เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160144 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:15

นักประวัติศาสตร์มักจะแยกการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพลป.ออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรกระหว่างปี2490-2495 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องกำจัดนักการเมืองคู่แข่งเก่า รุ่นคณะราษฎร์ให้ตกเวทีไป และช่วงหลังตั้งแต่2496-2500 อันเป็นช่วงที่จอมพลป.ชราเกินกว่าจะคุมอำนาจทางทหารไว้ได้โดยลำพังตนเอง จำเป็นต้องพึ่งคนอื่นที่เขาก็หวังจะเอาตนนั้นเป็นบันไดไปสู่อำนาจทางการเมืองเหมือนกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:17

เมื่อสงครามยุติลง นักเขียนประวัติศาสตร์ทางค่ายจอมพลป.จะให้ค่าพวกเสรีไทยว่าเป็นปัญหาตัวใหม่ของชาติ เสรีไทยมีสองสาย สายต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนักเรียน เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจที่ทำเพื่อชาติแล้วก็จะกลับไปเรียนต่อกันหมด เสรีไทยกลุ่มนี้ส่วนที่มาจากอังกฤษ ระยะเริ่มต้นได้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ขณะอยู่ลอนดอนทรงอุปถัมภ์ จึงถูกมองว่าเป็นขบวนการของพวกเจ้า ซึ่งพวกหม่อมเจ้าหลายองค์ในราชสกุลสวัสดิวัตน์ก็เคยเป็นกลุ่มอำนาจเก่าในสมัยรัชกาลที่7มาแล้วจริงๆ พวกนี้จึงถูกมองอย่างไม่ไว้ใจว่าพยายามที่จะเข้ามาวุ่นวายอะไรกับการเมืองไทยอีกหรือเปล่า แต่ผู้ที่มีบทบาทในทางร้ายต่อจอมพลป.จริงๆกลับกลายเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผู้กลับมาเมืองไทยอย่างวีรบุรุษ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่เสนอกฏหมายอาชญากรสงครามเข้าสู่สภา เป็นเหตุให้จอมพลป.ตกเป็นจำเลยในคดีที่โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต ต้องเข้าไปนอนทนทุกข์อยู่ในตรางของสันติบาลหลายเดือน  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไม่ใช่เจ้า แต่ก็ถูกมองว่าเป็นพวกเจ้า และเผอิญเป็นพี่ชายแท้ๆของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แสดงบทบาทในสภาได้แสบสันกว่าพี่ชายมาก

แต่เสรีไทยสายเจ้าก็มีบทบาทโลดแล่นในระยะแสนสั้น ต่อมาม.ร.ว.เสนีย์ก็ถูกสถานการณ์บีบบังคับ จากสิงห์เดี่ยวที่หวังพึ่งเสียงส.ส.มุ้งนายปรีดีในสภา ก็กลายพันธุ์ไปรวมกับน้องชายและนายควง ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นตัวปัญหาของบุคคลและพรรคอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองอย่างแท้จริง
ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้วปัญหา(ถ้ามี)จะอยู่ที่ เสรีไทยสายในประเทศที่อยู่ใต้คาถาของนายปรีดีเท่านั้น

แม้จะประกาศสลายตัว เคลียร์ตัวเองแล้วเคลียร์ตัวเองอีก ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่า กองกำลังจัดตั้งที่ฝึกอาวุธไว้ แล้วได้รับการสนุบสนุนยุทธปัจจัยมากมาย ส่งผ่านสนามบินลับเข้ามาจะถูกเก็บส่งทางราชการหมดแล้วตอนสิ้นสุดสงคราม อย่างน้อยสายข่าวทางทหารเองก็ไม่เชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอิสานที่อยู่ภายใต้การนำของส.ส.ที่มีอุดมการณ์ในแนวสังคมนิยมเช่นเดียวกับตัวอาจารย์หลายคน พวกนี้มีสายโยงใยเข้าไปในบ้านพี่เมืองน้องที่อยู่คนละฟากฝั่งโขง วันดีคืนดีทางโน้นก็ประกาศจะรวมชาติขึ้นมาโดยรวมดินแดนของน้องพี่ทางฝั่งนี้เข้าไปใต้ธงเดียวด้วย เขาประกาศมาอย่างนี้มันก็เหมือนกับตอกลิ่มให้กับคนในชาติไทยอย่างได้ผล เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารหรือการปราบกบฏที่มีนายปรีดีอยู่ฝั่งตรงข้ามนั้น ฝ่ายสมุนจอมพลป.มักจะอ้างกองกำลังพลเรือน(ผมชอบคำที่ท่านอาจารย์เทาชมพูที่ท่านตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกให้แตกต่างกับคำว่าราษฎรหรือประชาชนที่นักการเมืองชอบอ้างลอยๆมาก) ติดอาวุธ จะเข้ามาปฏิบัติการอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีจริง หรือถ้ามี ก็คงจะยังไม่มีศักยภาพพอที่จะมาสู้รบกับทหารของชาติในเมืองหลวงได้

ดังนั้น กองกำลังหลักที่สนับสนุนนายปรีดี จะมาจากสายทหารเรือ ในที่สุดทหารเรือกลุ่มน้อยนี้ก็พาทั้งกองทัพเรือไปสู่หายนะได้ ทั้งๆที่มิได้มีอุดมการณ์อะไรๆเหมือนกับนายปรีดีเลย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:20

ทหารเรือ ถูกลากเข้ามาพัวพันทางการเมืองก็เริ่มต้นตั้งแต่สมัย2475 เช่นกัน มีนายทหารหนุ่มๆนับสิบมาเป็นผู้ก่อการคณะราษฎรกับเขาด้วย เช่นน.ต.หลวงสินธุสงครามชัย น.ต.หลวงศุภชลาศัย ร.อ.หลวงธำรงนาวาสวัสด์ เป็นต้น  หลวงธำรงนั้นเติบโตทางการเมืองขึ้นมาเป็นถึงพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และจับพลัดจับผลูได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนของนายปรีดีผ่านส.ส.ในมุ้งของตน การมีตำแหน่งใหญ่โตน่าจะทำให้พล.ร.ต.ถวัลย์มีพรรคพวกในกองทัพเรือพอสมควร แต่ทหารเรือส่วนใหญ่แล้วกลับมีความเห็นเหมือนชาวบ้านทั่วไปว่ารัฐบาลมีผลงานย่ำแย่ ประชาชนยากจนลง พล.ร.ต.ถวัลย์ไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นระดับปากท้องชาวบ้านหรือระดับชาติ ทหารเรือตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการลงมาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในสภา แต่ไม่ต้องการรัฐประหาร

เมื่อพล.ท.ผินทำการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารเรือไม่ได้ตัดสินใจว่าจะต่อต้านหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะคนจะเข้าใจว่าสนับสนุนพล.ร.ต.ถวัลย์ที่ใครๆก็ร้องอี๋ อธิบดีกรมตำรวจซึ่งเป็นนายทหารเรือรุ่นๆพล.ร.ต.ถวัลย์ยังปฏิเสธที่จะเข้าแทรกแซงเมื่อเห็นรายงานของสันติบาลว่าทหารบกจะปฏิวัติ เพราะกลัวว่ารัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์จะอยู่ยืดนั่นเอง พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย)ได้ไปหานายทวี บุณยเกตุที่บ้านเพื่อถามตรงๆว่า จะร่วมมือกันต่อต้านคณะปฏิวัติหรือไม่ แต่นายทวีกลัวว่าบ้านเมืองจะกลายเป็นสามก๊ก มีก๊กพล.ร.ต.ถวัลย์และนายปรีดี  ก๊กจอมพลป.และพล.ท.ผิน และก๊กผบ.ทร.และตน จึงตอบปฏิเสธ

เมื่อเป็นเช่นนั้น หลังจากที่จอมพลป. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย อันเป็นตำแหน่งใหม่เอี่ยมล่าสุด ได้ทำหนังสือถึงผบ.ทร.ขอให้ส่งมอบตัวพล.ร.ต.ถวัลย์และนายปรีดี ตามข่าวว่าอยู่ในความดูแลของกองทัพเรืออยู่ที่สัตหีบ พล.ร.อ.สินธุ์จึงนำหนังสือนั้นให้บุคคลทั้งสองดู ซึ่งท่านก็เข้าใจทันทีว่าท่านจำเป็นต้องไปแล้ว มิฉะนั้นเจ้าของบ้านจะมีปัญหาแน่ๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:24

เส้นทางที่อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ติดตามรวมทั้งหมด5ชีวิตใช้ในการเดินทางออกนอกประเทศ ค่อนข้างจะเหนือชั้นสักหน่อย คือให้ทหารเรือลักลอบพากลับเข้ามากรุงเทพก่อน หลังจากนั้น ด้วยความร่วมมือของเอกอัครราชทูตอังกฤษและเอกอัครราชทูตอเมริกา ได้ติดต่อผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำมันเชลล์ นำบุคคลทั้งห้าขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปสิงคโปรอย่างปลอดภัย
 
ต่อมาเอกอัครราชทูตอังกฤษได้ทำหนังสือชี้แจงต่อรัฐบาลไทยว่าที่ร่วมมือกับเอกอัครราชทูตอเมริกันกระทำการดังกล่าวก็เพราะไม่อยากจะเห็นการนองเลือดในประเทศไทย(สงสัยมั้ย..มีอารายอ๊ะปล่าว) ส่วนนายปรีดีก็โฟนอิน เอ้ย ออนแอร์มาเมืองไทยผ่านวิทยุกระจายเสียงของสิงคโปร ขอร้องให้ผู้ที่เคยร่วมขบวนการเสรีไทยด้วยกันมา อย่าใช้กำลังรุนแรงใดๆอันจะทำให้เกิดการประหัตประหารกันเอง เพราะจุดมุ่งหมายเดิมจะต่อต้านญี่ปุ่นมิใช่คนไทยด้วยกัน “แต่ทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอร้องต่อผู้ที่ครองอำนาจ ไม่ให้กระทำการใดๆ อันเป็นการท้าทายเพื่อนฝูงของข้าพเจ้า”

คำขอร้องนี้ไม่มีผลต่อครูเตียง ศริริขันธ์ ที่กำลังอยู่ที่เมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะกลับไปอิสานเพื่อเตรียมตัวรบกับรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายนี้ “ผมจะประกาศอิสานอิสระ….จนกว่าเราจะได้รัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง”

จากนั้นนายเตียงก็หาทางไปสกลนคร เอาอาวุธที่เก็บไว้ออกแจกจ่ายกองกำลังพลเรือน ขึ้นไปตั้งค่ายอยู่บนภูพาน เป็นศูนย์บัญชาการต่อต้านคณะรัฐประหาร อันเป็นที่มาของการกวาดล้างที่เรียกว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดน ปี2491” คณะรัฐประหารได้จัดกำลังถึง5กองร้อย ไล่ล่านายเตียงคนเดียวแต่ก็ไม่สำเร็จ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:28

คณะรัฐประหารของพลโทผินด้วยความเห็นชอบของจอมพลป.ที่ยังหาจังหวะที่จะขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลยไม่ได้ เพราะตนเพิ่งหลุดจากข้อหาอาชญากรสงครามมาโดยเนื้อคดีแท้ๆยังมิได้ผ่านการพิจารณาของศาล เกรงว่าอังกฤษและอเมริกาจะไม่ให้การรับรองรัฐบาล  จึงเอาตำแหน่งนี้ไปยกให้นายควง ในฐานะที่ถูกส.ส.กลุ่มนายปรีดีแซะออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเทคนิกการเสนอพ.ร.บ. “ปักป้ายราคาข้าวเหนียว” และต่อมานายควงก็นำพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.ร.ต.ถวัลย์7วัน7คืน สั่งสอนวิธีบริหารราชการบ้านเมืองต่างๆจนชาวบ้านเคลิบเคลิ้มตามไปด้วยว่าถ้าพรรคนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนแล้วบ้านเมืองน่าจะดีวันดีคืน จอมพลป.เป็นนักการเมืองรุ่นเก๋ากึ่กย่อมอ่านเกมออก พูดโม้ดีนักก็จัดให้เป็นซะเลย พักเดียวเดี๋ยวทำไม่ได้ตามที่โม้ไว้ก็จะเท่ากับฆ่าตัวตายไปเอง
 
นายควงพอเป็นนายกรัฐมนตรีได้ระยะหนึ่งก็จัดการยัดข้อหานายปรีดีในคดีสวรรคตแล้วทำหนังสือไปขอให้อังกฤษส่งตัวแบบผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นด้วยกับคำขอดังกล่าวแต่ก็แนะนำฝากฝังให้นายปรีดีไปอยู่เมืองจีนเสียดีกว่า นายปรีดีเลยได้ไปอยู่กับรัฐบาลจีนคณะชาติของเจียงไคเช๊กหลายปีก่อนจะกลับมาทำการรัฐประหารในปี2492ที่กลายเป็นกบฏวังหลวง แล้วเลยต้องนิราศจากเมืองไทยไปชั่วนิรันดร์ การที่นายปรีดีไปอยู่เมืองจีนมักจะถูกเอ่ยถึงอย่างห้วนๆให้ดูเหมือนว่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เปื้อนสีแดงหน่อยๆ แต่ความจริงแล้ว ตอนแรกไม่ใช่

รัฐบาลของนายควงชุดนี้มีคณะรัฐมนตรีที่มาจากบุคคลภายนอกเยอะมาก โดยเฉพาะอดีตนักโทษการเมืองที่พ้นโทษจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงมีปัญหาความไม่พอใจของส.ส.ในพรรคที่ไม่ได้รับตำแหน่งเหมือนกับที่เกิดในปัจจุบันนี้นั่นแหละ อย่างไรก็ดีนายควงก็ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยหวังว่าเมื่อทำเช่นนั้นแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับการรับรองจากนานาประเทศ แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้ง นายควงและจอมพลป.ก็จับมือกันกวาดล้างอิทธิพลของนายปรีดี เริ่มต้นด้วยการออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุข เพื่อเปิดโอกาสให้คนของคณะรัฐประหารกระทำการตรวจค้น จับกุม ยึดทรัพย์บุคคลจำนวนหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มของนายปรีดี ทั้งพวกที่เป็นส.ส.และพวกที่ไม่ใช่นักการเมือง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:32

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2491 เสร็จสิ้นลง ประเทศมหาอำนาจได้ให้การรับรองรัฐบาลแล้ว คณะรัฐประหารจึงได้ดำเนินการกดดันให้นายควงลาออกโดยส่งนายทหารบกยศนายพัน 4 คน ที่สร้างผลงานถล่มประตูทำเนียบท่าช้างของนายปรีดีด้วยกระสุนปืนนับร้อยๆนัดและใช้รถถังพุ่งชนเข้าไปจะจับตัวนายปรีดี แต่งเครื่องแบบเต็มยศไปพบนายควงที่บ้านตอนเช้าตรู่ เร่งรัดจะพบจนเจ้าของบ้านต้องต้อนรับแขกในชุดกางเกงแพร เมื่อโอภาปราศรัยดิบดีแล้วผู้ที่ติดเครื่องหมายยศศุงสุดก็บอกนายควงด้วยอาการนอบน้อมว่าท่านสมควรลาออกได้แล้ว เพราะค่าครองชีพไม่ลดลงเลย นายควงอ้าปากหวอตอบว่ารัฐบาลเพิ่งจะได้ทำงานจริงๆเพียงเดือนเดียว แต่ก็ตลกต่อไปไม่ออกเพราะแขกขอตัวกลับ โดยบอกว่าให้เวลาคิด24ชั่วโมงแล้วจะมาฟังคำตอบ

นายควงพยายามทำดีที่สุดในวันนั้นด้วยการติดต่อไปยังพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ติดต่อไม่ได้ จึงติดต่อไปยังพลอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากผู้บัญชการทหารอากาศกำลังจะอุปสมบท หลังจากเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนที่บ้านพักในเย็นวันนั้น รัฐมนตรีที่เห็นควรให้ลาออก คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลยอมรับว่า รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้จริงๆ ผู้ที่สนับสนุนให้ต่อสู้ก็มี แต่ไม่ได้บอกว่าจะสู้ด้วยวิธีอะไร นายควงจึงยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 เมษายน 2491 โดยดี
สภาได้เลือกจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  และแถลงต่อสาธารณะชนว่า นายควงลาออกโดยสมัครใจ ตนเองไม่อยากจะรับ แต่เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ ก็ต้องรับไว้

จอมพลป.ยังไม่มีส.ส.อยู่ในมุ้งของตนเลยสักคนเดียว แต่ก็ดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแบบสหพรรคขึ้นมา ดูเหมือนสมัยนี้จะเรียกให้ฟังโก้ๆว่ารัฐบาลแห่งชาติ ดึงเอาประชาธิปัตย์ที่ตัวพรรคเปลี่ยนจากมิตรไปเป็นศัตรูแล้ว แต่ส.ส.ประชาธิปัตย์บางคนที่ต่อรองได้ก็ดึงมาเป็นรัฐมนตรี คุมเสียงส.ส.ในมุ้งจำนวนหนึ่งให้ได้ก็แล้วกัน ส.ส.กลุ่มนี้ก็ยกมือสวนกับมติพรรคตลอดเพราะตอนนั้นยังไม่มีมาตรการห้าม เล่นเอาประชาธิปัตย์เกือบพังโดยไม่ต้องคอยลุ้นถึงพ.ศ.นี้ กล่าวกันว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การเมืองไทยเอาระบบโควต้ามาตั้งคณะรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการบริหารบ้านเมือง ขอเพียงให้มีความชำนาญว่าทำอย่างไรจะสั่งเพื่อนส.ส.ในสภาสัก8คน ให้ยกมือหรือไม่ยกมือตามที่ตนจะสั่งได้เท่านั้น ก็สามารถเป็นรัฐมนตรีได้แล้ว ในวันแถลงนโยบายต่อสภานั้น จอมพลป.ชนะในการลงมติด้วยคะแนน 70 ต่อ26 งดออกเสียง 73 จากจำนวนองค์ประชุมในสภา 169 คน ประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านที่เดี้ยงๆไปในสภาโดยบัดดล

จอมพลป.พิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นยุคที่2สมอยาก และช่วงระยะ5ปีแรกนี้ ได้เกิดเหตุการณ์กบฏขึ้นแทบจะทุกปีดังนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:36

“กบฏเสนาธิการ”

เมื่อมีระบบเลี้ยงส.ส.ในมุ้ง ก็ต้องมีการหาเงินหาทองมาอัดฉีด พวกนี้ก็กำลังกินจุกำลังนอนกันทั้งนั้น เริ่มต้นก็ด้วยมีเสนอให้ตำแหน่ง หรืออามิสแก่พรรคร่วมโดยเปิดเผย ให้ไปเป็นกรรมการนั่นกรรมการนี่ ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเพิ่มเงินเดือนส.ส.ทั้งสภาคนละ1000บาท (ประมาณ30%ของเงินเดือนเดิม)ให้สงบปากสงบคำกันหน่อย ทำให้หนังสือพิมพ์วิจารณ์กันไม่เลี้ยง จนในที่สุดก็เกิดการก่อหวอดกบฏขึ้นเป็นครั้งแรกของรัฐบาลจอมพลป.เรียกว่า “กบฏเสนาธิการ”

ในเดือนตุลาคม 2491 พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และพล.ต.เนตร เขมะโยธินนายทหารนักเรียนนอกอดีตเสรีไทย เป็นนายพลหนุ่มอายุเพียง37ปี อนาคตกำลังรุ่งโรจน์  เป็นหัวหน้าคณะ ชักจูงนายทหารระดับเสนาธิการกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกคณะรัฐประหารย้ายออกไปจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ลูกน้องของตนเสียบเข้าแทนที่  วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อกำจัดพวกทหารนักปฏิวัติเหล่านั้น และจะปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรมต่อไป หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมในคณะนี้คือพ.ท.โพยม จุลานนท์ ที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยถึงขั้นลาออกจากกองทัพบกไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่เพชรบุรี ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา เมื่อนายควงถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออก พ.ท.โพยมโกรธมาก จึงเข้ามาสมทบ กำหนดวันลงมือปฏิบัติการในวันที่1ตุลาคม2491 ในคืนที่จะเลี้ยงฉลองงานแต่งงานของพล.ต.สฤษดิ์กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ซึ่งประมาณว่าตัวบิ๊กๆในคณะรัฐประหารจะมาพร้อมหน้า ก็จะลงมือจับกุมทุกคน ปรากฏว่ามีคนหักหลังเสียก่อน เอาความลับไปบอกจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ให้ทราบแผนการ จึงจับกุมผู้คิดกบฏในคืนวันที่30กันยายนทั้งหมดยกเว้น พล.ต.เนตรและพ.ท.โพยมหลุดรอดไปได้สองคน

ต่อมารัฐบาลประกาศจับนายทหารทั้งสอง ซึ่งพล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจก็ถือโอกาสใส่ร้ายป้ายสีด้วยความชำนาญว่า นายปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกบฏครั้งนี้โดยต่อท่อน้ำเลี้ยงผ่านญาติชื่อนายอรรถกิตติ พนมยงค์เป็นเงิน10ล้านบาทเพื่อเป็นทุนก่อการ

ส่วนผู้ต้องหาคดีกบฏนี้ที่ถูกจับได้ คณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องราวไปให้กรมตำรวจ หลังจากทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ส่งสำนวนต่อไปให้กรมพระธรรมนูญดำเนินการต่อ แต่เจ้าพนักงานกรมพระธรรมนูญเห็นว่าเป็นเรื่องที่ ยังไม่มีความผิดปรากฎ จึงสั่งไม่ฟ้อง เป็นอันว่า พวกกบฎเสนาธิการถูกปล่อยเป็นอิสระภาพไป.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:46

“กบฎแบ่งแยกดินแดน”

หลังจากเหตุการณ์กบฎเสนาธิการ 1 ตุลาผ่านพ้นไปได้ไม่นาน ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม ถึงต้นเดือนเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิด “กบฎแบ่งแยกดินแดน” ขึ้นมาอีก เริ่มจากการจับกุม นายฟอง สิทธิธรรมส.ส.อุบลราชธานี ที่ลักลอบส่งคนไปศึกษาวิชาทหารที่คุนมิง แล้วกลับมาทำการยุยงชาวบ้านให้แยกอีสานเป็นรัฐอิสสระจากราชอาณาจักรไทย

ต่อมาได้จับนายทิม ภูริพัฒน์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายฟอง สิทธิธรรม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวนแล้วก็จะสั่งฟ้องเฉพาะนายเตียง ศิริขันธ์ และ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เท่านั้น ที่เหลือปล่อยไป ซึ่งต่อมานายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ได้รับการปลดปล่อยอีกเพราะไม่มีหลักฐานอะไรจะเอาผิด

อย่างไรก็ดี จอมพล ป. ได้ใช้โอกาสในการจับกุมผู้ต้องหาเป็นกบฎนี้ แถลงทางวิทยุกระจายเสียงเชื่อมโยงกับนายปรีดี และบอกว่า รัฐบาลทราบแผนการณ์ที่นายปรีดีเตรียมการจะปฎิวัติดีอยู่แล้ว และยังเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงจุดปะทะหากรัฐบาลจำเป็นต้องกระทำการเพื่อรักษาความสงบ หลังจากนั้นจอมพล ป.ได้พยายามขอออกกฎอัยการศึกแต่สภาไม่เห็นด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:51

“กบฎ 23 กุมภา”

เช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 พ.อ.ศิลป รัตนพิบูลชัย เจ้ากรมรักษาดินแดน ได้เข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และกระซิบรายงานให้จอมพล ป. ทราบว่า รถถัง 6 คัน พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ กำลังมุ่งหน้ามายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อหวังสังหารคณะรัฐมนตรีทั้งชุด

แต่เพราะพล.ต.สฤษดิ์ ได้ทราบแผนล่วงหน้าก่อน จึงได้ทำการยับยั้งไว้ได้ หลังการจับกุมทหารชั้นผู้น้อยกลุ่มนั้นแล้ว พล ต.ต.เผ่า ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปรามได้ทำการกวาดล้างจับกุมบุคคลต่างๆที่มีความเข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเช่น พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนายปรีดี และทหารอีกหลายคน เพื่อนำไปสอบสวน

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีคำสั่งให้ทั้ง 3 กองทัพเตรียมพร้อม และปิดถนนสายสำคัญๆหลายสาย เช่น ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ทำเนียบรัฐบาล ถนนสายบางกระบือ ร. พัน 3 จากสะพานควายถึงบางซื่อ และยังได้นำรถถังออกมาวิ่งเพ่นพ่านตามถนน เพื่อเตรียมการปราบกบฏ
นี่เป็นเหตุการณ์กบฏที่ไม่ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เลยไม่ทราบว่าที่ทหารเอารถถังมาขับบนถนนเป็นเรื่องจริงหรือแค่เล่นละครต้มคนดู

อย่างไรก็ดี ทันทีที่มีข่าวเหตุการณ์กบฎเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 รัฐบาลก็รีบประกาศภาวะฉุกเฉินในวันเดียวกันนั้น แล้วยังได้ออกแถลงการณ์ตักเตือนหนังสือพิมพ์ให้คำนึงถึงความสงบของประเทศ อย่าเขียนโฆษณาใดๆที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเป็นอันขาด ถ้าฝ่าฝืน และแสดงตนเป็นปริปักษ์ต่อความสงบสุขของชาติต่อไปแล้ว รัฐบาลจะต้องดำเนินการเท่าที่เห็นสมควร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 14:56

“กบฏวังหลวง”

ตอนแรกนายปรีดีหลังจากลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนได้ระยะหนึ่ง ทราบว่าเมืองไทยมีแต่ข่าวร้ายๆเพื่อป้ายสีให้ตนหลุดวงโคจรทางการเมืองให้ได้ โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่นายปรีดีต้องการกลับมาสู้คดี จึงพยายามติดต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลและ ในราชการเช่นพล.ต.ต เผ่า ศรียานนท์ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอให้คุ้มครองประกันความปลอดภัยแต่ได้รับการปฏิเสธ จึงตัดสินใจเลือกวิธีโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลัง จากทหารเรือ และ"กองทัพพลเรือน"อดีตเสรีไทย

นายปรีดี พร้อมด้วย ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขานุการส่วนตัว และคณะเดินทาง ออกจากกวางตุ้ง เมื่อ 10 มกราคม 2492 โดยเรือสัญชาติอเมริกัน และมาถึงน่านน้ำไทยทอดสมอนอกเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพให้นำเรือยนต์ไปรับเมื่อ 22.00 น. ของวันที่13 กุมภาพันธ์2492 ตามที่ติดต่อประสานไว้

แผนการยึดอำนาจของนายปรีดี เป็นปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบพร้อมกัน เพื่อยึดสถานที่ยุทธศาสตร์ จับกุมบุคคลสำคัญ ปิดล้อมกองพันต่าง ๆ แล้วทำการปลดอาวุธ จากนั้นจึงล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่
 
แผนแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการเพื่อรวมพล โดยส่งคนไปนัดหมายสมาชิกเสรีไทยประมาณ 50 คน ว่าจะมีงานเลี้ยง ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เวลา 19.00 น. ที่มหาวิทยาลัย

แผนต่อไปคือ เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว เหตุผล เพราะมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง และฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าใช้อาวุธหนักเข้าทำการปราบปราม และที่สำคัญคืออยู่ติดกับกองเรือรบ

ส่วนกองบัญชาการคุมกำลังของทหารเรือ และเป็นคลังสรรพาวุธอันนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง กำลังอีกส่วนหนึ่งให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร.พัน1. เพื่อเป็นการตรึงกำลังไว้ เมื่อกำลังส่วนต่างๆเข้ายึดสถานที่ดังกล่าวได้แล้ว กลุ่มเสรีไทยเก่าก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบโดยเร็วที่สุด โดยนายชาญ บุนนาค จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยหัวหินเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวนอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ  พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนมารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:00

ทหารเรือนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับนายปรีดีเลย แต่จากการที่ทหารบกและทหารเรือมีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้งกันมาก่อน จึงได้มีการเคลื่อนพลใหญ่ ทั้งจากหน่วยนาวิกโยธิน กองเรือรบ และกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ อ้างว่าเพื่อทำการซ้อมรบ ส่วนทหารบกก็ไม่น้อยหน้า มีการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริงในระยะเดียวกัน เรียกว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

ขณะนั้นรัฐบาลซึ่งพอทราบระแคะระคาย เกี่ยวกับการกลับมาของนายปรีดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นแล้วในตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มี การเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญ
 
แผนของนายปรีดีผิดตั้งแต่กำลังนาวิกโยธินจากจังหวัดชลบุรี ที่เตรียมมาปฏิบัติการข้ามแม่น้ำบางปะกงมาไม่ได้ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสพาน แพขนานยนต์ติดแห้งที่ท่าข้าม ต้องรอน้ำขึ้น

20.30 น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการ  ได้เคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงหน้าประตูวิเศษไชยศรี ก็ร้องเรียกให้ผู้กองรักษาการณ์ ร.พัน.1 ประจำพระบรมมหาราชวัง ออกมาพบแล้วเอาปืนจี้ จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ตามแผนแล้ว นายปรีดี กับพรรคพวกได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่ให้กระจายข่าวเมื่อเวลา 21.15 น.ว่าได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:06

คำแถลงการณ์จากวิทยุดังกล่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว คนกรุงเทพต่างรีบกลับบ้านกันจ้าละหวั่น บรรดาผีเสื้อราตรีทั้งหลายต่างบ่นกันพึม

จุดแรกที่พวกนายปรีดีจะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จำรัส จำรัสโรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน ด้วยคำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้ให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธพ.อ.จำรัสยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณเสียด้วย ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป

23.00 น. ฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้า
02.00 น. พล.ต.ต.เผ่า ได้นำกำลังตำรวจ ได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไท และยิงพันตรี โผน อินทรทัต ซึ่งเป็นฝ่ายนายปรีดีตาย แต่ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องส่งถูกถอดออก จึงย้ายไปส่งกระจายเสียงประกาศของจอมพล ป. จากสถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร แจ้งว่ารัฐบาลได้แต่งตั้งให้ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้ และให้ประชาชนอยู่ในความสงบ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:13

ในด้านสะพานเฉลิมโลก (ตรงประตูน้ำ) อันเป็นแดนแบ่งเขตรักษาการณ์ที่ตกลงกันแต่ดั้งเดิมระหว่างทหารบกและทหารเรือ หรือเป็นพื้นที่ร่วม ได้เกิดการเข้าใจผิดจนปะทะกันและลุกลามใหญ่โตเป็นสงครามกลางเมือง เมื่อเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจทหารเรือ ขอเข้าไปตรวจในเขตนั้นแต่ทหารบกไม่ยอม เกิดการโต้เถียงและยิงกันจนเรือตรี ประภัทร ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ทำให้น.อ.ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งท่านมีนิสัยรักลูกน้องยิ่ง เกิดความเจ็บแค้น จึงออกอากาศทางสถานีวิทยุของกองสัญญาณทหารเรือ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งว่า ทหารบกกระทำแก่ทหารเรือจนสุดจะทนทานแล้ว ขอให้ทหารเรือกระทำตอบแทนบ้าง โดยให้เรือรบทุกลำเข้ามาในพระนครเพื่อทำการต่อสู้กับทหารบก เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของทหารเรือเอง การปลุกเร้านี้ได้ผล แม้กระทั่งเรือรบที่กำลังฝึกทางทะเลก็ยังบ่ายหน้ากลับเข้ามา

การต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างทหารบกและทหารเรือจึงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจที่ทหารเรือถูกทหารบกยิง มิใช่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายปรีดีแต่อย่างใด ดังเช่นกองพันนาวิกโยธิน ที่ 4 และ 5 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลแต่อย่างใด การที่ทหารเรือไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ในทุกส่วนนี่เอง เป็นผลให้นายปรีดี ต้องประสพความพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา

เวลา 02.00 น.พล.ต. สฤษดิ์ สั่งการให้ปิดล้อมพระบรมมหาราชวัง 3 ด้าน ยกเว้นด้านกองเรือรบ และบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชย รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คันก็พุ่งเข้าชนจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรง

อีกด้านหนึ่งกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ พอเวลา 06.00 น. ได้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่ประตูสวัสดิ์โสภาและเทวาพิทักษ์พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก ฝ่ายกบฎจึงตกอยู่ในฐานะลำบาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:23

นายปรีดี ในชุดพันจ่าเอกไว้หนวด ร.อ.วัชรชัยและชนชั้นหัวหน้า พากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูเทวาภิรมย์ ด้านท่าราชวรดิษฐ์ แม้ว่าผู้ก่อการชั้นหัวหน้าจะหนีไปแล้ว แต่ทหารบกกับทหาร เรือยังยิงกันต่อไป จนสายก็ยังไม่หยุดกว่าผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายจะตกลงหยุดยิงกันได้ก็เป็นเวลา10.15 น. และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังกลับสู่ที่ตั้งของตน

นายปรีดี ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทยต่อไปอีกประมาณหกดือน จึงได้อาศัยเรือหาปลาเล็ก ๆ ลำหนึ่ง เดินทางไปสิงคโปร แล้วเดินทางโดยเรือเดินสมุทรไปฮ่องกง และต่อด้วยรถยนต์ไปซิงเตา นายปรีดีขอลี้ภัยอยู่ในจีน 21 ปี แล้วต่อมาก็ย้ายไปพำนักที่ฝรั่งเศสอีก 13 ปี จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ22 พ.ค.2522

ในเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันนี้ ตำรวจได้ถือโอกาสจับนักการเมืองในสายของนายปรีดี4 คน คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย  นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นในอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม ถูกจับกุมตัวในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส. ซึ่งได้หลบไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ถูกจับในเมื่อ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง โดยตำรวจตรวจยึดเอกสารระหัสลับเพื่อโทรเลขของฝ่ายกบฏได้ จึงส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ แต่ตำรวจก็เอาไปยิงทิ้งเสียที่หน้าวัดมหาธาตุ บางเขน แล้วป้ายสีให้โจรจีนมลายูอย่างหน้าตาเฉย

อำนาจและอิทธิพลของนายปรีดีในประเทศไทยจึงแทบจะกลายเป็นศูนย์ไปเลยในยกนี้ โอกาสที่จะกลับมาเล่นเกมการเมืองแรงๆอีกจึงไม่มี



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 15:32

"กบฏแมนฮันตัน"

การปะทะระหว่างทหารบกและทหารเรือในเหตุการณ์กบฎวังหลวง ทหารเรือส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเองเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล ที่มีเหตุมาจากความก้าวร้าวของทหารบก แม้เหตุร้ายจะยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยรอมชอมไปแล้วก็ตาม ความไม่พอใจของทหารเรือที่สะสมเป็นระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากการที่ทหารบกเข้ามาคุมอำนาจทางการเมือง และออกคำสั่งที่ทหารเรือไม่สามารถฝืนใจปฏิบัติได้เช่น ในกรณีกบฏบวรเดช ให้เอาเรือปืนไปจอดหน้าสะพานพระรามหกเพื่อระดมยิงสนามบินดอนเมือง และจับผู้บัญชาทหารเรือในข้อหากบฏหลังปฏิเสธคำสั่งนั้นเป็นต้น  ต่อมาทหารบกก็ยังได้ถือโอกาสเข้าแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารเรือเข้ารับราชการในตำแหน่งสูงๆ เอาพรรคพวกของตนมาเป็นใหญ่อยู่ตลอด เมื่อจอมพล ป. ทำการรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ทหารเรือเห็นว่ามิได้กระทำการอะไรเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองเลย นอกจากเป็นเผด็จการแบบเดิมๆ ด้วยการใช้ “กองทัพตำรวจ” ข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้มนุษยธรรม เช่นดคีสังหาร4นักการเมืองเป็นต้น ความค้างคาใจของทั้งสองฝ่ายจึงรอโอกาสที่จะประทุครั้งใหม่เท่านั้นเอง
 
เหตุการณ์บ้านเมืองต่อมาในปี2493ไม่มีความวุ่นวาย เพราะเป็นปีมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเสด็จนิวัติประเทศไทยอย่างถาวร

แต่ในปีถัดไป โอกาสที่รอคอยอยู่ก็เกิดขึ้น เมื่อจอมพล ป. จะเหยียบถิ่นของทหารเรือเพื่อเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดลอกสันดอน"แมนฮันตัน" จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 มิถุนายน  2494 ที่ท่าราชวรดิตถ์ ต่อหน้าทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ และบรรดาแขกรับเชิญที่จะมาร่วมเป็นเกียรติคับคั่ง


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง