เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105161 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 10:42

ลิลี่ป่วยมากเพราะมีลูกติด ๆ กัน  ร่างกายไม่แข็งแรง    และตามมาด้วยไทฟอยด์   หมอบอกว่าถ้าอยู่เมืองไทยจะไม่มีโอกาสรอดเลย  ถ้าหากอยู่เมืองนอก
โอกาสรอดก็จะเป็น ๕๐/๕๐   พระยาภักดีภูธรขออนุญาตตามไปส่งถึงสิงคโปร์  แต่ไม่ได้รับอนุญาต  
เวลาไปเรือต้องไปเข้าทางคลองซูเอซ  ไปคอนแสตนติโนเปิลแล้วจึงเข้าโอเดสซ่า
ระหว่างเดินทางถึงปอร์ตเซด  ทางเลนินกราดก็ได้รับโทรเลขจะเป็นของหมอหรือกัปตันเรือมาให้พี่สาวคืออันนามาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย
เรื่องนี้อันนากับลูลู่เล่าให้ฟัง   เมื่อเรือเทียบแล้ว  อันนาก็ขึ้นไปพบ  เมื่อเห็นหน้าพี่สาวแล้วแล้วลิลีก็จากไป
ร่างของอลิซาเบ็ธนำขึ้นจากเรือไปยังเลนินกราดและได้ทำพิธีฝังที่นั่น

ซาร์พระราชทานรถบรรทุกหีบศพ  มีตรามงกุฎและเทียมม้าขาว   มีผู้ใหญ่เดินตามกระบวนอย่างมีเกียรติยศ

เอาภาพรถบรรทุกหีบศพมีตรามงกุฎและเทียมม้าขาว   ที่บรรทุกหีบศพลิลี่ มาให้ทัศนากัน
ภาพนี้อยู่ในหนังสืองานศพพลโท บุศรินทร์  ภักดีกุล เล่มบางที่รูปท่านผู้วายชนม์บนปก
และแถมด้วยภาพเตียงนอนของลิลี่ที่บ่งบอกฐานะของเธอได้เป็นอย่างดีว่า  
ลิลี่ไม่ใช่เชื้อสามัญชนรัสเชียทั่วๆไป  แต่คงจะเป็นราชินิกุลหรือราชนิกุลสายใดสายหนึ่งกับราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียเป็นแน่




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 11:49

หนังสืออนุสรณ์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลนั้น  เป็นชุดใหญ่  จำได้ว่ามีสิบสามหรือสิบสี่เล่ม


สหายโกศลเจ้าของร้านหนังสือเก่าที่โด่งดังที่สุดในช่วงสามปีนี้ให้มา  

ทีแรกเลือกไว้สองสามเล่ม   โกศลหัวเราะแล้วขู่ว่าอีกหน่อยต้องการใช้แน่นอนจะหาไม่ครบ

อ่านแล้วก็ทราบเองว่าท่านเป็นคนที่ลูกน้องเคารพปานใด  และความจริงใจนั้นแสดงออก

ท่านผู้หญิงงามเด่นทุกประการ  เลิศด้วยความรู้ความสามารถ



ยังได้หนังสือของท่านผู้หญิงมาไม่ครบค่ะ   ครบเมื่อใดจะคัดลอกมาฝาก

เรื่องประวัติที่สำคัญนั้น  อ่านเพลินเพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง  ลูกไม่อยู่  หลาน ๆก็ยังอยู่

เมื่อคัดลอกมา   ได้ระมัดระวังไม่เติมอะไรจนนิดเดียวตามที่กลุ่มนักแปลสั่งกันมาเป็นเด็ดขาด  เล่าตามที่เข้าใจเท่านั้นค่ะ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 15:43

มาเฉลยภาพบ้านสวย  ๒ หลังจากหนังสืองานศพที่หย่อนไว้เมื่อหลายวันก่อน (ดูภาพด้านล่างประกอบ)

ภาพดังกล่าวมาจากปกหนังสืองานศพนางวนิดา  แก่นอบเชย
(งานศพเมื่อ ๒๓ พ.ย. ๒๕๔๕)

นางวนิดา  แก่นอบเชย  ผู้วายชนม์ เป็นธิดาคนโตของพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง  อภัยวงศ์)
กับหม่อมหลวงอาภา  อภัยวงศ์วรเศรษฐ (สกุลเดิม กุญชร)

พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง  อภัยวงศ์) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม  อภัยวงศ์)กับคุณหญิงสอิ้ง 
หม่อมหลวงอาภา  อภัยวงศ์วรเศรษฐ (สกุลเดิม กุญชร) เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์  (หม่อมราชวงศ์หลาน  กุญชร)

บ้านในภาพหลังบน  เป็นบ้านของพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง  อภัยวงศ์)ที่ถนนสาทร อันเป็นสถานที่เกิดของผู้วายชนม์

ส่วนตึกหลังล่างคือ ตึกยุโรปที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม  อภัยวงศ์) สร้างขึ้น  ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลอภัยภูเบศร

อย่างที่ทราบกันว่า  ตระกูลอภัยวงศ์และกุญชร  เป็นตระกูลที่มั่งคั่งในสมัยหนึ่ง   
แต่ต่อมาเกิดเหตุผันผวน(อันเนื่องมาจากอะไรก็ตามแต่)  ทำให้ความมั่งคั่งนั้นค่อยหายไป
แม้แต่ที่บ้านของพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง  อภัยวงศ์) ก็เช่นกัน
ในหนังสือนี้  มีภาพความมั่งคั่งมั่งมีของบ้านถนนสาทรหลังนี้ให้ดูภาพหนึ่ง 
เป็นภาพโต๊ะจัดเลี้ยงที่บ้านหลังนี้  ซึ่งแต่ก่อนมีการจัดเลี้ยงบ่อยมาก
ช้อนเงินช้อนทอง แก้วน้ำ และภาชนะที่ใช้จัดเลี้ยงนั้น เป็นลวดลาย  สั่งทำจากฝรั่งเศส 
เขียนน้ำทองบ้าง ฉาบทอง มีตราสกุลอภัยวงศ์  (หนังสือท่านว่าไว้อย่างนั้น)

อีกภาพหนึ่งที่ควรดู  คือภาพงานศพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม  อภัยวงศ์)
ที่หาดูได้ยาก   แค่วิธีการเชิญโกศศพลงจากชั้นบนของตึกก็ตื่นตาแล้ว





บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 19:59

อยากทราบประวัติของคุณวนิดา  แก่นอบเชย สมาชิกสกุล อภัยวงศ์ ผู้วายชนม์ ไม่ทราบว่ามีหรือไม่ครับ...ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 23:13



       ร้อยเอก หลวงชิตวีร์วสุนทรา  เขียนจดหมายเมื่อวันที่ ๑๖​ สิงหาคม  ๒๕๓๐  ถึงน้องชายทั้งสองว่า

เรื่องที่คุณนริศรา จักรพงษ์  ติดต่อมาเพื่องานวิจัยนั้น   คุณหลวงได้นำจดหมาย ๑๖ ​ฉบับกับโปสการ์ดอีก ๘ ใบให้คนแก่รัสเซียที่นี่แปลออกมาเป็นภาษาสวีเดน

เพื่อจะได้รู้ว่าทูลกระหม่อมเขียนถึงอลิซาเบธในระหว่างปี ๑๙๐๑ - ๑๙๐๕  เรื่องอะไรกัน



     ผู้แปลแจ้งว่าเป็นภาษากวีหรือคนชั้นสูงซึ่งมีนัยซึ่งแกไม่รู้ว่าจะหาคำอะไรในภาษาสวีเดนมาเทียบได้  ทุกฉบับไม่มีรอยขีดฆ่าอักษร

และลายมือที่เขียนเร็วมาก  



ในฉบับที่พูดถึงของขวัญเป็นรูปดอก 'ลิลลี่' นั้นไม่ทราบว่าเมื่อใด  และจะเป็นเข็มกลัดหรือจำพวกลูกไข่ที่ให้กันตอนอีสเตอร์  ที่เดี๋ยวนี้ราคาสูงลิบ

ให้สอบถามว่าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ใคร  ไม่ใช่อยากได้คืน  หากจะทราบเท่านั้นและให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงแม่เท่านั้น





(คุณหลวงโปรดลงภาพจดหมายที่แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณสมพร 

๑.   ดวงตราไปรษณียากร ๑๙๐๒  เขียนที่พระราชวังฤดูหนาว

๒.  ฉบับที่เขียนจากสถานเอดอัครราชทูตสยาม

๓.  ฉบับวันที่ ๒๕ มิถุนายน  ๑๙๐๓)



    
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 17 ส.ค. 10, 23:34


     เรื่องนั่งร้านชั่วคราวเพื่อนำโกศลงมาจากชั้นสองของตัวตึกนั้น  แปลกตา


นายโหมด  อมาตยกุล  เล่าไว้ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเมื่อยังทรงผนวชได้เสด็จไปเยี่ยมบิดาบุญธรรม

ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงที่บ้านเมื่อบิดาบุญธรรมป่วย   ทางบ้านทำตามขนบคือสร้างบันไดใหม่ขึ้นไปถึงห้องนอน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 09:01



       ร้อยเอก หลวงชิตวีร์วสุนทรา  เขียนจดหมายเมื่อวันที่ ๑๖​ สิงหาคม  ๒๕๓๐  ถึงน้องชายทั้งสองว่า
เรื่องที่คุณนริศรา จักรพงษ์  ติดต่อมาเพื่องานวิจัยนั้น   คุณหลวงได้นำจดหมาย ๑๖ ​ฉบับกับโปสการ์ดอีก ๘ ใบให้คนแก่รัสเซียที่นี่แปลออกมาเป็นภาษาสวีเดน
เพื่อจะได้รู้ว่าทูลกระหม่อมเขียนถึงอลิซาเบธในระหว่างปี ๑๙๐๑ - ๑๙๐๕  เรื่องอะไรกัน

     ผู้แปลแจ้งว่าเป็นภาษากวีหรือคนชั้นสูงซึ่งมีนัยซึ่งแกไม่รู้ว่าจะหาคำอะไรในภาษาสวีเดนมาเทียบได้  ทุกฉบับไม่มีรอยขีดฆ่าอักษร
และลายมือที่เขียนเร็วมาก  

ในฉบับที่พูดถึงของขวัญเป็นรูปดอก 'ลิลลี่' นั้นไม่ทราบว่าเมื่อใด  และจะเป็นเข็มกลัดหรือจำพวกลูกไข่ที่ให้กันตอนอีสเตอร์  ที่เดี๋ยวนี้ราคาสูงลิบ
ให้สอบถามว่าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ใคร  ไม่ใช่อยากได้คืน  หากจะทราบเท่านั้นและให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงแม่เท่านั้น


(คุณหลวงโปรดลงภาพจดหมายที่แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณสมพร 
๑.   ดวงตราไปรษณียากร ๑๙๐๒  เขียนที่พระราชวังฤดูหนาว
๒.  ฉบับที่เขียนจากสถานเอดอัครราชทูตสยาม
๓.  ฉบับวันที่ ๒๕ มิถุนายน  ๑๙๐๓
)

    

จัดให้ตามความประสงค์โดยพลัน   ยิ้มเท่ห์





บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 09:08

ต่อเนื่องครับ ยิ้ม





บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 13:37

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร
๑ ตุลาคม  ๒๕๐๗

คุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร 
เป็นธิดา คนที ๒ ของเสวกโท  พระยานาวีเสถียรวราสา  (ยืน  นาวีเสถียร) กับคุณหญิงแดง  นาวีเสถียร  มีพี่น้องร่วมท้องมารดา  ๗ คน (ไม่นับรวมคุณหญิง)

เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ค. ๒๔๔๘  กลางคืน  ที่ตำบลท่าโรงยาเก่า   จังหวัดพระนคร

คูณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร  เดิม ชื่อ เสงี่ยม 
วัยเยาว์เรียนหนังสือที่บ้านกับครู คือ นายเปลี่ยนและนายนาก น้าชาย

ต่อมาบิดาได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรำละครกับพระนมทัต  พึ่งบุญ ณ อยุธยา

จากนั้นได้เข้าไปอยุ่ในวัง  และได้ไปฝึกรำละครกับคุณท้าวศรีสุนทรนาฏ  (หม่อมแก้ว   พนมวัน ณ อยุธยา  )ครูใหย่ละครฝ่ายหญิง (ท่านผู้นี้ ประวัติของท่านก็สนุกยิ่งนัก)

๒๔๕๗  รัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งละครหลวงฝ่ายหญิงขึ้นในราชสำนัก  และทรงพระกรุณาให้บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นำธิดาของตนมาถวายตัวเข้าอยุ่ในสังกัดละครหลวงดังกล่าว 

พระยานาวีเสถียรวราสา  จึงได้นำนางสาวเสงี่ยมไปเฝ้าฯ ถวายตัวอยู่ในละครหลวง  คุณเสงี่ยมได้รับเงินเดือนพระราชทาน  เดือนละ ๖ บาท  ๘ บาท ๑๕ บาท มาโดยลำดับ

๒๔๖๗  รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนนางสาวเสงี่ยมเป็นที่นางพระกำนัล  และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ จาก  เสงี่ยม เป็น อนินทิตา

คุณอนินทิตาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๖


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:36

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ แล้ว คุณอนินทิตาได้รับราชการต่อมาเป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

พร้อมกันนั้น ยังได้รับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพ  ตามที่มีรายชื่ออยู่ในพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖  เดือนละ  ๑๒๐  บาท  ตลอดมาจนกระทั่งออกจากวังไปทำการสมรสกับ  พล.ต.ต.เนื่อง  อาขุบุตร เมื่อวันที่  ๓ พ.ค. ๒๔๗๔ จึงได้งดจ่ายเงินดังกล่าว

คุณอนินทิตาทำการสมรสกับพล.ต.ต.เนื่อง  อาขุบุตร โดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประกอบพิธีสมรสประทานที่วังวรดิศ   

คุณหยิงอนินทิตา  มีบุตรคนแรก ชื่อ อานนท์ อันเป็นชื่อที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานและยังได้ประทานเหรียญกาไหล่ทองพระรูปเสด็จในกรมแก่บุตรชายของคุณหญิงด้วย   โดยได้โปรดให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ทรงนำเหรียญดังกล่าวมาประทานและรับบสั่งว่า  " เสด็จพ่อประทานให้แก่ลูกคนโปรดของท่าน "

คุณหญิงอนินทิตา  มีบุตรธิดาด้วยพล.ต.ต.เนื่อง  อาขุบุตร จำนวน ๗ คน  คือ
๑ อานนท์  อาขุบุตร   
๒ อนุ  อาขุบุตร
๓ รัตนา  อาขุบุตร
๔ ประภาพร  ธนะรัชต์ (สมรสกับนายทองดุลย์ ธนะรัชต์)
๕ เกษมสุข  พยัคฆนิธิ (สมรสกับร.ต.อ. กำพล พยัคฆนิธิ)
๖ เกียรติศักดิ์  อาขุบุตร
๗ เอกสิทธิ์ อาขุบุตร


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:56

คุณหญิงอนินทิตา  เป็นคนที่ชอบการฟ้อนรำ เล่นละคร  และการเล่นดนตรีไทย

พระนางเจ้าสุวัทนาได้รับสั่งประทานเกี่ยวกับการแสดงละครของคุณหญิงอนินทิตาว่า
ปี ๒๔๕๘  คุณหญิงเล่นเป็นพระลักษณม์ แสดงถวายที่สวนจิตรลดา
ต่อมาแสดงเป็นสังคามาระตา  ในละครเรื่องอิเหนา   แสดงเป็นนางอนุสุยา ในละครเรื่องศกุนตลา  
ปี ๒๔๖๗ แสดงเป็นนางกำนัน ในละครเรื่องพระร่วง ในครั้งนั้น รัชกาลที่ ๖ ทรงแสดงเป็นนายมั่น ปืนยาวด้วย  ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ต่อมา แสดงเป็นพระไชยเชษฐ์ ในละครเรื่องคาวี
ก่อนที่รัชกาลที่ ๖ จะสวรรคต  คุณหญิงได้เล่นเป็นท้าวดาหา ในละครเรื่องอิเหนา ที่สวนจิตรลดา เพื่อเก็บเงินบำรุงกองเสือป่า

คุณหญิงอนินทิตา ยังมีความสามารถด้านดนตรีไทย  สามารถเล่นซอด้วง ซออู้ และจระเข้  โดยเฉพาะจระเข้ คุณหญิงได้ต่อเพลงเดี่ยวลาวแพนและเพลงอื่นๆ  จากหลวงว่องจเข้รับ (โต  กมลวาทิน)  และเล่นได้ชำนาญกว่าเครื่องดนตรีอื่น

ปี ๒๔๘๗  พล.ต.ต.เนื่อง สามีของคุณหญิงต้องไปประจำการที่จังหวัดเพชรบูรณ์  คุณหญิงได้ตามสามีไปด้วย  ที่เพชรบูรณ์  คุณหญิงได้รวบรวมชวนเชิญข้าราชการแสดงละครเรื่องพระราชมนู หาเงินรายได้เข้าบำรุงสโมสรข้าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  โดยคุณหญิงได้เป็นคนสอนการรำละครให้นักแสดงทั้งหญิงและชายเอง  ปรากฏว่าการแสดงละครครั้งนั้นได้เงินเข้าสโมสรหลายพันบาท   สืบเนื่องจากการแสดงละครดังกล่าว  คุณหญิงยังได้นัดข้าราชการบางท่านมาเล่นดนตรีเป็นวงที่บ้านในวันเสาร์หรืออาทิตย์ด้วย

ต่อมาเมื่อสามีของคุณหญิงย้ายมารับราชการที่ลพบุรีและฉะเชิงเทรา ตามลำดับ  คุณหญิงก็ยังได้แสดงละครและเล่นดนตรีได้ดีโดยไม่ลืมวิชาเลย แม้จะทิ้งไปเป็นเวลานานๆ ก็ตาม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 10:05

ย้อนกลับไปก่อนสมัย ๒๔๗๕ 

คุณหญิงอนินทิตา  เมื่อยังเป็นนางสาวเสงี่ยม  นาวีเสถียร  ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวนาง
แสดงท่ารำต่างๆ เพื่อถ่ายรูปลงพิมพ์ในหนังสือตำราฟ้อนรำของหอพระสมุดวชิรญาณ
เนื้อเรื่องละเอียดมีตามที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ได้ทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้

ในปี ๒๔๖๖  ช่วงเดือนธันวาคม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
ในการพระเมรุครั้งนี้ มีงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก
กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย  เป็นงานที่ ๒

รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดวชิรญาณเลือกพิมพ์หนังสือ
สำหรับพระราชทานแจกในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นตามประเพณี
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดในกาลนั้น
มีพระดำริว่า ควรจะพิมพ์หนังสือตำราฟ้อนรำสำหรับพระราชทานแจกในงานพระเมรุนั้น
ด้วยว่าพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย
ทรงเอาพระทัยใส่ในการฟ้อนรำไทย 

แต่ตำราฟ้อนรำที่หอพระสมุดมีอยู่นั้น  เป็นสมุดไทยรูปเขียน  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสงสัยว่า
ถ้านำท่ารำในสมุดไทยนั้นมาให้คนทำท่ารำจริงแล้วจะทำได้หรือไม่   
พระองค์จึงมีรับสั่งให้พระยานัฏกานุรักษ์  (ทองดี  สุวรรณภารต)
จัดการคัดเลือกหาตัวละครตัวพระตัวนางมาแสดงท่ารำเพื่อเป็นแบบถ่ายรูปลงในหนังสือนั้น
ครั้งนั้น พระยานัฏกานุรักษ์  ได้เลือกตัวพระคือนายวง  กาญจนวัต
และตัวนาง คือนางสาวเสงี่ยม  นาวีเสถียร  เป็นผู้แสดงท่ารำต่างๆตามตำราฟ้อนรำ


เมื่อคัดเลือกตัวพระตัวนางได้ตามต้องการแล้ว  พระยานัฏกานุรักษ์  ก็ได้พาทั้งสองคน
มาแต่งตัวถ่ายรูปแสดงท่ารำต่างๆ ที่วังวรดิศหลายครั้ง  อันเป็นเหตุให้นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร
ได้รู้จักคุ้นเคยกับบรรดาเจ้านายวังวรดิศ

ภาพนางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร  แสดงท่ารำในตำราฟ้อนรำครั้งนั้น
เจ้าภาพงานศพคุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร  ได้นำมาพิมพ์ในหนังสืองานศพด้วย
แต่ถ้าใครประสงค์จะดูจากหนังสือตำราฟ้อนรำ  ก็สามารถดูได้จากหนังสือ ละครฟ้อนรำ
พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 
ที่สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ครั้งล่าสุด เมื่อ ๒๕๔๖  ซึ่งยังพอหาซื้อได้อยู่
หรือถ้าใครมีความพยายามแก่กล้า  ใคร่หาหนังสือ ตำราฟ้อนรำ ครั้งงานพระเมรุ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย
เมื่อปี ๒๔๖๖ มาดูก็ไม่ว่ากัน 





บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 10:07

ภาพแสดงท่ารำ  มีทั้งที่แต่งหน้าขาว และไม่แต่งหน้าขาว


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 11:09

ขอคั่นประวัติคุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร  ด้วยหนังสืองานศพธรรมดาๆ สักเล่ม
เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ  ไม่ให้ดูเคร่งขรึมเกินไป

หนังสืองานศพนายโอสถ  โกศิน  เมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๐
๑ ในชุดหนังสืองานศพของท่าน คือ นิทานคำกลอนเรื่องสรรพลี้หวน
วรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นปักษ์ใต้
แต่งเป็นคำผวนแทรกตลอดเรื่อง  (ไม่สามารถยกตัวอย่างให้ดูได้
เนื่องจากเกรงว่าจะโดนข้อหาว่าทำลายความมั่นคงทางศีลธรรม)

ในสรรพลี้หวนฉบับนี้ มีทั้งฉบับสำนวนภาษาปักษ์ใต้ และฉบับสำนวนภาษาไทยภาคกลาง
ซึ่งผิดแผกกว่ากันอยู่บ้างลางแห่ง  แต่เนื้อความนิทานโดยรวมเหมือนกัน
อ่านแล้วอารมณ์ดีดังที่ผู้แต่งเดิม คือ ขุนพรหมโลก ได้บอกไว้ว่า

สรรพลี้หวนควรอ่านตามบ้านร้าง   
หนำหรือห้างคลองทะเลนอกเคหา
จะดีร้ายปลายคำเป็นธรรมดา      
บอกภาษานิทานอ่านอย่าแปล
เหมือนแบบเก่าเอาชื่อถือเป็นหลัก   
ถึงที่รักก็ให้เฉยอย่าเผยแผ่
ให้อภัยบ่าวสาวหนุ่มเฒ่าแก่      
ผึ่งขึ้นแลหยิบอ่านสำราญเอย
 
สรรพลี้หวนควรอ่านตามบ้านพัก   
หลังงานหนักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยสมอง
เป็นเรื่องสนุกทุกท่านเชิญอ่านลอง   
บทร้อยกรองกลเม็ดเด็ดนักแล
นั่งคนเดียวในรถ-เรือเพื่อโดยสาร   
อย่าพึงอ่านคนจะว่าท่านบ้าแน่
ค่อยค่อยอ่านค่อยค่อยคิดค่อยค่อยแปล   
แล้วพึงแผ่ส่วนกุศลนักแต่งเอย
          ขุนพรหมโลก

สรรพลี้หวนนั้น  พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ๑ ม.ค. ๒๕๑๖
ครั้งที่ ๒ เมื่อ ต.ค. ๒๕๒๐ เป็นการพิมพ์แจกในการอบรมสัมมนาสมุห์บัญชีเขต ๘-๙
ณ จ.นครศรีธรรมราช
ต่อมา มีคนพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดแจกจ่ายกันอีกหลายครั้ง
และเมื่อไม่นานมานี้มีการนำมาพิมพ์เป็นเล่มจำหน่าย
กับมีให้อ่านได้ในเว็บไซต์ด้วย  ทำให้อ่านกันได้แพร่หลาย
ฉบับที่นำมาแสดงนี้พิมพ์เป็นครั้งล่าสุด



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 11:29

รบกวนคุณหลวงตรวจสอบชื่อบิดาคุณหญิงอนินทิตาด้วยครับ  น่าจะเป็นพระยานาวีวราสาหรือเปล่าครับ?

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 20 คำสั่ง