เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4757 เมืองจีนในภาพนึกของวรรณกรรมไทย
นกข.
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 12 ก.พ. 01, 07:51

แว่บมาได้แป๊บเดียวครับ
วันนี้นึกๆ ถึงเมืองจีนในนิทานไทยเก่าๆ ซึ่งเมื่อเอาประวัติศาสตร์จริงๆ ไปจับแล้วก็คงบอกยากว่าตรงกับยุคไหน เพราะเป็นเมืองจีนในจินตนาการไม่ใช่ของจริง ทำนองเดียวกับเมืองฝรั่งลังกาของนางละเวงที่ท่านสุนทรภู่แต่ง
ตำนานชาวบ้านไทยพูดถึงกรุงจีน (เรียกภาษาปากชาวบ้านว่า "กงจีน") ไว้หลายเรื่อง อย่างนิทานตาม่องล่ายที่ประจวบ นิทานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมากกับเจ้าชายสายน้ำผึ้ง ในขุนช้างขุนแผนนั้นพลายแก้วได้ชื่อแก้วก็เพราะตอนเกิด "กรุงจีนนำแก้วอันแพรวพราย มาถวายกรุงศรีอยุธยา"  ยิ่งตำนานทางเหนือยิ่งมีหลายตำนานที่กล่าวถึงกรุงจีนในทางเสริมบารมีของกษัตริย์ตัวเอกของตำนานเรื่องนั้นๆ (คงต้องกวนคุณโสกันเล่ารายละเอียด)

ตามตำนานพวกนี้ "กงจีน" ดูเหมือนจะเป็นคนละแห่งกับมหาอาณาจักรจีนที่มีจริงในประวัติศาสตร์ เพราะตามเรื่องหลายๆ เรื่องก็ทำท่าจะเป็นเมืองเล็กๆ ทำนองเมืองสามลหรือเมืองในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป ถึงแม้ว่าไทย-จีนจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมานาน แต่ในทางประวัติศาสตร์ผมก็นึกไม่ออกว่ามีธิดาเจ้ากรุงจีน หรือเจ้าชายกรุงจีน องค์ไหนลงมาเสกสมรสกับเจ้านายไทย ยิ่งสมัยหลังที่ไทยอยู่ในระบบค้าแบบบรรณาการ ที่จีนโมเมว่าไทยมาขอจิ้มก้องเป็นเมืองขึ้นจีน (แต่ไทยถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อความสะดวกในการค้าขายเท่านั้น) แล้ว โอกาสที่จักรพรรดิจะติดต่อโดยตรงกับเมืองไทยยิ่งแทบไม่มี มีแต่ผ่านขุนนางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การที่กรุงจีนจะอ่อนน้อมถึงขนาดเอาแก้วมาถวายกรุงไทยสมัยพระพันวษาจึงไม่น่าเป็นไปได้ นอกจากว่าเป็นของพระราชทานลงมาที่จักรพรรดิจีนรับสั่งให้ขุนนางจีนจัดมาพระราชทานตอบแทนให้แก่กรุงไทยที่มีใจภักดีต่อจีน (นี่ว่าตามสำนวนทางจีน) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
ใครนึกออกเรื่องไหนอีกบ้างครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 23:34

ขอโทษครับ ตั้งใจจะพิมพ์ว่าคุณสอบวานะครับ เห็นว่าทราบเรื่องเมืองเหนือดี เอาเป็นว่าผมเชิญทั้งคุณโสกัน คุณสอบวา และคุณอื่นๆ ทุกท่านเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 23:50

ไม่เกี่ยวกับเมืองจีนโดยตรง แต่นึกได้ถึงสามก๊กค่ะว่าเป็นตำราพิชัยสงครามที่ตัวละครไทยรับมาสนิทใจ ไม่ได้แปลกแยกว่าไม่ใช่ของไทย
อย่างใน คาวี  ไวยทัตหลานชายท้าวสันนุราช ก็กล่าวว่าตัวเองเชี่ยวชาญพอจะรบกับพระเอกได้ เพราะ

ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก.......ก็เรียนไว้ในอกสารพัด

อีกอย่างคือเครื่องแต่งกายขุนนางจีน สมัยราชวงศ์ชิง  เจ้านายไทยหลายพระองค์เอามาแต่งกัน  ที่จำภาพวาดได้ก็มีสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  กรมขุนสีหราชวิกรม(พระองค์เจ้าชุมสาย)  แต่ไม่ทราบว่าเห็นเป็นของแปลกแบบชุดแฟนซี  หรือแต่งในโอกาสอะไร
ความจริงเจ้านายเราถึงจีนเขาไม่นับเป็นฮ่องเต้  เรียกแค่อ๋อง ก็น่าจะใส่ชุดมังกรของจีนนะคะ ไม่ใช่ชุดขุนนาง
หรือดิฉันจะดูผิดไป   ใครช่วยแก้ข้อข้องใจหน่อยเถอะค่ะ

อีกตอนคือตอนพลายชุมพลสู้จระเข้เถรขวาด ในขุนช้างขุนแผน  บรรยายถึงประชาชนแห่กันมาชมราวกับมหรสพ มีคนจีนรวมอยู่ด้วย  เห็นฝีมือพลายชุมพลก็ชมว่าเก่ง  สู้กับเถรขวาดน่าตื่นเต้น  เหมือนในวรรณคดีจีน

เมื่อครั้งเกียงจูแหยแก้กลศึก.........ก็รบกันครืนครึกกระบวนผี
แต่เป็นกาลนานช้ากว่าพันปี..........เราได้เห็นครั้งนี้เป็นบุญตา

เรื่องเกียงจูแหยมาจากวรรณคดีเรื่อง "ห้องสิน" แปลในรัชกาลที่ ๒ ค่ะ  คุณ Linmou เรียนมาหรือเปล่าคะ?
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 02:19

พระบรมราชสาทิสลักษณ์องค์นั้นของ ร.4 แต่งพระองค์แบบจีน คล้ายๆ ว่าจะเคยเห็นครับ ดูเหมือนมีอีกรูปที่ ร.5 ทรงแต่งแบบจีนเหมือนกัน จะอยู่ที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญที่เป็นเก๋งจีนที่บางปะอินหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ
พระที่นั่งองค์นี้ มีชื่อจีนด้วยนะครับว่า เทียนเม่งเต้ย แปลว่า ตำหนักฟ้าสว่าง ก็ - เวหาสน์จำรูญ นั่นแหละ สำเนียงจีนกลางเห็นจะเรียกว่า เทียนหมิงเตี้ยน
ถ้าผมจำไม่ผิด ฉลองพระองค์ในรูปเขียน 2 รูปนั้นน่าจะเป็นฉลองพระองค์ฮ่องเต้ครับ จำได้ติดตาว่าเป็นชุดสีเหลือง แต่จำรายละเอียดอื่นๆ ไม่ได้ อันชุดฉลองพระองค์สีเหลืองทองลายมังกร (ห้าเล็บ) นั้น ทั้งแผ่นดินจีน ฮ่องเต้ทรงได้พระองค์เดียวครับ ขุนางหรืออ๋องอื่นๆ ห้ามใช้สีเหลืองแบบนี้ ห้ามใช้ลายมังกรห้าเล็บด้วย
แอบจำมาจากอีกเว็บหนึ่งว่า ตำนานขุนเจื๋องของทางลานนาไทย พูดถึงพระยาห้อร่มฟ้าเก้าพิมาน และว่าพระยาองค์นี้ก็คือพระเจ้ากรุงจีนนั่นเอง ผมว่าแปลกดีที่มีคำว่า ห้อ อยู่ในชื่อเจ้ากรุงจีน แล้วต่อมาอีกหลายๆๆ ร้อยปี ก็มีการเรียกคนเชื้อสายจีนที่อยู่แถวๆ ลานนา พม่า ว่า จีนฮ่อ คำว่าฮ่อนี่ มีคนบอกว่าเลือนมาจากคำว่า หัว Hua2 ในภาษาจีนกลาง แปลว่าจีนนั่นเอง จีนฮ่อบางกลุ่มเป็นมุสลิมด้วย แต่เข้าใจว่าไม่ใช่ทั้งหมด
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 08:45

มีตำนานเรื่องเจ้าสายน้ำผึ้งกับนางสร้อยดอกหมาก ธิดาเจ้ากรุงจีนไงครับ ลองอ่านดูเล่นๆที่ศิลปวัฒนธรรมฉบับล่าสุด

ตาม link ไปเลยครับ

http://202.183.211.7/art/ac_story.asp?selectdate=2001/02/01&stid=155' target='_blank'>http://202.183.211.7/art/ac_story.asp?selectdate=2001/02/01&stid=155
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 09:14

ขอบคุณครับ
ไปดูมาแล้วครับ
ผมเคยทราบเรื่องตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมากมาก่อนแล้ว ดังที่ปรากฏในคำถามของผม ที่ผมพยายามจะโยงก็คือว่า "เมืองจีน" ของพระนางสร้อยดอกหมาก เกี่ยวพันหรือไม่ อย่างไร กับเมืองจีนจริงๆ หรือเป็นเพียงเมืองในจินตนาการของชาวบ้านเจ้าของตำนานนิทานชาวบ้านต่างๆ เหมือนกับเมืองฝรั่งลังกาของนางละเวงก็ไม่มีจริงในยุโรปหรืออเมริกา หรือแม้แต่ที่ลังกา
พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์ไทยสมัยไหน ราชธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงจีนชื่อสร้อยดอกหมาก อยู่ในสมัยไหน จีนมีธรรมเนียมส่งราชธิดาให้กษัตริยชั้นผู้น้อยต่างชาติหรือไม่ ถ้ามี เคยส่งให้ไทยไหม เรื่องนิทานชาวบ้านอาจจะเอาเค้ามาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ได้บ้างไหม
ตำนานจีนจริงๆ มีพูดถึงหวังเจาจวิน พระสนม ซึ่งฮ่องเต้จีนส่งออกไปเป็นบรรณาการหย่าศึกแก่ชนเผ่าหู (เป็นพวกอนารยชนในสายตาจีนเผ่าหนึ่งทางตอนเหนือ เทือก ๆ พวกมงโกล) ทำให้ข่านแห่งเผ่าหูพอพระทัยยินดีสร้างสันติภาพกับจีนได้หลายสิบปี แปลว่าการส่งสตรีในราชสำนักจีนไปต่างเมืองคงจะมีบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เคยได้ยินว่าส่งมาถวายกษัตริย์เมืองไทย นอกจากในตำนานของข้างไทยเอง
เจ้าที่เป็นชายของจีนที่มาติดพันสาวไทยก็ไม่ค่อยได้ยินว่ามีในประวัติศาสตร์ เห็นแต่ในตำนานเขาตาม่องล่ายของทางไทย
สมัยท้าวอู่ทอง ที่ว่าได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิจีนตามที่ผมตามลิงค์ไป จะตรงกับยุคราชวงศ์ไหนของจีนได้บ้างครับ
บันทึกการเข้า
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 11:23

ตำนาน หรือ นิทานจากการรับรู้ของชาวบ้าน มักจะแฝงความเป็นจริงอยู่บ้าง  ผสมผสานกับจินตนาการ  ทำให้น่าสนใจมากขึ้น

 สำหรับการมองหาหลักฐานที่ชัดเจนพอจะระบุเหตุการณ์จริงนั้น  อาจจะหาได้ยากจากบ้านเรา  ต้องไปดูที่เอกสารของจีนเอง  ตอนนี้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านนานแล้ว  ชื่อ ปาไป่สีฟู่ มีข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแถบเมืองเชียงใหม่ในสมัยราชวงศ์มองโกลและหมิง  แต่รายละเอียดจำไม่ได้แล้ว  และตอนนี้ก็ไม่มีหนังสืออยู่ในมือ  จำได้เพียงว่า ปาไป่สีฟู่ เป็นชื่อที่จีนเรียกเมืองเชียงใหม่ มีความหมายว่า เมืองแห่ง 800 ชายา  และร่วมสมัยกับมังรายด้วย  

ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงพอเล่าต่อได้นะคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 15:56

มานึกได้อีกอย่าง
พระเจ้าสายน้ำผึ้งในนิทานชาวบ้าน จะได้เค้ามาจากเจ้านครอินทร์ที่ว่าเสด็จไปเมืองจีนจริงๆ ได้ไหม?
บางทีอาจจะไปได้ชายาจีนตามเสด็จมาก็เป็นได้ แต่ชายาจีนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน
หลักฐานทางจีนน่าจะสอบได้นะครับ

โดยที่ยังไม่ได้อ่านปาไป่สีฟู่ ผมขอเดาว่า ชายาเจ้าไทยที่ว่าเป็นธิดาเจ้ากรุงจีน หรือตัวเจ้ากรุงจีนเองในบันทึกฝ่ายไทยหรือนิยายข้างไทย จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์จักรพรรดิเอง อาจเป็นขุนนางจีนชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง "ราชธิดา" ก็อาจเป็นแค่กุลสตรีมีตระกูลชาวจีน

เว้นแต่ว่าขณะนั้นจักรพรรดิเสด็จลงมาทางใต้ด้วยพระองค์เอง (มาทำศึก?) อย่างตอนที่มองโกลราชวงศ์หยวนมารบกับพม่าหรือเวียดนาม ไม่แน่ใจว่าเป็นทัพกษัตริย์ หรือทัพขุนทหารยกลงมา

นางสร้อยดอกหมากมีเหตุอื่นให้น้อยใจถึงฆ่าตัวตายหรือไม่ ผมขอมั่วส่งเดชว่า นางมาอยู่ต่างถิ่นต่างเมืองและเป็นเมืองที่จีนดูถูกว่านอกอารยธรรม และธรรมเนียมจีนเรื่องแต่งงานนี่ถ้าจำไม่ผิดออกจะยุ่งๆ อยู่ ให้เจ้าสาวขึ้นเกี้ยวมีแห่แหน ฯลฯ ซึ่งคงไม่มีในเมืองไทย ทำให้อดสูอับอายเพราะนางถือประเพณีจีนจัด หรืออย่างไร เพราะตามนิทานนั้นสาเหตุเบาไปหน่อยที่จะฆ่าตัวตาย

นางสร้อยดอกหมากคงใจน้อยแสนงอนอยู่ด้วย ไม่จิตใจเข้มแข็งยอมเสียสละตัวเพื่อสันติภาพอย่างหวังเจาจวิน แต่ตำนานว่า ในที่สุดหวังเจาจวินก็ฆ่าตัวตายเหมือนกันหลังจากสิ้นรัชสมัยของข่านเผ่าหู หรือเผ่าซยงหนู องค์ที่เธอตกไปเป็นนางบำเรอ ข่านองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์แล้วจะเอาเธอเป็นเมียต่อตามธรรมเนียมเผ่าหู เธอเห็นว่าขัดธรรมเนียมจีนเลยยอมตาย
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 22:22

เข้าใจอย่างคุณ นกข ค่ะ ว่า เจ้ากรุงจีนที่ว่าอาจจะเป็นขุนนางหรือเจ้าเมิองต่างๆทางใต้ของจีนมากกว่าต้วองค์ฮ่องเต้ของจีนเองมากกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 ก.พ. 01, 00:51

ไม่รู้เรื่องจริงเรื่องแต่ง

พระนางลีกุน  พระมเหสีในพระเจ้าเทวราช พระบิดาของเจ้าสิงหนวัติ
บันทึกการเข้า
ปังปอนด์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 ก.พ. 01, 14:04

เรื่อง มณีพิไชย (ยอพระกลิ่น) ล่ะครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 ก.พ. 01, 19:51

เรื่องนางสร้อยดอกหมากตามตำนานว่าเป็นเรื่องก่อนยุคพระเจ้าอู่ทองอีกครับ คงไม่ใช่เจ้านครอินทร์ แต่มีจริงหรือเปล่านี่จนใจจริงครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง