เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 138740 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 10:04

^
ส่งใบลาออกไปจริง แต่ไม่มีใครกล้าลงนามอนุมัติให้ออกหรอกครับ

แฟร๊บเดียว ก็ขึ้นควบตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 10:13

โดดงานมาแจมค่ะ
คำว่า พระคลังข้างที่   สารานุกรมรัชกาลที่ ๖ ฉบับเคลื่อนที่ได้ ชื่อ V_Mee ได้อธิบายไว้ในเว็บพันทิปว่า คืออะไร

พระคลังข้างที่นั้นจัดตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕  เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมหนึ่งในพระราชสำนัก  มีอธิบดีพระคลังข้างที่เป็นผู้บังคับบัญชา  ภารกิจของกรมพระคลังข้างที่ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ การดูแลเบิกจ่ายและจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์  นอกจากนั้นยังเป็นผู้ดูแลจัดการผลประโยชน์ให้พระบรมวงศ์ที่ทรงมอบหมายให้ดูแล  โดยแยกเป็นบัญชีๆ ไป 

ในการจัดการผลประโยชน์นั้น  กรมพระคลังข้างที่มีหน้าที่ดูแลให้ทรัพย์สินที่จัดการนั้นมีผลประโยชน์งอกเงยเพิ่มขึ้น  จึงมีการนำเงินไปลงทุนในบริษัทห้างร้าน  รวมทั้งให้กู้ยืมเงินแก่พ่อค้าและระชาชนโดยการรับจำนำจำนองเป็นพื้น  เมื่อลูกหนี้มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้  ทรัพย์สินที่จำนำจำนองไว้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบัญชีต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ที่พระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแล

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นทรัพย์สินกองกลางของพระมหากษัตริย์ออกไปจากทรัพย์สินส่วนพระองค์  นับแต่นั้นมาพระคลังข้างที่จึงมีหน้าที่ดูแลจัดการผลประโยชน์เฉพาะทรัพย์สินส่วนพระงค์ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีมาแต่ก่อนขึ้นครองราชย์หรือที่ทรงได้รับเป็นพระราชมรดกตกทอดในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินอันจัดเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รวมทั้งดอกผล  กับทรัพย์สินของพระบรมวงศ์และบัญชีอื่นๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลรักษาประโยชน์ เช่น บัญชีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์จากการเก็บค่าเข้าชมวัดพระศรีฯ หรือที่มีผู้บริจาคบำรุงวัด  ซึ่งเงินจำนวนนี้เก็บไว้ใช้ในการบูรณะวัด  บัญชีโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  บัญชีนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ที่พระราชทานไว้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงรวมทั้งที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายสมทบโรงเรียน 

ในรักาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกไปให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นผู้ดูแล  ในขณะเดียวกันพระบรมวงศ์ที่เคยมอบหมายให้พระคลังข้างที่จัดการทรัพย์ส่วนพระงค์มาก่อนนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ลงแล้วบรรดาทายาทผู้รับมรดกต่างก็ขอแบ่งทรัพย์สินของเจ้านายพระองค์นั้นๆ ไปจัดการกันเอง  ในปัจจุบันบัญชีหลักที่เป็นบัญชีใหญ่ที่พระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลเท่าที่ทราบมีอยู่เพียง บัญชีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  บัญชีมูลนิธิอานันทมหิดล  บัญชีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  ส่วนบัญชีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้นไม่ทราบว่า พระคลังข้างที่ยังดูแลอยู่หรือไม่  นอกจากนั้นพระคลังข้างที่ยังมีหน้าที่ดูแลเบิกจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีพระบรมวงศ์ ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า  พระองค์เจ้า  และหม่อมเจ้า  ซึงเงินจำนวนนี้แบ่งจ่ายจากเงินปีที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำทุกปี  เงินปีพระบรมวงศ์ชั้นหม่อมเจ้านั้นเคยทูลถามหม่อมเจ้าองค์หนึ่งทราบว่า ปีหนึ่งเป็นเงินไม่ถึงหมื่นบาท  แต่ก็ยังมีการพระราชทานเป็นธรรมเนียมสืบมา  ทั้งที่เงินปีพระราชวงศ์นี้ปีหนึ่งไม่ถึงหมื่นบาท

บัญชีต่างๆ ที่พระคลังข้างที่ดูแลจัดการนี้เปรียบเสมือนผลประโยชน์ของเอกชนทั่วไป  จึงมีการเสียภาษีตามกฎหมายทุกประการ

เพิ่งรู้ว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ที่ดินในความดูแลของพระคลังข้างที่ก็ตกอยู่กับเอกชนกันหนาตา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 15:57

เย็นวันศุกร์ เรือนไทยมักจะไม่ค่อยมีนักเรียน   เลยต้องเข้ามาคั่นโปรแกรมมิให้เงียบเหงาจนเกินไป
คำถามตอนนี้ที่ท่านกูรูใหญ่กว่ายังไม่ได้เฉลย   แม้ว่าชิงเฉลยข้อสอบตอนจบล่วงหน้าไปแล้วก็คือ   คุณหลวงทั้งสองผู้เป็นเพื่อนรักกัน  เปลี่ยนเป็นหนึ่งนายพลและหนึ่งจอมพล ผู้แค้นกันตั้งแต่เมื่อไร
คำถามนี้ดิฉันยังหาคำตอบไม่ได้   ก็ได้แต่แกะรอยมิตรภาพของท่านทั้งสองกันไปพลางๆ

สองคุณหลวงเป็นสองเกลอกันแน่นแฟ้นจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ได้ดิบได้ดีกันทั้งสองคนแล้วก็ยังเป็นเพื่อนรัก ช่วงคุณหลวงพิบูลเข้าร่วมก่อการ  คุณหลวงอดุลก็มานอนพักอยู่ในบ้านเช่าของเพื่อนนานเป็นเดือน ฟังคุณนายกล่อมลูกอยู่ชั้นล่าง อย่างที่เล่าไว้ในค.ห.ก่อน
เมื่อคุณหลวงพิบูลได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด  เป็นนายกรัฐมนตรี   คุณหลวงอดุลในฐานะอธิบดีตำรวจก็ยังสนิทแน่นแฟ้นกันเช่นเดิม  ทุกเช้าท่านอธิบดีตำรวจก็ต้องมารายงานราชการกับท่านนายกฯ  ตื้นลึกหนาบางในสังคมท่านทั้งสองก็รับรู้ร่วมกันหมด
จอมพลป. ก็ไว้วางใจและเกรงใจท่านอธิบดีอดุลอย่างสูง    เพราะท่านอธิบดีเป็นคนตรง เด็ดขาด ไม่เห็นแก่หน้าใคร ซื่อสัตย์สุจริตต่องานที่ทำ
ท่านจอมพล มีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับอธิบดีตำรวจเสมอ   ยังหาไม่เจอว่าในช่วงนี้ท่านมีเรื่องไหนขัดแย้งกัน

ผลงานการสืบจับและกวาดล้างปรปักษ์ทางการเมืองของรัฐบาล  ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๑  ก็เป็นผลงานของท่านนายพลอดุล ที่ท่านจอมพลมอบความไว้วางใจให้เต็มที่      ในช่วงนี้เองถ้าใครอ่านกระทู้เก่าคงจำได้ว่า มีนายทหารบางรายแย่งปืนตำรวจไปยิงตัวตาย  หรือโจรจีนมลายูบุกชิงผู้ต้องหาจนผู้ต้องหาถูกกระสุนลูกหลงตาย อยู่หลายราย   
จนถึงปลายปีพ.ศ. ๒๔๘๔   ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย  พลต.อ.อดุลก็เป็นท่านหนึ่งที่เห็นด้วยว่าควรยอมประนีประนอม  เพราะกำลังของไทยสู้เขาไม่ได้    สอดคล้องกับความเห็นจอมพล ป.
ถ้าอย่างนั้น ร่องรอยของความแตกแยกเริ่มจากไหน   ดิฉันขอเดาว่าเริ่มจากสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย   ท่านอธิบดีตำรวจอดุลผันตัวไปเองไปเป็นหัวหน้าเสรีไทยคนหนึ่งในไทย     โดยมิใช่การทำงานใต้ปีกของจอมพลป. แต่เป็นงานลับใต้จมูกของท่าน
ก็เลยเดาว่า เสรีไทย เป็นเส้นเฉียงที่ทำให้พลต.อ.อดุล แยกออกมาจากเส้นตรงที่คู่ขนานกันมาตลอด

ดร.ป๋วย อึ็งภากรณ์ เป็นหนึ่งในเสรีไทย ที่ได้รับความคุ้มครองจากพลต.อ.อดุลอย่างดี  จนออกปากว่าเป็นหนี้บุญคุณของท่าน ทั้งด้านชีวิตและสวัสดิการ   
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 16:39

อย่างหนึ่งที่น่านับถือท่านนายพลตาดุ  ก็คือความรักชาติ    ท่านให้ความช่วยเหลือเสรีไทยอย่างเงียบๆ มาก่อนหน้าจนกระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมอย่างเต็มตัวในตอนหลัง   ทั้งที่รู้ว่าสิ่ืงที่ทำลงไป ถ้าญี่ปุ่นรู้ก็คือจบทั้งตำแหน่ง  จบทั้งชีวิต ท่านก็ยอม

พูดได้ว่าพลต.อ.อดุลเป็นเพื่อนที่รู้ใจเพื่อนยิ่งกว่าใคร   ดร.ป๋วยเขียนไว้ว่า เมื่อโดดร่มลงมา ถูกตำรวจจับได้  พลต.อ.อดุลสั่งผ่านนายตำรวจลงมาว่าให้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี   อย่าลืมสองเรื่องคือเขียนเรื่องรักชาติให้มากๆ และสรรเสริญยกย่องจอมพลป.ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดร.ป๋วยก็ทำตามคำสั่ง  จดหมายนั้นคงจะหยดย้อยได้ผลตามที่ควร    ผลคือจอมพลป. เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับเรื่องเสรีไทย และมอบเสรีไทยทุกคนที่จับได้ให้อยู่ในอำนาจของพลต.อ.อดุลแต่ผู้เดียว  ท่านนายพลก็ดูแลทุกคนอย่างดี  แต่ท่านก็ดำเนินการอย่างระมัดระวัง  ไม่ผลีผลามไว้ใจใครง่ายๆ

ดร.ป๋วยเล่าเอาไว้ว่า  อธิบดีไม่ยอมลงมาติดต่อด้วยตัวเอง แต่มีตัวกลางเชื่อมกับดร.ป๋วย ชื่งท่านอธิบดีเลือกมาเองชื่อร.ต.อ.พะโยม จันทร์คะ  เป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนร.ร.อัสสัมชัญกับดร.ป๋วย   ระหว่างนี้ท่านก็ฝากคำถามเรื่องนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับการทำงานของเสรีไทยในต่างประเทศ  มาให้ดร.ป๋วยทำข้อสอบปากเปล่าอยู่เสมอๆ    เพื่อพิจารณาว่าจะให้สอบผ่านหรือไม่
จนกระทั่งแน่ใจแล้วเมื่อผ่านไปหลายเดือน    ท่านอธิบดีตำรวจก็นัดพบเสรีไทยป๋วย  วิธีนัดก็ซับซ้อนเกือบเท่ามิชชั่น อิมพอสสิเบิ้ล  คือนัดเจอในสถานที่ที่ดร.ป๋วยไม่รู้ล่วงหน้าว่าที่ไหน  รถที่พาไป ในตอนกลางคืนก็เปลี่ยนคัน เปลี่ยนที่หมายไปตลอด  จนไปถึง   แต่ไม่ใช่สถานที่ลึกลับ  ตรงกันข้ามกลับเป็นกลางแจ้ง  เช่นที่ลานพระบรมรูปทรงม้าบ้าง  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบ้าง
หรือไม่ก็ไปพูดกันในรถของท่าน   มีแต่คนรถเท่านั้นนั่งอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้นั่งเฉยๆ  มีปืนกลเบาอยู่ในรถเป็นเพื่อนคู่มือด้วย   สภาพการณ์เช่นนั้น   ถ้าเป็นเราๆท่านๆ จะพูดออกสักกี่คำก็ลองนึกดู  อย่าว่าแต่จะพูดเท็จเลย
พูดกันจนตีสอง ถึงส่งตัวกลับไปที่รถร.ต.อ.พะโยมที่คอยอยู่   กลับที่พักได้

เรื่องการทำงานของพล.ต.อ.อดุล  ท่านกูรูใหญ่กว่าเคยพูดไว้แล้ว  แต่ในเมื่อน่าทึ่งก็จะขอเล่าซ้ำอีกครั้งว่า ท่านทำงานทั้งกลางวันกลางคืน   บางทีก็ทั้งคืน เช่นออกตรวจงานตามโรงพักและสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่ออกตจว.ที่ลูกน้องไม่รู้ว่าไปไหน   
ตอนกลางวันถ้าทำงานติดพันอยู่  ถึงเวลากินข้าวกลางวันท่านก็กินไปทำงานไปอยู่ที่โต๊ะทำงาน      ตอนกลิ่นเสรีไทยไปเตะจมูกญี่ปุ่นเข้า   ญี่ปุ่นแวะมาเยี่ยมที่ออฟฟิศเสมอ ก็เห็นท่านนั่งทำงานอยู่เสมอไม่ไปไหน     หารู้ไม่ว่าตกกลางคืนท่านก็ออกปฏิบัติงานในความมืดไปจนรุ่งเช้า    เพราะกลางวันต้องประจำที่ห้องทำงาน  ตบตาญี่ปุ่น  วิธีออกปฏิบัติงานก็หลบหลีกเปลี่ยนรถเปลี่ยนเส้นทาง ลึกลับซับซ้อนมิให้ใครสะกดรอยได้ถูก

สาเหตุที่พลต.อ.อดุลไม่อาจวางใจเข้าร่วมกับเสรีไทยได้ง่ายๆ คือ
๑  ท่านไม่รู้ว่าพวกนี้ทำงานจริงจังแค่ไหน    ถ้าทำไม่ได้เรื่อง  ผู้เข้าร่วมก็จะลำบากไปด้วย
๒  ท่านไม่แน่ใจว่าผู้ร่วมงานของเสรีไทยบางคนมีจุดประสงค์แอบแฝงหรือเปล่า    เพราะเสรีไทยก็มีทั้งผู้นิยมเจ้าและไม่ได้นิยม     ก็ต้องดูกันให้แน่ว่าปฏิบัติงานเพื่อชาติ หรือเพื่ออย่างอื่น
เมื่อแน่ใจทั้ง ๒ ข้อ ท่านก็เข้าร่วมด้วยเต็มตัว    เครือข่ายตำรวจในไทยก็ห้อมล้อมเสรีไทยไว้มิให้ญี่ปุ่นเอื้อมมาถึง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 16:57

คำให้การของพลต.อ.อดุล ที่กล่าวถึงจอมพลป. ในคดีอาชญากรสงครามนั้น  อ่านแล้ว มองเห็นว่าท่านนายพลตำรวจไม่ชอบบุคคลหลายคนที่เข้ามาสนิทและล้อมรอบอยู่รอบตัวจอมพล ป.    บุคคลเหล่านั้นเข้ามาเมื่อจอมพลป.มีอำนาจวาสนาสูงสุดแล้ว   เป็นธรรมดาว่าก็ต้องใช้คนหลายคน  ให้พอกับงานที่กว้างขวางออกไปมาก   คนไหนใช้สอยได้ถูกใจ  ท่านก็ใช้ของท่านต่อไป
แต่บุคคลเหล่านี้ บางคนพลต.อ.อดุลก็เห็นว่าทำงานประสานกันได้     บางคนท่านก็ไม่ชอบเอาเลยทีเดียว   แต่จอมพลป.ก็ยังใช้ต่อไปอีก  และปูนบำเหน็จตำแหน่งสำคัญให้ด้วย
เรื่องที่แรงอีกเรื่องคือ รัฐมนตรีสองคนต้องโทษทำผิด   นายกรัฐมนตรีขอให้ละเว้น   อธิบดีตำรวจไม่ยอมเว้น   กลับย้อนว่าถ้าทำผิด แม้แต่เป็นนายกฯก็โดนจับเหมือนกัน

บุคคลที่มาแผ้วพานเส้นทางมิตรภาพของท่านจอมพลและนายพล เหล่านี้   จะเอ่ยชื่อก็เกรงว่าจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายแพ่งและอาญาว่าด้วยคดีหมิ่นประมาท    จึงขอถามคุณนวรัตนว่าจะใช้ จุดจุดจุดจุด หรือ ก.ข.ค.ง. (คนละชุดกับกระทู้ก่อน)  อย่างไหนดี   คุณด็อทด็อทด็อทแกจะได้ไม่หนีออกจากแถวหลัง ลงเรือนไทยไปเสียก่อนจบกระทู้
นี่หรือเปล่าคะ   คือสาเหตุรอยร้าวของสองเกลอ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 17:00

บุคคลที่มาแผ้วพานเส้นทางมิตรภาพของท่านจอมพลและนายพล เหล่านี้   จะเอ่ยชื่อก็เกรงว่าจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายแพ่งและอาญาว่าด้วยคดีหมิ่นประมาท    จึงขอถามคุณนวรัตนว่าจะใช้ จุดจุดจุดจุด หรือ ก.ข.ค.ง. (คนละชุดกับกระทู้ก่อน)  อย่างไหนดี 

อาจารย์ครับนักเรียน สติปัญญาต่ำอย่างผมก็แย่สิครับ เดาไม่ได้เลยสักชื่อเลยครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 20:18

ผมชลอๆเรือหางยาว พาท่านผู้อ่านเลี้ยวเข้าซอยสาทรไปบ้าง ไปธุระปะปังของผมบ้างกลับมาอีกที อ้าว ท่านอาจารย์เทาชมพูจ้ำเรือจ้างแซงไปลิบลับใกล้จะถึงฝั่งอยู่แล้ว ผมเห็นจะต้องพาท่านผู้อ่านนั่งแทกซี่ซิ่งไล่กวดท่านไปให้ทัน

ขอผมตั้งหลัก หายใจยาวๆสักนิดให้หายเหนื่อยก่อนครับ

คือเรื่องของการรักชาตินี่ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของชาติ อาจจะมีแนวความคิดที่ต่างกันอย่างตรงกันข้าม มิได้หมายความว่าคนสองความคิดนั้น คนหนึ่งดี คนหนึ่งเลว

แต่จะเป็นที่ปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อรู้ผลว่าความคิดใดเป็นฝ่ายถูก ความคิดใดเป็นฝ่ายผิดแล้ว จะมีการกล่าวหาว่าฝ่ายผิดนั้นขายชาติ ฝ่ายถูกรักชาติอยู่เนืองๆ

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันประกาศไม่ขึ้นต่อรัฐบาลไทยที่สั่งให้ยื่นใบประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น ถ้าตัดสินตามกฏหมายในชั่วโมงนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ คือกบฏ แต่เมื่ออเมริกาเป็นฝ่ายชนะ ม.ร.ว.เสนีย์คือวีรบุรุษของชาติ

ในทำนองกลับกันนายวณิช ปานะนนท์ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลจอมพล ป.ถูกกล่าวหาว่าขายชาติให้ญี่ปุ่นโดยพล.ต.อ.อดุล เพราะเป็นตัวเชื่อมของรัฐบาลกับญี่ปุ่น แต่พล.ต.อ.อดุลไม่กล้ากล่าวหาว่าจอมพล ป.ด้วยข้อหานั้น ตรงข้าม ท่านยอมรับว่าจอมพล ป.เป็นผู้ที่รักชาติอย่างยิ่ง

ขอเวลาผมทานอาหารค่ำกับค้นหนังสือสัก3เล่มก่อนนะครับ เดี๋ยวจะกลับมาเล่าประวัติศาสตร์แบบไม่มีจุดจุดจุด หรือก ข ค เพราะไม่มีทางเฉียดการหมื่นประมาท
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 20:30

คุณ Navarat.C เปิดชื่อ นายวณิช ปานะนนท์ มา แสดงว่าใกล้จะถึงตัวอธิบดีกรมตำรวจอีกคน เจ้าของสโลแกน "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ (ยกเว้นความ D  ยิงฟันยิ้ม)"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 20:47

ขอเวลาผมทานอาหารค่ำกับค้นหนังสือสัก3เล่มก่อนนะครับ เดี๋ยวจะกลับมาเล่าประวัติศาสตร์แบบไม่มีจุดจุดจุด หรือก ข ค เพราะไม่มีทางเฉียดการหมื่นประมาท


โล่งอกไปที  เพราะไม่อยากทิ้งท่านสมาชิกผู้มีเกียรติคนไหนของเรือนไทยให้ไปกินข้าวผัดกับโอเลี้ยงอยู่ตามลำพัง    ถ้าไปก็ต้องไปด้วยกัน  แต่ถ้าไม่ต้องไปก็จะดีกว่า
ไม่ต้องสมมุติ ก  ข ค ง ก็ดีแล้วค่ะ  เพราะตัวละครรอบตัวท่านจอมพลมีเยอะเหลือเกิน เกรงว่าแค่ ก -ฮ จะไม่พอให้ยืม

คุณหมอ CVT เตรียมกินข้าวกินปลา หยิบเสื่อมาปูพร้อมหมอนอิงให้พร้อม    หลังอาหารค่ำกับ ๓ เล่มแล้ว  พวกเราคงได้ฟังยาวเหยียดละทีนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 22:43

มาสายดีกว่าไม่มา อ่านน่ะเร็ว แต่พิมพ์นี่แหละช้า


นายวณิช ปานะนนท์ พูดญี่ปุ่นได้ สนิทสนมกับญี่ปุ่น จอมพล ป.ใช้นายวณิชเป็นตัวเชื่อมในนามของท่านหรือในนามของรัฐบาลไทย คือท่านพยายามที่จะต่อรองตั้งแต่ญี่ปุ่นยังไม่เคลื่อนทัพออกจากอินโดจีนฝรั่งเศส ขอให้เขาผ่านไปตีอังกฤษในมลายูกับสิงคโปรเลย เว้นไทยไว้หน่อยเพราะไทยไม่ใช่ศัตรูของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นบอกว่าไม่ได้ ที่ตั้งของประเทศไทยเป็นจุดยทธศาสตร์ และอังกฤษก็อยู่ในพม่าด้วย ยังไงๆญี่ปุ่นก็ต้องผ่านไทย จะให้ผ่านแบบเพื่อนหรือผ่านแบบผู้ยึดครองเท่านั้นเอง จอมพล ป.ก็เลือกเป็นเพื่อนกับญี่ปุ่นไว้ในใจ

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่เมืองไทยเพียงวันเดียว ทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพพร้อมด้วยนายทหารยี่สิบกว่าคน พวกนี้ฝังตัวอยู่ในกรุงเทพนานแล้วภายใต้หน้าฉากที่เป็นตากล้องบ้าง หมอฟันบ้าง พ่อค้าธรรมดาๆบ้าง วันนั้นแต่งเครื่องแบบติดยศ ขัดดาบซามูไรบุกทำเนียบเข้ามาขอพบนายกรัฐมนตรีแต่เช้า แต่จอมพล ป.ไปตรวจเยี่ยมทหารอยู่อรัญประเทศ พล.ต.อ.อดุลรองนายกรักษาการอยู่สั่งให้นายดิเรกกับนายวณิชไปถามว่ามีความประสงค์อะไร ทูตบอกว่ามาฟังคำตอบว่าจะยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านหรือไม่ จะขอคำตอบในบัดนี้ พล.ต.อ.อดุลให้ไปบอกว่าเรื่องนี้ใครก็ตัดสินใจไม่ได้ต้องรอนายกคนเดียว แต่กำลังจะกลับเข้ามาแล้ว ญี่ปุ่นรอแล้วรออีกจนทูตกลับไปก่อน ให้ทหารเฝ้าไว้เอาคำตอบให้ได้ว่าyesหรือno กว่าจอมพล ป.จะมาถึงก็เช้าวันรุ่งขึ้น พอกึ่งเดินกึ่งวิ่งขึ้นบันใดมาถึง ทหารญี่ปุ่นก็เข้ามาล้อมตัวขอคำตอบ

คุณจีรวัสส์ บุตรีของจอมพล ป.หรือป้าจีไปพูดตอนสัมนาที่ธรรมศาสตร์ ประมาณว่า ถ้าไม่มีนายวณิชอยู่ที่นั่นแล้วขวางญี่ปุ่นไว้  จอมพล ป.อาจถูกฟันขาดสองท่อนไปแล้ว นายวณิชขอร้องญี่ปุ่นว่า นายกจะต้องตัดสินใจในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้รออีกหน่อย จังหวะนั้นจอมพล ป.ก็แหวกพวกญี่ปุ่น วิ่งขึ้นบันไดก้าวละสองขั้นขึ้นมาห้องประชุมที่ชั้นสองได้ ป้าจีบอกว่าจอมพล ป.รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนายวณิชมาก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 22:54

นายวณิช คือใคร เดี๋ยวคุณย่านางจะถามอีก ก็จะขอว่าต่อไปเลย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี2475 คณะราษฎรจะขอจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองมิได้ เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังห้ามตั้งพรรคการเมือง บุคคลกลุ่มหนึ่งจึงได้ขอจดสมาคมคณะราษฎรขึ้นแทน โดยมีพระยานิติศาสตร์ไพศาล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม นายประยูร ภมรมนตรี เป็นอุปนายก และนายวณิช ปานะนนท์ เป็นเลขาธิการ ชื่อนายวณิชจึงเริ่มเข้ามาโยงใยกับการเมือง

เมื่อกระทรวงกลาโหมจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้นในปีพ.ศ. 2476 ได้มอบหมายให้นายวณิชเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายให้แก่ส่วนราชการ ทำให้สามารถซื้อน้ำมันได้ถูกลงกว่าที่ซื้อกับบริษัทฝรั่งประมาณปีละแสนเศษ ตรงนี้พล.ต.อ.อดุลนิยามนายวณิชว่าเป็นพ่อค้าแล้วเรียบร้อย เมื่อตั้งกรมเชื้อเพลิงเมื่อปี 2480 จอมพล ป.ก็แต่งตั้งเจ้ากรมคนแรกหรือสมัยนี้เรียกว่าอธิบดีคือ นายวณิชคนเดิมผู้ซึ่งดูแลเรื่องน้ำมันมาตั้งแต่แรก โดยใช้การบริหารคลังน้ำมันที่ศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบของประเทศไม่มีแหล่งน้ำมันของตนเอง
 
ตอนอยู่จุฬาขับรถกระป๋องไปเรียน ผมเคยเติมน้ำมันสามทหารลิตรละ2บาท ถูกกว่าตราหอย ตราม้าบิน 50สตางค์ ผมเติมทีละ5บาท ใช้ได้2-3วัน แต่รถไม่ค่อยวื่ง ถ้าวันไหนไม่จนจริงๆก็ไม่เติมสามทหาร กลัวรถพัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 23:00

พอญี่ปุ่นขึ้น จอมพล ป.ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เอานายปรีดีที่ญี่ปุ่นไม่ไว้ใจออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เอานายวิลาศ โอสถานนท์ที่ญี่ปุ่นไม่ชอบหน้าเพราะภรรยาเกี่ยวดองกับคนในรัฐบาลจีนออกไปนอนอยู่บ้าน เอานายวณิชมาแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีแทน  พล.ต.อ.อดุลโกรธมาก หาว่าญี่ปุ่นสั่ง จึงพยายามจับผิดว่านายวณิชขายชาติด้วยการเอาความลับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปบอกญี่ปุ่น ครั้งหนึ่งเอาหลักฐานอะไรไม่ทราบไปให้จอมพล ป.ดูแล้วบอกให้จอมพล ป.ไล่ออก จอมพล ป.ตกลงจะไล่ออก แต่พล.ต.อ.อดุลรออยู่นานไม่เห็นออกสักที ปรากฏว่าจอมพล ป.เกิดเปลี่ยนใจเฉยๆ

พล.ต.อ.อดุลให้ตำรวจเกสตาโปของตนพยายามเอาเรื่องนายวณิชขายชาติให้ได้ แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าหาหลักฐานไม่ได้ ในช่วงปลายสงคราม ญี่ปุ่นอ่อนลงมากแล้ว พล.ต.อ.อดุลก็สั่งจับนายวณิชข้อหากระทำการอันเป็นทุจริตต่อหน้าที่ คดียังไม่ทันถึงศาลปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ว่านายวณิช ฆ่าตัวตายในห้องขัง บรรดาสมาชิกสภากาแฟอ่านแล้วส่ายหัว เชื่อว่ามรณกรรมนี้ ตำรวจเป็นผู้อำนวยการสร้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 23:11

อย่างนี้นี่เอง
ในคำให้การของพลต.อ. อดุล  คดีจอมพลป. โดนข้อหาอาชญากรสงคราม นายวณิชโดนท่านอธิบดีปล่อยหมัดดุเดือดอยู่ไม่น้อย     ดิฉันก็เพิ่งรู้จากกระทู้นี้ว่านายวณิชเสียชีวิตไปแล้วตอนปลายสงคราม 
ขอแยกซอยหน่อยนะคะ  เข้าใจว่าหลายท่านในเรือนไทยคงจะยังจำน้ำมันสามทหารได้     ดิฉันลืมไปสนิท ไม่รู้ว่าหายไปจากประเทศเมื่อไร  หรือกลายเป็นปั๊มน้ำมันอะไรในเวลานี้
แต่จำได้ว่าเราไม่ค่อยจะนิยมใช้กัน  กลัวรถพังอย่างที่ว่า  น้ำมันที่ใช้กันมากที่สุดน่าจะเป็นเชลล์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 07:01

เรื่องของนายวนิชยังมีอีกนิดหน่อย อาจารย์ชีวินจากมศว.ประสานมิตรกล่าวในที่ประชุมสัมนาว่าจอมพล ป. ฉลาดยิ่งกว่าจะเดินเกมการเมืองโดยเปิดเผย มีการทูตใต้ดินตลอดเวลา กิจการระหว่างประเทศก็มีงานจารกรรมทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งทุกยุคสมัยการปกครองของไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาก็ใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้แหละ ตอนบั้นปลายชีวิตของจอมพล ป.ที่เลือกอยู่ในญี่ปุ่นจนถึงแก่อนิจกรรมนั้น ภรรยาของท่านบอกว่ากลุ่มมิตซุยได้มาช่วยอุปถัมภ์ อาจารย์ชีวินชี้เรื่องนี้เชื่อมโยงได้กับการค้าในอดีตของนายวนิช

คนญี่ปุ่นโดยเบื้องฐานเป็นคนมีจริยธรรมอย่างยิ่งตามประสพการณ์ที่ผมได้คบค้ากับเขามา ถ้าเราจริงใจเขาก็จริงใจด้วย ผมไม่แปลกใจเลยถ้าเรื่องที่อาจารย์ชีวินกล่าวนั้นจะเป็นความจริง เพราะคนญี่ปุ่นจะไม่ทอดทิ้งคนอย่างจอมพล ป.แน่นอน แม้จะเพราะนายวนิชหรือไม่ก็ตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 17 ก.ค. 10, 07:31

เพื่อความเป็นธรรมต่อนายวณิช การค้าขายกับต่างชาติในนามรัฐบาลนั้น คนอย่างพล.ต.อ.อดุลอาจให้ลูกน้องไปหาเอกสารมาตั้งข้อหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ได้ไม่ยาก เท็จจริงอย่างไรนายวณิชไม่มีโอกาสไปพิสูจน์ตนเองในศาล ผมไปเจอเรื่องนี้โดยบังเอิญในเนต ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ นายตำรวจสันติบาลได้บันทึกเรื่องราวของตนเองเมื่อ จอมพลผิน ชุณหวัน พ่อของอดีตนายกชาติชาย ร่วมมือกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังจากพ้นข้อกล่าวหาในคดีอาชญากรสงครามแล้ว ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในพ.ศ. 2490  เลยต้องขออนุญาตคัดมาฝากท่านผู้อ่านของผม
              …………………………………………………………………

คำสั่งทหารแห่งประเทศไทย
กระทรวงกลาโหม

เรื่อง ให้นายตำรวจออกจากราชการที่ ๖๙/๙๐ ๑๐ พ.ย. ๙๐

ให้นายตำรวจออกจากราชการดังมีรายนามต่อไปนี้๑.พ.ต.ต.เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ผู้กำกับการกอง ๒ กองตำรวจสันติบาล๒.ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ สารวัตรแผนก ๒ กองตำรวจสันติบาล ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

รับคำสั่ง ฯ

(ลงนาม) พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
รองผบ. ทหารแห่งประเทศไทย


^

ข้าพเจ้าทรุดตัวลงนั่งที่เก้าอี้หวายตัวใหญ่นั้นในห้องรับแขก ทบทวนดูคำสั่งนั้นครั้งแล้วก็ครั้งเล่า ช่างเป็นการง่ายดายเสียเหลือเกินในการปลดข้าพเจ้าออกจากราชการและสำเร็จลงในชั่วพริบตาเดียว นายทหารกองหนุนลุกขึ้นทำการรัฐประหาร แล้วสั่งปลดนายตำรวจประจำการโดยไม่มีความผิดแต่ประการใด นี่ความเป็นธรรมที่ข้าพเจ้าได้รับ คำสั่งนี้มิได้ผ่าน ก.พ. มิได้ผ่านเจ้ากระทรวง หรือมีคำสั่งของเจ้ากระทรวงออกทับสั่งการมาภายหลังแต่อย่างใด

ดวงตาของข้าพเจ้าพร่าพราวมองเห็นดวงหน้าจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผุดขึ้นในมโนภาพซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าพบท่านในห้องประชุมในกระทรวงกลาโหมเมื่อไม่กี่สิบชั่วโมงผ่านไปนี้เอง ข้าพเจ้าได้พบแต่แววตาที่สดใสแห่งมิตรภาพ แต่เหตุไฉนเล่าคำสั่งฉบับนี้จึงผ่านออกมาได้อย่างประหลาด ภาพดวงหน้าของจอมพล เลือนหายไป ภาพใบหน้าของนายวณิชย์ ปานะนนท์ก็ลอยเข้ามาแทนที่ หวลคิดไปถึงความหลังที่เกี่ยวข้องทำนองเดียวกัน

ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าเวรเป็นนายตำรวจที่รับผิดชอบควบคุม นายวณิชย์ ปานะนนท์ รัฐมนตรีผู้ตกอับเอามือล้วงดึงซองบุหรี่นาค ออกมาจากกระเป๋ากางเกงส่งลอดช่องซึ่ลูกกรงมาอวดข้าพเจ้า เมื่อได้พลิกดูแล้วก็ปรากฏว่ามีอักษรจารึกไว้ว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” แล้วก็มีลายเซ็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า ซองบุหรี่นาคนั้นเป็นของที่ระลึกจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ในโอกาสที่นายวณิชย์ไปเจรจาการเมือง ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวด้วยกรณีอินโดจีนเป็นผลสำเร็จ จึงได้จารึกว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” นายวณิชย์ส่ายหน้ากับข้าพเจ้าพร้อมทั้งกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียว แต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้ !”

ข้าพเจ้าสงสารเขา แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริง ๆ แม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้าน เพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกสัมมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลย และต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก

บัดนี้ จิตสำนึกใหม่เข้ามาแทนที่แล้วข้าพกลายเป็นคนบาปหนา มีจิตใจเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานที่ไม่ยอมผ่อนผันแม้แต่เรื่องผู้ต้องหาที่ไร้อิสรภาพ จะขอติดต่อกับทางบ้านเพียงยกหูโทรศัพท์เจรจาเรื่องขอกินนำพริกส้มมะขาม

ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลที่ประกอบทารุณกรรม ไม่มีจิตใจแห่งมนุษยธรรม ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจอยู่ไม่หาย ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ แหละบัดนี้ก็ถึงคราวข้าพเจ้าขึ้นมาบ้างแล้ว “เจรจาดีที่โตเกียว” นั้นย่อมแสดงสรรพคุณว่าอยูในขั้นเลิศ แต่แล้วลายเซ็นอันนั้นก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ และในที่สุดก็มรณภาพอยู่ในห้องขังนั้น


ข้าพเจ้าล่ะ, มีอะไรดีไปกว่าอดีตรัฐมนตรีวณิชย์ ปานะนนท์ที่วายชนม์ไปแล้วนั้นหรือ ? เปล่าเลยข้าพเจ้าไม่มีความดีอะไรที่ถึงกับอาจหาญเอาไปเปรียบเทียบกับบุคคลชั้นนั้นได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียง “ม้าใช้” ที่วิ่งไปมาเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นแล้ว ที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันถึงบุคคลคนเดียวกันนี้ว่า ท่านได้ส่งสายตาอันแนบสนิทมายังข้าพเจ้า แววตานั้นเต็มไปด้วยความสนิทสนมเป็นกันเอง ความเมตตาปรานีและอย่างมีมิตรภาพนั้นจะช่วยอะไรข้าพเจ้าได้บ้างเล่า ?

ข้าพเจ้าว้าเหว่เสียเกินแล้ว เหมือนกันเรือใบที่ปราศจากลูกเรือมีแต่ข้าพเจ้าแต่ผู้เดียวกำลังแล่นไปสู่ทะเลลึกโดยปราศจากเข็มทิศ ชีวิตของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องของอนาคต ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มี “นาย” แม้แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ก็ไม่ใช่นายของข้าพเจ้า เนื้อแท้นั้นคือข้าพเจ้าทำงานมาด้วยลำแข้งของตนเอง และบัดนี้ก็ถึงคราวที่จะต้องเผชิญชีวิตต่อไป

ข้าพเจ้าลงนามรับทราบคำสั่งนั้น อย่างดุษณียภาพโดยปราศจากเงื่อนไข ท่านผู้บังคับการสันติบาลส่งมือมาให้ข้าพเจ้าสัมผัส ท่านเขย่ามือข้าพเจ้าอย่างหนักแน่นและเห็นอกเห็นใจ มือของข้าพเจ้าถูกบีบอย่างแรงก่อนที่เราจะผละออกจากกัน

ข้าพเจ้าออกจากห้องรับแขกบ้านผู้บังคับการซึ่งอยู่ ณ มุมบริเวณกองสันติบาลนั้น ข้าพเจ้ายืดอกขึ้นเพ่งดูตัวตึกสันติบาลอันสง่างามนั้นด้วยความอาลัย ลาก่อนสันติบาล, ข้าพเจ้าจำต้องจากไปแล้วด้วยความรักและอาลัย เลือดเนื้อของข้าพเจ้าเป็นตำรวจทุกหยาดในกรมตำรวจ มีวิญญาณเป็นตำรวจทั้งหลับทั้งตื่น
            ………………………………………………………………



ผมคงต้องผ่านเรื่องของนายวณิชไปเพียงเท่านี้นะครับ มีผู้ใดงงมั้ยครับ งง..ก็ให้รู้ตัวว่างง   ไม่ต้องทำอะไร    สักพักก็จะลืมไปเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง