เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105476 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 24 ส.ค. 10, 12:14


คุณ Ritti 018   คะ


        หนังสืออนุสรณ์ของภรรยา  ไม่ได้ประวัติของสามีไว้เลยค่ะ

หนังสือที่คุณหลวงเล็กนั่งเฝ้าเป็นปู่โสม   และดิฉันมีกระจัดกระจาย  ถ้าคุณสังเกต  จะเป็นหนังสือสำคัญ  ที่สามารถใช้อ้างอิง

หรือค้นต่อได้    หรือให้ส่วนเชื่อมต่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่หายไป   


บางครั้งเรื่องในเล่มก็สำคัญมากต่ะ   เพราะบารมีของลูกหลาน  ไม่เกี่ยวว่าหนังสือสวย เล่มหนาหรือไม่


       ความสำคัญอยู่ที่การค้นคว้าต่อของท่านผู้สนใจเอง  เพราะความต้องการข้อมุลของบุคคลย่อมแตกต่าง

ดิฉันนั้นอ่านประสมความมานาน  ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมาก     


สหายบางคนสนใจพจนานุกรมหรือหนังสือไวยากรณ์โบราณ   ดิฉันก็รับฟังไปเรื่อย ๆ  รู้แต่ชื่อเรียกว่าพอแว่วน่ะค่ะ

ดิฉันสนใจเรื่องมิชชันนารีเพราะเท่าที่อ่าน  ข้อมูลยังน้อยมาก      คิดถึงพี่สมบัติ  พลายน้อย(ท่านนับดิฉันเป็นน้อง)ที่ท่านมีวิริยะ ค้นคว้ามาเขียนให้

เป็นแนวทางที่พวกเราจะวิ่งต่อไป


อ่านแต่เอกสารต้นรัชกาลที่ ๔ มา            ตอนนี้ต้องมาอ่านเอกสารรัชกาลที่ ๒ แล้วค่ะ

เพราะอีตาเจมส์โลว์เคยเขียนเรื่องกฎหมายไทยไว้ละเอียด    ตายแน่วันดี

คุณ Ritti  คงไม่ว่าดิฉัน เลี้ยวลงซอยออกทะเลนะคะ

ตั้งใจจะคอยคุณหลวงเล็กกลับมาก่อน  เพื่อไม่ให้กระทู้ท่านค้างเต่อ     

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 26 ส.ค. 10, 14:27

มาต่อประวัติพระสุวรรณรัศมี  หรือพระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร)

ความเดิม  (กรุณาย้อนกลับไปอ่านในความเห็นล่าสุดในกระทู้นี้ของผม)

เมื่อเสร็จกิจที่หัวเมืองเหนือแล้ว  พระพรหมบริรักษ์ได้รับรับสั่งให้เดินทางกลับมากรุงเทพฯ

ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ได้รับพระมหากรุณา โปรดเกล้าฯ ซื้อที่บ้านเมืองนนท์พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์พร้อมหนังสือพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น  

จากนั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายด้านทำพระเมรุทรงยอดปรางค์สำหรับการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ ท้องสนามหลวง  ได้รับพระราชทานที่ชาและครอบแก้วมีรูปสัตว์ทองคำภายในเป็นรางวัล

ต่อจากนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ทำโรงเอ็กซหิบิชั่นที่ท้องสนามหลวง เนื่องในการฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี  มีการขุดสระขังจระเข้ใหญ่ให้คนดู และมีการต่อสายโทรศัพท์จากสนามหลวงไปที่ปากน้ำสมุทรปราการ  ให้ชาวมอญทดลองร้องทะแยส่งเสียงไปตามสาย  แล้วให้ชาวมอญปลายสายโทรศัพท์ที่ปากน้ำร้องทะแยตอบกลับมา ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ชาวมอญผู้ทดลองโทรศัพท์ครั้งนั้น

เมื่อสิ้นการฉลองพระนครแล้ว ได้เกิดศึกปราบฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ  ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงจัดเจ้าพนักงานรับส่งหนังสือบอกราชการกองทัพ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย และจากหนองคายไปทุ่งเชียงคำ แต่การส่งข่าวครั้งนั้นกินเวลาไปกลับของหนังสือ ๓๐ วัน คือ ๑๑ วันบอกไป ๑๑วันตอบมา  ๘ วันเขียนตอบ   แต่การศึกครั้งนั้นก็เป็นอันระงับไป เพราะแม่ทัพ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธุ์) ถูกลูกปืนที่หน้าแข้งบาดเจ็บ จึงได้ล่องกลับมาพระนคร

ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย  ศักดินา ๒๐๐๐  กับได้รับหน้าที่ทำพระเมรุพระเจ้าลูกเธอ ณ วัดราชบพิธ  แต่การยังไม่แล้วเสร็จ  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ขึ้นรักษาราชการเมืองนครราชสีมา ในเวลาจวนจะตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระยาโคราช (อิ่ม) ออกจากราชการ  ขึ้นไปรักษาราชการที่เมืองนครราชสีมา เป็นเวลานาน ๕ ปีเศษ  ในระหว่างนั้นได้จัดการทำบุญกุศลกับชาวเมืองหลายประการ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 26 ส.ค. 10, 14:41

หลังจากรั้งราชการที่เมืองนครราชสีมาได้นาน ๕ ปีแล้ว  จึงได้ทำใบบอกราชการมากราบบังคมทูลขอพระราชทานทรงพระมหากรุณาแต่งตั้งข้าราชการผู้อื่นขึ้นไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ไปรั้งราชการต่อ 

ครั้งนั้นได้โปรดเกล้า ฯ พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  เสด็จขึ้นไปรั้งราชการแทน  และต่อได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาประสิทธิ์ศัลการ (สอาด  สิงหเสนี) เป็นข้าหลวงรั้งราชการสืบต่อจากเสด็จในกรม  เมื่อเสด็จในกรมเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระพิเรนทรเทพจึงได้เดินทางกลับลงมาด้วย 

เมื่อกลับมาแล้วได้ไปเฝ้าฯ ที่เกาะสีชัง  และได้ถือโอกาสกราบบังคมทูลลากลับบ้าน  ด้วยว่านางเสงี่ยม  ภรรยา  มีอาการป่วยไข้หนัก  เมื่อกลับบ้านแล้ว พยาบาลภรรยาสุดความสามารถแล้ว  นางเสงี่ยม ภรรยา อายุได้  ๕๐ ปีถึงแก่กรรม ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการศพภรรยาแก่ท่าน

ครั้นต่อมาได้รับรับสั่งให้สร้างตึกดินดิบอย่างตึกโคราช  ที่เกาะสีชัง  แต่ยังไม่ได้ทำ เกิดเหตุบาดหมางระหว่างสยามกับฝรั่งเศส  จึงได้ระงับการก่อสร้างไป

๒๐ เม.ย. ๑๑๒  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยามหามนตรี  ศรีองครักษสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  ศักดินา  ๒๐๐๐  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่จางวางในกรมนั้นด้วย

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 26 ส.ค. 10, 15:05

เมื่อคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน  โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกโรงทิมดาบเพื่อใช้ประชุมข้าราชการสำหรับเตรียมการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี  รัชฎาภิเษก  และได้ร่วมจัดการพระราชพิธีรัชฎาภิเษกครั้งนั้นด้วย

เดือน ๑๒ ปีเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานพานทองและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า

๒๖  ก.ย. ๑๑๓  โปรดเกล้าฯให้เป็นที่พระยาอนุชิตชาญไชย   จางวางกรมพระตำรวจขวา  ศักดินา ๓๐๐๐ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี และองคมนตรีที่ปรึกษาราชการด้วย  ต่อมาได้เป็นกรรมการศาลที่ ๑  ทำหน้าที่ชำระตัดสินความค้างในศาลนครบาล

ถัดจากนั้นได้เป็นกรรมการศาลฎีกา  และได้รับพระราชทานเหรียณและเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายอย่าง

ปี ๑๑๙  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระยาสีหราชฤทธิไกร  อภัยพิริยปรากรมพาหุ  เจ้ากรมอาสาใหญ่ซ้าย  ศักดินา ๑๐๐๐๐ และยังเป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่

ปี ๑๒๑  ได้เป็นมรรคนายกวัดพระเชตุพน

ปี ๑๒๒  ทำหนังสือขอพระราชทานกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานหยุดพักราชการเพื่อรักษาตัวด้วยโรคภัยเบียดเบียนมาก  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พักราชการได้ โดยมีผู้อื่นรั้งราชการแทน

๑ เม.ย. ๑๒๓  ได้เฝ้าฯ ที่พระราชวังสวนดุสิต กราบบังคมทูลขอพักราชการเป็นการถาวร หลังจากรับราชการมานาน ๔๐ ปีเศษ  ทรงพระกรุณษโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการ  และได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพเดือนละ ๓๘๐ บาท   ท่านได้เอาเงินนั้นทำบุญกุศลต่างๆ โดยจัดให้มีประชุมธรรมสากัจฉาที่บ้านเดือน ๔ ครั้ง  (วันขึ้น ๒ ค่ำ แรม ๒ ค่ำ ขึ้น ๑๐ ค่ำ แรม ๑๐ ค่ำ)

ปี ๑๒๖  เดินทางขึ้นไปร่วมงานพระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติที่กรุงเก่า  (พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก)   การครั้งนั้น  ท่านได้แต่งกาพย์เล่าเหตุการรืที่ได้ไปในการครั้งนั้นด้วย  (ยาวนัก ไว้เพลาอื่นคงจะได้นำมาถ่ายทอดสู่กันอ่าน)

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 26 ส.ค. 10, 15:27

พระยาสีหราชฤทธิไกร  มีบุตร ๑๑ คน เป็น ชาย ๗ คน หญิง ๔ คน บุตรนั้นถึงแก่กรรมไป ๖ คน คงเหลือเติบโตมา  ๕ คน  เป็นชาย ๔ คน หญิง ๑ คน  บุตรที่เหลือนั้น รับราชการ ๒ คน บวชเป็นภิกษุ ๑ รูป  (พระภิกษุบุญ  ๑  นางเทียม ๑  ขุนเทพวิหาร  สวาสดิ์ ๑  หลวงประกอบธนากร สวัสดิ์ ๑  และนายอ่อน ๑)


วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๑๒๙  เวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต   ทันทีที่ได้ทราบข่าวสวรรคต  เจ้าคุณสีหราชเป็นลมหมดสติ

เมื่อใกล้การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระยาสีหราชฯ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลลาบวชเป็นสามเณรเพื่อฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บวชได้

ในวันที่  ๑๖  มีนาคม ๒๔๕๓  เชิญเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังราชเจ้า ทรงกระทำการบรรพชาให้

เวลา ๗ ทุ่มเศษวันนั้น  พระยาอัพภันตริกามาตย์ ส่งคนมาตามไปถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง   เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ความอิ่มเอิบในบุญกุศลที่ได้ทำถวายฉลองพระเดชพระคุณ  ทำให้ไม่รู้สึกหิวอาหาร  และนอนไม่หลับนาน ๓ วัน

อีก ๗ เดือนต่อมา  ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังราชเจ้าทรงเป็นอุปัชฌาย์ให้  ครั้งนั้น  ได้แต่งนิราสออกบวชไว้เป็นอนุสรรณืในการบวชครั้งนั้นด้วย  (ยาวหลายคำกลอน และมีคนไม่เคยอ่านโดยมาก  แต่เห็นว่าเอามาลงก็จะเยิ่นเย้อเสียเนื้อที่นัก  เห็นใจผู้อ่าน  จึงไม่เอามาลงให้อ่าน)

๑ มกราคม ๒๔๖๖  ได้รับสัญญาบัตรและพัดยศเป็นที่พระสุวรรณรัศมี  พระราชาคณะยก

พ.ย. ๒๔๗๐ เริ่มป่วยด้วยอาการท้องร่วงเรื้อรัง

๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๐  ๗ นาฬิกา หลังเที่ยง ๔๕ นาที  มรณภาพด้วยอาการสงบ  อายุ ๘๗ ปี  พรรษา ๑๗ 


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 26 ส.ค. 10, 15:42

ประวัติพระสุวรรณรัศมีหรือพระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร) ที่ยกเอามาแสดงนี้
เป็นตัวอย่างของขุนนางผู้มีความจงรักภักดี  แม้ว่าจะไม่ได้รับราชการจนถึงที่สุดแห่งชีวิต
แต่ก็ยังได้สนองพระเดชพระคุณด้วยการบวชถวายเป็นพระราชกุศลพระบรมศพ
เรื่องอย่างนี้ ทำให้นึกถึงสุนทรภู่ได้บวชเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒  
แม้หลายคนจะว่า สุนทรภู่บวชหนีราชภัย  
ด้วยได้เคยทำเหตุไม่ต้องพระราชอัธยาศัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
แต่จากงานเขียนของสุนทรภู่ที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ แสดงให้เห็นว่า
สุนทรภู่ยังจงรักภักดีรัชกาลที่ ๓   
ฉะนั้นการที่ท่านออกบวชน่าจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น  เช่น
ท่านเห็นว่า ความเติบโตในหน้าที่ราชการที่ท่านเคยทำในสมัยรัชกาลที่ ๒
คงจะหมดไปเมื่อผลัดแผ่นดิน   แม้รัชกาลที่ ๓ จะโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่อไป
ท่านก็คงไม่มีประสงค์จะทำราชการต่อไป  
ด้วยพระราชนิยมและพระราชกิจในรัชกาลใหม่ไม่เหมือนกับรัชกาลก่อน
ท่านจึงเบนทางชีวิตไปอยู่ฝ่ายวัด เป็นต้น


นอกจากนี้  ยังทำให้คิดต่อไปว่า เอ  ยังมีข้าราชการในรัชกาลอื่น คนใดบ้าง
ที่ได้บวชอุทิศกุศลถวายพระเจ้าแผ่นดินที่เขาจงรักภักดีและเคยรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาท ฮืม

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 07:45


หนังสือเทศนาวิศาขบูชา

ในฉัฎฐรัชชกาล

พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ

พระนมทัด  พึ่งบุญ  ณ กรุงเทพ

เมรุวัดเทพศิรินทราวาศ

พระพุทธศักราช ๒๔๖๓

โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

หนังสือปกแข็งสีส้มปนนำ้ตาล   มีกรอบลายฝรั่ง   มีรูปพระโคสุรภียืนอยู่บนแท่นสูงระหว่างเสาแบบอินเดีย

กรอบลายฝรั่ง  รูปและตัวอักษรสีทอง

ในรองในก็เป็นรูปเดียวกับหน้าปก   แต่ด้านหลังเป็นสีม่วง

หนังสือหนา ๘๔ หน้า

ปกรองในที่สอง  เป็นความเดียวกับปกแข็งและรองในแรก

มีรูปวัวไม่ทรงเครื่อง  เขียนไว้ว่า พระสุรภี

คำนำ ๓ หน้าเขียนโดย กรม วชิรญาณวโรรส   ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๖๒

เป็นความที่ไม่เคยรวบรวมมาก่อน

"สมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงอุดหนุนการทำวิศาขบูชา  เพื่อปลูกความรู้สึกถึงสมเดจพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในใจของพุทธศาสนิก
 
ด้วยประการต่าง ๆ  ตั้งแต่ยังไม่ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติมาจนบัดนี้    ในครั้งนั้น  ถึงวันวิศาขบูชา  เสดจมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ตลอด

ราตรี ๒ รุ่ง  เพื่อทรงทำพุทธบูชา   ทรงสดับพระธรรมเทศนา   ทรงเลี้ยงพระสงฆ์ตลอดจนคฤหัสถ์ด้วยน้ำร้อนน้ำปานะแลเภสัชต่าง ๆ ในกลางคืน   

แลทรงเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยอาหารเบาในเวลาเช้า   ครั้นเสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว   ยังโปรดเกล้า ฯให้จัดการเลี้ยงทั้งสองอย่างดังที่เคยมา    บางปีก็ได้เสดจ

พระราชดำเนินมาทรงธรรมด้วย"


เทศนาในวันวิศาขบุรณมี พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยพระอมราลิขิต(อยู่) วัดเทพศิรินทราวาสถวาย  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เทศนาในวันวิศาขบุรณมี พ.ศ. ๒๔๕๗  โดยพระธรรมไตรโลกาจารย์(เจริญ)ถวาย  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เทศนาในวันวิศาขบุรมี พ.ศ. ๒๔๕๘  โดยพระเทพโมลี(จันทร์) วัดบรมนิวาสถวาย  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๒๔๕๙  โดยพระเนกขัมมุนี(เสน) วัดบุรณศริมาตยา เทศนาถวาย ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม   

๒๔๖๐  โดยพระราชกวี(แจ่ม) วัดมกุฎกบัตริยาราม  เทศนาถวาย  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๒๔๖๒   โดยพระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว. ชื้น) วัดบวรนิเวศวิหาร  เทศนาถวาย  ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๒๔๖๒   พระราชสุธี (เซ่ง) วัดราชาธิวาศ  เทศนาถวายที่วัดราชาธิวาศ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 08:00

ประชุมพงษาวดาร  ภาคที่ ๑

สมเด็จพระนางเจ้า  สว่างวัฒนา  สมเด็จพระมาตุจฉา

มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมพิมพ์

เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศล  ในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ท.จ.

พ.ศ. ๒๔๕๗

พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย   ณ สพานยศเส

กรุงเทพ ฯ

ปกแข็งสีส้มอ่อนปนน้ำตาล  หนา ๔๓๒ หน้า

(จำได้ว่าคุณหลวงเล็กรำพันว่าหนังสือจากโรงพิมพ์ไทยหาอ่านได้ยาก  จึงเลือกมาฝาก)


คำนำ ๑๑ หน้า โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๗      

น่าอ่านมากที่สุดเพราะทรงอธิบายเรื่องพงศาวดารต่างๆว่ามีใครทำบ้าง   รายชื่อต่างๆนี้  ขออาราธนาคุณหลวงเล็กให้รายละเอียดเมื่อมีเวลาว่าง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 09:47


หนังสือ  งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์พิเศษ  สุขพานิช

ปกอ่อน  มีรูปท่านภาพสีอยู่เต็มหน้า   

หนังสือหนา ๒๑๔  หน้า

มีบทความดี ๆ  มาก เช่นเรื่อง มรณกรรมของนายอินเสน  ที่เคยพิมพ์ในสังคมศาสตร์ประทัศน์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒(๒๕๑๑)

บทสัมภาษณ์ ที่ ชูเกียรติ  อุทกะพันธ์  เขียนลง วิทยาสารเมื่อ วันที่ ๑๕  สิงหาคม - ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๔(น่าอ่านมาก)




ประวัติของท่านมีอยู่ทั่วไปหาได้ไม่ยาก จึงไม่จำเป็นต้องนำมาลงในที่นี้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 10:30

ลิลิตพระฤา

งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงนฤยุติสัณหภาท(ชาย  นาควิเชตร์)

เมื่อวันที่ ๒๖  มีนาคม  ๒๕๐๑




ลิลิตพระฤา   หลวงศรีมโหสถแต่ง จุลศักราช ๑๒๑๘

เป็นปู่ของท่านผู้วายชนม์


แต่งขึ้นในรัชกาลที่ ๔
(ชื่อเดิม มหากลัด)


คำโคลงรามเกียรติ์ ประพันธ์ขึ้นเมื่อเป็น พระราชครูพิเชต  ปรากฏหลักบานในศิลาจารึกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 10:45


นารีเรื่องนาม

กระทรวงมหาดไทย  พิมพ์ชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงวิบูลลักสม์  ชุณหะวัณ
ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ

๑๗ เมษายน  ๒๔๙๘

ท้าวเทพกษัตรีย์(จันทร์)
นางนพมาศ
นางแคธิน  ดูคลาศ
ท่านโม้(ท้าวสุรนารี)
นางอมร
พระราชินีวิกตอเรีย
นางคะเวลล์ และ นาง เพติต์
นางวิสาขา
พระมัทรี
นางญันน์ด๊าร์ค  หรือ สาวออลิอังส์
โลกะมาตา
เจ้าหญิง มเดอะ  ลัมบัลล์
นางสาวฟลอเรนซ์  ไนติงเกล
พระแม่จันทน์เทวี

ปกอ่อน สีขาวดำ   ๙๐ หน้า
ไม่มีประวัติท่านผู้วายชนม์

ผู้เขียนคำรำลึกคือ  พระยารามราชภักดี  กระทรวงมหาดไทย  ๑๗ เมษายน ๒๔๙๘
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 13:36

น่าอ่านมากที่สุดเพราะทรงอธิบายเรื่องพงศาวดารต่างๆว่ามีใครทำบ้าง   รายชื่อต่างๆนี้  ขออาราธนาคุณหลวงเล็กให้รายละเอียดเมื่อมีเวลาว่าง

ถ้าไม่รับอาราธนาเห็นจะเสื่อมศรัทธาแก่กันได้ 
แต่ครั้นจะรับก็ขอใช้เวลาสักหน่อย  ช่วงนี้งานเยอะ
ถ้ามีผู้อ่านคนใดจะใจดีอารีอารอบจะปาดหน้าตอบไปก่อนก็ยินดีนัก
โปรดทำเถิดอย่าได้เกรงใจ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 14:07

ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระสุทธิสารวินิจฉัย

ณ เมรุวัดธาตุทอง  กรุงเทพมหานคร

วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑


คุรพระสุทธิสารวินิจฉัย(มะลิ  บุนนาค)  เป็นบุตรของนายราชจินดา(อรุณ บุนนาค) และ ม.ล.หญิงแฉล้ม  อิศรางกูร ณ อยุธยา

วดปก                                      วันเสาร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม  ๒๔๓๙

สถานที่เกิด                                 เลขที่ ๒๕๑ ถนนกรุงเกษม  ตำบลหัวลำโพง  อำเภอปทุมวัน  พระนคร

พี่น้อง             นางจรูญ  สิทธิพยากรณ์

                    ท่านเจ้าของประวัติ

                    ขุนสิทธิเศรษฐกรรม(สิทธิ  บุนนาค)

                    หลวงจรัสคุรุกรรม(จรัส  บุนนาค)

มีผังเครือญาติแนบมา ๕ แผ่น

ภรรยา             ผ่องศรี  เวภาระ  ธิดาของขุนหลวงพระยาไกรสีห์(เปล่ง  เวภาระ)  กับคุณหญิงทองคำ

บุตรธิดา

นายจิรายุ  บุนนาค

นางลาลีวัณย์   บุนนาค

นายมารุต  บุนนาค



       คุณพระสุทธิสารวินิจฉัยมีพรสวรรค์  สอบกฎหมายได้เมื่ออายุ ๑๗  แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑  กระทรวงยุติธรรมจึงไม่ส่งไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ

ท่านได้สั่งหนังสือเข้ามาอ่านมากมายตามคำแนะนำของเจ้าคุณมโนปกรณ์ ฯ     สั่งมากจนเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร(คนชาติอังกฤษ) ไม่ยอมเซ็นอนุญาต

ให้ยกเว้นภาษี    คุณพระต้องอวดดี(สมัยนี้คงเรียกว่าเบ่ง)โดยบอกว่า ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลอาญา    

ได้ลาออกจากราชการเมื่ออายุ ๒๘ เพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์
 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 15:11

นับตั้งแต่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา   ความประสงค์ของเจ้าของกระทู้คือ
ค้นหาหนังสืองานศพของบุคคลสำคัญ ตามที่ได้ตั้งเป็นโจทย์ไว้ ๓๐ ข้อ
แต่ต่อมาบานปลายไปเป็นการนำเสนอหนังสืองานศพที่น่าสนใจ
ตามที่สมาชิกคนใดจะมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หนังสืองานศพในกรุสมบัติ
โดยตั้งเกณฑ์ว่า ถ้ามีรูปด้วยก็จะดีมาก  แต่ถ้าไม่มีรูปเราก็ขอให้เล่าเรื่องที่น่าสนใจในหนังสือนั้น
เผื่อว่า วันหน้าใครที่ได้อ่านแล้วได้ไปเจอหนังสือที่เคยนี้และจำได้ว่า
กระทู้นี้แนะนำไว้  ก็จะได้รีบคว้ามาเป็นสมบัติทันที  (ทั้งนี้ พึงพิจารณาราคากับงบประมารด้วย)


เดี๋ยวนี้ หนังสืองานศพที่มีสาระดีๆ น่าเก็บมีมาก  ต้องรู้จักเลือกเก็บ
ที่สำคัญต้องรู้แหล่งที่จะหาซื้อด้วย   หรือถ้าไม่ซื้อก็ควรรู้ว่า
จะไปหาอ่านได้จากไหนบ้าง


มีนักเก็บหนังสือหลายคน  เก็บหนังสืองานศพไว้หลายเล่ม
แต่บอกไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนั้นมันมีสาระน่าสนใจอย่างไร
(แต่บอกได้ว่า   ใครเป็นให้หนังสือนี้มา   
โถ จะเล่าทำไม   หาประโยชน์แก่คนอื่นมิได้เลย)
น่าเสียดาย นัก   



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 27 ส.ค. 10, 15:16

พระราชหัตถเลขา  และ  หนังสือกราบบังคมทูล ของ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

แต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมนตรีพจนกิจ และ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์   ร.ศ. ๑๑๓ - ๑๑๘


พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ

ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ท.จ.

ณ  เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์

วัดเทพศิรินทราวาส

วันที่ ๑๒  เมษายน  พ.ศ. ๒๕๐๔


(สำหรับประวัติของท่านผู้หญิงเสงี่ยมนั้น  จะนำลงในกระทู้  คนห้าแผ่นดิน ต่อไป  ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล)



คำกราบบังคมทูลพระราชหัตถเลขาเป็นเวลา ๕ ปีกว่า     มีเรื่องราวมากมายที่แสดงถึงสติปัญญาอันรอบคอบ ของพระมนตรีพจนกิจ ผู้ต่อมาเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์




จดหมายที่ประทับใจมากลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน  ร.ศ. ๑๑๖

ขอเดชะ  ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า ฯ

       ข้าพระพุทธเจ้า  ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส  กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  

ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

       ด้วยข้าพระพุทธเจ้ามีความคับแค้นขัดสนอันแลเหลียวหาผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นที่พึ่งมิได้    นอกจากที่จะกราบบังคมทูลขอ

พระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง          คือข้าพระพุทธเจ้าตั้งแต่มารับราชการอยู่ ณ ประเทศนี้   ได้ส่งเงินเข้ามาเลี้ยง

บุตรภริยาครอบครัวปีละ ๒๐ ชั่งทุกปี         มาเมื่อปีที่แล้วมานี้     ข้าพระพุทธเจ้าถูกเกณฑ์ให้รับราชการตำแหน่งอุปทูต

อันมีหน้าที่ต้องโอบอ้อมอารีเลี้ยงดูผู้คน   และใช้สอยเพื่อรักษาเกียรติยศและตำแหน่งราชการที่ดำรงอยู่นั้น  มากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับราชการ

ตั้งแต่รับหน้าที่มาจนสิ้นคราวสมัย  ก็ยับเยินหมดตัว     หาพอที่จะส่งเข้ามาเลี้ยงบุตรภริยาครอบครัวได้ไม่         ข้าพระพุทธเจ้าจำเป็น

ต้องขอพระบารมีปกเกล้า ฯ ชุบเลี้ยงแก่บุตรภริยาสัก ๒ ปี  คือชั่วปี ๑๑๖ และปี ๑๑๗ เท่านั้น         พอข้าพระพุทธเจ้าจะได้รับ

พระราชทานรวบรวมทุนใช้เนื้อที่ขาดมาในระหว่างเวลาที่ได้ขาดทุนไปนั้น          ให้มีกำลังสนองพระเดชพระคุณต่อไปในภายหน้าได้

พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้า ฯ  ซึ่งรบกวนให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า

วิสุทธสุริยศักดิ์

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง