เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105145 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 04 ส.ค. 10, 11:09

เรื่องโรงพิมพ์  คงเป็นข้อมูลที่นักเล่นแสวงหากันมาก

แต่ก็แปลกที่ไม่ค่อยมีใครเขียนอย่างละเอียดๆ 
จะหาข้อมูลกันที  ก็ต้องควานจากหนังสืองานศพนี่แหละ

หลังโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรเลิกกิจการไป
โรงพิมพ์พระจันทร์ก็ขึ้นมาพอแทนๆ กันอยู่
เพราะได้พิมพ์หนังสืองานศพหลายเล่ม
ซึ่งยุคนั้นหนังสืองานศพเป็นหนังสือปกขาว
ผิดกับสมัยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรที่เป็นปกกระดาษสี
แถมตัวหนังสือก็เปลี่ยนไป

ถ้าคุยเรื่องนี้โดยเฉพาะ  เห็นทีต้องตั้งกระทู้ใหม่
แต่ตอนนี้ไม่มีข้อมูล   คงต้องวานคุณวันดีไปตามนักสะสมหนังสือเก่ามือฉมัง
มาเข้าเรือนเพื่อสอนวิทยายุทธให้เสียแล้ว ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 04 ส.ค. 10, 13:24

มาดูหนังสืองานศพเล่มอื่นบ้าง

เล่มนี้  ดูหน้าปกไม่น่าสนใจอะไร  และไม่บ่งบอกเนื้อเรื่องภายในเล่ม
อย่างนี้  นักอ่านหนังสืองานศพต้องเปิดอ่านเท่านั้น   ยอมเสียเวลาเปิดอ่าน
มิฉะนั้นจะพลาดหนังสือดีไป  (เพราะความขี้เกียจเปิดอ่านนี่แหละ)

เล่มนี้เป็นหนังสืองานศพพระยาราชเสนา  (สิริ  เทพหัสดิน  ณ อยุธยา)
เจ้าคุณราชเสนานับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งมวล
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไม  ผมจะปล่อยให้ท่านสงสัยไปก่อน ยังไม่เฉลย

หนังสืองานศพเล่มนี้  มีบทความน่าสนใจที่เป็นผลงานของเจ้าคุณราชเสนาหลายเรื่อง
ซึ่งเจ้าคุณเคยส่งไปลงพิมพ์ในวารสารศิลปากร  ได้แก่

บทความ เรื่อง ปราสาทหินสร้างด้วยอะไร ลงในศิลปากร ปี ๓ ฉบับ ๖ มีนาคม ๒๕๐๓

บทความ เรื่อง ข้าวสารดำ และ งิ้วดำ  ลงในศิลปากร ปี ๔ ฉบับ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓

บทความ เรื่อง ความรู้เก่า  ลงในศิลปากร ปี ๔  ฉบับ ๔ - ๕ - ๖   ๒๔๙๓ - ๒๔๙๔
ตอนที่ ๑ ตลับเก็บตัวผึ้งประหลาด  (มหัศจรรย์มาก)
ตอนที่ ๒ ผีโขมด 
ตอนที่ ๓ ผีโป่งค่าง

บทความ เรื่อง ปลาบึกและประเพณีการจับปลาชนิดนี้  ลงในศิลปากร ปี ๒ ฉบับ ๑ ๒๔๙๑

บทความเรื่อง ชีวิตของชาวโพนช้างอาชีพ  ลงในศิลปากร  ปี ๒ ฉบับ ๕  ๒๔๙๒
เรื่องนี้น่าอ่านมาก  สำหรับคนที่ชอบเรื่องช้าง  เพราะท่านให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจับช้าง
ภาษาเฉพาะของชาวโพนช้าง  และอุปกรณ์ที่ให้ในการจับช้าง 
มีบางส่วนหาอ่านไม่ได้จากหนังสือเล่มอื่น



งานค้นคว้ารวบรวมของเจ้าคุณ เรื่อง พจนานุกรมฉบับเพิ่มเติม  ที่เจ้าคุณได้เก็บและอธิบายคำ
ที่พจนานุกรม ๒๔๙๓ อธิบายไม่ละเอียด  ไม่ชัดเจน  หรือไม่ได้เก็บคำอธิบายบางอย่าง 
และเก็บกับอธิบายคำบางคำที่ไม่มีในพจนานุกรมฉบับนั้นด้วย



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 04 ส.ค. 10, 13:36

เล่มต่อมา  เป็นหนังสืองานศพคุณแม่น้อม  สงขลานครินทร์  (น้อม  ตะละภัฏ)
ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงสงขลานครินทร์ (หลี  ตะละภัฏ)
(พระพี่เลี้ยงและเจ้ากรมของสมเด็จพระบรมราชชนก)

ดูแค่ปกก็ไม่เห็นว่า  มีอะไรน่าสนใจ 
ต้องเปิดอ่านดู  จึงได้รู้ว่า  เจ้าภาพได้พิมพ์ตำราแม่ครัวหัวป่าก์
ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรวงศ์  ไว้ในเล่มด้วย
ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ดีเด็ดอย่างไร   
ท่านผู้เป็นคอหนังสือเก่าคงทราบดี  แม้ว่าจะมีการพิมพ์หลายครั้ง
แต่ก็ยังมีคนต้องการอยู่มาก   


บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 04 ส.ค. 10, 14:35

รบกวน คุณหลวงเล็ก เล่าประัวติคร่าวๆของ คุณแม่น้อม  สงขลานครินทร์ หน่อยได้มั้ยครับ...
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 04 ส.ค. 10, 15:34

ไม่มีปัญหาครับ   โปรดตั้งหู เอ๊ย ตั้งใจฟังครับ

คุณน้อม  สงขลานครินทร์  เกิดในราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา 
บิดาชื่อ หม่อมหลวงเนตร   มารดาชื่อ นางทองย้อย
หม่อมหลวงเนตร เป็นบุตรคนที่ ๒๑ ของ หม่อมราชวงศ์ช้าง
(พระยาราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติบดีอไภยพิริยพาหุ)
หม่อมราชวงศ์ช้าง เป็นบุตรในหม่อมเจ้าฉิม
หม่อมเจ้าฉิมเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

หม่อมราชวงศ์ช้างได้ถวายตัวรับราชการในสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ
ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔
หม่อมราชวงศ์ช้างจึงได้เป็นข้าหลวงเดิม  และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น
พระยาราชภักดีฯ จางวางกรมพระคลังมหาสมบัติ

นางน้อม เกิดที่ตำบลถนนวรจักร  พระนคร เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๒๔๓๑
เมื่อเยาว์  ตายายพานางน้อมไปอยู่กับเจ้าจอมหม่อมหลวงถนอม ในรัชกาลที่ ๕
ที่ในพระบรมมหาราชวัง  โดยได้เรียนรู้วิถีชีวิตในวังหลวงหลายปี
เป็นที่คุ้นเคยของเจ้านายทั่วไป  ต่อมาได้ไปเรียนที่โรงเรียนวังหลัง

นางน้อม แต่งงานกับหลวงสงขลานครินทร์  (หลี ตะละภัฏ)  ซึ่งก่อนหน้านั้น
เจ้ากรมหลีได้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร  ครั้นสมเด็จพระบรมฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์  จึงได้
รับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช 
และเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช  ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนสงขลานครินทร์
ท่านหลีก็ได้เป็นเจ้ากรมในเจ้านายพระองค์นั้น

เจ้ากรมหลีเดิมมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมาภรรยาเดิมถึงแก่กรรม
ท่านหลีเป็นหม้ายอยุ่นาน ๘ปี  กว่าจะได้แต่งงานใหม่กับนางน้อม
นางน้อมมีบุตรธิดากับเจ้ากรมหลี ๖ คน

เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์  เจ้ากรมหลีได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
จากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเลี้ยงดูเรื่อยมา   พอเจ้ากรมหลีถึงแก่กรรม
นางน้อมก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณต่อมาตลอดจนรัชกาลปัจจุบัน

นางน้อมเป็นสุขภาพดี  มีจิตใจใฝ่ในกุศลมาก 
นางน้อมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน  ๒๕๓๓
อายุได้ ๑๐๑ ปี ๕ เดือน ๑๕ วัน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 08:36

๘.พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช

หนังสืองานพระศพพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช
เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๙๗ 
พิมพ์เรื่องราชาธิราช  ซึ่งเหมาะแก่พระศพเจ้านายพระองค์นี้
เพราะราชสกุลกฤดากรเกี่ยวข้องกับสกุลคชเสนีซึ่งเป็นเชื้อสายชาวมอญ

เรื่องราชาธิราชนั้นพิมพ์หลายครั้ง  หาอ่านไม่ยาก
แต่รายละเอียดพระประวัติพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช
ในหนังสือเล่มนี้  หาอ่านจากหนังสืออื่นได้ยาก


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 08:51

พระประวัติพลเอก พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช
(อย่างสังเขป)

ประสูติ เมื่อ วันอังคาร แรมสิบห้าค่ำ เดือนสี่ ปีฉลู จ,ศ, ๑๒๓๙
ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๒๑

เป็นพระโอรสพระองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์
และหม่อมสุภาพ กฤดากร

ปี ๒๔๒๖  เสด็จตามพระบิดาออกไปที่ประเทศอังกฤษ  
เนื่องด้วยพระบิดาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน

ปี ๒๔๒๙ เสด็จกลับมาเมืองไทย  ทรงศึกษาหนังสือกับครูมอแรนต์
ซึ่งได้จ้างมาสอนหนังสือเป็นครูพิเศษ  และภายหลังครูมอแรนต์ผู้นี้
ได้เป็นผู้ถวายพระอักษรสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ปี ๒๔๓๑  เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ

ปี ๒๔๓๒  ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมวอร์เร็นฮิล เมืองอีสเบอร์น

ปี ๒๔๓๖  ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์

๑๒  สิงหาคม  ๒๔๓๙  ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่กับช่างของประเทศอังกฤษ

ปี ๒๔๔๑  ทรงสำเร็จวิชาจากโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่  
แล้วเสด็จไปทรงศึกษาการทำอาวุธของบริษัทอาร์มสตรอง  
ที่โรงงานอาวุธ เมืองนิวคาเซล

๘  มีนาคม  ๒๔๔๑  ได้รับพระราชทานยศนายทหารบกสยาม เป็น นายร้อยตรี

๖  สิงหาคม  ๒๔๔๒  เสด็จไปทรงศึกษาวิชาที่กรมทหารช่างของอังกฤษ  
ณ เมืองแซตท่ำ  เป็นเวลานาน ๑ ปี

ปี ๒๔๔๓ เสด็จกลับเมืองไทย

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 09:06

ในช่วงที่พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จกลับเมืองไทยนั้น  
เป็นเวลาที่จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช  
ทรงดำเนินการปรับปรุงและจัดระเบียบทหารบกให้เป็นอย่างอารยประเทศพอดี
พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดชจึงได้ทรงร่วมช่วยเหลือเสด็จในกรมพระองค์นั้น
ในการจัดการครั้งนั้นด้วย

๑  พฤศจิกายน  ๒๔๔๓  ทรงเข้ารับตำแหน่งนายเวรรายงานกรมเสนาธิการทหารบก
(ในขณะนั้น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช  
ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบก) ทรงดำรงตำแหน่งนี้ได้ประมาณ ๓ เดือน

๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๓ (๒๔๔๔) ทรงเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒  กองทหารปืนใหญ่

๑ เมษายน  ๒๔๔๔  ทรงเป็นปลัดกองทหารปืนใหญ่  

๒๗ เมษายน  ๒๔๔๔  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายร้อยโท

๑ พฤษภาคม  ๒๔๔๔  ทรงรับตำแหน่งสารวัตรปืนใหญ่ (ในระหว่างนี้  
ได้เสด็จไปราชการตรวจรับปืนเล็กยาว (ปืน ร.ศ.) ณ ประเทศญี่ปุ่น  
กับพลเอก  เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน (กลาง)  สนิทวงศ์))

๒๐  พฤษภาคม  ๒๔๔๔  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น นายพันตรี

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 13:17

ปี  ๒๔๔๖  เริ่มใช้ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในมณฑลนครราชสีมาเป็นแห่งแรก 
เพื่อทดลองก่อนจะมรการตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารอย่างเป็นทางการ 
และจัดการตั้งกองทหารเป็นเหล่าต่างๆ ที่มณฑลนั้น 

๘  พฤษภาคม  ๒๔๔๖  พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น
ผู้รั้งผู้บัญชาการทหารบกมณฑลนครราชสีมา

๑๕ พฤษภาคม  ๒๔๔๖  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายพันโท

๗ สิงหาคม  ๒๔๔๖  ได้ทรงตำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมณฑลนครราชสีมา

๒๓ เมษายน  ๒๔๔๗  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายพันเอก

๒๑ กันยายน  ๒๔๔๙  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายพลตรี

๑ ธันวาคม  ๒๔๕๐  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ฝ่ายไทยออกไปทำการปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศส
ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นพอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น  และเป็นที่ชื่นชมพอใจของฝ่ายฝรั่งเศสด้วย

๑ เมษายน  ๒๔๕๑  ในระยะดังกล่าวมีการปรับปรุงกิจการทหารปืนใหญ่  และได้ตั้งเป็นกรมจเรการปืนใหญ่ทหารบกขึ้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช ทรงดำรงตำแหน่งจเรการปืนใหญ่ทหารบก

๓๐ กรกฎาคม  ๒๔๕๑  ได้เสด็จออกไปตรวจการปืนใหญ่ทหารบก ณ ประเทศยุโรป

ปี ๒๔๕๒  พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ
ในตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส  เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม  ๒๔๕๒
(พระวรวงศ์เธอ พระองค์จรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตพิเศษเดิม  ซึ่งเป็นพระเชษฐา  เสด็จกลับเข้ามารับราชการในสยาม)

ในระหว่างที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช เสด็จออกไปทรงปฏิบัติหน้าที่อัครราชทูตนั้น 
ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภิบาลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา 
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมจขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย  และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษด้วย

ปี  ๒๔๕๕  พระวรวงศ์เธอ พระองค์จรูญศักดิ์กฤดากร ได้เสด็จกลับไปรับราชการในตำแหน่งอัครราชทูตพิเศษตามเดิม
โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช  เสด็จกลับเข้ามารับราชการทหารบก

๒ กรกฎาคม  ๒๔๕๕  โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมแสงสรรพาวุธ  และผู้รั้งจเรการปืนใหญ่ทหารบก

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 13:40

๑ พฤษภาคม ๒๔๕๖  โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง
แม่ทัพกองทัพน้อยทหารบที่ ๑   และคงเป็นผู้รั้งจเรการปืนใหญ่ทหารบกด้วย

๒๙  พฤษภาคม  ๒๔๕๖  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายพลโท

ปลายปี  ๒๔๕๖  จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช 
สิ้นพระชนม์  โปรดเกล้าฯ ให้จอมพล  เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล)
เป็นเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม

๑  สิงหาคม  ๒๔๕๗  โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช
ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม  และเป็นจเรการปืนใหญ่ทหารบก

๑๖ กรกฎาคม  ๒๔๕๘  พระวรวงศ์เธอ พระองค์บวรเดช ได้ทรงจัดการ
ตั้งโรงเรียนปืนใหญ่ทหารบกขึ้น   และได้รับตำแหน่งผู้รั้งผู้อำนวยการ
โรงเรียนปืนใหญ่ทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง

๑ มกราคม ๒๔๕๘ (๒๔๕๙) โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารนอกกองไปรับราชการ
ในตำแหน่งอุปราชภาคพายัพและสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ   ในระหว่างที่ทรงดำรง
ตำแหน่งนี้  ได้ทรงบำรุงกิจการกสิกรรมของมณฑลนั้น  และได้ทรงร้องขอให้อุปนายก
สภากาชาดไทย  (จอมพล  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
ให้ทรงร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์  ในการออกทุนเท่าๆ กันกับมูลนิธิดังกล่าว
ปราบพยาธิปากขอ  (เป็นครั้งแรกที่มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์  เข้ามามีกิจกรรมในสยาม)

๑  สิงหาคม  ๒๔๖๕  กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งอุปราชภาคพายัพ
และสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ   เป็นนายทหารกองหนุน
สังกัดกรมจเรการทหารปืนใหญ่   เพื่อทรงประกอบอาชีพส่วนพระองค์

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 13:57

๘  มกราคม ๒๔๖๘  ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ารับราชการ
ในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม 
(ในช่วงนั้น พลเอก  เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร)
เป็นเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม)

๕  สิงหาคม  ๒๔๖๙  โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช
เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาธิการทหารบก  (จอมพล  สมเด็จเจ้าฟ้า
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ทรงเป็นเสนาธิการทหารบก ได้รับโปรดเกล้าฯ
ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม ในครั้งนั้น)

๑๕  มีนาคม  ๒๔๖๙  (๒๔๗๐)  โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นเสนาธิการทหารบก 

๗  เมษายน  ๒๔๗๐  ทรงได้รับพระราชทานยศ เลื่อนเป็น  นายพลเอก

๑  เมษายน  ๒๔๗๑  จอมพล  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต 
ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช  ทรงดำรงตำแหน่ง
ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม

๒๕  ตุลาคม  ๒๔๗๑  โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง
เป็นเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม  โดยในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งนี้
ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีหน้าที่พิเศษ ในตำแหน่งที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันมีศักดิ์รามาธิบดี  และเป็นผู้ตรวจการใหญ่พิเศษประจำสภากรรมการกลางฯ
ตั้งแต่งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ ๒
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 14:23

๘  พฤศจิกายน  ๒๔๗๒  ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ  สถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช


มิถุนายน  ๒๔๗๔  กราบบังทูลลาออกจากราชการ  เนื่องจากทรงมีเรื่องขัดแย้งกันในสภาเสนาบดี
เกี่ยวกับการที่ทรงขอเลื่อนเงินเดือนนายทหารบก  ต้นปี ๒๔๗๔

หลังจากนั้นพระประวัติเป็นอย่างไร  ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
คงทราบดี  จึงไม่ขอเล่าให้ซ้ำ

ในช่วงเวลาก่อนสิ้นพระชนม์  พลเอก พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช ได้ทรงตั้งโรงงานพิมพ์ลายผ้า
ที่ตำบลหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และได้เสด็จไปประทับที่หัวหินนั้นเป็นประจำเพื่อทรงดำเนินงาน
โรงงานพิมพ์ลายผ้าด้วยพระองค์เอง 

๑๖ พฤศจิกายน  ๒๔๙๖  ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโดยปัจจุบัน 
สิ้นพระชนม์ เวลา  ๒๓ น. เศษ  พระชนมายุ ได้ ๗๕ พรรษา  ๗ เดือน  ๑๕ วัน
ชายาคือ เจ้าหญิงทิพวัน ณ เชียงใหม่  เจ้าหญิงบัวนวล ณ เชียงใหม่  และหม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร
ได้เชิญพระศพพลเอก พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช
มาบำเพ็ญกุศลตามพระเกียรติยศมาตั้งที่วังถนนนเรศร์
และได้พระราชทานเพลิงพระศพ  ที่พระเมรุ  วัดเทพศิรินทราวาส 

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 14:50

เล่าพระประวัติพลเอก พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบวรเดช เสียยาว

ต่อไปมาดูหนังสืองานศพเล่มเล็กๆ กันบ้าง

หนังสืองานฌาปนกิจหม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์
วันที่ ๒๖ กันยายน  ๒๕๐๘


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 15:03

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  มีความสำคัญอย่างไร

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  เป็นธิดาในหม่อมเจ้าสวาท  สนิทวงษ์
กับหม่อมเขียน  สนิทวงษ์ ณ อยุธยา  มีพี่น้องท้องเดียวกัน ๑ คน
คือ  หม่อมราชวงศ์ เลิศวิไลยลักษณ์   สนิทวงษ์  ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปก่อน

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๔๓๖

เมื่อโตขึ้นอายุได้ ๗ ขวบ  หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  ได้เข้าไปอยู่วังหลวง
กับเจ้าจอมมารดา  หม่อมราชวงศ์เกษร  ในรัชกาลที่ ๕  ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดาเดียวกัน
โดยอยู่ในความดูแลของหม่อมเจ้ากระจ่าง และหม่อมเจ้าชมนาด  สนิทวงษ์
ซึ่งเป็นอาและเป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์  และ
พระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าอนุสรสิริประสาธน์  

ต่อมาเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์
และเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์เกษร  ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว
บรรดาผู้ที่เป็นพระญาติในพระเจ้าลูกยาเธอและเจ้าจอมมารดานั้น
จึงได้ย้ายมาอยู่ในสำนักของพระวิมาดาเธอ   กรมพระสุทธาสินีนาฎ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 05 ส.ค. 10, 15:14

หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์  ได้เริ่มเรียนหนังสือไทยเบื้องต้น
กับคุณแมว  พนักงานฝ่ายใน ในรัชกาลที่๕ 

ต่อมา  พระวิมาดาได้ทรงตั้งโรงเรียนเด็กขึ้นที่ตำหนักเจ้าจอมมารดา 
หม่อมราชวงศ์เกษร  ซึ่งว่างอยู่ในเวลานั้น  และทรงจ้างครูมาสอน ๓ คน
คือ  หม่อมราชวงศ์เปล่ง  ทินกร ๑   ครูแวว ๑  คุณอ่อง (คุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์)
กับโปรดให้เจ้าจอมสมบูรณ์ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ควบคุมดูแลนักเรียนทั้งหมด


นักเรียนชั้นใหญ่ มี หม่อมเจ้าพันธุ์สิหิงค์  ทองใหญ่     หม่อมเจ้าชนม์เจริญ  ชมภูนุท
หม่อมราชวงศ์เป้า   หม่อมราชวงศ์สดับ  ลดาวัลย์   หม่อมราชวงศ์กระบุง  ลดาวัลย์
หม่อมราชวงศ์จินต์  ลดาวัลย์   หม่อมราชวงศ์จำรัสศรี  สนิทวงษ์   
หม่อมราชวงศ์ประพันธ์   ศิริวงศ์   หม่อมราชวงศ์ฉายฉาน  ศิริวงศ์ 
และคุณนวม  คลี่สุวรรณ

นักเรียนชั้นเล็ก มี  หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล  หม่อมเจ้าพัฒนายุ  ดิศกุล
หม่อมเจ้าดวงแก้ว  จักรพันธ์  หม่อมหลวงสละ  ศิริวงศ์  และคุณพร้อง

นักเรียนโรงเรียนนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  ต้องการสิ่งใดก็เบิกกับเจ้าจอมสมบูรณ์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง