เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 139256 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 330  เมื่อ 29 ก.ค. 10, 20:38

(ต่อ)
    (ทนาย) ถามว่า  " เหตุการณ์ที่ระนอง เป็นอย่างไรบ้าง "
    (นายพลนากามูระ)  ตอบว่า  " เหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนรัฐบาล
จากจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็นนายควง อภัยวงศ์ และกองกำลังส่วนหนึ่งซึ่งสังกัดกองทัพมลายูของญี่ปุ่น   กองกำลังนั้นอยู่ติดกับกองทัพของข้าพเจ้าซึ่งไม่ทราบสถานการณ์อย่างแน่ชัดในขณะนั้น เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ขึ้น   เป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาด และน่าเสียใจอย่างมาก ในตอนนั้น ข้าพเจ้าในฐานะเป็นผู้แทนของ พล.ท.อิชิคูโระ ผู้บัญชาการกองทัพมลายู ได้กล่าวขอขมาต่อฝ่ายไทย และเป็นผู้นำคำขออภัยของรัฐมนตรีกลาโหมหัวหน้าเสนาธิการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการกองทัพใหญ่จอมพลเทราอูจิ ไปมอบให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีควง และรัฐมนตรีกลาโหม พล.ร.อ. สินธุ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม "
     (ทนาย)  ถามว่า  " จอมพล ป. พิบูลสงครามให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และสม่ำเสมอกับฝ่ายญี่ปุ่นหรือไม่ "
    (นายพลนากามูระ)   ตอบว่า  " ประเทศญี่ปุ่นและไทยเป็นสัมพันธมิตรกัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนักการเมืองที่น่านับถือยกย่อง ท่านได้ให้ความร่วมมือตามการเรียกร้องของทหารญี่ปุ่น    ภายใต้ขอบเขตที่จำเป็นตามหลักของสัมพันธมิตร ท่านได้แสดงให้เห็นอย่างองอาจว่าจะไม่ปฏิบัติเรื่องใดๆที่กระทบกระเทือนต่อเอกราชและศักดิ์ศรีของประเทศไทย "
    (ทนาย)  ถามว่า  " ถ้าเช่นนั้น มีอะไรเป็นตัวอย่างบ้าง "
  (นายพลนากามูระ)ตอบว่า " เรื่องเอกอัครราชฑูตทสุโบกามิ ขอร้องให้เขาไปเข้าร่วมประชุมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเซียบูรพาถึง ๓ - ๔ ครั้ง   ข้าพเจ้าไปพร้อมกับเอกอัครราชฑูตด้วยอีก ๒ ครั้ง แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตอบปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง"
    (ทนาย)  ถามว่า " มีตัวอย่างอื่น ๆ อีกหรือไม่ "
    (นายพลนากามูระ)  ตอบว่า  " จอมพล ป.พบูลสงคราม ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ เมื่อพิจารณาสถานการณ์
ทั่วไปของสงครามมหาเอเซียบูรพาแล้วการเริ่มสร้างเมืองหลวงใหม่เป็นการขัดกับข้อเรียกร้องของฝ่ายญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งต้องการวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก เพื่อไปสร้างและซ่อมถนน ท่านไม่ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างแข็งขันเลย คือ ไม่ได้ยุติการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ข้าพเจ้าสามารถบอกเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน  และมีความเชื่อมันในข้อเท็จจริงที่ว่า
     ข้อที่หนึ่ง  การที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าร่วมเป็นสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพราะว่าท่านรักเมืองไทย   ท่านพยายามรักษาเอกราชของเมืองไทยและท่านไม่มีเจตนาที่จะสู้รบกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
  ข้อที่สอง  จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นนั้น เฉพาะภายในขอบเขตหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติในฐานะเป็นกองทัพสัมพันธมิตร และเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารญี่ปุ่นปฏิบัติแบบที่อยู่ในประเทศอินโดจีน - ฝรั่งเศส ข้อนี้ขึ้นกับความสามารถของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นสำคัญ นี่คือการตัดสินใจอย่างแน่วแน่และเป็นการปฏิบัติของผู้ที่รักชาติ ท่านเป็นบุคคลที่คนไทยน่าจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ   
      สรุปแล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้รักชาติอันดับหนึ่งของเมืองไทย และต้องมารับเคราะห์กรรมถูกนินทาว่าร้ายจากฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยลำพังเพียงคนเดียว ท่านไม่สู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อช่วยรักษาสภาพประเทศไทยไม่ให้ถูกเผาทำลาย สามารถรักษาเอกราชของไทยมาได้จนถึงทุกวันนี้   ท่านเป็นปูชนียบุคคลและเป็นผู้ที่สามารถรู้แนวโน้มของสถานการณ์ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรักษาเอกราชของไทย " 
      การให้ปากคำของข้าพเจ้า(คือนายพลนากามูระ)มีเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าจับมือกับพระมนูภาณฯ อย่างหนักแน่น และท่านได้ลา
กลับไป หลังจากนั้นอีกไม่นาน ศาลฎีกาได้มีคำตัดสินว่าการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามนั้นขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญของไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และคณะทุกคนได้รับการปลดปล่อย และพวกข้าพเจ้าได้ฉลองและดื่มสุราแสดงความยินดีกับพวกเขาในครั้งนั้นด้วย

   ท่านจอมพลได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบกับครอบครัวชั่วระยะหนึ่ง โชคชะตาก็ได้นำให้ท่านกลับเข้ามาทำงานให้แก่ชาติบ้านเมืองอีกครั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐


       แม่ทัพญี่ปุ่นมาเป็นพยานให้จอมพลป. ว่าเป็นผู้รักชาติอันดับหนึ่ง   ทำทุกอย่างเพื่อรักษาเอกราชของไทยไว้  แต่กลับมีเคราะห์กรรมถูกกล่าวหาโดยฝ่ายอังกฤษ  ถ้าหากตัดประเด็นเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้ข้อหาต่อท่านจอมพลป. ตกไป   ศาลก็คงต้องพิจารณากันหนักเหมือนกันว่าจะเอาผิดท่านได้หรือไม่    ก็ญี่ปุ่นเขามายืนยันหนักแน่นขนาดนี้แล้วว่าท่านรักชาติ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 331  เมื่อ 29 ก.ค. 10, 21:58

ลองมาทำความรู้จักกับนายพลนากามูระ  เพิ่มเติมจากที่คุณนวรัตนเล่าไว้แล้ว อีกนิดหน่อย นะคะ
ในบันทึกของเขาที่ชื่อว่า Buddhist Commander – The Memory of General Nakamura about Thailand during the Greater East Asia War' เขาเล่าเอาไว้สอดคล้องกับคำให้การคดีอาชญากรสงครามของจอมพล ป.
นายพลนากามูระไม่เห็นว่ากองทัพญี่ปุ่นในไทย มี"แสนยานุภาพ" อะไรมากนัก  กำลังคนก็ไม่ได้มากมายมหาศาลอะไร  แต่ในเมื่อไทยยินยอมเป็นพันธมิตรด้วยดี ก็น่าจะทำให้นายพลญีปุ่นโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง
สิ่งที่เขาเน้นก็คือหน้าที่ที่จะทำให้ญี่ปุ่นกับไทยประสานกันได้ ไม่ถึงกับลุกขึ้นต่อต้านจนนองเลือดกันไปทั้งสองฝ่าย    นายพลนากามูระยึดนโยบายอะลุ้มอล่วยมากกว่าปราบปรามเฉียบขาด  ถ้าใครอ่านก็คงรู้สึกว่าท่านนายพลดูจะพยายามผ่อนหนักให้เป็นเบาสำหรับญี่ปุ่นในหลายๆเรื่อง   แม้แต่เรื่องเชลยศึกไปตายกันมากมายก่ายกองในการสร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรี    ท่านก็บอกว่าเป็นเพราะโรคอหิวาต์ระบาดจนตายไปมาก   มากกว่าเป็นเพราะถูกทารุณใช้งาน
ส่วนจอมพลป.พิบูลสงครามในสายตาของท่านนายพลญี่ปุ่น   ก็เป็นพันธมิตรจำยอมเสียมากกว่าสมัครใจ   ท่านบอกว่าจอมพลป.ไม่ค่อยจะปลื้มเปรมกับญี่ปุ่นนัก   ญี่ปุ่นจัดการประชุมร่วมกระชับมิตรวงศ์ไพบูลย์ จอมพลป.ก็ไม่ไปเองแต่ส่งตัวแทนไป     ท่านนากามูระยังบอกว่านายกรัฐมนตรีควงเสียอีก เป็นมิตรดีกว่า
เรื่องน่าสนใจในบันทึกนี้คือ นายพลนากามูระบอกไว้ว่ากำลังกองทัพญี่ปุ่นในไทยจะว่าไปก็ไม่มากพอจะจัดการอะไรได้เด็ดขาดลงไป   รวมทั้งระแคะระคายเรื่องเสรีไทย แต่ปราบปรามให้เหี้ยนเตียนลงไปไม่ไหว    นอกจากนี้่ผู้ใหญ่ของไทยอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ก็อยู่นอกเหนืออำนาจญีปุ่นจะไปทำอะไรได้      ส่วนคนสำคัญอีกคนหนึ่งคืออธิบดีตำรวจนั้น  ลึกลับและเข้าพบยากที่สุด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 332  เมื่อ 29 ก.ค. 10, 22:49

บันทึกของนายพลตำรวจของไทย กับนายพลทหารของญี่ปุ่น  มีมุมมองต่างกัน  

ญี่ปุ่นมองว่าตัวเองไม่ได้มีกองทัพใหญ่โตอะไรนัก ที่มายึดครองไทย      ยิ่งอยู่นานจนปลายสงคราม กำลังก็ยิ่งเปลี้ยลง
ไม่ว่าจะยอมรับตรงๆหรือไม่ก็ตาม  มันก็มีความหมายระหว่างบรรทัดว่า ญี่ปุ่นก็หนักใจอยู่ไม่น้อยกับการแข็งขืนลึกๆของไทย  แต่จะจัดการอย่างไรมากกว่านี้ก็ไม่ได้   จึงพยายามประคองอำนาจตัวเองไว้  ไม่ให้สถานการณ์ติดลบลงไปมากกว่านี้อันจะทำให้ต้องแตกหักกัน    ส่วนจะเพิ่มเป็นบวก เห็นจะไม่ต้องหวัง

ในขณะที่พลต.อ.อดุลย้ำในคำให้การหลายครั้งว่า ต้านทานญี่ปุ่นด้วยความหนักใจ    ต้องลอบเร้นเรื่องช่วยเหลือติดต่อเสรีไทยไม่ให้ญี่ปุ่นรู้   นอกเหนือจากไม่ให้จอมพลป. รู้  ก็แปลว่าอำนาจญี่ปุ่นยังยิ่งใหญ่อยู่ในไทย ในสายตาคนไทย

ส่วนญี่ปุ่นก็บอกว่ารู้ระแคะระคายแต่ทำอะไรไม่ได้     ก็แสดงว่าอำนาจของญี่ปุ่นในตอนปลายสงครามไม่ได้มีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด    มีหลายครั้งที่ญี่ปุ่นจะจับกุมเสรีไทยแต่ตำรวจไทยชิงตัวมาจับกุมสอบสวนเสียก่อน  ญี่ปุ่นก็แทรกแซงเข้ามาไม่ได้สักที    ดร.ป๋วยถึงลอยนวลไปติดต่อนัดพบอธิบดีตำรวจและประสานงานกับพันธมิตรอเมริกาอังกฤษจนสำเร็จ     แสดงว่าอำนาจของนายพลตำรวจไทยก็บิ๊กเบิ้มอยู่ไม่น้อยสำหรับนายพลญี่ปุ่น

เรื่องเมืองหลวงเพชรบูรณ์ของจอมพล ป.     ญี่ปุ่นเองก็พอรู้ๆอยู่ แต่ก็สั่งให้ยุติไม่ได้    ทั้งๆการก่อสร้างใช้วัสดุและแรงคนไทยที่ญี่ปุ่นอยากจะเอาไปใช้เสียเองมากกว่า    จนกระทั่งโครงการนี้มาคว่ำด้วยฝีมือรัฐสภาไทยเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 333  เมื่อ 29 ก.ค. 10, 23:14

คำให้การของนายพลนากามูระ มีตอนหนึ่ง พาดพิงถึงเหตุร้ายที่ระนอง ระหว่างญี่ปุ่นยังอยู่ในประเทศไทย แต่ท่านก็ดูอ้อมแอ้มพูดไม่เต็มปากนัก  ทำให้ต่อมอยากรู้กำเริบ  เลยไปหามาได้จากเว็บศุลกากร   เขาบอกว่าในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้มีส่วนร่วมในการปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติ

จากคำบอกเล่าของนายซ้าย เพ็ชรคุ้ม ข้าราชการบำนาญของด่านศุลกากรระนอง ซึ่งเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2473 มีขุนศุภกิจ เป็นนายด่านศุลกากร (พ.ศ.2469-2480) รับราชการที่ด่านศุลกากรระนองจนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.2508 และพระครูประจักษ์ สารธรรม วัดตโปทาราม (วัดบ่อน้ำร้อน) ได้เล่าถึงวีรกรรมของเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรระนองว่า
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ.2487) ทหารญี่ปุ่นประมาณ 50 คน ได้ยกพลขึ้นบกทางท่าด่านศุลกากรระนอง เรือทหารญี่ปุ่นจู่โจมเข้ายึดสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญในเขตอำเภอเมืองไว้ได้ กองกำลังของไทยได้เข้าต่อต้านจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายนาย
ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้หลบหนีเข้ามาซ่อนตัวที่บ้านพักของศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ให้ความช่วยเหลือ ให้ที่หลบซ่อนตัวและอาวุธ ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้ง “เสรีไทย” นายโพ เดชผล ซึ่งเป็นนายด่านศุลกากรระนอง ในช่วง พ.ศ.2488 และเจ้าหน้าที่ศุลกากรจำนวนหนึ่ง อันได้แก่ นายสมจิตร พลจิตร นายเล็ก โต๊ะมีนา และนายซ้าย เพ็ชรคุ้ม เป็นต้น ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการให้ข่าวสาร ข้อมูล การติดต่อประสานงาน
เช่น นำเรือศุลกากร 12 ไปรับน้ำมันที่นำมาจากคลังของทหารญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าทรายแดง (ก.ม.30) อำเภอเมือง จังหวัดระนอง แล้วนำไปซ่อนไว้บริเวณบ้านหินดาด เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนมาก และทำหน้าที่ส่ง อาสาสมัครไปฝึกโดดร่มที่เกาะกำ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อกลับมาปฏิบัติงานใต้ดินในภาคใต้
รวมทั้งติดต่อประสานงานกับหน่วยในอำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์ และอำเภอตะกั่วป่า เพื่อหาอาสาสมัครเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย โดยมีการติดต่อสื่อสารทางโทรเลขกับขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศ โดยอาศัยวิทยุสื่อสารที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศูนย์กลาง

แต่การดำเนินงานช่วงนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากทางญี่ปุ่นเริ่มสงสัยว่า นายโพ เดชผล เป็นหัวหน้าหน่วยเสรีไทยในจังหวัดระนอง อย่างไรก็ตาม นายโพ เดชผล และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรค ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความอดทน ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงต่อชีวิต จนสิ้นสุดภาวะสงคราม และในที่สุดญี่ปุ่นก็เป็นฝ่ายแพ้สงคราม

ในส่วนของด่านศุลกากร ญี่ปุ่นได้ชดเชยค่าเสียหาย โดยมอบเรือศุลกากร 18 ให้กับ ด่านฯ

จากประวัติศาสตร์ดังกล่าว จึงนับได้ว่า ข้าราชการด่านศุลกากรระนองในอดีต ได้มีส่วนร่วม ในการปกป้องจังหวัดระนอง ปกปักรักษาอธิปไตยของประเทศไทย สมควรได้รับการเชิดชูและเป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรรุ่นหลังได้สำนึกว่า นอกจากจะมีหน้าที่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจแล้ว บรรพบุรุษของศุลกากรส่วนหนึ่งในท้องถิ่นห่างไกลเคยเข้าร่วมปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติบ้านเมืองมาแล้ว
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 334  เมื่อ 30 ก.ค. 10, 08:12

สงครามสร้างทั้งวีรบุรุษและผู้ร้ายนะคะ
ทั้งเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรระนอง ยุวชนทหารหรือชาวบ้านที่ร่วมกันปกป้องประเทศ คงมีอีกหลายที่

ได้อ่านเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของจังหวัดสงขลา ปัตตานี ระนอง และรูปถ่าย 60ปี ญี่ปุ่นบุกสุราษฏร์ บ้างแล้ว
คงต้องพยายามค้นหา ของจังหวัดอื่นๆต่อไป ขอเชิดชูวีรบุรุษ วีรสตรี ทุกท่านค่ะ
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 335  เมื่อ 30 ก.ค. 10, 20:18

กลับมาลงชื่อเข้าเรียนครับ

พอดีว่า เพิ่งกลับจากงานที่เซลังงอร์
ช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเลยไม่ได้ส่งเสียง

หวังว่ายังไม่ขาดเรียนนาน จนโดนตัดชื่อนะครับ


ส่วนความคิดเห็น ยังไม่มีครับ
เพราะตอนนี้วิชาอาคมของผมยังไม่แก่กล้าพอจะไปตัดสินประวัติศาสตร์
แม้จะแค่วิพากษ์ด้วยความรู้เท่าหางอึ่งของผม ก็ยังคงไม่เหมาะนัก




ปล.หวังว่า มหาวิทยาลัย คงไม่ยึดปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต เพราะผมไม่กล้าวิพากษ์  กระมังครับ
 เจ๋ง เจ๋ง ตกใจ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 336  เมื่อ 30 ก.ค. 10, 22:44

จะรบกวนเกินไปไหมคะ ถ้าอยากทราบเรื่องราว ในสมัยสงคราม ประมาณเรื่องเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงๆน่ะค่ะ
สมัยก่อนชอบไปขอให้พ่อกับแม่เล่าให้ฟัง ก็เลยพอมองภาพสงครามโลกที่ทางใต้ได้บ้าง อยากทราบที่อื่นๆบ้างน่ะค่ะ
แหะๆ คั่นรายการ ด้วยเรื่องเล่าจากวันวาร ไปพลางๆได้ไหมคะ...

น่าจะมีแต่คุณมานิตที่มีโอกาสรู้เรื่องราวสมัยสงคราม      ดิฉันยังไม่เกิด  มาเกิดหลังสงครามจบไปแล้ว   แต่เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังบ้างว่า วันที่ญี่ปุ่นบุกคนไทยไม่รู้เรื่องกันเลย  ตื่นขึ้นมาตอนเช้า  อ้าว ทหารญี่ปุ่นมากันเต็มแล้ว  ตอนญี่ปุ่นยกพลเดินขบวนไปตามถนน ก็ออกไปดูด้วยความตื่นเต้น    คุณแม่ดิฉันถูกคุณลุงดุลั่นๆให้รีบกลับเข้าบ้าน เป็นสาวเป็นแส้กลัวจะถูกทำร้ายเอา  แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ทำอะไรคนไทย  เขาอยู่ส่วนของเขา

ในช่วงสงคราม  ตกกลางคืนทุกบ้านต้องพรางไฟหมด   ปิดหน้าต่าง ช่องลมเหนือหน้าต่างก็ต้องเอาผ้าดำไปปิดไม่ให้แสงตะเกียงลอดออกไปได้  กลัวเครื่องบินจะเห็น     ผู้คนถ้ามีหนทางก็อพยพออกนอกเมืองไปอยู่ต่างจังหวัดกันหมด   ไม่ไกลนักหรอกค่ะ แค่จังหวัดใกล้ๆก็พ้นภัยแล้ว    คนที่อยู่ในกรุงเทพคือผู้ชาย  ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการต้องทำงาน ทิ้งงานไม่ได้       
สถานที่น่ากลัวคือโรงไฟฟ้าและสะพาน  เพราะพันธมิตรเลือกทิ้งระเบิดแถวนี้    ครั้งหนึ่งระเบิดลงที่พาหุรัด  คนตายกันไปมาก  บางบ้านตายเรียบทั้งบ้าน
พอระเบิดลง ก็มีการขุดหลุมหลบภัย   เป็นหลุมยาวๆ   เนื้อที่กว้างพอจุคนได้หลายคน   รองพื้นด้วยไม้กระดาน    พอเสียงสัญญาณภัยดังขึ้นมาเป็นการเตือนว่าเครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด  ทุกคนในบ้านก็ทิ้งบ้านวิ่งลงหลุมหลบภัยกันหมด   ถ้าถามว่าพ้นภัยไหม หากระเบิดลงหลุมตรงๆก็ไม่รอดหรอกค่ะ   แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ในบ้านให้บ้านพังทับตาย

พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นปีที่แย่ที่สุดเพราะน้ำท่วมใหญ่  คนในกรุงเทพต้องพายเรือกันไปทำงาน      รัฐบาลออกคำขวัญมาว่า "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง"
ตลอดเวลาสงคราม คนไทยก็ยังต้องสวมหมวก แต่งตัวแบบฝรั่งให้ถูกวัธนธัม    ทั้งๆผ้าขาดตลาดเพราะส่งเข้ามาไม่ได้     คนไทยต้องไปหาถุงแป้งผ้าดิบมาเลาะตัดเป็นเสื้อกัน เป็นเรื่องธรรมดา
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 337  เมื่อ 31 ก.ค. 10, 07:51

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์  ยิ้มกว้างๆ

บรรยากาศในกรุงเทพ สมัยสงครามคงเหมือนกับที่บรรยายไว้ในหนังสือคู่กรรมมังคะ...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 338  เมื่อ 31 ก.ค. 10, 19:30

มีหนังสือนวนิยายอีกเล่มที่บรรยายช่วงสงครามไว้ละเอียดมาก คือ รสริน ของศุภร บุนนาค  อาจหายากหน่อย ลองหาหนังสือมือสองทางเน็ตดูนะคะ
เกร็ดอีกเรื่องคือสมัยสงครามโลก   รัฐบาลสนับสนุนให้กินก๋วยเตี๋ยวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน    ข้าราชการครูต้องจัดเวรกันมาขายก๋วยเตี๋ยวในโรงเรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน ด้วยค่ะ

คำขวัญ "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ"นอกจากทำให้ทุกคนต้องสวมหมวกแล้ว   รัฐบาลก็ให้สุนทราภรณ์แต่งเพลง" สวมหมวก" เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง     ผู้แต่งคำร้อง คือจมื่นมานิตย์นเรศร์   ทำนอง โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน       
 
 เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก
แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู
ปรุงใบหน้าให้อร่าม งามหน้าดู
อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ
หมวกใบนี้จะชวนให้ชมสมประสงค์
ถึงไม่สวยหมวกจะช่วย เสริมทรวดทรง
งามระหงเลิศวไลหญิงไทยเรา

อย่ารีรอเลยเจ้าขามาช่วยกัน
สมานฉันท์สร้างไทยให้เทียมเขา
สวมหมวกเถิดจะสำรวยสวยไม่เบา
สนองเค้าท่านผู้นำกล่าวคำชวน
 
คุณมัณฑนา โมรากุล เป็นคนร้อง   วันหนึ่งเธอออกจากบ้าน  นั่งรถสามล้อไปทำงานที่กรมโฆษณาการ  แล้วบังเอิญหมวกปลิวตกพื้น คุณมัณฑนาไปเก็บแล้วเอามาวางไว้บนตัก ก็พอดีรถของจอมพล ป. ผ่านมาเห็นพอดี  ก็เลยถูกตำรวจเรียกตัวไปตักเตือนที่ไม่ได้สวมหมวกตอนออกจากบ้าน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 339  เมื่อ 31 ก.ค. 10, 22:16

คุณยายทวด แม่ของคุณตาผม เป็นผู้หนึ่งที่เดือดร้อนจากนโยบายของจอมพล ป. เพราะคุณทวดกินหมากมาตั้งแต่สาวๆ จะให้เลิกทำไม่ได้ง่ายๆ มีเรื่องเล่ากันสนุกๆว่าแม่ของจอมพล ป.เองก็กินหมาก อดจนถึงกับเป็นลม จริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบครับ

คนจีนในยุคนั้นก็เดือดร้อน ยิ่งคนต่างจังหวัด จะไปหาหมวกอะไรมาใส่ออกจากบ้าน สุดท้ายก็ต้องใช้หมวกกุยเล้ยนี่แหละ สาวจีนก็มีภาระเพิ่มอีกอย่าง เพราะนุ่งกางเกงกันจนชิน แต่ละคนจึงต้องหาผ้าถุงติดบ้านเอาไว้ จะให้นุ่งผ้าถึงออกจากบ้านนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะนุ่งกางเกงกันจนเคย ก็เลยต้องนุ่งผ้าถุงทับกางเกงเอาดื้อๆ

เรียกได้ว่าสาวจีนยุคนั้นออกจากบ้าน ต้องแต่งตัวทุเรศทุรังทีเดียว อันนี้ไม่ใช่ผมพูดเองครับ แต่เป็นคำบ่นของยายผม จีนนอกซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เดือดร้อนจากนโยบายนี้เช่นกัน

เดือดร้อนกันถึงขั้นนี้ ไม่ทราบว่าช่วยชาติไทยเป็นชาติมหาอำนาจขึ้นมาได้สักกี่กิโลขีดนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 340  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 06:23

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะที่แนะนำเรื่องหนังสือ จะลองหาดูค่ะ
แต่สงสัยทำไมต้องสนับสนุนให้กินก๋วยเตี๋ยวล่ะคะ  ฮืม

คนในสมัยนั้นคงลำบากพอควรนะคะ ในการที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองตามคำสั่งผู้นำประเทศ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 341  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 07:59

เรื่องก๋วยเตี๋ยว ได้ยินที่มาว่าเมื่อพ.ศ. 2485  น้ำท่วมทั้งกรุงเทพรวมทั้งทำเนียบรัฐบาลด้วย   ข้าราชการและค.ร.ม  ออกมากินข้าวเที่ยงข้างนอกไม่ได้เวลาไปทำงาน  ก็มีเรือก๋วยเตี๋ยวพายเข้าไปขาย
จอมพลป.ได้กินก๋วยเตี๋ยวก็อร่อย  นึกได้ว่านอกจากทำง่ายๆแล้ว  ส่วนประกอบแต่ละอย่างเช่นหมู  ผัก เส้น ก็ล้วนแต่ทำได้ในประเทศไทย ไม่ต้องสั่งของนอกเข้ามา
ท่านเองก็สนับสนุนชาตินิยมให้ข้าราชการเลี้ยงหมูปลูกผักกินเองอยู่แล้ว  จึงเริ่มรณรงค์สนับสนุนให้กินก๋วยเตี๋ยวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  คงจะมองข้ามไปว่าก๋วยเตี๋ยวนั้นเป็นอาหารของจีน   น่าจะสนับสนุนข้าวแกงเห็นจะเหมาะกว่า

ผู้ใหญ่ของดิฉันเล่าว่าสมัยนั้นทุลักทุเลเอาการทีเดียวค่ะ กับการปฏิบัติตามนโยบาย      โดยเฉพาะนโยบายให้สามีจูบภรรยาในตอนเช้าก่อนออกจากบ้านไปทำงาน   เคราะห์ดีตำรวจไม่มาสอดส่องเหมือนเรื่องหมวก  ไม่งั้นสามีภรรยาแก่ๆพ้นวัยโรแมนติคไปแล้ว คงต้องเสียค่าปรับกันทุกวัน
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 342  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 08:39

นึกภาพผู้สูงอายุแสดงความโรแมนติคกันแต่ละวัน น่ารักดีนะคะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 343  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 10:44

ขอพากลับไปที่แม่ทัพญี่ปุ่นอีกทีนะคะ
เราคุ้นกับชื่อนายพลนากามูระ  ก็เลยขอแนะนำสั้นๆเพิ่มขึ้นอีกหน่อย
ชื่อ   พลโท อาคีโตะ นากามูระ (Aketo  Nakamura)
เกิด      พ.ศ. 2432
ถึงแก่กรรม  พ.ศ. 2509
ศาสนา    พุทธ
หลังสงครามจบลง นายพลนากามูระกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง  ในฐานะแขกเมือง ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลจอมพลป. ที่หวนกลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง

พบด้วยความประหลาดใจว่า นายพลนากามูระกุมบังเหียนกองทัพญี่ปุ่นในไทยอยู่แค่ 2 ปีเท่านั้นคือระหว่าง พ.ศ. 2486-88   คือ 2 ปีก่อนสงครามโลกสิ้นสุดลง
แต่เขาไม่ได้เป็นแม่ทัพผู้บัญชาการเมื่อญี่ปุ่นบุกไทย     แม่ทัพคนนั้นชื่อนายพล Shojiro Iida   คำแรกอ่านว่าโชจิโร  คำหลังไม่รู้ว่าออกเสียงยังไงเพราะมี i สองตัว อาจจะเป็นอีดะ หรือไออิดะ หรืออิอิดะ  ก็เป็นได้    ใครอ่านออกกรุณาบอกด้วยนะคะ
แม่ทัพคนนี้ละที่บุกไทยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2484    จากไทยเขาก็ไปบุกพม่าแบบสายฟ้าแลบในเดือนมกราคม ปี 2485   ทำศึกกับทหารอังกฤษในพม่าอย่างดุเดือด  ยึดร่างกุ้งได้  แล้วไล่โจมตีทัพอังกฤษแตกพ่ายจนต้องถอยร่นออกจากพม่าไปอยู่อินเดียในเดือนพฤษภาคม
รูปที่เอามาลง คือหน้าตานายพลนากามูระ  แม่ทัพญี่ปุ่นผู้เป็นมหามิตรของจอมพลป.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 344  เมื่อ 01 ส.ค. 10, 10:59

General Shojiro Iida


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง