เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160154 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 22:39

ตอนที่จอมพลป.ถูกจับตัวไว้ในเรือรบศรีอยุธยา   ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลก็ว่างลงชั่วขณะ   พันเอกนายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม)  ตกลงกันว่าจะไม่ยอมพวกกบฏ   จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ
ผู้บัญชาการกองทัพบก คือจอมพลผิน ชุณหะวัน  ส่วนผู้บัญชาการกองทัพอากาศคือจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี

นายวรการบัญชาเป็นใคร  คำว่าวรการบัญชาเป็นราชทินนาม  เขียนติดกันนะคะ

นามเดิมคือ บุญเกิด สุตันตานนท์ เป็นคนเชียงใหม่ แต่มาศึกษาต่อที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพมหานคร มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสอบไล่ได้ที่ 3 เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 ขณะอายุ 15 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เบิกตัวเข้าเฝ้าฯ และมีพระกระแสรับสั่งแต่งตั้งให้เป็น "นายรองสนิท" ตำแหน่งมหาดเล็กห้องที่พระบรรทม เมื่อปี พ.ศ. 2463 โดยทรงมอบหมายให้อยู่ในความอุปการะอบรมเลี้ยงดูและเป็นบุตรบุญธรรมของพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ต่อมามีพระราชดำริให้ส่งตัวไปศึกษาวิชาแพทย์ที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนส่วนพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2464 ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 พันเอก นายวรการบัญชา จึงเดินทางกลับมาภูมิลำเนาเดิมพักอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

เมื่อกลับมาอยู่เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากพระพิจิตรโอสถผู้เป็นบิดาให้ดูแลไร่นาและเก็บผลประโยชน์ที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างนั้นได้ศึกษากฎหมายจนจบเนติบัณฑิต ด้านชื่อเสียงในสังคมได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2479 - พ.ศ. 2480 ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายหลายสมัย   
เข้าร่วมตำแหน่งสำคัญ ในคณะรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่น รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีสั่งการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและเคยเป็นประธานวุฒิสภาอีกด้วย

ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๗
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 06:54

ไม่เข้าห้องเรียนแป๊บเดียว เปิดห้องใหม่แล้ว รีบตามมาลงทะเบียนก่อนเลยค่ะ
ขออนุญาตไปทบทวนบทเรียนหน้าแรกๆก่อนนะคะ  ยิ้มกว้างๆ ห้องเรียนห้องนี้ไปเร็วมากเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 10:58

นักเรียนมาสาย....กราบขออภัยอาจารย์ทุกท่านด้วยครับ แหะ แหะ.....

อ่านจบแล้วบู๊ดุเดือดอย่างกับหนังฮอลลีวูดเลยครับเนี่ย.....ถล่มกันอย่างไม่สนใจตัวประกันเลยทีเดียว....

นี่ถ้าท่านจอมพลท่านดวงเเข็งน้อยกว่านี้นิดหน่อย....ไม่มีโอกาสกลับมาจาก ร.ล.ศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์คงได้จารึกท่านไปอีกแบบ....และคงไม่ต้องมีเคราะห์กรรมต้องจากบ้านไปถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองนอก...

อ่านมาแล้วเห็นสัจธรรมของผู้มีบุญทั้งหลาย พอมีอำนาจวาสนาเขาก็ยกย่องเชิดชู ครั้นพอถึงทางลงถ้าไม่เตรียมทางลงของตนเองให้ดีก็คงต้องเตรียมตัวถูกผู้อื่นส่งลงให้.....ซึ่งมักจะเป็นไปในทางหงายท้องหงายไส้กลิ้งโค่โล่ไม่เป็นท่าลงมาเสียมากกว่า.....

น่าแปลกที่ตัวอย่างก็มีให้เห็นหลายต่อหลายท่าน....แต่ผู้ที่มีโอกาสได้รับอำนาจในรุ่นต่อๆมาพอได้รับอำนาจแล้วก็มักลืมสัจธรรมในข้อนี้....

หรือว่าจะเป็นอย่างที่ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวไว้ ว่าอำนาจนั้นก็เหมือนยาเสพติด.....พอลงได้รับเข้าไปแล้วก็เลิกไม่ได้ หากแต่ต้องการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา...

ยังคงติดตามต่อและขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งหลายด้วยครับ..... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 11:39

มาสายไม่เป็นไรค่ะ   นักเรียนวิ่งไล่กวดวิชาดีๆ เดี๋ยวก็ทัน
ชีวิตผู้มีอำนาจวาสนาก็เหมือนเครื่องบิน   มันยากตอนขึ้นกับตอนลง   แต่พอไต่ระดับสูงสุดแล้วก็สบายอยู่บนนั้น   จนลืมไปว่าเครื่องบินต้องร่อนลงจอดในวันหนึ่ง   พอถึงเวลาต้องฝืนใจแลนดิ้ง ถึงมักจะชนรันเวย์พังพินาศกันเป็นประจำ  แต่ถ้านักบินตั้งใจบินลงอย่างระมัดระวัง ก็ปลอดภัย
ก็อย่างว่าละค่ะ  ขึ้นหลังเสือแล้วมันลงยาก  
คนที่รู้จักลงคือคนที่รู้จักคำว่า "พอแล้ว"   อย่างตอนป๋าเปรมเป็นนายกฯ ๘ ปี  ท่านก็ตอบคนไปเชิญด้วยคำนี้   จากนั้นท่านก็ได้เป็นองคมนตรีและรัฐบุรุษ
**********************
มีข้อสังเกต ๒ อย่าง คือ
๑  การวางแผนของน.ต.มนัส จารุภา รั่วไหลก่อนถึงวันจริง    เห็นได้จากจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือแมนฮัตตัน  แต่นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับสั่งการของรัฐบาลไม่ได้เข้าร่วมในงานนี้ และได้เตรียมการรับสถานการณ์ไว้แล้วอย่างเงียบๆ
๒  เชื่อว่า น.ต.มนัส ไม่ได้วางแผนเองกับเพื่อนๆระดับนายพันด้วยกันทั้งทัพเรือและทัพบกเท่านั้น   น่าจะมีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังด้วย  มีทหารหนุ่มเป็นหน่วยจู่โจม   แต่เมื่อล้มเหลว  น.ต.มนัสไม่ยอมซัดทอดใคร  คงเก็บเป็นความลับไว้ตลอดกาล

มาขยายเรื่องต่อ อาจจะซ้ำกับที่คุณนวรัตนเล่าไว้บ้างก็กรุณาอย่าถือสาว่าซ้ำซาก  ถือว่าติวเข้มก็แล้วกัน

คณะรัฐมนตรีเล่นบทแข็งกร้าวกับฝ่ายกบฏ  ไม่สนใจความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้เห็นว่าขณะนั้นจอมพลป.ไม่มีอำนาจมากเท่าเมื่อครั้งก่อนสงครามโลก     คณะรัฐประหารเชิญจอมพลป.ขึ้นเป็นนายกฯ ก็เพราะบารมีเก่าส่วนหนึ่ง และไม่อยากเสียภาพลักษณ์ว่าตัวเองยึดอำนาจเพื่อจะเอามากินเสียเอง    แต่ถ้าจะเกิดอะไรกับท่านนายกฯ ก็คงถือว่าช่วยไม่ได้  มันสุดวิสัยเอง
เพราะเหตุนี้ กองทัพอากาศจึงได้รับคำสั่งให้เล่นบทเฉียบขาด   แม่ทัพอากาศสั่งให้เครื่องบินทิ้งระเบิดบอมบ์ร.ล.ศรีอยุธยา ไม่อั้น จนกระทั่งจมลงก้นแม่น้ำ
แต่ความพยายามของมนุษย์หรือจะสู้ฟ้าลิขิต   จอมพลป. สวมชูชีพลอยคอว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้    ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับก็คงเล็กน้อย    เมื่อนึกที่บรรยายว่าระเบิดตรงดิ่งลงมาที่ห้องขัง ทะลุลงไประเบิดห้องข้างล่างโดยท่านไม่เป็นอะไรเลย      ท่านก็น่าจะดวงแข็งกว่าแรมโบ้

รายละเอียดของการบอนไซกองทัพเรือ หลังจากกบฏแมนฮัตตันจบลง คือ...

นายทหารหลักของกองทัพเรือ รวมทั้ง ผบ.ทร. ถูกปลดประจำการประมาณ ๗๐ นาย สถานที่ราชการสำคัญ ๆของกองทัพเรือในกรุงเทพถูกยึด กรมนาวิกโยธินถูกยุบ กองบินทหารเรือถูกโอนให้กับกองทัพอากาศ กองทัพเรือต้องสูญเสีย เรือธง อย่าง ร.ล.ศรีอยุธยา และ ร.ล.คำรณสินธุ ซึ่งจมจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินของกองทัพอากาศ
ส่วนกองทัพอากาศได้ความดีความชอบ และเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองการปกครองนับแต่นั้น จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖

ผลข้างเคียงจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เจอข้อหาให้ความร่วมมือกับฝ่ายกบฏ  รัฐบาลจอมพล ป. จึงส่งทหารเข้ายึดมหาวิทยาลัย มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง และปิดมหาวิทยาลัย
คณะกรรมการนักศึกษาขณะนั้น ได้ช่วยกันผลักดันให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนชั่วคราว โดยไปยืมสถานที่ของเนติบัณฑิตยสภาและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาฯ มาใช้แทน ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทของคณะต่างๆ อย่างคณะพาณิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์  นักศึกษาเหลืองแดงต้องร่อนเร่ไปหาห้องเรียนชั่วคราว  ในช่วงเย็นนักศึกษาต้องอาศัยเพียงแสงจากตะเกียงเรียนหนังสือกันด้วยความยากลำบาก

"การเดินขบวน" กลายเป็นประเพณีทางการเมือง นักศึกษาธรรมศาสตร์ 3,000 คนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 ภายใต้คำขวัญ "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย" ในที่สุดรัฐบาลทหารก็ยอมคืนมหาวิทยาลัยในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เรียกว่าวัน "ธรรมศาสตร์สามัคคี"

นักศึกษาเดินขบวนครั้งใหญ่อีกครั้งในพ.ศ. 2500 หลังการเลือกตั้งที่เรียกว่า "การเลือกตั้งสกปรก"  เริ่มโดยนิสิตจุฬาฯ เดินขบวนไปถึงสะพานมัฆวาน   สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดวีรบุรุษคนใหม่ขึ้นมา  และร.อ.หนุ่มอีกคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในกองทัพไทยยุคหลังจากนั้น

ฉายหนังตัวอย่างแค่นี้ก่อน   รอท่านกูรูใหญ่กว่านำทั้งม้วนมาฉายเองค่ะ
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 15:29

มาลงชื่อว่ายังตามอ่านอยู่เสมอค่ะ ขนาดที่ว่าทำงานไปซุกชั่วโมงก็ต้องแอบเปิดเข้ามาดูว่ามีเลคเชอร์เพิ่มหรือเปล่า

ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยค่ะ  อายจัง
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 17:46


นักศึกษาเดินขบวนครั้งใหญ่อีกครั้งในพ.ศ. 2500 หลังการเลือกตั้งที่เรียกว่า "การเลือกตั้งสกปรก"  เริ่มโดยนิสิตจุฬาฯ เดินขบวนไปถึงสะพานมัฆวาน   สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดวีรบุรุษคนใหม่ขึ้นมา  และร.อ.หนุ่มอีกคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในกองทัพไทยยุคหลังจากนั้น

ฉายหนังตัวอย่างแค่นี้ก่อน   รอท่านกูรูใหญ่กว่านำทั้งม้วนมาฉายเองค่ะ

รออย่างใจจดใจจ่อ ว่าอาจารย์ท่านไหน จะมาเฉลย  ยิ้มกว้างๆ

ทำงานไปด้วย แอบเข้าห้องเรียนไปด้วยเหมือนกันเลยค่ะ แต่แอบเข้าห้องเรียนซะทุกวัน
ดีแต่ว่าเพื่อนร่วมงานอ่านภาษาไทยไม่ได้ อิอิอิ โชคดีไปค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 21:37

เล่าถึงน.ต.มนัส จารุภา ไปพลางๆ ไม่ให้กระทู้หยุดนิ่ง
น.ต.มนัสไม่ใช่คนเล็กคนน้อย    เป็นบุตรของพลเรือตรีพระยาปรีชาชลยุทธ( วัน จารุภา) อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ   พระยาปรีชาฯเป็นหนึ่งใน"คณะกรรมการราษฎร" เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475
คณะกรรมการราษฎรก็คือคณะรัฐมนตรีนั่นเอง    ต่อมาท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรี ในชุดของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา  ต่อมาก็ลาออกในพ.ศ. 2476
เป็นอันว่า น.ต.มนัสที่จี้จอมพลป. เป็นบุตรชายของนายทหารใหญ่ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากับจอมพล ป.นั่นเอง

มีเหตุการณ์เล็กๆที่น่าสะเทือนใจ   ในกบฏแมนฮัตตันนี้  ขอลอกมาลงให้อ่านกันค่ะ
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำซากในสงครามกลางเมืองของไทย ทุกครั้ง  จะเรียกว่ารัฐประหาร  กบฏ  เดินขบวนต่อต้าน หรืออะไรก็ตาม
เมื่อยังมีการปะทะระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน    ก็จะมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอ  โดยไม่มีใครเหลียวแล หรือพยายามจะหาทางระงับมิให้เกิดขึ้นแต่แรก

http://aryaforum.freeforums.org/topic-t117.html

ผมไปพบบันทึกของ จ.อ.นิยม สุขรองแพ่ง บันทึกไว้ถึงเหตุการณ์ที่กองเรือรบท่านได้กล่าวถึงศพทหารเรือผู้หนึ่ง ที่นอนตายบนพื้นสนาม หน้ากองเรือรบไว้อย่างน่าสะเทือนใจ ผมขออนุญาตคัดลอกมาเสนอนะครับ

" เขาจะรู้ตัวหรือเปล่าว่า เขาตายในฐานะอย่างไร ?
วีรบุรุษ หรืออาชญากร ? แต่ไม่ว่าเขาจะตายในฐานะอะไร
พรุ่งนี้เช้า ศพของเขาจะซีดและเขียว เลือดจะแข็งและกลายเป็นสีดำ

ร่างที่นอนตายอยู่นี้ ดูราวกับจะดูดเอาชีวิตของเพื่อนที่ยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ให้หมดไปด้วย

ห่อผ้าเล็กๆ กับถุงกระดาษ ที่วางอยู่ชิดกำแพง ไม่ห่างจากศพมากนัก
เมื่อแก้ห่อออกดู...พานธุปแพเทียนแพสำหรับลาบวช !
ส่วนในถุงกระดาษ เป็นการ์ดลาบวชของผู้ตาย และบัตรประจำตัว
ระบุชื่อ นามสกุล และสังกัด

...จ่าโท สุมน ผลาสินธุ์ ขอกราบลาอุปสมบท ณ พัทธสีมา
วัดหงส์รัตนาราม อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี ในวันที่
๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ
...ข้าพเจ้าขออโหสิกรรม....."
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 22:18

หลังจากกบฏแมนฮันตันมีการปลดประจำการของทหารเรือจำนวนมาก ลุงข้างบ้านผมก็เป็นหนึ่งในทหารกลุ่มนั้น หลังออกจากราชการลุงแกก็มาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ วัดดงมูลเหล็ก ที่สามแยกไฟฉาย และลูกหลานของลุงแกก็แยกย้ายสาขาไปขายอยู่ทั่วกรุงเทพ เคยถามคนขายแถวๆพระราม 7ว่ามีรูปลุงแกใส่ชุดทหารเรือ ยศจ่าเอก หรือเปล่า คุยจนรู้ว่าบ้านอยู่แถวเดียวกันมาก่อน หากไม่มีกบฎแมนฮัตตั้น เราอาจไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยนี้ก็ได้นะครับ แลบลิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 02 ส.ค. 10, 22:42

คุณลุงข้างบ้านของคุณณัฐดลยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าคะ    ถ้ายังมี คุณณัฐดลลองไปชวนคุยเรื่องบรรยากาศของกบฏแมนฮัตตันดูบ้างไหม เผื่อจะมาเล่าให้ชาวเรือนไทยฟัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 03 ส.ค. 10, 13:24

ความผิดพลาดของกบฏแมนฮัตตันอยู่ตรงไหน  ชาวเรือนไทยที่อ่านบันทึกของน.ต.มนัส จารุภาคงอ่านพบแล้วบ้างไม่มากก็น้อย   แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายๆก็ขอสรุปเป็นข้อๆ ตามนี้

๑  อย่างแรกคือแผนผิดนัดหมาย ผิดกำหนดหลายครั้ง    เรียกว่านัดแล้วไม่เป็นนัด  หรือทำไม่ได้ตามกำหนดไว้   ทหารที่ร่วมก่อการก็ท้อใจกับเรื่องนี้จนถอนตัวกันออกไปหลายราย    ก็เหลือแต่กลุ่มลงมือปฏิบัติการที่กัดฟันสู้ตามแผนต่อไป 
    น.ต.มนัสระบุไว้ชัดเจนว่านายทหารที่ไม่สามารถทำได้ตามแผน คือน.ต.ประกาย พุทธารี แห่งกองพันนาวิกโยธิน   ซึ่งตอนวางแผนก็ไม่รู้ว่าจะขลุกขลักกันขนาดนี้   แต่พอเอาเข้าจริง  น.ต.ประกายเอากำลังทหารนาวิกโยธินออกมาร่วมรบไม่ได้
     เมื่อน.ต.มนัส จี้ตัวจอมพลป.ได้แล้ว   นำเรือรบหลวงศรีอยุธยาล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาถึงบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าสู่สะพานพระพุทธ ก็เจอตอเข้าอย่างจังเมื่อสะพานพุทธฯ ไม่เปิด   เหตุผลคือกองพันนาวิกโยธินที่ ๔ และกองกำลังต่อสู้อากาศยานที่จะมาควบคุมสะพาน เกิดมาไม่ได้  เรือศรีอยุธยาจึงเหมือนติดกับ  ดิ้นไม่หลุดอยู่ตรงนั้น
   น.ต. ประกาย แจ้งข่าวว่า ไม่สามารถนำกองพันนาวิกโยธินที่ ๕ ออกมาจากที่ตั้งได้ เนื่องจากว่า น.อ.สุ่น มาศยากุล ผู้บังคับกองพัน ไม่ยอมให้นำกำลังออกมาใช้ และขู่ว่าหาก น.ต.ประกาย ฝ่าฝืนก็จะยิงทิ้งเสีย
   ก็ไม่รู้ว่าตอนวางแผนกัน  ทำไมมองข้ามคนคุมกำลังอย่างผู้บังคับกองพันนาวิกโยธิน  ในเมื่อไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ร่วมมือด้วยแต่แรก   แล้วจะหาทางพากองพันออกมารบได้ยังไง    แล้วทำไมตอนวางแผน น.ต.ประกายถึงเชื่อมั่นตัวเองเอาง่ายๆว่าจะพาทหารออกมาได้แต่แรกโดยไม่ผ่านผู้บังคับกองพัน    ตรงนี้ก็มีอะไรแปลกๆอยู่เหมือนกัน 

๒    นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ ไม่ได้ร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับทหารหนุ่มกลุ่มนี้
        น.ต.มนัส จารุภา เขียนบันทึกไว้ว่า
        "ข้าพเจ้าเดินเข้าไปทางช่องทางเดินด้านขวาของฉากไม้ ทันใดก็เห็นท่านผู้บัญชาการนั่งอยู่ที่โต๊ะประชุม มีนายทหารชั้นนายพลเรือนั่งอยู่แน่นขนัด ทุกๆท่านมองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาที่เกือบจะเป็นอันเดียวกัน
        ข้าพเจ้าเดินไปที่ริมผนังห้องปลดปืนกลมือออกมาจากไหล่ เอาปืนพกออกจากเอววางกับพื้นห้อง...ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อท่านผู้ใหญ่ แล้วสาวเท้าเข้าไปกระทำความเคารพและรายงานว่า ข้าพเจ้ามาแทน น.อ.อานนท์ ท่านผู้บัญชาการรับการเคารพ แล้วถามว่าเหตุการณ์ทางฝั่งพระนครเป็นยังไง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เรียนไปตามตรง.....
         ท่านผู้บัญชาการบอกกับข้าพเจ้าว่า มีกำลังทหารบกเคลื่อนมาตามเส้นทางกรุงเทพฯ - นครปฐม ท่านได้ส่งกำลังทหารนาวิกโยธินส่วนหนึ่งไปตรึงไว้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า กำลังทหารบกนั้นมาจากจังหวัดเพชรบุรี และราชบุรี เป็นฝ่ายเดียวกับข้าพเจ้า กำลังเคลื่อนกำลังเข้ามาสมทบ ขอให้ท่านกรุณาสั่งการถอนกำลังทหารนาวิกโยธินกลับไปเสีย ท่านผู้บัญชาการรับฟังแล้วก็นิ่ง
          สุดท้ายท่านถามขึ้นว่า ทำไม ? ข้าพเจ้าจึงเรียนให้ท่านทราบว่า พวกข้าพเจ้าไม่พอใจในความเหลวแหลกของคณะรัฐบาลที่เป็นอยู่ขณะนี้ ต้องการให้มีการปรับปรุงคณะรัฐบาล.....
           ในข้อเขียนอันเดียวกันนี้ยังได้อธิบายต่อไปว่า ผบ.ทร. ได้สั่งให้ น.ต.มนัส ออกไปคอยนอกห้อง สักครู่ท่านก็เดินตามออกมา น.ต. มนัส จึงขอกำลังจากท่านเพื่อไปยึดเอาโรงไฟฟ้าคืน และเพื่อ เปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯให้ ร.ล.ศรีอยุธยา แล่นผ่านออกไป แต่ ผบ.ทร.ให้ไปตกลงกับ พล.ร.ต. กนก นพคุณ ผบ.มณฑล ทร.๑ เอาเอง      
      น.ต.มนัส จึงทำความเคารพ และกลับออกมา รีบมุ่งไปที่ท่าช้าง ราชนาวิกสภา ตรงไป บก.มณฑล ทร.๑ เข้าพบกับ พล.ร.ต.กนก นพคุณ แจ้งความประสงค์ให้ทราบ ซึ่ง น.ต.มนัส ก็ได้บรรยายไว้ในหนังสือว่า ผบ.มณฑล ทร.๑ ตอบปฏิเสธ ไม่สามารถจัดกำลังคนให้ตามที่ข้าพเจ้าขอ ข้าพเจ้าก็เรียนท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าไม่มีกำลังทหารพอ ก็ขอแต่เรื่องอาวุธแล้วไปจัดหากำลังทหารเอาเอง ท่าน ผบ.มณฑล ทร.๑ ก็คงยืนกรานปฏิเสธ......


           ข้อความสีแดง   บอกให้รู้ว่าทั้งผบ.ทร. และผบ.มณฑล ทร. ๑ ไม่เอาด้วยกับกบฏครั้งนี้      เมื่อไม่เอาด้วย ทหารเรือที่ลงมือก็ต้องแพ้ไปตามระเบียบ    ในตอนหลังก็อ่านพบว่าท่านผบ.ทร. เองก็เสียใจที่ไม่เอาด้วยเสียแต่แรกเพราะเห็นแก่ความเป็นเพื่อนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันกับจอมพล ป.   เพราะผลจากการไม่เอาด้วย  แทนที่จอมพลป.จะเห็นแก่กองทัพเรือ    พออกพอใจว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย   กลับบอนไซทั้งกองทัพไปเสียเลย
           ผลจากนั้นกองทัพเรือก็เหมือนถูกสาปให้หายไปจากการเมืองไทย   เพิ่งมาผงาดขึ้นในช่วงสั้นๆอีกครั้งตอนพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ปฎิรูปการปกครอง ในพ.ศ. 2519     ตอนนั้นลูกดอกประดู่ขึ้นจากน้ำ  มาเข้าเวรถือปืนเฝ้าสถานที่สำคัญๆ ตามถนนหนทางอยู่ทั่วกรุงเทพ 
     แต่เหตุการณ์นี้ ล่วงเลยจอมพลป.ไปไกลแล้วค่ะ   จะเล่าก็สับสนเปล่าๆ  เอาเป็นว่าแล้วแต่ความกรุณาของท่านกูรูใหญ่กว่า  ในอนาคตอันไกลละกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 03 ส.ค. 10, 15:17

ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า   ระบุชื่อหัวหน้ากบฏไว้ว่า พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ  นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน   ถ้าเป็นจริงก็หมายความว่านายทหารเรือชั้นผู้่ใหญ่ที่น.ต.มนัส จารุภาไปพบ  ไม่เอาด้วยกับพลร.ต. ทหาร    จะเป็นเพราะไม่เห็นด้วยแต่แรก   หรือว่ามาเปลี่ยนใจทีหลัง  ก็ไม่มีใครทราบได้   
ก็น่าแปลกว่า นายพลนอกราชการซึ่งย่อมไม่มีกำลังทหารอยู่ในมือ    ซ้ำไม่ได้รับความร่วมมือจากนายพลในราชการ  แต่ก็กล้าทำถึงขนาดนี้  แต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม  ผลคือนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ถูกปลด  ถ้าไม่ปลดก็ถูกส่งตัวเข้ากรุกันระนาว
เช่น พลเรือเอก สินธ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) รองผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร รองผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี กนก นพคุณ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ 1 พลเรือตรี ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พลเรือตรี ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ และ พลเรือตรี สงวน รุจิราภา นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ
ส่วนผู้ถูกปลดออกจากราชการ คือผู้ปฏิบัติการ  นาวาเอก อานนท์ บุณฑริกาภา และนาวาตรี มนัส จารุภา นอกจากนี้ ยังมีนายทหารเรืออีกประมาณ 70 นายถูกปลดออก
เมื่อเทียบกัน โทษเบากว่าปี 2482  คือไม่มีใครถูกประหารชีวิต    เมื่อเทียบกับโทษที่พี่ภรรยาของพระยาทรงสุรเดชเจอ คือแค่ขึ้นเหนือไปของานทำจากน้องภรรยา   ก็โดนถึงประหาร    ถือว่านายทหารเรือหนุ่มกลุ่มนี้ยังโชคดีกว่ามาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 03 ส.ค. 10, 15:25

การทิ้งระเบิดและยิงถล่มกันไม่ยั้ง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับทหารเรือ   ทางผู้ปฏิบัติการก็ยิงฝั่งเจ้าพระยาหนักหนาเอาการ    ชาวบ้านบาดเจ็บและล้มตายกันไปมาก  ประชาชนเสียชีวิต 118 คน บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส 191 คน พิการ 9 คน ทหารเรือเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 115 นาย และตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 38 นาย
ทางราชการได้แถลงว่าทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหายมีจำนวนถึง 670,000 บาท ไม่นับทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวายและค่าทำศพของราษฎรอีกเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลจ่ายให้แก่ผู้เสียชีวิตคนละ 1,500 บาท ผู้ทุพพลภาพคนละ 1,200 บาท และผู้บาดเจ็บสาหัสคนละ 400 บาท ทางด้านความสูญเสียและความเสียหาย กองทัพบกเสียหายประมาณ 6,000,000 บาท กองทัพเรือเสียหายมากที่สุด เป็นทรัพย์สินประมาณ 5,000,000 บาท
ห้าล้านบาท ไม่นับรวมมูลค่าเสียหายของเรือหลวงศรีอยุธยาและเรือคำรณสินธ์ที่อับปางลง เรือหลวงศรีอยุธยานั้นเป็นเรือรบที่เรียกว่าเรือปืนหนัก เป็นเรือที่สั่งต่อพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น เรือคำรณสินธ์เป็นเรือขนาดเล็ก นอกจากนี้ กรมอู่ทหารเรือยังถูกไฟไหม้วอด มีเชื้อเพลิงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญหายอีกจำนวนมาก
เหล่าที่สูญเสียน้อยที่สุดคงเป็นกองทัพอากาศ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็น “ อัศวินขี่ม้าขาว ” ที่ทำให้กบฏครั้งนี้จบลงเร็วขึ้น ส่วนกรมตำรวจเสียหายประมาณ 380,000 บาท
งบประมาณที่ใช้ปราบกบฏมีมูลค่าเป็นเงินทั้งหมด 15 ล้านบาท   ในพ.ศ. 2494 ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่   สมัยนี้เห็นจะต้องเอา 100 หรือใกล้ๆ 100 คูณเข้าไป



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 03 ส.ค. 10, 16:43

มีผู้ทำนายดวงของบ้านเมืองขณะนั้นไว้ว่า ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2492 - เดือนตุลาคม พ.ศ.2494 เป็นช่วงเวลาที่ดาวเสาร์ได้โคจรเข้าไปทำมุม 90 องศากับดาวเสาร์เดิม เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเสื่อมโทรม ผู้บริหารของประเทศมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชั่น
จนกระทั่งคณะทหารเรือกลุ่มหนึ่งทนดูต่อไปไม่ได้ จึงทำการปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จครั้งนี้
(โดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ จาก http://www.dabos.or.th/pr24.html )

สงสัยดาวเสาร์ไม่ค่อยขยับมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 00:44

จากภาคขยายในเรื่องของกบฏแมนฮัตตั้น จะเห็นว่าความไม่พอใจของคณะผู้ก่อการกบฏพุ่งเป้าไปในเรื่องของการคอร์รัปชั่น แม้จะไม่ได้ระบุลงไปชัดว่าใคร ทำอะไร อย่างไร เราก็พอจะค้นหากันเองได้

ตอนที่พลโทผิน ชุณหวันปฏิวัติรัฐประหารเสร็จถึงกับร้องไห้ในระหว่างการแถลงข่าวว่าไม่สามารถทนเห็นการโกงกินที่เกิดขึ้นในวงการรัฐบาลพล.ร.ต.ธำรงได้ คนใกล้ชิดค.ร.ม.จากที่กระจอกๆก็ร่ำรวยกันใหญ่ ส่วนตนนั้นขนาดเป็นนายพลยังยากจน กางเกงที่นุ่งอยู่ก็เก่า ขาดแล้วก็ยังต้องปะใช้อยู่  บ้านก็ต้องอาศัยหลวง แต่ตอนที่ได้เลื่อนเป็นจอมพลผินแล้วก็ฐานะอื่นๆท่านผู้นี้ก็ดีขึ้นมากมาย เป็นปฐมบุรุษของนักการเมืองกลุ่มซอยราชครูที่ช่วงหลัง สามารถลงทุนส่งคนในค่ายขึ้นไปชิงแชมป์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้หนึ่งคนคือ พลเอกชาติชาย ชุณหวัน ก่อนหน้านั้นมีเหมือนกันที่คั่วตำแหน่งรองนายกอยู่หลายสมัย คือ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ลูกเขยจอมพลผิน แต่ไม่มีวาสนาได้เป็นนายกเพราะเสียเชิงมวยในค่ายให้นายบรรหาร หลงจู้จากสุพรรณ มาซิวตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยที่กลุ่มราชครูสร้างมากับมือไปครองเสียก่อนอย่างน่าเจ็บใจ

กลุ่มราชครู ถือกำเนิดได้จากการกุมอำนาจในกองทัพของจอมพลผิน  ภายหลังการทำรัฐประหาร 2490 ตอนแรกรู้จักกันในนามของกลุ่มผิน-เผ่า (ผิน ชุณหะวัณพ่อตา และเผ่า ศรียานนท์ ลูกเขย) เริ่มด้วยการกำจัดกลุ่มปรีดีออกไปจากคณะกรรมการบริหารบริษัทข้าวไทย ตอนนั้นการใช้หนี้สงครามให้พันธมิตรด้วยข้าวได้จบสิ้นไปแล้ว เศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นโดยอัตโนมัติ ไทยเริ่มส่งออกข้าวได้ตามปกติ แต่ใครจะส่งออกข้าวได้ก็ต้องมีโควต้า พ่อค้าจีนต่างก็วิ่งเต้นตีนขวิดเพื่อให้ได้โควต้าในการส่งออกให้มากที่สุด สมัยนั้นรัฐก็กดราคาข้าวที่ชาวนาพึงจะขายได้ด้วยการตั้งภาษีขาออก เรียกว่าค่าพรีเมี่ยมข้าว ทำให้ราคาข้าวที่ชาวนาได้รับต่ำกว่าราคาข้าวที่ส่งออกไปตลาดโลกมากมาย คนฮ่องกงต้องซื้อข้าวไทยในราคาแพงลิบ เป็นเศรษฐีจึงจะกินได้ แต่ชาวนาไทยก็ยังยากจนค่นแค้นใส่กางเกงตูดปะยิ่งกว่าตัวที่พล.ท.ผินยังโยนทิ้งอย่างไม่ใยดีเสียอีก คนไทยที่รวยก็คือพ่อค้า ตั้งแต่คนกลางยี่ปั้ว ซาปั๊ว ที่รวมข้าวมาให้พ่อค่าส่งออก และคนอนุมัติโควต้าว่าเจ้าโน้นส่งได้เท่านั้นตัน คนนี้ส่งได้เท่านี้ตัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 00:48

นอกจากเรื่องข้าว ก็เข้าไปในไทยนิยมพาณิชย์ที่เป็นห้างสรรพสินค้าของรัฐบาล เดิมตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายว่าจะหาสินค้าราคาถูกจากผู้ผลิตมาขายให้ผู้บริโภคในราคายุติธรรม ร้านค้าของไทยนิยมแน่นขนัดเพราะขายถูกกว่าอาเฮียจริงๆ แต่ต่อมาก็เจ้งไปตามที่อาเฮียทั้งหลายคาดไว้ไม่ผิด เพราะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจำนวนมหึมาจนทำให้ขาดทุนยับเยิน

ส่วนในรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ก็แต่งตั้งคนในคาถาเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการ ที่ไหนมีแนวโน้มดีก็ตั้งธุรกิจในตระกูลมาร่วมผลประโยชน์ หรืออาศัยอภิสิทธิ์แห่งรัฐ ในการดำเนินธุรกิจลักษณะผูกขาด   ไม่นานกลุ่มราชครูก็ตั้งบริษัทการค้าใหม่ๆ อีกหลายแห่งมีที่ทำธุรกิจส่งออกข้าวแทนบริษัทข้าวไทย ก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าขึ้นอื่นๆมาแทนที่บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ นอกจากนั้นยังเข้าร่วมดำเนินงานในธนาคารสองแห่ง คือ ธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เคยเป็นของกลุ่มนายปรีดีเสียเอง

แต่แล้วธุรกิจของกลุ่มผิน-เผ่าแห่งซอยราชครูก็สับหลีกกลุ่มสี่เสาไปไม่พ้น ธุรกิจกลุ่มสี่เสาเป็นของจอมพลสฤษดิ์ ไม่เกี่ยวกับบ้านสี่เสาหรือท่านที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นแต่ประการใด

ในป.2 เทอมแรก การใช้นโยบายแอบแฝงผลประโยชน์ของคนในรัฐบาลที่น.ต.มนัสทนไม่ได้ เอามายกเป็นข้ออ้างเพื่อก่อการกบฏนั้น ธุรกิจของทั้งสองกลุ่มเพิ่งจะเริ่มต้นเบาะๆด้วยซ้ำ ครั้นพอเข้าเทอมปลายทั้งสองกลุ่มขยายกิจการซ้อนทับกันมากขึ้น ทำให้เสถียรภาพของจอมพลป.สั่นคลอนไปด้วย เพราะนั่งร้านชักไม่สามัคคีกันเสียแล้ว


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง