อฏฺฐารส ธาตุโย : ธาตุทั้งหลาย ๑๘จกฺขุธาตุ จักษุธาตุ ๑ รูปธาตุ รูปธาตุ ๑ จกฺขุวิญฺญาณธาตุ จักษุวิญญาณธาตุ ๑
โสตธาตุ โสตธาตุ ๑ สทฺทธาตุ สัททธาตุ ๑ โสตวิญฺญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ๑
ฆานธาตุ ฆานธาตุ ๑ คนฺธธาตุ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญฺญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ๑
ชิวฺหาธาตุ ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ รสธาตุ ๑ ชิวฺหาวิญฺญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑
กายธาตุ กายธาตุ ๑ โผฏฺฐพฺพธาตุ โผฏฐัพพธาตุ ๑ กายวิญฺญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ๑
มโนธาตุ มโนธาตุ ๑ ธมฺมธาตุ ธรรมธาตุ ๑ มโนวิญฺญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ๑
การที่ท่านแสดงธาตุ ๑๘ ในที่นี้ เข้าใจว่าท่านจะขยายอายตนะ ๑๒ ให้กว้างออกไป สำหรับจะให้เข้าใจง่าย เพราะอายตนะ ๑๒ ประการนี้เองเป็นของสำคัญในทางวิปัสสนา คือเป็นศีลด้วย เป็นสมาธิด้วย เป็นปัญญาด้วย
คำที่ว่าธาตุนั้นเป็นแต่สัญญานามธรรมเท่านั้น จะได้มีเนื้อมีหนังหามิได้ เป็นแต่ชื่อเปล่า ๆ ว่าธาตุ เอาจักขุมาใส่เข้าก็เรียกตามของใส่เข้าว่าธาตุตา ธาตุรูป ธาตุวิญญาณตา ธาตุหู ธาตุเสียง ธาตุวิญญาณหู ธาตุจมูก ธาตุกลิ่น ธาตุวิญญาณจมูก ธาตุลิ้น ธาตุรส ธาตุวิญญาณลิ้น ธาตุกาย ธาตุเครื่องสัมผัสกาย ธาตุวิญญาณกาย ธาตุใจ ธาตุธรรมารมณ์ ธาตุวิญญาณใจ เรียกไปตามของใส่ของปรากฏ
เพราะเหตุนั้น คำว่าธาตุจึงไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เราเข้าใจกันว่าธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ธาตุเงิน ธาตุทอง ธาตุเปรี้ยว ธาตุหวาน เป็นต้น ตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงสมกับ
พุทธภาษิตข้อหนึ่งซึ่งมีความว่า “ธาตุโย สุญฺญโต ปสฺส” ท่านจงเห็นธาตุทั้งหลาย โดยความเป็นของสูญเถิด ดังนี้ ถ้าหมายความตามพุทธภาษิตนี้ ต้องว่าตัวธาตุไม่มี มีอยู่แต่ชื่อเท่านั้น การแสดงอายตนะ กล่าวแต่ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับเครื่องสัมผัส ใจกับธรรมารมณ์ ครั้นมาถึงวาระแห่งธาตุจึงเพิ่มวิญญาณขึ้นอีกให้เป็น ๓ พึงเห็นความในคำที่ว่า บ่อเกิดคือเกิดวิญญาณขึ้น อาศัยวิญญาณกับสัมผัสผสมกันเข้าก็เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ต่อ ๆ ไป
การที่ให้พิจารณาโดยฐานะเป็นธาตุนั้น ก็มีความประสงค์จะให้ค้นหาเหตุหาผล ตามหลักที่ว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา” ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด คือ เกิดแต่เหตุ ถ้าจะให้ผลดับ ต้องให้รู้เหตุ ให้ดับที่เหตุ อายตนะ ๑๒ ก็เป็นตัวเหตุ ธาตุ ๑๘ ก็เป็นตัวเหตุ ส่วนเวทนา ตัณหา อุปาทาน ตัวผล ถ้าจะให้ดับต้องไปดับที่เหตุ แสดงธาตุ ๑๘ พอได้ใจความไว้เพียงเท่านี้.
จาก
หนังสือวิปัสสนาภูมิ ของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เรียบเรียงเมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. ๒๔๖๘
