เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 138900 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 09:43

กรณี ๑๘ นักโทษประหาร ผมพยายามนึกว่าผมอ่านครั้งแรกจากไหน แต่นึกไม่ออก
น่าจะเป็นในหนังสือฟ้าเมืองไทย ตอนที่ผมเป็นเด็ก จำไม่ได้ว่าคนเขียนคือใคร
แต่ผมจำแม่นว่าผมอ่านแล้วน้ำตาไหล
เมื่อบรรยายถึงตอนที่ผุดพวง และเผ่าพันธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เข้าไปกราบเท้าพระยาเทพหัสดิน ผู้เป็นบิดา
ก่อนจะโดนนำตัวไปสู่หลักประหาร
นั่นคือ first bad impression ที่ผมมีต่อจอมพล ป.พิบลูลสงคราม
ตั้งแต่นั้นมาผมไม่เคยมองจอมพล ป. ในภาพบวกเลย
first impression วัยเด็กนี่มันฝังใจจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 10:22

เพียงสองสัปดาห์กระมัง ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขก็พ้นจากตำแหน่งเพราะนายทวี ลาออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางสะดวกให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พล.ต.อ.อดุล ยังเป็นอธิบดีกรมตำรวจต่อไปตามเดิม

งานนโยบายชิ้นแรกๆที่ม.ร.ว.เสนีย์ทำควบคู่กับการเจราจาดึงเอาอิทธิพลของอเมริกันมาคุ้มกันไทยจากการรุกคืบของอังกฤษและจีนแล้ว นอกจากการพยายามสลายตัวของเสรีไทย ที่กองกำลังติดอาวุธส่วนหนึ่งจะกลายเป็นจรเข้หลุดจากฟาร์มตามกระแสน้ำท่วม ก็คือการเสนอออกพระราชบัญญัติอาชญากรแผ่นดิน เพื่อนำบุคคลสำคัญตามรายชื่อที่สัมพันธมิตรต้องการมาขึ้นศาลไทย แทนที่จะต้องไปขึ้นศาลของสัมพันธมิตร แต่กว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะผ่านสภามาได้ ก็มีส.ส.ด่าว่านายกรัฐมนตรีเสียยับเยิน มีคนออกมารับแทนจอมพล ป.กันมากมาย

จดหมายที่จอมพลป. มีไปถึงนายปรีดี ท่านอาจารย์เทาชมพูได้นำมาลงไว้ก่อนงานหมั้นลูกสาวของผม พร้อมกับทิ้งคำถามไว้ให้ผมตอบ เมื่อทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมคงไม่จำเป็นต้องตอบประการใด

แต่แม้ว่าในภายหลังจะมีคำแก้ตัวจากหลายๆฝ่าย ว่ามีแผนที่จะให้จอมพล ป.หลุดรอดอยู่แล้ว แต่เรื่องกฏหมายพระราชบัญญัติอาชญากรจะมีอำนาจบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ก็มีส.ส.ที่เป็นนักกฏหมายได้ถกเรื่องนี้กันกระจะๆในสภาไปแล้ว ตอนนั้นผู้ชี้แจงก็ชี้แจงไปอีกอย่าง ดังนั้นจึงมีผู้เชื่อว่าศาลอาชญากรสงครามจะเป็นโรงเชือดจอมพล ป. ให้ถูกกำจัดออกไปจากเวทีการเมืองของไทยอย่างถาวร เพื่อปิดโอกาสให้ใช้บารมีกลับเข้ามาล้างแค้นเอาคืนกับพวกที่ทำตนไว้

พล.ต.อ.อดุลเป็นบุคคลในประเภทที่เชื่อสมมติฐานดังกล่าว จึงขึ้นไปให้การยาวเหยียด ใช้เวลานับสิบวันเพื่อให้ครบเครื่องเรื่องมลทินที่จอมพล ป.ได้กระทำไว้แต่ครั้งไหนๆ โดยอ้างว่า ตนเป็นผู้ใกล้ชิดมาตั้งแต่เด็ก ตนรู้จักคนคนนี้ดีที่สุด

เรื่องหลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้นของผมน่าจะจบลงตามนี้ได้ โดยไปตามเก็บอีกนิดหน่อยตอนที่จอมพลป.หวนกลับมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่ง

แต่ตอนนี้ ขอพักรวมพลคนเล่นกระทู้ให้ช่วยกันเก็บตกเรื่องราวข้างทางที่ผมตลุยมาบ้าง



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 10:47

ไม่อยากสอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ หรือสอนจระเข้ให้อ่านหนังสือ เลยละค่ะ  แต่หลักการเขียน เขาสอนไว้ว่าเมื่อถึงไคลแมกซ์แล้ว  อย่าเพิ่งปุบปับจบ  ต้องแลนดิ้งต่อไปอีกหน่อย 
ร่อนลงรันเวย์จนถึงจอดสนิท ผู้โดยสารทยอยกันลงบันไดเครื่อง  กัปตันก้าวลงมาสู่สายตาคนดู โปรยยิ้มให้  แล้วค่อยจบ  คนดูได้ไม่ค้างคาใจ
กระทู้นี้ยังต่อได้อีกพักใหญ่ค่ะ
**********************
ก่อนอื่น ขอแยกซอยนากามูระเป็นซอยแรก
นับว่าเป็นโชคดีของไทย ที่แม่ทัพใหญ่ผู้กรีฑาทัพเข้ามาให้เราจำยอมเป็นพันธมิตรคือนายพลผู้นี้     นายพลนากามูระ(ซึ่งในคู่กรรมบอกว่าเป็นลุงของโกโบริ)  ไม่ได้รู้สึกเป็นปรปักษ์กับคนไทย    ไทยจึงรอดพ้นชะตากรรมอย่าง The Rape of Nanking ไปได้     สมัยสงครามสาวไทยเป็นภรรยาทหารญี่ปุ่นกันไม่น้อย  ไม่ใช่แต่อังศุมาลินเท่านั้น
คุณนวรัตนบอกว่าท่านนายพลนากามูระรอดพ้นจากอาชญากรสงครามไปได้   เข้าใจว่าหลังสงคราม เมื่ออเมริกาปลดอาวุธญี่ปุ่น ยุบกองทัพลูกพระอาทิตย์แล้ว ท่านก็คงใช้ชีวิตอย่างพลเรือนไปอย่างสงบเงียบตามประสาพลเมืองอาวุโส    แต่จะไปค้าขายหรืออยู่เฉยๆ ยังหาข้อมูลไม่พบ
ปี 2498  ท่านหวนกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้ง  ไม่ใช่อย่างทัวริสต์ธรรมดา แต่เป็น "แขกบ้านแขกเมือง" อาคันตุกะระดับชาติ   คนไทยต้อนรับท่านอย่างมหามิตร   
ถ้าถามว่าปีนั้นเป็นรัฐบาลของใคร   คำตอบคงเดาได้โดยไม่ต้องร้อง อ๋อ   ก็รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในยุคหวนกลับสู่การเมือง

ที่น่าสนใจคือ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มปากกล้าเจ้าของสยามรัฐ   ผู้เขียนสี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ลือเลื่องไปทั้งเมือง  ได้เขียนต้อนรับท่านนายพลไว้หยดย้อย     ท่านเขียนเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษหรือสองภาษาควบกันก็ไม่ทราบ  แต่ที่ดิฉันมี เป็นภาษาอังกฤษ

“It was thanks to Japan that all nations of Asia gained independence. For Mother Japan, it was a difficult birth which resulted in much suffering, yet her children are growing up quickly to be  healthy and strong.  Who was it that enabled the citizens of the nations of Southeast Asia to gain equal status alongside the United States and Britain today? It is because Japan, who acted like a mother to us all, carried out acts of benevolence towards us and performed feats of self-sacrifice. December 8th is the day when Mother Japan – who taught us this important lesson – laid her life on the line for us, after making a momentous decision and risking her own well-being for our sake.
Furthermore, August 15th is the day when our beloved and revered mother was frail and ailing. Neither of these two days should ever be forgotten”.

ลิ้นการทูตของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เก่งฉกาจขนาดไหนลองดูจากคำข้างบนนี้  ท่านเรียกญี่ปุ่นว่า  Mother Japan  คือประเทศแม่ (ท่านใช้คำภาษาไทยเพราะๆกว่านี้ว่าอะไรดิฉันก็ยังนึกไม่ออก   เห็นจะต้องถามคุณวันดี)   ยกย่องว่าเป็นประเทศผู้นำของเอเชียที่ทำให้เอเชียอาคเนย์ได้ยืดตัวขึ้นมาเสมอบ่าเสมอไหล่กับอเมริกาและอังกฤษ  โดยญี่ปุ่นก็ต้องอุทิศตัวเอง  เสียสละเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศพวกนี้

ไม่แปลกใจเลยเมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะเดินไปจับมือกับประธานเหมาเจ๋อตุงได้สนิทใจ    ทำให้ภัยคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยได้ชื่อว่าคุกคามไทยอยู่นานสองสามทศวรรษ(ซึ่งอาจจริงบ้างไม่จริงบ้าง) หมดเงาน่าสะพรึงกลัวลงไปได้   ไทยกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นมิตรดีต่อกันมาจนทุกวันนี้   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 11:09

ดิฉันยังติดใจบทบาทของพลต.อ.อดุลอยู่   ก็เลยไปหาประวัติท่านมาอ่าน    แล้วพยายามปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน    ผิดถูกอย่างไรเชิญค้านด้วย เพื่อให้กระทู้นี้พ้นจากความผิดพลาด หรือถ้าผิดก็ผิดน้อยที่สุด

พลต.อ.อดุลขึ้นเป็นอธิบดีตำรวจตั้งแต่อายุ 42 ปี  อยู่ในตำแหน่งนี้มา 9 ปีเต็ม  จน อายุ 51   ผ่านเรื่องกบฎบวรเดช  ผ่านเรื่องนักโทษประหาร 2482  ผ่านยุควัธนธัม สงครามโลกครั้งที่สอง  ล้วนแต่เป็นยุคสาหัสสากรรจ์ของการเมืองไทย 
เมื่อพ้นตำแหน่งไปในปี 2488 ท่านยังมีอายุราชการอีก 9 ปี  งานทิ้งทวนของท่านน่าจะเป็นการเสนอนายกรัฐมนตรีคือนายควง อภัยวงศ์ให้ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ปี 2482    จากนั้นก็ขึ้นไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี   แม้เป็นตำแหน่งมีเกียรติสูง แต่อำนาจน้อยกว่าอธิบดีตำรวจ
พ.ศ. 2489 ข้ามฟากไปเป็นผู้บัญชาการทหารบก  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่งของประเทศ   แต่เป็นอยู่ปีเศษก็พ้นหน้าที่นี้ไปทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493  และรับตำแหน่งองคมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2492-2495

ถ้าเรือนไทยมีหมออีกอาชีพหนึ่ง คือหมอดู   นอกเหนือจากหมอผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดหัวใจอย่างคุณหมอ CVT  ก็อยากจะถามว่า ดวงของท่านพลต.อ. ดาวอะไรกุมลัคน์อยู่  ดวงราชการท่านถึงมีแต่ขึ้น  ไม่มีตกเอาเลย

ในเว็บไซต์ของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ พูดถึงพลต.อ.อดุลเอาไว้น่าสนใจ   ดิฉันยังไม่ออกความเห็น  ขอเชิญท่านทั้งหลายอ่านเองก่อน เผื่อใครจะมีความเห็นอย่างใดบ้าง

ตอนโค่นจอมพลป.ลงโดยวิถีทางของรัฐสภานั้น อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ไม่อาจตั้งคุณทวีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะคุณทวีเล่นละครตบตาญี่ปุ่นไม่ได้ จึงต้องให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คุณทวีเป็นรัฐมนตรีที่สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้ อะไรๆที่สำคัญๆนั้น อาจารย์ปรีดีหารือกับคุณทวีเป็นการภายในเป็นส่วนมาก หากเป็นเรื่องฉกรรจ์ ก็ต้องบอกให้หลวงอดุลเดชจรัสทราบ เพราะเขาคนนี้มีความสามารถในการคานอำนาจจอมพล ป.

ครั้นเสร็จสงครามแล้ว อาจารย์ปรีดีเห็นควรให้คุณดิเรกเป็นนายกฯ แต่คุณดิเรกติงว่าตั้งแต่ปลดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจากตำแหน่งดังกล่าวไปในปี๒๔๗๖ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ผลัดกันเป็นนายกฯมาตลอด เกรงผู้คนจะติฉินคณะราษฎร ว่าต้องการกุมอำนาจไว้อย่างถาวร ถ้าเลือกเอาคนนอกมาดำรงตำแหน่งบ้าง ก็จะดี ยิ่งได้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชด้วยแล้ว ก็น่าจะเหมาะสม เพราะบุคคลผู้นี้ก็เป็นเสรีไทยภายนอกประเทศที่สำคัญสุด ทั้งยังเป็นเชื้อพระวงศ์ ฝ่ายเจ้ากับฝ่ายไพร่จะได้คืนดีกัน สิ้นความกินแหนงแคลงใจ ว่าคณะราษฎรแย่งชิงอำนาจไปจากเจ้า

อาจารย์ปรีดีเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดิเรก จึงเชิญคุณชายเสนีย์มาเป็นนายกฯ นับว่าน่าเสียดายที่ความหวังดีของฝ่ายคณะราษฎรถูกคุณชายเสนีย์มองไปว่าเอาท่านมาเป็นตัวเชิด โดยท่านไม่รู้ตัวว่าท่านเองเป็นคนหูเบา ที่บริหารงานแผ่นดินไม่เป็น ดังกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก็เป็นพยานให้คนร่วมสมัยเห็นถึงความอ่อนแอของท่าน

เมื่อเป็นนายกฯครั้งแรก คุณชายเสนีย์ไร้สมรรถภาพในการบริหารงานแผ่นดิน จนต้องลาออกไป ทั้งยังกล่าวหาว่าถูกอาจารย์ปรีดีหลอกเอามาใช้อีกด้วย นับว่าการเสนอชื่อคุณชายเสนีย์ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นความล้มเหลวของคุณดิเรกแท้ทีเดียว โดยที่คุณดิเรกก็เป็นคนที่เสนอชื่อให้คุณชายเสนีย์ไปเป็นทูตที่สหรัฐมาก่อนด้วยแล้ว

เมื่อคุณชายเสนีย์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว อาจารย์ปรีดีจึงเห็นควรให้คุณดิเรกเป็นนายกฯให้จงได้ แม้หลวงอดุลเดชจรัสก็สนับสนุนคุณดิเรก โดยที่คุณดิเรกมีความสามารถสูงทางการทูต ไม่แต่กับชาวต่างประเทศ แม้ในหมู่คนไทยด้วยกัน จึงชักจูงหลวงอดุลให้มาสนับสนุนอาจารย์ปรีดีและงานเสรีไทยจนสำเร็จ ทั้งๆที่หลวงอดุลสนิทสนมกับจอมพลป.มาแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยมาด้วยกัน โดยที่ถ้าไม่ได้หลวงอดุลหนุน งานเสรีไทยย่อมเป็นไปไม่ได้ภายในประเทศ

โดยที่คุณดิเรกเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน คนวงนอกจึงเข้าใจว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ ยิ่งหลวงอดุลสนับสนุนท่าน ใครๆก็พากันเกรงไปว่าคุณดิเรกจะอยู่ใต้อำนาจหลวงอดุล ซึ่งมีความเป็นเผด็จการที่แข็งแกร่งมาแต่ไหนแต่ไร ข้างฝ่ายคุณควงก็ต้องการกลับมาเป็นนายกฯอีก โดยมีคณะของคุณชายเสนีย์สนับสนุน คุณดิเรกจึงแพ้คะแนนคุณควง ตอนออกเสียงในรัฐสภาเพื่อหาคนมาเป็นนายกฯ และแล้วคุณควงก็แพ้คะแนนของพรรคสหชีพ ซึ่งมีสมาชิกส่วนมากเป็นชาวอีสาน และมีแนวโน้มในทางสังคมนิยม โดยที่พรรคนี้รังเกียจนโยบายของรัฐบาลควง ซึ่งเป็นไปในทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ผสมกับศักดินา

ตอนคุณควงลาออกเพราะแพ้คะแนนเสียงนั้น ได้ตัดพ้อต่อว่าอาจารย์ปรีดี หาว่าโยงใยอยู่เบื้องหลังพรรคสหชีพ จึงไปตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาฟาดฟันอาจารย์ปรีดีและบริษัทบริวาร โดยที่ถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องใช้กล แม้จนมนต์คาถา ที่ไร้จรรยาบรรณใดๆก็ตาม ทั้งคุณควงประกาศก้องว่าถ้าอาจารย์ปรีดีเก่งจริง ก็ให้มาเป็นนายกฯเสียเอง อย่าอาศัยบุคคลอย่างคุณดิเรกเป็นหน้าฉากเลย

ความแตกแยกกันของรัฐสภาเข้าหน้าสิ่วหน้าขวานจนอาจารย์ปรีดีไม่มีทางเลือก ต้องรับเป็นนายกรัฐมนตรี และขอให้คุณดิเรกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หากให้เป็นผู้กำกับสำนักพระราชวังด้วย เพราะตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา สำนักพระราชวังขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นคราวเคราะห์ของบ้านเมือง และของคณะอาจารย์ปรีดี ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ สวรรคตขึ้น หลังจากที่ท่านรับตำแหน่งนายกฯได้ไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์จึงหาทางโจมตีอย่างเลยเถิดไปว่าอาจารย์ปรีดีวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ถึงขนาดจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า ปรีดีฆ่าในหลวง

ชนวนที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เล่ห์กระเท่ห์นี้ได้ผล จนคุณควงไปวางแผนกับคณะทหาร ก่อการรัฐประหารขึ้นในปลายปี ๒๔๙๐ เป็นเหตุให้อาจารย์ปรีดีและคณะต้องปลาสนาการไปจากแวดวงทางการเมืองเอาเลย

ก่อนรัฐประหาร เมื่ออาจารย์ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกฯในรัชกาลปัจจุบันนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์รับตำแหน่งสืบทอดต่อ นายกฯคนใหม่ขอให้คุณดิเรกไปเป็นทูตที่อังกฤษ ด้วยการยกสถานะเดิมจากอัครราชทูตให้เป็นเอกอัครราชทูต

คุณดิเรกเกรงว่าจะไม่สมควร เพราะม.จ.นักขัตรมงคล กิตติยากร เป็นอัครราชทูตอยู่แล้ว แต่อาจารย์ปรีดีกับนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ต้องอาศัยความสามารถทางการทูตของคุณดิเรกในการเจรจากับอังกฤษ เพื่อแก้ไขข้อตกลงต่างๆซึ่งคุณเสนีย์ทำเรื่องไว้ และอาจารย์ปรีดีบอกว่าจะขอย้ายท่านนักขัตรไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ปารีส โดยที่เดิมทรงเป็นเพียงอัครราชทูต เป็นอันว่าท่านก็ได้เลื่อนสถานะขึ้นด้วย และท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศสมาก่อน ไปประทับทางปารีสดูจะเหมาะสมกว่า คุณดิเรกจึงยอม ดังเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพลป.ขอให้คุณดิเรกไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ญี่ปุ่น (นี่ก็เป็นการเพิ่มสถานะจากตำแหน่งอัครราชทูตเช่นกัน) คุณดิเรกบ่ายเบี่ยง ทำให้จอมพลป.โกรธมาก ถึงกับว่าถ้าคุณดิเรกไม่ไป จอมพลป.จะไปเอง ดังนี้เป็นต้น ผลก็คือหลวงอดุลมาไกล่เกลี่ยให้คุณดิเรกยอมรับตำแหน่ง เผื่อจะไปใช้โอกาสกู้บ้านกู้เมืองจากนอกประเทศ
เมื่อคณะรัฐประหารได้ชัยชนะมาอย่างผิดกฎหมายนั้น ได้ตั้งคุณควงให้เป็นนายกฯอย่างเป็นหุ่นให้พวกทหารเชิด พระยาศรีวิศาลวาจาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลควง ได้มีหนังสือไปขอให้คุณดิเรกดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตต่อไป คุณดิเรกตอบว่ายินดีดำรงตำแหน่งต่อจนกว่ารัฐบาลใหม่จะได้รับการรับรองจากรัฐบาลอังกฤษ แล้วท่านก็จะขอลาออก

ในช่วงนั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นนักเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ลอนดอน และสนิทกับคุณดิเรกมาก ถึงกับถามว่าถ้าลาออกจากราชการไปแล้ว อาจารย์จะทำอะไร ท่านก็ตอบว่าว่างงาน แต่นั่นไม่สำคัญเท่าเกียรติยศ เพราะท่านได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งที่สำคัญ โดยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะอยู่รับใช้รัฐบาลที่เข้ามามีอำนาจด้วยการล้มระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ความสำคัญทางจริยธรรมข้อนี้ ยากที่คนร่วมสมัยจะเข้าใจ แต่คุณป๋วยเข้าใจอย่างซาบซึ้ง และคุณป๋วยดำเนินชีวิตเช่นคุณดิเรกมาเกือบจะโดยตลอด โดยคุณป๋วยย้ำอยู่เสมอว่าชีวิตของคนเรานั้นสำคัญที่เกียรติ คือการเคารพตัวเอง และเคารพธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม

ขำก็ตรงที่ม.จ.สิทธิพร กฤดากรนั้น เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเกษตร ในรัฐบาลควง โดยคงไม่ทรงตระหนักว่ารัฐบาลนั้นผิดกฎหมาย ครั้นนายควงถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออกไป จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้นำของคณะรัฐประหาร ได้มาทูลท่านสิทธิพรให้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต่อไป ภายใต้การเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพลป.พิบูลสงคราม เพราะความสามารถและความสัตย์ซื่อของท่าน แต่ท่านก็ทรงปฏิเสธไปอย่างนิ่มนวล คล้ายๆคุณดิเรกเหมือนกัน

รัฐบาลควงขึ้นสู่อำนาจในปลายปี ๒๔๙๐ ด้วยความฉ้อฉลเท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจอมพลป.ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลควง ก็ใช้กำลังทหารบีบเอาอย่างเลวร้ายพอๆกัน เพราะฉะนั้นอาจารย์ปรีดีจึงกรีฑาทัพมาบีบให้รัฐบาลจอมพลป.ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศตั้งคุณดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๔๙๒ หากอาจารย์ปรีดีต้องพ่ายแพ้ไปเพราะถูกหลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ หักหลัง ดังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ท่านก็ถูกหลวงอดุลเดชจรัสร่วมกับหลวงสังวรยุทธกิจหักหลังนั้นแล โดยที่หลวงสังวรนั้นยังมาหักหลังอาจารย์ปรีดีอีกในปี ๒๔๙๒
เคราะห์ดีที่จอมพลป.ไม่เห็นโทษของคุณดิเรก ท่านจึงไม่ถูกจองจำ แม้กรณีสวรรคตที่ทั้งจอมพลป. และพลเอกเผ่า ศรียานนท์พยายามทำเรื่องให้โยงไปถึงอาจารย์ปรีดีนั้น ก็มีผู้เสนอให้คุณดิเรกติดร่างแหด้วยในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับสำนักพระราชวังตอนเกิดสวรรคต หากจอมพลป.ขอไว้ คุณดิเรกจึงรอดตัว แต่ท่านก็ไม่ยอมร่วมกิจการทางการเมืองกับจอมพลป.จนตลอดระยะเวลาที่บุคคลผู้นั้นมีอำนาจ หากยินดีเล่นกอล์ฟด้วยกันตามแต่โอกาสจะอำนวย คือท่านรู้จักแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องของส่วนรวม

ทางฝ่ายนายสงวน ตุลารักษ์นั้น ก็ร่วมก่อการมากับคณะราษฎรในปี ๒๔๗๕ และมีบทบาทในขบวนการเสรีไทยด้วย ตอนรัฐประหาร เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศจีน อยู่ที่นครนานกิง คุณสงวนประกาศด่าคณะรัฐประหารอย่างรุนแรงและลาออกจากตำแหน่งในทันที นี่คือการแสดงบทบาททางไม้แข็ง ในขณะที่คุณดิเรกและท่านสิทธิพรใช้ไม้อ่อน ซึ่งบางทีนั้นออกจะอ่อนนอกและแข็งใน ให้เป็นที่เกรงขามของสุภาพชน หรือคนที่ตามีแวว

ถ้าใครได้อ่านถ้อยคำของพระยามโนที่โจมตีอาจารย์ปรีดีแต่ในปี ๒๔๗๕ จะเห็นได้ว่าเจ้าคุณมโนยกให้นายสงวน ตุลารักษ์กับนายซิม วีระไวทยะ ว่าเป็นโมคคัลลาน์สารีบุตรของอาจารย์ปรีดีเอาเลย แต่คุณซิมตายเสียแต่เมื่ออายุยังน้อย เฉกเช่น นายตั้ว ลพานุกรม หากคุณสงวนอยู่มาจนเพิ่งตายหลังจากอาจารย์ปรีดี เมื่อไม่นานมานี้เอง อาจเป็นเพราะความแข็งกร้าวของคุณสงวนก็ได้ ที่ภายหลังดูท่านจะห่างอาจารย์ปรีดีออกไป

 
http://www.sulak-sivaraksa.org/
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 11:10

ขออนุญาตเข้าซอยนายควง อภัยวงศ์

จากบล็อกของคุณเจียวต้าย

เรื่องเล่าจากอดีต : นายกรัฐมนตรียามสงคราม
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=14-04-2010&group=29&gblog=19

เมื่อ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยไม่เกิดเรื่องยุ่งยากวุ่นวายในระหว่างคนไทยด้วยกันแล้ว ท่านก็ต้องคอยแก้ปัญหายุ่งยากระหว่างรัฐบาลไทย กับกองทัพญี่ปุ่นต่อไป ท่านเล่าว่า

เมื่อเสร็จจากเรื่องหลวงพิบูล ฯ แล้ว ผมก็ต้องคอยแก้ปัญหาระหว่างเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่น เหมือนถูกบังคับให้ขี่ม้าสองตัว คือเสรีไทยตัวหนึ่ง และญี่ปุ่นอีกตัวหนึ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ มันลำบากจริง

คืนวันหนึ่งพวกเสรีไทยเอาฝรั่งคนหนึ่งที่ถูกกักกันในแคมป์ชนชาติศัตรูที่กรุงเทพ ฯ ส่งไปเมืองนอก จึงเกิดวิตกว่าถ้าตอนรุ่งเช้าพวกญี่ปุ่นไปตรวจพบว่าขาดจำนวนจะทำยังไง แต่บังเอิญพระสยามเทวาธิราชช่วยผมแท้ ๆ ในคืนวันนั้นเองพระสงฆ์ท่านนำฝรั่งที่หลบหนีจากค่ายกาญจนบุรี มาให้ผมคนหนึ่ง ผมก็ให้ผู้ควบคุมค่ายเอาไปยัดใส่แทน ผู้ควบคุมแย้งว่ามันเป็นคนละคนกันกับที่หายไปนี่ ผมก็บอกว่า เคยนึกบ้างไหมเวลาเราดูฝรั่งก็เห็นหน้ามันคล้าย ๆ กัน หรือเมื่อฝรั่งดูพวกเรา ก็เห็นคล้ายกันเหมือนกัน ยังไง ๆ พอเขาเรียกชื่อหมอนั่น ก็ให้หมอนี่ขาน “เยสเซ่อร์” ก็แล้วกัน เผอิญได้ผลจริง ๆ เรารอดตัวไป

ส่วนที่เขาหาว่าผมหักหลังญี่ปุ่น และบางคนก็ไปเขียนอะไรต่อมิอะไรกันนั้น ไม่เป็นความจริงหรอก เมื่อเขาตั้งเสรีไทยขึ้นนั้น ผมก็ทำความเข้าใจกับเขาแล้วว่า ผมจะต้องทำหน้าที่ของผม ในฐานะที่ร่วมรบกับญี่ปุ่น แต่ผมจะหลิ่วตาให้ข้างหนึ่งสำหรับเสรีไทย เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตกลงไหม เมื่อเขายอมตกลงผมก็เลยขาดจากเสรีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา ผมไม่เคยเสียคำมั่นสัญญา ไม่เคยเสียสัตย์ เพราะเราต้องรักษาชื่อเสียงของชาติไทย และเกียรติของไทยผมรักษานัก เมื่อเราให้คำมั่นสัญญาแล้วเราต้องถือเด็ดขาด ผมไม่เคยหักหลัง แต่ผมต้องคอยแก้ปัญหาดังที่เล่าให้ฟัง

ขณะนั้นสงครามโลกด้านแปซิฟิคขับขันมากขึ้นแล้ว ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดญี่ปุ่นที่ไซ่ง่อน ดูจะมีความระแวงฝ่ายไทย ตามสี่แยกถนนสำคัญ ๆ ในพระนครหลายสาย มีป้อมมูลดินของญี่ปุ่นกับของไทยตั้งเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างขอให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปตรวจดูว่า ความจริงสร้างขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร

ญี่ปุ่นคงจะทราบความเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นอย่างดี นายฮาตาโนซึ่งเป็นล่ามของนายพลนากามูรานั้น ก็เป็นนักเรียนอัสสัมชัญ พูดไทยและอ่านหนังสือไทยได้อย่างคนไทยทั่ว ๆ ไป เมื่อมีเสรีไทยมาโดดร่มและถูกจับได้ ฝ่ายญี่ปุ่นก็มุ่งจะเอาตัวไปสอบสวนและปฏิบัติอย่างอื่นต่อไป แต่ฝ่ายไทยก็อ้างว่าเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฉะนั้นจึงมีสิทธิเหนืออริราชศัตรูไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ไทย หรือชาติใดก็ตาม

พันตรี ควง เล่าว่า อย่างสนามบินลับของเราก็เหมือนกัน พวกญี่ปุ่นมาประท้วงตั้งแต่เช้า เอาแผนที่ออกมากางให้ดู แล้วชี้ว่านี่สนามบินลับอยู่ทางเหนือ ความจริงท่านก็ทราบว่าเป็นสนามบินลับที่พวกเสรีไทยเขาทำขึ้น แต่ท่านบอกว่าไม่จริงกระมัง เขาก็ยืนยันว่าจริงซี เขาถ่ายรูปมาด้วย ท่านก็ว่าถ้ายังงั้นพรุ่งนี้ตั้งกรรมการผสมไปตรวจ แล้วก็ตกลงตั้งกรรมการผสมไทยญี่ปุ่นขึ้น

แล้วท่านก็วิ่งไปบอกหลวงประดิษฐ์ ฯ ว่า นี่.....อาจารย์ ต้องรีบจัดการปลูกพืชอะไรไว้นะ พรุ่งนี้กรรมการผสมจะไปตรวจ ถ้าเขาจับได้ผมไม่รู้ด้วยนะ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ส่งวิทยุสั่งการให้ปลูกต้นกัญชา ต้นอะไร รดน้ำกันใหญ่ พวกกรรมการผสมไปดูก็เห็นมีพืชปลูกอยู่จริง ๆ เรื่องก็เลิกกันไป

เหตุนี้คงจะทำให้ จอมพล เคานต์เตราอุจิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ไซ่ง่อนระแวงไทยมากขึ้น จึงสั่งให้นายพลนากามูรา ผู้บัญชาการหน่วยงิประจำประเทศไทยขอกู้เงินเพื่อสร้างที่มั่นรับสัมพันธมิตร ความจริงญี่ปุ่นได้เตรียมแนวป้องกันไว้แล้ว คือที่มั่นตั้งแต่แนวภูเขาที่หินกอง จังหวัดสระบุรี เป้นระยะ ๆ ไปจนถึงจังหวัดนครนายก

เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นเสนอขอกู้เงินมานั้น ฝ่ายไทยได้ปรึกษาหารือกัน และกำหนดว่าจะตอบปฏิเสธฝ่ายญี่ปุ่นไป เรื่องเช่นนี้ควรจะต้องเป็นเรื่องลับที่สุด แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ นายพล นากามูราได้ระแคะระคายว่าฝ่ายไทยจะตอบปฏิเสธ จึงมาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ได้ทราบข่าวว่าฝ่ายไทยจะปฏิเสธเรื่องญี่ปุ่นขอกู้เงิน ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็ขอบอกว่า ญี่ปุ่นจำจะต้องยึดครองประเทศไทย เพราะเป็นนโยบายและคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลเองไม่มีอำนาจขัดขืน ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากจะยึดครองประเทศไทยเลย

อีกครั้งหนึ่งท่านเล่าถึงเรื่องที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาเครื่องบินมาทิ้งยาให้ไทย แต่แทนที่จะให้เอาไปทิ้งตามทุ่งนาก็ไม่เอา กลับให้เอามาโยนลงที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรานี่เก่ง แต่ไม่ได้คิดถึงท่านซึ่งเป็นนายก ฯ อกแทบพัง แล้วพวกเราก็วิ่งไปรับกันเสียด้วย จะรอให้เครื่องบินไปเสียก่อนแล้วจึงค่อยวิ่งไปตะครุบก็ไม่ได้

ท่านเล่าว่า พอตอนกลางคืนญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว เพราะตามธรรมดาพอมีเรื่องอะไรเขาก็เชิญผมกินข้าวทุกที เมื่อไปพบกับเขาหน้าผมก็ไม่สบายเพราะกำลังหนักใจว่าจะทำยังไงดี พอนายพลนากามูระเห็นผมก็ทักว่า เอ..ท่านนายกทำไมถึงหน้าตาไม่เสบยอย่างนี้

ผมก็บอกว่าพุธโธ่ ปวดศรีษะจะตายไป ส่วนเอกอัครราชทูตยามาโมโต ก็กระแหนะกระแหนว่า ทำไมท่านไม่กินยาที่เขาเอามาทิ้งให้เมื่อเช้านี้ล่ะ ผมก็ไหวทันตอบไปว่า ลองกินเข้าไปซี ถ้าฉันเกิดตายไปแล้วท่านจะเอานายกที่ไหนมาแทนเล่า พวกนั้นก้หัวเราะขบขัน เลยกินข้าวด้วยกัน แล้วเรื่องก็เลิกกันไปอีก

ทางฝ่ายขบวนการเสรีไทย ก็คงมีการตระเตรียมกันหลายด้าน ด้วยความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะสนับสนุนการดำเนินการในไม่ช้านัก ฝ่ายตำรวจซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ พล.ต.อ.หลวงอดุลย์ ฯก็ได้มีการเปลี่ยนจากพกอาวุธปืนสั้นมาถืออาวุธปืนเล็กยาวทั่วไป

ญี่ปุ่นได้สังเกตเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน นายพลนากามูรา ทูตทหารบก ทูตทหารเรือ และบุคคลสำคัญฝ่ายสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น จึงขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อถามถึงเรื่องตำรวจเปลี่ยนมาถืออาวุธปืนเล็กยาว แทนที่ท่านจะอึกอักท่านกลับหัวร่อเอิ๊ก ๆ แล้วตอบว่า

“ แล้วกัน ท่านนายพล ผมจ่ายปืนพกให้ พวกตำรวจก็เอาไปขายเสียหมด แล้วก็บอกว่าปืนหาย ยินดีชดใช้ให้ตามราคาของทางราชการ ก็ปืนพกขณะนี้ราคาแพงมาก ผมจะเอามาจ่ายให้ที่ไหนไหว ปืนยาวนั้นขายยากกว่า ผมจึงสั่งให้จ่ายแต่ปืนยาว เรื่องมันเท่านั้นเอง “

เมื่อได้สนทนากันถึงเรื่องอื่นอีกเล็กน้อย ฝ่ายญี่ปุ่นก็ลากลับไป

ตามปกติแล้วนายกรัฐมนตรีควง ก็คงอยู่ที่บ้านของท่านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ แถบนั้นมีหน่วยทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน อีกหน่วยหนึ่งก็อยู่ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อเหตุการณ์คับขันมากขึ้น ผู้บัญชาการกองพล ๑ ได้ขอร้องให้ท่านย้ายบ้าน เกรงว่า เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ทหารไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางบางซื่อ จะมาให้ความคุ้มครองไม่ทัน และถ้านายกรัฐมนตรีถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับตัวไป ก็จะเป็นเรื่องลำบากมาก ท่านจึงได้ยอมย้ายไปอยู่บ้านสวนอัมพวัน ใกล้เขตทหารขึ้น

ท่านเล่าว่า เมื่อพูดกันตามความจริงท่านก็ช่วยญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หักหลังเขาเลย เช่นปัญหาเรื่องการกู้เงิน ญี่ปุ่นกู้เราเรื่อย ๆ จนเราไม่มีสตางค์จะให้ รัฐมนตรีของเราบอกเขาว่าเราให้กู้ไม่ได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ตั้งข้อสงสัยว่าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา ท่านจึงบอกรัฐมนตรีคลังให้เชิญฝ่ายญี่ปุ่นมาประชุมกับท่านที่ทำเนียบ

ครั้นถึงวันประชุมฝ่ายญี่ปุ่นก็มาพร้อมเพรียง รวมทั้งเอ็กซเปอร์ททางการคลังของเขาด้วย ฝ่ายเรานั้นท่านคิดอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเขามีความระแวงสงสัยไม่เชื่อใจเรา จะมัวโต้เถียงกันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร รังแต่จะเพิ่มความสงสัยมากขึ้น ท่านก็เอาตัวเลขการคลังของเราทั้งหมด ส่งให้ เอ็กซเปอร์ทของญี่ปุ่น แล้วบอกว่าวานท่านทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังให้ฉันทีเถอะ ถ้าท่านเห็นว่าไอ้ตัวเลขอย่างนี้ ควรให้ญี่ปุ่นยืมได้เท่าไร ฉันจะเซ็นอนุมัติให้เดี๋ยวนี้แหละ แล้วท่านก็ชักปากกาออกมาเตรียมถือไว้

ท่านทำใจดีสู้เสือแท้ ๆ ทีเดียว พวกญี่ปุ่นปรึกษากันบ๊งเบ๊งอยู่พักหนึ่งก็ลุกขึ้นโค้ง บอกว่าให้ยืมไม่ได้หรอก เราก็เลิกประชุมกันเท่านั้นเอง

นี่แหละเมืองไทย เรารอดมาได้ ไม่ใช่ความสำคัญของผมเลย เพราะสยามเทวาธิราชแท้ ๆ เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เรามีใจเป็นธรรมก็ย่อมชนะ ผมอาจจะต้องลำบากในตอนต้น แต่ตอนปลายผลสุดท้ายก็ต้องชนะ

และนี่คือการทำงานระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน ของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ เท่านั้น.

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 11:12

เรื่องเล่าจากอดีต : นายกรัฐมนตรีหลังสงคราม
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=16-04-2010&group=29&gblog=20

ใน พ.ศ.๒๔๘๘ ตอนปลายสงคราม ค่ำวันหนึ่งได้มีการเลี้ยงแบบกันเองระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจัดสองอาทิตย์ต่อครั้งตามปกติ วันนั้นมีการรับประทานอาหารที่บ้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่ถนนเพชรบุรี คืนนั้นนายกรัฐมนตรีควงได้แสดงสุนทรพจน์เป็นภาษาญี่ปุ่น คืออ่านจากตัวหนังสือไทย ที่เขียนออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วได้มีการล้อเลียนสัพยอกถึงเรื่องลูกระเบิดแบบใหม่ ที่สหรัฐทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา ว่ามีฤทธิ์เดชมากสองวันแล้วยังมีฝุ่นคลุ้งอยู่

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ออกมารับประทานกาแฟ บรั่นดี และคุยกันที่ห้องกลาง ขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ๒-๓ นายรีบร้อนมาพบเอกอัครราชทูต และนายพลนากามูรา ซุบซิบอะไรกันอยู่ แล้วนายพลนากามูราก็รีบลากลับไปก่อนทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานกาแฟไม่เสร็จ

ทางฝ่ายไทยก็ได้ข่าวจากขบวนการเสรีไทยว่าญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญนายพลนากามูรากับพวกผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นมาถามเพื่อยืนยัน แต่นายพลนากามูราตอบปฏิเสธ

เรื่องนี้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าว่า หลวงประดิษฐ์ ฯ ฟังวิทยุแล้วก็เรียกผมไปหา บอกว่าควง...ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย แล้วทูตญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว ผมแกล้งพูดสัพยอกทูตว่า ท่านทูตนา ผมนี่ตั้งต้นจับคนมามากแล้ว จับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส แล้วก้จับพวกเยอรมัน อิตาลี ต่อไปผมเห็นจะต้องจับท่านเสียแล้ว เขาก็หัวเราะ ผมถามว่าจะยอมแพ้ใช่ไหม เขาตอบว่า โอ...ไม่ยอมหรอก ผมก็ว่าเอาเถอะถ้าท่านจะยอมแพ้ก็ขอความกรุณา อย่าเอาผมและเมืองไทยไปเกี่ยวข้องด้วย ท่านยอมไปคนเดียวก็แล้วกัน เขาก็บอกตกลง

ต่อมาไม่ถึงสองวัน นายทหารญี่ปุ่นก็แต่งตัวเต็มยศสวมถุงมือ มาเยี่ยมคำนับผม แล้วยื่นหนังสือให้บอกว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้แล้ว เราจะให้เขาช่วยอะไรบ้าง ผมก็ตอบว่าขอความกรุณาอย่าช่วยฉันเลย ปล่อยให้ฉันทำของฉันเองเถิด โปรดบอกแก่รัฐบาลของท่านตามนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นเขาก็ดี เขาบอกว่าท่านจะหาวิธีอย่างไร ญี่ปุ่นไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขอให้เมืองไทยรอดเถอะ ผมก็ตอบขอบใจเขา

ทีนี้ผมจะหาทางออกอย่างไรเล่า ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง ๑๕ วัน จอมพล ป.ก็ประกาศสงครามกับเขาเสียด้วย ใคร ๆ ก็ยอมแพ้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่เมืองไทยเท่านั้นที่ยังไม่ยอม ตกลงว่าผมนี่ดูเก่งกาจนัก รบคนเดียวอยู่ได้ตั้ง ๑๕ วัน

ผมให้หลวงประดิษฐ์ ฯ ช่วยร่างประกาศให้ผม แล้วผมก็ไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาพอแว่วข่าวว่าเราจะประกาศว่า การทำสงครามของเราเป็นโมฆะก็เอะอะสงสัยกันใหญ่ ผมบอกว่านี่นิ่ง ๆ นะคุณ ประเดี๋ยวผมจะประกาศเอง แล้วผมก็เดินไปกระซิบกับบรรดาสมาชิกสภาว่า คราวนี้ถ้าพวกคุณไม่ยกมือให้พร้อมเพรียงกันละก็ตายนะคุณ ผมไม่รู้ด้วยนา ในที่สุดพวกนั้นก็ตกลง

พอผมประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะ สภาก็ลงมติเห็นชอบแหมยกมือกันพรึ่บหมด แล้วพวกนั้นก็สบายใจนึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ใช่หมดนะ เราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่ายังไง ต่อมาอีกประมาณสามวัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วย ไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว ภายหลังหลอร์ดหลุยเมาท์แบทเตนโทรเลขมาถึงผม ให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด

ผมก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าให้ทหารไทยไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ก็จะเกิดเบ่งกันขึ้น แล้วก้อาจเกิดเรื่องใหญ่ ผมจึงเชิญนายพลนากามูรามาบอกว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเขาสั่งมาอย่างนี้จะให้ฉันทำยังไง เพราะเราเป็นเพื่อนกัน นายพลนากามูราบอกว่าท่านไม่ต้องวิตกหรอก ฉันจะปลดอาวุธตัวเอง ท่านส่งทหารไปรับมอบอาวุธตามจำนวนก็แล้วกัน เรื่องก้เป็นอันเรียบร้อย

บัดนี้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และผมจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทางอังกฤษและอเมริกาบอกมาว่าไม่ต้องลาออกก้ได้ หลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ไม่ยอมให้ผมออก แต่ผมชี้แจงว่าไม่ได้หรอก ผมเป็นรัฐบาลชุดร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วผมจะต้องไปด้วย จะอยู่ได้ยังไง เมื่อผมลาออกนั้น สมาชิกสภาทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามก็มาขอบใจผม ที่พาประเทศไทยรอดมาได้

ความจริงเขาไม่ควรจะขอบใจผม เขาควรจะขอบคุณพระสยามเทวาธิราชมากกว่า

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว รัฐบาลของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้ลาออกตามมารยาท หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาของชาติมาเป็นเวลาประมาณ ๑๓ เดือน เมื่อท่านแถลงยื่นใบลาในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการปรบมือจากสมาชิกทั้งสภา เป็นเกียรติยศอย่างสูง

นายทวี บุณยเกตุ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพียงไม่กี่วัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้มีบทบาทในเรื่องเสรีไทยสายอเมริกามาตั้งแต่ต้น ก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้เป็นคนไทยคนแรกที่ประกาศจากกรุงวอชิงตันว่า จะไม่ยอมฟังคำสั่งของรัฐบาลที่มีหอกปลายปืนจี้หลังอยู่ ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังชนะสงครามทุกด้านในแปซิฟิค จึงนับว่าท่านเป็นผู้กล้าหาญอย่างยิ่ง และวิเคราะห์สถานะการณ์ในอนาคตได้อย่างถูกต้องที่สุด

ภายหลังจากที่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๓ ครั้ง ท่านได้เล่าไว้ว่า

การเมืองภายหลังสงครามก็มีเรื่องยุ่งเหยิงอยู่เรื่อย ๆ แต่ผมก็รอดมาทุกทีเพราะไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร ใครจะคิดอ่านกันอย่างไรก็ช่างเขา ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ขอเล่าย่อ ๆ ว่าเมื่อตอนที่เกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง ครั้นเขามาเชิญผมเป็นนายก ก็ใช่ว่าผมจะไม่รู้ว่าเขาจะเอาผมไปเป็นนั่งร้านให้เขา แต่ผมก็จำเป็นต้องรับ

ก่อนจะรับเราได้ก็ได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่บ้านผมตั้งตีสองตีสาม มีหลายคนเห็นว่าไม่ควรรับ ผมก็ชี้แจงให้ฟังว่าถ้าเราไม่รับก็จะเกิดเรื่องใหญ่ เพราะฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ และฝ่ายหลวงพิบูล ฯ ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากด้วยกัน ถึงเขาจะเคยเป็นเพื่อนกัน แต่เมื่อเกิดเรื่องระหว่างลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ เราก็จะพลอยลำบากไปด้วย เอาเถอะเราจะช่วยเข้าไปขวางกลางให้ก็แล้วกัน ตกลงพวกผู้ใหญ่ ๆ ก็เห็นด้วย กับผม เพราะฉะนั้นจึงว่าที่ผมรับเป็นนายกครั้งนั้น ไม่ใช่จะรับโดยไม่รู้ตัว ว่าเขาจะยืมมือเราเป็นการชั่วคราว ครั้นเขามาจี้ให้ผมออก ผมก็ถามว่าพวกคุณทำได้หรือ เมื่อเขาบอกว่าทำได้ก็ให้เขาทำกันไป

ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งเกิดการรัฐประหารโดยมี พลโท ผิน ชุณหวัณ เป็นหัวหน้า เมื่อเชิญท่าน ควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงระยะสั้น ๆ แล้วก็มีคณะรัฐประหาร มาเชิญให้ลาออก เพื่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ท่านก็ยอมลาออกแต่โดยดี ท่านสรุปสุดท้ายไว้ในการปาฐกถา เรื่องชีวิตของข้าพเจ้า ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อ ๒๓ พศจิกายน ๒๕๐๖ ว่า

ในชีวิตของผมถือว่า ผมมาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน พระสงฆ์ท่านอุตส่าห์เล่าเรียนศีลธรรมก็เพื่อไปสู่นิพพาน แต่นักการเมืองนี่ก็มุ่งหมายจะมีอนุสาวรีย์ตามถนน เรื่องร่ำรวยหรือยากจนเพียงไหนไม่สำคัญอะไรเลย ผมได้เล่ากำพืดของผมให้ฟังแล้ว เรื่องความร่ำรวยนั้นผมก็เคยมาแล้ว และการที่มีคนมากราบไหว้ก็ผ่านมามาก เหมือนคนที่เคยกินเหล้าตั้งขวดมาแล้วยังไม่เมา ถ้ากินเพียงครึ่งขวดมันจะเมาที่ไหน คนที่มันเมานั้นก็เพราะไม่เคยกินต่างหาก กินเข้าไปหน่อยเดียวเลยเมา

ท่านอาจจะเห็นว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว หรือเป็นอะไร ๆ แล้วนี่น่ะ บางคนจมไม่ลง แต่ผมจมลง เป็นนายกแล้วก็จมลง ผมเดินเปะปะไปที่ไหนต่อที่ไหนก็ได้ กินข้าวที่ไหนก็ได้ รถเมล์รถรางหรือรถอะไรก็ขึ้นได้ เพราะการได้ตำแหน่งมันเป็นเรื่องสวมหัวโขนเท่านั้น

ส่วนเกียรติของผมยังอยู่ แม้ว่าผมจะเดินเตะฝุ่นกลางถนนก็ตาม เพราะผมไม่ได้ไปเอาอะไรจากใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ผมกลัวเสียชื่อวงศ์ตระกูลของผม ผมจึงทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และทำตามอุดมคติของผม

ผมขอเรียนตามตรงว่า เวลานี้ผมสบายจะหันหน้าไปหาประชาชน เขาก็ต้อนรับดี เราจะมีเงินสักกี่แสนกี่ล้านก็ซื้อจิตใจประชาชนไม่ได้ และเงินน่ะเรากินได้ไหม เพชรพลอยก็กินไม่ได้ จะกินได้ก็แต่เพียงอาหารมื้อละอิ่มเดียว บางคนยังกินอาหารไม่ได้ด้วยซ้ำ ได้แต่ผะงาบ ๆ อยู่

การที่ผมต้องเข้ามาพัวพันกับการเมือง ไม่ใช่ผมอยากเป็นนักการเมือง แต่เหตุการณ์มันดึงให้ผมเข้าไปเอง อย่างที่เล่ามาให้ฟังนี่แหละ ดึงกันไปดึงกันมา ผมเลยจมเข้าไปในการเมืองจนถอนตัวไม่ออก ครั้นจะถอนตัวก็จะถูกหาว่าหนี แต่ครั้นจะอยู่ก็ผะอืดผะอมเต็มประดา

บรรดาเพื่อน ๆ ของผมทุกคน หลวงพิบูล ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ดี ถึงแม้จะมีเรื่องขัดแย้งกันในทางการงาน ผมก็ไม่ได้คิดโกรธเคืองอะไรกับใคร ผมทำหน้าที่ของผมเท่านั้น เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็แล้วกันไป ความเป็นเพื่อนกับหน้าที่ต้องแบ่งแยกกัน สิ่งใดที่ผมไม่เห็นด้วยผมก็บอกไปตามความเห็น ถ้าไม่เชื่อกันก็ไม่ใช่ความผิดของผม แต่ในทางส่วนตัวผมก็ยังถือว่าเราคงเป็นเพื่อนกันอยู่เสมอไป

ชีวิตของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงาม ในประวัติศาสตร์ชาติไทยคนหนึ่ง ได้มาถึงจุดสิ้นสุดลงเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๖.๓๐ น. สิริรวมอายุได้ ๖๕ ปี กับ ๑๐ เดือน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 12:34

ยังไม่มีใครออกความเห็นเรื่องข้อเขียนของคุณสุลักษณ์    ขอออกความเห็นไปก่อนพลางๆ
อ่านจากข้อเขียน ดิฉันเดาว่าน่าจะมาจากคำบอกเล่ามาจากใครสักคนหรือหลายคน   ที่คิดอย่างนี้เพราะเวลาเอ่ยถึงพลต.อ.อดุล อย่างข้อความข้างล่างนี้   ไม่มีที่มาที่ไป และรายละเอียด   มีแต่กล่าวขึ้นมาเฉยๆว่าหักหลัง  หักหลังเรื่องอะไร อย่างไร จริงหรือไม่  ก็ไม่เห็นชี้แจงแสดงเหตุผลไว้   จึงเดาว่าคงเป็นคำบอกเล่าจากผู้ที่คุณสุลักษณ์เชื่อถือ   ไม่ใช่การจากค้นคว้าหาหลักฐาน ซึ่งย่อมจะมีที่มาที่ไป ก่อนจะสรุปด้วยคำนี้ 

รัฐบาลควงขึ้นสู่อำนาจในปลายปี ๒๔๙๐ ด้วยความฉ้อฉลเท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจอมพลป.ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลควง ก็ใช้กำลังทหารบีบเอาอย่างเลวร้ายพอๆกัน เพราะฉะนั้นอาจารย์ปรีดีจึงกรีฑาทัพมาบีบให้รัฐบาลจอมพลป.ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศตั้งคุณดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๔๙๒ หากอาจารย์ปรีดีต้องพ่ายแพ้ไปเพราะถูกหลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ หักหลัง ดังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ท่านก็ถูกหลวงอดุลเดชจรัสร่วมกับหลวงสังวรยุทธกิจหักหลังนั้นแล โดยที่หลวงสังวรนั้นยังมาหักหลังอาจารย์ปรีดีอีกในปี ๒๔๙๒
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 13:09

อ่านมาตั้งแต่กระทู้เก่าจนกระทู้ใหม่   มองเห็น ๒-๓ อย่าง ซึ่งขอเรียบเรียงเป็นข้อๆเพื่อให้อ่านง่าย

๑  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475    ไทยมีระบอบรัฐสภา (ใช้คำนี้เพื่อไม่ให้สับสนกับคำว่าประชาธิปไตย)  แต่จริงๆแล้วอำนาจในการบริหารผลัดเปลี่ยนกันอยู่ในกลุ่มไม่กี่กลุ่ม    รัฐสภาเป็นส่วนประกอบทางรูปธรรม
๒    กลุ่มที่เรียกว่า "อำนาจเก่า" หมดอำนาจไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง  แม้แต่กบฎบวรเดชก็ไม่ใช่ว่าอำนาจเก่ายังคงอยู่ เพราะทหารส่วนใหญ่ของฝ่ายกบฎผละไปเมื่อทราบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชทรงบัญชาการ     ในช่วง 2475-2476  เป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มทหารกับทหาร   ทหารที่มีชัยคือทหารของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๓    จาก พ.ศ. 2476-2482  เป็นการเปลี่ยนอำนาจในกลุ่มทหารผู้ก่อการฯ  คลื่นลูกใหม่คือหลวงพิบูลสงคราม ไล่คลื่นลูกเก่าคือสี่ทหารเสือออกไปจากการเมือง    และเพื่อให้สิ้นเสี้ยนหนามจริงๆก็กวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็น"อำนาจเก่า" ไปด้วย  ทั้งๆกลุ่มนี้ไม่มีอำนาจอะไรแล้ว
๔     จาก พ.ศ. 2482-2487  อำนาจอยู่ในกลุ่มทหารกลุ่มเดียว นำโดยจอมพลป. พิบูลสงคราม   อำนาจที่เหลือรอดมาจากกลุ่มผู้ก่อการ คืออำนาจของพลเรือน นายปรีดี พนมยงค์ ที่พยายามคานอำนาจทหารจอมพล ป. แต่ไม่สำเร็จ
๕    พ.ศ. 2487-2490   การตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นของจอมพล ป. ปรากฎผลเสียแก่ประเทศเพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้อำนาจทหารลดลง  อำนาจของพลเรือนเพิ่มมากขึ้น เพราะเสรีไทยเป็นตัวหนุน     บทบาทของพลเรือนหลายคนจึงโดดเด่นขึ้นมา จนได้บริหารประเทศ ในช่วงสั้นๆ  แต่พลเรือนก็มีปัญหาระหว่างกันเอง ทำให้การบริหารไม่ราบรื่น
๖   พ.ศ. 2492  เกิดการหักโค่นกันระหว่างทหารกับพลเรือน เรียกว่ากบฎวังหลวง     พลเรือนคือนายปรีดี พนมยงค์ มีผู้นำพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม (พรรคสหชีพ)หนุนหลัง พร้อมกับกองทัพเรือ    แต่ฝ่ายทหารคือกองทัพบก ที่ยังอยู่ฝ่ายจอมพล ป.  แข็งแกร่งกว่า จึงเป็นฝ่ายมีชัยชนะ
๗    จากนั้น อำนาจทหารบกก็ยืนยาวมาจนถึงพ.ศ. 2514  แม้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำจากจอมพลป. เป็นจอมพลสฤษดิ์  เมื่อรัฐประหารพ.ศ. 2500  อำนาจก็ยังคงเดิม    เรื่อยมาจนจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2506   อำนาจทหารก็ยังดำรงอยู่ในสมัยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ผู้สืบทอดการบริหารประเทศ   จนมาจบลงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จากขบวนการนิสิตนักศึกษา ซึ่งหันไปยึดแนวสังคมนิยมเป็นหลัก

ระบอบรัฐสภามีๆขาดๆมาตลอดตั้งแต่พ.ศ. 2475   บางช่วงเมื่อเจออำนาจเด็ดขาดเข้าก็หายไปชั่วขณะ  แต่ก็กลับมาอีก  พร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลายครั้งด้วยกัน
จนทุกวันนี้  เราก็ยังเถียงกันอยู่ไม่จบเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ก็คงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน
บันทึกการเข้า
yanang
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 13:20

ยังเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอนะคะอาจารย์ ยิ่งเรียนยิ่งสนุก สังเกตุว่า
ความจริงเหตุการณ์ทางการเมืองปัจจุบันนี้  ถ้าได้ศึกษาเรียนรู้ จากอดีตแล้ว คล้ายดูหนังเรื่องเดิม ๆ แต่เปลี่ยนตัวแสดง กับองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสภาวะเวลาและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเองนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 13:42

ดิฉันก็รู้สึกเหมือนคุณย่านางละค่ะ    บางทีถ้าเรารู้อดีต รู้ที่ไปที่มาของประวัติศาสตร์การเมือง เราอาจจะทำนายอนาคตได้ไม่ยากนัก   หรืออย่างน้อยเมื่อเกิดอะไรขึ้นก็จะเข้าใจว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้    เพราะมีตัวอย่างให้เห็นคล้ายคลึงกันมาแล้ว ในอดีต

ยิ่งอ่านเกี่ยวกับการเมือง ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่ทำความเข้าใจด้วยตรรกวิทยาไม่ได้  แต่ถ้าบอกว่าเอาดวง หรือโชค หรือเฮง มาจับ น่าจะได้คำตอบง่ายขึ้น
จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ฉายาว่า "นายกกระดูกเหล็ก" มีหลายครั้งที่ท่านทำท่าเหมือนจะชะตาขาด  เหมือนจะสิ้นอำนาจ  เหมือนจะไปไม่รอด  ถ้าเป็นคนอื่นเจอเข้าแบบนี้แม้แต่หนึ่งในสิบ  ก็ไม่รอดกันทั้งนั้น
แต่ท่านรอด อย่างเหลือเชื่อ    แม้บั้นปลายชีวิต ก็จบลงอย่างสงบด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามอายุสังขาร

และที่เหมือนกันอีกอย่าง   คือผู้นำหลายท่านที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่พ.ศ. 2475  แม้ต่างกรรมต่างวาระ  ล้วนไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ต่างประเทศ  บางท่านก็ยาวนานจนถึงแก่กรรมในต่างประเทศนั้นเอง
-พระยาทรงสุรเดช
-นายปรีดี พนมยงค์
-จอมพล ป.พิบูลสงคราม
แต่บางท่านก็ใช้ชีวิตต่างแดนชั่วระยะหนึ่ง แล้วได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนจนถึงแก่กรรม
- พระยาพหลฯ
- พระยาฤทธิ์อัคเนย์
- พระประศาสตร์พิทยายุทธ
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:11

ตามไล่อ่านจนจบบทเรียน คำว่า ในวงการเมือง ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร คงใช้ได้อยู่เสมอเลยนะคะ
ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน.....

แต่ยังเข้าห้องเรียนที่อาจารย์ยังคงกรุณาเข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติมอีกนะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:21

อ้างถึง
ไม่อยากสอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ หรือสอนจระเข้ให้อ่านหนังสือ เลยละค่ะ  แต่หลักการเขียน เขาสอนไว้ว่าเมื่อถึงไคลแมกซ์แล้ว  อย่าเพิ่งปุบปับจบ  ต้องแลนดิ้งต่อไปอีกหน่อย 
ร่อนลงรันเวย์จนถึงจอดสนิท ผู้โดยสารทยอยกันลงบันไดเครื่อง  กัปตันก้าวลงมาสู่สายตาคนดู โปรยยิ้มให้  แล้วค่อยจบ  คนดูได้ไม่ค้างคาใจ
กระทู้นี้ยังต่อได้อีกพักใหญ่ค่ะ

เอาครับเอา แลนดิ้งก็แลนดิ้งครับ ไม่ให้เวลาจรเข้ไปฉันเพลบ้างเลยหรืออย่างไร

ตอนที่ศาลอาชญากรสงครามเกิดล็อกถล่ม จอมพล ป.หลุดคดีออกมาได้เพราะศาลฎีกาตัดสินให้พระราชบัญญัติอาชญากรไม่มีผลบังคับย้อนหลัง ก็ยอมแพ้ชั่วคราว ออกไปพักยกหลังเวทีที่บ้านลำลูกกา หลบหน้าหลบตาผู้คน

ส่วนการเมืองนั้น ต่อมาเมื่อม.ร.ว.เสนีย์แพ้ทางส.ส.ฝ่ายนายปรีดี  ต้องประกาศยุบสภาให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ม.ร.ว.เสนีย์ก็ร่วมกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์น้องชาย และนายควง จัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ฝ่ายผู้ใกล้ชิดนายปรีดีซึ่งลาออกจากผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ได้ตั้งพรรคสหชีพ ต่อสู้กันทางการเมืองอย่างเปิดเผย ทั้งในและนอกเวทีต่อไป

การเมืองไทยเป็นเกมแห่งการชิงอำนาจอย่างโสมม ผู้ได้อำนาจก็จะถูกผู้ชิงอำนาจใช้ทุกวิถีทางที่จะโค่นล้ม โดยไม่เลือกกาละเทศะใดๆ ภายในระยะเวลา1ปี10เดือน รัฐบาลประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีที่เรียกว่าประชาธิปไตยนี้แหละถึง 8ครั้ง ใช้นายกรัฐมนตรีไป 5 คน

นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 31 สิงหาคม  2488 อยู่ในตำแหน่ง18วัน ก็ลาออกเพื่อความเหมาะสม

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 17 กันยายน 2488 อยู่ในตำแหน่ง4เดือน14วัน ก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเกิดความขัดแย้งกับนายปรีดีที่กุมเสียงส.ส.ไว้จำนวนมาก เรื่องก็สืบเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทยที่ยังไม่อยากจะจบบทบาท แถมขยายไปหนุนลาวและญวนกู้ชาติ โดยขบวนการที่ว่าทั้งสองฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ อีกเรื่องหนึ่งคืออำนาจในการต่อรองกับอังกฤษ ตรงนี้อาจเป็นแนวถนัดที่อังกฤษต้องการแบ่งแยกบุคคลทั้งสองเพื่อต่อรองผลประโยชน์ที่จะเรียกเอา โดยไม่ยอมรับรองรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ อ้างว่ายังไม่ได้ตกลงยกเลิกสถานะสงครามที่ทั้งสองประเทศประกาศต่อกันอยู่ จนกว่าจะยอมรับเงื่อนไขที่อังกฤษกำหนด และเลือกที่จะติดต่อไทยผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์อันมีนายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น เรื่องนี้บานปลายจนทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศัตรูทางการเมืองกันไปเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:26

นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่2 หลังการเลือกตั้ง  ดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มกราคม 2489 ด้วยการชนะการลงคะแนนเสียงในสภาแข่งกับนายดิเรก ชัยนาม แต่รัฐบาลมีเสียงใหญ่ไม่จริง อยู่ได้เพียง1เดือนกับอีกประมาณ20วันก็วอร์คเอ้าท์จากสภาขอลาออก เพราะแพ้การลงมติรับรองพระราชบัญญัติชื่อยาวเหยียดว่า พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนในภาวะคับขัน ซึ่งส.ส.อิสานพรรคฝ่ายค้านเสนอเข้าสภาแล้วโหวตชนะ นายควงบอกว่าไม่มีความสามารถจะปฏิบัติตามได้


นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการเสนอชื่อจากสภาให้ดำรงตำแหน่งแทนเมื่อวันที่24 มีนาคม 2489 อยู่ในตำแหน่งเพียง1เดือนกับอีก 14 วัน ก็ลาออกเพราะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกร่างเพิ่งผ่านการรับรอง ต้องเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ นายปรีดีได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นสมัยที่2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2489 ซึ่งในสมัยนี้ พระราชบัญญัติชื่อยาวเหยียดที่กล่าวมาแล้วได้ถูกตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาแปรญัตติ แล้วเสนอเข้าสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ประกาศใช้ เมื่อถึงวาระพิจารณา สภาได้ลงมติให้ยกเรื่องอื่นมาปรึกษาก่อน แล้วทำเป็นยาว ปล่อยให้พ.ร.บ.ฉบับนี้แท้งค์ไปเฉยๆ เป็นอันที่เข้าใจได้ว่าการที่สภาให้การรับรองพ.ร.บ.ในครั้งแรกก็เพื่อจะล้มรัฐบาลนายควงนั่นเอง

รัฐบาลนี้มียังไม่ได้แสดงฝีมือในการแก้ไขปัญหาการครองชีพและเงินเฟ้ออย่างเป็นรูปธรรม แต่มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศในการสนับสนุนขบวนการลาวอิสระให้ต่อสู้กับผรั่งเศส ทั้งการให้ที่หลบภัยและฝึกอาวุธ โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ที่คุณเพ็ญชมพูเอาเรื่องมาลงไว้แล้วเป็นผู้ประสานนโยบาย ซึ่งนายเตียงได้มอบให้นายครอง จินดาวงศ์เป็นผู้ฝึกอาวุธให้ ท่านหลังนี้สิบกว่าปีให้หลังได้ถูกจอมพลสฤษดิ์กล่าวหาว่าเป็นกบฏผีบุญแบ่งแยกดินแดน และจับยิงเป้าในที่ชุมชน เป็นจุดลุกลามไปสู่วันเสียงปืนแตกในอิสานต่อมา

ในญวนนั้น ผมได้เกริ่นไปแล้วว่ามีการมอบอาวุธให้โฮจิมินท์ บิดาแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ลาวไปจัดตั้งกองพันทหารต่อสู้ในสงครามปลดปล่อยกับฝรั่งเศส ที่ในที่สุดแตกพ่ายยับเยินต้องหนีตายออกจากอินโดจีน และดึงอเมริกามารับหน้าเสื่อในการต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ทั้งสายจีนสายรัสเซียในภูมิภาคแถบนี้แทน เป็นเรื่องอีกยาวหลายทศวรรษ

เพียงเวลาแค่2วันหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีป็นครั้งที่2 นายปรีดีก็ต้องประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน  2489 สภาได้ทำการเลือกนายกคนใหม่ในวันที่ 11 มิถุนายน  2489ซึ่งนายปรีดีได้รับเลือกให้กลับเข้าดำรงตำแหน่ง ถือเป็นสมัยที่3

การเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดีเป็นทุกขลาภโดยแท้ ผ่านไป2เดือนกับ 12 วันยังไม่มีโอกาสทำงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเสด็จสวรรคตเป็นเรื่องใหญ่ที่ฝ่ายค้านจะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่กัดแทะไม่ได้ วิสัยนักการเมืองไทยต้องคอยจ้องหาทุกโอกาสที่จะโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม ผมไม่อยากจะเอ่ยชื่อพรรคอะไรในตอนนี้ เดี๋ยวจะหาว่าผมชักใยจัญไรมาโยงกับการเมืองในปัจจุบัน แต่ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วหละว่ามีคนไปตะโกนประโยคอุบาทว์ในโรงหนังว่าอย่างไร

ในที่สุดนายปรีดีทนกระแสต้านที่ระดมพุ่งเป้ามายังตนไม่ได้ก็ประกาศลาออก

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:35

พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พรรคเดียวกับนายปรีดีได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้ฉายาว่านายกลิ้นทอง เพราะเจรจาโต้วาทีเก่ง คนได้ฟังก็เคลิบเคลิ้ม มีเวลาบริหารราชการแผ่นดินยาวนานกว่าเพื่อนอยู่ปีกว่า แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างถูกจุด พรรคประชาธิปัตย์แกนนำฝ่ายค้านในสภาก็หาเรื่องขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และขอให้ถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงด้วย พอรัฐบาลไม่ขัดข้อง การพูดมาราธอน7วัน7คืนก็บังเกิดขึ้น ชาวบ้านฟังกันหูบวมตาแฉะเพราะอดหลับอดนอน พอจบนายกลิ้นทองก็กล่อมสภาอยู่หมัด รัฐบาลชนะโหวตได้อยู่ในตำแหน่งต่อ ชาวบ้านก็ยากจนเหมือนเดิม

ตรงนี้แหละครับที่เข้าล็อคของเหตุผลคลาสสิกที่ทหารใช้เป็นข้ออ้างตลอดว่า ผู้แทนราษฎรเอาแต่ทะเลาะกํน ไม่อาจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและชาติบ้านเมืองได้ จึงจำเป็นต้องกระทำการปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายมิให้ตกต่ำลง พลโทผิน ชุณหวันได้นำคณะทหารพร้อมกำลังอาวุธ เข้าควบคุมสถานที่สำคัญทุกจุดในคืนวันที่8 พฤศจิกายน 2490

นายกกำลังอยู่ในงานราตรีสโมสรที่จัดขึ้นที่ศาลาข้างสระน้ำ สวนอัมพร มีคนมากระซิบว่าทหารเคลื่อนกำลังมาแล้ว และกำลังมุ่งมาจับท่าน จึงขอตัวเข้าห้องน้ำแล้วชะแวปตัวไปขึ้นรถยนต์หายไปกับความมืด คืนนั้นบรรดาไฮโซข้างฟรอร์ต้องแตกตื่น ตอนแรกคิดว่าเป็นรายการแสดงพิเศษเมื่อร้อยโทชาติชาย ชุณหวันขี่ม้าขึ้นไปบนเวทีลีลาศ แล้วประกาศให้ทุกคนกลับบ้าน งานเลิกแล้ว เพราะทหารกำลังปฏิวัติกัน น้าชาติซะอย่าง ซ่าส์มาตั้งแต่หนุ่มๆแล้ว

และคราวตัวเอง ก็โดนจี้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ขึ้นเครื่องบินเพื่อลี้ภัย และไปตายที่เมืองนอกเหมือนกัน ...อมิตตพุทธ

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:52

อ่านถึงบทโศกตอนชายชาติทหารอย่าง พณฯ จอมพล ป. ถูกขืนใจให้เซ็นประหารคนไม่มีความผิดในข้อหากบถแล้วน้ำตาแทบไหล

อยากถามต่อไปว่าแล้วตอนกลุ่ม สส. พรรคสหชีพ สี่เสืออีสานโดนฆ่า หลวงอดุลฯ ก็ตายไปแล้ว ไม่ทราบว่าใครผู้ใดบังอาจบังคับขืนใจท่านอีก

อ้อ... ลืมไป นั่นฝีมือ ขจก.หลงถิ่น ผมเลอะเลือนไปเอง ขออภัยด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 20 คำสั่ง