้วางหมากไว้กับบุคคลทั้งสองนี้มามาก

เผ่นดีกว่า !

ท่านจอมพล ป. ใช้พาหนะของนาวิกโยธินที่นั่น อพยพออกไปทางชายแดนด้านนั้น ข้ามแดนเข้าไปในแดนเขมร ท่านเคยช่วยสีหนุไว้แล้ว ตอนที่หนีฝรั่งเศสมาพึ่งไทย ผมเป็นคนไปรับมาจากชายแดนมาไว้ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์คราวนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2500 นั้น สีหนุครองเขมรอยู่ คงจะเป็นที่พักพิงได้ดีกว่าที่จะอยู่ในเมืองไทย

ผู้กำกับชุมพล ฯ ทำหน้าที่ของเขาอย่างสมหน้าที่ เขาติดตามขบวนท่านจอมพล ป. ไปส่งจนถึงชายแดน ข้ามชายแดนเข้าไปในเขมรโดยสวัสดิภาพแล้ว ตัวเขาจึงกลับเข้าเมืองไทย หมดหน้าที่แล้วก็กลับกรุงเทพ ฯ มารายงานตัวกับคณะปฏิวัติ

งานอารักขาบุคคลสำคัญตามคำสั่งจบลงแล้ว กลับเข้ากรมกอง รายงานตัวเข้าที่ตั้งเดิม ไม่มีใครตอแยอะไรกับเขา เขาคงทำหน้าที่ผู้กำกับกอง 4 อย่างปกติ

คณะรัฐประหารกลับชมเชยเขา ในฐานะที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตามที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา และให้เขาเข้าทำหน้าที่ตามเดิม แถมยังปูนบำเหน็จให้อีกสองขั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็ง สมกับที่ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ รักษาความปลอดภัยให้ผู้ใหญ่ที่ตนได้รับคำสั่งให้ไปอารักขาสำเร็จตามหน้าที่

เขาเจริญเติบโตในหน้าที่ราชการอยู่กรมตำรวจจนถึงตำแหน่งสุดยอดของกรม ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในยศ พลตำรวจเอก และเกษียณอายุราชการไปบนตำแหน่งนี้

เป็นบุคคลอีกคนหนึ่งที่ท่านับถือในความจริงใจและรักหน้าที่อย่างเคร่งครัด หาได้ยาก

ท่านอธิบดีเผ่า ฯ และพวกผมได้รับทราบข่าวนี้เมื่ออยู่ที่เจนีวา เราก็ชมเชยน้ำใจเขา และรู้สึกภาคภูมิใจไปกับเขาด้วย

ไม่เหมือนกับบุคคลอีกหลาย ๆ คนที่ เมื่อเราพ่ายแพ้ไปอย่างสุภาพบุรุษ กลับหันมาเหยียบย่ำเราอย่างเจ็บแสบ ทั้ง ๆ ที่เมื่อท่านอธิบดีเผ่า ฯ ยังอยู่ในอำนาจ เขาเหล่านั้นก็ได้เข้ามาพักพิงภายใต้ร่มใบบุญ เป็นใหญ่เป็นโตด้วยบารมีของท่าน ที่เขาเข้ามาอาศัยพักพิง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 21:45

รูปนี้จอมพลสฤษดิ์ถ่ายกับโรเบิร์ต เคนเนดี้(ถ้าจำไม่ผิด)  ตอนท่านไปรักษาตัวที่อเมริกา   ที่จริงท่านก็ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี รัฐประหารเสร็จก็ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง    นายกฯคือคุณพจน์    แต่อเมริกาก็ต้อนรับท่านอย่างผู้นำ


บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 00:19

ไม่ได้เข้าเรียนวิชานี้เสียหลายวัน วันนี้ขอเช็คชื่อเข้าเรียนค่ะ คงจะไม่สายเกินไปนะคะ
มาตามคำร้องขอจาก อาจารย์เทาชมพูที่ให้คนที่เกิดทันจำอะไร ๆ ได้บ้าง มาแบ่งปันเรื่องราวค่ะ

อันที่จริง ยุคจอมพล ป.นั้น ดิฉันยังจำอะไรไม่ได้เลย แต่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากคุณเผ่ามากมาย
คุณปู่ดิฉัน (เจ้าของรถ Fiat คันงามของอาจารย์เทา)ได้รับตำแหน่งนักโทษการเมือง เอาไปขังฟรี ๆ ไม่มีการขึ้นศาล เพียงเพราะว่า ไม่ยอม "ใส่ซองกฐิณ" ของคุณเผ่าค่ะ

เราได้รู้จักหน้าตาของที่คุมขังนักโทษการเมือง และ ชะตากรรมที่ไม่มีวันฟื้นหลังการใส่ร้ายป้ายสีนั้น

ความจริง จอมพลแปลก ท่านเสื่อมเพราะคุณเผ่านะคะ จะทำดีอย่างไร ก็ทำไม่ขึ้น 

จอมพลสฤษดิ์นั้น ทำให้บ้านเมืองสงบมาก จำได้แม่น และ ทำให้ทุกคนมุ่งสร้างเศรษฐกิจด้วยคำขวํญที่เราเด็ก ๆ ในสมัยนั้นจะตามอ่านได้จากผ้าใบกันแดดหน้าห้องแถวริมถนนว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข"

รถ Ford Thunderbird ของจอมผล ป. นั้น เคยได้ยินว่า หลังจากท่านลี้ภัยไปแล้ว รถรุ่นนี้ ได้กลายเป็นของกำนัลที่ จอมพลผ้าข้าวม้าแดง แจกให้นางเล็ก ๆ คนละคัน ที่จำได้เพราะ หนังสือที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เอารูปมาลงให้ดูด้วย

หน้าตาของรถ ด้านหัว จะเหมือนปลาเก๋า หัวโต ปากกว้าง และตอนท้าย มีปีกมีครีบ คุณอาดิฉันเป็นตำรวจสันติบาล ไปซื้อรถมือสองสีแดงแจ็ด ขับมารับหลานที่โรงเรียนกลับบ้าน ดิฉันอายเพื่อน ๆ มาก เพราะหน้าตาและสีมันเชยระเบิด

คุณ Navarat C. คะ ขอกราบขอบพระคุณงาม ๆ กับทุกบทความที่นำมาเล่าปะติดปะต่อให้ได้เห็นหน้าตาประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่คนไทยไม่ได้เรียน ไม่มีโอกาสรู้ เพราะเป็นช่วงยุคทมิฬ

ดิฉันเป็นหลานเสรีไทย และหลานนักโทษการเมือง ที่ไม่รู้เรื่องเลยว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในยุคนั้น เพราะสิ่งที่เกิดกับปู่ ทำให้ทุกคนในบ้าน ไม่ยอมพูดการเมืองอีกเลย ลามปามมาถึงวันสอบ Entrance ที่ดิฉันถูกตัดสิทธ์ไม่ให้เลือกบางมหาวิทยาลัย เพราะกลัวจะไปยุ่งการเมือง

เรื่องราวในยุคนั้น ต้องมาค้นหาอ่านเอาเองในภายหลัง จึงมาเป็นแฟนเรือนไทยเงียบ ๆ อยู่นาน ได้รับข้อมูลที่ขาดหายไปมากมายอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่มาช่วยกันเติมประวัติศาสตร์ค่ะ และ อยากให้เรื่องในนี้ ได้รับการรวมเล่มนะคะ คุณ Navarat น่าจะรับตำแหน่งผู้เรียบเรียงนะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 09:03

^
ที่คุณร่วมฤดีเขียนมาทำให้ผมหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ไม่นึกว่าจะมีผลทำให้คนๆหนึ่ง ที่บุคคลในครอบครัวโดนผลกระทบเป็นเหยื่ออธรรมทางการเมือง แต่ไม่ทราบเรื่องทราบราวว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ได้ทราบเรื่องที่มันเกิดขึ้นแล้วในบ้านเมืองนี้จริงๆ บางรายหลงโทษตัวเองว่าไปขวางทางเขา บางรายแม้ทราบว่าตนเองบริสุทธิ์ก็ไม่มีปัญญาอธิบายแก้ตัวต่อสังคม หลายครอบครัวต้องก้มหน้ารับมลทินผ่านจากพ่อมาถึงลูกอย่างหน้าเห็นใจ

ขอบคุณมากครับที่คุณร่วมฤดีสะท้อนความเห็นกลับมาเช่นนี้
เรื่องต่างๆที่เล่ามาก็น่าสนใจมาก ว่างๆถ้าวันไหนไม่ดึกเกินไป ช่วยขยายความให้ยาวๆหน่อยจะได้ไหมครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 09:05

รถที่จอมพลผ้าขาวม้าแดงแจกคือรถฟอร์ดเทานุสค่ะ  กระทรวงการคลังซื้อมาประมาณปี ๒๕๐๒ - ๒๕๐๓  

ผู้บริหารของโรงงานยาสูบได้รับแจกเป็นรถประจำตำแหน่งกันหลายคน

ผู้คนมักจะจ้องมองหญิงสาวที่นั่งรถเทานุส  เรียกกันว่ารถเมียน้อย

ตอนนั้นนายหน้าก็วิ่งหาหญิงสาวหน้าตาดีไปให้ท่านเป่ากระหม่อม

ลือกันเป็นไฟพะเนียงว่า  สาวน้อยนักศึกษาแพทย์จากตระกูลนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของประเทศไทย  ได้สมัครเป็นสมาชิกของฮาเร็ม

โดยถ่ายภาพเปลือยส่ง  เพราะครอบครัวมีปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง     ท่านรับค่ะ

เรื่องนี้กระเทือนใจชาวบ้านอยู่บ้าง  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 09:20

Ford Taunus 1959 ครับ เข้ามาใหม่ๆก็ฮือฮาดี เพราะหน้าตาสมัยนั้นก็ถือว่าหล่อไม่เบา แต่พอทราบกิตติศัพท์ที่คุณวันดีว่าคนเลยถอยกรูด ทำเอารถยี่ห้อนี้เจ้งไปเลย


บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 10:15

เนื้อหาในบลอคที่อาจารย์เทาชมพูลงไว้ให้อ่านในความเห็น 232 ผู้เขียนคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ค่ะ

น่าจะเป็นหนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระครบรอบอายุ 60 ปีของท่าน (ผิดถูกอย่างไรโปรดอภัยค่ะ ต้องไปรื้อหนังสือดูอีกครั้ง)

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกมาก ท่านเขียนเรื่องราวตั้งแต่ท่านเกิด ไปเรียนเมืองนอก กลับมารับราชการ จนถึงช่วงท้ายของชีวิต แต่เล่มที่มีอยู่เนื้อหาบางตอนไม่ได้นำมาลง เนื่องจากท่านผู้เขียนระบุไว้ว่า เดิมทีท่านเขียนให้ลูกหลานอ่าน แต่เมื่อจัดพิมพ์และมีบางช่วงบางตอนที่ (คิดว่า) น่าจะเป็นประเด็นอ่อนไหว เช่น คดีเขาพระวิหารในยุคนั้น จึงได้ถูกตัดออกไปค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 20 คำสั่ง