เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 139211 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 14:56

อ่านถึงบทโศกตอนชายชาติทหารอย่าง พณฯ จอมพล ป. ถูกขืนใจให้เซ็นประหารคนไม่มีความผิดในข้อหากบถแล้วน้ำตาแทบไหล

อยากถามต่อไปว่าแล้วตอนกลุ่ม สส. พรรคสหชีพ สี่เสืออีสานโดนฆ่า หลวงอดุลฯ ก็ตายไปแล้ว ไม่ทราบว่าใครผู้ใดบังอาจบังคับขืนใจท่านอีก

อ้อ... ลืมไป นั่นฝีมือ ขจก.หลงถิ่น ผมเลอะเลือนไปเอง ขออภัยด้วยครับ

 ยิงฟันยิ้ม ชอบใจจังเลยค่ะ ตรงกับใจคิดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 15:29


รัฐบาลนี้มียังไม่ได้แสดงฝีมือในการแก้ไขปัญหาการครองชีพและเงินเฟ้ออย่างเป็นรูปธรรม แต่มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศในการสนับสนุนขบวนการลาวอิสระให้ต่อสู้กับผรั่งเศส ทั้งการให้ที่หลบภัยและฝึกอาวุธ โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ที่คุณเพ็ญชมพูเอาเรื่องมาลงไว้แล้วเป็นผู้ประสานนโยบาย ซึ่งนายเตียงได้มอบให้นายครอง จินดาวงศ์เป็นผู้ฝึกอาวุธให้ ท่านหลังนี้สิบกว่าปีให้หลังได้ถูกจอมพลสฤษดิ์กล่าวหาว่าเป็นกบฏผีบุญแบ่งแยกดินแดน และจับยิงเป้าในที่ชุมชน เป็นจุดลุกลามไปสู่วันเสียงปืนแตกในอิสานต่อมา

ขอแยกเลี้ยวเข้าซอย "วันเสียงปืนแตก"

วันเสียงปืนแตกคือวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘  ผ่านพ้นสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงสมัยของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์
จอมพลสฤษดิ์มีนโยบายปราบปรามผู้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล และผู้สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง อย่างเฉียบขาด
ข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นข้อหาที่ตั้งกันแพร่หลายสำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ   รวมทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับจอมพลสฤษดิ์เอง 
แม้ว่าไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์   แต่เมื่อไม่มีทางเลือกจะอยู่นอกคุกได้   พวกนี้ก็ต้องหนีเข้าป่าแล้วไปรวมอยู่กับกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลในสมัยนั้น
หนึ่งในจำนวนนั้นคือพ.ท.พโยม จุลานนท์

แต่ถ้าถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีไหม ขอตอบว่ามีจริง และทำงานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วย   เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๕ 
อ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
บางทีทางการก็เอาสังคมนิยมไปปนกับคอมมิวนิสต์   แต่บางทีทั้งสองอย่างนี้ก็ปนกันจริงๆในบางช่วงของประวัติศาสตร์

ส่วนวันเสียงปืนแตก คือวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508  ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาล ไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เหตุเกิดที่ บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์"ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง" หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมา ตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 มีการเจรจากับรัฐบาลไทย เลิกต่อสู้กันด้วยอาวุธ ให้มาต่อสู้กันทางรัฐสภาแทน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:03

ว่ากันว่า จอมพลป.ตอนตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามนั้น ถูกส่งไป “ติดคุก”ที่สันติบาล ให้อยู่ในห้องเดียวกับที่นายวณิช ผูกคอตาย ตอนนั้นพล.ต.อ.อดุล ไม่ว่างมาเยี่ยมเลย เพราะมีงานหลักคือต้องไปให้การในศาล

เมื่อป๋าผินจะปฏิวัติ ได้ไปหยั่งเสียงจอมพล ป.ที่บ้านลำลูกกา ยังพูดไม่ทันจบจอมพล ป.ก็หัวเสียขึ้นมาทันที หาว่าป๋าผินจะชวนท่านไปติดคุกอีก ครั้งที่สองเอาต้นกล้วยไม้ไปให้ แล้วช่วยกันปลูก ระหว่างนั้นก็เกลี้ยกล่อมไปด้วยจนจอมพลป.ชักเคลิ้ม พูดอ่อนๆว่าชาติไม่ใช่ของเราคนเดียว ครั้งที่สามไปบอกว่า ได้คุยกับนายทหารประจำการที่กุมกำลังหมดแล้ว รอท่านพยักหน้าเท่านั้น ท่านก็นิ่งแล้วเดินขึ้นบ้านไปทันที เล่นเอาป๋าเด๋อไป แต่พอจะกลับออกจากบ้าน ท่านผู้หญิงก็รีบเดินมายึดแขนไว้แล้วบอกว่า ป๋าจะทำอะไรก็ทำไปเถิด ท่านไม่ทิ้งดอกเล่นตัวไปยังงั้นเอง แล้วมาทราบจากเผ่าอีกว่า ท่านเป็นคนที่อยากจะได้อะไรก็จะไม่พูดตรงๆ วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น ป๋าผินทราบว่าจอมพล ป.จะเอาด้วยแน่ ก็ตัดสินใจกระทำการ

ส่วนใหญ่ของทหารที่เต็มใจร่วมปฏิวัติครั้งนี้เพราะมีความรู้สึกว่าถูกหมิ่นเกียรติมานานแล้ว สงครามอินโดจีนที่รบกับฝรั่งเศสก็ดี หรือการขึ้นไปรบที่เมืองเชียงตุงแล้วเข้าครอบครองได้ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์รัชกาลที่สี่ ทัพไทยยกไปรบแล้วต้องพ่ายกลับมาถึง2ครั้งจนฝ่อไม่อยากคิดจะไปรบอีก จึงเป็นเกียรติประวัติที่ทหารภูมิใจ การที่จอมพล ป.ต้องคดีอาชญากรสงครามเท่ากับประกาศว่า ทั้งสองเรื่องที่ทำไปนั้นผิด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแม่ทัพนายกองที่เสียสละเพื่อชาติถูกนำไปจำคุกเยี่ยงโจร รอการตัดสินประหาร และเมื่อสิ้นสุดสงคราม รัฐบาลมิได้ดูแลไพร่พลที่ไปรบ ทั้งนายทั้งพลทหารต้องเดินย่ำต็อกนับไม้หมอนกลับบ้าน ขอข้าวชาวบ้านกินประทังท้องมาตลอดทาง

ส่วนเสรีไทยนั้นเล่า ก็ทำท่ายืดว่าเป็นผู้กู้ชาติ หนังสือพิมพ์บางฉบับก็สดุดีวีรกรรมที่ยังไม่ได้ลั่นกระสุนใส่ศัตรูสักโป้ง ด้วยการทับถมทหารว่าตั้งมาแล้วตั้ง50ปี ยังทำประโยชน์ได้ไม่เท่ากับเสรีไทยที่ตั้งมาเพียง2ปี เรื่องอันเนื่องมาจากเสรีไทยนี้ฝ่ายจอมพล ป.ดูเหมือนจะเขม่นผู้ที่ห้อมล้อมนายปรีดีมาก แล้วลามไปถึงลูกพี่ด้วย

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกปลดถูกย้ายคราวนายควงปลดผู้บัญชาการทหารสูงสุด ล้วนยังมีอิทธิพลเหนือลูกน้องเก่าที่ประจำการ เมื่อได้รับคำรับรองจากจอมพล ป.ว่าเอาด้วย ความเป็นเอกภาพจึงเกิดขึ้น



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:11

สมัยรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์นั้น พล.ต.อ.อดุลได้ย้ายจากอธิบดีตำรวจไปเป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ต.ถวัลย์แต่งตั้งให้พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ(หลวงสังวรยุทธกิจ)เป็นอธิบดีตำรวจแทน นายตำรวจสันติบาลมือดีของพล.อ.อดุลก็ดมกลิ่นทหารจะก่อปฏิวัติมาได้ แล้วรายงานตรงยังอธิบดี แต่พล.ร.ต.สังวรกล่าวกับลูกน้องในเชิงว่า เรามันเป็นข้าราชการประจำ ทหารเขาจะเปลี่ยนตัวพวกนักการเมือง เราก็ไม่เกี่ยว จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลเราก็ข้าราชการประจำอยู่นั่นเอง เรื่อยไปจนถึง ประชาชนเกลียดรัฐบาล หนังสือพิมพ์ด่าแม่อยู่เรื่อย ถ้าเรารบกับทหารเพื่อป้องกันรัฐบาล จะหาความนิยมจากประชาชนได้อย่างไร

ดังนั้นพล.อ.อดุล ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจึงได้ทราบเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

ก่อนหน้าปฏิวัติประมาณสามเดือน มีงานสังคมสวมหน้ากากงานหนึ่ง เปล่าครับ ไม่ใส่งานบันเทิงที่ต้องแต่งแฟนซีสวมหน้ากากอย่างที่ท่านเคยเห็นในละครทีวีหร็อก แต่เป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตหัวหน้าคณะราษฎร จึงมีพวกผู้ใหญ่ๆที่เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ไปกันครบ ต่างฝ่ายต่างทักทายกันสนิทสนม ทั้งที่ข่าวลือเรื่องทหารจะปฏิวัติหึ่งไปหมด ทุกคนก็ซ่อนใบหน้าอันแท้จริงไว้ภายใต้หน้ากากเปื้อนรอยยิ้มจอมปลอม ที่เสแสร้งให้ดูจริงใจ ปากก็พล่ามคำพูดที่ฟังดูดี มีความสนิทสนม และมิตรภาพ หลังจากนั้น จอมพล ป.ก็ได้เจอกับพล.ร.ต.ถวัลย์อีกในงานเลี้ยงที่บ้านของขุนนิรันดรชัย เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ จอมพล ป.ถามหยั่งเชิงว่า ท่านทราบข่าวมาว่าทหารจะปฏิวัติ แล้วนายกทราบบ้างหรือเปล่า พล.ร.ต.ถวัลย์ตอบว่าทราบอยู่เหมือนกัน กำลังคิดจะลาออกอยู่พอดี อาจจะเป็นหลังวันที่11พฤศจิกายนให้ลงนามแก้ไขสนธิสํญญาที่ทำกับอังกฤษเสร็จก่อน

การหยั่งเชิงกันเช่นนี้ มีผลทำให้เกิดปฏิวัติขึ้นจริงๆในสามวันต่อมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:14

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะปฏิวัติ สามผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายรัฐบาลทั้งสามอันได้แก่ นายปรีดี  พล.อ.อดุล และพล.ร.ต.ถวัลย์ ได้นั่งประชุมกันที่ศาลาท่าน้ำเจ้าพระยาหน้าทำเนียบท่าช้างวังหน้า ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกพล.อ.อดุลยืนยันหนักแน่นว่า ทหารจะไม่ปฏิวัติ อย่างไรก็ดีทั้งสามตกลงกันว่า เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ ก็จะให้พล.ร.ต.ถวัลย์ลาออก เพื่อให้พล.อ.อดุลเป็นนายกแทน หลังจากนั้นพล.ร.ต.ถวัลย์ขอตัวไปงานราตรีสโมสรที่สวนอัมพร

แต่เดิมนั้นป๋าผินได้ให้โหรการเมืองผูกดวงปฏิวัติ กำหนดโจโรฤกษ์ 05.00น.ของวันที่ 8 พฤศจิกายน  เป็นเวลาลงมือปฏิบัติการ แต่พอในช่วงก่อนค่ำ นายทหารคนหนึ่งมาบอกว่า พล.อ.อดุล รู้เรื่องปฏิวัติแล้ว และเตรียมการจะลงมือจับทุกคนในเวลา04.00น.

เมื่อได้ฟังป๋าผินก็เย็นวาบ เขียนบันทึกตอนนี้ว่า “ผมรู้สึกชาไปทั้งตัว เพราะผู้บัญชาการทหารบกผู้นี้ เมื่อครั้งเป็นอธิบดีตำรวจได้จับพวกกบฏไปฟ้องศาล ถูกประหารชีวิตไปแล้ว18คน” แต่เมื่อง้างนกแล้วก็ต้องยิง ท่านตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า และเลื่อนกำหนดจากตีห้ามาเป็นสามทุ่ม ประชุมครั้งสุดท้ายก็จัดกำลังแยกย้ายกันไปจับบุคคลสำคัญ3คน คือนายปรีดี พล.ร.ต.ถวัลย์ และพล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพเป็นอธิบดีตำรวจ

แต่ไม่ได้มีคำสั่งจับกุมพล.อ.อดุลด้วย เพราะทราบอยู่ว่าพล.อ.อดุลอยู่ที่ใด ถ้าจะไปจับก็ต้องยิงกันเละไปข้างใดข้างหนึ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:21

ทหารที่ไปถึงทำเนียบท่าช้าง ไม่ฟังอิร้าค่าอิรม ระดมปืนใส่ประตูจนพรุนไปหมดทั้งบาน แล้วเอารถถังลุยเข้าไป ทหารทั้งนั้นก็แยกย้ายกันไปค้นหานายปรีดีในทุกซอกทุกมุม ท่านผู้หญิงพูนศุกท่านรออยู่ที่ชั้นบนด้วยอาการสงบ พันโทก้าน จำนงภูมิเวชพยายามจะคาดคั้นให้ได้ว่านายปรีดีไปไหน ท่านผู้หญิงเพียงแต่ตอบว่า “ท่านไปแล้ว ไม่ทราบว่าไปที่ไหน”

เมื่อเวลาห้าทุ่มเศษก่อนหน้านั้น ตำรวจอารักขาได้แจ้งท่าน มีคนรายงานเข้ามาว่าเห็นรถถังออกมาวิ่งหลายคัน นายปรีดีรีบโทรศัพท์ถึงพล.อ.อดุล แต่สายโทรศัพท์ถูกตัดไปแล้ว จากประสพการณ์ท่านรู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป จึงลงมาที่ท่าน้ำ เรียกเรือจ้างมาลำหนึ่ง แล้วพากันลงเรือแจวออกไปลอยลำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าทำเนียบ พอดีได้ยินเสียงรถถังและเสียงปืนกลหูดับตับไหม้ ท่านให้แจวเรือขึ้นเหนือล่องใต้ถามข่าวไปเรื่อยๆ จนใกล้รุ่ง จึงให้เรือไปส่งที่กองบังคับการเรือรบท่าราชวรดิษฐ์ ที่นั่นท่านได้พบกับพล.ร.ต.ถวัลย์ และพล.ร.ต.สังวรที่หนีมาหลบภัยอยู่ที่นั่นเหมือนกัน

และด้วยความช่วยเหลือของผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้งสามท่านจึงได้เดินทางไปถึงสัตหีบโดยปลอดภัย

เช้าวันนั้นคณะปฏิวัติออกแถลงการณฉบับที่3 ความว่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:27

พล.อ.อดุลนั้น จากที่คณะปฏิวัติแถลงฟังเหมือนว่าได้ตกลงที่จะร่วมด้วย อาจเป็นไปได้อย่างนั้น แต่หลังจากตกลงกันได้ที่ทำเนียบท่าช้างแล้วว่า พล.ร.ต.ถวัลย์จะยอมลาออกและตนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จึงพยายามกลับเข้ามาคุยกับพวกทหารเพื่อระงับมิให้ปฏิวัติ แต่ช้าไปเสียแล้ว ป๋าผินทราบเรื่องตั้งแต่ประชุมเสร็จ จึงเปลี่ยนเวลากระทำการ พล.อ.อดุลเห็นผิดแผนจึงถอยตนกลับไปอยู่ที่กองพันที่1 กรมทหารราบที่11 บางซื่อ

คณะปฏิวัติจึงแก้เกมด้วยการออกแถลงการณ์ฉบับที่3ดังกล่าว

พร้อมกันคณะปฏิวัติก็ส่งทหารกองหนึ่ง ไปตั้งประจันหน้ากันที่สพานเกษะโกมล ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจา พล.อ.อดุลยอมรับข้อเสนอ ดังนั้นคณะปฏิวัติจึงออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่ง คราวนี้ลงนามโดยจอมพล ป.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 18:40

ตรงนี้ถือเป็นชัยชนะแล้วโดยสมบูรณ์  พลโทผินจึงเปิดแถลงข่าวของคณะปฏิวัติที่หน้ากระทรวงกลาโหม ขณะกำลังแถลงข่าว ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้อง เห็นทหารแบกจอมพล ป.ขึ้นบ่าห้อมล้อมกันเข้ามาในบ.ก.ปฏิวัติ พลโทผินก็ผลุดลุกขึ้นจากที่นั่ง ปราดเข้าไปก้มลงกราบจอมพล ป.ต่อหน้าประชาชี พร้อมกับร้องเรียกเพื่อนนายทหารทั้งหลายว่า
"พวกเรามากราบท่านจอมพลกันเร้ว เราจากท่านมานานแล้ว ต่อไปนี้เราจะไม่มีวันจากท่านอีก"

จอมพล ป. ชนะอีกแล้ว
พล.อ.อดุล แพ้

ข้อตกลงฐานปรานีที่พล.อ.อดุลได้รับ จากการยินยอมยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง ด้วยการลาออกจากผู้บัญชาการทหารบก ให้จอมพล ป.กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ก็คือ ได้รับตำแหน่งใหม่เป็นอภิรัฐมนตรี หรือที่ในปัจจุบัน เรียกว่าองคมนตรี เนื่องจากไม่มีเงินมีทองเพราะโกงไม่เป็น ทางราชการจะสร้างบ้านประจำตำแหน่งให้พล.อ.อดุลอยู่ในวังปารุสกวันจนถึงที่สุดแห่งชีวิต



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 19:15

เคยสงสัยมานานแล้วว่าหลังจากพลต.อ.อดุลไปกระตุกหนวดเสือ  ด้วยการเป็นพยานปรักปรำจอมพลป.พิบูลสงครามคดีอาชญากรสงคราม  ท่านได้รับผลอย่างใด
อ่านจากประวัติ พบเพียงสั้นๆว่าท่านก็ใช้ชีวิตหลังเกษียณเช่นผู้สูงวัยทั้งหลาย   ประชาชนที่สัญจรไปมาแถวพระบรมรูปทรงม้า  จะเห็นชายสูงวัยคนหนึ่งเดินออกจากวังปารุสกวัน  ไปเดินเล่นอยู่แถวนั้น   บางครั้งก็ยืนมองยอดโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคมเหมือนคิดอะไรอยู่     ก่อนจะกลับบ้านในที่ราชการสร้างให้ในบริเวณวังปารุสก์   เป็นอยู่อย่างนี้จนจากไปเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒

มารู้จากคุณนวรัตนไขปริศนาตอนจบให้ฟังว่า  เราก็เกือบจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อพลเอกอดุล อดุลเดชจรัสแล้วอย่างหวุดหวิด    ถ้าจอมพลผินเข้าข้างท่าน 
นับว่าชีวิตท่าน มีสีสันยิ่งกว่าหนังฮอลลีวู้ดเสียอีก  ยากจะหาใครเทียบเทียมได้  เว้นแต่จอมพลป.เท่านั้น

น่าสังเกตว่า จอมพลป. ไม่แตะท่านเลย     เมื่อท่านตกลงล้างมือจากราชการและการเมืองแล้วก็เป็นอันว่าจบไป   บั้นปลายชีวิตก็อยู่โดยไม่มีใครรบกวน   โจรจีนมลายูที่เคยรังควานนักการเมืองอยู่ในสมัยหนึ่งก็ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้ามา     นับว่าท่านก็เป็นคนมีบุญมากทีเดียว

สงสัยเล็กๆอีกข้อเดียว  ทำไมจอมพลผิน ชุณหะวันรวบรวมทหารปฏิวัติได้แล้ว  ไม่เป็นผู้นำเสียเอง  กลับไปเกลี้ยกล่อมจอมพลป.อยู่ตั้งสองพักสามพัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 19:26


รัฐบาลควงขึ้นสู่อำนาจในปลายปี ๒๔๙๐ ด้วยความฉ้อฉลเท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจอมพลป.ที่ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลควง ก็ใช้กำลังทหารบีบเอาอย่างเลวร้ายพอๆกัน เพราะฉะนั้นอาจารย์ปรีดีจึงกรีฑาทัพมาบีบให้รัฐบาลจอมพลป.ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศตั้งคุณดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๔๙๒ หากอาจารย์ปรีดีต้องพ่ายแพ้ไปเพราะถูกหลวงสินธุ์สงครามชัย แม่ทัพเรือ หักหลัง ดังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ท่านก็ถูกหลวงอดุลเดชจรัสร่วมกับหลวงสังวรยุทธกิจหักหลังนั้นแล โดยที่หลวงสังวรนั้นยังมาหักหลังอาจารย์ปรีดีอีกในปี ๒๔๙๒

http://www.sulak-sivaraksa.org/

ยังติดใจที่คุณสุลักษณ์บอกว่าพลต.อ.อดุลร่วมกับหลวงสังวร(อธิบดีตำรวจคนต่อมา) ร่วมมือกันหักหลัง "ท่าน"  คำว่าท่านในที่นี้คงหมายถึงนายปรีดี
ปี ๒๔๙๐  สองคนนี้หักหลังอะไรนายปรีดี? 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 19:47

^
ถ้าจะให้แปลตรงตัวก็คือ ไม่ยอมปราบพวกปฏิวัติ เหมือนครั้งที่เคยปราบกบฏในอดีตครับ
คราวโน้นเล่นบทโหด คราวนี้เล่นบทหด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 20:08

^
อ้อ  อย่างนี้นี่เอง   พอนึกออกแล้วว่าได้ข้อมูลจากใคร

เพื่อนรักกัน ฆ่ากันไม่ลง
สังเกตจากคำให้การที่อ่านพบ  ไม่รู้ว่ามีมากกว่านี้หรือเปล่านะคะ  แต่ในคำให้การ พลต.อ.อดุลไม่ได้กล่าวหาว่าจอมพลป.ขายชาติเลยสักคำ มีแต่ตัดพ้อต่อว่าเรื่องนิสัยใจคอที่เปลี่ยนไป
ดิฉันรู้สึกว่าจอมพลป.จะเว้นให้พลต.อ.อดุล    ไม่ทำกับท่านอย่างเคยทำกับคนอื่นๆ    ตอนจบของพลต.อ.อดุลก็ต้องถือว่าจบดีพอสมควร  เท่าที่คนไปเล่นการเมืองไทยจะดีได้   ส่วนใหญ่ลำบากกว่านี้ทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 20:43

เมื่อท่านอ่านสถานการณ์ทางการเมืองในยุคประชาธิปไตยหลังสงครามของผมแล้ว กลับไปอ่านที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์เขียน และท่านอาจารย์เทาชมพูเชิญชวนให้แสดงความเห็น จะเห็นได้ว่าในช่วงนั้น ไม่ว่าใครก็คงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีจนไม่มีที่ติของท่านอาจารย์สุลักษณ์ไม่ได้
สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ตามสถานการณ์ของโลก ภาวะเงินเฟ้อในประเทศจากการพิมพ์ธนบัตรเงินบาทสงครามของญี่ปุ่น จนทำธนบัตรไทยมีค่าเป็นเศษกระดาษไปด้วย ค่าปรับเป็นข้าวสารที่ต้องชดใช้หนี้สงครามที่ก่อไว้ แค่นี้ก็หนักหนาสาหัสแล้ว ยังเจอการแบ่งพรรคแบ่งขั้วของบรรดาส.ส.ในสภา ขาจรเข้ามาอย่างม.ร.ว.เสนีย์ไม่มีสมัครพรรคพวกจึงแทบจะบ้าตายไปด้วยฝีมือฝีปากของคนในมุ้งนายปรีดี ม.ร.ว.เสนีย์จึงมีสิทธิ์ที่จะกล่าวหาว่านายปรีดีหลอกมาใช้ หากท่านพูดจริงอย่างที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์เขียน

ยิ่งนายควงด้วยแล้วยิ่งชัด ลูกน้องนายปรีดีเสนอกฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้ คือบังคับราคาขายของกินของใช้ ที่นายควงเรียกว่ากฏหมายปักป้ายราคาข้าวเหนียวเพื่อประชดคนเสนอที่เป็นส.ส.อิสาน ฝ่ายค้านชนะนายควงก็walkout และกล่าวว่าเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำ เมื่อนายปรีดีเข้ามาก็กลับแสดงความสามารถด้วยการทำให้กฎหมายดังกล่าวมีอันต้องแท้งค์ไปกลางสภา ลูกเล่นเช่นนี้ท่านอาจารย์สุลักษณ์คงทราบ แต่ไม่พูดถึง ท่านยังไปแขวะม.จ.สิทธิพรโดยไม่จำเป็นทั้งๆที่เคยเขียนยกย่องเจ้านายที่เป็นสุภาพบุรุษองค์นี้อย่างมากมาย ม.จ.สิทธิพรท่านเป็นนักโทษการเมืองเกาะเต่า นายควงออกพระราชกำหนดปลดปล่อยให้ท่านรอดชีวิตมาได้ บุญคุณก็ต้องทดแทน เขามาเชิญเป็นรัฐมนตรีจะเล่นองค์ว่านายควงมาจากการปฏิวัติเหมือนที่ทรงปฏิเสธจอมพลผิน ผมก็ว่าเกินไป
  
แต่ส่วนใหญ่ที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์เขียนก็คงจริงนะครับ มีระหว่างบรรทัดที่ท่านแอบใส่ไข่ไปบ้างตามธรรมเนียมของบรมครู  คนนี้แหละครับกูรูใหญ่ที่สุดตัวจริง เข้ามาเมื่อไหร่ผมเผ่นก่อนเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 20:57

^
^
รอด้วยยยยยย......


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 23 ก.ค. 10, 21:17

^
พอพิมพ์คำตอบเสร็จ จะเข้ามาโพสต์ก็สายไปเสียแล้ว  ลังเล
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง