NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 225 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 20:41
|
|
เล่าเลยไปอีกนิดนึง ช่วงหลังของสงครามพวกเสรีไทยชี้เป้าให้เครื่องบินทิ้งระเบิดได้แม่นยำขึ้น อาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งลงมากับร่มไม่มีเสียหาย พอแตะพื้นกองกำลังจัดตั้งก็ขนเอาไปได้ทั้งหมด อาวุธเหล่านี้หลังสงครามญี่ปุ่นจบ โฮจิมินได้ติดต่อขออาวุธไปรบขับไล่ฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยญวน นายปรีดีให้เสรีไทยสายอิสานมอบปืนและกระสุนไปจัดตั้งกองทหารประจำการได้สองกองพัน ตั้งชื่อว่ากองพันพันสยามที่หนึ่ง และกองพันพันสยามที่สอง ไม่มีข้อมูลต่อว่าสองกองพันนี้จะยืนยงอยู่จนได้รบกับทหารไทยในสงครามเวียตนามหรือหาไม่
อเมริกันเห็นว่าเสรีไทยทำงานดีแท้ วันหนึ่งนัดส่งยาที่ขาดแคลนหนักในช่วงสงครามมาให้ แต่เพื่อนเล่นทิ้งร่มติดเครื่องหมายกาชาดสากลมาลงกลางสนามหลวงซะเลย หลายกล่อง ไม่ทราบจะลองของผู้ใดหรือเปล่า เสรีไทยก็เก่งแท้ เตรียมคนมาขนหายวับไปหมด ญี่ปุ่นเห็นร่มบนอากาศก็รีบบึ่งมาดูแต่ไม่พบอะไรเลย แต่วันนั้นนายควงหนักหน่อย เพราะญี่ปุ่นเชิญรับประทานค่ำกับแม่ทัพนากามูระ นายควงรู้ทันว่าญี่ปุ่นจะพูดอะไร จึงขอตัวปฏิเสธว่าเป็นหวัด สักพักคนส่งสารของญี่ปุ่นก็กลับมายืนยันหนักแน่นว่า แม่ทัพนากามูระขอโทษที่จะต้องรบกวน มีเรื่องสำคัญจริงๆ ถ้าในค่ำนี้ลุกได้ก็ขอเชิญ แม่ทัพนากามูระจะรออยู่จนกว่าจะได้รับประทานอาหารร่วมกับท่าน เจอไม้นี้เข้าท่านนายกรัฐมนตรียังไงๆก็ต้องไป แต่รีบสั่งการไปก่อนหน้านั้นแล้วให้กระจายเสียงไปทั่วกรุงเทพให้เข้าหูญี่ปุ่นว่าผู้ที่เก็บยาอเมริกันไป ให้เอาไปทิ้งทำลายเสีย เพราะเจือด้วยยาพิษ คนในกรุงเทพฟังแล้วก็งงว่ายาอะไรกันฟร๊ะ ตูไม่เห็นเห็น
พอนั่งโต๊ะเรียบร้อยแม่ทัพนากามูระก็เอ่ยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีคงกินยาดีของอเมริกันมาเป็นแน่ จึงหายหวัดเร็วดูมีอาการสดใสเช่นนี้ นายควงก็สุดยอด ทำเป็นกระชากเสียงว่า ถ้าฉันกินยาดีที่ท่านว่า ป่านนี้ฉันคงแย่ไปแล้ว จะมานั่งกินข้าวกับท่านได้อย่างไรล่ะ แม่ทัพนากามูระก็หัวเราะลูกเล่นของนายควง
คนทันกันเขาคุยกันแค่นี้แหละน้อง ไม่มีมึงมาพาโวย ต่อจากนั้นเหล่าท่านก็เสพย์สุราฮะกิ้นกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 226 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 20:50
|
|
สถานะการณ์ทางด้านญี่ปุ่นก็ตึงเครียดมากพออยู่แล้ว สถานการณ์ทางด้านจอมพล ป.ก็สร้างความปวดสมองให้กับรัฐบาลพอกัน
อย่าลืมว่าท่านยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ สามารถสั่งการแม่ทัพได้จริงๆทั้งสามเหล่าทัพ ทัพตำรวจนั้นเมื่อก่อนสั่งได้ เดี๋ยวนี้เพื่อนซี้ออกจะแสดงท่าทีแปลกๆ หลบหน้าหลบตาชอบกล เอ้า เอาเก็บไว้ในใจก่อน สั่งลิ่วล้อเรียกแม่ทัพนายกองทหารมาประชุมลับกันที่ลพบุรี ตำรวจลับก็รายงานมาถึงนาย พล.ต.อ.อดุลก็ร้อนรุ่มดังนั่งทับเตาเช่นเดียวกับนายปรีดี และนายควง ทุกคนรู้ดีว่าถ้าทหารที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป.เคลื่อนพลมาจริง ก็ต้องมีการประทะกันแน่นอน ตำรวจติดอาวุธสงครามนำสมัยนั้นพล.ต.อ.อดุลสั่งได้อยู่แล้ว นายปรีดีเองก็มีทหารเรือระดับคุมกำลังกลุ่มหนึ่งสนับสนุน แต่ถ้าคนไทยยิงกันเมื่อไหร่ กองทัพญี่ปุ่นจะถือโอกาสปลดอาวุธทหารตำรวจทั้งประเทศโดยสิ้นเชิงแล้วตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นมาทันที ทุกคนหวังว่าจอมพล ป.จะตระหนักเช่นนี้ แต่ก็เกรงว่าท่านอดีตผู้นำอาจจะมั่นใจตนเองมากเกินไปก็ได้ว่า ถ้าปฏิวัติแล้วทหารตำรวจทุกคนจะเอาด้วย ไม่ต้องออกแรงมาก แค่เอาปืนจี้รัฐบาลก็ยอมไขก๊อกแล้ว พล.ต.อ.อดุลได้รับรายงานถึงรายละเอียดว่า ในที่ประชุมลับนั้นจอมพล ป.บอกให้ลูกน้องลองคิดหาทางก่อกวนดู ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลได้จะผลักดันให้ลูกน้องคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตนจะวางมือ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 227 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 20:59
|
|
ที่พล.ต.อ.อดุลว่านั้น สอดคล้องกับบันทึกของจอมพลผิน (ผมได้รับหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของท่านผู้นี้ คุณย่านางกรุณาส่งมาให้ ขอบคุณครับ)
จอมพลผินตอนนั้นยศพลโท เป็นแม่ทัพกองทัพบูรพา ตั้งยันทัพจีนอยู่ที่เมืองเชียงตุง พอได้ข่าวก็รีบลงมา พวกแม่ทัพนายกองส่วนใหญ่อยู่กันที่กรุงเทพ นัดประชุมชักชวนกันจะล้มรัฐบาล ท่านบอกว่าจะทำได้อย่างไรกันญี่ปุ่นก็อยู่เต็มเมือง ทหารของท่านตายไปแล้วเป็นพันๆคน(ส่วนใหญ่เป็นไข้ป่าตาย) ทหารเรือก็คงหนุนนายปรีดีทั้งหมด (นี่ขนาดยังไม่รู้นะว่าตำรวจก็จะไม่เอาด้วย) ทำอะไรตอนนี้ยังไม่สมควรท่านไม่เห็นด้วย คนโตขนาดพลโทผินพูด รุ่นน้องก็ต้องเชื่อฟัง
ขณะที่ดำรงตำแหน่งท่านผู้นำอยู่นั้น เวลาสั่งราชการจอมพล ป.มักจะทำบันทึกส่งไปให้ผู้ปฏิบัติโดยตรง ผู้ที่รับคำสั่งก็ไม่ทราบหรอกว่าท่านสั่งในนามของนายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อไม่ได้เป็นนายกแล้ว ท่านก็ยังใช้ลูกเล่นนี้ก่อกวนรัฐบาลให้หัวปั่นได้มาก ท่านดื้อดึงจะทำโครงการเพชรบูรณ์ต่อไปโดยอ้างว่าเป็นโครงการของทหาร รัฐบาลไม่เกี่ยว แต่ต้องจ่ายเงินงบประมาณตามพันธะเดิมที่รัฐบาลของท่านได้อนุมัติไว้ และยังได้ออกคำสั่งย้ายหน่วยราชการ และบุคคลไปทำงานที่นั่นที่นี่เหมือนดังเคย รวมทั้งสั่งให้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแล้วออกอากาศรายการที่เชียร์ท่านด้วย เล่นอย่างนี้นายควงก็นายควงเถอะ ตลกไม่ออกเหมือนกัน
เริ่มต้นตรงจุดนี้แหละครับ ที่ผมสันนิฐานว่า มิตรรักได้เปลี่ยนไปเป็นคู่แค้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 228 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 21:02
|
|
พล.ต.อ.อดุลเป็นคนที่รักชาติ วิธีการรักชาติแบบพล.ต.อ.อดุลนั้น เมื่อท่านเห็นว่าจอมพล ป.คือชาติ ท่านก็ทำทุกอย่าง แทบจะเรียกได้ว่ายอมทอดตัวลงเป็นพรมให้จอมพล ป.เดินย่ำเท้านำชาติไปสู่ความรุ่งเรือง แต่เมื่อจอมพล ป.กลับกำลังนำชาติไปสู่วิบัติ ท่านก็เลิกทุ่มความจงรักักดีให้ หันไปสนับสนุนเสรีไทย และยอมทำทุกอย่างที่ท่านเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่จะนำชาติไปสู่ความอยู่รอดปลอดภัยได้ ถ้าเพื่อนขวาง ก็จะต้องเป็นศัตรูกัน
แต่บัดนี้ คนที่ประสาทเสีย หลงตนเอง และบ้าอำนาจ ไม่รู้สึกรู้สาว่าสถานภาพของบ้านเมืองอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจากกองทัพญี่ปุ่นอย่างไร ยังบังอาจกระทำการก่อกวนคนที่เขาพยายามจะกู้บ้านกู้เมือง เพียงเพื่อหวังว่าตนเองจะได้กลับมาเป็นใหญ่
การกระทำที่พล.ต.อ.อดุลประกาศตนต่อจอมพล ป.ว่า บัดนี้เราอยู่คนละข้างกัน กระทำผ่านเดี่ยวมือสอง รองจากท่านคือ พล.ต.ต. ชลอ ศรีศรากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 229 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 21:12
|
|
พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร คืออดีต ร.ท.ขุนศรีศรากร ผู้ก่อการรุ่นหนุ่มไฟแรงของคณะราษฎร เมื่อปฏิวัติ2475สำเร็จลง ขุนศรีศรากรเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ประกาศคืนบรรดาศักดิ์ ก่อนจอมพล ป.จะกระทำนานนม ครั้นจะเกิดกบฏบวรเดชได้รับคำสั่งให้เดินทางไปโคราชกับร.ต.ม.ร.ว.ลาภ หัสดินทร เพื่อสืบราชการลับ แต่ถูกจับได้จนเกือบจะถูกยิงเป้าในข้อหาจารชน เพื่อเอาเลือดเซ่นธงชัยเฉลิมพล ดีแต่นายทหารส่วนใหญ่ช่วยกันห้ามไว้ ให้ขังไว้รอการชำระบัญชี เมื่อฝ่ายพระองค์บวรเดชแพ้ จึงกลับมากรุงเทพอย่างวีรบุรุษ พล.ต.ต.ชลอ ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการเรือนจำบางขวางเพื่อดูแลผู้ต้องโทษในคดีกบฎบวรเดช และเป็นผู้คัดเลือกว่าผู้ใดสมควรได้รับการอภัยโทษ ผู้ใดควรขังลืม ความเข้มงวดเด็ดขาด ทำให้นักโทษการเมืองยำเกรงท่านผู้นี้มาก
หลังที่รัฐบาลปล่อยผู้ต้องโทษกบฏที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยเผอิญติดร่างแหเข้ามา ออกจากคุกบางขวาง แล้วคัดพวกตัวจริงส่งไปกักกันไว้ที่เกาะตะรุเตา พล.ต.ต. ชลอ ศรีศรากร ได้ย้ายไปเป็นนายตำรวจอยู่สันติบาลภายใต้บังคับบัญชาของพล.ต.อ.อดุล พล.ต.ต.ชลอ ทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ในปีที่พลโทผินปฏิวัติ ถูกปลดออกจากราชการแบบกลางอากาศพร้อมๆนายตำรวจหลายสิบคน พล.ต.ต.ชลอก็ใช้ชีวิตอย่างประชาชนธรรมดาอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะออกบวชที่อุตรดิตถ์บ้านเกิด แล้วถือครองผ้าเหลืองอยู่จนตลอดชีวิต
ครั้งที่ยังเป็นปุถุชนโลดแล่นไปตามกิเลศนั้น นายสั่งให้ท่านขึ้นไปลพบุรีแล้วเข้าพบจอมพล ป.เพื่อขอร้องให้เห็นแก่ชาติด้วยการอยู่เฉยๆ พล.ต.ต. ชลอก็คือเงาของพล.ต.อ.อดุล ทำอย่างนี้จอมพล ป.ก็เข้าใจได้เองว่าบัดนี้เพื่อนซี้คิดอย่างไร แต่จอมพล ป.ก็ทำเป็นแสดงท่าทีว่า จะไม่นำกำลังทหารจากลพบุรีเข้าไปยึดอำนาจในกรุงเทพดังข่าวลือ เมื่อกลับมาจากลพบุรีแล้ว ไม่นานเกินรอ สันติบาลได้กลิ่นว่าขุนทหารประชุมกันที่กรุงเทพขนาดพล.ท.ผินลงมาจากเชียงตุงเพื่อร่วมด้วย พล.ต.ต. ชลอก็ทำจดหมายถึงท่านผู้หญิงละเอียด ขอให้นำความในจดหมายของท่านเรียนจอมพล ป.ด้วยว่า ถ้ามีการใช้กำลังยึดอำนาจกันแล้วเกิดมีการต่อสู้กัน ญี่ปุ่นจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะปลดอาวุธทหารไทยทั้งหมด ซึ่งคนอย่างท่านจอมพล ป.คงไม่ยินดีให้ญี่ปุ่นปลดอาวุธทหารไทย “ท่านควรจะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความเต็มใจ คนอื่นที่ยังไม่มีโอกาสทำความดียังมีอีกมาก”
แสบเข้าไปถึงทรวงอย่างนี้ ทั้งสามีและภรรยาก็แทบจะประสานเสียงกรี๊ดให้ได้ยินมาถึงวังปารุสก์ อ่านไล่กลับทีละประโยคย้อนขึ้นไป พอถึงถ้ามีการใช้กำลังยึดอำนาจกันแล้วเกิดมีการต่อสู้กัน ใครล่ะ ที่จะมาต่อสู้ หากไม่ใช่ตำรวจของพล.ต.อ.อดุล
นี่ครับ เขาประกาศสงครามกันตรงนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 230 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 21:20
|
|
ไม่เกินคาดที่มีข่าวว่า จอมพล ป.เรียกประชุมลับขุนทหารที่ลพบุรีอีก คราวนี้ พล.ต.อ.อดุลขอให้นายควง ไปกับพล.ต.ต. ชลอเพื่อเจรจาขอสมานฉันท์ การเจรจารอบแรกนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และสนุกเฮอาตามสไตย์วันสุดสัปดาห์สบายๆกับนายควง ท่านผู้หญิงถึงขนาดลืมตัว เข้าครัวไปทำกับข้าวให้รับประทานด้วยกระบวนท่าสยบจอมพลอันเสทือนไปทั่วทั้งยุทธจักร ขากลับจอมพล ป.เดินไปส่งแขกเห็นรถบุโรทั่งที่นายควงยืมทหารเรือมาใช้ก็สังเวช วันรุ่งขึ้นเลยส่งรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยึดไว้ มาคืนให้ที่ทำเนียบ มีแถมมีข้อความใส่ซองจดหมายติดรถมาให้นายควงนำไปสร้างภาพตามสื่อต่างๆได้อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ต่างก็ลงข่าวแจกนี้กันเกรียวกราว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 231 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 21:49
|
|
สำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดครั้งแรกนายควงก็ว่าจะไม่ยกเลิก แต่จอมพล ป.ก็ไม่ยอมอยู่เฉยๆ ใช้อำนาจสั่งโน่นสั่งนี่กับข้าราชการ บางครั้งตรงกันข้ามกันกับรัฐบาลจนเกิดความสับสนในบรรดาผู้ที่ถูกสั่งว่าจะเชื่อใคร เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจึงพูดกันในที่ประชุมให้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสียจะดีกว่า ครั้นสายข่าวของจอมพล ป.รายงานไปทางนาย สายข่าวของพล.ต.อ.อดุลก็รายงานกลับมาว่าจอมพล ป.เรียกประชุมลับอีกแล้ว คราวนี้มีการขุดสนามเพลาะ ตั้งบังเกอร์กันในกรมทหารด้วย พล.ต.อ.อดุลก็เกลี้ยกล่อมให้นายควงไปเจรจาอีกรอบ ขอให้จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดสวยๆจะดีกว่า นายควงร้องฮ้า จะไหวรึ พล.ต.อ.อดุลบอกว่าถ้าพล.ต.ต. ชลอประกบไปด้วยแล้วไม่ต้องกลัวใคร แม้นายควงจะยอมเชื่อ และไปแล้วปลอดภัยกลับมา สายข่าวของผมรายงานว่า การสมานฉันท์คราวนี้บรรยากาศตึงเครียด เต็มไปด้วยคำพูดเชือดเฉือนด้วยความเคารพตลอดเวลา กว่าจะลุกขึ้นไปปัสสาวะกันได้ในแต่ละรอบคนดูแทบจะขว้างจอ ที่สุดแล้ว ทั้งสองต่างยืนยันจุดต่าง ถ่างจุดร่วมจนห่างไกลออกไปลิบลับ พล.ต.ต. ชลอกลับมาถึงกรุงเทพได้ก็ทำจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ส่งย้ำให้จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้ววางมือจากการเมืองเสียด้วย ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมนั้น ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่มีในทำเนียบข้าราชการทหาร มีแต่ตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตำแหน่งทางการเมืองจอมพล ป.ตั้งขึ้นเองจึงง่ายนิดเดียวถ้าจะยุบ เพียงนายกรัฐมนตรีเซ็นต์แกร๊กก็จบ เมื่อพูดกันดีๆไม่รู้เรื่อง ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐอยู่แล้วก็ได้เปรียบ จะกระทำการใดๆก็ชอบด้วยกฏหมาย เพียงแต่หลังการลงนามให้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งให้พระยาพหลเป็นแม่ทัพใหญ่ พล.ท. ชิต มั่นสิน สินาดโยธารักษ์เป็นรองแม่ทัพใหญ่แล้ว ทั้งนายควงผู้แต่งตั้ง กับพระยาพหลผู้ถูกแต่งตั้งก็ต้องย้ายที่นอนชั่วคราวไปค้างที่กองบัญชาการทหารเรือ พระราชวังเดิม พระยาพหลทุลักทุเลหน่อย ต้องเรียกรถพยาบาล เอาเปลมาหามกันไปน่าอนาถ ส่วนนายปรีดี หลบไปนอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการลับเหมือนกัน สายข่าวของผมไม่สามารถติดตามได้ว่าพล.ต.อ.อดุล ยังเฝ้าสถานะการณ์อยู่ที่วังปารุสก์หรือแอบไปเดินด้อมๆอยู่ที่ไหนสำนักไหนหรือเปล่า
รัฐบาลออกคำสั่งในนามของแม่ทัพใหญ่ ให้เชื่อฟังตนเพียงผู้เดียว อย่าเชื่อคำยุยงของผู้ใด ห้ามก่อให้เกิดความไม่สงบใดๆทั้งสิ้น และข้อสุดท้ายที่สำคัญ ห้ามเคลื่อนย้ายทหารออกจากที่ตั้งโดยเด็ดขาด อีกเพียง2วันต่อมา แม่ทัพใหญ่ก็ประกาศปลดพลโทผิน และนายทหารยศนายพลนายพันในคาถาของจอมพล ป.อีกเกือบยี่สิบคน ย้ายอีกร่วมสิบ นายทหารสายเสรีไทยเข้าดำรงตำแหน่งแทนเพียบ เจอไม้นี้เข้าในยกนี้ จอมพล ป.ก็ฮึดไม่ขึ้นเหมือนกัน
หลังจากอดทนรอคอยกว่า3ปี แค้นนี้ก็ได้รับการชำระ เมื่อพล.ท.ผินกับลูกชาย (พลเอกชาติชาย ชุณหวัน อดีตนายกรัฐมนตรีนักซิ่งจอมพริ้ว) นำนายทหารนอกราชการที่ถูกรัฐบาลนายควงปลดออก แต่ยังมีอิทธิพลเหนือนายทหารคุมกำลังหลายคน ถือโจโรฤกษ์ ทำการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 232 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 22:18
|
|
ขุนศรีศรากรคนนี้ น่าจะเป็นคนที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เกิดเลือดตกยางออกเป็นคนแรก ท่านได้รับคำสั่งให้ไปเฝ้าและจับกุมตัวพระยาเสนาสงคราม(ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ซึ่งฝ่ายผู้ก่อการถือว่าเป็นเสี้ยนหนามสำคัญ บ้านของพระยาเสนาสงครามอยู่ศรีย่าน ขุนศรีศรากรคงไม่คุ้นกับถนนนั้นเลยไปเฝ้าผิดบ้าน กว่าจะรู้ตัวย้อนกลับไปหาบ้านเจอ ก็กลางดึก เกิดดวลกับเจ้าของบ้าน เสียงปืนทำให้เพื่อนบ้านนึกกว่าโจรปล้นข้างบ้าน ก็หยิบปืนพกวิ่งลงจากบ้านไปช่วยเจ้าคุณ ไปถึงปรากฏว่าคุณหญิงเสนาสงคราม ท่านคว้าปืนลงมาซัดกับฝ่ายขุนศรีศรากรล่วงหน้าเข้าแล้ว ฟังผู้ใหญ่เล่าต่อกันมา ตื่นเต้นเหมือนในหนัง น่าเสียดายว่ารู้เพียงแค่นี้ ไม่รู้ฉากต่อไปว่าเป็นอย่างไร รู้แต่คำบอกเล่าว่าคุณหญิงเสนาสงครามท่านร่างใหญ่ ส่วนเจ้าคุณนั้นร่างผอม
อ่านพบภายหลังว่าขุนศรีศรากรเป็นผู้คุมของนักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช เพิ่งมารู้จากกระทู้นี้ว่าจากนั้นท่านไปเป็นนายตำรวจคนสนิทของอธิบดีตำรวจ และเมื่อพ้นจากการเมืองก็ไปบวช มีฉายาว่าพระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส ท่านเขียนหนังสือธรรมะไว้ด้วยค่ะ ขุนศรีศรากรหรือพลต.ต. ชะลอ ศรีศรากรคงจะบิ๊กเบิ้มมากในยุคอธิบดีตำรวจอดุล อดุลเดชจรัส แต่ท่านก็คงตระหนักถึงโลกธรรม ๘ และคงไม่อาลัยอาวรณ์ทางโลกอีก ถึงบวชจนมรณภาพในผ้าเหลือง
ในที่สุดท่านกูรูใหญ่กว่าก็เฉลยข้อสอบที่นักเรียนตั้งหน้าตั้งตาเข้าเรียนกันมานาน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 233 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 22:21
|
|
ดูจากรูปข้างบน "น้าชาติ" ตามที่สื่อเรียก ตอนหนุ่มๆท่านตัวเล็กนิดเดียว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
CrazyHOrse
|
ความคิดเห็นที่ 234 เมื่อ 22 ก.ค. 10, 22:37
|
|
มาลงชื่อเข้าชั้นเรียนครับ แต่ถ้าให้สอบตอนนี้ เห็นทีจะไม่รอดเป็นแน่ครับ 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 235 เมื่อ 23 ก.ค. 10, 06:04
|
|
เรื่องการเมืองของไทยนี่ ใครก็ไปไม่รอดนะครับคุณม้า แม้นักการเมืองทั้งหลายที่ว่าแน่ๆ ก็ยังสะดุดขาศัตรูบ้าง ขาเพื่อนบ้าง ล้มคว่ำไปเสียแทบทั้งนั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 236 เมื่อ 23 ก.ค. 10, 07:26
|
|
ความตึงเครียดด้านศึกภายในหมดไป เหลือแต่ศึกภายนอกที่เข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง พร้อมจะหันอาวุธเข้าประหัตประหารกันให้สิ้นความขุ่นใจ นายควงเริ่มถูกสายลับญี่ปุ่นติดตามตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงจนถึงกับทนไม่ได้ เรียกแม่ทัพนากามูระมาต่อว่า แม่ทัพนากามูระก็ใช้ลูกเล่นของนายควงย้อนศรเข้าไปบ้างว่า ญี่ปุ่นเห็นว่านายควงมีศัตรูคนไทยเยอะที่จ้องจะฆ่า เลยมาช่วยคุ้มกันให้
ความจริงแล้วก็พอกัน พล.ต.อ.อดุลได้ให้สันติบาลวางแผนที่ถนัด เรื่มจากทำข้อมูลละเอียดที่ตั้งสำคัญของกองทัพญี่ปุ่น หาจุดอ่อนที่จะเข้าโจมตีเมื่อวันดี-เดย์มาถึง บ้านแม่ทัพนายกองทุกระดับ ถูกสำรวจทำแผนที่ พวกนี้ง่ายเพราะมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพ“งิ”ที่ถนนสาทร กระจายอยู่แถวราชดำริ และถนนวิทยุ 11จุดตายนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของพล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร
เรื่องการเคลื่อนไหวของเสรีไทย ระยะหลังจากสิ้นห่วงคนไทยด้วยกันแล้ว ก็ขนอาวุธ ฝึกกองโจรกันเข้มข้นมาก ไม่พลาดสายข่าวของญี่ปุ่นไปได้ แม่ทัพนากามูระต้องอดทนอย่างยิ่งกับลูกน้องที่เลือดร้อน ต้องการให้ดำเนินการอะไรสักอย่าง ไม่ใช่รอตั้งรับให้เสรีไทยเป็นฝ่ายลั่นกระสุนก่อน แต่ก็เริ่มสั่งการให้ตั้งบังเกอร์ป้องกันตนเองลามออกมาตามหัวถนนทั่วไป โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันหากสัมพันธมิตรส่งกองทัพพลร่มเข้ามายึดกรุงเทพ ทหารไทยก็เลยถือโอกาสอ้างเหตุผลเดียวกันสร้างบังเกอร์ ประจันหน้ากันไป ชาวบ้านดูแล้วสงสัยนี่เขาจะรบกันเองหรือจะรบกับฝรั่ง
โชคดีของคนกรุงเทพ แผนดี-เดย์ที่ฝ่ายเสรีไทยวาดไว้ยังไม่ทันได้ออกมาใช้ ระเบิดปรมาณูก็หล่นใส่ประเทศญี่ปุ่นไปสองผล ไม่นานญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้ ประเทศไทยจึงถือโอกาสประกาศสันติภาพบ้าง
พลโท อาเคโดะ นากามูระได้เข้าพบแสดงความยินดีต่อนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และแจ้งว่ากองทัพญี่ปุ่นจะปลดอาวุธตนเอง มอบให้ทหารไทยเป็นผู้ดูแลต่อไป ตลอดเวลาที่กองทัพงิของแม่ทัพนากามูระอยู่ในประเทศไทย แม้ชาวโลกจะมองว่าไทยถูกยึดครองก็จริง แต่แม่ทัพนากามูระก็เคารพในเอกราชของไทยมาก แม้จะต้องรอนอิสระภาพไปไม่น้อยก็ตาม ตัวของแม่ทัพนากามูระเป็นคนเคร่งในพุทธศาสนาและนิยมคนไทย ที่สำคัญคือไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามของญี่ปุ่นแม้จะไม่เคยพูดตรงๆ เมื่อยุทธนาวีที่เกาะมิดเวย์จบลงพร้อมความย่อยยับของจักพรรดินาวี แม่ทัพนากามูระบอกจอมพล.ป.ว่าญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงครามแล้ว ขอให้ประเทศไทยเอาตัวรอดด้วยตนเองให้จงดี กองทัพงิขึ้นกับกองบัญชาการที่ไซ่ง่อน มีพลเอกเคา เทราอุจิเป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งมีความเห็นว่าไม่ควรปล่อยทหารไทยไว้เป็นหอกข้างแคร่ แต่แม่ทัพนากามูระก็หว่านล้อมเหตุผลต่างๆ คัดค้านไว้ได้ทุกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ดลบันดาลให้ญี่ปุ่นส่งคนอย่างแม่ทัพนากามูระมาเมืองไทยหรือเหตุอื่นใดก็ตาม ต้องถือว่าประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณบุคคลท่านนี้เป็นอันมาก
แม่ทัพนากามูระเป็นแม่ทัพคนเดียวของญี่ปุ่นที่ไม่ตกเป็นอาชญากรสงครามหลังขึ้นศาลของพันธมิตร และได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งหลังสงครามเลิกไปแล้วประมาณสิบปี มีคนไทยไปรับอย่างอบอุ่นน่าชื่นใจ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 237 เมื่อ 23 ก.ค. 10, 08:52
|
|
เมื่อสิ้นสุดสถานะสงคราม นายควงก็ต้องประกาศลาออกในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาซึ่งทำไว้ตั้งแต่สมัยจอมพล.ป. ผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเจราจาต่อ ไม่ให้ไทยถูกฉุดลากกระชากถูให้ไปเป็นผู้แพ้ร่วมกับญี่ปุ่นคือม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เมื่อม.ร.ว.เสนีย์ยังมาไม่ถึง สภาก็ตั้งนายทวี บุณยเกตุผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีตลอด ในสมัยที่นายควงรับเฉพาะบทผู้ใส่หัวโขนเจรจาต้าอวยกับญี่ปุ่น ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อขัดตาทัพไปพลางๆ พล.ต.อ.อดุลได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลกับนายทวีด้วยในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ไม่รู้ว่าหาคนเหมาะสมกว่านี้ในเมืองไทยไม่ได้แล้วหรืออย่างไร
ผมจะขอย้อนเรื่องอีกสักหน่อย โดยความสัตย์จริง ผมเพิ่งเจอะเจอจากการอ่านหนังสือหลายเล่มในครั้งนี้ว่า ผู้ที่ริเริ่มการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และล้างมลทินในข้อหากบฏตั้งแต่ร.ศ.130 เรื่อยลงจนถึงกบฏพระยาทรง คือ พล.ต.อ.อดุล ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจ ได้ทำหนังสือเสนอความเห็นดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายควงเห็นด้วยโดยทันที จึงมีคำสั่งให้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่เราๆท่านๆทราบกันดีอยู่นั้น ทำให้นายรังสิต ประยูรศักดิ์ได้กลับคืนฐานันดรเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และนักโทษการเมืองทั้งที่บางขวางและเกาะเต่าได้กลับบ้าน สู่สถานภาพปัจเจกบุคคลที่เคยมี เคยเป็นมาแต่เดิม เครดิตนี้ นักประวัติศาสตร์แทบทั้งหมดให้นายควงเป็นผู้รับแต่ผู้เดียว คนที่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นความคิดริเริ่มของพล.ต.อ.อดุลมีเพียงเล็กน้อย
เหตุผลที่เสนอขึ้นไป ไม่ทราบว่าท่านต้องการจะล้างบาปที่ท่านกระทำต่อผู้บริสุทธ์ไว้เกินกว่าเหตุ หรือท่านต้องการจะล้างบารมีจอมพล ป.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอปิดฉากด้วยข้อเขียนชิ้นหนึ่งให้ท่านพิจารณากันเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 238 เมื่อ 23 ก.ค. 10, 09:14
|
|
กระทู้นี้มีเรื่องให้แยกซอยออกไปเดินได้เกือบจะทุกความเห็น ท่านกูรูใหญ่ซิ่งเร็วปานจรวด เพราะข้อมูลท่านแยะมาก ดิฉันปั่นจักรยานตามไม่ทัน ต้องขออภัยที่บางครั้งซอยแยกอาจจะลาดยางช้าไปบ้าง ทีแรกว่าจะเล่าถึงนายพลนากามูระ ที่กลับมาเยือนไทยอีกครั้งในพ.ศ. 2498 แต่พอจะตอบ เจอเรื่อง 18 นักโทษประหารเข้า เลยขอออกความเห็นเรื่องนี้ก่อน
เรื่องการประหารครั้งใหญ่สุดในรอบศตวรรษของรัตนโกสินทร์นี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จากการบีบบังคับของอธิบดีตำรวจต่อนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารแต่ผู้เดียว ถ้าท่านจอมพลป. ยืนกรานลดโทษลงทุกคน จากประหารเป็นจำคุกตลอดชีวิต จากจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 20 ปี ก็น่าจะต่อรองกันได้กับผู้มีอำนาจรองลงไปจากท่าน แต่จะว่าพลต.ต.อดุลไม่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเสียเลย ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะอย่างไรท่านทั้งสองก็เป็นมิตรสนิท ปรึกษาหารือราชการกันทุกวันอยู่แล้ว ตามความเห็นส่วนตัว ดิฉันก็เลยขอเฉลี่ยว่าท่านเห็นชอบร่วมกัน ที่จะให้เป็นไปตามศาลพิเศษตัดสิน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 239 เมื่อ 23 ก.ค. 10, 09:30
|
|
ขอลงคำให้การบางส่วนของพลต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ที่ให้การในคดีจอมพลป.ถูกขึ้นศาลในข้อหาอาชญากรสงคราม เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านกระทู้จะได้พิจารณากันได้ทั้งสองด้าน ไม่ได้หมายความว่านำมาลงในฐานะข้อเท็จจริง เพราะเป็นเพียงคำให้การของพยาน ส่วนคนอ่าน อ่านแล้วจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่าน คำให้การนี้อยู่ในเอกสารของเว็บไซต์ราชการ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นความลับ ใครสนใจไปเสิชกูเกิ้ลหาอ่านเอาเองนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|