เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 27
  พิมพ์  
อ่าน: 160697 จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 12:21

เรื่องสืบเนื่องจากที่คุณPTBTพาดพิงขึ้นมา ผมขอเอาผลของเรื่องจากบลอคของมติชนนี้มาลงให้เป็นบทสรุป


การถอดยศ"พลตำรวจจัตวา-พล.ต.จ."  เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 12 กันยายน 2505 ลงนามโดย พล.อ.ถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี ให้ถอดยศตำรวจ "พล.ต.จ. ทม  จิตรวิมล "และ"พล.ต.จ. ผาด ตุงคะสมิต" ประจำกรมตำรวจ กระทำความผิดในคดีอาญาฐานสมคบกันฆ่าคนตาย ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต คดีถึงที่สุดแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ถอด"พล.ต.จ. ทม  จิตรวิมล "และ"พล.ต.จ. ผาด ตุงคะสมิต" ออกเสียจากยศตั้งแต่บัดนี้เป็นไป
น่าสนใจว่า คดีที่ 2 นายพลตำรวจสมคบกันก่อขึ้นคือ คดีอะไร
 
จากการตรวจสอบพบว่า เป็นคดีดังและอื้อฉาวสุดๆ เมื่อเกือบ 60 ปี ในยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และสมุน"อัศวินแหวนเพชร" เรืองอำนาจ เนื่องจากมีการอุ้มฆ่าอดีตรัฐมนตรี 4 คน ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม

ข้อเท็จจริงของคดีโดยสรุปมีดังนี้ ก่อนเกิดเหตุอดีต รัฐมนตรี  4 คน คือ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล ได้ถูกจับกุมในคดีกบฎยึดวังหลวงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 และถูกควบคุมตัวไว้ แล้วนำไปแยกขังตามสถานีตำรวจนครบาลต่างๆ
ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2492 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจในฐานะผู้อำนวยการสอบสวนพิเศษ ได้สั่งให้ พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิต กับพวก นำตัว 4 อดีตรัฐมนตรีซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาไปขังที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน
 
พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิต กับพวกจึงไปรับตัว 4 อดีตรัฐมนตรีที่กองตำรวจสันติบาล สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เพื่อจะพาผู้ต้องหาทั้ง 4 ไปขังที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ขณะควบคุมตัวไปโดยรถยนต์หลายคันถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ถนนประชาธิปัตย์ (พหลโยธิน) หลักกิโลเมตรที่ 14  ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ใกล้กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ขณะนั้นเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 4 มีนาคม 2492  อดีตรัฐมนตรีและเจ้าพนักงานตำรวจได้ยิงต่อสู้ ต่อมาคนร้ายได้หลบหนีไป ปรากฏว่า4  อดีตรัฐมนตรีซึ่งอยู่บนรถยนต์ดังกล่าวถูกยิงถึงแก่ความตายขณะถูกใส่กุญแจมือ แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สอบสวนดำเนินคดีกับ พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิต กับพวก ซึ่งควบคุมอดีตรัฐมนตรีไปขณะเกิดเหตุ มีการส่งฟ้องศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
สำหรับนายตำรวจยศพันตำรวจเอกคือ พ.ต.อ.ทิพย์เจริญ ชูเวช อดีรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ต้องคดีอาญา ถูกประกาศถอดยศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 17:33

จากบันทึกของนายสำเภา สิริสัมพันธ์ ผมเห็นว่าสะท้อนภาพพวกอัศวินระดับหัวแถวได้ดี จึงเอามาลงไว้ ส่วนเรื่องพุทธคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลกันเองนะครับ ขอให้ดูว่าผลมันเกิดจากเหตุอะไรประกอบไปด้วย อย่างไรก็ดีสมัยนั้นพระสมเด็จมิได้มีราคาเป็นล้านๆเช่นปัจจุบัน มิฉนั้นคุณสำเภาคงจะได้ตายเพราะราคาพระนี่แหละ ไม่ใช่อื่น


….เหตุการณ์วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ได้มีการจับกุมนักการเมืองครั้งใหญ่ 276 คน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยในข้อหากบฏ พวกอัศวินของกรมตำรวจ สมัย พล.ต.อ.เผ่า ทำเรืองเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่กวาดล้างคอมมิวนิสต์เพราะงบประมาณจากอเมริกา เข้ามาจำนวนมาก ข้าพเจ้าเลยถูกจับไปด้วยทั้งๆที่ ไม่รู้จักนักการเมืองเลยเพียงมีเพื่อนเป็นนักปฏิวัติเท่านั้น

อัศวินของกรมตำรวจ ชื่อ พ.ต.ท.อรรณพ พุกประยูรซึ่งความจริงก็เป็นเพื่อนเทพศิริทร์ของข้าพเจ้าพร้อมด้วย ร.ต.ท.ประชา พูนวิวัฒน์ มาเบิกตัวข้าพเจ้าหลังจากจับมา 2 เดือน ไม่ได้ความคืบหน้าอะไรเลย ข้าพเจ้าจะไม่ยอมไปเพราะเป็นเวลากลางคืน และไม่สบายอยู่ด้วยอีกอย่างได้ข่าวว่ามีการนำตัวไปสอบสวน และซ้อมให้รับสารภาพหรือฆ่าทิ้งไปก็หลายคน แต่ก็ไม่กลัวเพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกันมาคงไม่ทำอะไรจึงแต่งตัวและไม่ลืมพระสมเด็จติดตัวไปด้วย

เมื่อขึ้นรถของพ.ต.ท.อรรณพ พุกประยูร เขาก็พูดขึ้นว่า ต่อไปนี้ข้ากับเอ็งหมดความเป็นเพื่อนกันแล้ว มีอะไรก็ให้การไปอย่าคิดว่าจะได้รับการช่วยเหลือ ถ้าบอกความจริงและยอมเซ็นชื่อแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ยอมก็มีเรื่องกันละวันนี้ ข้าพเจ้านิ่งพูดไม่ออก ไม่รู้ว่าจะมาไม้นี้ตอบได้เพียงว่า ผมไม่รู้เรื่องเลยจริงๆเขาพูดว่าปากแข็ง ดีแล้วไม่ยอมให้การจนถึงท่าวาสุกรี มีเรือชื่อพิชิตธุรการเป็นเรือตรวจฝั่งของตำรวจจอดอยู่เขาสั่งว่า เอามันไปลงเรือ แล้วก็แล่นเรือออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเรือมีตำรวจอัศวินหลายคน คือ พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี พ.ต.ท.อรรณพ พุกประยูร พ.ต.ท.พุฒ บูรณสมภพ พ.ต.ท.วิชิต รัตนภานุ ร.ต.ท.ประชา พูนวิวัฒน์ และพวกตำรวจสันติบาลเด็กๆประมาณ 3 คน คอยรับใช้อยู่นอกห้องเคบิน

อัศวินอรรณพ เริ่มสอบสวน ให้ข้าพเจ้าเซ็นชื่อในคำให้การที่พิมพ์มาแล้วและจะให้ประกันตัว กันเป็นพยาน ข้าพเจ้ารู้ดีว่าถ้าเซ็นไปจะมีคนเดือดร้อนอีกมากเช่น น.ต.มนัส จารุภา กับพวกทหารเรือ น.อ.ต.พร่างเพชร บุณยรัตพันธ์ กับพวกทหารอากาศพ.ท.สาลี่ ร.อ.พิมพ์ กับพวกทหารบกซึ่งถูกจับรวมกันตั้งข้อหาว่า ร่วมกันกับขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์อีก 30 คนพร้อมด้วยท่านผู้หญิงพูนศุขกับลูกๆ และพวกอิสานสัมพันธ์ ข้อหาแบ่งแยกดินแดน
นอกจากนี้ยังมี นักหนังสือพิมพ์ เช่น อารีย์ ลีวีระ นายสละ ลิขิตกุล นายอุทร พลกุล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายเจริญ สืบแสงในข้อหาว่าเป็นหัวหน้าแบ่งแยกดินแดนจังหวัดปักษ์ใต้ พร้อมพวก อีก 30 คน

เมื่อข้าพเจ้าไม่เซ็นคำให้การ พ.ต.ท. อรรณพ ก็ตบหน้าข้าพเจ้าอย่างแรงแล้วพูดว่า มึงปากแข็งดีนัก ดีแล้วอย่าอยู่เลย จะจัดการเสีย แล้วทุกคนก็ออกจากห้องเคบิน สักครู่ เขาก็เข้ามาด้วยอาการเมา มีคนโยนมีดโกนเป็นสนิมอันหนึ่งลงมาเขาพูดว่า สส.พร ก็ตายด้วยมีดโกนอันนี้ แล้วถูกใส่กระสอบถ่วงน้ำไว้ในทะเลแถวนี้ มึงอยากตายตามสส.พรใช่ไหม ใคร ๆ เขาว่ามึงมีพระดีใช่ไหม แล้วเขาก็เอามีดโกนเขี่ยสร้อยพระสมเด็จที่คอแล้วพูดต่อว่า จะได้รู้กันว่าพระจะแน่หรือมีดโกนจะแน่กว่าถ้ามึงไม่ยอมเซ็น ก็จะได้รู้กันละ ทันใดนั้น ร.ต.ประแสร์ อุณจิตร ต้นกลเรือ พร้อมด้วยลูกเรือ 6 คน เข้ามาอ้อนวอนว่า ท่านรองผมขอเถอะครับ คนๆนี้มีบุญคุณกับพวกผม ถ้าจะทำอะไรไปทำลำอื่นเถอะครับ

ในเวลานั้นเอง เกิดพายุพัดกระหน่ำเรือพวกอัศวินทั้งหลายวิ่งเข้ามาในเรือ เมาเรืออ้วกแตกสลบไปทุกคน ผมจึงรอดมาได้

http://romphosai.com/forums/forum10/thread6297.html


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 17:49

คดีสี่รัฐมนตรี มีเงื่อนงำที่ยังน่าสงสัยอยู่บางประการ  เคยเล่าไว้ในอีกกระทู้หนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงพ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ    ขอยกมาเล่าในกระทู้นี้เพื่อความต่อเนื่อง
คดีนี้ตอนแรกเงียบ   จนจอมพลป.หมดอำนาจจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คดีจึงถูกรื้อฟื้นดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 ผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวาผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ โดยศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และร.ต.ท.ธนู ศาลยกฟ้อง แต่ก็ยังมีเสียงกระซิบดังๆว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง ตัวจริงยังลอยนวลเป็นแขนขาให้จอมพลสฤษดิ์อยู่

ในหนังสือ "13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" ของ พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย
การสั่งสังหารบุคคลสำคัญระดับสี่รัฐมนตรี ต้องผ่านการประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด คือถึงขั้นจบชีวิตผู้ต้องหา

อ่านแล้ว  ก็คงพอจะมีคนเดาออกว่าตัวการตัวจริงที่รอดไปได้ น่าจะเป็นใคร
****************
ยกค.ห.ข้างล่าง ของดิฉัน ต่อจากของคุณนวรัตน    ขึ้นมาต่อท้ายค.ห.นี้แทน  เพราะมันควรอยู่ก่อนที่คุณนวรัตนเล่า   ไม่งั้นสลับที่กัน คนอ่านจะงง

ขอขยายพื้นที่หน่อยค่ะ
กบฏสันติภาพ ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลจอมพล ป. ในปี 2495 ก็จริง  แต่แม่ทัพที่เป็นหัวหอกทะลวงฟันคือกรมตำรวจ รวบผู้ต้องหาในวันเดียวถึง 104 คน  แล้วแถลงการณ์ว่า

 "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

จากนั้น  ก็ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มอีกหลายระลอกจนถึงกลางปี พ.ศ. 2496    ผู้ต้องหามีพระภิกษุรวมด้วยคือพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ ถึงขั้นจับสึกกันเลยทีเดียว  เพราะท่านไปเป็นรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย  ที่ตั้งขึ้นเพื่อคัดค้านสงครามเกาหลี ร่วมกับชาติอื่นๆที่เกรงสงครามโลกครั้งที่ 3  จะเกิดขึ้นอีก

กลับจากประชุม  คณะกรรมการสันติภาพเลยเจอข้อหาหนัก  โดนกวาดล้างในข้อหากบฏ  รายชื่อคุณนวรัตนนำมาลงไว้แล้ว  จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์      นับเป็นการปราบปรามสื่อครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของไทย     ชนิดที่ว่าหนังสือพิมพ์แทบจะไม่เหลือกันให้อ่าน นอกจากฉบับที่ปลอดภัยเพราะยึดนโยบายลงข่าวอื่น ไม่ได้คัดค้านรัฐบาล

พูดถึงหนังสือพิมพ์ในยุคนี้   ก่อนหน้านี้รัฐบาลเล็งสื่ออยู่แล้วในฐานะกลุ่มที่สามารถเผยแพร่ความคิดคัดค้านรัฐบาลได้กว้างไกลกว่าชาวบ้านธรรมดา  จึงมีการเซนเซอร์งานเขียนแต่ละฉบับอย่างเข้มงวด    คนหนังสือพิมพ์ก็ฮึดสู้  รวมตัวกันตั้ง  “คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์” เพื่อต่อต้าน   ควบคู่ไปกับเรียกร้องสันติภาพและต่อต้านสงครามเกาหลี
ผลก็ที่รู้กัน  อย่างในย่อหน้าข้างบนนี้ คือชาวสื่อก็โดนข้อหาอุกฉกรรจ์ - กบฏภายในราชอาณาจักร   ผู้ที่ถูกจับกุมได้แก่ "ศรีบูรพา"  อารี  ลีวีระ  สุภา  สิริมานนท์  อุทธรณ์  พลกุล  เปลื้อง  วรรณศรี  นเรศ  นโรปกรณ์  สุพจน์  ด่านตระกูล  ผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ได้รับนิรโทษกรรม  ในปี พ.ศ.2500  เนื่องในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 17:59

ใน "กบฏสันติภาพ" ที่คุณนวรัตนเล่า  มีผู้ต้องหาซ้อนอยู่ชุดหนึ่งเรียกว่า "กบฏแบ่งแยกดินแดน"   ถัดจากกบฏเสนาธิการเพียงเดือนเดียว คือ รัฐบาลได้ควบคุมตัว นายทิม ภูริพัฒน์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อดุล นายฟอง สิทธิธรรม นายเตียง ศิริขันธ์ กลุมส.ส.ภาคอีสาน ในข้อหา "กบฏแบ่งแยกดินแดน" เป็นอันผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า พระราชอาณาจักรไทยจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ใดจะทำการแบ่งแยกมิได้
ตำรวจได้กล่าวหากบฏเหล่านี้ว่า..... ชักชวนชายฉกรรจ์ส่งออกไปศึกษาวิชาการทหารที่คุนหมิง ประเทศจีน แล้วกลับมาดำเนินการแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานให้เป็นรัฐอิสระ แต่สภาผู้แทนราษฎรขอให้ทางตำรวจปล่อยตัวนายฟอง สิทธิธรรม เนื่องจากอยู่ในสมัยการประชุมสภาผู้แทน จึงได้รับเอกสิทธิ์ทางกฎหมายนี้ ส่วนนายทิม ภูริพัฒน์ ตำรวจสอบสวนแล้วเห็นไม่มีหลักฐานอะไร จึงปล่อยตัวไป คงเหลือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ ที่นำตัวฟ้องศาลต่อไป
    ขณะที่ทำการจับกุมกบฏแบ่งแยกดินแดนนั้น รัฐบาลโดยจอมพล ป.ได้กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุแจ้งให้ประชาชนว่ามีผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองคบคิดกันเพื่อทำกบฏ รัฐบาลพยายามชักจูงคนเหล่านี้ให้กลับมาช่วยกันสร้างชาติ แต่ไม่เป็นผล การนองเลือดเป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้        รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อความสงบของประเทศและรักษาไว้แห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
       จากนั้นนายทองอินทร์ นายเตียงและอีก ๒ คน ที่รู้ชื่อกันแล้ว   ก็ถูกตำรวจนำตัวไป     ระหว่างทางโจรที่ไหนไม่รู้ มาจากไหนก็ไม่รู้ เกิดจู่โจมเข้ามา  เกิดยิงต่อสู้กันเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกกระสุนตายเรียบ   ฝ่ายตำรวจปลอดภัย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 18:20

"บันทึกนักโทษการเมือง"

ไพศาล มาลาพันธ เป็นตนปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีใจรักการอ่าน รวมทั้งได้เขียนเรื่องต่างๆ โดยได้ทำงานใกล้ชิดกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนได้รับฉายาว่า “อารักษ์ประจำตัว”ใน พ.ศ. 2485 ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพ ร่วมกับนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ  และลี้ภัยการเมืองเข้าป่าเป็นเวลานานถึง 25 ปี ซึ่งขณะอยู่ในป่าก็ยังทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ ไฟลามทุ่ง

ไพศาล มาลพันธ์ กลับคืนสู่เมือง ตามนโยบาย 66/23 และมีผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ทั้งเรื่องสั้น บันทึก สารคดี และวิชาการ หลายเรื่อง เช่น จากนาครสู่วนา วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ตำราแทงเข็ม-รมยา และสรุปบทเรียนจากประสบการณ์  ที่มีชื่อเสียงอีกเล่มหนึ่งคือ บันทึกนักโทษการเมือง
ผู้ใดได้อ่านวิธีการซ้อมผู้ต้องหาสมัย 2496 จากหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาทางการเมือง ที่รัฐมองว่าเป็นศัตรูของชาติ หรือยัดเยียดข้อหา "คอมมิวนิสต์" ให้.. เพราะ มีตั้งแต่ จับหัวกระแทกกับโต๊ะ ใช้มีดกรีดหนังหัว ชกลม(มัดมือด้วยเชือก ให้ตัวห้อยเป็นกระสอบทราย)  ชมวิว(พานั่งรถออกไปนอกสถานีตำรวจตอนกลางคืน แล้วพูดทำนองว่าจะยิงทิ้งเหมือนนักการเมือง 4 คน ที่โดนจัดการไปแล้ว)  ลงน้ำ(ใส่ถังทิ้งทะเล เหมือน นายพร มะลิทอง หรือ หะยี สุหรง แห่งปัตตานี) และการซ้อมนักโทษในยุคทรราช ถีบลงเขา เผาลงถังแดง เป็นต้น

ตอนหนึ่งจากหนังสือเล่มนั้น

ดึกคืนหนึ่ง เขา (ประสิทธิ์ เทียนศิริ เด็กหนุ่มปักษ์ใต้ วัย 23 ปี ที่ถูกจับในข้อหา ทำการเป็นคอมมิวนิสต์) ถูกเบิกตัวไปสอบสวนอีกเขานั่่่่่่่่่่่่่งเก้าอี้หน้าโต๊ะพนักงานสอบสวน สอบไปสอบมา พ.ต.ต. พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี (ยศขณะนั้น) ลุกขึ้นมานั่งบนโต๊ะ ห้อยเท้ายันหัวเข่าของเขาไว้ มือซ้ายจิกผมแน่น มือขวาจับมีดซุยเงื้อขึ้นเหนือหัว...
"มึงเอาหนังสือนี้มาจากใคร ?!"
".................................."
ฉึก !
มีดปลายแหลมปักลงกลางหัว แล้วกรีดลงไปถึงต้นคอ เลือกทะลักปรี่ไหลลงไปบนเสื้อสีขาว แดงฉาน...
"มึงจะบอกม่าย !"
"..................."
ฉึก ! ฉึก !
เลือดไหลเปื้อนเสื้อทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
"อ้าว เอามันไปขังต่อไป ให้มันนอนคิดอีกคืน คืนพรุ่งนี้พาไป ชมวิว มันจะรู้จักกูเสียที !"...


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 19:17

วันนี้ โพสต์ชนเข้ากับคุณนวรัตน หลายโป๊กด้วยกันในกระทู้นี้    ถือโอกาสตอนค่ำ ท่านคงกำลังกินดินเนอร์ มาเล่าแยกซอยออกไปอีกหน่อย
ถ้าไม่เล่าถึงพลต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กระทู้จะขาดสีสันเข้มข้นไปมาก

อธิบดีตำรวจคู่ใจของจอมพลป.  เป็นลูกเขยจอมพลผิน ชุณหะวัน  เท่ากับท่านมีแบ๊คชั้นเยี่ยมทั้งนายและพ่อตา    เป็นคนที่ปรับโครงสร้างกรมตำรวจให้กว้างใหญ่ไพศาลเป็นประวัติการณ์  มีทั้งตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจรถไฟ ตำรวจม้า ตำรวจรถถัง ถึงขั้นมีธงไชยเฉลิมพลเช่นเดียวกับกองทัพ    พูดง่ายๆคือในยุคนั้น  เรียกว่าเรามีกองทัพตำรวจก็ไม่ผิดนัก

นอกจากจับกุมกวาดล้างปรปักษ์ของรัฐบาลอย่างแข็งแกร่ง  อาจจะยิ่งกว่าสมัยพลต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส    ตำรวจในยุคนี้สาดน้ำมันขยายกองเพลิงใหญ่ในภาคใต้ คือจับหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์หัวหน้าใหญ่ของปัตตานีไปถ่วงน้ำหลังจากติดคุกอยู่ 3 ปี  6 เดือน   เพื่อจะดับไฟใต้ให้สงบ  แต่กลับเป็นตรงกันข้าม
รายละเอียดดิฉันจะข้ามไป รอท่านกูรูใหญ่กว่าเผื่อท่านจะมาเล่าเอง     ถ้าท่านไม่เล่าก็ไม่เป็นไร   เรื่องของจอมพลป. มีให้เล่าได้สนุกได้อีกแยะ

นโยบายอีกอย่างที่ไม่ได้ประกาศเป็นทางการ แต่รู้ๆกันคือตำรวจเลี้ยงนักเลงไว้ปราบนักเลง    นักเลงฝ่ายตำรวจเดินเข้าออกกองปราบปรามสามยอดเป็นว่าเล่น   คนกลุ่มนี้เอง เป็นที่มาของคำว่า "นักเลงเก้ายอด"
นักเลงในสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 พวกคือนักเลงจีนกับนักเลงไทย     นักเลงจีนมาจากคนจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาไทยแบบเสือผืนหมอนใบ      ส่วนใหญ่มาอยู่กันย่านเยาวราช บางส่วนก็ไปเป็นคนงานเมืองแร่ที่ภูเก็ต  ใช้แรงงานและค้าขาย  หาเงินตั้งตัวได้ไม่อดตาย  
ในเมื่อหลั่งไหลกันมามากเข้าเพราะเมืองไทยอุดมสมบูรณ์   พวกคนชั่วที่เข้ามาด้วยก็สบช่องทาง ไม่ต้องทำมาหากิน   แต่ตั้งแก๊งค์รีดไถ เก็บส่วยเอากับคนจีนที่มาทำมาหากิน เรียกว่าเก็บกันเป็นรายหัวไปเลย ไม่ให้ก็ใช้วิชามาร ทำร้ายร่างกาย ต่อมาก็ตัดนิ้วบ้าง ท้ายสุดก็ฆ่าทิ้ง
ในเมื่อเมืองไทยเป็นถิ่นทำมาหากินคล่อง  คนจีนสุจริตจะหนีก็ไม่ได้ ต้องจำใจจ่ายค่าคุ้มครอง   ปล่อยคนชั่วลอยนวล จนพวกนี้ได้ใจส่งข่าวไปยังสมัครพรรคพวก ให้แห่กันมาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นก๊อดฟาเธอร์จีน เรียกว่าแก๊งค์ "ลั้กกั้ก"

พวกนี้มีอิทธิพลไม่น้อย  ตำรวจไทยปราบไม่สำเร็จ  ก็เลยใช้วิธีโจรปราบโจรแทน

นักเลงไทยเป็นเจ้าถิ่นมาแต่เดิม  เห็นนักเลงจีนกำแหงหนักขึ้น ก็รวมตัวเป็นแก๊งค์นักเลงไทย เรียกตัวเองว่า "เก้ายอด" คือสักที่ท้ายทอยเป็นยันต์เก้ายอด




หลังจากรวมพลได้ ก็ยกพวกเข้าตะลุยเยาวราช ตีกันฆ่ากันบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายเก้ายอดชนะ  ตำรวจไทยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น จับแต่พวกแก๊งค์จีน  ไม่จับแก๊งค์เก้ายอด
จากนั้นนักเลงเก้ายอดก็กลายมาเป็นพันธมิตรของตำรวจไทย   ไปไหนมาไหนได้ตามสบาย ชาวบ้านเกรงกลัว  เพราะพวกเขาเป็นมือเป็นขาให้ตำรวจ  ในยุคปลายรัฐบาลจอมพลป.ถึงกับเลื่องลือกันว่า อันธพาลเกลื่อนเมือง

อำนาจถ้าหากว่าตะแคงลงไปข้างหนึ่ง  ไม่มีดุลย์มาถ่วงให้พอดีๆ  ก็ย่อมตะแคงได้ไม่นาน ยังไงก็ต้องพาคันชั่งคว่ำคะมำลงไป
ผู้ที่มาคว่ำ  ก็คือกองทัพที่เงียบสงบมาตลอดในยุคอัศวินผยอง     มีอัศวินควบม้าสีเขียวขี้ม้าขึ้นเวทีมาคนหนึ่ง   รังสีเจิดจรัสขึ้นทุกทีในช่วงปลายรัฐบาล    
แต่จะเป็นใคร  ไม่ใช่หน้าที่คนอื่นที่จะเล่า   ต้องเจ้าของกระทู้มาเองค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 20:38

^
ขอเก็บตกแถวนี้อีกหน่อยครับ
.
.
ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับเผ่า ศรียานนท์  ผู้บริหารประเทศบางคนเป็นผู้ค้าฝิ่นเสียเอง  ..ใครขัดขวาง เป็นต้องถูกกำจัด  เช่น กรณีการสังหาร ผู้การสันติบาล พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข  ซึ่งมีที่มาที่ไปดังนี้

ท่านผู้อ่านคงจำเรื่องราวของกบฏวังหลวงได้ เหตุการณ์นั้นมีนายตำรวจชื่อพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เคยร่วมงานกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกกบฏ โดยเช้าตรู่วันที่ 29 กุมพาพันธ์ 2492 กองกำลังฝ่ายจอมพล ป.เข้าตรวจค้นภายในบ้าน พลันเกิดเสียงปืนดังหลายนัด ผู้เข้าจับกุมให้การว่า พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ขัดขืนจึงกลายเป็นศพ และก็เหมือนหลายๆคดีที่ตำรวจมักกล่าวว่าผู้ต้องหาต่อสู้เจ้าหน้าที่พนักงาน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

สมัยผู้การบรรจงศักดิ์ ฯรับราชการที่จังหวัดลำปาง มีการจับฝิ่นเถื่อนจำนวน ๑ ตัน(๑,๐๐๐ กก.) มูลค่าประมาณล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินมหาศาลในตอนนั้น    ฝิ่นจำนวนดังกล่าว ถูกลำเลียงโดยอาศัยใบคุ้มครองที่กรมสรรพสามิตออกให้บริษัทไทยสามิต แต่เป็นการลำเลียงเกินพิกัด และ เคยใช้ใบคุ้มครองลักลอบนำฝิ่นเกินจำนวนหลายครั้ง  มีการตรวจค้นจับกุมนายทุนได้ ทำการสอบสวนเป็นเวลา ๔ วัน  ปรากฎว่าตลอดเวลา มีผู้แทนบริษัทไทยสามิต และ นายทหารยศนายพัน ติดต่อ พ.ต.ต.บรรจงศักดิ์ ฯให้คืนฝิ่นจำนวนดังกล่าว  จนครั้งล่าสุดมีจดหมายจากพล.อ.เผ่า ศรียานนท์ ขอร้องให้คืนฝิ่น แต่ไม่เป็นผล ผู้การท่านนี้กลับดำเนินการตามหน้าที่อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ พล.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก
 
เหตุการณ์ล่วงเลยมา จนกระทั่งพล.อ.เผ่า(ยศเดิมเป็นทหารต่อมาน่าจะเปลี่ยนเป็นพล.ต.อ.)ขึ้นครองอำนาจในกรมตำรวจ ได้เกิดกบฎวังหลวง  พล.ต.อ.เผ่า ฯจึงได้อาศัยเหตุการณ์นั้น สั่งการให้สังหารผู้การสันติบาล พ.ต.ต.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข

อ้างอิง  เพลิง ภูผา.ม.ป.ป.จอมพลผู้พลิกแผ่นดิน:สฤษดิ์ ธนะรัชต์. สำนักพิมพ์ไพริน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 07 ส.ค. 10, 21:53

อ้างถึง
เหตุการณ์ล่วงเลยมา จนกระทั่งพล.อ.เผ่า(ยศเดิมเป็นทหารต่อมาน่าจะเปลี่ยนเป็นพล.ต.อ.

เส้นทางอาชีพของพลต.อ.เผ่า คล้ายกับพลต.อ.อดุลมาก  คือข้ามจากทหารมาเป็นตำรวจ    ท่านเป็นทหารมาจนเป็นพ.อ. จากนั้นก็ข้ามห้วยมาเป็นเสือใหญ่ของกรมตำรวจ

เส้นทางราชการ น่าทึ่งมาก
อายุ 34  ปี  ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอก
อายุ  35 ปี   เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิง และลาออกจากราชการเป็นการชั่วคราว
อายุ  38  ปี  กลับเข้ารับราชการ โดยโอนมาอยู่กรมตำรวจ
อายุ  39 ปี    ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม
อายุ  42 ปี     เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้รับพระราชทานยศเป็น พลตำรวจโท

ตอนท่านเป็นพ.ต.อ.  ขึ้นเป็นรองอธิบดีแล้ว   แล้วพวกพลต.ต. ทั้งหลาย ของกรมตำรวจเขาได้ตำแหน่งอะไรกัน  ฮืม
เป็นอธิบดีตำรวจที่หนุ่มมาก    พอๆกับพลต.อ.อดุลเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 06:46


"ผมจับเพราะผมเป็นตำรวจ"

ขุนพันธ์ฯตอบอย่างไม่สะทกสะท้านต่ออิทธิพลแห่งบุรุษเอกเอเชีย "


ได้ใจไปเต็มๆเลยค่ะ นับถือท่านขุนพันธ์ฯจริงๆ... ยิงฟันยิ้ม


เพียงเพราะ"อำนาจ"หรือยังไงคะ ผู้ยิ่งใหญ่บางท่านในแต่ละสมัย ถึงไม่กลัวเวรกรรมกันเลย...
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 07:44

^
คำถามของคุณคือคำตอบครับ คุณPTBT
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 08:27

จากความคิดเห็นที่ 62 

อ้างถึง
คดีสี่รัฐมนตรี มีเงื่อนงำที่ยังน่าสงสัยอยู่บางประการ  เคยเล่าไว้ในอีกกระทู้หนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงพ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ    ขอยกมาเล่าในกระทู้นี้เพื่อความต่อเนื่อง
คดีนี้ตอนแรกเงียบ   จนจอมพลป.หมดอำนาจจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คดีจึงถูกรื้อฟื้นดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 ผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวาผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ โดยศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และร.ต.ท.ธนู ศาลยกฟ้อง แต่ก็ยังมีเสียงกระซิบดังๆว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง ตัวจริงยังลอยนวลเป็นแขนขาให้จอมพลสฤษดิ์อยู่

ในหนังสือ "13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" ของ พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย

การสั่งสังหารบุคคลสำคัญระดับสี่รัฐมนตรี ต้องผ่านการประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด คือถึงขั้นจบชีวิตผู้ต้องหา

อ่านแล้ว  ก็คงพอจะมีคนเดาออกว่าตัวการตัวจริงที่รอดไปได้ น่าจะเป็นใคร



พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพเป็นหนึ่งในสี่อัศวินแหวนเพชรที่เดินล้อมเผ่าเหมือนจตุรงคบาท ประกอบด้วย

1 พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ
2 พ.ต.อ. อรรณณพ พุกประยูร
3 พ.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี
4 พ.ต.อ. วิชิต รัตนภาณุ

บางครั้งจะปรากฏชื่อพ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ผู้เด็กที่สุดแต่ห้าวหาญพอๆกับรุ่นใหญ่เป็นคนที่5 หลังสิ้นอาชีพตำรวจ พ.ต.ต.ประชาได้ผันตัวมาเป็นนักเขียนปากกาทองมีผลงานมากมายในบรรณพิภพเหมือนกัน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องราวผจญภัยที่ผ่านมาของตนอ่านแล้วดูเป็นพระเอก ตอนวัยรุ่นผมติดหนังสือของพ.ต.ต.ประชางอมแงมอยู่เหมือนกัน แต่แล้วอยู่ๆพี่ท่านก็ผันตนเองอีกทีไปอยู่บางขวางในข้อหาค้ายาเสพย์ติด เกือบโดนประหารชีวิต เล่นเอาแฟนหนังสือหงายหลังตกเก้าอี้ไปตามๆกัน หากขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่จากโทษจำคุกตลอดชีวิตก็คงจะเป็นรุ่นปู่ของนักโทษที่นั่น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 08:31

ผมเอาคำให้การของพยานในศาลมาให้ดูก็แล้วกัน ได้มาจากหนังสือเล่มข้างล่างนี้ครับ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 08:32

.



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 08:34

.



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 08 ส.ค. 10, 08:37

จากคำให้การข้างต้น จะเห็นว่าพยานปากเอกไม่กล้าระบุว่าใครเป็นคนยิง อ้างว่าตนไม่เห็นตอนนั้น แต่หนังสือชุดนี้ เขียนออกแนวดราม่าหน่อยจึงทำให้ความเชื่อถือลดลงไปนิดนึง เพราะคนอ่านจะตะหงิดๆว่า พี่แกจะนั่งเทียนเขียนขึ้นมาเองหรือเปล่า ผมเอาแค่ตัวอย่างมาให้ดูก็แล้วกัน ท่านผู้อ่านก็อย่าเพิ่งเชื่อ ถ้าสนใจจริงๆก็พลิกไปอ่านคำให้การในศาล เปรียบเทียบกันไปเปรียบเทียบกันมาเสียก่อน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 27
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง