เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160612 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:34

ผู้นำสำคัญในการก่อการกบฏคือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย โดยหารู้ไม่ว่าข่าวการรัฐประหารนั้นรั่วไหลไปถึงหูรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถึงกำหนด คงมีแต่จอมพล ป. ยังคงมาเป็นประธานในพิธี แต่นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับสั่งการของรัฐบาลไม่ปรากฏตัวในงานนี้ แต่ได้เตรียมการรับสถานการณ์ไว้แล้วอย่างเงียบๆ

ปฏิบัติการในวันนั้นอุบัติขึ้นภายหลังจากพีธีรับมอบเรือเรียบร้อย จอมพล ป. ก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปชมเรือแมนฮัตตัน เมื่อขึ้นไปแล้ว น.ต.มนัส ก็ถือปืนกลมือ นำทหารเรือกลุ่มหนึ่งวิ่งขึ้นไปถึงตัวจอมพล ป. และบังคับให้ไปลงเรือเปิดหัว วิ่งไปยังเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นจอดลอยลำอยู่ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางการตกตลึงของบรรดาทูตานุทูตและผู้เข้าร่วมพิธี ผู้ติดตามจอมพล ป. ทั้งหมดได้แต่มอง ตามโดยมิกล้าเข้าไปช่วยเหลือ

ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น ผมขอแนะนำให้เข้าไปอ่าน“เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ในเวปนี้ ที่ลงไว้ให้อ่านอย่างจุใจ ครับ


http://www.exnavalcadet.com/sara/view.php?No=1149



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:45

พวกทหารเรือกบฏต้องการจะเอาตัวจอมพล ป. เป็นประกัน ในการตั้งข้อเรียกร้อง ในทางการเมือง แต่คาดผิด ทันทีที่เป็นข่าว คณะรัฐมนตรีมีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามข้อเรียกร้องด้วยประการใดๆทั้งสิ้น แถมยังลงมติให้ปราบปรามพวกกบฎด้วยความเด็ดขาดอีกด้วย รัฐบาลจึงได้ออกแแถลงการณ์ข่มขู่ให้พวกกบฎปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสระภาพโดยเร็วที่สุด

ดูเหมือนว่า คณะรัฐประหารไม่ห่วงใยชีวิตของจอมพล ป. แม้แต่น้อย จริงอยู่คณะรัฐประหารมิได้ให้ความสำคัญแก่จอมพล ป. เหมือนวันแรกที่ทำการรัฐประหารแล้วทำท่าจะไม่ง่าย ต่อเมื่อจอมพล ป. ปรากฎตัว เหตุการณ์เผชิญหน้ากับทหารของพล.อ.อดุลจึงยุติลงด้วยความเรียบร้อย เวลาต่อมายิ่งนานปี ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวจอมพล ป. ก็เริ่มจางลงจนแทบจะไม่มีอิทธิพลเลย ดังนั้นคณะรัฐประหารจึงได้ส่งกำลังรบเข้าปราบปรามทหารเรืออย่างรุนแรงจนต้องแตกกระเจิง หลบหนีกันไปอย่างอลหม่านสับสน โดยไม่กลัวว่าทหารเรือจะแก้แค้นเอากับตัวประกัน

แม้ว่าทหารเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครจะแตกพ่ายไปแล้วก็ตาม สำหรับทหารเรือบนร.ล.ศรีอยุธยา น.ต.มนัส จารุภายังมั่นใจว่า ตราบใดที่จอมพล ป. ยังถูกอยู่บนเรือแล้ว คณะรัฐประหารคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง จึงเป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะในรุ่งขึ้นวันที่ 30 มิถุนายนนั้นเอง รัฐบาลได้ส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศมายิงปืนกลอากาศรอบๆร.ล.ศรีอยุธยา เพื่อเป็นการเตือนให้ปล่อยจอมพล ป. แต่น.ต.มนัส ยังยืนกรานที่จะไม่ปล่อยจนกว่าจะมีการเจรจา แม่ทัพฟ้า พล.อ.ท.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนีจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดลงบนร.ล.ศรีอยุธยาที่จอดเป็นเป้านิ่ง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของจอมพล ป. และความเสียหายที่จะเกิดแก่เรือรบหลวงที่ดีที่สุดของชาติ

จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี (ยศสุดท้าย) แก้ตัวว่า ระเบิดลูกนั้นตั้งใจเพียงจะขู่ขวัญ เพราะใช้ลูกเล็กที่สุดที่กองทัพมี แต่บังเอิญเป็นโชคร้ายของทหารเรือ ระเบิดตกลงไปพอดีกับปล่องลมระบายอากาศ เลยหลุดลงไประเบิดที่ท้องเรือซึ่งเป็นห้องคลังกระสุน ทำให้เกิดระเบิดต่อเนื่องจนเรือต้องอับปางลงอย่างรวดเร็ว
อ. พิบูลสงครามเขียนในหนังสือปกเขียว บอกพ่อเล่าให้ฟังว่า ขณะนอนอยู่ในห้องนายพลที่อยู่ท้องเรือ มีเสียงระเบิดดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว สะเก็ดระเบิดปลิวว่อนเข้ามาถึงในห้อง จึงลุกขึ้นส่องกระจกดูเพราะรู้สึกคล้ายๆใบหน้าจะโดนอะไรสักอย่าง พอดีลูกระเบิดลูกที่สองหล่นทะลุเพดานมา ตรงกับเตียงที่นาทีที่แล้วนอนอยู่ แล้วทะลุเตียงลงไปทะลุพื้นต่อ หากไม่ได้ลุกขึ้นมาส่องกระจก ก็คงตายอนาถอยู่บนเตียงนั้น
 
ข้อเขียนดังกล่าวจบลงห้วนๆเหมือนไม่จบ ผมสงสัยว่าแล้วระเบิดลูกนั้นมันด้านหรือไฉน เพราะถ้ามันระเบิดขึ้นใต้ห้องนอนนั้นจอมพลป.ก็น่าจะรอดยากอยู่ดี ถ้าลูกนั้นไม่ระเบิด ที่จอมพลอากาศฟื้นบอกว่าทิ้งระเบิดเรือศรีลงไปลูกเดียวก็ไม่จริง

อย่างไรก็ตามไม่กี่วินาทีหลังจากร.ล.ศรีอยุธยาโดนทิ้งระเบิดก็เริ่มเอียง ภายในเรือเกิดการโกลาหลวุ่นวาย ลูกเรือพากันกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาว่ายเข้าหาฝั่ง ทหารเรือคนหนึ่งเอาชูชีพมาสวมให้จอมพล ป. แล้วพากระโดดน้ำหนีรอดออกมาได้ ตอนแรกจะว่ายไปทางฝั่งพระนคร แต่ทหารบกก็ระดมยิงทหารเรือที่ลอยคออยู่ในน้ำอย่างหนาแน่น จึงเปลี่ยนใจว่ายกลับมาฝั่งธนบุรี ลอยคออยู่ใต้ท่าน้ำนานพอสมควรกว่าจะมีทหารเรือมาพบเข้าแล้วช่วยขึ้นจากน้ำ และนำไปส่งตัวคืนกับฝ่ายรัฐบาลอย่างปลอดภัย
 
สำหรับน.ต.มนัส จารุภา เมื่อเอาตัวรอดมาได้แล้วก็หนีไปทางเหนือพร้อมกับเพื่อน แล้วเข้าสู่ประเทศพม่า ตำรวจไทยในยุค"ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" ระดมกำลังหลายสิบนายเข้าไปยังดินแดนพม่าเพื่อจับตัวกลุ่มทหารเรือกบฏนี้  ทั้งที่พม่าเป็นประเทศอธิปไตยประเทศหนึ่ง ทำให้ทหารเรือกระดูกเหล็กกลุ่มนี้ต้องหลบเข้าสู่ดินแดนมอญอิสระ ปีต่อมาได้แอบกลับเข้ามาเมืองไทย แล้วไปอยู่เมืองลาวพักหนึ่งก่อนกลับทางอีสาน เข้ากรุงเทพและเตรียมจะหนีไปกัมพูชาอีกแต่ถูกจับในปี พ.ศ. 2495

กบฏแมนฮัตตันสิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คนไปขังไว้ที่สนามศุ๓ชลาศัย ส่วนใหญ่ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอ จนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:54

น.ต.มนัส จารุภา รน. ได้บันทึกบทสนทนาระหว่างเขากับจอมพลป. พิบูลสงครามในวันก่อการกบฏแมนฮัตตันในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล" ไว้อย่างชัดเจนดังนี้


ต่อไปนี้เป็นการสนทนาระหว่างท่านจอมพลป. พิบูลสงครามกับข้าพเจ้าสองต่อสอง เท่าที่ข้าพเจ้าจะสามารถทบทวนความทรงจำมาบันทึกเสนอท่านผู้อ่านทั้งหลายได้

ถาม "ในการการกระทำครั้งนี้มีพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยหรือเปล่า"
ตอบ "ไม่มี"

ถาม "แล้วหลวงประดิษฐ์ (นายปรีดี พนมยงค์) ร่วมด้วยหรือเปล่า"
ตอบ "ไม่ได้ร่วม"

ถาม "ได้ซับซิดี้ (เงินสนับสนุน) จากใคร"
ตอบ "พวกที่ทำงานครั้งนี้เป็นพวกคนหนุ่มเกือบทั้งสิ้น ไม่เคยได้รับเงินทองอุดหนุนจากบุคคลหรือคณะใด ๆ มีแต่เงินเดือนของตัวเอง แม้แต่ตัวของผมเองก็มีเงินติดกระเป๋าอยู่ในขณะนี้เพียงพันสองร้อยบาทเท่านั้น"

ท่านจอมพลป. พิบูลสงครามฟังแล้วก็นิ่งอยู่ขณะหนึ่ง แล้วก็พูดว่า "เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้วก็ให้โล่งใจมาก"
ถามต่อไปใหม่ว่า "เหตุใดพวกคุณถึงคิดทำการเช่นนี้ขึ้น"
ตอบ "ที่พวกผมทำขึ้นก็เพราะว่า รัฐบาลคณะนี้มีความเหลวแหลกมากมาย รัฐมนตรีในคณะหลายคนทำความชั่วร้าย ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของราษฎรส่วนรวม ตลอดทั้งบุคคลหลายคนในคณะรัฐประหารก็ได้ใช้อภิสิทธิ์แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าพรรคพวกตนเองเช่นเดียวกัน"

ถาม "แล้วพวกคุณทราบได้อย่างไร มีหลักฐานอย่างไร"
ตอบ "พวกผมทราบจากท่านผู้ใหญ่ในวงราชการ จากบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง และจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของประชาชน"

ถาม "การที่จะไปเชื่อข่าวอย่างนั้นดูจะไม่แน่นอน โดยเฉพาะพวกหนังสือพิมพ์ ถ้ามีจริงก็ควรจะได้จัดการกันตามกฏหมาย"
ข้าพเจ้า "เรื่องอย่างนี้ไม่สามารถจะจัดการได้ตามกฏหมาย ในเมื่อผู้กระทำผิดยังมีอำนาจอยู่ และข่าวต่าง ๆ นั้น พวกผมเชื่อว่าท่านผู้ใหญ่และเชื่อบุคคลในคณะรัฐประหารซึ่งล่วงรู้ข้อเท็จจริง ข่าวทางหนังสือพิมพ์พวกผมไม่ได้เชื่องมงายไปทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรับฟังจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นหลักเป็นฐาน เสนอข่าวตรงไปตรงมาไม่บิดเบือนความจริง"


หนังสือปกเขียวเล่มหนาเบ่อเริ่มของบุตรชายจอมพลป.ไม่กล่าวอะไรๆในเรื่องเบื้องหลัง ตื้นลึกหนาบางของกบฏแมนฮัตตันเล้ย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:59

หลังจากกบฎแมนฮัตตันแล้ว กองทัพเรือได้ถูกผ่าตัดขนานใหญ่ นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ที่อดีตเคยเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและนายปรีดีถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด นายทหารหลักของกองทัพเรือ รวมทั้ง ผบ.ทร. ถูกปลดประจำการประมาณ70 นาย คณะรัฐประหารได้ส่งพวกของตนของที่ไว้ใจได้ เข้าครอบครองตำแหน่งสำคัญๆ ไว้โดยสิ้นเชิง สถานที่ราชการสำคัญ ๆของกองทัพเรือในกรุงเทพถูกยึด เหลืออยู่แต่สัตหีบ ภารกิจถูกจำกัดให้กระทำเฉพาะทางทะเล กรมนาวิกโยธินถูกยุบ กองบินทหารเรือถูกโอนให้กับกองทัพอากาศ สูญเสียเรือธงของกองทัพ  คือเรือปืนร.ล.ศรีอยุธยา และเรือปราบเรือดำน้ำ ร.ล.คำรณสินธุ จากการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศ


ส่วนกองทัพอากาศพ้นจากการถูกสาปตั้งแต่ครั้งกบฏบวรเดชยึดสนามบินดอนเมือง การก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้นในปี พ.ศ.2496 ก็เป็นรางวัลส่วนหนึ่งในความดีความชอบในครั้งนี้ กลุ่มนายทหารอากาศได้รับโอกาสให้เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองกับเขาบ้าง เริ่มต้นด้วยการเป็น ส.ส.ประเภทสอง หลังกบฏทหารเรือแล้วการก่อรัฐประหารในไทยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปด้วย เพราะหากปราศจากความร่วมมือของทุกเหล่าทัพแล้ว การก่อการที่ไม่นองเลือดจะสำเร็จได้ยากขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 16:14

ผมลุยมาใกล้จะจบมิดเทอมของป.2

เป็นเรื่องของการกบฏและปราบกบฏรักษาสถานภาพของตัวเองเสียจนแทบจะไม่มีเวลาทำงานทำการอะไรให้บ้านเมือง
ขออนุญาตหยุดพักตรงนี้แหละครับ

มีเรื่องให้เก็บตกมากมาย เชิญท่านอาจารย์ทั้งหลายช่วยด้วย

^
อ้าว เพิ่งเห็นว่ามีผู้ยกมือประท้วงว่าเร็วไป
ไม่เร็วมั้งครับ เพราะคงจะได้หยุดพักนานหน่อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 16:23

ตามไม่ทันจริงๆค่ะ   ขอเวลาไล่เก็บเรื่องก่อน
ใครจะแจมก็เชิญนะคะ   อินเทอร์มิชชั่นแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 16:27

นำรูปน.ต.มนัส จารุภา มาโชว์ให้เห็นค่ะ


บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 17:19

ผมขอเพิ่มจากเหตูการ์ณที่ทหารบกปะทะกับทหารเรือที่สะพานเฉลิมโลกนะครับ   หลังจากที่ปะทะกันทหารบกก็ทุ่มกำลังพร้อมด้วยรถถังระดมยิง จนทหารเรือต้องถอยร่นไปทางโรงพยาบาลจุฬา เพื่อที่จะไปเอาอาวุธเพิ่มที่กองสัญญาณทหารเรือ(สวนลุมไนท์บาร์ซาในปัจจุบัน)      ได้มีทหารเรือ 2 นายพร้อมด้วยปืนยิงทำลายรถถังมาตั้งฐานอยู่ที่สนามหญ้าหน้าตึกโรงพยาบาล โดยมีนางพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาคอยบอกว่ามีรถถังผ่านเข้ามาได้ระยะที่จะยิงหรือยัง  ทหาร2นายนี้สามารถยิงทำลายรถถังได้ ถึง7-8 คัน และ สามารถหยุดกองกำลังของทหารบก  ที่จะบุกไปยึดกองสัญญาณทหารเรือได้ในที่สุดหลังจากที่ปราบกบฎของทหารเรือได้แล้ว     กองสัญญาณทหารเรือก็ถูกยุบกลายเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร และสนามมวยลุมพินี แต่ยังมีอนุสรณ์หลงเหลือไว้ในปัจจุบันก็คือ ศาลของเสด็จเตี๋ยกรมหลวงชุมพร ที่อยู่หลังสวนลุมไนท์บาร์ซาครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 17:57

ท่านกูรูใหญ่กว่า  ซิ่งกระทู้เข้าเส้นชัยไปแล้ว ก็ปล่อยให้ครูประจำชั้นกับนักเรียนช่วยกันเก็บตกวิชาเรียนกันไปตามเพลง  
ดิฉันมาทบทวนบทเรียนให้ฟัง  เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขอให้บอกมาอย่าเกรงใจ   ถือเสียว่าช่วยปั่นกระทู้     ใครเข้าเรียนก็กรุณายกมือ กระแอมกระไอให้เสียงบ้าง ว่ายังเข้าเรียนกันอยู่นะคะ

กบฎแมนฮัตตัน  ถ้าเป็นนิยายก็เหมือนแต่งตาม "ขนบ" นิยายรุ่นพี่ที่ทำมาแล้วตั้งแต่ร.ศ. ๑๓๐ ในรัชกาลที่ ๖   และ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗  จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม   คือเริ่มด้วยนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งไม่พอใจผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองในขณะนั้น ว่าทำอะไรไม่ดีไม่ถูกต้อง จะก่อความเสียหายให้บ้านเมืองได้มาก  เมื่อไม่พอใจ  ก็เริ่มหาคนที่คิดตรงกันมากระซิบปรับทุกข์กัน  รวบรวมได้มากพอสมควรจนกระทั่งตัดสินใจลงมือปฏิบัติการ
การปฏิบัตินั้นก็แนวเดียวกันเป๊ะ  คือนอกจากยึดด้วยกำลังทหารแล้ว ยังมุ่งเป้าไปที่บุคคลสำคัญชั้นสุดยอดของบ้านเมือง    ต้องจับตัวมาจัดการให้ได้ก่อน 
แผนของกลุ่มพี่เอื้อย ร.ศ. ๑๓๐ นั้นพังเพราะว่าผู้ร่วมก่อการเกิดไม่เอาด้วย ที่จะทำถึงขั้นปลงพระชนม์    เลยไปทูลฟ้องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ     ผลคือกลุ่มนี้ถูกรวบตัวหมด รอดโทษประหารแค่โดนส่งเข้าคุกไปหลายปี   ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครกล้าลอกเลียนแบบอีกตลอดรัชกาล

ล่วงมาอีกจนถึงพี่รองออกโรงในพ.ศ. ๒๔๗๕  คราวนี้ทำได้เฉียบขาดกว่าคราวแรกเพราะผู้วางแผนเป็นชั้นเสนาบดีจบวิชาทหารจากเมืองนอก  บวกกับมีมันสมองจากเมืองนอกทั้งนั้นมาร่วม      ชะตาเมืองเป็นใจให้พวกนี้  ความแตกแยกในหมู่เจ้านายมีมากกว่าในรัชกาลที่ ๖ จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงติดขัดในการบริหารบ้านเมืองในหลายเรื่อง บวกกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ  มิได้ทรงเชื่อข่าวลับที่รั่วไหลมาว่าจะมีก่อการกบฏ  อาจจะเป็นเพราะทรงลืมนึกถึงโคลงโลกนิติที่ว่าช้างสารงูเห่าข้าเก่าเมียรักอย่าไว้วางใจ  หรืออย่างไรก็ไม่แน่    เหตุการณ์ก็สุกงอมจนปฏิวัติได้สำเร็จเป็นประวัติการณ์

เมื่อมาถึงพ.ศ.๒๔๙๔  ดิฉันไม่ทราบว่าน.ต.มนัสท่านเอาประวัติศาสตร์มากางอ่านหรือเปล่า   แต่ร่องรอยพอจะมองได้ว่ามาในทางเดียวกัน คือรวบรวมกำลังนายทหารระดับหัวหน้าคุมกำลังได้กลุ่มหนึ่ง     จากนั้นจู่โจมเข้าจับตัวจอมพลป.   แบบเดียวกับผู้ก่อการจู่โจมจับตัวพระบรมวงศานุวงศ์    แต่คราวนี้ง่ายกว่าเพราะจับแค่คนเดียว ไม่ใช่เป็นกลุ่มใหญ่อย่างปี ๒๔๗๕

แต่ก็เหมือนกันแค่นี้    กบฏแมนฮัตตันไม่ได้จบลงด้วยผู้ก่อการทำสำเร็จ   เพราะฝ่ายถูกจับไม่ได้มีนโยบายแบบเดียวกัน     ผลก็เลยกลับตาลปัตร แทนที่จะชนะง่ายๆกลับแพ้ไปได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 18:41

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงยอมตามเงื่อนไขของคณะราษฎร์ หลังจากทรงทราบว่าพระบรมวงศานุวงศ์ถูกควบคุมตัวไว้หลายองค์    ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ฉันนั่งบนบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้"    ก็หมายความว่า ไม่ทรงยอมให้เกิดสงครามกลางเมืองเอาแพ้เอาชนะกัน จนล้มตายกันไปทั้งสองฝ่าย   แม้ว่ามันจะนำชัยชนะกลับคืนมาให้พระราชวงศ์ก็ตาม    จึงทรงเลือกสันติวิธีแทน

แต่ว่าในกบฏแมนฮัตตัน  ดิฉันก็ไม่ทราบว่าผู้บัญชาการรบฝ่ายรัฐบาลเป็นใคร    แต่ท่านใจเด็ดมาก ทั้งยิงทั้งทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยาตูมๆ  ทั้งที่นายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกันอยู่บนเรือนั้น  เหมือนรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจอมพลป.เป็นซูเปอร์แมนกระดูกเหล็ก  ยังไงเสียก็ต้องรอด
หรือมิฉะนั้น ถึงท่านจอมพลป.ไม่รอด พวกกบฏก็อย่าหวังว่าจะเอาวิธีนี้มาชนะรัฐบาลได้

จะเป็นเหตุผลข้างบนนี้   หรือข้ออื่นๆนอกเหนือจากนี้ก็ตาม  ก็ทำให้แผนของน.ต.มนัส จารุภา ล้มเหลว    ประกอบกับกองทัพเรือ  มีนายพลหลายคนไม่เข้าข้างกบฏ  การประสานงานจึงมีช่องโหว่มาก  ทำให้จบลงอย่างที่เรารู้ๆกัน

ขอแยกซอยหน่อยว่า  ใครเป็นแฟนหนังสือคุณพนมเทียน หรือเป็นแฟนละครทีวีช่อง ๓ คงจำเรื่อง กัลปังหา บทประพันธ์ของพนมเทียน เมื่อหลายปีก่อนได้     เรื่องนี้พระเอกเป็นนายทหารเรือแต่หลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวเป็นหนุ่มชาวเกาะ   ก็จากกบฏแมนฮัตตันนี่เอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 18:44

คือผมเห็นว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มันไม่กี่ปีนะครับ จากเหตุการณ์หนึ่งโยงไปอีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นลูกโซ่ ปัญหามันมีพัฒนาการของมัน ผมอยากให้ผู้อ่านได้มองเห็นทั้งท้องเรื่องก่อนว่า จอมพลป.กลับขึ้นมาได้อย่างไร แต่สถานภาพเปลี่ยนไปแล้วอย่างไรบ้าง จากผู้ที่คุมอำนาจในมือ แต่อำนาจนั้นหลุดมือไปแล้ว ส่วนหัวโขนยังครอบหัวอยู่และชอบเสียด้วย ทำอย่างไรจะรักษาหัวโขนได้นานที่สุด จึงต้องฉายให้หมดม้วนหนึ่ง ยังไกลจากเส้นชัยครับ อย่างน้อยก็น่าจะมีม้วนสองเต็มๆ แต่ยังไม่ได้ถ่ายทำ

ลองย้อนกลับไปอ่าน จะเห็นสิ่งที่ท่านผู้นี้ง่วนกระทำอยู่ ตั้งแต่

1 จะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร ให้มหาอำนาจรับรองฐานะว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฏหมาย
2 นายปรีดี และบริวารลูกศิษย์ลูกหายังอยู่ในวงโคจร จะกำจัดให้พ้นทางได้อย่างไร
3 นายควงและประชาธปัตย์ จะจัดให้เป็นฝ่ายค้านถาวรได้อย่างไร
4 พวกคณะรัฐประหาร ที่เป็นนั่งร้านค้ำบัลลังก์ ทำอย่างไรจะให้นิ่งที่สุด ไม่ทะเลาะกันเองให้เสียสมดุลย์

ข้อ4นี่ สำคัญมาก ในเทอมหลังของป.2 ที่สอบตก ก็ตกวิชานี้แหละ

ในเรื่องกบฏแมนฮัตตัน ก็เริ่มแพลมๆออกมาแล้ว ว่าพวกนี้เขาพร้อมที่จะขอหัวโขนที่ท่านสวมอยู่ มาใส่บ้าง จัดให้ตายในสมรภูมิก็จะดูดีสมกับที่เป็นชายชาติทหาร แต่บังเอิญดวงท่านยังแข็งอยู่ The Show Must Go On.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 18:55

“กบฏเสนาธิการ”

ในเดือนตุลาคม 2491 พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และพล.ต.เนตร เขมะโยธินนายทหารนักเรียนนอกอดีตเสรีไทย เป็นนายพลหนุ่มอายุเพียง37ปี อนาคตกำลังรุ่งโรจน์  เป็นหัวหน้าคณะ ชักจูงนายทหารระดับเสนาธิการกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกคณะรัฐประหารย้ายออกไปจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ลูกน้องของตนเสียบเข้าแทนที่  วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อกำจัดพวกทหารนักปฏิวัติเหล่านั้น และจะปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรมต่อไป หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมในคณะนี้คือพ.ท.โพยม จุลานนท์ ที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยถึงขั้นลาออกจากกองทัพบกไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่เพชรบุรี ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา เมื่อนายควงถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออก พ.ท.โพยมโกรธมาก จึงเข้ามาสมทบ กำหนดวันลงมือปฏิบัติการในวันที่1ตุลาคม2491 ในคืนที่จะเลี้ยงฉลองงานแต่งงานของพล.ต.สฤษดิ์กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ซึ่งประมาณว่าตัวบิ๊กๆในคณะรัฐประหารจะมาพร้อมหน้า ก็จะลงมือจับกุมทุกคน ปรากฏว่ามีคนหักหลังเสียก่อน เอาความลับไปบอกจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ให้ทราบแผนการ จึงจับกุมผู้คิดกบฏในคืนวันที่30กันยายนทั้งหมดยกเว้น พล.ต.เนตรและพ.ท.โพยมหลุดรอดไปได้สองคน

มีบทความอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงพ.ท. โพยม ไว้
http://www.nationweekend.com/weekend/20050301/wed47.shtml

ในฐานะนายทหารเสนาธิการของคณะเสนาธิการกองทัพพายัพ ซึ่งมี พล.ต.หลวงชาตินักรบเป็นเสนาธิการ พ.ท.โพยมก็พอรู้ตัวว่าในฐานที่เป็นลูกชาย พ.อ.หลวงวิเศษการ เป็นลูกเขย พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม อนาคตชีวิตในสายทหารคงจะไม่แจ่มใสนัก หลังสงครามจึงลาออกจากราชการทหาร เบนชีวิตเข้าสู่สายการเมือง

เขาสมัครแข่งขันเป็น ส.ส.ที่เพชรบุรีบ้านเก่า ก็ได้เป็นสหายเก่าของพ่อกับของพ่อตาก็ออกมาจากคุก เขาก็เข้าร่วมกลุ่มด้วย
********************
พ.ท. โพยม จุลานนท์ไม่ใช่ลูกชายของพ.อ.หลวงวิเศษการ    บิดาชื่อ พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนารถ  (ยิ่ง จุลานนท์ ) ซึ่งถึงแก่กรรมไปตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๘  ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖   แต่ท่านเป็นลูกเขยของพ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม จริง
พ.ท. โพยมไม่ได้มีเรื่องราวขัดแย้งกับจอมพล ป.   คดีกบฏที่โดนเข้าไป  เป็นการถูกถากถางให้สิ้นเสี้ยนหนามด้วยฝีมือเพื่อนเก่าที่เริ่มรุ่งโรจน์ขึ้นมาในกองทัพ ขณะนั้น    อาศัยชื่อกบฏมาป้ายหมึกดำเข้าไปให้เข้าคุกหรือถูกประหารได้เนียนๆหน่อยเท่านั้นเอง
ท่านก็ไม่มีทางอื่น ต้องหนี   ตำรวจมาเชิญถึงบ้าน  พอเข้ามาทางหน้าบ้านพ.ท. โพยมก็ล่องหนออกไปทางหลังบ้านเรียบร้อย      ไม่มีเส้นทางอื่นให้เดินนอกจากไปอยู่ป่า     ความตั้งใจที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่ใช่ว่ามีมาแต่แรก   แต่เป็นกองกำลังเดียวที่จะอาศัยอยู่ได้ตามตะเข็บชายแดน  เพราะที่อื่นในประเทศไม่ปลอดภัยสำหรับท่าน     ในที่สุด ก็เลยต้องได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 19:52

ในเรื่องกบฏแมนฮัตตัน ก็เริ่มแพลมๆออกมาแล้ว ว่าพวกนี้เขาพร้อมที่จะขอหัวโขนที่ท่านสวมอยู่ มาใส่บ้าง จัดให้ตายในสมรภูมิก็จะดูดีสมกับที่เป็นชายชาติทหาร แต่บังเอิญดวงท่านยังแข็งอยู่ The Show Must Go On.

เขาเรียกว่าสมบัติผลัดกันชม  ยิ้มเท่ห์
จอมพลป. ได้รับสมญาว่า "นายกกระดูกเหล็ก"   น่าจะเหล็กไหล   ขนาดเรือรบหลวงศรีอยุธยายังไม่รอด แต่ท่านรอด  คิดดูเถอะ

เข้าใจว่าคุณนวรัตนคงจะเล่าเรื่องกบฏแมนฮัตตันไว้แค่นี้  ก็เลยมาเสริมรายละเอียดอีกเล็กน้อย  เผื่อลูกศิษย์อยากรู้  ยกมือถามว่าผลสืบเนื่องจากกบฏที่ล้มเหลวนี้ เป็นยังไง

กบฏแมนฮัตตัน รบกันหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ  ระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินเป็นแบบ Spirt fire และ T6 จนเรือจม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดวงแข็งอย่างน่าอัศจรรย์ ทหารบนเรือช่วยใส่ชูชีพพาว่ายน้ำหนีออกมาได้
การกบฏครั้งนี้ก่อความเสียหายมากที่สุดนับแต่มีรัฐประหารครั้งต่างๆเป็นต้นมา  เพราะยิงพลาดไปโดนสถานที่ต่าง ๆ สงฟากแม่น้ำเสียหาย   ผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย  ทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนที่โดนลูกหลงไปด้วย

น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้จี้จอมพล ป. และพวก ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ  เขากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495  จึงโดนจับ

หลังจากจอมพลป.รอดไปแล้ว การกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ก็เกิดขึ้น  แต่คราวนี้ค่อยยังชั่วหน่อย  ไม่เหมือนปี ๒๔๘๒   ตำรวจปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอ  จนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ

หลังจากกบฏแมนฮัตตันแล้ว กองทัพเรือถูก "เช็คบิลล์" อย่างหนัก  ทั้งๆที่นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้เห็นหรือร่วมก่อการด้วย   กองทัพเรือถูกแช่แข็ง ลดกำลังพลและหน่วยงานต่างๆ แทบว่าจะโงหัวขึ้นมาไม่ได้   ถึงผบ.ทหารเรือคนต่อมาคือพล.ร.ท. หลวงพลสินธวาณัติก์ พยายามฟื้นฟูกำลังสมรรถนะ แต่ก็ไม่สำเร็จจนต้องลาออก
เมื่อผบ.คนเก่าลาออก  ก็เข้าทางจอมพลป.    ส่งนายทหารเรือที่เป็นคนสนิทมาคุมทัพเรือแทน คือพล.ร.ต. หลวงยุทธศาสตร์ โกศล (ประยูร ศาสตระรุจิ) นายทหารนอกราชการ    ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถูกปลดออกจากตำแหน่งหมด
ในพ.ศ. ๒๔๙๙  คุณหลวงได้เป็นจอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 19:59

      แยกซอยเลี้ยวออกไปเล่าถึงจอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล  นายทหารเรือผู้มียศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของกองทัพเรือ
จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล นามเดิม ประยูร ศาสตระรุจิ เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2436 ที่ตำบลสำราญราษฎร์ กรุงเทพฯ เป็นบุตรของหลวงวิจิตร์สุนทรการ และ นางเปลี่ยน ศาสตระรุจิ สมรสกับนางสาวประยูร จันทรสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2466 มีบุตรธิดา 5 คน

เรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุกรมธยาคาร (วัดสระเกศ) โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ เมื่อ พ.ศ.2454 และวิทยาลัยการทัพเรือเมื่อ พ.ศ.2476

รับราชการกองทัพเรือตั้งแต่ พ.ศ. 2454 จนออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดเมื่อ พ.ศ. 2487 หลังจากดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมและเข้าประจำเสนาธิการ

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ได้รับพระราชทานยศชั้นสูงสุดเป็นจอมพลเรือ อันนับเป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือเนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือได้รับพระราชทานยศถึงชั้นนี้มาก่อน

ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2494 และดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2494-24 มีนาคม 2495

จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2518 อายุ 82 ปี

มีเกร็ดเล่าเกี่ยวกับท่านนิดหน่อย เอามาลงไว้ด้วยกัน
 
       เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๔(ในรัชกาลที่ ๖)  เรือเดินสมุทรชื่อ เรือผ่านสมุทร ซึ่งมีขนาด ๓,๐๐๐ ตัน บรรทุกสินค้าและผู้โดยสารชาวจีนประมาณ ๓๐๐ คน ออกเดินทางจากอ่าวไทยไปฮ่องกง เรือลำนี้มีมิสเตอร์แม็คลีน ชาวอังกฤษเป็นกัปตัน มิสเตอร์เฮ็นนี่เป็นต้นกล ต้นเรือเป็นทหารเรือไทยชื่อเรือโทประยูร

    เมื่อเรือผ่านสมุทรย่างเข้าเขตทะเลจีน ก็เริ่มมืดมนไปทุกทิศทุกทาง กัปตันต้นกลและต้นเรือได้ประชุมกันเพื่อหาทางรับมือกับสถานการณ์อันร้ายแรง ในขณะที่คลื่นลมในทะเลเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ เรือผ่านสมุทรโยนตัวโต้คลื่นไม่ไหวแล้ว ต้องใช้วิธีมุดคลื่นที่มีขนาดเท่าภูเขาเลากา อากาศมืดลงเป็นลำดับจนเกือบจะเป็นกลางคืน

       เสียงอื้ออึงของพายุหมุนและคลื่นที่สาดซัดเข้ามาท่วมลำเรือ ทำให้ผู้โดยสารชาวจีนเริ่มหลั่งไหลออกมาที่กราบเรือเพราะเกรงเรือจะจม เรือโทประยูรกลัวพวกจีนที่เกะกะอยู่ตามกราบเรือจะถูกคลื่นซัดหรือพายุพัดตกทะเล จึงออกคำสั่งให้ทุกคนเข้าไปอยู่ในระวางท้องเรือ และให้กลาสีเอากุญแจใส่ไว้อย่างแข็งแรง  พวกจีนเข้าใจว่า เรือไทยลำนี้จะขังพวกตนทั้งหมดให้จมน้ำตาย ต่างพากันตบประตูและร้องตะโกนเสียงดังลั่น เด็กเล็กก็ร้องไห้กันกระจองอแง
        แต่เรือโทประยูรสั่งเด็ดขาดไม่ให้ไขกุญแจปล่อยตัวออกมา เมื่อกัปตันและต้นกลถามถึงเหตุผล   เขาก็ตอบว่า ถ้าเรืออับปางลง ทุกคนก็ต้องฝังร่างกลางทะเลจีนนี้แน่นอน ถึงจะปล่อยจีนพวกนี้ออกมา ก็ไม่มีหวังรอดชีวิตสักคน ถ้าโชคดีเรือรอดพ้นจากการอับปาง คนทั้งลำรวมทั้งพวกจีนที่ถูกขังก็จะรอดชีวิตทั้งหมดไม่มีตกหล่น

      ทันใดนั้น คลื่นขนาดใหญ่กว่าภูเขาก็สาดซัดเข้ามาดังสนั่นหวั่นไหว กัปตันและต้นกลถูกซัดกระเด็นไปฟุบอยู่หัวเรือ โชคดีเหนี่ยวประตูเคบินแห่งหนึ่งไว้ได้ ส่วนเรือโทประยูรกระเด็นออกไปนอกทะเลลึกหายวับไปกับตา

    เมื่อคลื่นยักษ์ผ่านไปแล้ว กัปตันพยายามมองฝ่าไปในทะเลที่กำลังเป็นบ้า เมื่อไม่เห็นแม้แต่เงาของต้นเรือ เขาก็น้ำตาคลอ กระทำพิธีส่งวิญญาณทั้งที่ตัวเองเปียกโชกไปหมดด้วยน้ำทะเล พลางพึมพำว่า ต้นเรือได้ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้โดยสารถูกต้องแล้ว แต่ตัวเองกลับต้องเสียชีวิตลง เขาร้องออกมาเป็นคำสุดท้ายว่า มายก็อด! พระเจ้าไม่ช่วยชีวิตต้นเรือของข้าพเจ้าเสียเลย
   พอขาดคำ คลื่นมหึมาอีกลูกหนึ่งก็ซัดตึงเข้ามาจนกัปตันกระเด็นไปทางหนึ่ง เมื่อลุกขึ้นมาได้ กัปตันขยี้ตาโดยไม่เชื่อสายตาของเขาเอง ร่างที่คลื่นซัดเข้ามานั้น เป็นร่างของมนุษย์ที่ยังเป็นๆ แต่เสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง หน้าตาเกือบไม่ใช่คน ปากซีด ตัวสั่น นอนคว่ำหน้าอยู่ที่ปลายเท้าของเขา ร่างนั้นคือเรือโทประยูร ต้นเรือที่เขาทำพิธีส่งวิญญาณ ไปเมื่อครู่นี้เอง

   เมื่อกัปตันเข้าไปพลิกตัว ต้นเรือก็ลืมตาขึ้นพลางถามว่า กัปตันและต้นกลปลอดภัยหรือ ? กัปตันกอดเขา และตอบด้วยเสียงกระเส่าว่า พระเจ้าส่งท่านกลับคืนมาเป็นต้นเรืออีกแล้วละ

   หลังจากตกอยู่ในศูนย์กลางของไต้ฝุ่นถึง ๒๐ กว่าชั่วโมง ฟ้าก็สว่าง แดดส่องจ้า เรือผ่านสมุทรก็รอดพ้นอันตรายมาได้ในสภาพที่เอียงกระเท่เร่ เสากระโดงหักสะบั้น เรือโบตทุกลำแตกละเอียดหมด ประตูหน้าต่างเคบินหักวินาศ

   เมื่อพยายามถูลู่ถูกังไปจนถึงฮ่องกง แทนที่จะสาปแช่งต้นเรือ พวกผู้โดยสารชาวจีนกลับพากันกราบไหว้อยู่แทบเท้าของต้นเรือในฐานะที่เอาพวกเขาไปขังไว้จนรอดตายกันถ้วนหน้าและเรี่ยไรเงินจ้างคณะงิ้วชื่อดังของฮ่องกงมาแสดงที่ปากเรือ ๓ วัน เพื่อแก้บน
   ต้นเรือผู้นั้นคือ จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล อดีตผู้บัญชาการทหารเรือนั่นเอง
                                                                          (๕๐ บุคคลสำคัญ โดย ไทยน้อย)
        คนสำคัญนี่ต้องดวงแข็งมากๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 21:30

ถ้าใครนิยมชมชื่นน.ต.มนัส จารุภา ลองอ่านเรื่องนี้ดูนะคะ

http://www.thaiwriter.net/forum01/index.php?topic=1771.0
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง