เรื่องการศึกษาผูกชื่อเมืองนี้น่าสนใจมากครับ ต้องขอขอบคุณ คุณ weerachaisubhong ที่เปิดประเด็น
เท่าที่ผมติดตามเรื่องนี้มา (หกปีที่แล้ว

) ดูเหมือนว่า ชื่อเมืองที่เป็นคำบาลี-สันสกฤต ของทางภาคเหนือ จะแปลงชื่อพื้นเมือง ให้เป็นคำแขก ที่เห็นชัดคือ
เชียงใหม่ ก็แปลงเป็น นวนคร (นพนคร)
เมืองแม่ปิง (เมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำปิง) ก็แปลงเป็น พิงค์นคร หรือ นครพิงค์
กำแพงเพชร ก็แปลงเป็น วัชรปราการ (ชื่อเดิมของกำแพงเพชร ตามจารึกเรียก นครชุม ตามพงศาวดารเรียก ชากังราว)
บางชื่อ ก็ไม่มีร่องรอยของชื่อถิ่น หรือ มีก็เลื่อนๆ เช่น สุโขทัย และ ศรีสัชนาลัย
ส่วนชื่อจังหวัดทางภาคกลาง - ภาคอีสาน - ใต้ บางจังหวัด (หรือ อำเภอ) มีหลักฐานว่า เป็นชื่อเดิมตั้งแต่สมัยเขมรเรืองอำนาจ เช่น
พิมาย - วิมายะ
อยุธยา - อโยธยา
ลพบุรี - ลวปุระ (ต่อมาแผลงเป็น ลพบุรี ภาษาปากว่า ละโว้ .... ชื่อนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่า ละโว้ เพี้ยนมาจาก ละวะ (ปุระ) ... แต่ก็เป็นไปได้ที่ผูกมาจากชื่อถิ่นว่า ละโว้ หรือ คำอะไรซักคำ ซึ่งถ้าใช่ก็คงเป็นภาษามอญโบราณ) ตามรูปศัพท์แล้ว ลว คือ พระลพ ราชบุตรของพระราม ดังนั้น ลวปุระ ก็คือ เมืองของพระลพ
นครชัยศรี / นครปฐม - ในจารึกหลักที่ ๒ กล่าวถึงการบูรณะพระเจดีย์องค์ใหญ่มากที่เมืองร้างชื่อ "นครพระกฤษณ์" ซึ่งหมายถึง ทวารกะ / ทวารวดี ไมเคิล ไรท์ เชื่อว่า นครพระกฤษณ์ นี้ หมายถึง เมืองโบราณนครปฐม อันเป็นที่ตั้งขององค์พระองค์เจดีย์
สุพรรณบุรี - สุวรรณปุระ ชื่อสันสกฤตนี้ มีรายนามอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ชื่อที่จารึกหลักที่ ๑ บันทึกไว้คือ สุพรรณภูมิ และจารึกของพญาลิไทบันทึกไว้คือ สุพรรณภาว ส่วนชื่อภาษาปากมีหลายชื่อ เช่น พันพูม พันธุม (บุรี) สองพันบุรี (จระเข้) สามพัน ชื่อภาษาปากเหล่านี้ ผมเชื่อว่า เพี้ยนมาจากชื่อ สุพรรณภูมิ ครับ
สุราษฎร์ธานี - มีแม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสำคัญ .... น่าสนใจว่า ใครเป็นผู้ตั้งชื่อทั้งของจังหวัด และแม่น้ำ ? ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยไหน ? เพราะว่า ชื่อทั้งสองนี้ ช่างพ้องต้องกันกับ เมืองสุรัต และแม่น้ำตาปี ในรัฐคุชราต ของประเทศอินเดีย
ไชยา - เป็นอำเภอในจังหวัดสุราษฏร์ธานี แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมศรีวิชัย ... นักวิชาการไทยรุ่นก่อนๆ หลายท่าน เชื่อว่า ไชยา เป็นชื่อที่กร่อนมาจาก ศรีวิชัย (ศรี) วิ-ไช-ยา, ไช-ยา ... (อาจ กร่อนมาจาก ชัยปุระ ก็ได้เช่นเดียวกัน

) ไม่มีหลักฐานประเภทจารึก ที่ยืนยันแนวคิดนี้ แต่ในจารึกรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เรียกเมืองไชยานี้ว่า ครหิ
นครศรีธรรมราช - น่าจะเป็นชื่อที่ผูกขึ้นใหม่ หลายจากที่กษัตริย์ผู้ครองเมืองยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาจากลังกาแล้ว จึงผูกชื่อเมืองล้อกันกับ พระเจ้าโศกมหาราช ผู้เป็นธรรมราช ดังนั้น ชื่อ ศรีธรรมโศก จึงปรากฎเป็นนามกษัตริย์ของเมืองนี้หลายพระองค์ น่าสังเกตว่า ในตำนานสร้างเมืองสุโขทัย (จำไม่ได้แล้วว่า อยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่เท่าไหร่) จะอ้างถึงชื่อศรีธรรมโศกด้วยว่าเป็นต้นวงศ์พระปทุมสุริยวงศ์ ต้นวงศ์พระร่วง ... นั่นเป็นนิทาน

... แต่หลักฐานปฐมภูมิก็สร้างความประหลาดใจให้ไม่น้อย เนื่องจาก จารึกดงแม่นางเมือง พบที่จังหวัดนครสวรรค์ จารึกด้วยภาษาเขมร และ บาลี ระบุถึงราชาที่มีพระนามว่า ศรีธรรมโศก .... ช่วงแรกรับพุทธศาสนาจากลังกาของทั้ง นครศรีธรรมราช และ สุโขทัย (ก่อนวงศ์พระร่วง ?) น่าจะมีความเชื่อในเรื่องชื่อ ศรีธรรมราช ศรีธรรมโศก เหมือนกัน ... คติศรีธรรมราชนี้ ทางสุโขทัย ได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสมัยพญาลิไท โดยการผูกนามพระองค์เป็น มหาธรรมราช
ชื่อภาษาปาก หรือ ชื่อเพี้ยนของนครศรีธรรมราช นี้ คือ ลิกอร์ (Ligor) ซึ่งคงเพี้ยนมาจากคำว่า นอกอร์ หรือ นะกอร์ หรือ นิกอร์ เหตุเนื่องจากพ่อค้าต่างชาติสมัยนั้น (น่าจะราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) ฟังและออกเสียง "น" เป็น "ล" ... ดังนั้น ลิกอร์ จึงไม่ควรถือว่า เป็นชื่อเดิมของนครศรีธรรมราช แต่ต้องถูกจัดอยู่ในบัญชีชื่อเพี้ยนตามหูฝรั่ง-แขก-จีน
ชื่อที่เก่ากว่า "นครศรีธรรมราช" คือ ชื่อตามภาษาสันสกฤตที่ว่า "ตามพรลิงค์" มีหลักฐานยืนยัน ทั้งในจารึก และจดหมายเหตุจีน