เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105461 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 22 ส.ค. 10, 17:36



คำให้การของชาวกรุงเก่า  แปลจากฉบับหลวงที่ได้มาจากเมืองพม่า  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒
(เล่ม ๑ นั้นพิมพ์ประมาณ  ๒๔๕๘    เป็นหนังสือหายาก  ใคร ๆก็อยากได้ /วันดี)

นายพันเอก พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์  พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

คุณหญิงเสนีณรงค์ฤทธิ์​(ทองย้อย  สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ) จ.จ.

เมื่อปีฉลู  ๒๔๖๘

เล่มสีม่วง    ตราหอพระสมุด และตัวอักษรสีทอง    ปกแข็งกระดาษเลียนแบบผ้า  มีกรอบกดลึกเป็นลายฝรั่ง    หนังสือหนา ๒๗๐ หน้า



คุณหญิงเป็นธิดาของมหาเสวกโท  พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธ์(น้อย ศิลปี)

เกิดวันพุธ เดือน ๔ ปีเถาะ  พ.ศ. ๒๔๓๔

สมรสเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๕๒

สมเด็จพระยุพราชเสด็จพระราชดำเนินไปรดน้ำพระราชทาน

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม  ๒๔๖๗      อายุ ๓๔ ปี




สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  นิพนธ์ไว้ว่า

       หนังสือเล่มนี้   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  พระไปยกาของพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ

ทรงจัดการแปลเรียบเรียงเป็นปฐม       นับว่าสกุลสนิทวงศ์ได้มีส่วนสร้างหนังสือเรื่องนี้มาแต่ก่อน   สมควรที่

สมาชิกในสกุลจะพิมพ์ให้เผยแพร่รักษาไว้อย่าให้สูญ

กรรมการหอพระสมุด ฯ มีประสงค์ที่จะชำระพิมพ์ใหม่   แต่ยังมีผู้ใดรับพิมพ์ด้วยอยู่ในหมู่หนังสือเล่มใหญ่

ท่านกับพระยาโบราณราชธานินทร์ จึงได้ช่วยกันตรวจชำระ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 00:20


       ประชุมเรื่องพระราม  ภาคหนึ่ง

เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป   รวบรวม


อำมาตย์ตรี  หลวงวัยวุฒิปรีชา
(หม่อมหลวงไววิวัฒน์  กุญชร)

พิมพ์เป็นที่ระลึก         ในงานพระราชทานเพลิงศพ

มหาอำมาย์ตรี  พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทปราการ(แช่ม  โรจนประดิษฐ์)

ณ วัดมงกุฏกษัตริย์

วันที่ ๘​​  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๗๔




มหาอำมาตย์ตรี  พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทปราการ(แช่ม  โรจน์ประดิษฐ์)

เกิด                   วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ปีมะเมีย  พ.ศ. ๒๔๑๓

สถานที่เกิด           ตำบลป้อมเพ็ชร   จังหวัดพระนครศรีอยุธา

ถึงแก่กรรม           วันที่ ๑๓ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๗๓

บิดา                   หลวงสุนทรภักดี

มารดา                เลี่ยม

ภรรยา                คุณหญิงปริก

บุตร                   เขื้อ (นางวัยวุฒิปรีชา)
     
                         ชิ้น

                         ช่วง


เรียนหนังสือที่โรงเรียนสำนักวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ     จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อุปสมบทอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ๒ พรรษา

เริ่มรับราชการในรัชกาลที่ ๕       เป็นเจ้าพนักงานจ่ายเลข ๔ ตำบล  รักษาพระราชวังบางปะอิน

เลื่อนเป็นขุนวิจิตรสุรการ       หลวงบริรักษ์ภูเบนทร์       พระบริรักษ์ภูเบนทร์


       เรื่องนี้อาจจะต้องตั้งกระทู้ใหม่ และเมื่ออาจารย์อีกหลายท่านว่างกิจการกิจกรรมและกิจอันควรทำทั้งปวง แวะมาแนะนำ

คุณหลวงเล็กเปรยว่าเรื่องยากนะ

ดิฉันถามทันทีว่าแล้วดิฉันจะอ่านได้ไหม

คุณหลวงหัวเราะเสียงสูง ....อ่านน่ะคงได้  แต่จะรุ้เรื่องหรือเปล่า  อ่ะ ๆ ๆ

อิ อิ อิ  ดิฉัน ยินดีที่จะรับฟัง......คุณหลวงว่างเมื่อไรกรุณาเริ่มได้

    แค่มณโฑทรีดื่มโลหิตฤาษีที่ท้าวราพณ์หลอกว่าเป็นยาพิษน่ะหรือ .....คอยฟังคนมาเล่าน่าจะดีกว่า
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 08:22

สงสัยจริง ๆ ค่ะ คำให้การชาวกรุงเก่านี้ เป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องแต่งกันแน่คะ
ไม่น่าเขื่อว่าาจะมีการบันทึกไว้เป็นอย่างดีค่ะ

เอามะม่วงน้ำปลาหวานมาทานบนเสื่อที่คุณวันดีปูรอไว้ค่ะ
ใครจะมา Jam เชิบกันคนละหนุบ คนละหนับได้เลยนะคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 08:43


วิทยาศาตร์ปัจจุบันสอนว่า อย่าทรมานหรือบีบบังคับ ผู้ให้สัมภาษณ์  เพราะข้อมูลจะเป็นเท็จ


ถึงจะใช้ศาสตร์การหลอกถาม  ผู้ให้สัมภาษณ์ ก็จะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มลดข้อมูลอยู่แล้ว เพราะกำลังสนทนาอยู่กับศัตรู


มะม่วงน้ำปลาหวานนั้นเช้าไปหน่อย  แต่วันดียินดีเป็นที่ยิ่ง   วงอื่นยังไม่เห็นยกสำรับ
ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 10:20

เรียน คุณWandee คุณหญิงเสนีณรงค์ฤทธิ์ (ทองย้อย) ท่านนี้ ใช่ภริยาของพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์(หม่อมหลวงเล็ก) บิดาของท่านผู้หญิงอภิรดี  ยิ่งเจริญ ซึ่งเกิดจากท่านผู้หญิงโพยม  เสนีณรงค์ฤทธิ์ หรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 11:13

สงสัยจริง ๆ ค่ะ คำให้การชาวกรุงเก่านี้ เป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องแต่งกันแน่คะ
ไม่น่าเขื่อว่าาจะมีการบันทึกไว้เป็นอย่างดีค่ะ

เอามะม่วงน้ำปลาหวานมาทานบนเสื่อที่คุณวันดีปูรอไว้ค่ะ
ใครจะมา Jam เชิบกันคนละหนุบ คนละหนับได้เลยนะคะ

คำให้การชาวกรุงเก่า  เป็นหนังสือที่ไทยแปลมาจากภาษามอญพม่าอีกที
คำให้การนี้  พวกพม่ารามัญคงจดบันทึกจากปากคำของเชลยชาวกรุงเก่าที่ถูกกวาดต้อนไปในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒
ด้วยหมายจะให้เป็นบันทึกความรู้เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาสำหรับชาวพม่ารามัญต่อไปภายหน้า
วิธีการจดบันทึกอย่างนี้  ทางสยามก็มีเหมือนกัน   เช่นว่า  มีชาวต่างชาติต่างภาษาเข้ามาสยาม
เราก็เชิญตัวชาวต่างชาติต่างภาษานั้นมาสอบถามเอาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเมืองที่เขาเดินทางจากมาและบ้านเมืองที่เดินทางผ่าน
ในสมัยก่อน  ยามเกิดศึกสงคราม ณ ดินแดนที่ห่างไกลจากพระนครมาก 
บรรดาเจ้าเมืองชายขอบขันธเสมาต้องจัดการลาดตระเวนตรวจดูผู้ที่เข้าออกด่านแดน
หากพบชาวเมืองที่เกิดสงครามอพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามา 
ก็จัดการหาล่ามมาสอบถามเหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเองที่มีสงครามนั้น
มีคำให้การนายจาด เรื่องเหตุการณ์ในเมืองพม่าเมื่อพระเจ้ามินดงทิวงคต และคำให้การชาวญวนเมื่อครั้งเกิดสงครามอานัมสยามยุทธ เป็นต้น

นี่เป็นการสืบหาข้อมูลสมัยก่อนที่สยามยังไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว
วิธีการเช่นนี้ใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕  เช่นเมื่อครั้งศึกฮ่อก่อการจลาจลที่หัวเมืองเหนือและหัวเมืองลาวเป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคำให้การที่จดเอาจากปากคำของผู้สูงอายุที่เคยเห็นและรู้เรื่องราวที่ล่วงสมัยมาแล้ว
และหาคนรู้ได้ยาก  เช่นคำให้การของคำให้การเถ้าสาเรื่องหนังราชสีห์
คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท เป็นต้น

คำให้การเหล่านี้  ยังมีที่จดจากพวกที่เดินเรือหรือเดินทางมาจากต่างแดนด้วย
เช่นคำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี คำให้การของพราหมณ์อัจจุตะนันนำ เป็นต้น

คำให้การเหล่านี้  น่าเชื่อถือเพียงไรนั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
ได้แก่  ตัวผู้ให้การ  ตัวผู้จดบันทึก  ตัวผู้เป็นล่าม เป็นต้น

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 11:23

กรณีคำให้การชาวกรุงเก่านั้น  แม้จะจดจากปากคำคนไทย
แต่น่าจะเป็นปากคำชาวบ้าน  พระภิกษุ หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย หลายคน
มาประสมประมวลกันเป็นคำให้การ  แต่ละคนที่ให้ปากคำแก่ชาวพม่ารามัญนั้น
จะมีความรู้ดีเพียงใดนั้น  ก็ทราบได้ยาก  ในระดับชาวบ้านอาจจะรู้แต่เรื่องที่เขาเล่ามา
และตำนาน เป็นส่วนมาก  ส่วนข้อเท็จจริงอาจจะไม่ทราบหรือทราบมาเลาๆ
ข้อมูลที่ได้กับข้อเท็จจริงอาจจะเปลี่ยนแปรไป ในชั้นที่ ๑ นี้

ต่อมา คนจดและล่ามแปลภาษา  ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยดีพอ  
แต่ก็พยายามเก็บใจความคำบอกเล่าให้มากที่สุด  
แน่นอน ว่า การถ่ายถอดเสียงคำไทยบางคำอาจจะเพี้ยนไป  มีทั้งมากและน้อย
(ในกรณีที่ไทยจดจากปากคำคนต่างชาติภาษาก็อาจจะมีที่บกพร่องได้เช่นกัน)
ข้อมูลบางอย่างอาจจะแปลและจดบันทึกผิด  ข้อมูลก็จะยิ่งคลาดเคลื่อนไปอีกชั้น ๑

ต่อมา การแปลคำให้การที่ชาวพม่ารามัญจดบันทึกไว้ให้กลับมาเป็นภาษาไทย (ที่ต่างยุดสมัยกับผู้ให้การไว้)
ย่อมต้องมีความคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
เว้นแต่จะพอหาข้อมูลที่สอบเทียบได้ก็อาจแปลและเรียบเรียงคำให้การนั้นได้ถูกต้องตามที่ผู้ให้การในชั้นแรกเล่าไว้

ในสมัยที่มีการแปลและพิมพ์คำให้การชาวกรุงเก่านั้น  
คนไทยกำลังแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยากันมาก  
ไม่ว่าจะเป็นเอกสารไทยและต่างชาติ  
ผู้ใหญ่ได้พยายามรวบรวม  แปล พิมพ์เผยแพร่ออกมาเพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับอยุธยาในขณะนั้น

คำให้การชาวกรุงเก่า  อาจจะมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่น่าเชื่อถือ
เมื่อเทียบก็บข้อมูลที่ค้นหาได้ในสมัยต่อมา   แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่า
คำให้การชาวกรุงเก่าจะใช้ไม่ได้เลย  
เพราะเอกสารชิ้นนั้น  ก็ถือว่าเป็นเอกสารที่จดบันทึกความรู้คนไทยสมัยกรุงเก่าเอาไว้มาก
ทั้งข้อเท็จจริง ตำนาน ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรมต่างๆ
แต่จะใช้งานข้อมูลเหล่านั้น  ก็ควรต้องพินิจพิจารณาเปรียบและตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบด้วย
ว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใด


ขอบคุณคุณร่วมฤดีที่เอาเสื่อสาดมาลาดปูและเอามะม่วงน้ำปลาหวานมารอบริการ
แก่ผู้ที่มารอคุณวันดีสาธยายธรรม   ป่านนี้คุณวันดีคงจะเคี้ยวมะม่วงเสียจนเข็ดฟันแล้วกระมัง
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 11:27


นอกจากนี้ ยังมีคำให้การที่จดเอาจากปากคำของผู้สูงอายุที่เคยเห็นและรู้เรื่องราวที่ล่วงสมัยมาแล้ว
และหาคนรู้ได้ยาก  เช่นคำให้การของคำให้การเถ้าสาเรื่องหนังราชสีห์
คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท เป็นต้น


คำให้การเฒ่าสา เรื่องหนังราชสีห์
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=27-04-2007&group=2&gblog=57

คำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี
http://www.reurnthai.com/wiki/คำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 14:56

มาตามอ่านอีกรอบค่ะ ขอบพระคุณคุณหลวงเล็กค่ะที่ให้หลักพิจารณาคำให้การของชาวกรุงเ่ก่า

ดิฉันอ่านเจอคนพม่าที่มาอยู่เมืองไทย ติติงคนไทยว่า ชอบเอา"ตำนาน" มาเป็น "ประวัติศาสตร์" โดยไม่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือให้ชัดเจน หนังสือของท่านคือ "โยเดียกับราชวงศ์สยาม" ค่ะ

อ่านแล้ว ทำให้สงสัยว่าประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกัน มีส่วนจริงเพียงใด

เราอ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม เหมือนสะสมตัว Jigsaw ทีละชิ้นค่ะ

การบันทึกข้อมูลในหนังสืองานศพที่คุณ Wandee และคุณ Luanglek กำลังทำ จะทำให้โลก Cyber มีข้อมูลเก็บไว้

บางทีวันข้างหน้า มีคนจะต่อ Jigsaw กดถาม อากู๋(Google) แป๊ปเดียวได้ Jigsaw มากองโต

ดังนั้น ช่วย ๆ กันใส่ข้อมูลลงไปเถอะค่ะ มีประโยชน์มากมายจริง ๆค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 16:15


คุณเพ็ญชมพูที่รัก

       ไม่อยากจะพูดเพราะซำ้ซากตรากตำจำระทมว่าทั้ง เฒ่าสา  และ จีนกัั๊ก  มีอยู่ใน สยามประเภทแล้วค่ะ

ยังไม่ได้ค้นว่าเล่มไหนแน่   แต่คงเป็นเล่มต้น ๆ  ไม่เกินเล่ม ๔         ไม่มีใครให้ความดีต่อผู้บันทึกเลย

นักประวัติศาวตร์ชื่อดัง ๓ คน  ใช้งานของ ก.ศ.ร.  แต่ทิ้งชื่อท่านไป

คนหนึ่งเขียนหนังสือไว้หลายสิบเล่ม   ใช้วลีว่า   "เล่ากันมาว่า..."

อีกคนหนึ่งลอกทั้งเล่ม

อีกคนหนึ่งลอกประปราย

ประชาชนทั้งหลายที่มีประวัติครอบครัวเกรียงไกร  เล่าไปถึง คุณเทียดของคุณเทัยด ว่าเป็นพราหมณ์รามราชกันเป็นแถว

ดิฉันสามารถพูดได้ว่า  ถ้าท่านเหล่านี้ไม่ได้ลอกงานของ ก.ศ.ร. มา      ก.ศ.ร.ก็คงจะลอกงานของท่านเป็นแม่นมั่น

ที่ ก.ศ.ร. แต่งเติมและแก้ไขข้อมูลนั้นมีอยู่ เพราะใช้ตำราหลายเล่ม   ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเองบารมีแก่กล้า  บางครั้งก็รีบทำงาน ฟังผิดฟังไม่ถูก

หลายเรื่องที่ก.ศ.ร เล่าก็น่าสยดสยองอยู่เหมือนกัน      ดิฉันอ่านแล้วก็หัวร่อแล้วไปรายงานพรรคพวกว่า ก.ศ.ร. เพี้ยน เขียนออกมาได้ตำรานี้ใคร ๆ

ก็ทราบกันว่า พระเกศาของเจ้านายเมื่อเข้าเกศากัณฑ์แบ่งเป็นเท่าไรปอย          นานมาก็ไปเจอตำราโบราณเล่าเหมือนที่ก.ศ.ร.เล่าไว้

เลยไม่แน่ใจว่า  ใครลอกใครกันแน่

         เจ้านายของเราพระองค์หนึ่ง  เมื่อทรงบทประกาศเขียนโดยสมาขิกคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง    ได้ตรัสว่า  เขียนเหมือนอีตาสตาลินเสียจริง

ไม่เช่นนั้นสตาลินก็คงลอกของที่ท่านผู้นั้นไปแน่แท้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 16:15

มาตามอ่านอีกรอบค่ะ ขอบพระคุณคุณหลวงเล็กค่ะที่ให้หลักพิจารณาคำให้การของชาวกรุงเ่ก่า

ดิฉันอ่านเจอคนพม่าที่มาอยู่เมืองไทย ติติงคนไทยว่า ชอบเอา"ตำนาน" มาเป็น "ประวัติศาสตร์" โดยไม่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือให้ชัดเจน หนังสือของท่านคือ "โยเดียกับราชวงศ์สยาม" ค่ะ

อ่านแล้ว ทำให้สงสัยว่าประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกัน มีส่วนจริงเพียงใด


ตำนานมีทั่วทุกมุมโลก  ตำนานลางเรื่องก็มีที่มาจากเรื่องจริง  
แต่เพราะการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะและการจดเป็นลายลักษณ์อักษรหลายๆ ทอด
จึงทำให้เรื่องจริงถูกเสริม เพิ่ม แปลง และแปรเนื้อหาไป  

ถ้าจะไม่เอาตำนานมาศึกษาเลย  เราก็ขาดเอกสารที่บันทึกความเชื่อของคนสมัยก่อน
ในบางท้องถิ่นมีแต่ตำนาน  ไม่มีงานเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานวิชาการ
ถ้าจะไม่เอาตำนานเลย  ท้องถิ่นนั้นก็จะไม่มีประวัติศาสตร์ที่มาให้ศึกษาย้อนกลับไปได้

คนพม่าก็เชื่อตำนานพอๆ กับคนไทย  
การจะพิสูจน์ตำนานว่าจริงหรือแต่งขึ้นมาลอยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
เพราะถ้าเป็นตำนานเก่ามากๆ มีหลายสำนวนที่เก่าพอๆ กัน  
หลักฐานที่ตรวจสอบได้ยิ่งหายากหรือหาไม่ได้

ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมา  นั่นคือพื้นฐานในการเรียนรู้และค้นคว้าต่อในระดับที่สูง ลึก กว้างขึ้นไปหลังจากนั้น
จะไปโทษว่าตำราหรือครูอาจารย์ สอนไม่ดีคงไม่ได้ทั้งหมด  เพราะเราไม่ขวนขวายที่จะศึกษาค้นคว้าต่อเอง
มัวแต่คิดว่าห้องเรียนจะเป็นแหล่งให้ข้อมูลความรู้ทั้งหมด   ความรู้ของเราจะงอกเงยได้อย่างไรกัน

การบันทึกข้อมูลในหนังสืองานศพที่คุณ Wandee และคุณ Luanglek กำลังทำ จะทำให้โลก Cyber มีข้อมูลเก็บไว้
บางทีวันข้างหน้า มีคนจะต่อ Jigsaw กดถาม อากู๋(Google) แป๊ปเดียวได้ Jigsaw มากองโต
ดังนั้น ช่วย ๆ กันใส่ข้อมูลลงไปเถอะค่ะ มีประโยชน์มากมายจริง ๆค่ะ


สิ่งที่ผมได้เขียนลงไปก็ดี  คุณวันดีเขียนลงก็ดี
เป็นเพียงบางส่วนของหนังสือเล่มที่เอาเสนอ
รายละเอียดทั้งหมดต้องไปหาหนังสือมาอ่าน
(ไม่ได้หมายความว่าต้องหาซื้อมาเป็นเจ้าของทั้งหมด)

วัตถุประสงค์ของกระทู้นี้คือ ปรารถนาให้คนที่ได้อ่านกระทู้
เกิดแรงกระตุ้นความสนใจให้ท่านทั้งหลายเห็นความสำคัญของหนังสืองานศพ
(บางท่านเรียกให้เพราะหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์)
และได้ต่อยอดไปศึกษาค้นคว้าต่อ

ส่วนที่จะให้กระทู้นี้เป็นแหล่งข้อมูลเยี่ยงอากู๋เกิลนั้น
เห็นว่า  คงจะเป็นไปได้เพียง ๑๐ ใน ๑๐๐๐ ส่วนเท่านั้น
อากู๋เกิลเป็นเพียงเครื่องมือในการเสาะหาความรู้ชนิดหนึ่ง
อย่าเพิ่งไปฝากผีฝากไข้ว่า โลกไซเบอร์จะเป็นดั่งแก้วจินดามณีเลย
พระท่านว่า  อัตตาหิ  อัตตโน นาโถ  -  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะโยม






บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 16:33

นิทานเทียบสุภาษิต
พระสุวรรณรัศมี (ทองคำ  สีหอุไร)
แต่งเมื่อเป็นพระ  พระยาสีหราชฤทธิไกร

พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระสุวรรณรัศมี
เมื่อปีมะโรง  พ.ศ. ๒๔๗๑
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ประวัติพระสุวรรณรัศมี (อย่างย่อ)

เกิดเมื่อ วันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน๑๒ ปีขาลตรีณิศก จ.ศ. ๑๒๐๔
เป็นบุตรนายทองดี  นายทองดีเป็นบุตรขุนคชสิทธิ์ฯ นาค/บุนนาค กรมคชบาลในรัชกาลที่ ๓ มีนิวาสสถานที่แพหน้าวัดมหาธาตุ

ขุนคชสิทธิ์ฯ มีบุตร ๔ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๒  ชายชื่อนายทองดี กับนายทองสุข  หญิงชื่อนางสะ กับนางแพ

นายทองดีรับราชการเป็นที่หมื่นจ่าดับไฟ กรมพระนครบาล

นายทองสุขรับราชการเป็นสารวัตรมหาดเล็กในพระราชวังบวร
นายทองสุขมีบุตร ๑ คน ชื่อนายหรุ่น รับราชการในกองนาหลวง คลองมหาสวัสดิ์

นางสะ มีธิดา ๑ คน ชื่อ โต เป็นภรรยาพระยาราไชฯ บ้านลาว ถนนเจริญกรุง

นางแพ ได้รับราชการเป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีหม่อมเจ้า ๑ พระองค์ (ต่อเป็นพระองค์เจ้า) คือ พระประพันธวงศ์เธอ  พระองค์เจ้ามงคลเลิศ  ประทับ ณ วังเชิงสะพานช้างคลองตลาด  (คือวังพระประพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์)


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 16:56

หลายท่านอาจจะสงสัย  เมื่อไรจะเข้าประวัติพระสุวรรณรัศมี
เดี่ญวก่อน ที่ชักตระกูลสีหอุไรมาเล่า
เผื่อว่า จะมีคนสนใจเอาไปศึกษาและอ้างอิงต่อบ้าง

นายทองดี  มีบุตรกับนางเมือง ๙ คน  แต่ถึงแต่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก เสีย ๘ คน
คงเหลือแต่นายทองคำคนเดียวที่เติบโตมา

นายทองคำอายุได้ ๘ ปี นายทองดีบิดาถึงแก่กรรม  
หม่อมแพ ผู้เป็นอาว์ ให้คนไปรับมาอยู่ที่วังพร้อมกับมารดา

นายทองคำอายุ ๑๓ ปี ทำพิธีตัดจุกเปีย  แล้วบวชเป็นสามเณรในวันนั้น
และได้อยู่ในสำนักพระครูวิสุทธิสมโพธิ (เที่ยง) (ต่อมาเป็นพระมงคลมุนี)
วัดพระเชตุพน  เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม หนังสือไทยขอม ตลอดจนวิชาการต่างๆ
มีวิชาช่างเขียน และช่างอังกฤษ เป็นต้น

ต่อมาลาสิกขาแล้ว ไปเรียนกระบี่กระบอง มวยปล้ำ

ปีวอกโทศก ๑๒๒๒  เป็นมหาดเล้กขอเฝ้าในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้า) ได้รับเบี้ยหวัด ๖ บาท

ปีกุนเบญจศก ๑๒๒๕ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระเชตุพน  บวชอยู่นาน ๑ พรรษา
เมื่อลาสิกขาแล้ว ได้เป็นปลัดเวรและนายเวรมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ (รัชกาลที่ ๕)  

ปีมะเส็ง ยังสัมฤทธิศก ๑๒๓๐ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ จ่าผลาญอริพิษ ในกรมพระตำรวจใหญ่ขวา  ศักดินา ๖๐๐  และได้เป็นนนายด้านทำพระพุทธรัตนสถาน  มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลฯ เป็นแม่กอง  ในครั้งครั้งเมื่อทำเสร็จแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อกระจกผนังด้านในออก  แล้วสะปูนผนังเขียนประวัติพระพุทธบุยรัตน์เป็นการรีบเร่งเพื่อให้ทันกับการทรงพระผนวช

ในปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้ที่ตำหนักพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี จ่าผลาญอริพิษ ได้ไปช่วยดับเพลิง  จนได้รับรางวัลความชอบเป็นตราภัทราภรณ์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 17:17

ปีระกา เบญจศก ๑๒๓๕  ได้เลื่อนเป็นที่จมื่นไชยาภรร์  ปลัดกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ศักดินา ๘๐๐   กับได้รับโรดเกล้าฯ ให้ไปทำเขื่อนเพชรฐานเหนือพระพุทธรัตนสถาน นาว ๒๒ ห้อง  หลังคาตัด  เพื่อเป็นที่พักพระเถระเมื่อมาร่วมพิธีทรงผนวชพระ

จากนั้นได้เป็นข้าหลวงออกไปสักข้อมือคนจีนที่เมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม
ต่อจากนั้นได้เป็นข้าหลวงกำกับโรงเตาสุรากรุงเทพฯ ได้รับผลประโยชน์เดือนละ ๘๐ บาท

ปีฉลูนพศก  ๑๒๓๙ ได้เลื่อนเป็นที่ พระพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวา  ศักดินา ๑๖๐๐   ในคราวนั้นได้ขึ้นไปชำระความผุ้ร้ายปล้น ๕ ตำบลที่เมืองสุพรรบุรีและได้ว่าราชการที่เมืองนั้นด้วย เพราะเจ้าเมืองถึงแก่กรรม  และได้นำกรมการเมืองสุพรรณบุรีไปเข้าเฝ้าฯ ในคราวเสด็จฯ ไปพระแท่นดงรัง แขวงเมืองราชบุรี

ในครั้งนั้น ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปตามจับตัวผู้ร้ายตองซู่ ๔ คนที่ฆ่าหมื่นอาจ บ้านจระเข้สามพันตาย  (ความว่าได้รีบจัดการสืบหาผู้ร้ายทันทีแต่ทราบว่าผู้ร้ายหนีพ้นเขตเมืองสุพรรณบุรีไปแล้วหลายวัน)  จึงได้จับพวกตองซู่ที่เที่ยวซุ่มซ่อนลักซื้อขายโคกระบือไม่มีตั๋วฎีกา  แล้วล่องลงมาพระนคร    เมื่อมาถึงไม่นานได้เป็นผู้ชำระความมรดกตกค้างและคดีมโรสาเร่ต่างๆ  ต่อมาได้รับพระราชทานโต๊ะทอง กาทอง เป็นเกียรติยศ  กับได้เป็นข้าหลวงขึ้นไปชำระความผู้ร้ายยิงกันตายที่เมืองนครลำปาง ซึ่งโจทก์จำเลยเป็นคนในร่มธงอังกฤษ  ชำระคดีในเมืองนครเชียงใหม่อีก ๒ คดีตามที่เจ้าราชวงศ์กล่าวโทษบุตรข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่  (คดีนี้ยาวนัก  ท่านเล่าไว้ละเอียดยิบหลายหน้า ขอตัดบทงดไม่เล่า) สรุปว่าเมื่อเสร็จการคราวนั้น  ได้กลับลงมากรุงเทพฯ

ประวัติพระสุวรรณรัศมียังมีอีกยาว  นี่เพิ่งเล่าไป ๑ ใน ๓ เท่านั้น 
ผู้ใดมีกำลังใจดี ไม่ย่นย่อ  ขอให้ทนรออ่านต่อไป
ท่านผู้ใดเห็นจะคอยท่าไม่ได้นาน  โปรดไปอ่านกระทู้ข้างเคียงก่อนเป็นการฆ่าเวลา


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 23 ส.ค. 10, 17:26

       อาสามาช่วยคุณหลวงเล็กเพราะเห็นท่านสูงอายุแล้ว  จะเป็นลมไปเมื่อไรก็เมื่อนั้น

เรียนแล้ว ว่าดิฉันไม่มีหนังสืออนุสรณ์  ไม่ได้เก็บ  ไม่ได้เป็นนักสะสม  แต่เป็นนักอ่านระดับขุนนางยักษ์ตัวหนึ่ง

คุณหลวงนี่ท่านเป็นตำรวจเก่า   ซักซะจริง    เคยเห็นหนังสือเล่มนี้ไหม      ไม่เคยเห็นรึ   แว่บๆก็ไม่เคยหรือ

เรื่องข้างในพอจะจำได้บ้างหรือไม่    แล้วคุณรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร   ใช้เล่มไหน  ปกสีอะไร

ที่ปั่นมาให้นี่เก็บจากตู้ประวัติศาสตร์เท่านั้นนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 20 คำสั่ง