เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105557 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 12:49

รบกวนคุณหลวงตรวจสอบชื่อบิดาคุณหญิงอนินทิตาด้วยครับ  น่าจะเป็นพระยานาวีวราสาหรือเปล่าครับ?


ครับ ที่ถูกคือ พระยานาวีวราสา (ยืน  นาวีเสถียร)  ขออภัยที่พิมพ์เพลินไป
ไม่ทราบว่า  คุณวีมีพอจะทราบไหมว่า พระยานาวีวราสา ได้เป็นพระยาเม่อไร และเดิกตายปีใด
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 15:20

รีบพิมพ์ไปหน่อย  เลยสะกดผิดบางคำ
ขอแก้ไขดังนี้

รบกวนคุณหลวงตรวจสอบชื่อบิดาคุณหญิงอนินทิตาด้วยครับ  น่าจะเป็นพระยานาวีวราสาหรือเปล่าครับ?


ครับ ที่ถูกคือ พระยานาวีวราสา (ยืน  นาวีเสถียร)  ขออภัยที่พิมพ์เพลินไป
ไม่ทราบว่า  คุณวีมีพอจะทราบไหมว่า พระยานาวีวราสา ได้เป็นพระยาเมื่อไร และเกิดตายปีพ.ศ.ใด
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 15:58

มาเล่าประวัติคุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร  ต่อ

คุณหญิงอนินทิตา  อาขุบุตร  เป็นนางเอกภาพยนตร์ไทยคนแรก

ว่ากันตามเรื่องโดยสังเขปว่า  นาย เฮนรี  เอ. แมคเกรย์  เดินทางมาจากฮอลลิวูด  สหรัฐอเมริกา เมื่อ ๒๔๖๖
เพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องนางสาวสุวรรณ (The Gold of Siam) โดยเนื้อเรื่องภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ากันว่า
เป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖  โดpทั้งนี้นายแมคเกรย์ เป็นผู้ลงทุน (จริงๆ ทางการสยามได้ออกทุนให้มากกว่า)
และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์นี้ด้วยหมายจะใช้ภาพยนตร์นี้เป็นสื่อให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักเมืองไทยมากขึ้นและถูกต้อง

รัชกาลที่ ๖ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายแมคเกรย์ ใช้สถานที่ต่างๆ ในพระราชวังบางปะอิน พระบรมมหาราชวัง
และสถานที่อื่นๆ ในประเทศสยาม ในการถ่ายทำภาพยนตร์  ส่วนตัวแสดงนั้น  ก็เลือกจากตัวละครในกรมมหรสพหลวง
ครั้งนั้นได้พระเอก คือ หลวงรามภรตศาสตร์   ผุ้เล่นบทพ่อ คือ หลวงยงเยี่ยงครู   นายกล้องแก้ว ตัวโกงของเรื่อง คือ
หลวงภรตกรรมโกศล  ยังขาดแต่นางเอกที่ยังไม่ได้ตัวผู้เหมาะสม

คุณลาวัณย์  โชตามระ ได้เล่าไว้ในหนังสือ รัดเกล้า ว่า
ครั้งนั้น  หลวงภรตกรรมโกศล  ได้มาตามนางสาวเสงี่ยมให้ไปคัดเลือกตัวนางเอกด้วยตนเอง
แต่นางสาวเสงี่ยมพยายามปฏิเสธ  แต่คุณหลวงก็พูดขะยั้นขะยอจนทำให้นางสาวเสงี่ยมใจอ่อนยอมไปคัดเลือกกับเขาด้วย
โดยแต่งตัวผลัดผ้านุ่งใหม่ ถักผมเปีย  ไม่ได้อาบน้ำแต่งหน้าตาอะไรเป็นพิเศษ 

ปรากฏว่า  นางสาวเสงี่ยมได้รับคัดเลือกจากนายแม็คเกรย์ให้สวมบทนางสาวสุวรรณ 

การถ่ายทำภาพยนตร์เริ่มต้นก็ออกวุ่นวาย เพราะคนไทยมามุงดูการถ่ายทำกันมาก 
ด้วยเป็นของแปลกเมื่อแรกมีในสยาม  รายละเอียดต่างๆ นั้น 
อยากจะให้ไปหาหนังสือของคุณลาวัณย์มาอ่านจะได้อรรถรสกว่าฟังผมเล่า
(เดี๋ยวผิดพลาดไป  จะต้องมีผู้เข้ายกมือขอทักท้วงให้แก้ไขตรวจสอบอีกวุ่นวาย เปล่าๆ )

แต่แน่นอนว่าหนังสือรัดเกล่าของคุณลาวัณย์ บัดนี้ก็หายากนัก 
อาจจะต้องพึ่งพานักเล่นหนังสือเก่าบางท่านแถวนี้ช่วยสงเคราะห์บ้าง

ว่าแล้วก็ทัศนารูปนางสาวสุวรรณ  นางเอกภาพยนตร์คนแรกของไทย
และภาพที่คุณหญิงอนินทิตาแสดงละครในโอกาสต่างๆ




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 20:58

ประวัติตระกูล ๓ ตระกูล

พิมพ์ในการฌาปนกิจ  ท่านฟุ้ง  ฤทธาคนี

โรงพิมพ์ของทหารอากาศ

ณ เมรุวัดมกุฎกบัตริยาราม

วันที่ ๒๙ มกราคม  ๒๕๐๒




       สังฆราชด่อนเกิดที่อยุธยา  ลำนำ้บางพระครู  ตำบลบ้านพระนอน  เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์มาตั้งแต่กรุงเก่า

ในแผ่นดินธนบุรีได้เป็นพระสังฆราช    ถูกถอดบันดาศักดิ์และให้ศึกจากสมณะเพศพร้อมกับสมเด็จพระวันรัต 

เมื่อให้เหตุผลต่อพระเจ้ากรุงธนว่า สมมุติสงฆ์ไม่ควรวันทนาการกราบไหว้คฤหัสถ์    โดนสักเป็นเลขวัดหงส์ไว้ล้างฐานและถากหญ้า

นายด่อนก็มีภรรยาและบุตรชื่อนายเล็ก



       ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ได้รับราชการสอนหนังสือเจ้านายที่กรมพระอาลักษณ์     นายเล็กผู้บุตร

ได้มาร่วมเรียนหนังสือในชั้นที่บิดาสอนด้วย   เมื่อมีวิชาความรู้ติดตัวแล้ว  บิดาได้นำไปถวายตัวต่อพระพุทธเลิศหล้าเมื่อยังเป็นต่างกรมอยู่

ต่อมานายเล็กได้เป็นพระยาพิทักษ์สาลีเกษตรวังหน้า    ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสนามควาย  ตำบลคลองบางลำภู  ที่สะพานมหาดไทยอุทิศ

มีบุตรชื่อนายทองอยู่



       นายทองอยู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  ได้ฝึกหัดเป็นพระราม  และเตรียมตัวบวช



       นายทองอยู่ได้จัดการบ้านเรือนดาดผ้าเพื่อจัดงาน  เสร็จเป็นเวลา ๕ ทุ่มเศษ    จึงชวนบ่าวไพร่ลงอาบน้ำที่ท่าหน้าบ้าน

ทันใดนั้นจระเข้ก็มาคาบนายทองอยู่ไป         บ่าวไพร่ที่อยู่ด้วยก็โวยวายไปเรียนท่านเจ้าคุณ       พระยาพืทักษ์ก็นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า

ดำรัสสั่งให้ปิดคลองบางลำภู  และให้นำความมากราบทูลได้ทุกเวลา


       ขณะเมื่อถูกจระเข้คาบไป   นายทองอยู่ได้จับขี้หมามันบิดและบีบแน่น  คิดถึงแต่การบวชและภาวนาพระอรหังเป็นที่พึ่ง      จระเข้ว่ายทู่ตามน้ำแต่ไม่จมตัวลง

พอไปถึงหน้าวัดบางลำภูก็วางเหยื่อลงที่ชายเลน   พอขยับจะหนีมันก็เข้ามาคาบไว้อีก    จึงทำนิ่งไม่กระดุกกระดิก  มันก็วางไว้ดั่งก่อน  แล้วมันถอยห่างออกไปวาเศษ

ก็เสือกตัวถีบขึ้นตลิ่งได้  ประมาณ ๖ ทุ่มเศษ           ต้องเดินเปลือยกายแต่หน้าวัดบางลำภูมาถึงบ้าน          สาวใช้ที่กำลังไปปิดประตูนอกชานตกใจวุ๊ยว๊าย  ร้องว่า

ปีศาจพ่อทองอยู่มายืนนิ่งอยู่นี่เจ้าข้า

       บิดาได้ชำระเนื้อตัวเอาผ้าขาวพันแผลไว้  แล้วไปกราบทูล

       ดำรัสให้แพทย์หลวงออกไปรักษา

       หมอทำแปลใส่น้ำมันและผูกผ้าไว้เรียบร้อย      พอ ๙ ทุ่มก็พูดได้เล็กน้อย   พอเช้าก็เล่าเรื่องจรเข้คาบไปได้          พระยาพิทักษ์ต้องเข้าไปกราบทูลอาการเสมอ

หลังจากหนึ่งเดือนแล้ว  กราบบังคมทูลลาอุปสมบทอีก     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามให้ใหม่ ชื่อ สมบูรณ์  พระราชทานเงิน ๔ ชั่งช่วยบวช    ผ้า ๔ สำรับ

ให้เอาไว้ใช้เมื่อสึกมา      ต่อมารับราชการได้เป็นหลวงกระยาหารผู้ช่วยพระยาพิทักษ์สาลี










 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 19 ส.ค. 10, 22:54

     
     หลวงกระยาหารมีบุตรสองคน  คือ  นายทองอิน  กับนายทองเพ็ง

บุตรของนายทองอินที่มีชื่อเสียงคือ นายแจ้ง  เป็นหมื่นพิทักษ์นิกร  สมุหบัญชีกรมทหารรักษาพระองค์ ปืนปลายหอกซ้าย  กับ

ทองห่อหรือฮ้อ ปลัดกรมรักษาพระองค์ ปืนปลายหอกขวา  ต่อมาได้เป็นหมื่นอนุรักษราชา  เลื่อนเป็นขุนสุดกระบวนรบ  ขุนเร่งเร้าพล และ ขุนอาจนิกร

ปลัดกรมทหารรักษาพระองค์ ปืนปลายหอกขวา  เมื่อปลดจากราชการแล้ว ได้ตั้งวงพิณพาทย์เครื่องใหญ่โดยหัดลูกหลานและบ่าวไพร่ได้เต็มวง


ขุนอาจนิกรมี บุตร ๙ คน

ที่สมควรเอ่ยชื่อมี  พันโทพระเริงสงคราม(เฟื่อง)

และ นายฟุ้ง



       นายเฟื่องอยากเป็นข้าพระองค์เจ้าจิตรเจริญ  จึงพานายฟุ้งไปถวายตัวด้วยเพราะนายฟุ้งชำนาญดนตรีไทย   ตีฆ้องเก่ง

นายฟุ้งได้รับราชการเป็น เซอร์เวย์ อินทะเนียร์ อยู่กรมสุขาภิบาล  เป็นโยธามณฑลปราจีณบุรี   ข้าหลวงโยธามณฑลภูเก็ต  ข้าหลวงโยธามณฑลนครราชสีมา


บทประพันธ์   เขียนไว้มากทั้งกาพย์ โคลง กลอน  ลิลิตสกุณชาดก   ลิลิตรามเกียรติตอนนางลอย


ท่านฟุ้งมีบุตรและธิดารวม ๑๕ คน

ที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คือ

พลตรี หลวงยอดอาวุธ(ฟ้อน)

จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ



ตระกูลที่สืบมาจาก สังฆราชด่อน มี ๓ ตระกูลคือ

ตระกูล ฤทธาคนี   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนายร้อย แฉล้ม  ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ตระกูล สาลีเล็ก   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานขุนราชพรหมา  แพทย์พระโอสถต้น

ตระกูล พิทักษ์สาลี  นายฟุ้งคิดขึ้น


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 07:37


ข้อราชการในกรมมหาดเล็ก

พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

พระยาเทเวศรวงศืวิวัฒน์(ม.ล. วราห์  กุญชร)

ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาศ

๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐



หนังสือข้อราชการนั้น พิมพ์ขึ้นใช้ในปี ๒๔๔๐  ที่โรงพิมพ์ศุภมิตรบำรุง
(หนังสือเล่มเล็ก  ปกแข็งสีเทา  หนา ๕๔๔ หน้า  เขียนว่า ร.ศ. ๑๑๖

พระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒนเป็นผู้เรียบเรียง(ม.ร.ว.หลาน กุญชร)

นายจ่าเรศนั้น คือ พระยาสุรนันทนนิวัฒน์กุล(กริ่ม  สุรนันท์)

หลวงสารประเสริฐ เดิมชื่อพุฒ  สกุลเสนารักษ์     ต่อมาได้เป็นพระนิมิตรอักษร
(กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร  นิพนธ์ เมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๐)


ประวัติ

     เป็นบุตรเจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน(ม.ร.ว. หลาน  กุญชร)
     มารดาชื่อเผื่อน   เป็นเชื้อสายสกุล ณ บางช้าง

พี่น้องร่วมมารดา

ม.ล. จรูญ

ม.ล. เจริญ

ม.ล. หญืง อึ่งอ่าง

ม.ล. จุลเพชรดา

สถานที่เกิด     วังบ้านหม้อ  เลขที่ ๑๒๘ ถนนอัษฎางค์   เดิมเป็นวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร

       พระยาเทเศวร ฯ  ได้เฝ้าแหนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ่อย ๆ   ด้วยโปรดเสด็จไปสำราญพระราชหฤทัยที่วังบ้านหม้อบ่อย ๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ รับสั่งเรียกพระยาเทเวศน์ว่า "ไอ้อู๊ด"


       ท่านบิดาได้พาพระยาเทเวศรไปตามที่ต่าง ๆ ได้รับความรู้เกี่ยวกับราชการ  ตั้งแต่เล็ก ๆ   ไม่สามารถจะบังคับตนเองไม่ให้หลับได้

ท่านบิดาได้อธิบายว่า  หลับก็ไม่เป็นไร  ตื่นขึ้นมาก็จะได้ยินอะไร ๆ ที่ต้องรู้ไว้   สถานที่ ๆ พระยาเทเวศรได้ไปนอนหลับฟังท่านผู้ใหญ่คุยกันมากที่สุด คือ วังพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์

เพราะท่านผู้ใหญ่คุยกันถึงตีหนึ่งตีสอง   เมื่อเป็นเด็กเล็กมากนั้น  ได้ไปนอนหลับที่วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาปราบปรปักษ์  พระบิดาของเสด็จในกรมหมื่นปราบ ฯ มาก่อนแล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 08:18


พระยาเทเวศร ฯ  กล่าวกับพี่ ๆ น้อง ๆ ว่า  ตนเองไม่ค่อยฉลาด  ไม่ช่างจำ

ถ้าช่างจำก็คงมีประวัติศาสตร์ไทยไว้เล่าหลายเล่มเกวียน



ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

ท่านเล่าว่าไม่เคยกลัวม้า  สกุลของท่านได้ราชการในกรมอัศวราชสืบเนื่องกันเรื่อยมา


พระยาเทเวศร ฯ ได้รับราชการอย่างจริงจังใน พ.ศ. ๒๔๓๖ อายุ ๑๗​ ปี

ในปี ๒๔๔๒  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงฤทธิ์นายเวร


       ในระหว่างนั้นมีการก่อสร้างพระราชวังดุสิต  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จตรวจตราการก่อสร้างเกือบทุกวัน

มีเหตุการณ์ที่ควรกล่าวด้วยเป็นเครื่องแสดงพระมหากรุณาธิคุณอันมีต่อพระยาเทเวศวร ฯ       ในตอนนั้นพระยาเทเวศวรทำหน้าที่สารถี

ในระยะนั้นกรมม้าได้ม้าเทศงามคู่หนึ่งเข้ามาจากสิงคโปร์      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ​โปรดม้าคู่นี้มาก ทรงใช้เป็นม้าเทียมรถพระที่นั่ง

แต่ม้านั้นมีขวัญที่สีข้างซ้าย   เรียกตามตำราม้าว่า "แร้งกระพือปีก" ถือเป็นลักษณะไม่ดี  ไม่ควรใช้เทียมรถพระที่นั่ง  ทางกรมม้าได้กราบบังคมทูลแล้ว

แต่มีรับสั่งกับพระยาเทเวศวรสารถีว่า 'ไม่เป็นไร'   วันหนึ่งเวลาเย็นเสด็จกลับจากวัดเบญจมบพิตรซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง   รถพระที่นั่ง

เลียบคลองเปรมประชากรไปตามถนนซึ่งยังไม่เรียบร้อย    มีรั้วลวดหนามกั้นริมคลองเป็นตอน ๆ            มาถึงทางเลี้ยวแห่งหนึ่ง 

รถแขกบันทุกหญ้าสวนมาอย่างกระทันหัน   ม้าเทียมรถพระที่นั่งตื่นหันไปครูดกับลวดหนาม  ตกใจมากพารถพระที่นั่งออกวิ่ง   

สารถีจะใช้วิธีบังคับอย่างไรไม่สำเร็จ   พระยาเทเวศร ฯ จึงหันมากราบทูลว่า   ไม่สามารถจะบังคับม้าให้ลดฝีเท้าลงได้   จะต้องทำให้หยุดโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ รับสั่งว่า "จะทำอย่างไรก็ตามใจเอ็ง"


พระยาเทเวศร ฯ จึงตัดสินใจชักม้าให้ลงไปในคลองตื้นตอนหนึ่ง   รถพระที่นั่งลงไปนอนตะแคง   ล้อติดบนถนนข้างหนึ่ง  ลงไปในคลองข้างหนึ่ง

ด้วยเดชะพระบารมีไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ   พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมาที่ตามเสด็จไปด้วยก็มิได้ตกพระทัยมากมายอะไร


เจ้าพระยาเทเวศรซึ่งเป็นจางวางมหาดเล็กบังคับราชการกรมมหาดเล็กรีบเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท   พอทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระยาเทเวศร  มีพระราชดำรัสว่า  "เทเวศรไอ้อู้ดขับรถลงคลอง"

เจ้าพระยาเทเวศรกราบทูลว่า "ทำความผิดเช่นนี้  เป็นความผิดถึงประหารชีวิต"

รับสั่งว่า "ไอ้อุ้ดมันไม่ได้ทำ  ม้ามันทำ"


(นักอ่านหนังสือเมื่อสนทนากันถึงเรื่องนี้ก็กล่าวเสมอว่าเรื่อง "ไอ้อู้ดไม่ได้ทำ"  ใช่ไหม  แล้วหัวเราะกันอย่างรื่นเริงด้วยความชื่นชมพระมหากรุณาธิคุณ

 คนที่มีหนังสือเล่มสีเทาสดชื่นที่สุด)
           
 
บันทึกการเข้า
djkob
อสุรผัด
*
ตอบ: 34


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 11:38

ขอคารวะต่อท่านทั้งหลาย ทุกท่านล้วนแต่เป็นนักประวัติศาสตร์กันทั้งนั้น
สนุกมากค่ะ  อ่านแล้วนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่คนเดียว  นับเป็นวาสนาที่ได้อ่าน แม้จะไ่ม่มีวาสนาได้เห็นหนังสือที่ท่านนำมาเล่าให้ฟัง 

ขอบคุณมากค่ะ รออ่านต่อนะคะ

ด้วยความเคารพค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 12:53


หนังสืออนุสรณ์ที่เอ่ยมาส่วนมาก    ไม่ใช่เรื่องหายากหรือมีราคาสูงแต่อย่างใดค่ะ

พยายามเลือกเล่มที่สนุก  มีความรู้  หรือความที่ไม่มีคนได้อ่านมากนัก  และแน่นอนที่สุดมีประวัติท่านผู้วายชนม์ที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์

หนังสือตำราม้านั้น  คุณ djkob   คงไม่ทราบว่า "สูญ" ไปจากประเทศของเรานานปีมาแล้ว        ตำราช้างยังพอเหลืออยู่หลายเล่ม   ได้อ่านมาบ้าง

ตำราพิไชยสงครามยังมีอยู่หลายฉบับ     


ขอบคุณที่แวะมาคุยด้วยค่ะ   ยังมีสมบัติพอจะยึดพื้นที่ไปได้อีกพักใหญ่ ๆ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 14:24


จินดามณี  และ พระพุทธศาสนากับโลก

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี ป.ม., ท.จ.ว.

ณ เมรุวัดมงกุฎกษัตริยาราม

วันที่ ๙  เมษายน  ๒๕๐๓



ชื่อเดิม         ม.ร.ว. ตัน  สนิทวงศ์

เกิด            วันที่ ๒๖ สิงหาคม  ๒๔๑๔  ณ เมืองกลันตัน  สหพันธรับมลายู

บิดา           พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าสาย สนิทวงศ์

มารดา         หม่อมแจ่ม

การศึกษา      จบโรงเรียนนายร้อยทหารบก
                  ศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอแลนด์
                  สำเร็จการศึกษาในสาขาพลาธิการทหารบก

สมรส           นางแผ้ว  สนิทวงศ์เสนี

บุตรธิดา        ม.ล. แต้ว  สนิทวงศ์

                  ม.ล. หญิง นวลผ่อง  เสนาณรงค์

                  ร.ต.ท. ม.ล. เติม  สนิทวงศ์  สมรสกับ น.ส. โสภี  โชติกะพุกกะนะ

                  ม.ล. ตวง  สนิทวงศ์  สมรสกับ ม.จ. หญิง รังสินพดล  ยุคล

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ด้วยโรคปอดชื้น





คำไว้อาลัย

สมเด็จพระวันรัต   พระเทพกิตติมุนี     พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ   นาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์

พระศิลปศัตราคม   พันเอก สงบ  บุณยเกศานนท์     พลอากาศเอก ทวี  จุลละทรัพย์   พลอากาศโทหะริน  หงสกุล

นาวาอากาศโท มานะ  สังขวิจิตร   พันเอก สนอง  ถมังรักษ์สัตว์  พันโท สมพงศ์  พิศาลสารกิจ

และ  ม.ร.ว. คึกฤทธิ  ปราโมช

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 14:44

จินดามณี   กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  พระอัยกาของหม่อมสนิทวงศ์ ฯ  ทรงนิพนธ์ขึ้นสำหรับนักเรียนนักศึกษาได้เล่าเรียน

ท่านผู้หญิงหม่อมแผ้ว  เขียนไว้ว่าท่านเองก็ได้เรียนหนังสือจินดามณีนี้    จนแต่ฉบังและโคลงได้บ้าง   และแต่งบทละคอน

ให้กรมศิลปากรได้แสดงมาหลายเรื่อง



ขอคัดลอกที่  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช เขียนไว้



      "คุณพี่ตัน  มีความเมตตากรุณาเสมอต้นเสมอปลายกับผู้ที่เป็นน้องคือตัวผมเอง           ที่เรียกว่าเสมอต้นเสมอปลายนั้น

คือเมื่อผมยังเป็นเด็กเยาว์วัยอยู่   คุณพี่ตันก็ให้ความเมตตาปรานีอย่างที่พึงให้กับเด็ก         ต่อมาเมื่อเด็กนั้นเติบโตขึ้นมา

และถึงแม้เด็กอย่างผมจะมิได้ถอดแบบอย่างความประพฤติอันดีของคุณพี่ตันมาใส่ตัวไว้   คุณพี่ตันก็ยังมีความเมตตากรุณา

โดยสมแก่วัยของผม  กล่าวคือนับถือยกย่องให้เป็นผู้ใหญ่   ยอมเคารพในความคิดเห็นของเด็กที่เติบโตแล้ว   มิได้ถือว่าเมื่อ

รู้จักมาตั้งแต่เด็กก็จะต้องเป็นเด็กเสมอไป    การปฎิบัติเช่นนี้เรียกว่าเสมอต้นเสมอปลายโดยแท้        คือปรับความเมตตากรุณาที่

มีต่อผู้อื่นให้สมกับวัยและฐานะของผู้อื่นที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้นั้นตลอด       และเห็นจะเป็นความเสมอต้นเสมอปลายนี้เอง  

คุณพี่ตันจึงเป็นที่เคารพของญาติและเป็นที่รักของคนที่ได้พบปะหรือเป็นมิตรตลอดชีวิต  ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดเป็นศัตรู"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 15:30



       "ในที่นี้ผมเรียกคุณพี่ตันว่าพี่  แต่อาจมีผู้สงสัยว่านับกันทางไหน  จึงขออธิบายไว้ด้วย   เพื่อประโยชน์ของคนหนุ่มสาวที่

อาจยังไม่ได้คิดในเรื่องนี้โดยละเอียด    ผมสังเกตว่าในระยะนี้มักมีหม่อมราชวงศ์หนุ่ม ๆ สาว ๆซึ่งส่วนมากเป็นหม่อมราชวงษ์ชั้นที่สี่

หรือหม่อมราชวงศ์ในรัชกาลที่ ๔  มาเรียกผมว่าพี่อยู่บ่อย ๆ      โดยถือว่าเป็นหม่อมราชวงศ์แล้วก็คงเป็นชั้นเดียวกันและเมื่อแก่กว่าก็ต้องเป็นพี่

นอกจากหม่อมราชวงศ์แล้วยังมีหม่อมเจ้าบางพระองค์( รัชกาลที่ ๔ อีกเหมือนกัน )     โปรดเรียกผมว่า "หลานชาย" 

เพราะทรงถือว่าเมื่อผมไม่ใช่ลูก  แต่เป็นหม่อมราชวงศ์เท่าลูกก็คงเป็นหลาน    คติเช่นนี้ผิด         ที่ผมเรียกคุณพี่ตันว่าพี่  เพราะคุณพี่ตัน

กับผมเป็นหม่อมราชวงษ์ชั้น ๒ ด้วยกัน       มีปู่เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยกัน      จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

หม่อมราชวงษ์ขั้น ๒ นั้นถ้าจะนับญาติกับเจ้่านายเยี่ยงสามัญชน ( ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ควรนับ )  ก็มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหม่อมเจ้าในรัชกาลที่ ๓ หรือที่ ๔

และถ้านับญาติกับหม่อมราชวงศ์รัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ ( ซึ่งควรนับอย่างยิ่ง )  ก็มีศักดิ์เป็นอาว์ของท่านเหล่านั้น



เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว  หม่อมราชวงศ์รัชกาลที่ ๒ มีเหลืออยู่มาก   แต่ในปัจจุบันนั้นอัตคัตเกือบจะหาดูไม่ได้         เมื่อสิ้นคุณพี่ตันไปเสียอีกคน

คนที่ยังเหลืออยู่ที่มีผมรวมอยู่ด้วย  ก็ต้องใจหายเป็นธรรมดา    เพราะนอกจากจะเสียดายอาลัยคุณพี่ตันเป็นอย่างยิ่งแล้ว   

ก็ยังรู้สึกว่าความตายไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้นั้น  ใกล้ตัวเข้ามาอีกนิดหน่อย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 20 ส.ค. 10, 15:47

 

       เมื่ออิเหนาเกิดนั้นเทวดามาให้กฤช  แล้วจารึกชื่อไว้ด้วย       ชื่อเต็มของอิเหนาคือ


ชื่อหยังหยังหนึ่งหรัดอินตะรา                               อุดากันส่าหรีปาตี

อิเหนาเองหยังกะตาหรา                                    เมาะตาริยะกัดดังสุรสีห์

ดาหยังอริราชไพรี                                           เอากะหนะกะหรีกุเรปัน


คุณพี่ตันก็เกิดคล้ายอิเหนา  เพราะเมื่อเกิดก็ได้กฤช             เมื่อคุณพี่ตันเกิดนั้น  เสด็จพ่อเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ (Governor General)

อยู่ที่รัฐกลันตันในมลายู  ด้วยเวลานั้นกลันตันยังขึ้นอยู่กับไทย   เพราะเหตุว่าคุณพี่ตันเกิดที่เมืองกลันตัน   

คุณพี่ตันจึงได้นามว่า หม่อมราชวงศ์กลันตัน  สนิทวงศ์   ซึ่งชื่อนี้มีน้อยคนจะทราบ        แต่ชาวเมืองกลันตัน

ในสมัยนั้นเขาเรียกคุณพี่ตันด้วยนามมลายูว่า  " ตวนกู โวะ"      และเมื่อเกิดก็นำกฤชมาให้ไว้ตามประเพณี  จึงขอแทรกไว้ที่นี้กลัวจะสูญ"


บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 00:36

ขอเข้ามาลงชื่อ ว่าตามอ่านอยู่ครับ

ในส่วนตัวผม แม้จะใคร่แต่ก็มิได้ มีหนังสืออนุสรณ์ฯ ใดๆ อยู่ในมือเลย

จึ่งได้อาศรัยอ่านนะที่นี้

ต้องขอบพระคุณ คุณครูทุกๆท่านที่เมตตา นำมารวบรวม เรียบเรียง ให้วิทยาทาน
สาระ ความรู้นี้ ท่านผู้วายชนม์ ท่านผู้ประพันธ์ ท่านผู้เรียบเรียง ย่อมได้กุศลอย่างถึงที่สุดแน่นอนครับ
สาธุ

--/\--
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 21 ส.ค. 10, 01:47

    คุณ Diwali  คะ        เป็นกำลังใจอย่างยิ่งค่ะ    เพราะตั้งใจคัดเลือกหนังสือ  และมาเป็นเพื่อนคุณหลวงเล็ก

ที่เก็บหนังสืออนุสรณ์ไว้ก็เป็นเรื่องของนักประพันธ์เก่าเป็นส่วนมาก     เมื่อคุณหลวงเธอติดราชการและฝากให้เฝ้ากระทู้ไว้

ก็ควานไปตามชั้นหนังสือประวัติศาสตร์   ได้มาพออ่านสบาย ๆ



ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม

พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม(ยอร์ช  บี. แมคฟาร์แลนด์)

ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาศ

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๓

หนังสือสีขาว  ตัวอักษรดำ  หนาเพียง ๒๓ หน้า

พิมพ์ที่ โรงพิมพ์เสรีวานิช   สามยอด  พระนคร


       เรื่องนี้คุณพระอาจวิทยาคม  ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษมาครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๙  แต่ไม่แพร่หลายเท่าไร

นอกจากจะแสดงชีวะประวัติของคุณพระแล้ว  ยังให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์  เช่น การตั้งโรงสวดที่บ้านแหลม  จังหวัดเพ็ชรบุรี   การทำปทานุกรมอังกฤษ - ไทย

การใช้เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย   การตั้งโรงเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช  และอื่น ๆ


       (กลุ่มนักอ่านหนังสือเก่ากำลังรวบรวมเรื่องมิชชันนารีที่แรกเข้ามาสู่สยาม  ด้วยเราพยายามค้นจาก สยามเรบพอสิทติรี  ไชนีสเรบพอสิทตอรี่    เอกสารต้นฉบับ

และจดหมายของมิชชันนารีที่เขียนกลับไปยังหน่วยงานของตน    เมื่อค้นพบเรื่องก็นำมาย่อย และสนทนาถึงสภาพของสยามในเวลานั้น  คงต้องขอเวลาอีกสักพัก

เพราะพวกเราก็มีงานอ่านหนังสือที่ต้องทำอยู่ประจำแล้ว)


       ขอคัดลอกเรื่องของคุณพระอาจวิทยาคมด้วยความเคารพ   ข้อมูลที่แปลกออกไปจากหนังสือรุ่นหลังก็จะขอหยิบยกขึ้นมาเอ่ย  

คุณพระกับภรรยาเดินทางโดยเรือใบชื่อ มอรี่ จากนิวยอร์คมาสู่สิงคโปร์ในปี ๑๘๖๐   ผ่านคาบสมุทรด้วยความกล้าหาญและเชื่อมั่นในอันที่จะ

อุทิศชีวิตของตนมำงานให้แก่สยาม   จากสิงคโปร์ก็ลงเรือไฟไทยชื่อจระเข้ (Alligator)  ใช้เวลาอีก ๖ วันเข้ามากรุงเทพ


       คณะมิชชันนารีตอนนั้นแยกเป็น ๒ แห่ง  แบบติสแอสโซซิเอชั่นซื้อที่ดินหลังสถานทูตโปรตุเกศเป็นที่ พำนัก  มีนายและนาง เจ.เอช. แชนด์เลอร์  

และครูสมิธและภรรยา  มีเรบเวอเรนด์และนางโรเบิร์ต  เทลฟอร์ดเป็นเจ้าสำนัก        อีกคณะมีนายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์และภรรยา สองคนอยู่กันที่คลองบางหลวง

ต่อไปก็เป็นเรื่องงานของมิชชันนารีในจังหวัดเพ็ชรบุรีที่มีผู้เคยเขียนถึงอยู่หลายราย


       งานที่สหายนักอ่านในกลุ่มติดตามคือการทำปทานุกรมและพิมพ์หนังสือ  

คุณพระลงมือพิมพ์หนังสือของท่านเองออกจำหน่ายในปี ๑๘๖๕ หรือปี พ.ศ.  ๒๔๐๘   ปทานุกรมมีศัพท์ ๗๕๐๐ คำ  พิมพ์ ๔๐๐ เล่ม   สหายของดิฉันถืออยู่

ต้นปี ๑๘๘๐/พ.ศ. ๒๔๒๓  พิมพ์ครั้งที่สอง

การพิมพ์ครั้งที่ ๓ คือปี ๑๘๙๐/๒๔๓๓  แก้ไขปรับปรุง  มีคำประมาณ ๙๐๐ คำ
    
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 19 คำสั่ง