เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105143 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 15:34

ขอพักเรื่องประวัติหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  ไว้ชั่วคราว

มาดูหนังสืองานศพเล่มอื่นก่อน

๔.สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

หนังสือที่พิมพ์เนื่องในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
มีหนังสือราชินยานุสสาวรีย์ เล่ม ๑ และราชินยานุสสาวรีย์ เล่ม๒   จัดทำโดยคณะบรรณาธิการหนังสือดุสิตสมิต

โดยหนังสือราชินยานุสสาวรีย์ เล่ม ๑ พิมพ์ในโอกาสปัญญาสมวารพระบรมศพ
และราชินยานุสสาวรีย์ เล่ม ๒ พิมพ์ในโอกาสสตมวารพระบรมศพ 
ส่วนหนังสือที่พิมพ์ในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น 
จำได้ว่ามี หนังสือราชสกุลวงศ์  ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา โปรดให้พิมพ์

๑๗.พระยาประดิพัทธภูบาล  (คอยูเหล  ณ  ระนอง)

หนังสืองานศพเจ้าคุณประดิพัทธฯ ในโอกาสสตมวารศพ
พิมพ์หนังสือ  เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ
เป็นหนังสือเล่มบางๆ  ที่น่าอ่านมาก
เพราะเป็นข้อเขียนของท่านเจ้าคุณเล่าไว้เมื่อได้มีโอกาสตามเสด็จเจ้านายหลายพระองค์
มีเรื่องที่น่าสนใจ เช่น  ประวัติการได้จานทองมาใช้ในพระราชสำนัก
รัชกาลที่ ๕ ทรงสัญญากับแม่เล็กว่าจะไม่เที่ยวกลางคืน
รัชกาลที่ ๖ เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จประพาสญี่ปุ่น
ซาเรวิทซ์ไม่โปรดพระวิสูตรประดับด้วยดอกมะลิ เป็นต้น
และมีเรื่องกำเนิดของสนามแข่งม้าในประเทศไทย ที่เจ้าคุณเรียบเรียงเองด้วย
ซึ่งหาอ่านได้ยาก



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 15:39

เล่มต่อไปเป็นหนังสืองานศพพระพี่เลี้ยงหวน  หงสกุล
ถ้าใครเคยอ่านพระนิพนธ์สมเจพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
คงจะจำชื่อพระพี่เลี้ยงหวนได้  หนังสืองานศพเล่มนี้หนาหลายหน้า
มีเรื่องน่าอ่านหลายแห่ง  ซึ่งคงจะได้นำมาถ่ายทอดเป็นบางตอนในโอกาสต่อไป




บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 15:42

สุดท้าย  ผมมีภาพถ่ายบุคคลจากหนังสืองานศพ จำนวน ๒ ภาพ
มาให้ทายกันว่า  บุคคลทั้งสอง คือใคร?




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 15:43

    
     อ่านที่ไหนมาก็จำไม่ได้แล้วค่ะ  ว่า เจ้าชายฟิลิปป์ ก็ไม่โปรดเครืื่องดอกไม้สดเพราะไม่คุ้นกับกลิ่นหอมแรงของดอกไม้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 16:15

ถ้าใครเคยอ่านพระนิพนธ์สมเจพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
คงจะจำชื่อพระพี่เลี้ยงหวนได้ 

โรงเรียนสตรีวิทยา บ้านอาหวน

คราวนี้แม่ถูกส่งเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา เพื่อให้อยู่ใกล้โรงเรียนผู้ใหญ่ทางสวนสี่ฤดูส่งแม่ไปอยู่บ้านอาหวน หงสกุล ซึ่งแม่เรียกว่าอาหวน บ้านนี้อยู่ใกล้วัดชนะสงคราม อาหวนนี้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงรุ่นเล็กของทูลหม่อมฯ และเวลานั้นเป็นข้าหลวงของทูลหม่อมหญิงฯ อาหวนแต่งงานแล้วและระหว่างที่แม่อยู่นั่นลูกคนแรกของอาหวนเกิดและได้รับชื่อว่ามหิดล อาหวนเป็นแม่ของหะรินด้วย (ปัจจุบัน พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร) ทุกวันแม่เดินไปโรงเรียนสตรีวิทยากับเพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งอายุมากว่าและเป็นญาติกับอาหวน ตอนกลางวันเพื่อนบ้านคนนี้จะแบ่งอาหารปิ่นโตให้กินด้วย แม่อยู่บ้านอาหวนปีกว่า

จาก แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 06 ส.ค. 10, 17:44

อ่านเรื่องของพระพี่เลี้ยงหวน  อนุภาณสิศยานุสรรค์ แล้ว  ชวนให้ระลึกถึงหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล) สามีของท่านซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกับพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน เจ่าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กราบบังคมทูลเสนอชื่อ ม.ล.ทิศ  เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่า ยุยังน้อยอยู่เกีงว่าจะเป็นเพื่อนกับนักเรียน  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พระยาโอวาทวรกิจ (เหม  ผลพันธิน) มาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน  เมื่อพระยาโอวาทวรกิจถูกเรียกตัวกลับกระทรวงธรรมการ  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ก็กราบบังคมทูลขอให้หลวงอนุภาณฯ มาเป็นแจรย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทน  ก็มีพระราชกระแสว่า ขอให้คนในคือ พระยาบริหารราชมานพ (ศร  ศรเกตุ) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองลงทำการในหน้าที่ครูใหญ่ไปก่อน  กระทรวงธรรมการก็เลย้ายหลวงอนุภาณฯ ไปเป็นธรรมการมณฑลพายัพ  เมื่อย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่หลวงอนุภาณฯ ได้ไปริเริ่มจัดโรงเรียนสตรียุพราชวิทยาลัยขึ้นที่เชียงใหม่  โดยมอบหมายให้ครูจำรัส  หงสกุล ผู้เป็นน้องสาว  เป็นครูใหญ่  เริ่มเปิดโรงเรียนสอนกันมาได้ไม่นาน  หลวงอนุภาณฯ ก็ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย  และถึงแก่กรรมที่เชียงใหม่ด้วยวัยเพียง ๓๐ เศษ  ทางราชการได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพที่สุสานช้างคลาน  เสร็จการพระราชทานเพลิงศพแล้ว  ทายาทได้รวบรวมเงินทำบุญจัดสร้างโรงเรียนอนุภาณสิศยานุสรรค์ไว้ป็นเกียรติแด่ท่านผู้วายชนม์ที่สุสานช้างคลานนั้น  ต่อมาทางราชการได้จัดโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่  และได้ย้ายไปเปิดสอนที่วัดศรีดอนไชย  ภายหลังโรงเรียนนี้แปรสภาพเป็นโรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย  ส่วนโรงเรียนสตรียุพราชวิทยาลัยก็ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพในปัจจุบัน 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 08:40

ขอบคุณคุณเพ็ญฯ ที่อุตสาหะไปหาเนื้อความในพระนิพนธ์จาก แม่เล่าให้ฟัง
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ในตอนที่กล่าวถึงพระพี่เลี้ยงหวน อนุภาณศิสยานุสรรค์  มาลงไว้ ยิงฟันยิ้ม

ขอบคุณคุณวีมีที่เอาเรื่องของหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล)
สามีของพระพี่เลี้ยงหวน อนุภาณศิสยานุสรรค์  มาลงให้ได้อ่าน
และได้ข้อมูลที่น่าสนใจ 
(แต่สงสัยว่า คุณวีมีจะรีบพิมพ์มากเลยพิมพ์ตกหล่นพลาดไปหลายแห่ง) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 10:02

มาต่อประวัติของหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์

เมื่อหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  อายุครบ ๑๑ ขวบ 
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้โกนจุก
ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นเรือนต้นที่พระราชวังดุสิต 
พร้อมกับหม่อมราชวงศ์จินต์  ลดาวัลย์  และคุณแส  บุนนาค
(ต่อมาได้เป็นเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๕)
หม่อมราชวงศ์ทั้ง ๒ คน ได้ไปแต่งตัวที่สวนบัวนกกระสา 
แล้วขึ้นเสลี่ยงแห่ออกไปยังเรือนต้น 
ส่วนคุณแสนั้นไปแต่งตัวที่เรือนต้นทีเดียว

ในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการลงขัน (ทำขวัญ) อย่างโบราณ
มีบายศรีรัดคอด้วยสายสร้อยเพชรเป็นพิเศษ

ผู้ที่ได้เข้าพิธีโกนจุกครั้งนั้น ได้รับพระราชทานเงินทำขวัญจากการลงขัน
ถึงคนละ ๓๐ ชั่งเศษ  เงินจำนวนดังกล่าวของหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์
สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา  ทรงตั้งเป็นทุนหาดอกผลประทานให้ท่าน
และยังทรงดูแลการใช้จ่ายเงินนั้นอย่างถี่ถ้วน   เงินดังกล่าวได้เป็นทุนเลี้ยงตัว
ของหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์ ต่อมาจนวายชนม์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 10:12

ปี ๒๔๔๖  รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนการเลี้ยงไหมทำไหมขึ้น
ที่บริเวณหลังพระบรมมหาราชวังชั้นนอก  มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน  สาลักษณ์)
เป็นผู้ควบคุมการตั้งโรงเรียนนั้น   และได้ว่าจ้างครูสตรีญี่ปุ่นมาสอน  ๒ คน
มีการสอนหนังสือไทยและอังกฤษในโรงเรียนนั้น  รวมทั้งสอนการทำบัญชีด้วย
ครูคนไทยมีหลวงอนุสิทธิ์ ฯ (ไม่ทราบราชทินนามเต็มและชื่อเดิม) เป็นต้น

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรีได้เข้าเรียนที่นี่ด้วยจนกระทั่งโรงเรียนดังกล่าวเลิกสอน
ท่านจึงได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชินี


ปี ๒๔๔๗ รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งให้พระวิมาดาเธอฯ  ทรงตั้งวงมโหรีปี่พาทย์ขึ้น
เพราะทรงเห็นว่าพระวิมาดาฯ ทรงมีเด็กในพระอุปถัมภ์มาก
หม่อมราชวงศ์จำรัสศรีจึงต้องออกจากโรงเรียนมาเรียนมโหรี
โดยมี พระยาเสนาะดุริยางค์  ครูเหลือ  ครูชื่น เป็นครูผู้สอนมโหรี

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  ได้รับเลือกให้เล่นซอด้วง  เพราะเล่นได้ดีเป็นพิเศษ
และได้เป็นหลักในการเล่นซอของเด็กได้มาเรียนมโหรีครั้งนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 10:42

(แต่สงสัยว่า คุณวีมีจะรีบพิมพ์มากเลยพิมพ์ตกหล่นพลาดไปหลายแห่ง) ยิงฟันยิ้ม
คอมพ์ของคุณ V_Mee อาจมีฟ้อนท์เล็กมาก  มองไม่ถนัด หรือไม่คุณวีก็ใช้สองนิ้วจิ้ม  ผิดพลาดได้ง่าย   ดิฉันเคยเข้าไปช่วยพิมพ์แก้ให้หลายครั้งแล้ว

คราวนี้ยกมาพิมพ์ใหม่ให้ในค.ห.นี้

อ่านเรื่องของพระพี่เลี้ยงหวน  อนุภาณศิสยานุสรรค์  แล้ว  ชวนให้ระลึกถึงหลวงอนุภาณศิสยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล) สามีของท่านซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกับพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน เจ่าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กราบบังคมทูลเสนอชื่อ ม.ล.ทศทิศ  เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่า อายุยังน้อยอยู่เกรงว่าจะเป็นเพื่อนกับนักเรียน  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พระยาโอวาทวรกิจ (เหม  ผลพันธิน) มาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน  เมื่อพระยาโอวาทวรกิจถูกเรียกตัวกลับกระทรวงธรรมการ  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ก็กราบบังคมทูลขอให้หลวงอนุภาณฯ มาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทน  ก็มีพระราชกระแสว่า ขอให้คนในคือ พระยาบริหารราชมานพ (ศร  ศรเกตุ) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองลงทำการในหน้าที่ครูใหญ่ไปก่อน  กระทรวงธรรมการก็เลย้ายหลวงอนุภาณฯ ไปเป็นธรรมการมณฑลพายัพ  เมื่อย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่หลวงอนุภาณฯ ได้ไปริเริ่มจัดโรงเรียนสตรียุพราชวิทยาลัยขึ้นที่เชียงใหม่  โดยมอบหมายให้ครูจำรัส  หงสกุล ผู้เป็นน้องสาว  เป็นครูใหญ่  เริ่มเปิดโรงเรียนสอนกันมาได้ไม่นาน  หลวงอนุภาณฯ ก็ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย  และถึงแก่กรรมที่เชียงใหม่ด้วยวัยเพียง ๓๐ เศษ  ทางราชการได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพที่สุสานช้างคลาน  เสร็จการพระราชทานเพลิงศพแล้ว  ทายาทได้รวบรวมเงินทำบุญจัดสร้างโรงเรียนอนุภาณศิสยานุสรรค์ไว้ป็นเกียรติแด่ท่านผู้วายชนม์ที่สุสานช้างคลานนั้น  ต่อมาทางราชการได้จัดโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่  และได้ย้ายไปเปิดสอนที่วัดศรีดอนไชย  ภายหลังโรงเรียนนี้แปรสภาพเป็นโรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย  ส่วนโรงเรียนสตรียุพราชวิทยาลัยก็ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพในปัจจุบัน 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 10:50


คอมพ์ของคุณ V_Mee อาจมีฟ้อนท์เล็กมาก  มองไม่ถนัด หรือไม่คุณวีก็ใช้สองนิ้วจิ้ม  ผิดพลาดได้ง่าย   ดิฉันเคยเข้าไปช่วยพิมพ์แก้ให้หลายครั้งแล้ว


ถ้าอย่างนั้น ก็ควรเข้าไปปรับขนาดตัวอักษรในคอมพ์ให้ใหญ่ขึ้น  โดยเข้าไปที่ View คลิกเลือก ที่ Text Size  แล้วเลือกขนาดอักษรที่  Medium  หรือ Larger  หรือ Largest  ตัวอักษรข้อความบนจอก็จะใหญ่ขึ้นมองได้ถนัดตา  ไม่ต้องเพ่งมากด้วย ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 11:27

อยากทราบว่า พระพี่เลี้ยงหวน มีบุตร-ธิดา รวมกี่คนครับ.........
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 12:56

อยากทราบว่า พระพี่เลี้ยงหวน มีบุตร-ธิดา รวมกี่คนครับ.........

พระพี่เลี้ยงหวนกับหลวงอนุภาณศิสยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล)
มีบุตรธิดาจำนวน ๓ คน  คือ

๑.ศาสตราจารย์  พลอากาศจัตวา มหิดล  หงสกุล

๒.นางหรรษา  บัณฑิตย์

๓.พลอากาศเอก หะริน  หงสกุล

พระพี่เลี้ยงหวนกับหลวงอนุภาณศิสยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล) แต่งงานอยู่กันได้ ๕ ปี
หลวงอนุภาณศิสยานุสรรค์ ก็ถึงแก่กรรมด้วยไข้มาลาเรีย
ทำให้พระพี่เลี้ยงหวนต้องรับภาระดูแลบุตรธิดาเพียงคนเดียวนับแต่นั้น
พระพี่เลี้ยงหวนเป็นหม้ายมา ๗๔ ปีเศษ  ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๑๐๔ ปี  ๓ เดือน ๑๙ วัน
มีชีวิตยืนยาวผ่านมาถึง ๕ แผ่นดิน  

ในหนังสืองานศพท่านมีบันทึกที่ท่านได้จดไว้ในสมุด  ซึ่งลูกๆ ได้นำมาพิมพ์ไว้
ในบันทึกนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับเจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖  
เรื่องขุนสุระสงคราม ต้นสกุลสุรนันทน์ ซึ่งเป็นสกุลเดิมของพระพี่เลี้ยงหวน
จดหมายของพระพี่เลี้ยงหวนที่เขียนถึงลูกชาย พลอากาศเอก หะริน  หงสกุล
ไว้ถ้ามีโอกาสจะได้นำมาตั้งกระทู้เล่าสู่กันฟังต่อไป ยิ้ม


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 13:32

ต่อประวัติของหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์

ฝีมือการเล่นซอด้วงของหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์
มีที่ควรเล่าไว้เป็นหลักฐาน คือ
ในคราวที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จกลับจากการเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี ๒๔๕๐
รัชกาลที่ ๕  ได้ทรงนำนกคีรีบูนสีเหลืองอ่อนตัวหนึ่งกลับมาด้วย
โดยทรงเลี้ยงนกนั้นไว้ในกรงตั้งไว้บนพระที่นั่ง


อยู่มาวันหนึ่ง นกคีรีบูนที่ทรงเลี้ยงไว้เกิดหยุดร้องไปเสียเฉยๆ
รัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์
นำซอด้วงไปสีเป็นเพลงเดี่ยวเชิดนอกให้นกคีรีบูนร้องตาม
และปรากฏว่านกคีรีบูนก็ร้องตามเสียงซอเป็นที่พอพระราชหฤทัย
จึงได้พระราชทานตุ้มหูประพาฬ (คอรันแดง) ๑ คู่ แก่หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี 

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  รักและชอบวิชาสีซอนี้มาก
และได้เล่นซอต่อเนื่องมาตลอด
จนกระทั่งบ้านของท่านที่ถนนพระอาทิตย์ถูกระเบิดในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒
ทำให้ซอและบ้านของท่านไหม้มอดไปด้วยกัน 
หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  จึงได้เลิกเล่นซอนับแต่นั้น
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 09 ส.ค. 10, 13:48

วงมโหรีที่รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งให้พระวิมาดาฯ ทรงจัดการตั้งขึ้นนั้น
รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องต่างๆ ทั้งบทมโหรี ๓ ชั้น
และบทละคร ๒ ชั้น ด้วย   ทั้งยังได้ทรงเล่นละครคนแก่
ซึ่งมีพวกละครที่มีชื่อเสียงมาก่อนร่วมแสดงด้วย
ตัวละครที่เล่นในคราวนั้นได้แก่  หม่อมเพื่อน ตัวละครสมเด็จเจ้าพระยา
บรมมหาศรีสุริยวงศ์  หม่อมบาง ตัวละครเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ เป็นต้น

เรื่องที่นำมาเล่นละครในครั้งนั้น ได้แก่บทละครสังข์ทอง คาวี และเงาะป่า
เรื่องสังข์ทอง เล่นตอนหาปลา  โดยโปรดให้มีระบำปลาด้วย
หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าฝูงปลาสีน้ำเงิน
คู่กับหม่อมราชวงศ์ประพันธ์ ศิริวงษ์  หัวหน้าฝูงปลาสีชมพู
ผู้เล่นระบำปลามีทั้งหมด ๒๐ คู่ 

รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงออกแบบเครื่องแต่งตัวและบทแสดงด้วยพระองค์เอง
และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
ทรงเป็นผู้สอนระบำนั้น

การแสดงระบำปลา  เริ่มด้วยพิณพาทย์บรรเลงเพลงโล้
ปลาออกมาเดินโล้เลื่อนลอยคล้ายว่ายน้ำ  แล้วแปรกระบวน
ตามที่ฝึกกันไว้  พอหมดกระบวนก็เข้าโรง
ทิ้งพัดหางปลาที่ถืออยู่สองมือในโรง
แล้วถือปลากระดาษแข็งออกมาคนละ ๒ ตัว
วิ่งมาทิ้งปลานั้นที่ตรงหน้าพระสังข์เมื่อพิณพาทย์ทำเพลงรัว
แล้วเข้าโรง  เป็นการสนุกสนานน่าชมมาก
(หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงว่าไว้อย่างนี้)

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 20 คำสั่ง