เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160588 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 15:38

^
^
อนุญาตให้กรี๊ดได้ครับ ผมจะได้ถือโอกาสกระทืบเท้าเป่าปากพร้อมๆกันไปด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 17:38

ยุคจอมพลป. 2  มีนักการเมืองดีๆพอจะหยิบยกมาชมกันได้บ้างไหมคะ?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 18:45

^
^
ผมถือว่าข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ประโยคคำถามแทนคำบ่นครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 19:11

งั้นคำตอบก็คือเพลงนี้



อย่างน้อยยุคจอมพลป. 2   เราก็ยังมีม.ร.ว.เสนีย์ และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวงการเมืองแล้วนะคะ
นึกอะไรไม่ออก บอก(ถึง)คึกฤทธิ์ ก่อนดีกว่า

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดประเทศอังกฤษ  สาขาปรัชญา  เศรษฐศาสตร์และการเมือง  เข้าวงการเมืองเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2  ด้วยการก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ  “ก้าวหน้า”  เมื่อพ.ศ. 2488 
ต่อมาก็ยุบพรรคไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการชักชวนจากนายควง  อภัยวงศ์  หัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ได้เป็นเลขาธิการพรรค 
อยู่ในสภา 2 ปี ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลชุดนายควง  อภัยวงศ์  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ  ทำรัฐประหาร  แต่ยังไม่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเองจึงไปชวนนายควง  อภัยวงศ์  กลับมาเป็นนายยกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย  สั่งราชการกระทรวงการคลัง  แต่อยู่ได้เพียง 5 เดือน  จอมพลป.พิบูลสงคราม  ก็ขึ้นบริหารประเทศแทน         
16 กันยายน พ.ศ. 2491 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร  และลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพราะคัดค้านการขึ้นเงินเดิอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร  ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ยอมรัฐบาล 

ตลอดช่วงรัฐบาลจอมพลป. 2  และยุคต่อมา  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ออกจากวงการมาเฝ้าดูอยู่ขอบเวที     ตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้นมา  เขียนนิยายและคอลัมน์ประจำลง   ผู้คนติดกันงอมแงมทั้งเมือง
ดิฉันยังเสียดายที่ท่านหวนกลับไปเล่นการเมืองอีกครั้ง  แม้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 20:41

ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเป็นอะไรก็เลิศทุกอย่าง ยกเวันอย่างเดียว คือเป็นนักการเมือง

เอาแค่เรื่องนี้นะครับ
อ้างถึง
จอมพลป.พิบูลสงคราม  ก็ขึ้นบริหารประเทศแทน         
16 กันยายน พ.ศ. 2491 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร  และลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพราะคัดค้านการขึ้นเงินเดิอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร  ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ยอมรัฐบาล


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ลาออกจากส.ส.ครั้งนั้นถูกมองแต่แรกว่าอยากดังมากกว่าจริงใจ เพราะไม่นานจอมพลป.ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ก็มีชื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์เข้าไปเสียบเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แทนคนในที่ถูกปลดออก ทั้งๆที่เป็นคนนอก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจ ก่อหวอดประท้วงขึ้น เหตุผลคือม.ร.ว.คึกฤทธิ์คัดค้านการขึ้นเงินเดือนของส.ส.และลาออกจากส.ส.เป็นการประท้วง โดยแจ้งในใบลาออกว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังที่ประชาชนไว้วางใจให้กระทำได้ แต่แล้วไฉนจึงกลับมายอมร่วมเป็นรัฐมนตรีกับรัฐบาลที่ตนประท้วงอีกเล่า

เหตุการณ์ในการคัดค้านขยายตัวบานปลายไปใหญ่โต จนในที่สุดม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทนความร้อนรุ่มไม่ไหว จึงต้องลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี มารู้ทีหลังว่าเสียทีเสือเฒ่าเข้าแล้ว จอมพลป.ยั๊วะมากตอนที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ลาออกจากส.ส.เพราะถือว่าหักหน้ากัน แต่อาศัยหน้านิ่ง ทิ้งระยะนิดนึงแล้วเอาตำแหน่งรัฐมนตรีเกี่ยวเบ็ดล่อเข้าไป ปลาตัวสำคัญก็ฮุบเหยื่อ หลังจากนั้นจอมพลป.ก็ขยิบตาให้ส.ส.ในพรรคออกมาประท้วง แฉโพยเสียจนม.ร.ว.คึกฤทธิ์เสียศูนย์ไปพักนึงเต็มๆ
 
เมื่อมาเล่นการเมืองในยุคหลังในนามพรรคกิจสังคม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจหมาย แต่ได้ฉายาว่า เฒ่าสารพัดพิษ ไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าไหร่ ผมจึงว่าท่านอยู่เป็นปราชญ์ผู้พหูสูตรของประเทศน่ะ จะดีกว่ามากมายเลย

แต่เอ๊ะ ผมชักสงสัยเหมือนกันว่า มาตรฐานของนักการเมือง “ดีๆ” ของท่านอาจารย์เทาชมพูจะอยู่ที่แห่งใด ถ้าคิดว่า ถ้าอยู่ที่ไม่คดโกงอย่างเดียว นอกจากพี่น้องสองท่านแล้ว ก็คงมีหลายคนอยู่ และผมกำลังนึกถึงพวกรัฐมนตรีของรัฐบาลจอมพลป.ที่เป็นเทคโนแครต อย่างนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น มีกลายคนที่เก่งและสัตย์ซื่อมือสะอาด แต่พวกท่านเหล่านี้ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นนักการเมือง ที่สำคัญ คนประเภทนี้ก็ทนสังฆกรรมกับพวกนักการเมืองที่ปากอย่างใจอย่าง ทำอีกอย่าง ไม่ได้นาน เมื่อมาทำงานให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะกิจแล้ว แล้วก็เปิดหมวกอำลา

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 21:03


แต่เอ๊ะ ผมชักสงสัยเหมือนกันว่า มาตรฐานของนักการเมือง “ดีๆ” ของท่านอาจารย์เทาชมพูจะอยู่ที่แห่งใด ถ้าคิดว่า ถ้าอยู่ที่ไม่คดโกงอย่างเดียว นอกจากพี่น้องสองท่านแล้ว ก็คงมีหลายคนอยู่ และผมกำลังนึกถึงพวกรัฐมนตรีของรัฐบาลจอมพลป.ที่เป็นเทคโนแครต อย่างนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น มีกลายคนที่เก่งและสัตย์ซื่อมือสะอาด แต่พวกท่านเหล่านี้ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นนักการเมือง ที่สำคัญ คนประเภทนี้ก็ทนสังฆกรรมกับพวกนักการเมืองที่ปากอย่างใจอย่าง ทำอีกอย่าง ไม่ได้นาน เมื่อมาทำงานให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะกิจแล้ว แล้วก็เปิดหมวกอำลา

ไม่เรียกร้องคุณสมบัติอะไรมากค่ะ  เกรงว่าหาไม่ได้
เอาเป็นว่าไม่เคยได้ชื่อว่ากินหรือโกงก็พอแล้ว ข้อเดียว   น่าจะมีได้หลายคนนะคะ
อีกอย่างคือไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช   เป็นรัฐมนตรีสักพักหนึ่งก็ได้ อย่างนายดิเรก ชัยนาม ที่คุณนวรัตนว่ามา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 07:43

เผอิญคุณดิเรกเป็นในสมัยหลวงพิบูลน่ะครับ

แต่เมื่อโจทย์แคบลงเช่นนี้ ผมก็ย้อนกลับไปดูรายชื่อรัฐมนตรีคณะต่างๆในรัฐบาลป.2ตั้งแต่ต้น นี่ไม่ใช่ว่าผมพยายามจะทำตนเป็นตรายางประทับรับรองใครนะครับ แต่ผมคิดว่า ชุดแรกเลยหลังจากที่ทำรัฐประหารน่าจะเป็นค.ร.ม.ชุดที่ดีที่สุด ดีพอที่จะสยบกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการรัฐประหารได้ รายชื่อข้างล่างความจริงผมก็ไม่ได้รู้ซึ้งในประวัติของแต่ละท่านทุกคน ที่รู้บางคนผมก็ไม่ได้ชอบเสียด้วย แต่เอาเถอะ การที่รายชื่อท่านพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักการเมือง ผมก็สันนิฐานไว้ก่อนว่าท่านเก่งอยู่ในวงการของท่าน แล้วถูกส่งเทียบไปเชิญมาให้ช่วยกู้บ้านกู้เมืองอะไรทำนองนั้น ลองดูชื่อซีครับ รัฐมนตรีเหล่านี้น่าจะเข้าสเปกที่คราวนี้ท่านอาจารย์เทาชมพูวางไว้อย่างหลวมๆหลายคนทีเดียว

ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2491 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้

1.   พลโท หลวงชาตินักรบ (ศุข นักรบ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2.   พลเรือตรี หลวงสินธาวณัติก์ (เหล่ว ทีปะนาวิน) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
3.   พระยาโทณวนิกมนตรี (วิสุทธิ โทณะวณิก) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
4.   พลตรี หม่อมเจ้าปรีดิเทพพงษ์ เทวกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
5.   นายพจน์ สารสิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
6.   พระยาบริรักษ์เวชชการ (ไล่ฮวด ติตติรานนท์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
7.   พันเอก หม่อมสนิทวงศ์เสนี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
8.   นาวาเอก หลวงประสิทธิ์จักรการ (พ้วน โหตรภวานนท์) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
9.   พระยาพนานุจร (เปล่ง สาครบุตร) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
10.   พันเอก น้อม เกตุนุติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
11.   พันเอก พระยาศรีพิชัยสงคราม (เจริญ จันฉาย) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
12.   พระยามไหสวรรย์ (กวย สมบัติศิริ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
13.   จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
14.   พระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ - ชูโต) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
15.   นายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
16.   พระมนูภาณวิมลศาสตร์ (ชม จามรมาน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
17.   พลโทมังกร พรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
18.   นาวาอากาศเอก หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร เป็นรัฐมนตรี
19.   นายกิจจา วัฒนสินธุ์ เป็นรัฐมนตรี
20.   นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ เป็นรัฐมนตรี
21.   นายเจ๊ะ อับดุลลา หลังปูเต๊ะ เป็นรัฐมนตรี
22.   นายปฐม โพธิ์แก้ว เป็นรัฐมนตรี
23.   นายฟื้น สุพรรณสาร เป็นรัฐมนตรี
24.   นายวรการบัญชา เป็นรัฐมนตรี
25.   นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรี
26.   นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีการแต่งตั้งเปลี่ยนแปลง คือ

•   วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491
o   พระยามไหสวรรย์ (กวย สมบัติศิริ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง
o   พลตรี เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แทน
•   วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 นาวาเอก หลวงประสิทธิ์จักรการ (พ้วน โหตรภวานนท์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง
•   วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491
o   พระยาโทณวนิกมนตรี (วิสุทธิ โทณะวณิก) พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
o   พระยาพนานุจร (เปล่ง สาครบุตร) พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
o   พันเอก พระยาศรีพิชัยสงคราม (เจริญ จันฉาย) พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
o   นายเจ๊ะ อับดุลลา หลังปูเต๊ะ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี
o   หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
o   พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
o   พลโท พระยาเทพหัสดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
o   พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ
o   หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
•   วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 08:03

แต่ค.ร.ม.ชุด ป.2/1 ก็มีอายุยืนยาวไม่ถึงปี ก็เชิญทุกคนออกไปเกือบหมดแล้วแต่งตั้งบรรดาสมาชิกคณะรัฐประหารและพรรคพวกเข้ามาเต็มไปหมด ในค.ร.ม.ชุด ป.2/2 ผมเห็นชื่อที่พอจะน่าเชื่อว่าตรงสเป็กได้อยู่สองท่านคือ นายพจน์ สารสิน ที่ได้รับเทียบให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่ก็อยู่ไม่นาน มีการปรับใหญ่ค.ร.ม.ทั้งคณะ ในชุด ป.2/3 ก็เห็นอยู่เพียงหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เพราะท่านเป็นเทคโนเครต

เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นค.ร.ม.ชุด ป.2/4 นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ที่หลุดชุดป.2/3ก็กลับเข้ามาใหม่ในตำแหน่งเดิม

เมื่อปรับเปลี่ยนอีกทีเป็นค.ร.ม.ชุด ป.2/5 ก็มีพระนามเดียวที่ผมเห็นว่าตรงสเป็กคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 
ส่วนท่านอื่นๆที่ผมมิได้เอ่ยถึง ลูกหลานที่เข้ามาอ่านก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจไปนะครับ คือผมไม่รู้จัก ไม่ทราบว่าท่านเข้ามาจนแต่ออกไปรวยหรือไม่ ถ้าใครคิดว่ามีคนอื่นที่ตรงสเป็กนี้อีกก็เชิญเสนอเข้ามาได้ ผมยินดีจะรับฟังครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 08:33

ขอบคุณสำหรับข้อมูลอันหาได้ยากค่ะ   อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นวงจรที่คุ้นๆยังไงชอบกล   เหมือนกับว่าถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมาทีไร  ค.ร.ม.ก็มักจะมีบุคคลภายนอกที่มีเกียรติน่าเชื่อถือเข้ามาเป็นความหวังของประชาชนว่า การบริหารจะดีขึ้น
อ้าว ก็ต้องดีขึ้นซีคะ   เพราะเหตุผลในรัฐประหารทุกครั้ง คือบ้านเมืองกำลังจะย่ำแย่ ประเทศเผชิญปัญหาหนักแก้ไม่ตก ถ้าไม่รัฐประหาร    รัฐนาวาก็มีสิทธิ์ล่ม
แต่สักพักบุคคลภายนอกเหล่านั้นก็พ้นตำแหน่งไป    แล้วก็มีใครที่ไม่ไกลตัวรัฐประหารเข้ามาแทนที่   มองในแง่ดีถือว่าท่านภายนอกเหล่านั้นมาแก้ปัญหาได้เรียบร้อยแล้วก็จากไป    มองในแง่ร้ายคือแขกรับเชิญก็งี้ละ  จะนั่งอยู่นานเท่าเจ้าของบ้านได้ไง

ทีนี้มาถึงคำถาม
กลับไปพลิกตำรารัฐประหาร พบว่าหลังกบฏสันติภาพ  2495   ก็ไม่มีรัฐประหารอะไรอีก 
เมื่อพิจารณาในด้านความมั่นคงตั้งแต่ 2496-2500  ก็ทำให้ดิฉันมองว่าจอมพลป. 2 ถือว่ามั่นคงจนไม่มีอะไรโยกคลอนได้   ค.ร.ม. ป.2/1-2-3-4-6 ฯลฯ  ปรับได้ก็ปรับกันไป เพราะท่านนายกฯก็ยังคนเดิม   มีสิทธิ์ขาดเหมือนเดิม   ใครหือขึ้นมาก็ถูกปราบปรามราบคาบไปหมด  ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน  เสี้ยนหนามเดิมครั้งเสรีไทยก็ถูกถอนออกไปเกลี้ยงแล้ว
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถึงกับเขียนเรื่อง โจโฉ นายกตลอดกาล   ให้คนอ่านได้ประจักษ์กัน   
ถ้าอย่างนั้น  ก็น่าสงสัยว่าอะไรทำให้จอมพลป. 2 ไม่อาจจะขึ้น ป. 3  ได้  ทั้งๆรูปการณ์เหมือนท่านจะพาสชั้นขึ้นมหาวิทยาลัยได้ไม่ยากเย็น

ดิฉันเคยเขียนไว้ข้างบนนี้ว่ามาจากทหารบก  แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจเสียแล้ว   ต้องรอคำเฉลย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 09:18

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ วันครบรอบวันเกิด ๖๐ ปี ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าอวยพรวันเกิดและนำลูกสุนัขตัวหนึ่งมอบให้เป็นของขวัญ พร้อมกล่าวว่าจะจงรักภักดีต่อจอมพล ป. เช่นเดียวกับสุนัขตัวนี้

๑๕ กันยายน ๒๕๐๐  พล.อ.สฤษดิ์ และคณะนายทหารในบังคับบัญชา ได้มีแถลงการณ์ขอให้ จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด

http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_ พ.ศ._ 2500


นี่หรือคือสุนัข            ที่บอกรักและภักดี
ขุนเลี้ยงจนอ้วนพี       แท้งูพิษฤทธิ์ร้ายแรง


 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 09:31

คุณเพ็ญฯมาเฉลยบางส่วนเสียแล้ว

คำถามคือ รัฐบาลจอมพลป. มีจุดอ่อนให้รัฐประหารได้  ทั้งๆมีกองทัพตำรวจหนุุนหลัง    หรือว่าไม่ได้อ่อน แต่ฝ่ายรัฐประหารแข็งกว่า?
ที่ดิฉันสนใจคือจอมพลสฤษดิ์หรือพลเอกสฤษดิ์ในยุคปลายรัฐบาลจอมพลป. 2  เติบโตมาอย่างไร  พลต.อ.เผ่าถึงต้องแพ้ในรัฐประหาร โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อกันเลย
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 09:45

ที่คุณเพ็ญชมพูกรุณาเล่าเรื่องลูกสุนัขทำให้นึกถึงสำนวนจีนที่โกวเล้งชอบใช้ในนิยายบ่อยๆ ว่า สุนัขป่าไปอวยพรไก่..

หน้าตายิ้มแย้ม แต่อยากจับกินจะแย่อยู่แล้ว..
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 09:56

จากกระทู้ข้างบนเห็นจะต้องอ่านอะไรยาวๆหน่อยแล้วละครับ

แรกๆก็ยินยอมให้จอมพลป.จัดตั้งรัฐบาลดรีมทีมอย่างว่า แต่อยู่ๆไปทั้งเงินและอำนาจที่เบ่งบานของกลุ่มผิน-เผ่า ก็สามารถต่อรองหนุนให้กลุ่มซอยราชครูเข้าไปเป็นรัฐมนตรีได้ถึง4คน6ตำแหน่ง นอกจากพล.อ.ผินผู้บัญชาการทหารบกจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแล้ว ยังมีพต.ต.ศิริ ศิริโยธินเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร พล.ต. ประมาณ อดิเรกสารเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์อธิบดีกรมตำรวจควบรัฐมนตรีอีกสองตำแหน่งคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  หลังผ่านเหตุการณ์กบฎหลายครั้งจนการเมืองเริ่มจะนิ่งพล.ต.อ.เผ่าเห็นว่าสถานะของกลุ่มตนพร้อมแล้ว ก็ล็อบบี้ขอปรึกษาคณะรัฐประหารที่เป็นเงาอยู่หลังจอมพลป.ให้สนับสนุนพล.อ.ผินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะได้ไหม พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์รองผู้บัญชาการทหารบกที่คุมกำลังทหารหน่วยสำคัญอยู่รู้ข่าวเข้าหูก่อน จึงได้เรียกประชุมตัดหน้ากับผู้นำทหารเป็นการลับ มีซี.ไอ.เอ.เท่านั้นที่ได้ล่วงรู้ และบันทึกรายงานไปอเมริกาว่า ทหารไม่เอาด้วย และผู้ร่วมประชุมให้มีตัวแทนไปแจ้งมตินี้แก่ผู้บังคับบัญชาทั้งหลายในภูมิภาคต่างๆด้วย เมื่อกลุ่มผิน-เผ่าเช็คกำลังพลแล้วก็เข้าใจ ยอมรอออกไปก่อนโดยไม่กำหนด

สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ไม่ใช่ว่ามือเก๋าอย่างจอมพลป.จะไม่รู้สึก ดังนั้นเมื่อโดนเผ่าขอตำแหน่งจอมพลให้พ่อตาหลายทีเข้า ก็เลยตั้งทีเดียวซะ3คนรวดเลย นอกจากจอมพลผินแล้ว ยังมีจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ในฐานะที่ท.อ.ได้รับเครื่องบินฝูงใหม่ๆสดๆที่อเมริกาเพิ่งจะโล๊ะทิ้ง คราวนี้จะสั่งให้ทิ้งระเบิดใส่กันเองที่ไหนก็จะได้แม่นยำขึ้น ไม่เหมือนคราวที่แล้วกะจะทิ้งขู่ๆดันพลาดไปโดนจุดตาย และมีแถมจอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศลผู้แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยก็ได้เป็นกับเขาด้วย ทั้งที่กองทัพเรือถูกเด็ดครีบเด็ดหางเสียเดี้ยงไปแล้ว สงสัยในสังคมทหารทั่วโลกตอนนั้นคงจะขำกลิ้งกับข่าวแต่งตั้งนี้ เพราะขนาดมหาอำนาจบางประเทศยังไม่มีนายทหารยศจอมพลสักคนเดียว นี่พี่ไทยล่อเข้าไป4  แต่ไม่รู้ละ มันทำให้จอมพลป.อุ่นใจขึ้นก็แล้วกัน เพราะเมื่อก่อนแท่นนายกของตัวมี2ขา บัดนี้เพิ่มเป็น4ขา แต่ขยับๆดูขาที่เพิ่มขึ้นมาก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเวิกค์สักเท่าไร ฉะนั้นจอมพลป.จึงต้องหาหลักสักตัวหนึ่งมาค้ำไว้ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 10:02

หลักตัวนี้คืออเมริกาที่จอมพลป.แตะๆไว้นานแล้ว จากการยอมประกาศให้ประเทศไทยสังกัดค่ายประเทศเสรีประชาธิปไตย แม้จะทำให้สูญเสียเสรีภาพในการดำเนินนโยบายโดยอิสระ ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดได้อย่างที่เคย ประเทศคอมมิวนิสต์ก็ออกอากาศด่าไทยลอยมาตลอดว่าเป็นสุนัขรับใช้ของอเมริกา เพราะยอมรับความช่วยเหลือทางการทหาร และให้อเมริกาส่งจัสแมค หรือที่ปรึกษาทางทหารและเศรษฐกิจเข้ามาตั้งบ.ก.ในกรุงเทพ หลังจากส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีแล้ว ช่วงหลังนี้ จอมพลป.ยึดอเมริกามั่นด้วยการนำไทยไปผูกกับมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกอีกเปลาะหนึ่งในการร่วมเป็นสมาชิกในองค์การซีอาโต้ ที่มีพันธกรณีย์ในการร่วมรบหากประเทศในกลุ่มถูกรุกรานจากประเทศคอมมิวนิสต์ จอมพลป.ถึงกับแถลงด้วยตนเองว่า หากประเทศไทยถูกรุกรานจากประเทศคอมมิวนิสต์ ไทยก็จะยอมให้อเมริกาส่งทหารเข้ามาช่วยต่อต้าน นี่เป็นอีกข้อหาหนึ่งที่ฝ่ายซ้ายได้โจมตีจอมพลป.ว่าเป็นนักขายชาติ ตอนโน้นขายให้ญี่ปุ่นก็ทีนึง ตอนนี้ขายให้อเมริกาอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ฐานะของไทยก็ดูดีขึ้นในสายตาของมหาอำนาจตะวันตก ถึงตอนนี้ฝรั่งก็ลืมไปแล้วเรื่องจอมพลป.เคยร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับญี่ปุ่น จึงจัดทัวร์ให้ตนเองเดินทางรอบโลกในฐานะนายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมชมกิจการต่างๆใน17ประเทศ ทั้งเอเซีย อเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการสองเดือนกว่าตั้งแต่14เมษายนถึง22 มิถุนายน2498 กลับมาแล้วถึงกับฟิตใหญ่โตในเรื่องของประชาธิปไตยดังที่ผมจะเล่าต่อไปในฉากหน้า

แต่อยากจะบอกตอนจบว่า เซียนอั้งม้ออย่างอเมริกาหรือจะเล่นไพ่หน้าเดียว เขาถือถือไพ่ทั้งเผ่าและสฤษดิ์อยู่ในมืออยู่แล้ว ทั้งสองคนนั้น อเมริกาได้มาคราวที่ติดอาวุธหนักเบาให้ทั้งกองทัพบกและกองทัพตำรวจ เป็นของเล่นในเกมแห่งอำนาจ นี่อเมริกาได้จอมพลป.มาเสียบไว้เป็นไพ่บนมืออีกใบหนึ่ง ก็นั่งยิ้มรอดูสถานะการณ์ไป ถึงตรงนี้ยังไงก็ไม่มีขุนพลคนอื่นจะปฏิวัติเอารัสเซียหรือจีนเข้ามามีบทบาทในเมืองไทยเหมือนดังในเวียตนามหรือเกาหลีได้ ดังนั้นที่จอมพลป.หวังพึ่งว่าอเมริกาจะค้ำตนให้อยู่ในอำนาจชั่วกาลนานนั้น ถึงเวลาเข้าจริงๆ อเมริกากลับเลือกเล่นไพ่ตัวสฤษดิ์ เพราะชัวร์กว่า ก่อนพล.อ.สฤษดิ์จะปฏิวัตินั้น ได้หารือกับอเมริกาแล้ว อเมริกาบอกว่าขอวางตัวเป็นกลาง ซึ่งก็เท่ากับเปิดไฟเขียวให้รถถังทหารบกชิงวิ่งออกมาจากฐานได้ก่อนรถถังของตำรวจ
จอมพลป.และเผ่าจึงต้องกระเจิงไป



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 11 ส.ค. 10, 10:05

ที่คุณเพ็ญชมพูกรุณาเล่าเรื่องลูกสุนัขทำให้นึกถึงสำนวนจีนที่โกวเล้งชอบใช้ในนิยายบ่อยๆ ว่า สุนัขป่าไปอวยพรไก่..

หน้าตายิ้มแย้ม แต่อยากจับกินจะแย่อยู่แล้ว..

พลเอกสฤษดิ์อุ้มสุนัขไปอวยพรวันเกิดจอมพลป.    ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม   จอมพลป.ไหวทันหรือเปล่าว่า ท่านเกิดปีไก่     ท่านพลเอกเล่นอุ้มสุนัขมาส่งให้ไก่  แล้วไก่จะเหลืออะไร   
ใครอยากรู้  ลองอุ้มหมาไปใส่ในกรงไก่ดูเป็นตัวอย่าง   อย่าเอาหมาชิสุนะคะ   เอาหมาไทยก็ได้  ไม่ต้องถึงขั้นบางแก้วหรอก
ส่วนคำอวยพร ก็แค่คำอวยพร  เศร้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง