เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 139164 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 08:16

กิจการระหว่างประเทศก็มีงานจารกรรมทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งทุกยุคสมัยการปกครองของไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาก็ใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้แหละ


หูผึ่งขึ้นมาทันที    หากว่าจะตั้งเป็นกระทู้ใหม่ในอนาคตก็จะยินดีมากค่ะ

******************
ที่เขาว่าในการเมืองไม่มีมิตรและศัตรูถาวร  น่าจะเป็นความจริง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 13:37

ท่านอาจารย์ใหญ่จ้ำเรือจ้างออกปากอ่าวชวนผมไปข้ามทะเลย้อนยุคไปหาข่าวที่เกาะญี่ปุ่นช่วงสงครามโน้นแล้ว จะไหวหรื้อ..อะไรที่เป็นราชการลับ มันก็เป็นความลับ ถ้าเจ้าตัวที่เกี่ยวข้องไม่เขียนไว้ ก็คงไม่มีหลักฐานให้ค้น บังเอิญญี่ปุ่นลากไทยไปเป็นฝ่ายแพ้ ใครจะอยากจะเขียนวีรเวรของตนให้ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ ไม่ใช่ฝ่ายผู้ชนะอย่างเสรีไทยนี่ครับ นั่นน่ะเขียนรวมเล่มหนาตั้งคืบ อ่านกันตาเปียกตาแฉะ

แต่เมื่อท่านว่าอย่างนั้น ผมก็จะแบบว่ารีบไปรีบกลับก็แล้วกัน

ไทยและญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ไทยและญี่ปุ่นได้พัฒนาความสัมพันธ์แน่นแฟ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯครั้งทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาที่อังกฤษแล้ว ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยทางเรือผ่านสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยประทับที่ญี่ปุ่นเป็นเวลาเดือนเศษ ทรงเยี่ยมชมการศึกษาของสตรีที่ทรงประทับใจมาก เมื่อเสด็จกลับมาแล้วได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถถึงเรื่องนี้ จึงนับว่านั่นเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนราชินีในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อเริ่มต้นนั้น ก็ได้ใช้บุคลากรจากญี่ปุ่น
นอกจากนี้ เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น โดยให้โรงพยาบาลนี้เป็นของสภากาชาดสยาม
รัชสมัยต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย

ภายหลังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ชาวญี่ปุ่นได้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในประเทศสยาม นำโดยบริษัทมิตซุยได้เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในกรุงเทพตั้งแต่ปี 2449 โดยได้เปิดสำนักงานตัวแทนทางการค้า(TRADING COMPANY) ขึ้นใกล้ๆกับโรงแรมโอเรียนเต็ล ตอนนั้นงานหลักก็คือส่งออกไม้สักจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาเมื่อเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อปี 2469 โดยสายการเดินเรือ Osaka Shusen แล้ว การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมาก บริษัทญี่ปุ่นได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง มิตซุยได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิด นำเข้ามาขายในประเทศไทย และซื้อกลับข้าวไทยส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นรายใหญ่อีกด้วย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มิตซุยได้โควต้าเพิ่มขึ้นจนจัดเป็นหนึ่งในห้าของผู้ส่งออกข้าวไทย ตรงนี้แหละที่อาจารย์ประวัติศาสตร์พยายามจะขุดคุ้ยกองเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาแถลงว่าเป็นโยงใยในสายงานลับของจอมพล ป.

ก็แล้วค้าข้าวมันไปเกี่ยวอะไร เพื่อไม่ให้คุณย่านางต้องชูมือถามอีก มันเกี่ยวเพราะว่านายวณิชเป็นกรรมการคนสำคัญของสมาคมข้าว มิตซุยซื้อข้าวแต่ขายไม้จิ้มฟันยันเรือรบ จอมพล ป.มิได้สนใจไม้จิ้มฟันเมดอินแจแปน แต่สนเรือรบ

คุยไปคุยมา มิตซุยเสนอราคาเรือดำน้ำให้ถูกมาก ถูกกว่าเยอรมันกับอิตาลีเกือบเท่าตัว แต่ก่อนแต่ไรไทยเป็นลูกค้าอาวุธสงครามจากยุโรป ตอนจะเกิดสงครามประเทศในยุโรปไม่มีใครอยากขายอาวุธให้ไทยนอกจากอิตาลี่ ได้ต่อเรือตอร์ปิโดขายให้ชุดหนึ่ง ส่วนเครื่องบินขับไล่ซื้อจากอเมริกาฝูงใหญ่ พอจอมพล ป.ถามราคาจะซื้อเครื่องบินทิ้งระเบิดอีกสักฝูงนึง อเมริกาก็บอกว่าไอ้หนูเอ๋ย ไอ้นั่นน่ะไม่ใช่ของเล่น เอ็งจะป้องกันตัวน่ะ เครื่องบินขับไล่ก็พอแล้ว จอมพล ป.เขินเพราะอเมริการู้ไต๋ว่าเตรียมกองทัพจะไปเอาเรื่องกับฝรั่งเศส เลยหันไปหาญี่ปุ่น สั่งต่อเรือปืนธนบุรีและศรีอยุธยาจากญี่ปุ่น คงจะมิตซุยที่เป็นนายหน้าตัวแทนจัดหาอู่คาวาซากิให้ หลังพิพาทกับฝรั่งเศสจบ ก็ได้จัดซื้อเครื่องบินรบจากญี่ปุ่นหลายฝูง ทั้งของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ

ครั้นเจรจากันไปเจรจากันมาในบรรยากาศญี่ปู้นญี่ปุ่น ขณะคีบโทโร่เข้าปากค่อยๆเคี้ยวเบาๆ ให้เนื้อพุงปลาทูนาน้ำลึกครีบสีน้ำเงินกำซาบลงไปทั่วแผ่นลิ้น ก่อนจะละลายตัวเองลงคอไป ช่วงละเลียดสาเกร้อนๆล้างคอตาม น่าจะมีเวลาสนทนาเรื่องสถานะการณ์โลกและแนวทางของบ้านเมืองบ้าง

ตรงนี้ละครับที่ผมฟังเขาไม่รู้เรื่อง ขอกลับเข้ากระทู้ดีกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 16:38

ขอบคุณมากค่ะ คุณนวรัตน  เป็นความรู้ใหม่ของดิฉัน และสมาชิกเรือนไทยอีกหลายคนทีเดียวนะคะ เรื่องนี้

อ้างถึง
ครั้นเจรจากันไปเจรจากันมาในบรรยากาศญี่ปู้นญี่ปุ่น ขณะคีบโทโร่เข้าปากค่อยๆเคี้ยวเบาๆ ให้เนื้อพุงปลาทูนาน้ำลึกครีบสีน้ำเงินกำซาบลงไปทั่วแผ่นลิ้น ก่อนจะละลายตัวเองลงคอไป ช่วงละเลียดสาเกร้อนๆล้างคอตาม


อ่านกระทู้นี้นอกจากหิวข่าวแล้ว  ยังชวนหิวข้าวญี่ปุ่นอีกด้วย    ยิ้ม
************************
หมายเหตุ   เมื่อเช้านี้ พิมพ์คำตอบใส่ notepad ไว้  ยังไม่เสร็จ   ก็มีธุระต้องออกนอกบ้านไปก่อนเลยไม่ได้โพสต์    กลับมา คุณนวรัตนสืบราชการลับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จ   ก็ชวนบรรดานักเรียนไปกินโทโร่แกล้มสาเกกันอิ่มหนำเสียแล้ว
จะทิ้งข้อความก็เสียดาย   เลยเอากลับมาลงให้อ่านอีกที   ถ้าตอนไหนผิดท่านกูรูใหญ่กว่าคงจะแก้ไขให้ถูกต้องเอง

ลองเอาสปอตไลท์จับที่นายวนิช ปานะนนท์ สักนิด  เป็นการไว้อาลัย

คุณนวรัตนเล่าไว้ก่อนหน้านี้ว่านายวนิชเป็นสมาชิกของ "คณะราษฎร์"   ไปค้นพบเพิ่มนิดหน่อยว่า แม้ว่าเป็นพลเรือน แต่ก็อยู่สายทหารเรือ    จากนั้นก็ทำงานร่วมกับจอมพลป. ถูกอัธยาศัยเป็นที่ไว้วางใจ    นายวนิชรับผิดชอบด้านการค้าระหว่างประเทศ    มีสายงานประสานกับญี่ปุ่น 
จนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา      ความคิดของสองบิ๊กรัฐบาลคือจอมพล ป. และนายปรีดี รมว.คลัง เริ่มแตกออกเป็นสองขั้ว  โดยมีประเด็นเรื่องญี่ปุ่นบุกไทยอยู่ตรงกลาง   
ญี่ปุ่นหนุนหลังจอมพล ป.   จนนายปรีดีพ้นจากค.ร.ม. ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตำแหน่งเดียว     คนที่จอมพลป.ไว้วางใจให้มารับผิดชอบในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง คือนายวนิช ปานะนนท์    จะเห็นได้ว่ากระเป๋าเงินของรัฐในยุคนั้น ปิดหรือเปิดให้โครงการไหนก็ตาม ผ่านความรับผิดชอบของนายวนิช   โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบายอีกที

ความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นที่นายวนิชมีตั้งแต่ก่อนสงคราม  ทำให้พลต.อ.อดุล  เล็งเป็นพิเศษ ว่านายวนิชฝักใฝ่ญี่ปุ่นจนเกินงาม   แต่จนแล้วจนรอดก็หาหลักฐานมามัดกันชัดๆไม่ได้   ข้อนี้ก็ต้องยกประโยชน์ให้ว่านายวนิชคงไม่ได้ทำอะไรเกินงามกับญี่ปุ่น   มิฉะนั้นตำรวจคงสืบหาหลักฐานพบเสียนานแล้ว
ก่อนหน้าสงคราม   นายวนิชถูกทางการตั้งกรรมการสอบสวน ข้อหาร้ายแรงว่าขายชาติ     มีสาเหตุมาจากบัตรสนเท่ห์ใบเดียว  แต่ตำรวจสืบสวนแล้วก็ไม่มีหลักฐาน    จอมพลป.ก็ยังไว้ใจใช้สอยนายวนัชด้วยดีเช่นเดิม 

ส่วนพลต.อ.อดุล เราคงจำได้ว่าท่านเริ่มหันไปทางเสรีไทยตั้งแต่ปี ๒๔๘๗  ก่อนสงครามโลกจบลงปีเดียว     เมื่อท่านสนับสนุนเสรีไทยก็แปลว่าท่านไม่สนับสนุนญี่ปุ่น     หรือพูดกลับกันก็ได้  ว่าท่านไม่สนับสนุนญี่ปุ่น ท่านจึงสนับสนุนเสรีไทย ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรอังกฤษและอเมริกา
สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น    เสรีไทยผงาดขึ้นมาเป็นฮีโร่     เพราะฉะนั้นใครที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นด้วยดีก็จะต้องระวังตัวอย่างหนักว่าจะถูกเช็คบิลล์ย้อนหลัง    นายวนิชอาจจะถูกย้อนศรในเรื่องนี้ก็เป็นได้     นับว่าเป็นชะตากรรมที่น่าเศร้าใจ   แม้แต่จอมพล ป.  อดีตนายโดยตรงของนายวนิชซึ่งเคยช่วยเขาให้พ้นภัยมาก่อนก็ช่วยอีกไม่ได้  นายวนิชกลายเป็นจำเลยของกฎหมายบ้านเมือง   ในที่สุดก็ถึงตอนจบอย่างที่ร.ต.อ. เฉียบบันทึกเหตุการณ์ไว้




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 18:28

ก่อนจะถึงตอนจบสงครามมหาเอเชียบูรพา  ที่จอมพลป.พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และถูกส่งตัวขึ้นศาลพิจารณาคดีในฐานะอาชญากรสงคราม  ที่พลต.อ. อดุล ให้การในศาลเล่นท่านไม่ยั้ง     คุณนวรัตนคงมีประเด็นมันๆ มาเล่าให้ฟังเอง
ระหว่างนี้ก็คั่นโปรแกรมตามเคย  ด้วยการเล่าถึงปลายๆสงครามว่ามีอะไรใหญ่ๆเกิดขึ้นบ้าง      ถ้าพูดถึงเรื่องใหญ่จริงๆก็ย่อมจะข้ามเรื่องเมืองหลวงใหม่ไปไม่ได้     เรื่องนี้เล่าไว้สั้นๆในกระทู้พระยาทรงสุรเดช    ดิฉันก็จะขยายต่อส่วนนี้นะคะ

ต้นๆปี 2486  จอมพลป. ตัดสินใจจะย้ายเมืองหลวงไปที่เพชรบูรณ์    ขนาดออกพ.ร.ก.มาให้รู้ว่าเอาจริง  กำหนดย้ายหน่วยราชการทั้งหมดไปที่นั่น  ถึงกับลงทุนสร้างสถานที่ราชการชั่วคราวเอาไว้   วางแผนอพยพราษฎรไปอยู่ที่นั่น    เตรียมการถึงขั้นสร้างศาลหลักเมืองขึ้นที่หล่มสัก 
เพชรบูรณ์เมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน  เป็นเมืองน้อยในขุนเขาซับซ้อน มีประชากรนิดเดียว   ในสายตาคนนอก ช่างลึกลับซับซ้อน  ไปถึงยากเย็น ปานประหนึ่งมรกตนครในเพชรพระอุมา   

ดิฉันมีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นชาวหล่มสัก   มาเข้าเรียนประถมที่ร.ร.เขมะสิริอนุสรณ์ หลังสงครามโลกจบไปแล้วหลายปี     เธอเคยเล่าถึงการเดินทางว่ามีแต่รถไฟเท่านั้น ที่จะพาเธอจากบ้านมาเมืองหลวงได้  แต่ก็ข้ามวันข้ามคืนกว่าจะมาถึง  เดินทางทียาวนานเหน็ดเหนื่อยยิ่งกว่านั่งเครื่องบินจากกรุงเทพไปนิวยอร์คเสียอีก       เธอมาอยู่่เมืองหลวงแล้วก็อยู่ประจำไปเลย ปีหนึ่งกลับบ้านหนเดียว  อย่าไปหวังว่าจะกลับได้บ่อยกว่านั้น
ก่อนหน้าพี่เกิดเป็นสิบปี   เพชรบูรณ์ไปมาลำบากขนาดไหนก็ลองเอา ๑๐ คูณเข้าไปดู    เมื่อส้มหล่นลงทั้งกระสอบ  กลายเป็นเมืองหลวงขึ้นมา จอมพลป.จึงต้องตระเตรียมรี้พลมากมาย  ตั้งแต่หาทางอพยพราษฎรเข้าไปทำมาหากิน  ให้ที่ดินทำกิน เพื่อจะให้เมืองอุ่นหนาฝาคั่งด้วยกำลังคน

ที่หนักหนาสาหัสกว่านี้คือเกณฑ์คนมาสร้างเมืองหลวงใหม่   และสร้างทางคมนาคมเข้าไปที่จังหวัด   คือถนนสายตะพานหิน เป็นเส้นทางคมนาคมเพียงทางเดียวที่จะพาโลกภายนอกเข้าไปในเพชรบูรณ์ได้   ถึงขั้นเกณฑ์แรงงานราษฎรมาจาก 29 จังหวัด จำนวนนับแสนคนมาสร้างทาง   แต่เส้นทางสร้างถนนนอกจากทุรกันดารแล้ว ก็ยังชุกชุมด้วยไข้ป่า   ราษฎรล้มตายลงเพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมากมาย     เนื่องจากประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง  คนไทยรุ่นหลังก็เลยไม่รู้กัน    เรารู้จักเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์สร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรีมากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 18:37

โครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ดำเนินการอย่างรีบด่วน   ล่วงหน้าไปก่อนจะเสนอพรก.ต่อรัฐสภา     เป็นโครงการยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ดูได้ตามนี้ค่ะ   ได้มาจากโอเคเนชั่น  ของคุณพิราบดำ

ในด้านการทหาร ได้ย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. มาตั้งที่บ้านป่าแดง (ร.ร.นายร้อยป่าแดง) ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองฯ มีการตั้งค่ายทหาร "พิบูลศักดิ์" ที่ตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก ตั้งกระทรวงกลาโหม ที่บ้านป่าม่วง ตำบลท่าพล อำเภอเมืองฯ ย้ายกองทัพอากาศมาที่บ้านสักหลง อำเภอหล่มสัก ซึ่งเดิมวางแผนจะย้ายมาอำเภอท่าโรง (อำเภอวิเชียรบุรี) กรมยุทธโยธา คลังแสงและโรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการทหารบก กรมเสนารักษ์ทหารบก กรมเชื้อเพลิง (โรงบ่มใบยาบ้านไร่) ฯลฯ

 จอมพล ป.พิบูลสงครามได้มอบหมายให้ พลตรีอุดมโยธา รัตนวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่ มีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดผังเมือง และอำนวยการสร้าง มีการสร้างถนนชัยวิบูรณ์ จากอำเภอชัยบาดาล ผ่านวิเชียรบุรี มาบรรจบสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ที่วังชมภู ถนนชมฐีระเวช จากชนแดนถึงเขารัง ถนนสามัคคีชัยจากเขารังถึงหล่มสัก โดยมีถนนขนานทั้งฝั่งตะวันออกคือถนนสุวินทวงศ์ และฝั่งตะวันตกคือ ถนนปฐมคชเสนีย์และถนนรัฐวัฒนา มีการตั้งกระทรวงเกษตรฯที่บ้านน้ำคำ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก ตั้งกองชลประทาน มีหน้าที่จัดสร้างทำนบกั้นน้ำ สร้างเขื่อนเหมือง ฝายบำรุงรักษาคลอง และลำห้วยให้สะอาดมีน้ำใช้ตลอดปี ให้มีการลอกห้วยป่าไม้แดง ห้วยน้ำก้อ ทำนบเหมือง ฝายห้วยท่าพล ห้วยน้ำชุน ลำห้วยนา ลำน้ำพุงที่หินอาว อำเภอหล่มเก่า ทำการกักน้ำที่หนองนารี ตลอดจนให้รักษาความสะอาดของแม่น้ำป่าสัก

จอมพล ป.พิบูลสงครามได้วาดผังเมืองใหญ่ 2 แห่ง คือ 1. บริเวณเพชรบูรณ์ 2. บริเวณหล่มสักและหล่มเก่า มีการกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้กระจายตั้งกันอยู่ทั่วจังหวัด โดยมิให้กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนกรุงเทพฯมีการสร้างสำนักนายกรัฐมนตรี และศาลารัฐบาล ณ บริวณน้ำตกห้วยใหญ่ หลังที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ปลายห้วย ป่าไม้แดง โดยให้ พ.ต.ล้อมบูรกรรมโกวิท เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง (ถนนบุรกรรมโกวิทเป็นอนุสรณ์) นอกจากนั้นยังสร้างทำเนียบ "บ้านสุขใจ" ติดแม่น้ำป่าสัก เป็นที่พักอาศัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามและครอบครัว (บริเวณโรงน้ำแข็งเพชรเจริญเดิม) ทำเนียบ "สามัคคีชัย" ที่เขารัง และทำเนียบที่บ้านน้ำก้อใหญ่ไว้เป็นที่พักแรมมีถนนเข้าชื่อ เชิดบุญชาติ มีการวางแผนสร้างบ้านบัญชาการสำนักนายกฯ ที่บริเวณบึงสามพันด้วย

ได้มีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสร้างศาลากลางเพชรบูรณ์ (บริเวณเดียวกับที่ตั้งศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน) และการเตรียมย้ายรัฐบาลมายังเพชรบูรณ์ จนกระทั่งมีการแต่งตั้ง พ.อ.ช่วงเชวงศักดิ์สงคราม เป็นรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งสิ้นที่เพชรบูรณ์แทนนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจอย่างนายกฯเรียกว่า รองนายกฯ ประจำเพชรบูรณ์ และเมื่อเดือนตุลาคม 2486 ได้มีการปรับปรุงเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นเทศบาลนครเพชรบูรณ์ เพื่อรองรับการก่อสร้างและการขยายตัวของเมืองหลวงใหม่

ได้มีคำสั่งย้ายกรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการ) มาอยู่บ้านยาวี อำเภอเมืองฯ จัดการวางผังสร้างกรมไปรษณีย์ กรมทาง และกรมขนส่ง ที่บ้านท่าพล อำเภอเมืองฯ มีการวางแผนสร้างทางรถไฟจากอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงจังหวัดเลย มีการสร้างบำรุงถนนสายหลักเพชรบูรณ์ ตั้งแต่เชิงเขาวังชมภูถึงค่ายทหาร บ้านหินอาว อำเภอหล่มเก่า ตั้งกระทรวงศึกษาที่บ้านหนองแส ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก แม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะต้องอพยพมาเปิดสอนที่เพชรบูรณ์ด้วย โดยจะสร้างที่บ้านไร่ ตำบลสะเดียง แต่ขณะนั้นโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ ได้อาศัยเรียนที่โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ (เดิมเป็นโรงเรียนเพชรพิทยาคม)

การก่อสร้างและติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้หลายแห่งทั้งในเมืองและหน่วยราชการมีการเพิ่มโทรศัพท์ให้เพียงพอแก่ความต้องการของราชการปรับปรุงการโทรเลข มีการสร้างโรงหนังไทยเพ็ชรบูรณ์  สโมสรรัตนโกสินทร์และโรงแรมขึ้นในเขตเมืองเพชรบูรณ์เพื่อให้ข้าราชการได้ใช้เวลามาตรวจราชการ มีการสั่งการให้สร้างตลาดสดและอาคารเช่า 3 แห่ง คือ ตลาดเพชรบูรณ์ ตลาดวังชมภู และตลาดหล่มสัก ซึ่งทุกแห่งต้องมีโรงมโหรสพด้วย มีการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในนครบาลเพชรบูรณ์ชื่อ เพชรบูลชัย

ได้มีการสั่งย้ายโรงพิมพ์ทุกประเภทมาที่เพชรบูรณ์ เพื่อเวลากรุงฯถูกโจมตีทางอากาศไม่สามารถทำงานได้ จะได้ใช้โรงพิมพ์ตั้งใหม่ที่เพชรบูรณ์ พิมพ์หนังสือราชการ (ตั้งอยู่บ้านป่าแดง) และโรงพิมพ์ธนบัตร(อยู่ที่หนองนายั้ง) จัดตั้งโรงเลื่อยที่วังชมภูโดยกรมยุทธโยธา (โรงเลื่อย ยย.) สร้างกระทรวงสาธารณสุขที่บ้านวังซองตำบลท่าพล อำเภอเมืองฯ และโรงพยาบาลที่ร่องแคน้อย ตำบลสะเดียง (บริเวณสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ปัจจุบัน) ให้ชักชวนผู้รับเหมางานที่เพชรบูรณ์ เพราะมีการก่อสร้างทั้งส่วนราชการและเอกชนจำนวนมาก หากไม่มีใครมาก็ต้องเกณฑ์ให้มาจนพอแก่งาน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป.พอบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า "เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดารภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน...."
เหตุผลเบื้องหลังการโหวตไม่เอาเพชรบูรณ์   เกิดจากตอนนั้นเป็นเวลาปลายสงครามแล้ว    สถานการณ์เริ่มชี้ชัดไปในทางว่า พันธมิตรน่าจะมีชัย     ญี่ปุ่นอาจจะไปไม่รอด   ดังนั้นจึงมีการจับมือประสานในหมู่นักการเมืองบิ๊กๆ    ล็อบบี้กันว่าจะให้จอมพลป.นั่งเก้าอี้นายกฯในฐานะท่านเป็นมิตรดีของญี่ปุ่นต่อไป อาจกระทบอนาคตของประเทศชาติได้
พ.ร.ก.เพชรบูรณ์ก็จบลงเพียงแค่นั้น    โครงการเมืองหลวงใหม่ถูกพับฐานไป   ไม่มีใครพูดถึงกันอีก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:12

อ้างถึง
คำถามตอนนี้ที่ท่านกูรูใหญ่กว่ายังไม่ได้เฉลย แม้ว่าชิงเฉลยข้อสอบตอนจบล่วงหน้าไปแล้วก็คือ คุณหลวงทั้งสองผู้เป็นเพื่อนรักกัน  เปลี่ยนเป็นหนึ่งนายพลและหนึ่งจอมพล ผู้แค้นกันตั้งแต่เมื่อไร

คำถามนี้ดิฉันยังหาคำตอบไม่ได้   ก็ได้แต่แกะรอยมิตรภาพของท่านทั้งสองกันไปพลางๆ
ทุกเช้าท่านอธิบดีตำรวจก็ต้องมารายงานราชการกับท่านนายกฯ  ตื้นลึกหนาบางในสังคมท่านทั้งสองก็รับรู้ร่วมกันหมด จอมพลป. ก็ไว้วางใจและเกรงใจท่านอธิบดีอดุลอย่างสูง    เพราะท่านอธิบดีเป็นคนตรง เด็ดขาด ไม่เห็นแก่หน้าใคร ซื่อสัตย์สุจริตต่องานที่ทำ ท่านจอมพล มีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับอธิบดีตำรวจเสมอ   ยังหาไม่เจอว่าในช่วงนี้ท่านมีเรื่องไหนขัดแย้งกัน

ถ้าอย่างนั้น ร่องรอยของความแตกแยกเริ่มจากไหน ดิฉันขอเดาว่าเริ่มจากสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย   ท่านอธิบดีตำรวจอดุลผันตัวไปเองไปเป็นหัวหน้าเสรีไทยคนหนึ่งในไทย โดยมิใช่การทำงานใต้ปีกของจอมพลป. แต่เป็นงานลับใต้จมูกของท่าน ก็เลยเดาว่า เสรีไทย เป็นเส้นเฉียงที่ทำให้พลต.อ.อดุล แยกออกมาจากเส้นตรงที่คู่ขนานกันมาตลอด

 เรากลับมากันตรงที่ท่านอาจารย์เทาชมพูตั้งคำถามไว้นานหลายหน้าคคห.แล้วดีกว่าครับ “หนึ่งนายพลตำรวจเอกและหนึ่งจอมพล เป็นคู่แค้นกันตั้งแต่เมื่อไร……ดิฉันขอเดาว่าเริ่มจากสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ท่านอธิบดีตำรวจอดุลผันตัวไปเองไปเป็นหัวหน้าเสรีไทยคนหนึ่งในไทย โดยมิใช่การทำงานใต้ปีกของจอมพลป. แต่เป็นงานลับใต้จมูกของท่าน”

ผมก็ไม่ใช่หมอดูฟันธงซะด้วย จะได้กล้าบอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ วันนั้นวันนี้ ท่านทั้งสองตกลงเป็นคู่แค้นกันแน่นนอน ฟันธง..ขวั๊บ..เพล้ง.. หน้าแตก เพราะว่าหน้าของผมมิได้หนาเหมือนแรดคอนกรีตเช่นของแท้ ผมเข้าใจแต่ว่า การที่คนหนึ่งคนใดไปให้การเป็นพยานในศาลเพื่อจะให้จำเลยได้รับโทษสถานหนักนั้น เอาแต่เนื้อๆตรงที่พยานเห็นว่าจำเลยกระทำผิดก็ได้ แต่นี่ไม่ยังงั้น พยานให้การยาวเหยียดตั้งแต่เด็กจนแก่ เหมือนดังแค้นจัดมานาน อยากระบายความอัดอั้นตันใจที่ตนมีต่อจำเลยทั้งหมดให้สาธารณะชนทราบ หรืออาจจะมองว่าเป็นการแก้ตัวก็ได้ เพราะใครๆก็เห็นว่าคนทั้งดู่เป็นมนุษย์ปาท่องโก๋ คิดเหมือนกันทำเหมือนกัน การให้การในศาลได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายในเรื่องหมิ่นประมาท และพยานทราบดีว่าคำให้การของพยานจะเป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงในเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีใครได้ทราบ จะได้รู้เรื่องที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ดังที่ตนอยากให้รู้

ผมเชื่อว่า คงไม่ใช่เรื่องเสรีไทยที่คนทั้งคู่แค้นกัน เมื่อแรกจับเสรีไทยได้นั้นพล.ต.อ.อดุลให้การว่าสัมพันธมิตรส่งพวกลูกคนจีนเข้ามาดูลาดเลาในประเทศไทย ตำรวจจับได้ เมื่อรายงานให้จอมพล ป. ทราบจอมพล ป.ก็เพียงแต่บอกให้พล.ต.อ.อดุลดูแลเรื่องนี้ให้ดี คงจะเห็นเป็นเรื่องเล็กๆไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วก็หมดความสนใจ จึงไม่ก่อให้เกิดเรื่องที่จะขัดแย้งได้  ผมว่า ความไม่พอใจของพล.ต.อ.อดุลที่มีต่อจอมพล ป.นั้นเหมือนน้ำต้มด้วยเตาถ่าน ใช้เวลาสะสมอุณหภูมิทีละเล็กทีละน้อยกว่าจะเดือด ไม่เหมือนเอาเหล็กเผาไฟลูกเท่ามะพร้าวไปโยนใส่น้ำในกระป๋อง น้ำจะได้เดือดพลุ่งพล่านขึ้นทันที ผมกำลังพยายามจะหาเหตุทั้งหลายที่พล.ต.อ.อดุลยั๊วะจอมพล ป. ตั้งแต่แรกมาเล่าให้ฟังทีละเรื่องๆ แต่ก็เผลอตามน้ำสนุกสนานจนกลายเป็นเล่าตอนจบย้อนมาตอนต้นเรื่อง แต่ไม่เป็นไรครับท่านผู้อ่าน เรื่องของผมก็เหมือนสุกี้หม้อไฟ จะใส่พวกผักก่อน แล้วใส่พวกเนื้อ หรือสลับกันไปก็เหมือนๆกัน ยิ่งตอนน้ำงวดก็ยิ่งรสชาดเข้มข้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:17

เรื่องเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ ท่านคงเห็นภาพที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเล่า เป็นประเด็นร้อนในสภาที่ทำให้จอมพล ป.แพ้มติ ต้องลาออกตามกติกา แต่จอมพล ป.ยังหวังว่าส.ส.ในมุ้งของตนยังคุมเสียงพอที่จะโหวตให้กลับมาเป็นนายกต่ออีก อันที่จริงจอมพล ป.ลาออกมาก่อนหน้านี้สองครั้งแล้ว ครั้งแรกในปี 2482 (ปลายปีที่ประหาร18ศพ)เรื่องอะไรไม่ทราบเพราะไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ไม่ได้ออกจริงเพราะพล.ต.อ.อดุลปลอบไว้ หนังสือยื่นถึงประธานผู้สำเร็จแล้ว และยังไม่ได้ถอนกลับไปด้วย ครั้งที่2 ในปี2486 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มีพยานให้การท้าวความถึงเรื่องนี้กันหลายปาก เพราะอยู่ดีๆนายกรัฐมนตรีส่งหนังสือลาออกถึงประธานผู้สำเร็จอ้างว่าสุขภาพไม่ดี ต้องการพักผ่อน พระองค์อาทิตย์ไม่กล้าลงพระนามเพราะก่อนหน้านั้นจอมพล ป.หายไปจากทำเนียบ อ้างว่าไปราชการทางภาคเหนือ แต่มีข่าวลือหึ่งวงในว่าไปกับกิ๊กชุ่มฉ่ำกันอยู่หลายวัน กลับมากรุงเทพผ.บ.(ผู้บัญชาการที่บ้าน)เล่นงานหนักถึงกับเสียมวย น้อยใจหนักจึงประชดเมียด้วยการจะลาออกจากนายก เพราะปวดประสาทเต็มที พระองค์อาทิตย์ได้รับหนังสือไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร จึงมีรับสั่งให้นายทวี บุณยเกตุ เลขานุการคณะรัฐมนตรี กับขุนนิรันดรชัย เลขานุการในพระองค์ไปขอพบจอมพล ป.เพื่อฟังมาให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรแน่ ทั้งสองคนไปนั่งรอเข้าพบที่ทำเนียบสามัคคีชัยอยู่นาน แต่จอมพล ป.ก็เรียกขุนนิรันดรชัยเข้าไปคนเดียวเพราะเข้าใจว่าเอาเงินมาให้ตามที่สั่งไว้(คำให้การเขียนชัดๆอย่างนั้นแหละครับ) ขุนนิรันดรชัยบอกว่าท่านนายกสงสัยจะมีเรื่องยุ่งๆทางครอบครัว เรื่องการเมืองไม่เห็นพูดอะไร ให้เก็บใบลาไว้ก่อนแล้วกันไม่ต้องทำอะไร นายปรีดีได้ทูลแนะนำให้พระองค์อาทิตย์โทรไปคุยเอง ท่านก็โทรไปสองครั้งสามครั้งจอมพล ป.ก็ไม่ยอมมาพูดด้วย อ้างว่ามีแขก(ญี่ปุ่น)

วันรุ่งขึ้นผู้สำเร็จทั้งสองท่านประชุมกันเชิญพล.ต.อ.อดุลมาด้วย พล.ต.อ.อดุลเล่าว่าได้เกลี้ยกล่อมอยู่3ชั่วโมงให้ถอนใบลาออกก็ไม่ยอม ถามว่าเป็นอะไรก็ไม่บอก ถ้าจะอยากออกจริงแน่  เช้านี้ได้ข่าวว่าจะเริ่มขนข้าวขนของออกจากทำเนียบไปอยู่บ้านส่วนตัวที่หลักสี่แล้ว ผู้สำเร็จทั้งสองก็ยังไม่กล้าลงนามอยู่ดี นายปรีดีขอให้นายทวีไปเชิญนายกให้มาประชุมปรึกษากับผู้สำเร็จราชการหน่อย ลาออกแล้วจะให้ใครเป็นนายก  ถามว่านายทวีกล้าไปเชิญไหม นายทวีบอกว่ากล้า

แต่นายทวีเป็นคนฉลาด ถ้าไปเชิญด้วยวาจา นายกตอบอย่างไรก็จะไม่มีหลักฐาน จึงทำบันทึกให้รองเลขานำไปให้จอมพล ป.ๆ อ่านแล้วจึงเขียนลงในบันทึกนั้นว่า “ฉันไม่ไปพบเพราะไม่มีอะไรจะพูด ได้แจ้งในใบลานั้นไปแล้ว” เมื่อเชิญพล.ต.อ.อดุลมาขอความเห็น พล.ต.อ.อดุลบอกว่าควรอนุมัติให้ออกตามประสงค์ ผู้สำเร็จถามว่าแล้วอย่างนี้ใครจะเป็นนายกต่อ พล.ต.อ.อดุลบอกว่าก็ไม่มีใครกล้ารับหรอก เดี๋ยวสภาก็โหวตเลือกจอมพล ป.อีกนั่นแหละ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:18

เมื่อคณะผู้สำเร็จลงพระนาม นายทวีก็ร่างประกาศสำนักนายกส่งให้แถลงออกอากาศทางวิทยุกรมโฆษณาการ ปรากฏว่าพอจอมพล ป. ได้ยินก็โกรธควันออกหู กลางค่ำกลางคืนแล้วยังให้พลตรีไชย ประทีปะเสน เลขานายกรัฐมนตรีโทรมาตามล่าจะเอาใบลาออกคืน แล้วสั่งให้กรมโฆษณาการออกแถลงการใหม่ว่าที่แถลงว่านายกลาออกนั้น เป็นความคลาดเคลื่อน พระองค์อาทิตย์ตกพระทัยมาก ถึงขนาดพาหม่อมกอบแก้วออกจากวังไปขอบรรทมที่ทำเนียบท่าช้างของนายปรีดี ซึ่งนายปรีดีก็เรียกทหารเรือมาคุ้มกันตนเองด้วย

วันรุ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีสั่งเรียกประชุมค.ร.ม.ด่วน จอมพล ป.แสดงความไม่พอใจมาก บอกว่าในชั้นเดิมก็อยากจะออกอยู่ แต่เมื่อมาประกาศอย่างนี้ก็เหมือนไล่กัน ทำคุณงามความดีตั้งแยะ ไม่เห็นเอ่ยชมบ้างเลย เล่นกันอย่างนี้ก็จะไม่ออกละ สั่งให้ตามโฆษกมาฉะก่อนเพื่อนในฐานะที่อ่านประกาศเน้นถ้อยเน้นคำน่าหมั่นไส้สุดๆ (ควรจะอ่านด้วยเสียงสั่นเครือแสดงความอาลัยมั้ง) ไล่เรียงหาคนผิดแล้วมาลงที่นายทวีๆไม่มาประชุมก็ออกคำสั่งให้ไปพบในตอนบ่าย หลังอาหารแล้วมีจอมพล ป.กับพล.ต.อ.อดุลสองคนนั่งรออยู่ นายทวีถูกนายกตั้งข้อกล่าวหาทันที บอกว่าที่ท่านทำหนังสือลาออกก็เพื่อจะลองใจพระองค์อาทิตย์เพราะพักหลังทำตัวห่างเหิน ที่ท่านถูกรวบรัดให้ออกจึงไม่แปลกใจเพราะคาดอยู่แล้ว แต่นายทวีนี่สิ สงสัยว่าทำไมไปร่วมหัวกับพระองค์อาทิตย์ขับไล่ท่าน นายทวีก็ว่าไปเป็นฉากๆ เป็นข้อแก้ตัวที่น่าฟัง ไม่มากไม่น้อย ท่านผู้สนใจควรไปค้นหาหนังสือในห้องสมุดอ่านกันเอง เรียกได้ว่าเล่นเอาจอมพล ป.จนทุกมุม ในที่สุดแล้วท่านก็บอกว่า ท่านไม่สงสัยอะไรแล้ว เรื่องที่ท่านเรียกมาจะเอาเรื่องนั้น ขอให้ลืมเสียก็แล้วกัน นายทวีก็ขอบพระคุณที่ท่านเข้าใจ แต่ตนขอลาออกจากราชการ ท่านก็บอกว่าอ้าว ก็ไม่เอาเรื่องแล้วยังทำเป็นน้อยใจไปได้ นายทวีบอกไม่ได้น้อยใจ แต่พอประกาศวิทยุออกไปจนเป็นที่ทราบกันทั้งเมืองแล้วปรากฏว่านายกไม่ออกก็ต้องมีคนผิด ถ้านายทวีไม่ผิดจอมพล ป.ก็ต้องผิด ท่านก็บอกว่าถ้างั้นลาพักผ่อนสักสองสามเดือนก็แล้วกัน วันรุ่งขึ้นนายทวีทำหนังสือลาออก ใช้เวลาหนึ่งวันหนังสือลาออกก็ได้รับการอนุมัติ

พล.ต.อ.อดุลบอกว่าจอมพล ป.เส้นประสาทเสีย เดี๋ยวตอนจบเราคงมีความเห็นของแพทย์กันอีก คุณหมอCVTตรวจวิเคราะห์ไปเรื่อยๆนะครับ จะจับขึ้นเตียงผ่าสมองดูก่อนก็ได้ ยังพอมีเวลาอย่าเพิ่งสรุป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:21

ความไม่พอใจของพล.ต.อ.อดุลที่มีต่อจอมพล ป.ก็ตรงที่ชอบเอาเรื่องของศรีภรรยามาพัวพันกับเรื่องบ้านเมืองเช่นนี้แหละ สาเหตุของเรื่องข้างบนนี้แม้ตัวพล.ต.อ.อดุลจะไม่ได้พูดชัดๆเหมือนนายทวี แต่อ่านแล้วก็ทำความเข้าใจได้ว่าท่านผู้หญิงละเอียดออกอาการหึงหวงสามีทะลุออกมานอกบ้านน่าจะหลายครั้งอยู่ ท่านยกตัวอย่างว่าคุณหญิงพงา ดุลยธรรมธาดาได้แต่งหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีข้อความว่า การที่ภรรยาเอาสามีไว้ไม่อยู่นั้น จะถือว่าจะเป็นความบกพร่องของสามีแต่ฝ่ายเดียวมิได้ ข้อความนี้กระทบกระเทือนใจท่านผู้หญิงมาก ว่าไม่สามารถปฏิบัติตนให้เข้มแข็ง(น่าจะอ่อนโยนนะ-ผมว่า)จนทำให้จอมพล ป.มีภรรยาน้อยคือนางร.ได้ พล.ต.อ.อดุลระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของเธอไว้ตรงนี้ด้วย แต่ผมขอเว้นที่จะระบุตรงๆเสียเพราะเธอมิใช่บุคคลสาธารณะ เรื่องนี้กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ถูกพันโทหญิงแทรกแซงให้ออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานการพิมพ์เก็บหนังสือดังกล่าว ห้ามจำหน่ายจ่ายแจก กว่าเจ้าของจะได้คืนไปก็ต้องมาขอกับพล.ต.อ.อดุลช่วงรัฐบาลควง

เรื่องพันโทหญิง นาวาโทหญิง นาวาอากาศเอกหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามนี้ตำหัวอกพล.ต.อ.อดุลมานานแล้ว มีลูกน้องนายทหารนายตำรวจหลายคนมาบ่นแสดงความน้อยใจว่า ทหารหญิงในกรมทหารศรีสุริโยทัย กองพันสุรนารีที่พันโทหญิงละเอียด พิบูลสงครามเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ได้รับบำเหน็จเงินเดือนแซงหน้าทหารประจำการที่ตรากตรำเพื่อชาติในราชการสงครามตามที่ทุรกันดานทั่วไป มือขวาของท่านคือพล.ต.ต.ชลอ ศรีศราการผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้ทำรายงานถึงเจ้านายระบุว่าเหตุที่รัฐบาลถูกตำหนิจากประชาชนมีข้อร้ายแรงหลายประการเช่น ชอบเลี้ยงคนโกง..รัฐมนตรีหลายคนสมรรภาพหย่อนมาก..ใช้อำนาจยิ่งกว่าราชาธิปไตย..และบทบาทของทหารหญิง พล.ต.อ.อดุลเคยเอารายงานฉบับนี้ให้จอมพล ป.ดู จอมพล ป.บอกว่าพล.ต.ต.ชลอไม่น่าจะไปอิจฉาผู้หญิง ความจริงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องอิจฉาเพราะพ.ท. หญิงละเอียดได้จัดตั้งสภาวัธนธัมฝ่ายหยิงขึ้น มีตนเป็นประธาน ออกคำสั่งไปยังกระทรวงทบวงกรมต่างๆว่า การบรรจุ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การให้ออกของข้าราชการหญิง ให้เจ้ากระทรวงเสนอให้สภาวัธนธัมฝ่ายหยิงพิจารณาสั่งการเสียก่อน แล้วจึงดำเนินการต่อไปได้ การกระทำนี้กระทบความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาที่มีข้าราชการผู้หญิงอยู่ใต้สังกัดมากมาย พล.ต.อ.อดุลเองอยู่ๆได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาบุคคลเข้ารับราชการ โดยมีหลักการสำคัญว่าบุตรธิดาของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏจะไม่ให้เข้ารับราชการ กรรมการประกอบด้วยพวกพ้องเครือญาติของจอมพล ป.และผู้แทนจากสภาวัธนธัมฝ่ายหยิง พล.ต.อ.อดุลเสนอความเห็นว่าคณะกรรมการนี้ไม่ชอบ เพราะมีอำนาจสูงกว่าก.พ.ซ้ำยังมีข้าราชการหญิงมาร่วมด้วยไม่เป็นการเหมาะสม จอมพล ป.ก็ยังดึงดันในคำสั่งนี้แต่ยอมตัดผู้แทนผู้หญิงออก  พล.ต.อ.อดุลถือโอกาสแก้ตัวในเรื่องนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยในหลักการของคณะกรรมการนี้ เมื่อมีรายชื่อใครผ่านๆมาก็ปล่อยให้ผ่านๆไป
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:23

อ่านที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเขียนถึงนครบาลเพชรบูรณ์แล้วพาดพิงถึงถนนสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์แล้ว  ชวนให้ระลึกถึงชีวิตในวัยเด็กที่ตะพานหินเมื่อขึ้นมาเลยทีเดียว

ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กน้อยอยู่ที่บ้านตะพานหินนั้น  เจได้ว่า วลาชาวเพชรบูรณ์ หล่มสัก จะเดินทางมากรุงเทพฯ จะต้องมาลงรถโดยสารที่ตะพานหินก่อนแปดโมงเช้า  มารับประทานอาหารเช้ากันที่ตะพานหิน  แล้วรอขึ้นรถไฟขบวน ๘.๔๕ น. เข้ากรุงเทพฯ  เวลาที่มาจากกรุงเทพฯ ลงรถไฟราว ๔ โมงเย็น  แล้วก็ต้องรับขึ้นรถโดยสารเดินทางต่อไปเพชรบูรณ์ หล่มสัก  หากขึ้นรถไม่ทันก็ต้องพักค้างแรมที่ตะพานหิน  ซึ่งมีโรงแรมอยู่เพียง ๓ โรง  แต่ถ้าพอรู้จักคนที่ตะพานหินก็มักจะอาศัยค้างแรมตามบ้านคนรู้จักมากกว่า  เพาะสะดวกสบายกว่าพักโรงแรม  ที่บ้านจึงมีแขกมาพีกแรมอยู่เสมอๆ  แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีการเตรียมการจัดตั้งนครบาลเพชรบูรณ์นั้น  แม่เล่าว่า สมัยนั้นมีรถยนต์วิ่งไปกลับเพชรบูรณ์ดพียงวันละเที่ยว   ผู้ที่เดินทางมาถึงตะพานหินไม่ว่าจากกรุงเทพฯหรือเพชรบูรณ์  จะต้องมาค้างแรมที่บ้านคุณตาที่ตะพานหินเสีย ๑ คืนก่อน  แล้วจึงจะขึ้นรถๆฟเข้าดรุงเทพฯ หรือขึ้นรถยนต์ไปเพชรบูรณ์  เพราะในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าขับรถข้ามเขารังตอนกลางคืนกัน  มีพ่อผมเป็นคนแรกที่กล้าขับรถจากไร่ส้มลุงจุล (กำนันจุล  คุ้นวงศ์) ที่วังชมภู  เพชรบูรณ์มาตะพานหินในตอนกลางคืน  

เส้นทางจากตะพานหินถึงวังชมภูเมื่อผมเป็นเด็กนั้น  มีถนนราดยางออกจากสถานีรถไฟตะพานหินไปเพียง ๒ กิโลเมตร  จากนั้นเป็นถนนดินซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าถนนลูกรังไปอีก ๖๐ กว่ากิโลเมตร  ไปถึงบ้านห้วยงงาช้าง  อำเภอชนแดน  ซึ่งเป็นจุดเริ่มขึ้นเขารังที่พวกเราทั้งเกลี้ยดทั้งกลัว  ถนนบนเขารังเป็นถนนราดยางด็จริง  แต่ก็แคบเพียงให้รถสวนกันได้  ตลอดเส้นทางเป็นโค้งหักศอกราว ๑๐๐ กว่าโค้งเลาะลัดไปตามไหล่เขาที่มองลงไปก็เห็นแต่เหวลึก  เส้นทางจากตะพานหินไปถึงไร่วังชมภูที่อยู่เชิงเขารังฝั่งเพชรบูรณ์ ระยะทาง ๘๐ กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางโดยรถแลนด์โรเวอร์ไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง  ถ้าคนขับไม่ชำนาญเส้นทางก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า ๓ ชั่วโมง

เมื่อมีการตัดถนนจากชัยบาดาลมาบรรจบถนนสายตะพานหิน - วังชมภู  ที่สามแยกวังชมภูแล้ว  พ่อเล่าว่าญี่ปุ่นได้มาตั้งค่ายอยู่ที่สามแยกติดกับไร้ลุงจุล  เอาปืนกลมาตั้งหันหน้าออกสามแยก  พ่อเล่าว่าเคยเดินเข้าไปในค่ายญี่ปุ่นกับลุงจุล  เห็นญี่ปุ่นเอาธนบัตรไทยที่ญี่ปุ่นพิมพ์มาผึ่งแดดเพราะเปียกฝนเป็นลังๆ เลยทีเดียว  เวลาที่เดินผ่านกองธนบัตรนั้น  นายทหารญี่ปุ่นที่เป็นผู้บังคับการค่าย  ยังบอกให้ลุงจุลกับพ่อหยิบธนบัตรเหล่านั้นไปใช้  อยากได้เท่าไรก็ขนไป  แต่พ่อไม่กล้าหยิบกลัวถูกยิง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 09:42

อ้างถึง
เมื่อมีการตัดถนนจากชัยบาดาลมาบรรจบถนนสายตะพานหิน - วังชมภู  ที่สามแยกวังชมภูแล้ว  พ่อเล่าว่าญี่ปุ่นได้มาตั้งค่ายอยู่ที่สามแยกติดกับไร้ลุงจุล  เอาปืนกลมาตั้งหันหน้าออกสามแยก 

ในหนังสือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ของ อ.พิบูลสงคราม    บอกว่าจอมพล ป. สร้างเมืองใหม่เป็นแผนลับต่อต้านญี่ปุ่น   ที่จริงคือเอาเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลางประสานงานกับจีนใต้ เพื่อขับไล่ญี่ปุ่น        ก็ถ้าญี่ปุ่นมาตั้งค่ายดักอยู่แถวไร่กำนันจุลเสียแล้ว โครงการนี้มันจะลับไปได้ยังไง
***********************
เรื่องบ้านใหญ่บ้านเล็ก  มันส์มากค่ะคุณนวรัตน     ชีวิตจริงมีสีสันเกินกว่านิยายจะเทียบได้
มองเห็นความอึดอัดของพลต.อ.อดุลที่มีต่อพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี  ทั้งด้านหน้าที่การงานและส่วนตัว   เพิ่มทวีขึ้นเหมือนอัดแก๊ซเข้าไปในลูกโป่ง  วันหนึ่งก็ระเบิดออกมาในคำให้การ
คุณหมอ CVT เตรียมหูฟัง เครื่องฉายเอกซเรย์และมีดผ่าตัดไว้ให้ดี   มีเคสพิเศษส่งมาให้ในกระทู้นี้
แต่...ตอนนี้ขอแต่ไว้ก่อน   ว่าระหว่างฟังท่านบิ๊กเก้อร์กูรูค่อยๆขยายเรื่องออกมา   ดิฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ความอึดอัดของพลตำรวจเอกอาจจะไม่ใช่ฝ่ายเดียว   ท่านจอมพลก็น่าจะอึดอัดกลับมาไม่มากก็น้อย     เพราะระยะหลังๆ ขออะไรก็ไม่ได้อยู่หลายอย่าง  ทำอะไรก็คอยขัดอยู่มากบ้างน้อยบ้าง
น่าเสียดายมิตรภาพอันยาวนาน   แต่นั่นแหละ ทั้งสองต่างก็มีอำนาจ และเชื่อมั่นในตัวเองว่าทำสิ่งที่สมควร      อำนาจมันไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 10:08

อ้างถึง
เมื่อมีการตัดถนนจากชัยบาดาลมาบรรจบถนนสายตะพานหิน - วังชมภู  ที่สามแยกวังชมภูแล้ว  พ่อเล่าว่าญี่ปุ่นได้มาตั้งค่ายอยู่ที่สามแยกติดกับไร้ลุงจุล  เอาปืนกลมาตั้งหันหน้าออกสามแยก  

ในหนังสือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ของ อ.พิบูลสงคราม    บอกว่าจอมพล ป. สร้างเมืองใหม่เป็นแผนลับต่อต้านญี่ปุ่น   ที่จริงคือเอาเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลางประสานงานกับจีนใต้ เพื่อขับไล่ญี่ปุ่น        ก็ถ้าญี่ปุ่นมาตั้งค่ายดักอยู่แถวไร่กำนันจุลเสียแล้ว โครงการนี้มันจะลับไปได้ยังไง

มีหรือญี่ปุ่นจะไม่รู้

โครงการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ที่ล้มเหลว   จอมพล ป.บอกว่าเป็นยุทธศาสตร์สร้างแหล่งต่อต้านญี่ปุ่น แต่ใช้ข้ออ้างสร้างเมืองใหม่บังหน้า   นายพลนากามูระ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยบันทึกไว้ดังนี้…

"ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๔๘๖ )ข้าพเจ้าได้เริ่มทราบข่าวลือเรื่องการย้ายเมืองหลวงเป็นประจำ และการประกาศย้ายเมืองหลวงทำให้พวกข้าพเจ้าตระหนักใจว่าข่าวลือนั้นกลายมาเป็นความจริง ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

๑.นายกพิบูลคงพิจารณาด้วยความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นเสียเปรียบเมื่อสงครามยุติลง ฉะนั้นจึงต้องมีที่หลบภัยจากฝ่ายญี่ปุ่นยามใดก็ได้ โดยเฉพาะการปฏิเสธเข้าร่วมประชุมวงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพานั้น เป็นเรื่องที่ทำให้มีความเคลือบแคลงในกัน ท่านจึงต้องตัดสินใจอย่างฉับพลันในเรื่องนี้

๒. เกี่ยวกับปัญหาภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ กับนายกพิบูลนั้นง่อนแง่นอยู่เต็มทีแล้ว และศัตรูการเมืองกลุ่มอื่นๆก็ยังมีอยู่ คือถ้าพวกนั้นพยายามโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยอาศัยกำลังญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือแล้ว ท่านนายกในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็จะหลบอยู่ที่เพชรบูรณ์ ซึ่งใครจะไปทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะว่าในเขตภาคเหนือมีกองทัพไทยอยู่ที่เชียงรายและลำปาง ทางทิศใต้มีเมืองทหารอยู่ที่ลพบุรี ความนี้สมกับเป็นความคิดของนายกรัฐมนตรีประเทศหนึ่ง

ที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่มีความเหมาะสม ทั้งในแง่การเมืองและการยุทธศาสตร์อย่างหาที่ติไม่ได้ ข้อเสียมีอยู่ว่า ที่นั่นเป็นแดนของไข้มาลาเรีย และมีน้ำเพื่อการบริโภคอยู่อย่างอัตคัด

๓. ท่านนายกรัฐมนตรีและภริยาบอกกับข้าพเจ้าว่า การย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์นั้นมีความสำคัญมากเพื่อการรักษาหัวใจของความสัมพันธไมตรีของไทย-ญี่ปุ่นสืบไป แม้ว่ากรุงเทพฯจะร้างไป ก็ยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางไว้เพื่อรักษาวัฒนธรรมและสมบัติของชาติ แต่คำพูดนั้นเราเข้าใจอย่างที่ท่านพูดไม่ได้ ในการสร้างเมืองหลวงใหม่นั้น ได้ตั้งงบประมาณไว้ ๑๐๐ ล้านบาท และระดมกรรมกรหลายหมื่นคนจากทั่งประเทศ โดยถือเอาการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าที่แล้วเสร็จได้ภายใน ๑๐ เดือนเป็นตัวอย่าง ได้ทำการก่อสร้างทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ด้วยเหตุนี้จึงมีคนป่วยเป็นไข้มาลาเรียมากมาย ได้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ได้กลับกลายมาเป็นเป้าในการเกลียดชังของประชาชน และทำให้สัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นต้องมืดมนลง และสุดท้ายกลายเป็นสาเหตุให้รัฐบาลพิบูลสงครามสิ้นสุดลง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 10:32

^
^
หุหุ  แปลว่าญี่ปุ่นก็รู้แน่ๆว่าทำอะไรอยู่

ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยค่ะ
จอมพล ป. นอกจากย้ายส่วนราชการสำคัญต่าง ๆ มาที่เพชรบูรณ์ เช่น กระทรวงการคลัง ตั้งที่ถ้ำฤาษีตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก แล้ว
ท่านยังสั่งให้ขนย้ายพระคลังสมบัติ ทรัพย์สินของชาติ ทรัพย์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเก็บไว้ ณที่นี้ด้วย มีการก่อสร้างตึกทำการ ตลอดจนก่อสร้างปรับปรุงถ้ำเก็บทรัพย์สมบัติให้มั่นคงปลอดภัย ปัจจุบันชาวบ้านยังคงเรียกกันว่า "ถ้ำฤาษีสมบัติ"

ไม่ทราบว่า พระคลังสมบัติ ทรัพย์สินของชาติ และทรัพย์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ   ยังอยู่ที่ถ้ำฤๅษีสมบัติอยู่หรือเปล่าในปัจจุบัน  หรือว่าขนกลับคืนที่เดิมมาหมดแล้ว
มีข่าวลือในสมัยต่อมาว่า   เมื่อขนย้ายกันไปนั้น   ทรัพย์สินดังกล่าว บางส่วนสูญหายหกตกหล่นไป จับมือใครดมไม่ได้   เมื่อโครงการเมืองใหม่เพชรบูรณ์พับฐานไปแล้ว   ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครติดใจอยากพูดถึงโครงการนี้อีก  รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย
ดิฉันก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกันค่ะ

เดี๋ยวจะขอคั่นโปรแกรมด้วยเรื่องเสรีไทยอีกหน่อย   ไปอ่านหนังสือมาแล้ว  จะไม่ย่อยให้ฟังก็เสียดาย   ถ้าไม่อยากรู้เพราะไม่เกี่ยวกับท่านพลต.อ. เท่าไร ก็ข้ามไปได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 10:43

สภาอาจารย์ชวนกลับไปเพชรบูณ์อีกแล้ว ผมต้องรีบสรุปเหตุการณ์ตรงนี้ก่อนจะตามไปเพชรบูรณ์ แล้วร่วมค้นถ้ำมหาสมบัติ หาเสรีไทยกันต่อไป

พล.ต.อ.อดุลกล่าวหาจอมพล ป.ไว้เป็นประเด็นๆคือ

1 ในตอนปลาย สมาชิกสภาทั้งประเภท1 และประเภท2 ต่างหมดศรัทธา อภิปรายรุนแรงขึ้นทุกที จอมพล ป.ก็เขียนจดหมายไปถึงพระยามานวราชเสวี ประธานสภาทำนองข่มขู่ว่าเปิดโอกาสให้ส.ส.ด่าท่าน จนพระยามานต้องลาออก สภาเลือกประธานใหม่ ได้นายทวี บุญยเกตุเป็นประธาน นายควง อภัยวงศ์เป็นรอง จอมพล ป. ไม่ยอมลงนามสนองพระบรมราชโองการ แล้วบังคับไม่ให้ทั้งสองรับตำแหน่ง

2 ไม่เคารพผู้สำเร็จราชการในฐานที่เป็นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ ชอบโทรศัพท์ไปสั่งการเป็นประจำ ตอนที่เกิดเรื่องลาออกแล้วไม่ลาออกนั้น มีคนไปให้กำลังใจผู้สำเร็จราชการกันมาก จอมพล ป.เลยอาศัยอำนาจของผู้บัญชาการทหารสูงสุดยามสงคราม สั่งการให้ พระองค์อาทิตย์ และนายปรีดี ไปรับราชการ ประจำการในกองบัญชาการทหารสูงสุด และใช้สายบังคับบัญชานี้สั่งการบุคคลทั้งสองตามใจชอบ รวมทั้งสั่งให้เป็นฝ่ายที่ต้องมาพบตนด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการลบหลู่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่มีธรรมเนียมที่ชาติไหนจะปฏิบัติ

3 รัฐมนตรีผู้ใดออกความเห็นแย้ง จอมพล ป.จะไม่พอใจ บังคับให้ลาออกก็มี รัฐมนตรีที่นั่งนิ่งเฉย เพราะไม่กล้าแสดงความเห็น จอมพล ป.ก็รู้ไต๋ว่าไม่เห็นด้วยอยู่ดี ถ้ารัฐมนตรีบอกแล้วแต่ความเห็นของท่าน ก็ไม่ได้อีก ก็ท่านขอความเห็นตัว รัฐมนตรีต้องเอาตัวรอดด้วยการพูดสนับสนุนความคิดของจอมพล ป. ใครมีลูกคอในการสรรเสริญเยินยอประกอบ ก็จะเป็นที่โปรดปราน แม้แต่เพื่อน พล.ท.มังกร พรหมโยธีที่รับใช้ซื่อสัตย์ในเรื่องโหดๆมาก่อน ไปพูดสนทนาให้เข้าหูนายตำรวจติดตามนายกที่ชื่อพ.อ.เผ่า ศรียานนท์จนยินว่า จอมพล ป.จะแจกเหรียญตราหรือเรื่องงานวันเกิดทำนองติเตียน พ.อ.เผ่าไปฟ้องนาย จอมพล ป.โกรธถึงกับให้พล.ท.มังกรลาออกจากรมต.มหาดไทย กว่าจะเย็นลงแล้วปรับความเข้าใจกันได้ก็เรื่องยาว

4 ชอบใช้อำนาจก้าวก่ายไปทุกกระทรวงทบวงกรม ทั้งสามีและภรรยา อันนี้ปลีกย่อยเยอะ

5 เมื่อระแวงผู้ใด ก็จะใช้อำนาจกลั่นแกล้งให้เสียหน้าหรือเสียเกียรติ ดังเช่นนายทวีและนายควง ถูกออกคำสั่งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ไปทำงานในกรมประสานงานพันธมิตร(ญี่ปุ่น) ภายใต้บังคับบัญชาของบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่า จอมพล ป.ใช้อำนาจที่ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่มีขอบเขตจำกัดในยามสงครามนี้ จับกุมบุคคลมากักขังสอบสวนได้โดยทั่วไป

จบแล้วครับ เชิญต่อเรื่องเสรีไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 18 ก.ค. 10, 10:55

^
^
อ้าว คุณนวรัตน  ดิฉันตั้งใจจะเอาเรื่องเสรีไทยมาคั่นโปรแกรมช่วงวีคเอนด์  เผื่อคุณนวรัตนจะพักบ้าง กลายเป็นว่าไปเร่งท่านกูรูใหญ่ให้รีบจบคำให้การเสียแล้ว  ผิดจุดประสงค์ของดิฉัน
เรื่องเสรีไทยมีในเว็บไซต์มากพอสมควรค่ะ   สมาชิกเรือนไทยที่สนใจจะตามหาอ่านเองก็ได้  หรือไม่  ถ้าดิฉันขยันขึ้นมา อาจแยกกระทู้ไปต่างหากก็ได้ในโอกาสหน้า  จะได้ค้นข้อมูลให้ละเอียดกว่านี้
กลับมาที่คำให้การของท่านนายพลตาดุของเราดีกว่า    คุณหมอ CVT ขยับมีดผ่าตัดมาหลายหนแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 20 คำสั่ง