เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 40087 สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:13

ถ้าสามีลงเรือนไปในกิจกรรมที่เปิดเผยเป็นที่ทราบกันดี  เช่นไปค้าควาย  ปราบจระเข้    ไปตีดาบ  ไปคิดฆ่าผู้อื่นมาทำกุมาร  ไปเข้าเวร หรือเรียกว่าเข้าเดือนนั้น  หรือไปทัพ  มีการบอกกล่าว
หาเสบียง

ก็ไปซิจ๊ะ        ใครจะกล้านินทาว่าร้ายยุยงให้หาผัวใหม่ได้

ยิ่งสามีไปทัพเช่นพ่อแผนแสนสังหารนั้น    พระอัยการปกป้องไว้เต็มที่

ขุนช้างจะไปมาหาสู่นั้นต้องปรับทีเดียว

ทีนี้ถ้ากระทืบเท้าลงเรือน  แถมชักดาบออกมาฟาดลมวิ้วว้าว   พูดดังๆให้ท่านผู้มีชื่อได้ยินว่า  นับแต่นี้เอ็งกับข้าขาดกันจนบรรลัย

อย่างนี้ก็อย่าไปคอยว่าจะกลับมาตายรัง    อย่างบิดานายกุหลาบ ก.ศ.ร.  อย่างไรเล่า    ลูกอ่อนร้องดังไปแกทนไม่ไหว  ถือโอกาสซิ่งไปตั้งครอบครัวใหม่มีลูกอีกเป็นพรวน
(ทีอย่างนี้ไม่รำคาญ  ชิชิ)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:21

การเดินทัพสมัยก่อนกินเวลาเป็นปี    ทหารเจ็บป่วยล้มตายเพราะความอดอยาก และไข้มีจำนวนมากพอ ๆ กับตายในสนามรบ

คุณมหาดเล็กช้างเก็บกระดูกมาฝาก  ถือว่าการข่าวระดับพอเชื่อถือได้

นางวันทองไม่อยากเชื่อ   แต่แม่วันทองอยากเชื่อเพราะกลัวการริบบ้านเรือนและผู้คนซึ่งนางเห็นมาแล้วตอนนางทองประศรีหอบไอ้แกละ..เอ้ยพ่อแผนเข้าป่า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:55

อ้างถึง
การตีความโคลงโลกนิติวรรคนี้  ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นด้วย สมัยก่อนผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นที่ยอมรับในสังคม  การที่ขุนแผนมีภรรยาหลายคนไม่มีใครกล่าวว่าเป็นคนไม่ดี แต่นางวันทองมีสามีเพียง ๒ คนด้วยจะด้วยความเสียรู้หรือตกกระไดพลอยใจก็ตามที สังคมถึงกับยกเป็นตัวอย่างของหญิงเลว

ดังนั้น หากผู้ชายจากภรรยาไป ๓ วันแล้วมีผู้หญิงคนใหม่ สมัยนั้นคงไม่ถือว่าผู้ชายเป็นอื่นแน่ ๆ ผิดกับผู้หญิงเพียงนางวันทองมีสามีใหม่คือขุนช้าง สังคมก็ถือว่านางวันทองเป็นอื่น เป็นนางวันทองสองใจ เป็นตัวอย่างของหญิงเลวซึ่งมิสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

กรณีวันทองมีสามีใหม่ คือ ขุนช้าง  ในระหว่างที่พ่อพลายแก้วไปราชการทัพที่เชียงใหม่    ต้องพิจารณาให้ดี  ว่า   ตามเนื้อเรื่องตรงนี้   วันทองไม่ได้ประสงค์จะแต่งงานกับขุนช้าง   การแต่งงานกับขุนช้าง  มีเหตุปัจจัยบีบบังคับ  ๓ ประการ คือ

ประการแรก  ความไม่รู้กฎหมายของนางวันทองและนางศรีประจันมารดา  เมื่อขุนช้างเอากระดูกผีมาแสดงแก่นางวันทองและมารดาว่า  พลายแก้วไปตายในราชการทัพ  พวกที่ไปทัพด้วยกันเผาและเก็บกระดูกฝากตนมาส่งให้วันทองที่บ้าน   นางวันทองไม่เชื่อ   เพราะโพธิ์ที่ปลูกอธิษฐานไว้ยังดีอยู่  ขุนช้างก็เลยส่งคนไปทำลายต้นโพธิ์  แล้วมาบอกขู่วันทองกับมารดาว่า  ตามกฎหมายถ้าสามีไปทัพแล้วถูกข้าศึกฆ่าตาย   จะต้องถูกริบสมบัติและภรรยาต้องเข้าไปเป็นม่ายหลวงอยู่ในวัง   นางศรีประจันเป็นห่วงสมบัติ  เลยถามขุนช้างว่าจะทำอย่างไรดี   ขุนช้างเห็นเข้าทางก็เลยว่าก็ให้วันทองแต่งงานกับตนสิ  จะได้ไม่ถูกริบทรัพย์และไม่ต้องส่งวันทองไปเป็นม่ายหลวง    ในความเป็นจริง   กฎหมายตราสามดวง  ท่านให้ความคุ้มครองแนวหลังของทหารหาญที่ไปรบทัพจับศึก   ถ้ารบถึงตายในสนามรบ   ท่านก้ไม่ริบทรัพย์เข้าหลวง   เว้นแต่ไปทำการเข้าข่ายความผิดในลักษณะพระอัยการกบฏศึก  เช่นนั้นจึงจะมีความผิดพิจารณาลงโทษไปตามกระบิลกฎหมาย   อีกอย่างหนึ่ง   ถ้าเฉลียวใจกันสักนิด   จะเห็นได้ว่า  คนไปตายในราชการสงคราม   พวกทหารที่ไปด้วยกันจะมัวพะวงเก็บศพมาเผาหรือ   แค่จะหนีให้รอดกลับมาถึงพระนครก็ยากแย่แล้ว   ที่ขุนช้างเป็นเก็บกระดูกผีมายืนยันว่าพลายแก้วตายแล้วนั้น  แทบเป็นไปไม่ได้เลย (น่าแปลก  เพราะเรื่องเอากระดูกผีมาเล่นอย่างนี้  มีตัวอย่างอยู่ในนิทานประกอบเรื่องมังคลัตถทีปนีด้วย)


ประการต่อมา   นางศรีประจันบังคับลุกสาวให้แต่งงานใหม่  อันนี้เป็นผลมาจากประการแรก  นางศรีประจันเกรงว่าสมบัติและลูกสาวจะถูกยึดเป็นของหลวงหมด   เหลือแต่แกคนเดียวที่เป็นหม้ายสามีตาย   และนางก็แก่แล้ว  เกรงว่าจะดำรงชีวิตลำบาก   จึงรีบจัดงานให้วันทองแต่งงานกับขุนช้าง เพื่อประโยชน์ที่จะไม่ต้องถูกยึดทรัพย์   และก็สมประโยชน์ขุนช้างด้วย  (นางศรีประจันอาจจะเล็งๆ ทรัพย์สมบัติบ้านขุนช้างไว้ด้วย)  แต่นางวันทองไม่ยอม  กระนั้นนางก็ทนแรงบังคับแม่ไม่ได้  จนผ่านงานแต่งงานไปอย่างทุลักทุเล   และยังขอประวิงเวลาส่งตัวเข้าหออีกด้วย   นี่ก็แสดงว่าวันทองไม่ได้ต้องการแต่งงานเป็นเมียขุนช้าง  แต่เพราะแม่บังคับด้วยกำลัง

ประการสุดท้าย  คือ  ความผิดหวังของของวันทองในวันที่พ่อพลายสามีกลับมาบ้าน  พร้อมด้วยนางลาวทอง   ลำพังขุนแผนพาลาวทองมาด้วย   นางวันทองคงไม่รังเกียจที่จะเอานางมาร่วมชายคา  แต่ที่นางวันทองทนไม่ได้คือ  นางลาวทองดันมายุ่งเรื่องที่นางวันทองฟ้องขุนแผนว่า ขุนช้างมาหลอกลวงตนเองและแม่ให้จัดงานแต่งานใหม่เพื่อจะได้ไม่ถูกริบทรัพย์    ถ้านางลาวทองเงียบๆ อยู่ในเรือ  ก็ไม่มีปัญหา  แต่นี่ดันมาทะลุกลางปล้องและมาจุดชนวนให้ผัวเมียผิดใจกันอีกต่างหาก   วันทองก้ได้ชื่อว่า โกรธแล้วไม่ไว้หน้าใคร  เลยด่ากราดไปหมด   ขุนแผนโกรธพาลาวทองกลับไปเมืองกาญจน์บุรี  ความหวังที่ให้พ่อพลายสามีกลับมาช่วยวันทองไม่ต้องถูกส่งตัวเข้าหอเป็นเมียขุนช้างก็จบสิ้นวันนั้น   ตกย่ำค่ำ  นางศรีประจันก็บังคับเอาวันทองไปส่งตัวเข้าหอกับขุนช้างปลุกปล้ำได้เป็นเมียสำเร็จ


ฉะนั้น  ถ้าจะยกเอาเหตุการณ์ตอนนี้มาว่า วันทองสองใจ ในขณะที่พลายแก้วไปราชการทัพเชียงใหม่ก็ไม่สมเหตุสมผล   เพราะนางวันทองได้พยายามรักษาความเป็นเมียของพ่อพลายตั้งแต่พ่อพลายเดินทางไปทัพจนกระทั่งกลับมาถึงบ้านได้เป็นขุนแผน   (ขุนแผนก็ยังชมอยู่)

คำกล่าวว่า  วันทองสองใจ  น่าจะมาจากตอนที่สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้วันทองตัดสินใจเลือกว่า   จะไปอยู่กับใคร  ระหว่างขุนแผน ขุนช้าง และจมื่นไวย   แต่นางอึกอักไม่ยอมเลือก  (ตัดสินใจไม่ถูก  เพราะทั้งสามคนก็มีความสัมพันธ์กับนางในด้านดีและเสียแตกต่างกันไป)  สมเด็จพระพันวษาจึงทรงกริ้ว  มีพระบรมราชโองการให้เอานางวันทองไปประหาร  (ก่อนนั้นยังทรงบริภาษนางไปอีกหลายคำ)   นี่ถ้านางวันทองตัดสินใจกราบทูลอะไรไปสักอย่าง   (เช่น  กระหม่อมขอเวลาคิดดูสัก ๑ ชั่วยาม  ได้ไหมเพคะ)  อย่างน้อย  นางอาจจะมีชีวิตไปจนจบเสภาฉบับหอพระสมุดก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
Thida
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 14:57

คิดว่า เป็นความฉลาดของผู้แต่ง ทำให้ตีความได้ทั้งสองอย่าง

ผ่านไปอีก 100 ปี ก็จะมีคนถกกันในเรื่องนี้อีก...
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 15:17

ลองอ่านทบทวน โคลงบทนี้กันอีกทีนะคะ

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี--------> ความรู้ทางดนตรี   ก็หายไป..
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า--------> ความรู้ทางอักขระ ก็หายไป..
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น--------> นารี ก็หายไป..
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง----> ศรี ก็หายไป...

: ผู้แต่งตั้งใจ จะสื่อว่า สามวันจากนารี นารีก็เป็นอื่น ค่ะ ไม่ใช่สามวันจากนารีแล้วบุรุษจะเป็นอื่น...
เพราะฉะนั้น ทำตัวติดกันไว้ จะได้ไม่มีใครเป็นอื่น ฮิฮิ ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 15:44


สามวันจากนารี                    เป็นอื่น--------> นารี ก็หายไป..

: ผู้แต่งตั้งใจ จะสื่อว่า สามวันจากนารี นารีก็เป็นอื่น ค่ะ ไม่ใช่สามวันจากนารีแล้วบุรุษจะเป็นอื่น...
เพราะฉะนั้น ทำตัวติดกันไว้ จะได้ไม่มีใครเป็นอื่น ฮิฮิ ยิงฟันยิ้ม

๑. นารีจะเป็นอื่น ด้วยเหตุและปัจจัยอะไรบ้าง  โปรดอธิบายและยกตัวอย่างประกอบให้เห็นแจ้ง

๒. บุรุษจะจากนารี  ด้วยเหตุและปัจจัยอะไร  โปรดอธิบายและยกตัวอย่างประกอบให้เห็นแจ้ง

ทั้งนี้โปรดพิจารณาจากบริบทเวลาในยุคสมัยที่แต่งของโคลงบทดังกล่าวประกอบด้วย
(โคลงบทนี้ไม่ใด้แปลหรือแต่งมาจากสุภาษิตภาษาบาลีสันสกฤตแต่อย่างใด 
เช่นเดียวโคลงโลกนิติบางบทที่ไม่มีได้มีที่มาจากสุภาษิตภาษาบาลีสันสกฤต
และไม่ใช่โคลงที่สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระจากโคลงโลกนิติของเก่า
แต่เป็นโคลงที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นมาใหม่แทรกใส่ในโคลงโลกนิติที่ทรงชำระและได้จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ)

การที่คนอ่านสมัยปัจจุบันแปลโคลงบทนี้มีสองความหมาย เพราะอะไร  ความกำกวมของคำ?
หรือเป็นเพราะยุคสมัยของคนอ่าน?  ถ้าสุภาษิตอาจจะตีความได้สองอย่างเช่นนี้  จะมีประโยชน์อันใดที่ใช้สอนคน
เพราะคนอ่านอาจจะตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้  ก็สุภาษิตต้องมีความหมายชัดเจนไม่ใช่หรือ
แต่คนอ่านนั่นเองที่อาจจะไปไม่ถึงความหมายที่แท้จริงของคนแต่ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 16:47

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง
++++

จะเห็นความสวยงามของการเรียงลำดับอาการหลงลืม ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพียง 7 วันก็ลืมโน๊ตดนตรี นับประสาอะไรกับไม่ล้างหน้าเพียงวันเดียว

ในสามวรรคไม่ได้ระบุถึงเพศไว้ว่าใครที่ละเลยเฉกเช่นนี้จะเป็นดังที่ว่า แต่วรรคที่สาม จากนารี ย่อมหมายถึง ชายจากหญิง เป็นคนอื่น ก็จะหมายถึง หญิงไม่หลงรักผูกพันในผู้ชายต่อไปแล้ว เมื่อจากเพียงสามวัน
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 17:12

วิเคราะห์ตามความเข้าใจอันน้อยนิด และไม่ได้อิงภูมิรู้ด้านใดๆ เลยนะคะ...

โคลงบทนี้ น่าจะสอน บุรุษ ให้มีความอุตสาหะ พยายาม มีความสม่ำเสมอ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
เช่น การฝึกซ้อมต่างๆ ทั้งดนตรี อาวุธ(ไม่ได้เขียนไว้ อาจจะไม่เข้ากันกับสัมผัสของโคลง)
การฝึกอ่านเขียน การดำเนินชีวิตอื่นๆ เช่นการรักษาความสะอาด(ล้างหน้า) อย่าขี้เกียจต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
 
การจีบหญิง หรือการเอาอกเอาใจหญิง ก็เช่นกัน ต้องมีความพยายาม กระทำอย่างสม่ำเสมอ
ผู้แต่งคงต้องการเปรียบเทียบให้เห็นผล ที่ผู้ชายไม่อยากให้เป็น คือนารี(ไป)เป็น(ของคน)อื่น
ซึ่งคงจะไม่เกี่ยวกับจำนวนวัน หรือยุคสมัย แต่ตั้งใจแค่จะขู่ สอนฝ่ายชาย เท่านั้น
เพราะ
เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม    ดนตรี-------->ในความเป็นจริง แค่ 7 วันไม่ได้ซ้อมดนตรี ก็ยังไม่ลืม
อักขระห้าวันหนี          เนิ่นช้า-------->ในความเป็นจริง แค่ 5 วันไม่ได้อ่านเขียน ก็ยังไม่ลืม
เพราะฉะนั้น
สามวันจากนารี          เป็นอื่น-------->ก็เป็นแค่การขู่เพื่อสอน เพราะในความเป็นจริง การจะเป็นอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลา 3 วัน  

เป็นการสอนที่ ต้องการจะสอนให้บุรุษนั้นเป็นคนดี ชี้ให้เห็นว่าหากขาดความพยายามอย่างสม่ำเสมอ เกียจคร้าน ละเลย จะมีผลอย่างไร

ถ้าทำได้ตามนี้ชีวิตก็จะราบรื่น มีความสุขความเจริญ
คือมี ความสุขรื่นรมย์ในชีวิต (เล่นดนตรีได้)
มีความรู้ อันจะสามารถไปประกอบหน้าที่การงานได้ (อ่านออกเขียนได้)
มีครอบครัวที่อบอุ่น (นารีไม่ไปเป็นของคนอื่น)
และมีสุขภาพที่ดี (ล้างหน้าล้างตา สะอาด มีสง่าราศรี)

ที่เน้นว่าสอนบุรุษ เพราะในสมัยนั้นผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ทุกข์สุขของผู้หญิงและครอบครัวย่อมผูกไว้กับบุรุษซึ่งเป็นผู้นำครอบครัว...
(ฟังดูดีกว่า เหตุผลที่ว่าผู้ชาย ขี้เกียจกว่า ผู้หญิง นะคะ ฮิฮิ... ยิงฟันยิ้ม )
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 08:21

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง
++++

จะเห็นความสวยงามของการเรียงลำดับอาการหลงลืม ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพียง 7 วันก็ลืมโน๊ตดนตรี นับประสาอะไรกับไม่ล้างหน้าเพียงวันเดียว

ในสามวรรคไม่ได้ระบุถึงเพศไว้ว่าใครที่ละเลยเฉกเช่นนี้จะเป็นดังที่ว่า แต่วรรคที่สาม จากนารี ย่อมหมายถึง ชายจากหญิง เป็นคนอื่น ก็จะหมายถึง หญิงไม่หลงรักผูกพันในผู้ชายต่อไปแล้ว เมื่อจากเพียงสามวัน

น่าสนใจมากครับ ที่คุณ siamese ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนวันในโคลงโลกนิติบทนี้  
แต่ที่ว่า  ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ  
อันนี้ขอให้พิจารณาจากตัวบทเป็นสำคัญ  


ปกติโคลงย่อมว่าจากบาทแรกบนสุดลงไปถึงบาทสุดท้ายล่างสุด  
ฉะนั้นที่ว่า ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ย่อมไม่ถูกต้องตามลำดับบาทโคลง
แต่ต้องเป็น ตั้งแต่ ๗-๕-๓-๑ ส่วนลำดับความรุนแรงของการลืมนั้น  อาจจะต้องพิจารณากันอีกส่วนหนึ่ง
การเรียงลำดับ ๗-๕-๓-๑ วันในโคลงโลกนิติบทนี้ จะแฝงนัยยะหรือความหมายอะไรไว้หรือไม่
ก็น่าขบคิดใคร่ครวญหาคำตอบอยู่   แต่ในทางกลับกัน  จำนวนวันอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรลึกซึ้งก็ได้

ผมสงสัยว่า ทำไมวิชาการดนตรีจึงหลงลืมได้ช้ากว่าการเรียนอักขระหนังสือ
ใครมีคำตอบดีๆ กรุณาไขความให้กระจ่างด้วยนะครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 15:32


ผมสงสัยว่า ทำไมวิชาการดนตรีจึงหลงลืมได้ช้ากว่าการเรียนอักขระหนังสือ
ใครมีคำตอบดีๆ กรุณาไขความให้กระจ่างด้วยนะครับ ยิงฟันยิ้ม
++++


อันการดนตรีนั้น การสอนการเรียนอาศัยการจำ และการฝึกฝนเป็นเชิงศิลปะ หรือสมัยนี้ก็วิเคราะห์ไว้ว่าใช้สมองในส่วนต่างๆกัน สำหรับเรื่องดนตรี และเรื่องการขีดๆเขียนเรื่องเรียน เมื่อเจอทำนอง ก็คลอๆกันไปได้ บางครั้งการตีระนาดอย่างชำนาญการแล้ว ไม่ต้องใช้ความคิด มือก็บรรเลงไปได้เองก็มี


สำหรับการเรียนอักขระนั้น คุณหลวงเล็กลองดูลิงค์นี้นะครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/06/K9360777/K9360777.html

จะเห็นว่าการเขียนอักษรไทยสมัยก่อนนั้น มีระเบียบและแบบแผนอย่างชัดเจน เรียกว่า ต้องเรียนวิธีผสมอักษร อะไรเจอกับอะไรเขียนอย่างไร ซึ่งมีความยากในตัว คนโบราณท่านสั่งสอนไว้เป็นแบบ แต่ปัจจุบันสูญหายหมดแล้วครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 15:57


อันการดนตรีนั้น การสอนการเรียนอาศัยการจำ และการฝึกฝนเป็นเชิงศิลปะ หรือสมัยนี้ก็วิเคราะห์ไว้ว่าใช้สมองในส่วนต่างๆกัน สำหรับเรื่องดนตรี และเรื่องการขีดๆเขียนเรื่องเรียน เมื่อเจอทำนอง ก็คลอๆกันไปได้ บางครั้งการตีระนาดอย่างชำนาญการแล้ว ไม่ต้องใช้ความคิด มือก็บรรเลงไปได้เองก็มี


สำหรับการเรียนอักขระนั้น คุณหลวงเล็กลองดูลิงค์นี้นะครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/06/K9360777/K9360777.html

จะเห็นว่าการเขียนอักษรไทยสมัยก่อนนั้น มีระเบียบและแบบแผนอย่างชัดเจน เรียกว่า ต้องเรียนวิธีผสมอักษร อะไรเจอกับอะไรเขียนอย่างไร ซึ่งมีความยากในตัว คนโบราณท่านสั่งสอนไว้เป็นแบบ แต่ปัจจุบันสูญหายหมดแล้วครับ

เหตุผลดีน่าฟังครับ  ในแง่หนึ่ง  ดนตรีใช้การฟัง  อันเป็นทักษะในชีวิตประจำวันที่คนเราใช้มากที่สุด  
จากนั้นก็คือพูด  ถัดไปคืออ่าน  และท้ายสุดคือเขียน   การเรียนดนตรีสมียก่อนไม่มีการสอนเขียนโน้ต
แต่อาศัยการฟังและจดจำวิชาความรู้เอาจากครูผู้สอน  ซึ่งจะเน้นการปฏิบัติดีดสีตีเป่าเป็นสำคัญ

ผิดกับวิชาหนังสือ  ที่มุ่งสอนให้อ่านให้เขียนได้  ส่วนการพูดและการฟังนั้น  ไม่ใช่ทักษะที่เน้นมากการสอนภาษไทยสมัยก่อน
เพราะเด็กๆ รู้จักพูดรู้จักฟังมาแต่เกิด  แต่การเขียนและการอ่านนั้นเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเอาเมื่อรู้ความแล้ว
อีกทั้งชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อน ไม่ได้ผูกพันกับเรื่องหนังสือมากอย่างคนปัจจุบัน
ชาวนาชาวไร่ชาวสวนอาจจะไม่รู้หนังสือเลย แต่ก็สามารถประกอบอาชีพได้
พ่อค้าแม่ค้า แม้อ่านเขียนไม่ได้แต่ก้สามารถซื้อขายของได้เหมือนกัน
เรื่องการอ่านเขียน  โดยมากอยู่กับพระกับข้าราชการเป็นหลัก

วิธีการเรียนหนังสือสมัยก่อนนั้น ใช้เวลามาก  กว่านักเรียนจะสามารถอ่านหนังสือได้แตกฉาน
เพราะจะต้องรู้จักประสมพยัญชนะกับสระไปตามลำดับจนหมดที่ตัว ฮ
ดังนี้

ก กา กิ กี กึ กื กุ กู เก แก ไก ใก โก เกา กำ กะ
ข ขา ขิ ขี ขึ ขื ขุ ขู เข แข ไข ใข โข เขา ขำ ขะ
.....
ไปจนจบที่ ฮะ

จากนั้นก็เริ่มประสมตัวสะกดไล่ไปที่ละมาตรา ตั้งแต่แม่กก
ดังนี้

กก กัก กาก กิก กีก กึก กืก กุก กูก เกก แกก โกก กอก กวก เกียก เกือก เกิก  ไล่ไปจนจบที่ เฮิก
แล้วขึ้นมาตราตัวสะกดใหม่ กง  กด กน กบ กม เกย (เกย+เกอว+ฯลฯ) ไล่ไปอย่างนี้
ในระหว่างเรียนประสมตัวสะกดตั้งแต่แม่ก กา มาจน เกย  ต้องการอ่านแบบฝึกอ่าน เช่นกาพย์พระไชยสุริยาด้วย
เพื่อให้นักเรียนจำได้ขึ้นใจ แน่นอนกว่าจะไปถึงเกย  เด็กนักเรียนอาจจะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำนานำไร่
ไม่ได้เรียนสม่ำเสมอ โอกาสจะลืมก็มีมากทีเดียว  อันเป็นเหตุสมัยหลังถึงได้มีการแต่งแบบเรียนเร็วขึ้น
เพื่อให้เด็กเรียนภาษาไทยได้เร็วยิ่งขึ้นแต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือ  เด็กบางคนอ่านหนังสือไม่แตก  เพราะเรียนเร็วเลยจำไม่ทัน
และไม่เข้าใจถ่องแท้  หนักที่สุด  คือ เด็กบางคนเรียนถึงมัธยมแล้วอ่านภาษาไทยไม่ออก

ใครมีเหตุผลจะแย้งจะสนับสนุนเพิ่มเติม ก็ยินดีนะครับ  สนุกดี
บันทึกการเข้า
octavian
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 24 ส.ค. 12, 09:41

สังคมไทย ถ้าผู้ชายมีเพิ่มก็เรียกหญิงอื่น ถ้าผู้หญิงมีเพิ่มก็เรียกชายชู้  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 20 คำสั่ง