เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 138743 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 14:08

สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ  เมื่อนึกถึงคำว่าตำรวจ อาจนึกถึงผู้มีหน้าที่จับกุมคนร้าย   ทำให้เราอยากเล่นโปลิศจับขโมยมาแต่เด็ก ๆ มันสนุกดี   แต่สำหรับผู้มีอำนาจ ตำรวจมีความหมายกว้างกว่านั้น   เพราะรวมการสืบสวนลับ สอบสวนลับ และปราบปรามลับ ที่อาชีพอื่นทำไม่ได้  คนทำได้จะต้องถูกฝึกฝนมาตามสายงานเป็นอย่างดี
ในอดีตเช่นกัน  ผู้นำเผด็จการในยุโรป มักสถาปนารัฐตำรวจควบคู่กันไปด้วย  คือมีตำรวจสอดส่องอาณาประชาราษฎร์มิได้กระดิกกระเดี้ยนอกอำเภอใจของท่านผู้นำไปได้      ท่านสั่งหันซ้ายหันขวาไปทางไหนก็ต้องไปทางนั้น  เพื่อจะได้เป็นสุขตามสุขแบบที่ท่านเห็นชอบ  อย่าไปสุขออกนอกลู่นอกทาง
มือขวาของผู้นำเหล่านี้จึงมักจะเป็นตำรวจที่ไว้ใจได้ของท่านผู้นำ    ถ้าผู้มีอำนาจคนไหนละเลยต่อฝีมือตำรวจ ก็อาจจะพลาดท่า เกิดเหตุการณ์พลิกผันขึ้นในบ้านเมืองง่ายๆ

ในกระทู้พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าเรื่องนี้ไว้สั้นๆแล้วว่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข่าวปฏิวัติไม่ได้เงียบเชียบจนฝ่าย"เจ้านาย" ไม่กระโตกกระตากเรื่องนี้  ตรงกันข้าม  ข่าวการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร์ เล็ดรอดไปถึงอธิบดีตำรวจ   พระยาอธิกรณ์ประกาศถึงขั้นร่างหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรีและ นายตั้ว ลพานุกรม เอาไว้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตามเมื่อพระยาอธิกรณ์ประกาศนำเรื่องเข้าทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และทรงสั่งให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน   เพราะทรงเชื่อในเกียรติของทหารว่าจะไม่ทำอะไรแบบนี้

สรศัลย์ แพ่งสภา เล่าว่า

“เมื่อ พลตำรวจตรี พระยาอธิกรณ์ ประกาศกราบทูลรายงานแด่ จอมพล สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรื่องคณะบุคคลคิดการร้าย พร้อมทั้งถวายรายชื่อระดับหัวหน้า เสนาบดีทรงพระสรวล รับสั่งว่า พวกนี้มัน ขเด็ทเยอรมัน (สังคมนายร้อยยุคเก่าที่เรียนจบจากเยอรมนีเรียกขานกัน) รุ่นหลังฉันทั้งนั้น ตาพจน์(พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา) ก็รู้จักใกล้ชิดแกจะคิดยังงั้นได้ยังไง ซ้ำเคยเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.7) ครั้งเสด็จประพาสชวาด้วย นายเทพ (พันเอก พระยาทรงสุรเดช) นี่จะเอามาเป็นนายทหารประจำตัวฉันอยู่แล้ว ประยูรนี่ก็ลูกครูแย้ม มหาดเล็กพระมงกุฎที่ท่านทรงฝากเข้าโรงเรียนนายร้อยด้วยพระองค์เองนี่นา”

ผลจากความไว้เนื้อเชื่อพระทัย การปฏิวัติครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นมา    วันที่พระประศาสตร์พิทยายุทธ์และร้อยโทประยูร ภมรมนตรีไปควบคุมตัวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯออกมาจากวังบางขุนพรหมเพื่อไปคุมขังไว้เป็นตัวประกัน     พระยาอธิกรณ์ประกาศก็อยู่ที่นั้นด้วย   ท่านทำท่าจะไม่ยอม แต่เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงห้ามคนของท่านทั้งหมดมิให้ใช้อาวุธ   เดี๋ยวจะนองเลือดไทยด้วยกันขึ้นมา
พระประศาสตร์ฯจึงทำการได้สำเร็จ  
ส่วนผลข้างเคียงคือพระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูก "เช็คบิลล์" ครั้งใหญ่ ถึงขั้นถูกพักและปลดออกจากราชการหลังคณะราษฎร์ยึดการปกครองได้ไม่ถึงเดือน
แต่ก็ยังดีที่เป็นการปลดแบบมีบำเหน็จบำนาญ  ท่านจึงใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับบ้าน ท่ามกลางข่าวลือว่าท่านจะร่วมมือกับ"เจ้า" ปฏิวัติกลับ   แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นดังข่าวลือ   ท่านอยู่บ้านอย่างสงบ จนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๘
พระยาอธิกรณ์ประกาศมีบุตรหลายคน   หนึ่งในจำนวนนั้นชื่อคุณไกรศรี  เราอาจไม่ค่อยเคยได้ยินชื่อคุณไกรศรีต่อสาธารณชนมากนัก   แต่บุตรของคุณไกรศรี คงไม่มีใครในชั้นเรียนกระทู้นี้ที่ไม่รู้จัก   เขาชื่อคุณกรณ์ จาติกวณิช
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 14:33

ขอเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง  เพื่อจะนำเข้าสู่เรื่องของสองคุณหลวง ตามหัวข้อกระทู้
จากอัตชีวประวัติของพลโท ประยูร ภมรมนตรี  เล่าไว้ในเว็บโอเคเนชั่น

เวลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. หลวงพิบูลสงครามและคณะ ได้นำจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์...มาในรถถัง ส่งให้ที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม
ข้าพเจ้าถวายคำนับ เชิญเสด็จฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด
ตรัสว่า "ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศ บอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม"

ข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถาม "จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ" เมื่อเข้าไปประทับในที่ประทับด้านหน้า ข้าพเจ้าสำนึก วางปืนก้มกราบขอพระราชทานอภัย
ทรงรับสั่งถาม "ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม?"
"ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ" ทรงกริ้ว รับสั่งหนักแน่นว่า "ตาประยูร แกเป็นกบถ โทษถึงต้องประหารชีวิต"
ทรงรับสั่งถามต่อไป "พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม" ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ใช่"
ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า "แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร"
"อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนีย" ข้าพเจ้ากราบทูล
ทรงถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไร เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า "เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา 150 ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ"
ทรงถามถึงการศึกษา เมื่อกราบทูลว่าเรียนรัฐศาสตร์จากปารีส ทรงสำทับ "อ้อ มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปีย มารา และกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีน เฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบถ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้"
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ตามประวัติศาสตร์ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น"


จอมพล ป.ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองกว่านายทหารยศพันโทด้วยกัน เพราะการปฏิวัติในวันนั้น      ท่านก็ดึงเพื่อนรักขึ้นสู่ความรับผิดชอบสำคัญด้วย    
เรามาดูเส้นทางราชการของคุณหลวงอดุลดีกว่า  ว่ามองเห็นอะไรบ้าง
หลวงอดุล  อดุลเดชจรัส เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2459  อายุ 21 ปี เป็น นายร้อยตรี สังกัดกระทรวงกลาโหม  เติบโตจากนายร้อยเป็นนายพัน  อายุ 37 ปี เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ ในพ.ศ. 2475   เป็นตำแหน่งสุดท้ายในราชการทหาร
จากนั้น ท่านก้าวข้ามสีจากเขียวเป็นกากี พรวดเดียวในปีต่อมา เป็น giant step  คือ ในพ.ศ.2476 ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ในขณะที่ พ.ต.อ.พระยาอนุสรณ์ธุรการ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
ไม่เคยเป็นพันเอกนายทหาร  ไม่เคยเป็นผู้กำกับตำรวจ  ผู้บัญชาการตำรวจ หรือแม้แต่ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ  แต่ว่าพาสชั้น แบบขึ้นลิฟต์ของตึกเอมไพร์สเตท คือสปีดขึ้นทีเดียว 180 ชั้น
อีกสามปีต่อมา ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ  และหนึ่งปีต่อมาใน พ.ศ.2480 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวัย 42 ปี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 14:43

ส่งกระทู้คืนท่านกูรูใหญ่กว่า   เหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2480  เป็นต้นไป   ท่านคงจะเล่าได้ละเอียดดีกว่าดิฉัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 15:31

เห็นมะ ท่านอาจารย์เทาชมพูเปิดโอกาสให้ผมเข้าไปเก็บตกเรื่องของสองเกลอได้อีกนิดหน่อย ตอนนี้โรงนี้กำลังฉายหนังควบ คนแสดงคู่นี้แต่คนละเรื่องเดียวกัน ท่านจะเข้าไปอ่านเรื่องโหดๆของผู้มีอำนาจอยู่ในมือได้จากทางโน้นบ้างเล็กน้อย

พลตรีอนันต์ พิบูลสงครามเขียนไว้ในหนังสือปกเขียวว่า บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่บางซื่อนั้น บ้านของหลวงพิบูล รองผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่กับบ้านของหลวงอดุล ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ อยู่ห่างจากกันเพียงเดินสองสามนาที บ้านของหลวงพิบูลมีศาลาท่าน้ำซึ่งเป็นที่สังสรรของบรรดาลูกน้องนายทหาร เจ้าประจำที่มาแทบทุกวันคือหลวงอดุล

วันหนึ่งเด็กชายอนันต์เห็นบิดากับหลวงอดุลถมึงทึงใส่กัน และหลวงอดุลผลุนผลันออกไปจากบ้านแบบไม่ร่ำไม่ลา  หลวงพิบูลอธิบายให้ภรรยาฟังว่า หลวงอดุลเขาโกรธที่ฉันเสนอให้ย้ายเขาไปเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ
 
คำอธิบายแถมในหนังสือเล่มนั้นกล่าวสรุปว่า หลวงอดุลอยากเป็นผู้รักษาบ้านเมืองกว่าผู้รักษากฏหมาย ถ้าจริงตามนั้นไม่ได้เขียนแบบว่ากลอนพาไป ผมก็เห็นว่าจริง เพราะตอนหลวงอดุลเป็นตำรวจใหม่ๆไม่เอากฏหมายเลย ใช้ความรุ้สึกของตนเองวัดอย่างเดียวว่าใครเป็นศัตรูของเพื่อน คนนั้นคือศัตรูของบ้านเมือง ต้องกำจัด

ถึงเวลาจำเป็น หลวงอดุลก็เล่นบทผู้ช่วยผู้ร้ายได้ดี ควรคู่กับรางวัลตุ๊กตาทองดาราประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยมทีเดียว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 15:56

พลตรีอนันต์ พิบูลสงครามเขียนไว้ในหนังสือปกเขียวว่า บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่บางซื่อนั้น บ้านของหลวงพิบูล รองผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่....มีศาลาท่าน้ำซึ่งเป็นที่สังสรรของบรรดาลูกน้องนายทหาร เจ้าประจำที่มาแทบทุกวันคือหลวงอดุล

บ้านจอมพล ป. มีห้องลับหลบออกคลองไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

รูปจาก
http://gotoknow.org/blog/sutthinun/215336?page=1


บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 16:12

ขอบพระคุณท่านจ.ข.ก.ท.ครับผม ถ้าจะกรุณาขยายความจากรูปที่ท่านจอมพลฯถ่ายกับภรรยาและบุตรทั้ง 3 ก่อนไปศึกษาต่อสักหน่อย จะเป็นพระคุณยิ่งครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 17:15

ศ.กนต์ธีร์ ศุภมงคล เขียนไว้ในหนังสือครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

“ท่านจอมพลเป็นผู้มีเสน่ห์ทางการเมืองเป็นพิเศษ มีเหลี่ยมคูหาเสมอเหมือนมิได้ สามารถใช้ถ้อยคำนุ่มนวล อ่อนหวาน ดูดดึงใจอย่างกว้างขวาง นักการเมืองสมัยท่านต่างพากันเรียงหน้าวิ่งเข้าหา ต่างกับนายกรัฐมนตรีสมัยหลังๆที่ต้องออดอ้อนพะเน้าพะนอนักการเมืองเพื่อคะแนนเสียงสนับสนุนในรัฐสภา แม้แต่ทูตต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย อยู่ได้ไม่นานเท่าใดพอใกล้ชิดท่านล้วนถูกโน้มน้าว เกิดศรัทธาในตัวท่าน ทุกคนนิยมติดต่อกับท่านโดยตรง”

หลวงอดุลถึงโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงยังไงที่ต้องไปเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเป็นตำรวจ   ก็ยังถูกโน้มน้าวจนสำเร็จ  และยังศรัทธาต่อเพื่อนรักไม่เสื่อมคลาย
อุดมการณ์เพื่อนคืออุดมการณ์ท่าน   ศัตรูของเพื่อนคือศัตรูของท่าน  ไม่ว่าจอมพลป.คิดอะไรทำอะไรทางการเมือง   ในช่วง 2480 ต้นๆ  ท่านก็เห็นด้วยเสมอ
เราคงจำได้จากรายงานการประชุม ค.ร.ม. เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย   จากกระทู้พระยาทรงสุรเดช       ว่าหลวงอดุลเป็นเสียงหนึ่งที่ยอมแพ้ญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน   ปานประหนึ่งพูดแทนใจจอมพลป.เสียเอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 17:22

เอาใจขาประจำ คุณมานิตซะทีนึงก่อน

ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ กับนางละเอียด(พันธุ์กระวี) ถ่ายกับบุตรและธิดาในรูปคือ

1 เด็กชายอนันต์ ต่อมาคือพลโทอนันต์ พิบูลสงคราม สมรสกับ หม่อมหลวงพร้อมศรี สนิทวงศ์ (บุตรีหม่อมราชวงศ์พร้อมใจ สนิทวงศ์ (พระสนิทวงศ์อนุวรรต)
2 เด็กชายประสงค์ ต่อมาคือพลเรือโทประสงค์ พิบูลสงคราม สมรสกับ นางเรืองยศ เกตุนุติ
3 เด็กหญิงจีรวัสส์ ต่อมาคือนางจีรวัสส์ ปันยารชุน สมรสกับ ดร.รักษ์ ปันยารชุน (พี่ชายนายอานันท์ ปันยารชุน)อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ที่เกิดทีหลังภาพถ่ายนี้

4 เด็กหญิงรัชนิบูล ต่อมาคือนางรัชนิบูล ปราณีประชาชน สมรสกับ พลตำรวจโทชูลิต ปราณีประชาชน
5 เด็กหญิงพัชรบูล ต่อมาคือนางพัชรบูล เบลซ์ สมรสกับนายปีเตอร์ เบลซ์
6 เด็กชายนิตย์ ต่อมาคือนายนิตย์ พิบูลสงครามอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมรสกับ นางพัชรินทร์ พิบูลสงคราม (แพทริเชีย ออสมอนด์)



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 18:03

จะเริ่มสู่ม้วนสองตรงที่ ทั้งสองท่านก็ได้กราบบังคมทูลลาออกจากบรรดาศักดิ์พร้อมกันทั้งครม. ดังนี้


๑.จอมพล  หลวงพิบูลสงคราม   จอมพล  แปลก  พิบูลสงคราม
๒.นายพลโท  หลวงพรหมโยธี   นายพลโท  มังกร  พรหมโยธี
๓.นายพลตรี  หลวงเสรีเริงฤทธิ์   นายพลตรี  จรูญ  รัตนกุล  เสรีเริงฤทธิ์
๔.หลวงประดิษฐมนูธรรม   นายปรีดี  พนมยงค์
๕.หลวงนฤเบศร์มานิต   นายสงวน  จูฑะเตมีย์
๖.หลวงวิจิตรวาทการ   นายวิจิตร  วิจิตรวาทการ
๗.นายพันเอก  พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ   นายพันเอก  เภา  เพียรเลิศ  บริภัณฑ์ยุทธศิลป์
๘.หลวงชำนาญนิติเกษตร์   นายอุทัย  แสงมณี
๙.นายพลอากาศตรี  พระเวชยันตรังสฤษฎ์   นายพลอากาศตรี  มุนี  มหาสันทนะ  เวชยันตรังสฤษฎ์
๑๐.หลวงเดชสหกรณ์   หม่อมหลวงเดช  สนิทวงศ์
๑๑.นายพันตรี  หลวงโกวิทอภัยวงศ์   นายพันตรี  ควง  อภัยวงศ์
๑๒.นายพันตรี  หลวงเชวงศักดิ์สงคราม   นายพันตรี  ช่วง  เชวงศักดิ์สงคราม
๑๓.นายพลตำรวจตรี  หลวงอดุลเดชจรัส   นายพลตำรวจตรี  อดุล  อดุลเดชจรัส
๑๔.ขุนสมาหารหิตะคดี   นายโป-ระ  สมาหาร
๑๕.นายนาวาเอก  หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์   นายนาวาเอก  ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์
๑๖.นายพลเรือโท  หลวงสินธุสงครามชัย   นายพลเรือโท  สินธุ์  กมลนาวิน
๑๗.นายนาวาอากาศเอก  หลวงกาจสงคราม   นายนาวาอากาศเอก  เฑียร  เก่งระดมยิง
๑๘.นายพลตรี  หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต   นายพลตรี  พิชิต  เกรียงศักดิ์พิชิต
๑๙.นายพลเรือตรี  หลวงนาวาวิจิต   นายพลเรือตรี  ผัน  นาวาวิจิต
๒๐.นายพันเอก  หลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์   นายพันเอก  เพียร  สฤษฎ์ยุทธศิลป์  พิริยะโยธิน
๒๑.นายนาวาเอก  หลวงสังวรยุทธกิจ   นายนาวาเอก  สังวรณ์  สุวรรณชีพ

ข้างบนผมไปปาดของคุณหลวงเล็กมาจากกระทู้ข้างๆ คงไม่ต้องฉายซ้ำนะครับว่าอยู่ดีๆ ทำไมคุณหลวงคุณพระทั้งหลายจึงได้ลุกขึ้นมาสลัดศักดินาทิ้งกันในตอนนั้น
ผมเอาคำให้การของพระองค์อาทิตย์ อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาเสริมดีกว่า อดหัวเราะตรงที่ขีดเส้นใต้ไว้ไม่ได้ ท่านผู้อ่านคงเห็นภาพพจน์

เริ่มต้นภาคสองจอมพล ป.เป็นจอมพล พล.ต.อ.อดุล เป็นพลตำรวจตรี ห่างกันโขอยู่



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 18:21

ข้อมูลจากคำให้การเช่นนี้แหละ ที่ตรงกับความรู้สึกในใจลึกๆของคนตรงอย่างพล.ต.อ.อดุล


บันทึกการเข้า
yanang
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 22:53

ขอยกมือถามค่ะอาจารย์

ขุนนิรันดรชัย นี่ท่านเป็นใครและมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอะไร
ทำไมถึงดูมีบทบาทค่อนข้างมากคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 07:29

ขุนนิรันดรชัย เป็นผู้ก่อการคณะราษฎรรุ่นเด็ก ทำงานรับใช้ผู้ใหญ่มาตลอด ตอนหลังจอมพล ป. ไว้ใจมาก เข้านอกออกในได้พอๆกับพล.อ.ต.อดุล ทำหน้าที่ประสานระหว่างจอมพล ป. (ในนามของรัฐบาล) กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 8 ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลให้กระทำการแทนพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์และศึกษาอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์  ประกอบด้วย เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ได้รับการแต่งตั้งหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์) ที่ยิงพระองค์เองสิ้นพระชนม์คราวที่ถูกคณะราษฎร์บีบบังคับให้ลงนามยึดพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มาเป็นของแผ่นดิน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเหลือเพียง 2 คน ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เพราะความกลัวที่ถูกจอมพล ป. โกรธเพราะไปลงพระนามแต่งตั้งให้นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี ทรงให้การในศาลว่า “ข้าพเจ้าได้ถูกกดขี่ข่มเหงมาทำนองนี้หลายครั้ง ข้าพเจ้าสารภาพว่าข้าพเจ้ากลัว เพราะข้าพเจ้าตัวคนเดียวไม่มีพวกพ้อง”
เมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาลาออกแล้วไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเพิ่ม จึงมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

 ตลอดเวลาดังกล่าวขุนนิรันดรชัย อยู่ในตำแหน่งในตำแหน่งเลขาธิการคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชสมบัติและรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จขึ้นมาแทนองค์พระมหากษัตริย์ไม่นาน คณะราษฎร์ได้จัดรายการ จึงบอกเพื่อน กระซิบชวนให้จับจองซื้อที่ดินแปลงหรู ทำเลเลิศ ผ่อนง่ายๆสบายๆ ไม่มีดอกเบี้ย โดยเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ ที่ได้รับพระราชทานมา(ฟังดูเป็นศิริมงคลดีนะครับ)มาขายกันถูกๆ ที่ดินแถวสาธร วิทยุ และในเมืองอีกหลายแปลง เป็นเหตุให้ผู้แทนฝ่ายตงฉินนำมาอภิปรายในสภาถึงกับรัฐบาลพระยาพหลทนถูกด่าไม่ได้ ลาออกเปิดทางให้หลวงพิบูล(ซึ่งรีบคืนที่ดินเพิ่งจะซื้อมาเหมือนกันนั้นไปด้วยความกระดาก)
แต่ที่ดินของพระคลังข้างที่ ที่โอนขายไปแล้วถือว่าหลังเย็น ใครจะได้ไปบ้างผมไม่ทราบ ทราบแต่ที่เขากล่าวกันว่าพอยึดการปกครองได้แล้วพวกคณะราษฎรขยันทำมาหากินรวยกันใหญ่ ก็ประวัติของผู้ก่อการระดับแกนนำห้าหกคนที่ผมนำมาเสนอล้วนรวยเกียรติแต่ไม่รวยสมบัติกันทั้งนั้น แล้วใคร พวกไหนกันเล่าที่รวยเละตุ้มเป๊ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 07:34

ถ้าคุณย่านางอยากทราบเรื่องของขุนนิรันดรชัยมากกว่าที่ผมเล่า ก็ลองเอาคำว่า ขุนนิรันดรชัย ไปป้ายในกูเกิน แฟ้บบบ..คลิ๊ก….จะออกมาเป็นตับ แต่สองเวปนี้ผมว่าน่าเข้าไปเยี่ยม และโปรดใช้วิจารณาญาณของท่านด้วย อย่าเชื่อข้อมูลสาธารณะนัก
 
PANTIP.COM : K4795252 จุดจบของคณะปฏิวัติไทย [ประวัติศาสตร์]
6 พ.ย. 2006 ... กำลังจะสร้างบ้านที่บางเขน พอขุนนิรันดรชัยทราบก็นำเหล็กเส้นไปกองไว้ให้พอที่จะสร้างบ้านได้โดยไม่ต้องซื้อจากที่อื่น เมื่อจอมพล ป. ...

เปิดกรุที่ดิน หมื่นล. ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ ...
2 ก.พ. 2008 ... นายธรรมนูญ นิรันดร ทายาทขุนนิรันดรชัย อดีตราชเลขานุการในรัชการที่ 8 เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่มีข่าวว่าได้ประกาศขายที่ดินพื้นที่ประมาณ ...

อ่านแล้วไม่ต้องนำมารายงานผมก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 08:30

เอาใจขาประจำ คุณมานิตซะทีนึงก่อน

5 เด็กหญิงพัชรบูล ต่อมาคือนางพัชรบูล เบลซ์ สมรสกับ นายปีเตอร์ เบลซ์

ขออนุญาตย้อนถึงเรื่องครอบครัวท่านจอมพลนิดนีง

ปกหนังสือเดลิเมล์เบื้องหลังข่าว ๑๕ วันหลัง เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙  ชีวิตรักของธิดาจอมพล พัชรบูล "น้อย"พิบูลสงคราม (ธิดาคนสุดท้องใน ๖ คน) กับเรือโทหนุ่มอเมริกัน ระบุว่าชื่อ เรือโท ราล์ฟ เปอร้อตต้า



http://www.cokethai.com/board/viewtopic.php?t=2685&sid=e6eb3142a9880be0698c11f70e999918

ชื่อแรก หรือ ชื่อหลัง หรือทั้งสองชื่อ

อย่างไหนถูกกันแน่

 ฮืม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 10:00

^
อย่าไปสนใจเธอเลยครับ สนใจคุณพ่อของเธอดีกว่า

นี่ไงที่เขาว่าไม่ยุติธรรมต่อสตรี ใครมีสามีมาแล้วกี่คนๆ เดี๋ยวนี้ตามรอยเข้าไปเสาะหาได้หมด
ทีคุณพ่อ มีภรรยากี่คนต้องฟลุ๊กๆจึงจะเจออีกสักคนหนึ่ง เดี๋ยวคงต้องพูดกันเพราะหลวงอดุลนำมาอ้าง
ในเมื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังพลิกผันกลับไปกลับมา ผมคงจะเล่าได้

ตอนนี้เอาเรื่องที่ดินของพระเจ้าอยู่หัวให้จบก่อน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง