เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160153 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 09:58

ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่านักเขียนบรรยายราวกับอยู่ในเหตุการณ์ตอนฆ่ากันด้วย     เขาเป็นใครคนหนึ่งในจำนวนนั้น หรือว่าฟังมาจากใครในจำนวนนั้น ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน
ร.ต.อ. พุฒ ไม่ได้ถูกส่งขึ้นศาลในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย     ดูเหมือนจะไม่เคยโดนคดีอะไรเลย    ตอนบั้นปลายชีวิต ลี้ภัยการเมืองไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์

ขอแยกซอยเรื่องพ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์   เป็นที่เล่าลือในฐานะ "นักเขียนบรรทัดละ 8 บาท" ถือว่าแพงที่สุดในบรรดานักเขียนยุคนั้น  เมื่อก่อนดิฉันก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร    มีแต่คนมาถามว่านักเขียนเขานับบรรทัดขายกันจริงหรือ   ก็ตอบว่าของคนอื่นไม่รู้ แต่ของดิฉันไม่เคยนับแบบนั้น
ได้คำเฉลยมาจากในเว็บไซต์ของคุณวินทร์  เลียววาริณ

เมื่อคุยถึงเรื่องค่าเรื่องของนักเขียนแล้ว ก็อด วกไปยังตำนาน 'บรรทัดละ 8 บาท' ของนักเขียน พตต.ประชา พูนวิวัฒน์ เสียมิได้ พตต.ประชา พูนวิวัฒน์ โด่งดังมาจากนวนิยาย "ผมไม่อยากเป็นพันโท" (ยังจำชื่อตัวเอกได้เลยว่าชื่อ ฟ้าลั่น บุญบันดาล!) ผมสังเกตว่างานเขียนของตำรวจนักเขียนท่านนี้แต่ละบรรทัดสั้นมาก เป็นเพราะบรรทัดละ 8 บาทหรือเปล่า อา 'รงค์ บอกว่า นี่เป็นเรื่องเข้าใจผิดในวงการมานานแล้ว พตต.ประชา พูนวิวัฒน์ ไม่เคยได้รับค่าเรื่องบรรทัดละ 8 บาท

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง พตต. ประชา พูนวิวัฒน์ ขอเบิกค่าเรื่องล่วงหน้าจากบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่ง เพื่อผ่อนดาวน์รถให้ลูกสาว ได้มาหลายหมื่น วันนั้นเลยเปรยกับเพื่อนในวงเหล้าว่า ได้เงินมาเท่านี้กับเรื่องที่เขียนไปตอนสองตอน คิดเป็นบรรทัดละ 8 บาทเชียวนะ เท่านี้แหละ ก็เลยเป็นที่มาของฉายา 'นักประพันธ์บรรทัดละ 8 บาท' คนที่เดือดร้อนก็คือบรรณาธิการนิตยสาร เพราะบรรดานักเขียนเก่าบอยคอต ขอขึ้นค่าเรื่อง ต้องชี้แจงวุ่นวายกันไป ผมก็เหมือนคนอื่น ๆ ในวงการที่เข้าใจมาโดยตลอดว่า พตต.ประชา พูนวิวัฒน์ เป็นนักเขียนที่ราคาแพงที่สุดในสมัยนั้น

  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 10:41

ท่านอาจารย์เทาชมพูเล่าไว้ เรื่องตำรวจเลี้ยงนักเลงไว้ชนกับนักเลงดังนี้

อ้างถึง
นโยบายอีกอย่างที่ไม่ได้ประกาศเป็นทางการ แต่รู้ๆกันคือตำรวจเลี้ยงนักเลงไว้ปราบนักเลง    นักเลงฝ่ายตำรวจเดินเข้าออกกองปราบปรามสามยอดเป็นว่าเล่น   คนกลุ่มนี้เอง เป็นที่มาของคำว่า "นักเลงเก้ายอด"
นักเลงในสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 พวกคือนักเลงจีนกับนักเลงไทย     นักเลงจีนมาจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาไทยแบบเสือผืนหมอนใบ      ส่วนใหญ่มาอยู่กันย่านเยาวราช บางส่วนก็ไปเป็นคนงานเมืองแร่ที่ภูเก็ต  ใช้แรงงานและค้าขาย  หาเงินตั้งตัวได้ไม่อดตาย  
ในเมื่อหลั่งไหลกันมามากเข้าเพราะเมืองไทยอุดมสมบูรณ์   พวกคนชั่วที่เข้ามาด้วยก็สบช่องทาง ไม่ต้องทำมาหากิน   แต่ตั้งแก๊งค์รีดไถ เก็บส่วยเอากับคนจีนที่มาทำมาหากิน เรียกว่าเก็บกันเป็นรายหัวไปเลย ไม่ให้ก็ใช้วิชามาร ทำร้ายร่างกาย ต่อมาก็ตัดนิ้วบ้าง ท้ายสุดก็ฆ่าทิ้ง
ในเมื่อเมืองไทยเป็นถิ่นทำมาหากินคล่อง  คนจีนสุจริตจะหนีก็ไม่ได้ ต้องจำใจจ่ายค่าคุ้มครอง   ปล่อยคนชั่วลอยนวล จนพวกนี้ได้ใจส่งข่าวไปยังสมัครพรรคพวก ให้แห่กันมาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นก๊อดฟาเธอร์จีน เรียกว่าแก๊งค์ "ลั้กกั้ก"

พวกนี้มีอิทธิพลไม่น้อย  ตำรวจไทยปราบไม่สำเร็จ  ก็เลยใช้วิธีโจรปราบโจรแทน

นักเลงไทยเป็นเจ้าถิ่นมาแต่เดิม  เห็นนักเลงจีนกำแหงหนักขึ้น ก็รวมตัวเป็นแก๊งค์นักเลงไทย เรียกตัวเองว่า "เก้ายอด" คือสักที่ท้ายทอยเป็นยันต์เก้ายอด
หลังจากรวมพลได้ ก็ยกพวกเข้าตะลุยเยาวราช ตีกันฆ่ากันบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายเก้ายอดชนะ  ตำรวจไทยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น จับแต่พวกแก๊งค์จีน  ไม่จับแก๊งค์เก้ายอด
จากนั้นนักเลงเก้ายอดก็กลายมาเป็นพันธมิตรของตำรวจไทย   ไปไหนมาไหนได้ตามสบาย ชาวบ้านเกรงกลัว  เพราะพวกเขาเป็นมือเป็นขาให้ตำรวจ  ในยุคปลายรัฐบาลจอมพลป.ถึงกับเลื่องลือกันว่า อันธพาลเกลื่อนเมือง

สมัยนั้น ในแก็งเก้ายอดมีอยู่ 2 ท่านที่เอาตัวรอดจากแรงดึงดูดจากวงโคจรของโจรมาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมได้อย่างน้อยสองคนก็คือ อาจารย์ สิทธิผล พลาชีวิน และผู้ว่ากทม.นายธรรมนูญ เทียนเงิน ที่นักหนังสือพิมพ์จะพ่วงท้ายดีกรีของท่านเข้าไปด้วยเสมอว่า ธรรมนูญ เทียนเงิน นักเลงเก้ายอด

ปีพ.ศ. 2497 อาจารย์ สิทธิผล พลาชีวิน ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ใหญ่ ที่ช่างกลปทุมวัน ขณะนั้นนักเลงหัวไม้ได้ลามลงในหมู่วัยรุ่น เกิดแก๊งค์อันธพาลขึ้นในสังคมเป็นจำนวนมาก ตัวหัวหน้าที่มีชื่อดังๆก็เช่น แดง ไบเล่-แหลม สิงห์-ดำ เอสโซ่-ปุ๊ ระเบิดขวด-จ๊อด ฮาวดี้-แอ๊ด เสือเผ่น เป็นต้น พวกนี้จะยกพวกเข้าตะลุมบอน ไล่ตีรันฟันแทงกันเป็นประจำ ทำความเดือดร้อนให้กับประชาชนร่วมถนนเป็นอันมาก ช่วงนั้นนักเรียนช่างกลก็มีพวกเกเรที่เลื่อมใสลัทธิอันธพาลรวมอยู่ด้วยมาก พวกนี้สถาปนาตนเองเป็นนักเรียนนายร้อยเจริญผล แห่งปทุมวัน  ยกพวกตีกันกับช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ประกาศตัวเป็นอริกันตลอดกาลนับจากนั้น อีกแห่งหนึ่งที่ตีกันประจำก็คือช่างกลพระนครเหนือ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงยกระดับขึ้นไปแล้วก็เลิกเรื่องนักเลงไป ว่ากันว่าถ้าอาจารย์ใหญ่ช่างกลปทุมวันไม่ใช่อดีตนักเลงเก้ายอด ก็คงเอาลูกศิษย์ไว้ไม่อยู่ แต่ถึงขนาดนั้น ถ้าใครเห็นบรรดานักเรียนชายวัยฉกรรจ์เดินจับกลุ่มกันมาบนถนน หลบได้ก็ต้องรีบหลบโดยเร็ว(รวมทั้งสมัยปัจจุบันด้วย)

เมื่ออยู่นอกโรงเรียน พวกนี้จะแต่งเดรื่องแบบจิ๊กโก๋ ซึ่งสังเกตุได้ดังนี้

1) ใส่เสื้อสีแดง(ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะคะรับ)
2) ใส่เสื้อแขนยาวแต่พับแขนเสื้อสูงไปเหนือข้อศอก
3) ใส่กางเกงขาลีบ โดยวัดขนาดเอาขวดเป๊บซี่ยัดเข้าปลายขากางเกง หากยัดไม่เข้าถือว่า ขาลีบ
4) นั่งตามราวสะพาน
5) มั่วสุมจับกลุ่มตามร้านกาแฟ เกินกว่าสี่คนขึ้นไป
6) ไว้ผมไม่มีแสก และใช้น้ำมันตันโจ
7) พกหวีไว้ที่กระเป๋าหลังและปล่อยให้โผล่ออกมา

พวกนี้จะเป็นแนวร่วมสังกัดแก๊งค์อันธพาลอาชีพ หากินในการคุมบ่อน คุมซ่อง
อย่างแดง ไบเล่ เกิดที่ตรอกสลักหินข้างหัวลำโพง หรือที่นิยมเรียกว่าตรอกไบเล่ เพราะเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อไบเล่ เป็นลูกกำพร้าพ่อของ โสเภณีในย่านนั้น เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาแดงก็เป็นหัวโจกของบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายในยุคนั้น จนมีชื่อเสียงโด่งดังขนาดว่า แดง ไบเล่ สามารถกอดคอกับ พล.ต.อ.เผ่า ได้เลยทีเดียว ก่อนจะจบบทบาทลงที่คุก และตายเพราะรถชนกัน

เรื่องราวของแดง ไบเล่ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งหนึ่งในชื่อ 2499 อันธพาลครองเมือง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 11:38

            แดง ไบเล่ตัวจริงและพรรคพวกของเขาเป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มนักเลงเก้ายอด    เข้าใจว่าเป็นแก๊งค์หัวโจกวัยรุ่นในยุคปลายๆของรัฐบาลจอมพล ป. 2    เมื่อหนัง "2499 อันธพาลครองเมือง" ดังขึ้นมาในช่วงออกฉาย  ก็มีการเชิญวัยรุ่นยุคนั้นซึ่งกลายมาเป็นคุณปู่คุณตาในยุคนี้มาสัมภาษณ์กันทางทีวี
      อ่านข่าวกับดูข่าวแล้ว  ดิฉันก็สับสนอยู่เหมือนกัน    เพราะบางคนบอกว่าพวกเขาไม่ได้เลวร้ายเป็นนักเลงหัวไม้อย่างในหนัง   เป็นพวกวัยคะนอง จับกลุ่มกันเฮฮา เต้นรำ แต่งตัวตามแฟชั่น แต่ก็มีบางคนบอกว่าเคยยกพวกตีกันกับนักเรียนเหมือนกัน  เลยไม่รู้ว่าเป็นยังไงกันแน่  เลยสรุปว่าเป็นแก๊งค์ซ่าในสมัยนั้น  ประวัติแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป  บางคนพออายุมากขึ้นก็เลิกซ่า   ไปได้ดีในอาชีพต่างๆ อย่างที่ท่านกูรูใหญ่กว่า ท่านเล่าข้างบนนี้    บางคนก็จมอยู่ในวังวนต่อไป
    แดง ไบเล่เห็นทีจะผันตัวเองเป็นนักเลงเต็มตัว ใจถึงจนเป็นที่พอใจของพลต.อ. เผ่า    ถ้าแกไม่อายุสั้นเพียง 24 ปี  อาจจะก้าวขึ้นถึงขั้นเจ้าพ่อในวัยกลางคนได้  แต่ว่าต้องกระดูกเหล็กรอดมือท่านจอมพลคนต่อไปจากจอมพลป. ให้ได้เสียก่อน   เพราะท่านเกลียดอันธพาลนัก   อ้าว เผลอเล่าหนังตัวอย่างอีกแล้ว
       เกร็ดที่จำได้จากเบื้องหลังหนังเรื่องนี้คือบรรดาอดีตวัยรุ่นสมัยนั้นออกมาโวยว่า ไม่มีคนชื่อเปี๊ยก วิสุทธิกษัตริย์ที่ในหนังบอกว่าเป็นเพื่อนรักแก๊งค์เดียวกับแดง ไบเล่      สุริยัน ศักดิ์ไธสงผู้แต่งว่าตัวเองคือเปี๊ยกในเรื่อง  ที่จริงสมมุติขึ้นมาเอง      วัยรุ่นชื่อเปี๊ยกในสมัยนั้นมีเหมือนกันแต่เป็นคนละคน      เปี๊ยกคนนั้นคือผู้กำกับละคร  พิศาล อัครเศรณี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 14:32

มาสรุปคั่นเวลาไปก่อน

ในกระทู้ก่อน   ดิฉันเคยแบ่งกลุ่มพลังต่างๆทางการเมืองของไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น 3 กลุ่ม  คือกลุ่มทหารบก    กลุ่มพลเรือน  และกลุ่มรัฐสภา   
กลุ่มที่มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดคือทหารบก เป็นหลัก  มีทหารเรือคอยเสริม  ครองอำนาจมาได้  จนกระทั่งผ่านสงครามโลกมาถึงพ.ศ. 2494  มาถึงกบฏแมนฮัตตัน
ผลจากการพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏซึ่งเป็นนายทหารเรือ    ทำให้กองทัพเรือทั้งกองทัพถูกบั่นทอนพลัง  จนกระทั่งไม่มีกำลังพอจะทำอะไรทางการเมืองได้อีก    กองทัพอากาศขึ้นมาเป็นดาวรุ่งแทนที่ แต่ก็ไม่มีบทบาททางการเมืองอยู่ดี

ส่วนกลุ่มพลังพลเรือน  ซึ่งมีนายปรีดีเป็นหัวหน้า   ถูกกวาดล้างเหี้ยนเตียนในรูปแบบต่างๆ  โดยมากจะเป็นการเน้นข้อหาคอมมิวนิสต์ จนไม่เหลือหลอ   แม้แต่ตัวหัวหน้าเองก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน  ไม่มีโอกาสกลับมา

กลุ่มรัฐสภา  ถูกกวาดล้างไปด้วย  เช่นในคดีโจรมลายูปล้น ๔ รัฐมนตรี    เสรีไทยที่ไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือแต่มาเล่นการเมือง ก็อักเสบด้วยพิษการเมือง  อาการหนักมากบ้างน้อยบ้าง  จนตกเวทีการเมืองไปหมดก็ว่าได้

กลุ่มทหารบกยังอยู่ยงคงกระพัน เป็นกลุ่มพลังหนุนหลังจอมพลป. ผู้ยังมีบารมีในกองทัพบก แม้ไม่เท่ากับยุคก่อนสงครามโลก   แต่กลุ่มที่เป็นอาวุธหนักคู่มือของจอมพลป.อย่างแท้จริง คือตำรวจ      กองทัพตำรวจในสมัยพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยิ่งใหญ่สูสีกับกองทัพทหาร หรืออาจจะบารมีใหญ่กว่าเสียอีก

นายตำรวจยุค "อัศวินผยอง" มีแขนขาคือเหล่านักเลง ทั้งเก้ายอดและนักเลงวัยรุ่นที่คุณนวรัตนเล่าไว้   พวกนี้ได้รับชื่อใหม่ ว่า "ผู้กว้างขวาง"  ถ้ามือถึง ก็รับจ๊อบต่างๆแล้วแต่จะนายตำรวจจะมอบหมาย      ถ้าเป็นงานการเมืองก็รับงานรังควานฝ่ายตรงข้าม และถากถางเสี้ยนหนามให้นาย   

ส่วนประชาชนผู้เป็นที่มาของชื่อ "ประชาธิปไตย" ก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล  และรักษาตัวให้รอดปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 16:38

นักเรียนหายไปหลายวัน....เข้ามาเช็คชื่อว่ายังคงติดตามอยู่เสมอครับท่านอาจารย์.....

ยุคที่สองของท่านจอมพลนี่ก็ดุเดือด แสดงนำโดยตำรวจอีกเช่นเคยนะครับ.....แต่คราวนี้มีผู้ช่วยเป็นพวกนักเลงอีก....ผมยังเด็กนึกภาพบ้านเมืองสมัยนั้นไม่ออกเลยครับ.....
 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 17:28

ขอกลับมาพูดเรื่องรัฐสภาบ้าง   
เริ่มต้นด้วยพรรคการเมือง    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (2489-2494) ไทยมีสิบกว่าพรรค  ที่สำคัญคือ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคประชาธิปัตย์
พรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์   มีนายทองเปลว ชลภูมิเป็นเลขาธิการ คนสำคัญในพรรคเป็นเสรีไทยสายเมืองหลวง    พรรคสหชีพเป็นอดีตเสรีไทยสายอีสานที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์     ทั้งสองพรรคมีอุดมการณ์คล้ายกันแต่ว่าไม่ได้ทำงานร่วมกัน    ต่างคนต่างมีกลุ่มของตัวเอง    ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช   มีแกนนำสำคัญคือม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้น้องชาย  ในระยะแรก
ถ้าพูดถึงคุณภาพของส.ส.นักการเมือง  ส่วนใหญ่ก็มีภูมิรู้และผลงานเป็นที่น่านับถือ     แต่ว่าไม่มีอำนาจ     ต่อมานักการเมืองหลายคนของทั้ง 2 พรรค  ถูกโจรจีนมลายูยิงตายไปอย่างลึกลับ  ทำให้พลังของพรรคการเมืองอ่อนลงมาก   ก็ทำได้เพียงรักษาระบบรัฐสภาเอาไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียเป็นส่วนใหญ่

ผู้มีอำนาจในสังคม ก็คือพลต.อ.เผ่า  ท่านรักษาดุลย์ของอำนาจไว้ได้ ในความหมายที่ว่า รัฐสภาก็ต่อต้านไม่ได้   กองกำลังตำรวจของท่านก็เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ไม่มีแตกแยกกันเลยในช่วงที่ท่านเป็นอธิบดีตำรวจ     และอย่างที่สามคือท่านรู้จักสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง ยากจะหาใครเปรียบได้
ดิฉันไม่พบรายละเอียดว่าท่านสร้างฐานะขึ้นมาจากธุรกิจบริษัทห้างร้านไหน    แต่พบว่าในบั้นปลายเมื่อท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ  ก็สามารถปักหลักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งได้ชื่อว่าค่าครองชีพแพงมหาศาล     ที่นั่น ท่านมีบ้านช่องอยู่อย่างโอ่อ่าก็แสดงว่าฐานะการเงินของท่านมั่นคงเอาการ     คุณวิกี้ได้อ้างด้วยว่าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจัดอันดับท่านเป็นมหาเศรษฐีท็อปเท็น    แต่ไม่บอกว่าหนังสือพิมพ์อะไรหรือท็อปเท็นของอะไร   ก็เลยไม่ฟันธงตามนั้น  เอาเป็นแต่ว่าท่านมีเงินพอพำนักอยู่ในสวิส ไม่ขาดแคลน   จนถึงแก่กรรมก็แล้วกัน

ที่คุณ PTBT ถามว่าอำนาจใช่ไหมเป็นสาเหตุ  คำตอบคืออำนาจไม่ได้มาพร้อมบารมีเท่านั้น    แต่มีลาภทรัพย์สินเงินทองเดินตามหลังมาด้วยอย่างกระชั้นชิด      คนถึงชอบแสวงหาอำนาจอย่างเดียวพอแล้ว  อย่างอื่นมันของอัตโนมัติ
บันทึกการเข้า
Son Of The Dawn
อสุรผัด
*
ตอบ: 1



ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 20:49

อ่านสนุกแถมได้ความรู้ขอบคุณฮ่ะ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

-บุตร-แห่ง-รุ่งอรุณ-
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 10:37

เริ่มต้นวันจันทร์ด้วยการคั่นโปรแกรม ตามเคย

เคยตั้งข้อสงสัยว่า กบฏแมนฮัตตันที่ว่ากันว่าหัวหน้าใหญ่คือพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ นายทหารเรือนอกราชการ น่าจะมีมากกว่านั้น  เพราะนายทหารนอกราชการย่อมไม่มีขุมกำลัง หรือเครือข่ายที่จะก่อรัฐประหารขึ้นมาได้
ไปเจอในเว็บที่รวบรวมบทความ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  บอกไว้ว่า เมื่อกบฏวังหลวงสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ทางฝ่ายนายปรีดีและทหารเรือบางส่วน    คนที่ช่วยให้ที่หลบซ่อนแก่นายปรีดี คือน.ต.มนัส จารุภา  
ถ้าจริง ก็แปลว่ามีสายใยโยงใยกันอยู่ระหว่างผู้ร่วมกบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตัน    แต่ทหารเรือส่วนที่ไม่ร่วมก็มีเหมือนกัน คือส่วนคุมกำลังในปี 2494  ร่วมกันปฏิเสธน.ต.มนัส จารุภา จนทำให้เขาพ่ายแพ้ไป

กลับมาที่พลต.อ. เผ่า ศรียานนท์
นอกจากสถาปนากำลังตำรวจให้ยิ่งใหญ่ไพศาลเป็นประวัติการณ์แล้ว  พลต.อ.เผ่ายังถากถางเสี้ยนหนามการเมืองให้รัฐบาลจอมพล ป. อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย      คนที่เจอเข้าคือพวกกบฏเสนาธิการ อย่างที่เล่าไว้ในค.ห.บนๆไปแล้ว  พ.ท.โพยม จุลานนท์ก็เป็นคนหนึ่งที่โดนเข้าเต็มๆจนต้องหลบหนีลงจากเวทีการเมืองไป

อีกคนหนึ่งที่เจออิทธิฤทธิ์พลต.อ.เผ่าเช่นกัน  คือพลโทหลวงกาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง)  อดีตสมาชิกคณะราษฎร์ฝายยทหาร ฯร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475    หลวงกาจมีความดีความชอบในการปราบปรามกบฏบวรเดช จนบาดเจ็บ  จึงเลื่อนตำแหน่งการงานขึ้นเป็นลำดับ  ขึ้นเป็นถึงแม่ทัพภาคที่ 1  
ในช่วงสงครามโลก  พลโทกาจ กาจสงคราม ก็เข้าร่วมเป็นเสรีไทยสายนายปรีดี พนมยงค์ด้วย  สนิทสนม ทำงานเคียงข้างนายปรีดีหลังสงครามโลกจบลง ถึงกับร่วมก่อตั้งพรรคสหชีพ   แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้น   พลโทหลวงกาจฯก็ผละจากนายปรีดี  และโจมตีนายปรีดีว่าวางแผนก่อตั้ง "มหาชนรัฐ" (น่าจะหมายถึงระบบ Republic หรือระบบสาธารณรัฐ  ซึ่งไม่มีกษัตริย์อีกต่อไป)
พ.ศ. 2490 หลวงกาจหันกลับไปร่วมมือกับจอมพลผิน และพลต.อ.เผ่า(ตอนนั้นเป็นแค่พ.ต.อ.หนุ่ม คนสนิทของจอมพลป.) ทำรัฐประหาร เชิญจอมพลป.กลับมาเป็นนายกฯ      ระหว่างเตรียมแผน  พลโทหลวงกาจเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 เตรียมไว้เพื่อนำออกมาใช้หลังรัฐประหารสำเร็จ    ที่ๆท่านเก็บซ่อนเอาไว้ไม่ให้ฝ่ายบ้านเมืองหาเจอ คือซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำที่บ้าน   เพราะเชื่อว่าไม่มีใครจะไปยกตุ่มขึ้นมาค้น
พอรัฐประหารสำเร็จ  นำออกมาใช้   จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ใต้ตุ่ม” หรือ “ตุ่มแดง” (ตุ่มน้ำทั่วไปในสมัยนั้นเป็นสีแดง)  หลวงกาจ กาจสงคราม จึงได้รับฉายาจากการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “นายพลตุ่มแดง”
ในเมื่อเป็นแกนนำสำคัญ  พลโทหลวงกาจสงครามได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากจอมพลป. จนกระทั่งรุ่งเรืองระดับแถวหน้าในรัฐบาลจอมพลป. 2  
ตัวท่านเกิดไม่เข้าตาพลต.อ.เผ่า อย่างแรง   เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบแต่มีข่าวลือว่าแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว    ผลก็คือในปี 2493  ตำรวจอ้างว่าได้สืบทราบว่ามีแผนการก่อกบฏ (เรียกกันว่ากบฏน้ำท่วม)ของหลวงกาจ กาจสงคราม วางแผนอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมพระนครเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐ   ซึ่งเป็นแค่แผนอะไรก็ไม่รู้  ยังไม่มีการลงมือ  ไม่มีกองพลกองพันทหารคนอื่นร่วมมือด้วย  
แต่เมื่อทางตำรวจอ้างออกมา พลโทหลวงกาจสงครามก็ไม่มีทางอื่นนอกจากลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ  คือถูกเนรเทศไปอยู่ฮ่องกง  แต่บั้นปลายชีวิตก็ได้กลับมา  ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2510

นับว่าจบบทบาทเสือร่วมถ้ำอีกตัวหนึ่ง และเป็นการตัดกำลังพรรคสหชีพให้หมดเรี่ยวแรงไปได้อีกด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 16:25

ขอฉายภาพเหตุการณ์ในวันที่หลวงกาจสงครามถูกจับ  ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓  ให้คุณเทาชมพูได้ทราบรายละเอียดว่าในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับหลวงกาจฯ

ขณะที่หลวงกาจสงครามนั่งโต๊ะทำงานอยู่ที่วังสวนกุหลาบ มีนายทหารฝ่ายเสนาธิการยศพันโทผู้หนึ่งเข้าไปรายงานว่ามีคนจะพูดโทรศัพท์ด้วย หลวงกาจฯ จึงยกหูโทรศัพท์ขึ้นฟังแล้วตอบไปว่า

"นี่ผมหลวงกาจฯ พูด"

มีเสียงตอบมา หลวงกาจฯ จำได้ว่าเป็นเสียงนายกรัฐมนตรี

"อ้อ คุณหลวงกาจฯ หรือ บ่าย ๒ โมงวันนี้ขอเชิญมาประชุึมที่ทำเนียบรัฐบาลหน่อย มีเรื่องทางภาคเหนือที่เกี่ยวกับทหารจีน ควรจะได้ปรึกษากัน"  

หลวงกาจฯ ตอบไปทันที่ว่า

"ผมจะไปประชุมตามกำหนดนั้น"

นั่นเป็นคำพูดสุดท้ายกับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่หลวงกาจฯ จะถูกจับโดยรองอธิบดีกรมตำรวจที่ทำเนียบรัฐบาล  

รองอธิบดีกรมตำรวจถือปืนพกรีวอลเวอร์จ่อตรงศีรษะหลวงกาจฯ แล้วกล่าวว่า

"โดยราชการ ข้าพเจ้าขอจับท่านบัดนี้"  

หลวงกาจฯ ถามว่า จับเรื่องอะไรกัน ตอบว่า จับฐานขบถ ถามว่า มีหลักฐานอะไรหรือ ตอบอย่างสั้นคำเดียวว่า มี ถามว่า ขอให้พอไปพบนายกรัฐมนตรีหน่อยได้ไหม ตอบ ไม่ได้ ไม่ยอมให้ไปพบ หลวงกาจฯ ว่า ถ้าเช่นนั้นจะเอาตัวไปไหนก็เอาไป

หลวงกาจฯ ถูกคุมขังไว้ที่ตึกใหญ่ในวังปารุสกวันชั้นบน  ห้องนี้ธรรมดาจัดไว้สำหรับนายสิบตำรวจนอน สกปรกมาก  สามชั่วโมงหลังจากที่หลวงกาจฯ ถูกส่งมาขังที่นี่ มีผู้มาตามหลวงกาจฯ ไปพบรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ที่ห้องทำงานชั้นบนของตึกในวังปารุสกวันเหมือนกัน  รองอธิบดีถามว่า จะไปอยู่ที่ใดในต่างประเทศ คำตอบของหลวงกาจฯ คือ แล้วแต่จะให้ไป ไปอังกฤษ สวิส ฝรั่งเศส อเมริกา ปีนัง หรือสิงคโปร์ ก็ได้

แต่ในที่สุด  ข่าวสารที่หลวงกาจฯ ได้รับในคืนวันนั้นคือ ทางการจะส่งตัวไปอยู่ฮ่องกง พรุ่งนี้ ๗ โมงเช้า จะต้องออกเดินทางจากวังปารุสกวัน

หลวงกาจฯ รำพึงกับตนเองว่า

วโส อิสสิรยฺ โลเก

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก


เก็บความจาก หนังสืออนุสรณืในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ปช.,ปม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ส.ค. 10, 21:02 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 16:51

เห็นภาพชัดปาน DVD ทีเดียวค่ะ คุณเพ็ญชมพู ยิ้มกว้างๆ

เกิดสมัยนั้น ต่อให้เป็นคนใหญ่คนโต ก็เหมือนไต่เชือกข้ามเหวกันทุกคน
เสียศูนย์เมื่อไร ก็ร่วงลงไปได้ทั้งนั้น

อ้อ  ไม่ลืมให้กิ๊ฟ นะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 19:20

มีเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์หนึ่ง ที่ท่านกูรูใหญ่กว่ายังไม่ได้เขียนถึง  อาจเห็นว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาลจอมพลป. 2 ที่สอบตกไม่ได้ขึ้นชั้นป. 3  หรือท่านกำลังซุ่มเขียนอยู่ก็ไม่แน่   ดิฉันขอเดาว่าไม่ได้ซุ่มเพราะท่านเลยมาถึงกบฏสันติภาพปี 2495 แล้ว  
แต่ถ้าดิฉันไปตัดหน้าท่านก็ขออภัยด้วย  จะลบหรือจัดคิวใหม่ให้ไม่ต้องวอรี่

    เหตุการณ์นั้นคือรัฐประหาร  29 พฤศจิกายน 2494   เป็นรัฐประหารกะจ้อยร่อย  เงียบเชียบเรียบร้อยเสียจนนักประวัติศาสตร์เกือบจะลืมว่ามันมีตัวตนอยู่จริง
   รัฐประหารครั้่งนี้ไม่มีอะไรมาก    ตื่นขึ้นมาเช้าวันที่ 29 พ.ย.  ประชาชนก็ได้ยินประกาศจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย  เป็นคำแถลงว่า...
   บัดนี้คณะนายทหารส่วนใหญ่จากคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ เช่น พลเอกผิน ชุณหะวัณ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น ได้กระทำการยึดอำนาจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ จากภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังคุกคามอย่างรุนแรง โดยเรียกตัวเองว่า "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" และได้ความร่วมมือจากทั้ง 3 กองทัพ และตำรวจ ซึ่งมีคำปรารภในการรัฐประหารครั้งนี้ว่า
    เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป  ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้ถูกคุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ก็ยังดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นมาก  แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รับชั่นดังที่มุ่งหมายว่าจะปราบนั้นด้วย ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นทีวิตกกันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์การเมืองอย่างนี้
   จึงคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490  พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ มุ่งความมั่นคงดำรงอยู่แห่งชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พร้อมกันเป็นเอกฉันท์ กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความรุ่งเรืองสถาพรแก่ประเทศชาติสืบไป
 
       ประชาชนงงเป็นไก่ตาแตก  หันหน้าเข้าถามกันว่ามันอะไรกันนี่  ผ่านไปวันสองวันก็ได้คำตอบว่า จอมพลป. นายกรัฐมนตรี ท่านรัฐประหารตัวเองน่ะไม่มีอะไรมาก      หลังรัฐประหารท่านก็ยังนั่งเก้าอี้ตัวเดิม   มีพลต.อ.เผ่าเป็นอธิบดีตำรวจเหมือนเดิม "คณะบริหารประเทศชั่วคราว"  ก็ค.ร.ม.คณะเดิม    
       อย่างเดียวที่ไม่เหมือนเดิมคือรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2492 ที่ใช้กันอยู่ถูกฉีกทิ้ง   หันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
           รัฐประหารครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการกระทำที่ประหลาดที่สุดในโลก และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกด้าน เช่น ไม่ร่วมเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2495 เป็นต้น
        สาเหตุนั้นนักประวัติศาสตร์เจาะลึกกันไปลงหลายด้าน    แต่พอสรุปได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2492 ค่อนข้างจะให้เสรีภาพมากเกินไป    จนรัฐบาลอึดอัดขัดใจในการบริหารงานหลายๆเรื่องว่าไม่สะดวกราบรื่น   ขนาดโจรจีนมลายูช่วยลดจำนวนส.ส. ไปหลายคนแล้วก็ยังไม่สะดวกอยู่ดี    จึงหันกลับไปใช้่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ให้อำนาจผู้บริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ   จะได้ไม่มีใครหือขึ้น  แต่จะประกาศใช้เฉยๆก็ทำไม่ได้  จึงต้องรัฐประหารเสียก่อนให้ถูกหลักการ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 21:23


ผมขอเวลาอีกสักเล็กน้อยที่จะเดินกระทู้ต่อนะครับ ระหว่างนี้ขอส่งบทความดีๆ ที่สะท้อนให้เห็นบ้านเมืองในยุคจอมพลป.2ได้อย่างสรุป ผู้เขียนบันทึกคือนายราชัน กาญจนะวณิช อดีตเสรีไทยสายอเมริกา ท่านผู้นี้เป็นวิศวกรเหมืองแร่ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของภูเก็ต ท่านเล่าเหตุที่ท่านไปอยู่ที่นั่นเป็นบทนำในเรื่องของท่าน ลองอ่านดูนะครับ

ทุพพลภาพ
ราชัน กาญจนะวณิช
-----------------

นับตั้งแต่ผมกลับมาเข้ารับราชการในประเทศไทย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2490 เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความสงบในวงราชการของไทย ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ได้มีรัฐประหารโดยคณะทหารร่วมกับนักการเมืองอนุรักษ์นิยมซึ่งได้ทำให้วงราชการปั่นป่วนยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ย่อมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีและข้าราชการสำคัญ ๆ ไปด้วย วงการเมืองของไทยแตกเป็นสี่ก๊ก คือฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ร่วมกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ฝ่ายคณะรัฐประหาร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของนายควง อภัยวงศ์ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเก่าและนักการเมืองใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทหารฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยที่ทั้งสามฝ่ายหลังได้พยายามกำจัดอิทธิพลฝ่ายแรก รวมทั้งหัวหน้าเสรีไทยจากภาคอีสานที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์
 
ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ได้มีการปราบปรามนายทหารเสนาธิการที่พยายามเปลี่ยนระบบทหารไม่ให้เข้าไปค้าขาย และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ก็มีการพยายามล้มอำนาจรัฐบาลที่เรียกกันว่า กบฏวังหลวง จนกระทั่งได้เกิดฆาตกรรมอดีตรัฐมนตรี 4 นายและบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีก 2-3 นาย เมื่อกำจัดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ได้สำเร็จแล้ว คณะรัฐประหารก็ลงมือปราบปรามกองทัพเรือ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เพราะกองทัพเรือไม่สนับสนุนคณะรัฐประหาร

ความแตกแยกในคณะรัฐประหารเองก็เริ่มเป็นรอยร้าวมากขึ้น เพราะการใช้อำนาจแย่งกันทำมาหากินโดยมิชอบ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 จอมพลผิน ชุณหวัณ และพลเอกเผ่า ศรียานนท์ ในสำนักราชครูจึงได้ชักชวนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอกสฤษดิ์ ธนรัตน์ จับหลวงกาจสงครามส่งตัวออกนอกประเทศ
การปราบปรามกองทัพเรือนั้นปิดฉากลงในช่วง 29 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเกิด กบฏแมนฮัตตันขึ้น คณะรัฐประหารจึงมีอำนาจเด็ดขาดในระยะต่อมา

ผมเดินทางมาฝึกหัดงานที่ภูเก็ตในต้นเดือนกรกฎาคม ในระหว่างที่เหตุการณ์ยังไม่สงบดี และรีบไปรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบเพราะเคยทำงานร่วมกันมาในระหว่างสงคราม ภายในปีเดียวกันนั้นเองก็มีเครื่องบินของทางราชการขนยาเสพติดไปส่งขึ้นเรืออเมริกันที่ข้างสนามบินไม้ขาว นายเหมืองชาวภูเก็ตคนหนึ่งได้ออกไปช่วยเหลือ จนได้แหวน “เกียรติยศ” เป็นเครื่องตอบแทน ผู้ว่าเองก็บอกว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยไม่ได้

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 มานั้น ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2492 เป็นหลัก ซึ่งยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาวิจารณ์ความไม่ชอบธรรมของคณะรัฐมนตรีได้อยู่ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะรัฐประหารจึงได้ถือโอกาสในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงเสด็จกลับประเทศไทย ทำการรัฐประหารตัวเองทางวิทยุเพื่อล้มอำนาจรัฐสภาและพระราชอำนาจ กลับมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 โดยมีสมาชิกสภาประเภท 2 ขึ้นอีก บรรดาข้าราชการประจำที่ขวนขวายจะก้าวหน้าในตำแหน่งหรือหาทรัพย์สินจึงต้องเข้าไปอยู่ในอาณัติหรือสังกัดของผู้นำคณะรัฐประหารคนหนึ่งคนใดเพราะทหารและตำรวจได้เข้าไปแทรกแซงในหน่วยราชการ การธนาคาร และบริษัทการค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในสภาวะทางการเมืองเช่นนี้ ผมรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ และไม่ต้องเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของผู้นำคณะรัฐประหารคนหนึ่งคนใด เพื่อน ๆ ของผมที่มีการศึกษาดี ก็ยังทนทานอิทธิพลของผู้ใหญ่ที่ชอบทำมาหากินโดยมิชอบในยุคนั้นไม่ได้ การย้ายมาอยู่ภูเก็ตจึงเป็นการหลีกภัยมาหาความสงบ อย่างน้อยก็จนกว่าความผันผวนทางการเมืองและความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมจะบรรเทาลง………….


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 09:09

ไหนๆคุญเพ็ญชมพูก็เอาดีวีดีมาฉายให้ท่านผู้อ่านดูตอนจบของหลวงกาจแล้ว ผมจะขอย้อนไปเก็บตอนต้นมาเล่าให้ฟังเพิ่มอีกสักหน่อย

หลวงกาจสงครามมีชื่อปรากฏในทำเนียบนักการเมืองตั้งแต่สมัยปฏิวัติ2475 ตอนนั้นเป็นนายร้อยเอก เมื่อเกิดกบฏบวรเดช หลวงกาจได้รับคำสั่งให้คุมทหารขึ้นรถไฟไปแนวหน้า พอดีฝ่ายกบฏส่งหัวรถจักรเปล่าๆที่เรียกว่าตอร์ปิโดบกลงมาปะทะขบวนรถทหารรัฐบาลที่วิ่งขึ้นไป ลงเค้เก้ไปข้างทางทหารเสียชีวิต2นาย บาดเจ็บระนาว หลวงกาจกระเด็นตกรถไฟหน้าแหวะต้องตัดหูทิ้งไป1ข้าง จึงได้ฉายาใหม่ว่านายพันหูเดียว เวลาถ่ายรูปจะต้องเอียงข้างหล่อให้ถ่าย

เสร็จศึกได้รางวัลปลอบใจให้ไปเป็นใหญ่ในกรมอากาศยานที่กำลังปรับขึ้นเป็นกองทัพอากาศ เพราะผลจากกบฏบวรเดชทำให้นายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่หลายคนมีอันจะต้องเป็นไป ถูกปลดจากราชการกันระนาว จึงได้เลื่อนยศพรวดๆขึ้นไปเป็นนาวาอากาศเอก ตำแหน่งเสนาธิการกองทัพอากาศ ทำให้เกิดขัดแย้งกับนายทหารอากาศแท้ๆมากมายแต่ก็ทนอยู่ได้ กระทั่งได้คั่วตำแหน่งผู้บัญชาการอยู่แล้ว หลวงกาจก็เอาเครื่องบินทิ้งระเบิดมาร์ตินที่จอมพลป.เห่อมากเพราะสั่งเข้ามาใหม่ๆ ไปตกเสียหายยับเยินข้างรันเวย์ระหว่างร่อนลง หนังสือพิมพ์โจมตีว่าเครื่องบินถูกนำไปใช้ในภารกิจส่วนตัวไม่เป็นที่เปิดเผย หลวงกาจยอมรับและบอกว่าจะให้หักเงินเดือนตนเองใช้หลวงแต่ก็ถูกท่านผู้ชมโห่กันเกรียว เพราะแม้ว่าจะหัก100%ทุกเดือนจนตายก็ยังไม่ได้ครึ่งค่าเครื่องบินลำนั้น หลวงกาจจึงถูกย้ายออกจากกองทัพอากาศ แต่โดยปรานีให้ไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร

หลวงกาจเป็นที่โปรดปรานของจอมพล.ป ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะหลวงพิบูลบ่อยครั้ง และสนิทกับนายปรีดีด้วยจนถึงขั้นร่วมมือกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ได้ลาออกจากรัฐมนตรีและลักลอบเดินทางไปจีนด้วยเรื่องของเสรีไทยจนจบสงครามจึงได้กลับมาบ้าน

หลวงกาจเป็นคนแรกที่คิดจะทำรัฐประหารในปี2490 ถึงขนาดร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้วและซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดงดังที่เล่ากันในกระทู้ก่อนๆ เมื่อชวนจอมพลผินกระทำการสำเร็จแล้ว หลวงกาจได้ไปบังคับอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังขอเบิกเงิน8ล้านบาทเป็นค่าทำรัฐประหาร กลายเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีผู้ใดกล้าออกมาปฏิเสธ ต่อมารัฐบาลควงจำเป็นต้องอนุมัติเงินจำนวนนี้ให้ถูกต้องตามกฏหมายไป หลังรัฐประหาร หลวงกาจได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พอหนังสือพิมพ์ขอสัมภาษณ์เรื่องการได้รับเลื่อนยศทีเดียวจากพันเอกเป็นพลโท  หลวงกาจก็ประกาศอมตะวาจาด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า “ใครอยากได้เลื่อนยศเร็ว ก็ทำรัฐประหารเอา”
ต่อมาหลวงกาจก็ตกม้าตายเพราะใช้อำนาจเบิกเงินจากกระทรวงการคลังอีก อ้างว่าจะเอาไปใช้จ่ายในกองทัพ แต่หลวงกาจเอาเงินดังกล่าวไปแลกเงินปอนด์กับเงินรูปีในตลาดมืดเสียก่อนที่จะเอาเงินสองสกุลนั้นมาคืนให้กลาโหมในอัตราแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลกำหนด ทำให้หลวงกาจได้กำไรไปจากส่วนต่างอันนี้ถึง3,738,030.00บาท เลยโดนวุฒิสมาชิกตั้งกระทู้ถามในสภาและรัฐมนตรีกลาโหมต้องยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบจริง ต่อมากระทรวงกลาโหมได้สั่งระงับการแลกเปลี่ยนและสั่งตั้งกรรมการสอบสวน ปรากฏว่ากรรมการมีมติว่าหลวงกาจผิดจริงให้ดำเนินคดี แต่เรื่องไปดองอยู่ที่กรมพระธรรมนูญและกรมอัยการนานและกลับความเห็นว่าไม่สั่งฟ้อง

หลวงกาจเลยรอดคดีอาญาไป
แต่โทษที่โฉ่งฉ่างให้เขาจับได้ ทำความอับอายให้คณะรัฐประหารยังมีอยู่ ไล่เรี่ยกันนั้นหลวงกาจจึงโดนจอมพลป.ปลดออกจากราชการและโดนเนรเทศดังเนื้อความตามกระทู้ก่อนหน้านี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 14:06

เสร็จศึกได้รางวัลปลอบใจให้ไปเป็นใหญ่ในกรมอากาศยานที่กำลังปรับขึ้นเป็นกองทัพอากาศ เพราะผลจากกบฏบวรเดชทำให้นายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่หลายคนมีอันจะต้องเป็นไป ถูกปลดจากราชการกันระนาว จึงได้เลื่อนยศพรวดๆขึ้นไปเป็นนาวาอากาศเอก ตำแหน่งเสนาธิการกองทัพอากาศ ทำให้เกิดขัดแย้งกับนายทหารอากาศแท้ๆมากมายแต่ก็ทนอยู่ได้ กระทั่งได้คั่วตำแหน่งผู้บัญชาการอยู่แล้ว หลวงกาจก็เอาเครื่องบินทิ้งระเบิดมาร์ตินที่จอมพลป.เห่อมากเพราะสั่งเข้ามาใหม่ๆ ไปตกเสียหายยับเยินข้างรันเวย์ระหว่างร่อนลง หนังสือพิมพ์โจมตีว่าเครื่องบินถูกนำไปใช้ในภารกิจส่วนตัวไม่เป็นที่เปิดเผย หลวงกาจยอมรับและบอกว่าจะให้หักเงินเดือนตนเองใช้หลวงแต่ก็ถูกท่านผู้ชมโห่กันเกรียว เพราะแม้ว่าจะหัก100%ทุกเดือนจนตายก็ยังไม่ได้ครึ่งค่าเครื่องบินลำนั้น หลวงกาจจึงถูกย้ายออกจากกองทัพอากาศ แต่โดยปรานีให้ไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร

พล.อ.อ. ทวี จุลทรัพย์ ได้เล่าถึงหลวงกาจสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพอากาศว่า

วันหนึ่งข้าพเจ้าเป็นนายทหารเวรประจำสนาม เห็นนักบินผู้หนึ่งนำเครื่องฮอว์คสามลงมา เสื้อที่สวมเป็นเสื้อสีเนื้อซึ่งผิดข้อบังคับการบิน ข้าพเจ้าก็เดินรี่เข้าไปข้างเครื่องบินเพื่อจะไปสอบสวนว่าเรื่องอะไรจึงได้อุตริสวมเสื้อสีเนื้อขึ้นไปทำการบิน พอเดินเข้าไปใกล้เครื่องจึงได้ทราบว่านักบินผู้นั้นคือเสนาธิการทหารอากาศ และเสื้อที่ข้าพเจ้าเห็นแต่ไกลว่าเป็นเสื้อสีเนื้อนั้น ความจริงไม่ใช่เสื้อ  แต่เป็นเนื้อจริง ๆ เสนาธิการมิได้สวมเสื้ออะไรเลย บินไปด้วยตัวล่อนจ้อนเช่นนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ถามท่านว่า ท่านไม่หนาวดอกหรือ ท่านบอกว่า หนาวก็ต้องทน เพราะท่านจะไปนอกในวันสองวันนี้ ทราบว่าอากาศทางเมืองนอกหนาวมาก ดังนั้นท่านจึงทดลองทำการบินขึ้นไปสูงถึง ๓,๐๐๐ เมตร เพื่อทดลองความต้านทานของร่างกายของท่าน เพราะอากาศในขณะที่บินอยู่สูง ๓,๐๐๐ เมตรนั้นหนาวมาก และเครื่องบินสมัยนั้นเราทำการบินโดยไม่ปิดประทุน ท่านลงจากเครื่องบินน้ำมูกน้ำตาไหล เพราะหนาวมาก เรียกบรั่นดีมาแก้หนาวแล้วก็เดินกลับบ้าน

นี่แหละข้าพเจ้าจึงได้กล่้าวไว้แล้วว่า ท่านเป็นมนุษย์เหล็กจริง ๆ ....

คราวหนึ่งมีจ่าคนหนึ่งนำหมู่แล้วบินต่ำ พาลูกหมู่ขนดินตาย ตัวเองบาดเจ็บสาหัส ท่านไปเยี่ยมและด้วยความเสียดายเครื่องบินซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น ท่านก็บอกว่าบินเสียวินัยอย่างนี้แล้วทำให้คนอื่นตาย และของหลวงเสียหาย ควรจะยิงตัวตายเสียดีกว่าอยู่ จ่าผู้นั้นก็มิได้โต้ตอบประการใดเพราะผิดไปแล้ว ได้แต่ยกมือไหว้ท่านประหลก ๆ  ต่อมาไม่นานมีเหตุร้ายเกิดแก่ตัวท่านเอง โดยขณะที่ท่านทำการบินเครื่องมาร์ตินบอมเบอร์ ท่านได้นำเครื่องลงนอกสนาม เพราะเครื่องยนต์ดับปรากฏว่าเครื่องบินเครื่องนั้นเสียหายใช้การไม่ได้ ตัวท่านบาดเจ็บเล็กน้อย หมอพาไปตรวจที่ห้องพยาบาล เผอิญไปนอนอยู่ใกล้จ่าผู้นั้น จ่าทราบเรื่องเกี่ยวกับท่านนำเครื่องบินลงนอกสนาม ทำให้เครื่องเสียหาย จ่าคนนั้นก็บอกกับท่านว่า

"เสนาธิการครับ ปืนของผมได้เตรียมมาแล้วตามที่เสนาธิการได้สั่งเอาไว้ จะเอาไปใช้ก่อนก็ได้ครับ"


 ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 10 ส.ค. 10, 14:42

^
^
ถ้าไม่ติดว่าอยู่ในห้องเรียนละก็ อยากจะกรี๊ดให้กับจ่าท่านนี้เหลือเกินค่ะ ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 20 คำสั่ง