เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160157 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 13 ส.ค. 10, 19:32

คุณชลอ วนะภูติ คุ้นชื่อท่าน   ไม่ใช่ในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของมหาดไทยก่อนเกษียณราชการ   แต่เป็นเพราะท่านเขียนหนังสือเก่งมาก  สำบัดสำนวนพลิ้ว และลื่นไหล อ่านสนุก
ใครเคยอ่าน "เขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นมาเฟีย" บ้างคะ  ในเล่มนั้นท่านเล่าเรื่องการจัดทัพของรามเกียรติ์ด้วย เป็นมุมมองที่แปลกและคมคาย น่าหาอ่าน
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 01:38

มาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่ครับ

ช้วงนี้ เดินทาง งานยุ่ง อยู่ใน สลังงอร์ ครับ


ขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาเช็คชื่อครับ
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 02:31

มาเซ็นชื่อว่าเข้าเรียนอยู่อย่างสม่ำเสมอค่ะ

ฝนตกทั้งวันเลย อาจารย์และเพื่อนๆ นักเรียนรักษาสุขภาพด้วยนะคะ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 08:43

^

เวลาตีสองครึ่ง นี่โพสต์มาจากเมืองนอกหรือเมืองไทยละครับนั่น
ขอบคุณทุกๆท่านที่ส่งข้อความมาเป็นเพื่อนคุยนะครับ
.
.
ผมนำเรื่องที่มีทั้งชื่อของหลวงอังคณานุรักษ์และท่านชลอ วนะภูติจากเวปของสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้อ่านประกอบ จากเรื่องนี้ทำให้เราทราบว่าทำไมท่านผู้ว่าชลอจึงต้องรีบมาถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว และแก้ไขสถานการณ์ให้อาจารย์อย่างทันท่วงที
.
.

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์มีดำริจะจัดตั้งโรงเรียนการเมืองตามแนวทางของตนขึ้นมา ดังนั้น เมื่อวันที่20มีนาคม 2476 ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งมาตรา5 แห่งพระราชบัญญัติว่า“ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านั้นมาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ก่อน วันที่ 1เมษายน พุทธศักราช 2477”เป็นอันว่าคณะรัฐศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งได้สถาปนาและมีวิวัฒนาการอย่างยืนยาวมาถึง3แผ่นดิน ได้ถึงกาลอวสานลงอย่างฉับพลัน โดยถูกสั่งยุบให้ไปรวมกับมหาวิทยาลัยวิชาการธรรมศาสตร์และการเมือง นั้นย่อมก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่บรรดา ศิษย์เก่าอาจารย์และนิสิตยิ่งนัก “ชลอ วนภูติ” ได้เคยเขียนบรรยายความรู้สึกเอาไว้ว่า“การที่เราเรียนอยู่ดีๆแล้วมีประกาศทางราชการให้ยุบคณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งๆที่เรียนค้างอยู่ และไปยุบเอารุ่นที่เรียนปี2แล้วเข้าด้วยกันเช่นนี้ ต่อมาพวกเราทั้งหมดที่ถูกลอยแพ จึงมีผู้ขนานนามว่านักเรียนรัฐศาสตร์รุ่นแพแตก คือแตกเหมือนแพแตกแล้วลอยเปะปะไปทั้งแผ่นดิน”
        
“หลวงอังคณานุรักษ์” ซึ่งเลือดรัฐศาสตร์อยู่เต็มตัวเพราะเคยเป็นทั้งนิสิตและอาจารย์สอนวิชาการปกครองอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในยามวิกฤตินั้น สุดจะนั่งดูดายเพราะคิดว่าคณะรัฐศาสตร์ได้ก่อกำเนิดมา แต่ดึกดำบรรพ์ชาวคณะได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลเป็นลำดับผลของงานได้ปรากฎให้เห็นประจักษ์ชัดอยู่ทั่วไป แต่ต้องทลายลงในทันทีทันใดเพื่อผลทางการเมือง  เป็นเรื่องที่น่าสังเวชจึงได้พยายามวิ่งเต้นอย่างสุดเหวี่ยงเพื่อร้องขอผู้มีอำนาจให้นิสิตชุดที่กำลังศึกษาอยู่ได้เรียนต่อไปจนจบหลักสูตร แต่ว่าไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากท่านผู้ใด ดังนั้นนิสิตรัฐศาสตร์ขณะนั้นจึงทีทางเลือกเพียง ๒ ประการ คือ ถ้าไม่ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ออกไปรับราชการเป็นปลัดอำเภอทั้งๆที่เรียนครึ่งๆ กลางๆ

เมื่อคณะรัฐศาสตร์ฯ ถูกยุบหลวงอังคณานุรักษ์ก็พ้นจากชีวิตอาจารย์ โดยในปลายปี ๒๔๗๖ ทางราชการได้มีคำสั่งให้หลวงอังคณานุรักษ์ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคามแต่ความคิดที่จะรื้อฟื้นคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังอยู่ในจิตใจของท่านตลอดเวลา ต่อมาภายหลังหลวงอังคณานุรักษ์ได้เข้าสู่วงการเมือง ทำให้ความคิดหวังที่จะรื้อฟื้นคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขึ้นใหม่ก็คืบใกล้เข้ามา ท่านมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ปรึกษาตกลงกันในหลักการเรื่องการที่จะรื้อฟื้นคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขึ้น แต่ยังไม่ทันลงมือทำอะไร รัฐบาลชุดนั้นก็มีอันต้องสิ้นสุดลง

ต่อมาเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกวาระหนึ่งในปี พ.ศ.2491ในวันแถลงนโยบายฯ หลวงอังคณานุรักษ์ได้พยายามชี้ให้รัฐบาลเห็นว่าการยุบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร และเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูคณะรัฐศาสตร์ตามแนวคิดเดิมขึ้นใหม่ คณะรัฐมนตรีจึง ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาว่าแผนกรัฐศาสตร์ควรที่จะอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองหรือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีสามท่านกับคุณวิจิตร ลุลิตานนท์ รักษาการผู้แทนประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหลวงอังคณานุรักษ์ผู้เป็นเจ้าของเรื่องร่วมเข้าประชุมปรึกษาด้วย

ซึ่งผลของการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิมคณะกรรมการปรับปรุงมหาวิทยาลัยจึงเสนอคณะรัฐมนตรีว่าแผนกรัฐศาสตร์ควรอยู่ที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยโดยคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบด้วยและให้ดำเนินการต่อไป
        
ขั้นตอนที่สำคัญคือ การเสนอกฎหมายขอจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ ฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๑ เวลา๑๑ นาฬิกาเศษ โดยมีพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เสนอในนามรัฐบาล ปรากฎว่าที่ประชุมที่ได้มีการ
อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพักการประชุมเมื่อเวลา12.40นาฬิกาหลวงอังคณานุรักษ์เล่าว่า “ระหว่างสภาหยุดพักกลางวันข้าพเจ้าต้องเที่ยวได้ไหว้วอนสมาชิกผู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้”

ในที่สุด ตอนบ่ายวันนั้นเองสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 3) ที่ให้ตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นใหม่ โดยได้พิจารณาและได้รับความเห็นชอบรวดเดียวทั้ง3วาระ หลังจากนั้นร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงพระนามและลงนามประกาศให้กฎหมายในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่17 สิงหาคม2491

จึงถือว่าหลวงอังคณานุรักษ์คือบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯยุคใหม่ที่ควรแก่การรำลึกถึงบุญคุณและประทับอยู่ในความทรงจำของชาวสิงห์ดำทุกคนตลอดไป






บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 10:08

การเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยครั้งนั้นมีหลายฉายาที่นักข่าวตั้งให้ เช่นเลือกตั้งมหาประลัย เลือกตั้งมหากาฬ  เลือกตั้งโสโครกเป็นต้น วิธีการต่างๆที่ชายผู้เหน็บแหนบนำมาใช้ นอกจากพลร่ม ไพ่ไฟ เวียนเทียนด้วยวิธีการตามที่ท่านอาจารย์เทาชมพูขยายความไปแล้ว เทคนิกอื่นๆที่นำมาใช้ก็มีการสลับเบอร์คู่แข่งขันอื่นๆไม่ให้เรียงกัน แต่ของเสรีมนังคศิลาเรียงแถวตั้งแต่เบอร์25ถึง33ให้เห็นง่ายๆ บางหน่วยมีการถ่วงเวลาบอกขัดข้องไอ้โน่นไอ้นี่ คนมายืนรอจะรับบัตรเลือกตั้งเบื่อหน่ายหนักเข้าก็กลับไปโดยไม่รอ แต่ตอนเปิดหีบกลับมีบัตรเต็มใบ ที่พื้นๆอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่มาเลือกแต่ไม่ได้เลือกเพราะกรรมการอ้างว่าชื่อนี้มาแสดงตนเอาบัตรไปลงคะแนนแล้ว เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดำเนินไปอย่างโต้งๆ โจ่งแจ้ง ไม่ต้องอาย มีประชาชนร้องเรียนไปยังพรรคประชาธิปํตย์มากมายจนนายควงตลกไม่ออก ได้แต่กุมขมับร้องขอให้หนังสือพิมพ์ช่วยเก็บหลักฐานให้ด้วย แต่ช่างภาพนักหนังสือพิมพ์เองก็ทำงานยาก จะถ่ายอะไร ชายในชุดสีน้ำตาลสามสี่คนก็คอยมาบังกล้องไว้  ช่างภาพบางคนถูกล้อมกรอบแล้วโดนเชิญให้กลับบ้านไป

รายที่เป็นเรื่องดังที่สุดเห็นจะเป็นคดีที่นายสมนึก วงศ์กระจ่างช่างภาพนสพ.ไทรายวัน แจ้งความว่าโดนปล้นโดยนายปรีชา เอมะตาน ที่ใช้ชื่อในการแสดงว่าเกชา เปลี่ยนวิถี หรือชื่อในวงการผู้กว้างขวางว่าเกชา หัวลำโพง  นำพวกมาล้อมกรอบแล้วยึดกล้องไปถอดฟิล์มที่เขาอุตส่าห์ตระเวณถ่ายหน่วยเลือกตั้งต่างๆมาได้หลักฐานดีๆกระจะๆ เกชาตอนนั้นรูปหล่อจัด และได้เป็นพระเอกหนังไทยประเภทจอมยียวนได้หลายเรื่องแล้ว พอถูกตำรวจเรียกไปสอบสวนก็บอกว่าไม่ได้ปล้น เพียงแต่ขอพี่เขาดีๆเท่านั้น และตนยังหอมแก้มนายปรีชาไปฟอดนึงเป็นการขอบคุณด้วย คดีนี้ทำท่าจะเงียบไปเพราะผู้ต้องหาแสดงบัตรตราไก่ แต่ครั้นจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ เกชาและเพื่อนผู้กว้างขวางทั้งหลายก็มีอันจะต้องย้ายนิวาศสถานไปอยู่ลาดยาวหลายปีโดยไม่มีการแจ้งข้อหา พอพ้นตรงนั้นมาได้ก็เลยพ้นบทพระเอกไปด้วย แสดงหนังทีไรคราวนี้กลายเป็นผู้ร้ายซะทุกเรื่องไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 10:36

ได้โอกาสจะแยกซอยเรื่องคุณเกชานี่เอง

มาเห็นบทบาทในจอตอนคุณเกชาอายุมากเข้าขั้นผู้อาวุโสแล้ว แต่ก็ยังหล่อไม่สร่าง  เล่นหนังก็แต่งตัวดี มาดดีอยู่เสมอ เหมาะจะเล่นบทเจ้าพ่อ    เคยขอคุณแดงแห่งช่อง 7 ให้คุณเกชาเล่นบทในละครเรื่องหนึ่ง   แต่มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับสคริปต์  ทำให้บทนี้ไปตกอยู่กับดามพ์ ดัสกร แทน
ไปเปิดประวัติดู พบว่าฝีมือและรูปร่างหน้าตาของคุณเกชาเมื่อวัยหนุ่มคงไม่เบาเลย   เห็นได้จากพระองค์ชายใหญ่ทรงเลือกให้รับบทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในหนัง " นเรศวรมหาราช" ถ่ายทำในปี 2500 คู่กับรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง
แต่ยังไม่ทันได้แสดง  คุณเกชาเจอโรคพิษตราไก่ ต้องไปพักผ่อนนอกจอด้วยคำสั่งจอมพลสฤษดิ์เสียนานหลายปี   ส่วนภาพยนตร์นเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์ชายใหญ่หรือพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงคัดเลือก ชูชัย พระขรรค์ชัย นักมวยดังที่คุณมานิตคงรู้จักดี  มารับบทแทน

ลูกสาวคุณเกชา ที่ชื่อนาตาลี (เปลี่ยนวิถี) สัจจะกุล  เป็นนางแบบสวยที่สุดคนหนึ่งในวงการ เท่าที่เคยเห็นมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 11:33

ออกจากซอยไปเข้าคูหาเลือกตั้งต่อ

ตอนลงคะแนนเลือกตั้งก็ไม่อายอยู่แล้ว ตอนนับคะแนนก็ยิ่งด้านหนักเข้าไปใหญ่ แต่ละหน่วยมีหน้าที่นับกันเองทีหนึ่งก่อน โดยให้เวลาถึง3วัน แล้วจึงจะเอาคะแนนที่นับได้ไปรวมกันอีกทีที่กระทรวงมหาดไทย ถึงแม้จะมีเวลารวมกันแล้ว41ชั่วโมง คือเริ่มตั้งแต่16.30น.ของวันที่26 จนเช้าของวันที่27เลยเรื่อยข้ามวันข้ามคืนไปจบเอาเวลา10.00น.ของวันที่28 แต่กว่าจะนับกันได้ ต้องโอ้เอ้ศาลาราย หีบหายบ้าง กรรมการไม่ครบบ้าง บางแห่งอู้ไปจนมืดค่ำ กว่าไฟฟ้าจะมาปรากฏว่าเปิดหีบแล้วพบบัตรที่ลงให้พรรคเสรีมนังคศิลาลอยหน้าอยู่เต็ม ขานคะแนนกันเมื่อยกว่าจะถึงตอนล่างๆของหีบที่คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จะเริ่มวิ่งขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่มีทางจะทัน บางแห่งนับกันอยู่จนเกือบจะหมดหีบแล้วไฟฟ้าดับ พอไฟมาอีกทีหีบเต็มอีกแล้ว คะแนนของประชาธิปัตย์ที่เมื่อกี้นำโด่งก็โดนคะแนนผีของพรรคเสรีมนังคศิลานำติดๆกันขึ้นมาจนทิ้งขาดลอย บางหน่วยกว่าจะเริ่มนับได้ก็ตอนกลางดึกที่ชาวบ้านอยู่เฝ้าไม่ไหวแล้ว ยังไงก็ตาม ทุกแห่งก็ไม่มีใครกล้าทักท้วงรุนแรง เพราะผู้กว้างขวางในชุดเสื้อสีน้ำตาล กระจายกำลังกันยืนหน้าถมึงทึง บางทีก็กอดอกให้เสื้อรัดรูป เห็นอะไรพกอยู่ตุงๆที่เอว พลเมืองดีทั้งหลายก็ต้องรักษาบทบาทของผู้รักสงบ เพราะหือไปก็คงจะหือไม่ขึ้น

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นไปตามคิด ทว่าไม่เป็นไปตามความรู้สึก จากจำนวนเก้าอี้ส.ส.ทั้งหมด160ที่นั่ง พรรคเสรีมนังคศิลาได้83ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้28ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตยได้11ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ได้10ที่นั่ง พรรชาตินิยม3ที่นั่ง พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้2ที่นั่ง พรรคอิสระได้2ที่นั่ง และไม่สังกัดพรรครวม13ที่นั่ง

ในกรุงเทพมหานครนั้นพรรคเสรีมนังคศิลาได้7ที่นั่งจาก9  คือ พิบูล-เวชยันต์-บริภัณฑ์-ลัดพลี-โยธี-บัญญัติ-สวัสดิ์ ส่วนเดชกับรักษ์ ไม่ได้รับเลือก สงสัยว่าเป็นเพราะชื่อไม่สัมผัสคล้องจองกับเขา ปล่อยให้ประชาธิปัตย์ได้ไป2 คือนายควง กับน.ท.พระประยุทธชลธี ท่านหลังนี้ชื่อคุ้นมากเพราะจำได้ว่าท่านเป็นญาติผู้น้องของคุณยาย ไปมาหาสู่ที่บ้านผมเป็นประจำ แม่ผมเรียกท่านว่าคุณน้าและให้ผมเรียกท่านว่าคุณตา ผมยังเด็กมากแต่ยังจำได้ดีว่าท่านเป็นชายชราที่มีบุคคลิกสง่างามมาก นี่เพิ่งจะรู้นะเนี่ยว่าท่านเป็นนักการเมืองลงชนะเลือกตั้งครั้งนี้กับเขาด้วย

ชัยชนะอย่างขาดลอยของพรรครัฐบาลสร้างความยินดีให้แก่จอมพลป.และเผ่าได้เพียงชั่วข้ามคืน หลังจากนั้นก็มีแต่เสียงก่นด่าจากสื่อต่างๆและประชาชนทุกวงการ นิสิตนักศึกษาพร้อมใจกันเคลื่อนไหว ธรรมศาสตร์น่ะไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว เพราะเล่าเรียนวิชาเกี่ยวกับการเมือง และนักศึกษาหลายร้อยก็เป็นอาสาสมัครสังเกตุการณ์เลือกตั้ง ประจักษ์ข้อเท็จจริงต่างๆด้วยตนเองอยู่ แต่การที่นิสิตจุฬาที่ปกติจะไม่ค่อยยุ่งกับการเมืองนักเพราะเรียนกันคนละด้าน คราวนี้ทนไม่ได้ถึงกับก่อหวอดชุมนุมเดินขบวน มีการชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้แก่การเลือกตั้งสกปรกนี่ซิ ที่สะท้อนพลังเงียบของคนในชาติอันรัฐบาลจะประมาทไม่ได้

นักหนังสือพิมพ์ได้โอกาสถามส.ส.กรุงเทพคนใหม่ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ว่าท่านมีตวามเห็นอย่างไรที่นิสิตนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง

ท่านจอมพลแปลกของผมตอบหน้าตาเฉยด้วยคาถาเดิมที่ไม่เคยแปลก “ความไม่เรียบร้อยที่เกิดขึ้น เพราะถูกคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซง”


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 12:37

ขอแยกซอยใหม่อีกครั้ง
ตอนเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500 ดิฉันยังอยู่ชั้นประถม  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  จำได้ว่าเพื่อนๆคุณพ่อมาหาที่บ้าน  ผ่านไปแล้วก็ยังเล่าเรื่องนี้อยู่หลายวัน ท่าทางตื่นเต้น   เป็นเหตุให้เราตื่นเต้นไปด้วยทั้งๆไม่ค่อยรู้เรื่อง     เพื่้อนคนหนึ่งนามสกุลเดียวกับคุณหญิงเผชิญในอีกกระทู้    เล่าให้คุณพ่อฟังว่า ผมไปลงคะแนน เขาบอกว่ามีคนมาลงไปแล้วในชื่อผม ลงซ้ำอีกไม่ได้  ผมเลยไม่ได้ลงคะแนน !!! %^&!$% (เครื่องหมายแทนคำพูดคุณอา ที่เอามาลงไม่ได้)

ต่อมาอีกนานสิบกว่าปี  ไปเรียนไกลบ้าน เจอพี่จุฬาคนหนึ่งไปเรียนอยู่   เคยเดินขบวนกับเขาด้วย   เธอเล่าว่าตอนนั้นประธานนิสิตหรือหัวหน้าคณะอะไรทำนองนี้พาน้องใหม่ไปเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเรื่องเลือกตั้งสกปรก     นิสิตก็แห่กันไปทั้งคณะ  ไปสมทบกับคณะอื่นๆที่ไปกันเหมือนกัน    แต่เธอเดินยังไม่ทันถึงทำเนียบหรอก ไปหยุดอยู่กลางทางแถวสะพานมัฆวาน แล้วพี่ๆมาบอกว่าเขาสลายตัวกันแล้ว  ก็เลยเดินกลับกัน  

ดิฉันโตขึ้นในยุคที่คำว่า "คอมมิวนิสต์" เป็นคำน่าสะพรึงกลัว      มีผลพอๆกับคำขู่ว่าตุ๊กแกจะมากินตับ สำหรับเด็กเล็ก    หนังสือหนังหาอะไรเกี่ยวกับฝ่ายซ้าย เราไม่เคยเห็นเลยว่ามีอยู่ในโลก    พ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือ มีตู้กระจกใส่หนังสือให้ลูกอ่านได้   แต่หนังสือที่เกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สมัยนั้นเรียกว่าจีนแดงพ่อต้องเก็บไว้ในตู้ทึบที่หัวเตียง ใส่กุญแจปิดสนิท     ดิฉันไปเจอก็เมื่อพ่อถึงแก่กรรมไปแล้ว  เดาว่าคงมีใครให้มาอ่าน แล้วพ่อเสียดายถ้าจะทิ้งไป    โดยหน้าที่การงานพ่อไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมือง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 12:58

^
ก็เป็นอย่างนั้นนั่นเอง พอจอมพลป.ตอบแบบโยนบาปของตนให้คอมมิวนิตส์จึงเหมือนเอาน้ำมันไฟราดกองเพลิง นักการเมืองก็ได้โอกาสขึ้นเวทีไฮปาร์คปลุกระดมมวลชน พาเดินขบวนไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามสูตร แต่ก็ยังดีที่กลับไปปักหลักด่ารัฐบาลที่สนามหลวงดังเดิม ไม่ได้ทันสมัยถึงกับยึดถนนตั้งเวทีปราศรัย แต่ไม่แน่ ถ้าตอนนั้นมีใครต่อท่อน้ำเลี้ยงให้ถึงๆก็คงจะได้มีชุมนุมใหญ่เถือกทั้งแผ่นดินไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลก็หาได้รอช้าไม่ เพียงแค่3วันหลังการเลือกตั้ง ก็ประกาศแถลงการณ์ฉบับที่1ทันทีว่ามีคณะบุคคลบางส่วนและด้วยการส่งเสริมสนับสนุนจากชาวต่างชาติ กำลังจะก่อกวนและดำเนินการร้ายขึ้นในประเทศ…ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาด พอแถลงการณ์ฉบับที่2 ก็กลายเป็นประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยใจความคล้ายกับที่แถลงการณ์ไปแล้ว และต่อด้วยประกาศสำนักนายก แต่งตั้งให้พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหาร เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย สฤษดิ์ก็เอารถถังออกมาวิ่งเข้าไปจอดตามหน้าอาคารสถานที่ที่สำคัญทั่วกรุงเทพ

แทนที่จะกลัว นิสิตจุฬากลับประกาศเรียกให้มาชุมนุมกันหน้าหอประชุม เพื่อเตรียมตัวจะเดินขบวนออกไปนอกมหาวิทยาลัย ระหว่างปราศรัยปลุกใจคนนับพันอยู่นั้น ในทันใด พล.อ.สฤษดิ์ ก็ปรากฎตัวขึ้นพร้อมนายทหารคู่ใจซ้ายขวา คือพล.ท.ถนอม กิตติขจร และพล.ต.ประภาส จารุเสถียร บรรดานิสิตเห็นเข้าก็โห่ร้องต้อนรับอย่างใสซื่อ ก็ผมบอกแล้วว่าเผ่าเองที่ทำให้ภาพของสฤษดิ์ตอนนั้นดูเป็นพระเอก ผู้นำนิสิตได้เชิญสฤษดิ์ขึ้นไปยืนกล่าวหน้าเสาธงที่มีธงชาติชักอยู่แต่ครึ่งเสา สฤษดิ์ก็ร่ายแบบสั้นๆใจความสรุปว่า หากไม่จำเป็นแล้วก็อย่าเดินขบวนเลย ให้จัดส่งตัวแทนไปเจรจากับผู้ที่มีความรับผิดชอบกับการเลือกตั้งโดยตรง เช่นที่กระทรวงมหาดไทยดีกว่า จะได้รับการชี้แจงให้หายข้องใจ ถึงตรงนี้เสียงของนิสิตที่นั่งฟังอย่างสงบตั้งแต่แรกก็อื้ออึงขึ้นด้วยความผิดหวัง ใครไม่รู้ตะโกนขึ้นว่า ตัวแทนไม่เอา เราจะไปกันทั้งหมด เสียงขานรับก็ปประสานหนักแน่นเข้าหูทั้งสองข้าง สฤษดิ์ได้ยินแล้วก็ชูมือขึ้นให้สงบเสียงพร้อมกับกล่าวต่ออย่างหนักแน่นว่า แต่เมื่อพวกท่านตั้งใจจะเดินขบวนกันจริงๆ ถ้าท่านจะเดินไปทางซ้าย ข้าพเจ้าก็จะเดินไปทางขวา เท่านั้นเอง เสียงเฮรับของนิสิตก็ดังกึกก้อง

สายข่าวของจอมพลป.และเผ่าก็ยังงงๆอยู่ จะกลับไปรายงานนายว่าอย่างไรดี ตกลงสฤษดิ์ตั้งใจจะเดินคู่กับขบวนของนิสิตเพื่อคอยประกบกันท่า หรือจะเดินคู่เพื่อร่วมขบวนประท้วงของนิสิตกันแน่ ส่วนนายฟังรายงานแล้ว ก็ตีความไม่ออกเหมือนกันว่าสฤษดิ์จะเอาอย่างไร ต้องรอลุ้นกันต่อไป

ท่านอาจารย์เทาชมพูบอกใบ้ให้แล้ว เดี๋ยวถึงสพานมัฆวานก็จะรู้



บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 14:45

มาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่เกือบทุกวันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 15:22

ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย  เรื่องการเลือกตั้งสกปรก  มองเห็นคำว่า "ไพ่ไฟ" ตัวใหญ่พาดหัวข่าว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 16:16

รูปขบวนของจุฬาถูกจัดอย่างรีบเร่งหลังพล.อ.สฤษดิ์คล้อยหลังกลับไปแล้ว นายกสโมสร สรวง ภูวตานนท์ ณ มหาสารคามประกาศจะนำนิสิตเดินขบวนไปกระทรวงมหาดไทย โดยให้แยกย้ายเป็นกลุ่มๆ แบบต่างคนต่างไปเพื่อไม่ให้ตำรวจเบรคอ้างว่าขัดขวางการจราจร พอใกล้ถึงก็มีขบวนของธรรมศาสตร์นำโดยประธานนักศึกษา สุวิช เผดิมชิต และประชาชนร่วมสมทบ เมื่อมาถึงกระทรวงมหาดไทยแล้วมีจำนวนรวมกันหลายพันคน แกนนำนิสิตเรียกร้องให้จอมพลป.หรือเผ่าออกมาพบ แต่ทั้งคู่ไม่อยู่ พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงอยู่ แต่ตัวเองมีชะนักติดหลังเพราะเป็นข้าราชการประจำ แต่ไปขึ้นเวทีหาเสียงให้รัฐบาล กำลังเป็นข่าวว่าจะถูกฝ่ายค้านฟ้อง เลยไม่กล้าออกมามีบทบาท พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล รองปลัดกระทรวงเป็นผู้ออกมาเผชิญหน้ากับนิสิตนักศึกษาแทน โดยขอร้องว่าให้ส่งข้อเรียกร้องมาเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงตรงนี้ประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ทำการบ้านมาดีกว่าก็ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทันทีว่า

1 ให้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทันที และให้แจ้งว่าต่างชาติที่ว่ามาแทรกแซงนั้น คือชาติใด
2 ให้ประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วเลือกตั้งใหม่
3 ให้นิสิตนักศึกษาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นกรรมการในหน่วยเลือกตั้งด้วย
4 ให้สอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดในการเลือกตั้งโดยด่วน
5 ให้รัฐบาลตอบภายใน24ชั่วโมง

หลวงชาติรับข้อเสนอไปแล้วถึงกับสะอึก แต่ก็เจรจาเลี่ยงๆว่าขณะนี้นายควง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว ขอให้ทุกคนรอฟังคำสั่งศาลจะดีกว่า นิสิตนักศึกษาได้ยินก็โห่กันสนั่น

ขณะที่สถานการณ์ทำท่าจะแย่ลง เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยคนหนึ่งก็ได้ประกาศขอให้นิสิตนักศึกษาสงบลงเพราะขณะนี้ได้ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลแล้ว ขอให้กลับบ้านไปรอฟังคำตอบ พลันก็มีเสียงตะโกนสวนขึ้นไปว่า เอ้า พวกเรา ถ้ายังงั้นเราไปฟังคำตอบที่ทำเนียบกันเลย

ทุกคนเฮรับแล้วเริ่มเคลื่อนขบวน ซึ่งบัดนี้เพิ่มเป็นหมื่นคนแล้วเพราะประชาชนเข้ามาร่วมสมทบ ต่างตะโกนบอกต่อๆกันว่า ไปทำเนียบ ไปทำเนียบ ขบวนก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆเมื่อเคลื่อนมาบนถนนราชดำเนิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 16:24

แนวรับของรัฐบาลด่านแรกอยู่ที่สพานผ่านฟ้า มีตำรวจปราบการจลาจลตั้งแถวรอรับอยู่ และมีตำรวจม้า และตำรวจสุนัขอยู่ข้างหลัง ด่านสองคือสพานมัฆวาน มีรั้วเหล็กมาตั้งขวางถนนไว้ หลังรั้วนั้นคือแนวทหารติดดาบปลายปืนเงาวับ ถัดออกไปมีรถถัง และตำรวจดับเพลิงคอยสนับสนุนเมื่อได้รับคำสั่ง

เบื้องหลังเหตุการณ์ตอนนี้มีผู้บันทึกไว้ว่า อำนาจการสั่งการเด็ดขาดนั้น จอมพลป.จำเป็นต้องมอบให้ทหาร ดังนั้นเผ่าจึงต้องเชื่อฟังสฤษดิ์ในเรื่องนี้ เมื่อเผ่าเสนอให้ตำรวจใช้อาวุธทันทีที่สกัดขบวนด้วยสันติวิธีไม่อยู่ แต่สฤษดิ์ไม่เห็นด้วย เผ่าขอใช้เพียงกระสุนซ้อมรบ สฤษดิ์ก็บอกว่าอย่าเลยเดี๋ยวเขาจะนึกว่าเรามีแต่กระสุนเก๊ รอให้ทหารจัดการดีกว่าและขอให้ทุกคนฟังคำสั่งของตนแต่ผู้เดียวเท่านั้น เผ่าก็เลยต้องเงียบ

เมื่อคลื่นมหาชนมาถึงสพานผ่านฟ้า ตำรวจปราบจลาจลที่มีอยู่น้อยนิดก็ถูกดันโล่ห์จนกระเจิง สฤษด์ไม่ยอมสั่งให้ตำรวจม้าเข้าลุย แนวรับนี้จึงยอมถอยให้คลื่นมหาชนผ่านและเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ เบื้องหน้าทุกคนแลเห็นอยู่ ทหารในเครื่องรบและรถถังรออยู่ด้วยอาการสงบนิ่งราวกับปฏิมากรรม

พอแนวหน้าต่อแนวหน้าตั้งประจันกัน ทหารก็ถูกทักทายด้วยก้อนอิฐ ท่อนไม้ และกระป๋องนม เสียงนายร้อยเอกผู้บังคับกองร้อยตะโกนบอกให้ทหารอดทน สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็เข้าประชิดกัน แม้จะมีรั้วเหล็กขวางกั้น ลมหายใจของอีกฝ่ายหนึ่งก็ปะทะหน้าของอีกฝ่ายจนรู้สึกได้ และเริ่มดันกันไปดันกันมา ทหารนั้นตวัดดาบปลายปืนกลับไปอยู่ด้านหลังตามคำสั่งนายร้อยเอกและเอาพานท้ายปืนยันรั้วไว้ คลื่นมหาชนที่เนืองแน่นอัดตัวเข้ามาทำให้รั้วที่กั้นไม่อาจต้านทานได้ ทหารกำลังจะแตกกระเจิงหากไม่ทำอะไรสักอย่าง พอแถวหน้าถูกดันฮือทำท่าจะแตก ทหารในแนวตั้งรับข้างหลังก็กระชากลูกเลื่อนโดยสันชาติญาณ จากเสียงดังแคร๊กเดียวกลายเป็นหลายสิบแคร๊กราวกับนัด กราวไปทั่วจนได้ยินถนัด เสียงประชาชนคนหนึ่งร้องว่า มันจะยิงแล้ว  พวกเราบุกเข้าไป ยิงเป็นยิง บุกเข้าไปพวกเรา ขณะนั้นแนวหน้าของทหารต้านกำลังจะเอาไว้ไม่อยู่แล้ว ทันใดนั้นเสียงดังฟังชัดของนายร้อยเอกก็ดังขึ้นก้องกังวานไปทั่ว

“ทหารหยุด อย่าทำร้ายประชาชน” ทุกอิริยาบทของทั้งสองฝ่ายหยุดชะงักลงทันที และก่อนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะขยับ เสียงนั้นก็ออกคำสั่งสำทับ
“ทหาร ถอดแหนบกระสุน ปฏิบัติ” เสียงแกร่กของเหล็กที่ถูกับเหล็กพร้อมกันได้ยินไปทั่ว
“ทหาร ถอดดาบปลายปืนเดี๋ยวนี้ ปฏิบัติ” เสียงแกร่กของเหล็กที่ถูกับเหล็กดังขึ้นอีกทีหนึ่ง รับด้วยเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจของประชาชน

“ไชโยทหารปลดอาวุธแล้ว ไชโย” เสียงนี้ดังต่อๆกันไปจนท้ายขบวน การขว้างปา ทุบตีที่ประชาชนกระทำต่อทหารก็ยุติลง เหลือแต่เป็นการลองกำลังดันกันไปดันกันมาของทหารที่มีปืนแต่เหมือนกระบองลูกเสือเอาไว้กั้น กับฝูงชนที่มีจำนวนมากกว่ามาก จนแนวทหารต้องถอยร่นใกล้ทำเนียบเข้ามาเรื่อยๆ นาทีต่อไปนั้น พล.อ.สฤษดิ์ที่รีบเดินทางออกจากที่ประชุมมาถึงพร้อมด้วยขุนทหารใหญ่ทั้ง3กองทัพ และสั่งด้วยเสียงอันทรงพลังอำนาจของตนว่า
“ทหาร เปิดทางให้ประชาชนผ่านไปได้”

ยกนี้ ประชาชนชนะ.
.
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีผู้เรียกอย่างแพร่หลายว่า เมื่ออาทิตย์ขึ้นที่มัฆวาน


และที่มัฆวานนี้มีตรอกมีซอยอยู่เยอะแยะ ขอเชิญท่านมัคคุเทศน์พาท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมให้ครึกครื้นหน่อยครับ ส่วนผมจะขอพักยกไปเวิ้งนาครเขษมสักครู่



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 17:25

กำลังอ่านเพลินๆ   ท่านหยุดที่ไคลแมกซ์  ลงจากเรือนไปเสียแล้ว

สะพานมัฆวานอันเป็นจุดเกือบปะทะถึงเลือดถึงเนื้อ   ท่านนวรัตนชี้แผนที่ให้ดูว่ามีซอยแยกอยู่หลายซอย   แล้วปิดแผนที่ลงจากเรือนไปดื้อๆ
มัคคุเทศก์ต้องหาอยู่หลายซอย   ตกลงเอาซอยที่ชื่อ "พระอาทิตย์ขึ้นที่สะพานมัฆวาน"  ก่อนดีกว่าค่ะ
เชิญตามมาเลย
ขอเริ่มแบบนวนิยายละกัน เปลี่ยนบรรยากาศช่วงคั่นโปรแกรม  

กองทัพนิสิตหนุ่มสาวและประชาชนนับหมื่นเคลื่อนผ่านถนนราชดำเนินนอก เข้ามาอย่างแช่มช้า   เรียงกันมาเป็นขบวน    เสียงร้องเพลงมาร์ชจุฬากระหึ่มขณะชะลอตัวเมื่อถึงสะพานมัฆวาน   เสียงตะโกนบอกทาง และสรรพสำเนียงของนักข่าวที่ติดตามข่าวอย่างอลหม่านวุ่นวาย  อันเป็นธรรมดาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ดังปะปนกันฟังไม่ได้ศัพท์   บรรดาทหารนับร้อยพากันคึกคักเข้าประจำการ เตรียมการต่อต้านความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ
มันเป็นการเดินขบวนครั้งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยนับแต่พ.ศ. 2475    ไม่เคยมีครั้งใดที่นิสิตนักศึกษารวมใจกันพร้อมเพรียงเท่าครั้งนี้  แม้แต่การเดินในช่วงเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงกลับคืนเมื่อสิบสี่ปีก่อนก็ไม่อาจเทียบได้       บรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียดตั้งแต่สะพานมัฆวานไปจนถึงหน้าทำเนียบ    ไม่มีใครเดาได้ว่าเหตุการณ์นองเลือดจะเกิดขึ้นในวินาทีใด

นายทหารหนุ่มร่างสูงผิวคล้ำ ในเครื่องแบบร้อยเอก ยืนอยู่ข้างหน้าทหารใต้บังคับบัญชา   นัยน์ตาสีเหล็กหรี่มองดูขบวนนิสิตที่เคลื่อนใกล้เข้ามา จนประชิดเข้ากับกำแพงทหารซึ่งปักหลักขวางหน้าตรงแนวสะพาน      มีเพียงรั้วกั้นเอาไว้บางๆระหว่างมหาชนกับทหาร  ก้อนอิฐ  ท่อนไม้และกระป๋องนมเริ่มปลิวว่อน  พร้อมเสียงโห่ร้องอย่างฮึกเหิม จนมาถึงจุดแคบของสะพาน

การเผชิญหน้ากันระเบิดขึ้น   เสียงถอดลูกเลื่อนดังสนั่นแทรกเข้ามาในเสียงโห่ร้อง     อีกวินาทีเดียว  จุดแตกหักจะอยู่ตรงนั้น  เพราะทหารจะยอมถูกทำร้ายต่อไปอีกไม่ได้   เมื่อกระสุนลูกแรกทะลุร่างนิสิตหรือชาวบ้านเข้าสักคน   สะพานมัฆวานจะกลายเป็นสมรภูมิเลือด    ประชาชนจะล้มตายลงเป็นใบไม้ร่วง

นายทหารหนุ่มก้าวออกไป..
เขาเผชิญหน้ากับผู้นำขบวน   สร้างรอยยิ้มกว้างแจ่มใสเป็นมิตรบนดวงหน้าคล้ำเกรียมด้วยเปลวแดด พร้อมกับเสียงตะโกนสั่ง
“ทหารหยุด อย่าทำร้ายประชาชน”
ทุกอิริยาบทของทั้งสองฝ่ายหยุดชะงักลงทันที และก่อนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะขยับ ร้อยเอกหนุ่มก็ออกคำสั่งสำทับ
“ทหาร ถอดแหนบกระสุน ปฏิบัติ”
เสียงแกร่กของเหล็กที่ถูกับเหล็กพร้อมกันได้ยินไปทั่ว
“ทหาร ถอดดาบปลายปืนเดี๋ยวนี้ ปฏิบัติ”
เสียงแกร่กของเหล็กที่ถูกับเหล็กดังขึ้นอีกทีหนึ่ง รับด้วยเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจของประชาชน
“ไชโยทหารปลดอาวุธแล้ว ไชโย”
เสียงนี้ดังต่อๆกันไปจนท้ายขบวน การขว้างปา ทุบตีที่ประชาชนกระทำต่อทหารก็ยุติลงในพริบตา

ความตึงเครียดถึงจุดระเบิด คลี่คลายลงทันที    นายทหารหนุ่มกล่าวกับหัวหน้านิสิตเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
" ทหารไม่ทำร้ายประชาชนครับ  ผมขอรับรองด้วยเกียรติยศ"
เขาหันไปสั่งทหารในบังคับบัญชาให้ปลดอาวุธลงจากบ่าที่อยู่ในท่าเตรียมยิง มาอยู่ในท่าปกติ เขากล่าวทักทายผู้ที่นำขบวนต่อไปอีก ๒-๓ คำเหมือนไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร
บรรดานักข่าวผ่อนลมหายใจที่สะกดกลั้นไว้ออกมาอย่างโล่งอก  
" จริงของเขา"  
หนึ่งในนักข่าวครางออกมา
" ยศเขายังเล็กก็จริง   แต่ฝีมือและน้ำใจไม่เล็กเลย   ถ้าจะให้รางวัลผมสักแสน  ให้ผมเดินเข้าไปเผชิญซึ่งๆหน้าในสถานการณ์ตึงเครียดจวนระเบิดขนาดนี้   ก็เห็นจะไม่รับประทาน"
"ผมชอบวิธีพูดของเขาจริงๆ" อีกคนหนึ่งเสริม " ผมเชื่อว่าเขาเป็นสุภาพบุรุษและนักกีฬาคนหนึ่ง  ถ้ามือเขาไม่ดีจริง อาจถูกขว้างก้อนอิฐหัวเละไปแล้ว"
" ผมจะไปสืบหาชื่อเขาเดี๋ยวนี้ละ  วีรบุรุษแห่งสะพานมัฆวานผู้นี้เป็นใคร    เขาสามารถทำให้เหตุที่เกือบจะนองเลือดในเสี้ยววินาที กลายเป็นสันติภาพอย่างไม่มีใครนึกถึง"
ใครคนหนึ่งคงไปถามทหารที่ลดอาวุธลงแล้ว   เสียงจึงบอกต่อๆกันไปว่า
" เขาชื่อร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก"


ถ้าใครมองเห็นเค้าของเพชรพระอุมาบทแรก  ก็นั่นละค่ะ ใช่เลย  
ขอคุณพนมเทียนมาหน่อย     รู้ว่าท่านใจดี  คงไม่ว่าดิฉันหรอกนะคะที่ขอยืมรพินทร์ ไพรวัลย์ มาสวมบทพลเอกอาทิตย์  กำลังเอก  ผู้บัญชาการทหารบกในอีก ๒๔  ปีต่อมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 18:27

มาอ่านประวัติท่านแบบจริงจังกันหน่อย

ในวันที่ร้อยเอกอาทิตย์  กำลังเอก ตัดสินใจด้วยสันติวิธีที่สะพานมัฆวาน  เขาอายุ ๓๒  ปี  เป็นนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมที่ ๒๑
ปีต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพันตรี เป็นนายทหารกองพันที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด  บิดาชื่อร้อยตรีพิณ มารดาชื่อนางสาคร   เป็นศิษย์เก่าร.ร.วัดเบญจมบพิตร   จบการศึกษาจากร.ร.นายร้อย จปร.   รุ่นเดียวกับ พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ พลเอกบรรจบ บุนนาค และพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์

เส้นทางทหารของพันตรีอาทิตย์ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่หวือหวา  ติดยศพลตรีเมื่ออายุ ๕๒ ปี    ในพ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่ออายุ ๕๕  เขาได้เป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ประจำอยู่ที่โคราช  ก็พอดีเกิดรัฐประหารที่เรียกว่า กบฏเมษาฮาวาย ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔   นำโดยพลเอกสัณห์ จิตปฏิมา  

คณะรัฐประหารตั้งกองบัญชาการอยู่ที่หอประชุมกองทัพบก  ส่งกำลังทหารเข้ายึดควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานครหลายแห่งรวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย    พอยึดสถานีได้ก็ออกประกาศแถลงการณ์เป็นระยะๆ   อ้างเหตุผลสำคัญที่ต้องรัฐประหาร (หรือเรียกกันว่าปฏิวัติ) ว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำ    ด้วยข้อหาคุ้นๆสำหรับคนอ่านกระทู้นี้มาแต่แรก  คือ "เนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลขณะนั้น มีการเล่นพรรคเล่นพวกกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน มีการฉ้อราษฏร์บังหลวงคอรัปชั่นในวงราชการทั่วไป เศรษฐกิจและสังคมของประเทศประสบความเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก"

ในเมื่อยึดการสื่อสารได้  วันแรก ประชาชนก็ได้ฟังแต่แถลงการณ์ของฝ่ายกบฏฝ่ายเดียว  จึงเข้าใจว่ารัฐบาลถูกล้มไปเรียบร้อยแล้ว  เพราะไม่มีเสียงโต้ตอบจากรัฐบาลเลย
แต่ในความเป็นจริง พลเอกเปรมไม่ได้ยอมแพ้  แต่ถอยจากพวกกบฏซึ่งมีกำลังอยู่ในเมืองหลวงไปตั้งหลักที่นครราชสีมาซึ่งเป็นถ้ำเดิมของพญาเสืออย่างท่าน   พลตรีอาทิตย์รองแม่ทัพภาค ๒ ปักหลักสู้พวกกบฏ ไม่ยอมเข้าข้างพลเอกสัณห์  ทั้งๆกำลังทหารส่วนใหญ่ในเมืองหลวงเป็นฝ่ายกบฏไปแล้ว  
ด้วยความร่วมมือของพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์  อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ก็หาทางถ่ายทอดเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพภาคที่ ๒ ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายของฝ่ายรัฐบาล  ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งระบบเอ็ฟเอ็มและเอเอ็มของกรมไปรษณีย์โทรเลข ( สถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ.) จำนวนหลายสถานี มาออกอากาศทางกรุงเทพมหานครให้ประชาชนรับฟังได้ชัดเจน ไม่แพ้สถานีวิทยุกระจายเสียงของฝ่ายรัฐประหาร

กบฏครั้งนี้ ไม่เสียเลือดเนือ  รบกันทางจิตวิทยา ผลัดกันโต้ตอบดุเดือดทางวิทยุกระจายเสียง    รัฐบาลยืนยันประกาศสถานการณ์ให้ประชาชนรู้ความเป็นจริงว่ารัฐบาลยังไม่ได้แพ้     ปรากฏว่าประชาชนเริ่มเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล ทหารบางส่วนในกรุงเทพก็เริ่มแอนตี้ฝ่ายรัฐประหาร   เสียงของฝ่ายรัฐประหารก็แผ่วลงเป็นลำดับ

เมื่อกองกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนย้ายกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาทางอากาศมาถึงกรุงเทพมหานครในเช้าตรู่วันที่ ๔ เมษายน จึงสามารถเข้ายึดกรุงเทพมหานครคืนได้โดยไม่มีการปะทะถึงขั้นนองเลือดล้มตาย  พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมาหลบหนีออกนอกประเทศไปพม่า    ภายหลังรัฐบาลก็ออกนิรโทษกรรมให้ฝ่ายกบฏ

ผลงานปราบกบฏทำให้พลตรีอาทิตย์ย้ายจากโคราชมาเป็นแม่ทัพภาค ๑ ในปีเดียวกัน เลื่อนยศเป็นพลโทและพลเอก  และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปีต่อมาคือพ.ศ.๒๕๒๕ ผู้บัญชาการทหารบก และควบรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ปีพ.ศ.๒๕๒๖ เป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบผู้บัญชาการทหารบกเช่นเดิมอีกด้วย

จะเล่ามากกว่านี้  ก็เกรงว่าซอยจะกว้างกว่าถนนกระทู้      เพราะเรื่องพลเอกอาทิตย์มีให้เล่าอีกมาก แต่หาอ่านไม่ยากทางลุงเกิ้ล    ใครสนใจไปหาอ่านต่อเอาเองนะคะ  
เชื่อว่าหลายท่านในเรือนไทยเกิดทันกบฏเมษาฮาวาย  และจำได้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง