เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 21
  พิมพ์  
อ่าน: 105490 ตามล่าหาหนังสืองานศพ
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 14:41

หยุดหลายวัน  ไม่ได้เล่นเน็ตเลย  เลยไม่ทราบความคืบหน้าของกระทู้เลย
มาดูวันนี้ เห็นกระทู้คืบหน้าไปหลายความเห็นก็ชื่นใจ   แถมได้คุณร่วมฤดีมาติดตามกระทู้ด้วย

วันนี้  ไปจ่ายกับข้าวแถวตลาด อ.ต.ก.  ก่อนไปจ่ายกับข้าว
นึกขึ้นได้ว่า  น่าจะหาคู่มือทำกับข้าวด้วย   แล้วก็วกเข้าตลาดจตุจักรสักหน่อย
ได้คู่มือทำกับข้าวมาเยอะเลย   ไว้วันจันทร์คงจะได้เอามาให้ดูกัน
(ไม่ต้องถามเรื่องกับข้าวนะครับ  ไม่ได้ซื้อเลย)

หนังสืองานศพ  ถ้าสนใจจะหาอ่าน  สามารถไปหาอ่านตามหอสมุดต่างๆ ได้  
กระทู้นี้  พยายามเลือกหนังสืองานศพที่น่าสนใจ  
มานำเสนอ   เก่าหรือใหม่  ไม่เกี่ยงเลย   ส่วนวิธีการเก็บนั้น  ไม่ยากครับ  ขอให้หาหนังสืองานศพให้ได้ก่อน
จากนั้นวิธีการเก็บจะตามมา   ของผมเก็บหลายวิธีมาก  ดีที่สุดและประหยัดมาก  คือใส่ถุงซิปล็อก  
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 14:51



วันนี้  ไปจ่ายกับข้าวแถวตลาด อ.ต.ก.  ก่อนไปจ่ายกับข้าว
นึกขึ้นได้ว่า  น่าจะหาคู่มือทำกับข้าวด้วย   แล้วก็วกเข้าตลาดจตุจักรสักหน่อย
ได้คู่มือทำกับข้าวมาเยอะเลย   ไว้วันจันทร์คงจะได้เอามาให้ดูกัน
(ไม่ต้องถามเรื่องกับข้าวนะครับ  ไม่ได้ซื้อเลย)


คู่มือทำกับข้าว จากหนังสือเก่าใช่ไหมคะ?
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 15:07

ลำดับสกุลสุจริตกุล

ราชินีกุล รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

ราชนิกุล รัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลปัจจุบัน



ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ

มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี(โถ  สุจริตกุล)



วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๒


บิดา                  เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี(ปลื้ม  สุจริตกุล)

มารดา               ท่านแพ

เกิด                  ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๕

                       ที่บ้านด่าน  ปากคลองด่าน   ธนบุรี


       ในเวลานั้น บิดามีศักดิ์เป็น นายหัสบำเรอ  หุ้มแพรวิเศษคุณปู่  พระยาราชภักดี(โค  สุจริตกุล)  

และคุณหญิงรักและตื่นหลานชายมาก  รับเป็นผู้อุปการะอบรมเลี้ยงดูเองอย่างใกล้ชิด

เจ้าคุณราชภักดี และ คุณหญิง  จงรักภักดี ต่อสมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระพันปีหลวง และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอยู่มาก

เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประสูติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช     ได้ส่งมารดาของพระยาอุดมราชภักดีให้เข้าไปฉลองพระเดชพระคุณเป็นพระนมอยู่ที่พระตำหนัก

ภายหลังจึงเรียกท่านแพว่าพระนมแพ


เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดปากน้ำใกล้บ้าน

ต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ


ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ มกุฎราชกุมาร

โปรดเกล้า ฯ  ให้พระยาอุดมราชภักดีเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนปฐมมหาธาตุ  วัดมหาธาตุ

เมื่อโรงเรียนในพระราชวังสราญรมย์ได้จัดตั้งขึ้น  พระยาอุดมก็ย้ายมาเรียนที่นี่
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 15:35



       เมื่อพระยาอุดม ฯ เติบโตขึ้น  และมีความรู้พอสมควร   สมเด็จพระบรม ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณใน

ตำแหน่งมหาดเล็กห้องพระบรรทม

เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓   ได้รับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กห้องบรรทม

แล้วเลื่อนเป็นหัวหน้ามหาดเล็ก

ได้เป็นรองอธิบดีชาวที่  และอธิบดีชาวที่มาตลอดรัชกาล


ในพวกโขนสมัครเล่นด้วยกันต้องยกย่องว่าพระยาอุดม ฯ เป็นตัวยักษ์ที่เก่งที่สุด(ไม่รวมบุคคลที่เคยมีอาชีพทางฟ้อนรำมาแต่เดิม)


ภรรยา                           น.ส. เชิด  ไกรฤกษ์   บุตรีพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(นพ) และคุณหญิงช้อย

บุตรธิดา                         ๘ คน

                                   คุณเตียบ (ชาย)
                                   คุณภิงการ (ชาย)
                                   คุณเจียด(ชาย
                                   คุณกุณฑี
                                   ชาย  ไม่มีชื่อ  ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก
                                   คุณกรัณฑ์
                                   คุณถวิกา
                                   คุณผะอบทิพย์


หนังสือ ต้นสกุลสุจริตกุล นั้น      เป็นหนังสือที่มีประโยชน์  สมควรหามาประดับตู้หนังสือ

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 16:06

เรื่องนายจ่ายวดเสียชีวิตเพราะรถจักรยานยนต์ชนกับรถแดงพญานั้น  ท่านหม่อมหลวงปิ่นเคยเล่าให้ฟังว่า  วันนั้นไปด้วยกัน ๔ คน  จ่ายวดเป็นผู้ขับขี่มีหม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ (ตอนนั้นนั้นล้นเกล้าฯ ทรงตัดคำว่า ภิรมย์ ออกจากชื่อแล้ว) เป็นคนซ้อน  อีกคันหม่อมเจ้าดุลภากร  วรวรรณ เป็นผู้บับขี่  หม่อมหลวงปื่น เป็นคนซ้อน  ปรากฏว่าวันนั้นประสบอุบัติเหตุหมดทั้งสี่คน  แต่นายจ่ายวดอาการหนักกว่าคนอื่น  เมื่อนายจ่ายวดเสียชีวิต  ล้นเกล้าฯ โปรดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานที่ดุสิตธานี  พระรามราชมุนี (ล้นเกล้าฯ) เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตยได้แสดงพระธรรมเสฯศราทธพรตในงานนี้ด้วย  พระธรรมเทศนานั้นมีผู้เคยนำไปถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทอดพระเนตร  ซึ่งมีรับสั่งว่า พระธรรมเทศนานั้นทรงได้เหมือนกับพระภิกษุผู้เป็นปราชญ์ทางพระศาสนาเลยทีเดียว

ภายหลังจากนายจ่ายวดเสียชีวิตแล้ว  ล้นเกล้าฯ ถึงกับมีรับสั่งขอซื้อมอเตอร์ไซค์ของคุณมหาดเล็กเสียทุกคน  ทรงเกรงว่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตเพราะรถมอเตอร์ไซค์กันอีก  คุณพระอดิศัยสวามิภักดิ์เคยเล่าให้ฟังว่า ท่านได้เคยกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานรถมอเตอร์ไซค์ไว้ใช้บ้าง  ผลคือโดนกริ้วเสียยกใหญ่  แถมมีรับสั่งต่อท้ายว่า "อยากจะตายหรือ?"  คุณพระเลยต้องกราบลงแทบพระบาทแล้วรีบถอยจากที่เฝ้าโดยเร็ว

เรื่องบุตรธิดาของพระยาอุดมราชภักดี เจ้าของบ้านมนังคศิลา ที่ต้องย้ำเรื่องพระยาอุดมราชภักดีเป็นเจ้าของบ้านนั้น  เพราะมีหนังสือบางเล่มไประบุว่าบ้านนั้นเป็นของพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์  แล้วผู้อ่านรุ่นใหม่ๆ ก็ไปเชื่อตามนั้น  ออกนอกเรื่องไปเสียไกล  โปรดสังเกตว่า บุตรธิดาเจ้าคุณอุดมฯ นั้นมีนามเป็นภาชนะในตระกูล "โถ" ทั้งหมด  เพราะท่านเจ้าคุณท่านมีนามว่า "โถ"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 17:32

หนังสืออนุสรณ์  ในงานพระราชทานเพลิงศพ

พลโท บุศรินทร์  ภักดีกุล  ม.ว.ม,  ป.ช., ท.จ.

ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์

วัดเทพศิรินทราวาส   กรุงเทพมหานคร

วันเสาร์ที่ ๑๖  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๓๒



        ตามคำประกาศของคุณหลวงเล็ก ว่าจะนำเสนอหนังสืออนุสรณ์ที่ดี มีประโยชน์  ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก  เนื่องจากท่านเห็นหนังสือระดับเลิศมามาก

หนังสือเล่มนี้  มีเรื่องน่าอ่านหลายจุด   โดยเฉพาะประวัติในวัยเด็กของพลโทบุศรินทร์ และเรื่องราวของ คุณ เอลีซาเบท(จอนสัน) 

มารดาของ พลโท บุศรินทร์ ผู้มีความเป็นมาที่น่าสนใจ น่าศึกษา



ใครที่ไม่ได้อ่านหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้  ก็จะพลาดความเข้าใจในเรื่องเก่าของบ้านเราไปเรื่องหนึ่งหรืออีกหลายเรื่องอาจเป็นได้ 



สหายของดิฉันได้เมตตาส่งเอกสารมาให้หลายปีแล้ว    ดิฉันเองอ่านแล้วก็จำอะไรได้หลายอย่าง  คิดอะไรได้อีกไม่น้อย       

พลพรรคต่างจำเรื่องราวได้คนละตอนสองตอน  เมื่อคุยกันก็ออกรสเป็นที่ยิ่ง   

ขอเรียนว่า หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ยิ่งใหญ่มากในเรื่องชีวิตความเป็นมา   ชาติสกุล  ผลงานของท่านผู้วายชนม์  และชีวิตของท่านในวัยเด็ก

     
       เรื่องคำถามนั้น  คุณหลวงเล็ก   จะเป็นผู้ที่มาตอบเองเพราะมีหนังสืออ้างอิงมหาศาล



       ความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการคัดลอกย่อความที่ไม่สมบูรณ์    ดิฉันกราบขออภัยต่อทายาทและญาติของท่านผู้วายชนม์ด้วย

ความตั้งใจเพียงประการเดียวคือ เผยแพร่ หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่มีคุณค่ามากที่สุดเล่มหนึ่งในหลายแง่มุม



      จงสดับเทอญ  ท่านผู้เจริญ




                ประวัติ

เกิด                          วันที่ ๒๕​ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๔๙

ที่เกิด                         บ้านบางขุนพรหม      กรุงเทพมหานคร

บิดา                          พลตรีพระยาภักดีภูธร(ชื่น  ภักดีกุล)

มารดา                       เอลีซาเบท (จอนสัน)

พี่น้อง                        ร้อยเอก หลวงชิตวีร์วสุนทรา

                               ด.ช. เมรุสวัง  (ถึงแก่กรรม)

                               ท่านเจ้าของประวัติ

                               ร้อยโท  เอกรินทร์

ภริยา                         ผูกพันธุ์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  ธิดาพลเอกพระยาเทพหัสดิน กับ  ไปล่  ดีมาณพ

บุตรธิดา                      บุศรพันธุ์   สมรสกับ ศ.นพ.เมระนี  เทียนประสิทธิ์       มีบุตร ๒ คน
                                ธีรพันธ์  กับ ธีรพงษ์

                                ผ.ศ. ศศันทร์พิญ    สมรสกับ ชัยพันธ์  ศรจิตติ   มี ธิดา ๑ คนคือ
                                ธนศร

                                ศรินทรเทพ  สมรสกับรักเกียรติ  กาญจนสกุล  มีบุตร ๓ คน
                                สตรัฐ   
                                ปฐวี
                                ชีวิน

                                พันเอก(พิเศษ) เกตุเทพสวัสดิ์  สมรสกับ ศิริกาญจน์  กาญจนพันธ์   มีบุตรธิดา ๒ คน
                                เทพฤทธิ์
                                ทิพยรัตน์

                                ผ.ศ. ไทพีศรีนิวัติ  ภักดีกุล

                                ทัศน์พาชื่น  สมรสกับ ร.ศ. ดร. ชวลิต  นิตยะ      มีบุตรธิดา ๒ คน
                                น.ส. อานิต้า       
                                ภราดร

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 14 ส.ค. 10, 19:07

ยินดีมากค่ะ ที่จะได้รับฟังเรื่องนี้
ทัศน์พาชื่น เป็นเพื่อนนักเรียนเก่าร่วมรุ่นของดิฉันเอง เห็นกันมาตั้งแต่ ป. ๑    ส่วนพี่ไทพีศรีนิวัติ(สะกดชื่ออย่างระมัดระวัง)เป็นรุ่นพี่ จบมัธยมแล้วเข้าเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ตอนเด็กๆ   ก็สะดุดตาว่าทำไมเขาเหมือนลูกครึ่งกันทั้งพี่น้อง  ผมสีน้ำตาลอ่อน เช่นเดียวกับสีดวงตา ผิวก็ขาวมาก   แต่ก็ท่าทางเป็นไทยๆอย่างคนอื่นๆนี่เอง     ที่จำได้อีกอย่างคือพี่สาวของทัศน์พาชื่น ชื่ออลังการมาก  และแปลกไม่ซ้ำใครเลยในโรงเรียน
ตามนิสัยคนชอบภาษาไทยมาแต่เด็กก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมเธอชื่อไทพี - ไม่ยักชื่อ เทพี  ซึ่งคำหลังคุ้นหูกว่า 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 02:57

บันทึกพิเศษของราชองค์รักษ์พระราชอาค้นตุกะ


       ในระหว่างที่พลโท บุศรินทร์  ภักดีกุลได้รับราชการเป็นราชองครักษ์เวร  และราชองค์รักษ์พิเศษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นเวลาร่วม ๒๐ ปีนั้น   ได้มีการรับรองราชอาคันตุกะของพระองค์ท่านหลายครั้งหลายหน      ท่านได้บันทึกไว้ว่า

ครั้งที่ ๑          ประจำพระองค์พระเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา

ครั้งที่ ๒          ประจำองค์มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรลาว

ครั้งที่ ๓          ประจำตัวประธานาธิบดีโงดินเดียมแห่งประเทศญวณ

ครั้งที่ ๔          ประจำพระองค์เจ้ามหาชีวิตแห่งประเทศลาว ในการเสด็จผ่านประเทศไทยไปยังเรือไปรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศส

ครั้งที่ ๕          ราชองค์รักษ์ประจำพระองค์เจ้ามหาชีวิตแห่งประเทศลาว   รับเสด็จจากเมืองสิงคโปร์กลับเวียงจันทน์

ครั้งที่ ๖          ประจำองค์พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านในการเสด็จผ่านประเทศไทย เป็นเวลา ๕ - ๖ ชั่วโมง  ในระหว่างที่ล้นเกล้า ฯ ทั้ง ๒ พระองค์ประทับอยู่หัวหิน


ครั้งที่ ๗         ประจำพระองค์พระเจ้าโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่า แห่งประเทศเบลเยี่ยม



       ในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่โดยใกล้ชิดกับองค์พระประมุข  และประมุขของประเทศเหล่านั้น   มีการสนทนาระหว่างท่านกับ พลโทบุศรินทร์

ระหว่างพลโทบุศรินทร์กับองครักษ์ของเขาบ้าง   บางทีก็ระหว่างผู้ตามเสด็จ  หรือผู้ติดตามมาในขบวน   จึงมีเรื่องราวต่าง ๆ มากพอใช้

เป็นที่ปลื้มใจบ้าง   ประหลาดใจบ้าง  และสะดุดใจบ้าง    ทั้งนี้พลโทบุศรินทร์ได้กราบบังคมทูลทุกเรื่อง  




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 03:27


       การรับรองพระเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา



       (คุณหลวงเล็กมีความทรงจำที่มหัศจรรย์     ได้กำชับดิฉันว่าอย่าลืมเรื่องตามเสด็จองค์สีหนุนะ

สำคัญเธอย้ำ        ดิฉันนั้นรักตอนตามเสด็จพระเจ้าโบดวงมาก  เพราะได้อ่านที่ท่านหญิงวิภาวดีนิพนธ์มานานแล้ว

จึงอยากจะไปคัดลอกเรื่องเกร็ดต่าง ๆ มากกว่า        คุณหลวงเล็กได้ถามดิฉันเป็นหลายครั้งว่าจำเรื่องนี้เรื่องนั้นได้หรือไม่

ได้ตอบไปว่าถ้าเป็นเรื่องที่สนุก  และมีประโยชน์ จะไม่ค่อยลืม)



พล.โทบุศรินทร์บันทึกไว้ว่า  มิได้ใส่วันเดือนปีเพราะประวัติศาสตร์ย่อมลงไว้แล้วว่าใครมาเมื่อใด       

ท่านขอเล่าเรื่องเกร็ดหรือเบ็ดเตล็ดในฐานะของราชองค์รักษ์ที่ได้พบเห็น




       เมื่อเสร็จพิธีรับรอง ณ ท่าอากาศยานแล้ว  ก็ได้เสด็จขึ้นรถยนต์ไปขึ้นรถไฟพระที่นั่ง           เมื่อมาได้สักหน่อยองครักษ์ของท่านมาปรึกษาว่า

จะทำอย่างไรดี  เพราะพระเจ้านโรดมเพิ่งจะมีคำสั่งให้ขัดกระบี่ได้       แต่ก่อนโน้นกองทัพเขมรไม่มีการใช้กระบี่เลย  แต่มาเมืองไทยครั้งนี้ท่านก็ให้ทหารเขมรมีกระบี่ 

แต่พวกเขาไม่มีพู่กระบี่จะทำอย่างไร

     พล.โทบุศรินทร์ถามว่าเรามีพู่ ๓ แบบ คือของกองทัพบก  กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ  จะเอาแบบไหน     เขาบอกว่าเอาของทหารเหมือน ๆ กัน

ท่านราชองครักษ์ก็ให้นายทหารประจำตัวไปซื้อมาให้ ๔ หรือ ๕ อัน  ออกสตังค์ไปเองด้วย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 03:54

       ก่อนมาเมืองไทยครั้งแรก   พระเจ้านโรดมสีหนุได้แต่งเพลงกุหลาบเชียงใหม่  หรือกุหลาบเวียงเหนืออะไรสักอย่าง

หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยก็ลงข่าวกันเกรียวกราวว่า  ท่านจะมาหาสาวเชียงใหม่ไปเป็นมเหสี  ท่านเลยเลื่อนการมาเยือนออกไปก่อน



เมื่อวันที่ไปงานเลี้ยงที่สถานทูตกัมพูชานั้นได้มีรับสั่งเรื่องดนตรีกัน     กำหนดให้ทรงดนตรีร่วมกันที่พระที่นั่งอัมพร     พระเจ้านโรดมไม่ได้นำแซกโซโฟนของท่านมาด้วย    

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานให้ยืมแซกโซโฟน    คืนนั้นองค์นโรดมเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ไปไม่กี่เพลงแล้วขอเป็นผู้ร้องเพลงแทน  

ให้วงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำเพลงประกอบ   เล่นกันจนสองยาม  อีกสองวันก็เสด็จกลับ   ข้าราชบริพารไปเก็บของ   ปรากฏว่าทางพระเจ้านโรดมได้เก็บแซกโซโฟนไปด้วย

ด้วยความเข้าใจผิด           พล.โทบุศรินทร์บันทึกว่าสุรเสียงของพระเจ้านโรดมใช้ได้ทีเดียวเมื่อร้องเพลง

(ดิฉันเคยรับฟังการพูดของสีหนุบ่อยไป   สมัยที่ข่าวต่างประเทศเรียกองค์ท่านว่า  "เจ้าชายปรอด"     แต่ไม่บังอาจไปวิจารณ์ได้ว่าเสียงท่านแหลมและรัวมาก)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 04:28

การรับรององค์มกุฏราชกุมาร  แห่งราชอาณาจักรลาว


       ฝ่ายลาวนั้นชมว่าอาหารที่ถวายอร่อยมากทุกอย่าง  แต่ควรเริ่มด้วยอาหารไทยมีข้าว ผักน้ำพริกปลาทู  จะดีกว่า

ท่านราชองค์รักษ์จึงติดต่อไปยังห้องเครื่องของล้นเกล้าให้จัดอาหารไทยเป็นหลัก    ที่โปรดปรานกันมากคือน้ำพริก

ผักจิ้มชอบกันทั้งผักต้มและผักสด



       วันที่มีหมายกำหนดการไปเฝ้าพระสังฆราชนั้น   มีรายการให้ไปสถานที่อื่น ๆ  แล้วแถมให้ไปสภากาชาดไทย  เสวยพระสุธารสแล้วจึง

จะไปเฝ้าพระสังฆราช   กรมวังผู้ใหญ่ก็อยากให้อยู่นานหน่อย  แล้วออกจากสภากาชาดไปเลย       แต่ต้องมาเถียงกับพลโทบุศรินทร์

เพราะพระราชอาคันตุกะมีพระประสงค์จะไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นทรงนุ่งผ้าขาวใส่ฉลองพระองค์คอปิดขาวไปเฝ้า     

เรื่องนี้พลโบุศรินทร์เขียนไว้ว่าต้องตัดสินใจเองให้เป็นไปตามความประสงค์ของราชอาคันตุกะ      ตามพระบรมราชโองการของล้นเกล้า ฯ


       ก่อนเสด็จกลับ  ได้มีการขอไปเฝ้าญาติผู้ใหญ่ คือพระองค์เจ้าหญิงประดิษฐาสารีที่พระที่นั่งบรมพิมาน


       วันที่ไปจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น  นิสิตคึกคะนองเมื่อเห็นผู้ติดตามขบวนมาถึง คือ ท้าวกระต่าย  ก็ร้องตะโกนต้อนรับว่า ท้าวกระแตมาแล้ว

เรื่องนี้ได้ยินกันถนัดมาก   จึงต้องบอกอธิการบดีให้เตือนหน่อยเพราะไม่เป็นเรื่องสมควรที่ไปล้อเลียนเขา  ซึ่งขณะนั้นก็เป็นรัฐมนตรีผู้ใหญ่ในขบวนเสด็จด้วย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 10:54

ประธานาธิบดีโงดินเดียมมาเยือน(พ.ศ. ๒๕๐๐)

การรักษาความปลอดภัยเข้มงวด




โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงลาว จากหนองคายสู่ปาดังเบซาร์

การเดินทางโดยเครื่องบินนาน ๆ ไม่เหมาะกับพระอนามัย  พระชนม์มายุล่วง ๗๐ พรรษา  ประชวรด้วยโรคไขข้ออักเสบ จำต้องมีทานพระกร




รับเสด็จจากสิงคโปร์กลับเวียงจันทน์

ชาวไทยชื่นชมเจ้าหญิงฉวีวรรณพระธิดา  โปรดอาหารและผลไม้ไทย




รับเสด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน
ทรงเป็นทหารอากาศ   ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่ง กังหันไอพ่น ๒ เครื่องยนต์เอง   สมัยนั้นสายการบินต่างๆ ใช้เครื่องบิน ๔ เครื่องยนต์
ทรงพักอยู่เพียง ๕ - ๖ ชั่วโมง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 12:11

การรับเสด็จพระเจ้าโบดวง  และพระราชินีฟาบิโอล่า  แห่งประเทศเบลเยี่ยม

      
      เจ้าหน้าที่โทรทัศน์เบลเยี่ยมแผนกภาษาฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมได้มาขอสัมภาษณ์พลโทบุศรินทร์เป็นภาษาฝรั่งเศส

ว่ารู้จักประทศเบลเยี่ยมดีเพียงใด  และรู้จักพระเจ้าแผ่นดินของเขาหรือเปล่า         ท่านได้บอกไปว่าไปอยู่ตั้งแต่อายุ ๑๖  เรียนโรงเรียนนายร้อยแผนกโปลีเทคนิค

จบวิศวกรปืนใหญ่  สอบได้ที่ ๑   รู้จักประเทศเขาดีกว่ารู้จักประเทศไทยด้วยซ้ำ


     ท่านราชองครักษ์ได้อยุ่ในครอบครัวของเจ้าพระยาอภัยราชา  ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต้องระมัดระวังมาก

เมื่ออยู่โรงเรียนนายร้อยซึ่งมีทุกชนชั้นก็ได้พยายามประพฤติตัวให้เป็นผู้ดีตามขนบประเพณีของเขา


     ผู้สัมภาษณ์สนใจว่ายังมีเพื่อนอยู่ไหม   ท่านยังมีเพื่อนสุภาพสตรีเป็นเคาท์เตสบารอนเนสในตระกูลโบราณอยู่ในเบลเยี่ยมอีกมาก  เขาจดรายนามไป

พลโทบุศรินทร์ได้คุยต่อไปว่าเมื่อสมเด็จพระราชบิดาของพระเจ้าโบดวงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งสวีเดนนั้น   เมื่อเสด็จมาถึงเบลเยี่ยม

ก่อนที่ขบวนรถม้าพระที่นั่งจะเข้าพระราชวังนั้น  พวกนักเรียนนายร้อยที่ไปรับเสด็จได้แตกแถวไปปลดม้ารถพระที่นั่ง  แล้วช่วยกันลากเข็นรถพระที่นั่ง

เข้าไปในพระราชวังเลย     ท่านทราบดีทั้งๆที่ไม่ได้ไปรับเสด็จด้วย  เพราะรุ่นพี่เล่าให้ฟัง       เขารู้สึกประหลาดใจมากเพราะผู้สัมภาษณ์อายุ ๔๐

หรือกว่านั้นนิดหน่อย  ตอนนั้นก็คงอายุ ๙ หรือ ๑๐ ขวบเท่านั้น       เมื่อจบสัมภาษณ์ภาษาฝรั่งเศสแล้ว  แผนกเฟลมมิชได้ถามนิดหน่อยว่าจำภาษาของเขาได้ไหม  

ได้ตอบเป็นภาษาของเขาว่าการสั่งการในกรมกองต้องสั่งได้อยู่แล้วเพราะเคยประจำการ  แต่ที่ถนัดคือ  การสั่งเหล้าเบียร์ตามร้านอาหารที่พูดแต่ภาษานี้เท่านั้น


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 12:32

ท่านผู้บันทึกมีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกให้ปฎิบัติการฉลองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์แห่งประเทศที่เคยอยู่ดุจเป็นประเทศพี่น้อง


     พระเจ้าโบดวงสนพระทัยการจัดดอกไม้เป็นหางนกยูงรำแพน สีธงชาติประเทศเบลเยี่ยมที่จัดไว้ตรงข้ามกับทางขึ้นด้านบน

ได้ตรัสถามพลโทบุศรินทร์ว่าพูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส     ได้กราบทูลว่าพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงเบลเยี่ยม        ได้ทรงถามว่าเคยไปอยู่เบลเยี่ยมมาหรือ

ได้กราบทูลว่าได้ไปเป็นนักเรียนนายร้อยจนจบ  และกราบทูลไปว่าเมื่อมีพระประสูติการนั้น  ได้หยุดเรียนตั้ง ๓ วัน           ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัยมาก

ในระหว่างที่ประทับอยู่ในเมืองไทย  ได้รับสั่งเป็นภาษาฝรั่งเศส     ท่านราชองค์รักษ์ได้กราบทูลเป็นภาษาของท่านและบางทีก็ใช้สะแลงของคนเบลเบี่ยมไปบ้าง

ทำให้พอพระทัยเป็นอันมาก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 15 ส.ค. 10, 13:26


       รถกระบวนก็มีสาวๆแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีมีขันใส่ดอกไม้โปรยเข้ามาในรถ   องค์รักษ์ของเบลเยี่ยมก็โบกไม้โบกมือ

ท่านราชองค์รักษ์นั่งอยู่ทางขวาสุดก็โผล่หน้าไปพูดว่า ขอบคุณนะคะ   ได้ยินเสียงเซ็งแซ่ว่า

"อุ๊ยตาย  พูดภาษาไทยชัดจัง"


       มีการจัดทัศนาจรหลายแห่ง  เสด็จไปทอดพระเนตรการใช้ช้างที่ราชอาคันตุกะทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยมาก


       วันหนึ่งได้ไปเยี่ยมบ้านคุณไกรศรี  นิมมานเหมิทร์ ผู้มีบ้านโบราณและวัตถุโบราณมาก   เจ้าของบ้านได้ถวายพระพุทธรูปโบราณอายุพันปีและมีราคาเรือนล้าน

ได้เสด็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   พระราชินีฟาบิโอล่าตามเสด็จมาด้านหลัง   ท่านราชองค์รักษ์ก็เดินตามมาด้านหลังอีกทีหนึ่ง   

พระราชินีได้ซักถามเรื่องการทำร่มว่าไปเอากระดาษมาจากไหน   พลโทบุศรินทร์ก็ไปถามบรรดาผู้ที่มาแสดงและกราบทูลเป็นภาษาฝรั่งเศสไป

เด็กนักเรียนและครูที่มารับเสด็จก็พูดกันว่า  ใครนะที่เป็นองค์รักษ์พระราชินีพูดไทยเก่ง     ต่อมาคุณครูใหญ่คนหนึ่งได้มีโอกาสมาคุย

ว่าพอจะจำชื่อได้ในเอกสารราชการเพราะไม่มีใครชื่ออย่างนี้  และขอถามต่อไปว่าท่านเป็นลูกครึ่งใช่หรือไม่        ท่านตอบว่าใช่แต่ครึ่งไทยเต็มตัว

เป็นข้า ฯของล้นเกล้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง