เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 24739 ที่มาของชื่อจังหวัดในประเทศไทย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
 เมื่อ 08 ก.ค. 10, 10:59

มาตั้งกระทู้ใหม่นะครับ แบบว่าผมได้อ่านผ่านๆมาบ้างว่าชื่อจังหวัดต่างๆนั้นมีที่มาและมีชื่อดังเดิมกว่าจะมาเป็นชื่อจังหวัดในทุกวันนี้
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 11:15

เอาภาคเหนือก่อนนะครับ

จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อเดิม นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่,เวียงพิงค์

จังหวัดเชียงราย
ชื่อเดิม เวียงชัยนารายณ์

จังหวัดน่าน
ชื่อเดิม เมืองน่าน,ภูเพียงแช่แห้ง

จังหวัดพะเยา
ชื่อเดิม เมืองพะเยา,ภูกามยาว

จังหวัดแพร่
ชื่อเดิม เวียงโกศัย

จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ชื่อเดิม บ้านร่องสอน

จังหวัดลำปาง
ชื่อเดิม เขลางค์นคร,กุกกุฏนคร

จังหวัดลำพูน
ชื่อเดิม นครหริภุญไชย

จังหวัดอุตรดิตถ์
ชื่อเดิม ทุ่งยั้ง
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 11:36

บางตอนเกี่ยวกับจังหวัดที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนลงนสพ. มติชน หลายครั้งครับ

ร้อยเอ็ด

              ร้อยเอ็ด คือ ร้อยเอ็ด มิใช่ สิบเอ็ด หรือ 10+1

        ร้อยเอ็ดนี้ น่าจะสรุปขั้นต้นได้ตามที่อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ปราชญ์แห่งกรมศิลปากร อธิบายไว้ว่า
               หมายถึง “ทวารวดี” จะขอยกมาดังนี้

         ทวาร วดี เป็นการเขียนอย่างภาษาบาลี ถ้าเขียนอย่างสันสกฤต เขียนว่า ทวารวติ ซึ่งมีคำแปลที่ชัดเจน
เป็นอย่างเดียวดังนี้ ทวาร = ช่อง, ประตู / วดี, วติ = รั้ว, กำแพง

        ดังนั้น คำว่า ทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์ จึงแปลว่า เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง ซึ่งหากจะคิดโดยชื่อว่า
มีความหมายตามรูปศัพท์จริงๆ เมืองเมืองนี้ก็จะมีหน้าตาประหลาด เพราะมีประตูเป็นจำนวนมากมาย อาจจะนับจำนวน
ได้ถึงพันประตูก็คงได้…

     “…การถือความหมายตามรูป ศัพท์ของชื่อ ทวารวดี คงจะไม่ถูกนัก แต่หากพิจารณาเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู
จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจครอบคลุมออกไปโดยรอบสารพัด ทิศเช่นเดียวกัน…”

      … เรื่องเมืองร้อยเอ็ดประตู จะมีเนื้อหาเป็นปรัมปราคติ กล่าวถึงการสร้างเมือง และเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา
กับเมืองร้อยเอ็ดประตูคู่กันโดยตลอด อย่างน้อยพระยาศรีไชยชมพู ผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ จะต้องคุ้นเคยกับชื่อเต็ม
ของกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำความหมายของชื่อกรุงศรีอยุธยา คือ ทวารวดี มาดัดแปลงให้เป็นภาษาพื้นเมืองว่า ร้อยเอ็ดประตู
         ดังนั้น ชื่อเมืองทวารวดี กับเมืองร้อยเอ็ดประตู จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน ที่เหมือนกับจะบอกชาวโลกว่า
ศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่นี่”
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 11:39

และ

         ร้อยเอ็ด สะกดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าร้อยเอ็ด (ไม่ได้เขียนเป็นตัวเลข 101) มีความหมายกว้างๆรวมๆว่า
                 บ้านเมืองใหญ่โตมโหฬารราวเมืองทวารวดี ที่มีการติดต่อบ้านเมืองห่างไกลไปทางบกทางทะเล
ทั้ง 10 ทิศ ราวกับมีประตูเปิดรับสิบสองภาษานานาประเทศร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ มีความเป็นมาย่อๆดังนี้

ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีคนตั้งหลักแหล่งอยู่ทางทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งในเขตร้อยเอ็ดและในเขตใกล้เคียงโดยรอบ
        คนพวกนี้และพวกอื่นที่จะทยอยเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งทางทุ่งกุลาล้วนเป็นบรรพชนคนไทยกับคนร้อยเอ็ดทุกวันนี้

ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500 กลุ่มชนที่มีหลักแหล่งทางทุ่งกุลาร้องไห้ต้มเกลือสินเธาว์
        ทำภาชนะดินเผา แล้วถลุงเหล็ก เริ่มมีพิธีทำศพเป็นลักษณะเฉพาะ คือขุดกระดูกคนตายที่ฝังเปื่อยเน่าแล้วมาบรรจุ
ภาชนะดินเผารูปหม้อกับรูปแค็ปซูล แล้วทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นต้นเค้าให้เกิดพิธีศพในโกศ กับเก็บกระดูกใส่ภาชนะต่างๆ
ในสมัยหลังๆสืบจนปัจจุบัน

ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 1000 กลุ่มชนแถบทุ่งกุลามีมากขึ้น เพราะมีคนจากบ้านเมือง
            ทางทิศตะวันออก เช่น กวางตุ้ง-กวางสีในจีน, เวียดนาม, ลาว, ฯลฯ เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติม
ทำให้ต้องก่อบ้านสร้างเมือง มีคูน้ำกำแพงดินอยู่บริเวณตัวจังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน
           ระยะนี้มีพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาในวัฒนธรรมทวารวดีแพร่หลายเข้ามา ส่งผลให้
บริเวณร้อยเอ็ดและใกล้เคียง มีวัฒนธรรมแบบทวารวดี เช่น มีพระธาตุพนม, มีรัฐในเวียงจัน ฯลฯ แล้วเป็นเหตุให้
ต่อไปข้างหน้าจะมีชื่อ ร้อยเอ็ด เลียนแบบเมืองทวารวดีอันศักดิ์สิทธิ์ในมหากาพย์ของอินเดีย

          พระราชาในวัฒนธรรมพราหมณ์นามจิตรเสน มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ในบ้านเมืองทางลุ่มน้ำชี-มูล บริเวณ
ยโสธร-อุบลราชธานี มีอำนาจเหนือแหล่งเกลือสินเธาว์กับแหล่งเหล็กทางบ่อพันขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
แล้วส่งเกลือและเหล็กเป็นสินค้าทางไกลถึงทะเลสาบกัมพูชา ทำให้เมืองร้อยเอ็ดสำคัญขึ้น แล้วเติบโตขึ้น

ราว 1,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 1500 ขอมจากเมืองพระนครในกัมพูชาแผ่อำนาจเข้ามา ทำให้มีปราสาท
         แบบขอมและวัฒนธรรมขอมอยู่บริเวณขอบทุ่งกุลา เขตร้อยเอ็ด และทั่วดินแดนอีสาน

ราวหลัง พ.ศ. 1600 ผู้คนอีสานเคลื่อนย้ายไปเป็นประชากรแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร้อยเอ็ดลดความสำคัญ
           ทำให้ประชากรลดลง บางแห่งรกร้างไป

ราวหลัง พ.ศ. 1800 แรกมีคนเรียกตัวเองว่า คนไทย อยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยา, รัฐสุพรรณภูมิ,
          รัฐสุโขทัย, ฯลฯ โดยระบุว่ามีบรรพชนเป็น ไทยน้อย พูดภาษาลาว อยู่ทางลุ่มน้ำโขง-อีสาน ขณะนั้น
ร้อยเอ็ดเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโคตรบูตร(เวียงจัน)

ราวหลัง พ.ศ. 2000 แรกเขียนตำนานพระธาตุพนมเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุเมืองสาเกตเป็นบ้านเมืองร้อยเอ็ดโบราณ
          แสดงความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระธาตุพนม เริ่มมีผู้คนกลุ่มใหม่เรียกตัวเองว่า ลาวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ทยอยเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งในอีสาน และบริเวณเมืองร้อยเอ็ด

พ.ศ. 2442 ยกเลิกชื่อ ลาว เช่น มณฑลลาวกาว เปลื่ยนชื่อเป็น มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนราษฎรให้เรียกว่า
          เป็นชาติไทยบังคับสยาม

พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย มีผลให้คนทั่วประเทศเป็นไทย รวมทั้งเมืองร้อยเอ็ดกับ
           คนร้อยเอ็ดก็กลายเป็นไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งหมดนี้ผมเขียนจากความทรงจำ ไม่ได้ค้นคว้าวิจัยเป็นระบบ จึงอาจมีข้อบกพร่องผิดผลาดได้ แต่เล่าให้เป็นตัวอย่างย่อๆ
เบื้องต้นเท่านั้น เพื่อให้ชาวร้อยเอ็ดพิจารณา
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 13:12

อ้างถึง
ทวาร วดี เป็นการเขียนอย่างภาษาบาลี ถ้าเขียนอย่างสันสกฤต เขียนว่า ทวารวติ ซึ่งมีคำแปลที่ชัดเจน
เป็นอย่างเดียวดังนี้ ทวาร = ช่อง, ประตู / วดี, วติ = รั้ว, กำแพง

        ดังนั้น คำว่า ทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์ จึงแปลว่า เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง ซึ่งหากจะคิดโดยชื่อว่า
มีความหมายตามรูปศัพท์จริงๆ เมืองเมืองนี้ก็จะมีหน้าตาประหลาด เพราะมีประตูเป็นจำนวนมากมาย อาจจะนับจำนวน
ได้ถึงพันประตูก็คงได้…

     “…การถือความหมายตามรูป ศัพท์ของชื่อ ทวารวดี คงจะไม่ถูกนัก แต่หากพิจารณาเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู
จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจครอบคลุมออกไปโดยรอบสารพัด ทิศเช่นเดียวกัน…”


การวิเคราะห์ศัพท์  ทวารวดี  ขึ้นต้นนั้นยังไม่ถูกต้อง   

ทวารวดี  เป็นคำภาษาสันสกฤต  มาจาก  ทฺวาร  (ประตู)  เติมปัจจัย  วตฺ  เป็น  ทฺวารวตฺ  เป็นคำวิเศษณ์  แปลว่า   มีประตูมาก   (ไม่ใช่  มีประตู  เฉยๆ)   ทีนี้  เมื่อนำมาเป็นชื่อเมือง    เมืองในภาษาสันสกฤตมักจะเป็นคำนามเพศหญิง  ลงท้ายด้วย  อี   เช่น  ไวศาลี   สาวัตถี  อวันตี  เป็นต้น   ฉะนั้น   ทฺวารวตฺ  เมื่อเป็นชื่อเมือง  ก็ต้องท้าย อี  เป็น  ทฺวารวตี   แปลว่า  เมืองที่มีประตูมาก   อันหมายถึงเมืองที่มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศไปมาหาสู่อยู่เสมอ  ถนนทุกสายมุ่งตรงมาที่เมืองนี้

คำว่า  ทฺวารวตี  ถ้าเป็นในภาษาบาลี  น่าจะเขียน เป็น  ทฺวารวนฺตี   วตฺ ปัจจัย  ในภาษาสันสกฤต  ตรงกับ  วนฺต  ปัจจัยในภาษาบาลี   

การที่ไปแยกวิเคราะห์ว่า  ทฺวาร (ประตู)  กับ  วติ  (กำแพง /รั้ว)  นั้น เป็นเพราะคนวิเคราะห์ไม่รู้วิธีการสร้างคำในภาษาบาลีสันสกฤตดีพอ  จึงใช้การแยกศัพท์จากการเปิดพจนานุกรมไทย  แล้วเผอิญมีคำว่า  วดี  วติ  ที่ต้องการ อยู่ในพจนานุกรม แปลว่า  กำแพง  หรือ รั้ว  ก็หยิบมาวิเคราะห์ตามความเห็นของตน   ทั้งที่  คำว่า  วติ  วดี  ในภาษาไทย  ใช้ว่า  วัติ  และเท่ามีใช้ในภาษาไทย  เป็นคำที่สมาสท้ายคำอื่น  มี  ราชวัติ  เป็นต้น

เมืองทวารวดีในอินเดีย  ยังมีชื่ออื่นที่แปลเหมือนกันคือ  ทวารกะ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 13:25

กรุงเทพมหานคร เมืองบางกอก
กระบี่ เมืองปกาไสย
กาฬสินธุ์ บ้านแก่งสำโรง
กำแพงเพชร เมืองชากังราว เมืองนครชุม
ขอนแก่น เมืองขามแก่น
จันทบุรี เมืองเพนียด เมืองกาไว เมืองจันทบูร
ฉะเชิงเทรา เมืองแปดริ้ว
ชลบุรี บางปลาสร้อย
ชัยนาท เมืองแพรก เมืองสรรค์
ชัยภูมิ บ้านหลวง บ้านโนนน้ำอ้อม
เชียงราย เวียงชัยนารายณ์
เชียงใหม่ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือ เวียงพิงค์
ตรัง เมืองควนธานี เมืองทับเที่ยง
ตราด บางพระ เมืองกราด หรือ เมืองตราด
ตาก เมืองฉอด เมืองระแหง
นครนายก บ้านนา เมืองนายก
นครปฐม ศรีวิชัย นครชัยศรี
นครพนม เมืองธาตุพนม เมืองมรุกขนคร
นครราชสีมา เมืองเสมา เมืองโคราดปุรา (โคราช)
นครศรีธรรมราช เมืองตามพรลิงค์ ศิริธรรมนคร ศรีธรรมราช
นครสวรรค์ เมืองพระบาง เมืองชอนตะวัน เมืองปากน้ำโพ
นนทบุรี บ้านตลาดขวัญ
นราธิวาส มะนาลอ บางนรา เมืองระแงะ
น่าน เมืองนันทบุรี หรือ วรนคร เมืองภูเพียงแช่แห้ง
เดียวมาต่อีกครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 13:26

มาต่อละครับ

บุรีรัมย์ เมืองแปะ
ปทุมธานี เมืองสามโคก
ประจวบคีรีขันธ์ เมืองบางนารม หรือ เมืองนารัง
ปราจีนบุรี เมืองพระรถ เมืองศรีมโหสถ หรือ เมืองอวัธยปุระ
ปัตตานี เมืองตานี
พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เมืองอโยธยา
พะเยา เมืองภูกามยาว หรือ เมืองพยาว และ เมืองพะเยา
พังงา เมืองภูงา หรือ บ้านกระพูงา
พิจิตร เมืองโอฆะบุรี เมืองสระหลวง
พิษณุโลก เมืองสองแคว
เพชรบุรี เมืองพริบพรี หรือ เมืองเพชรพลี
เพชรบูรณ์ เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบุรี หรือ พีชบุรี
แพร่ เมืองพลนคร หรือ เมืองพล ต่อมาเปลี่ยนเป็น เวียงโกศัย
ภูเก็ต เมืองถลาง
มหาสารคาม บ้านลาดกุดนางใย
แม่ฮ่องสอน บ้านร่องสอน (ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น แม่ฮ่องสอน)
ยโสธร บ้านสิงห์ท่า เมืองยศสุนทร
ร้อยเอ็ด สาเกตนคร
ลพบุรี เมืองละโว้
ลำปาง เขลางค์นคร กุกกุฏนคร
ลำพูน นครหริภุญชัย
ศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์
สกลนคร เมืองหนองหานหลวง เมืองสกลทวาปี
สงขลา เมืองสทิง เมืองสทิงพระ เมืองสิงหลา
สมุทรปราการ เมืองพระประแดง
สมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง
สมุทรสาคร เมืองสาครบุรี เมืองท่าจีน เมืองมหาชัย หรือ เมืองโกรกกรากมหาชัย
สิงห์บุรี เมืองสิงห์
สุพรรณบุรี เมืองทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ เมืองพันธุมบุรี เมืองอู่ทอง
สุราษฎร์ธานี เมืองไชยา บ้านดอน
สุรินทร์ เมืองประทายสมันต์
หนองคาย บ้านไผ่
หนองบังลำภู เมืองหนองบัวลุ่มภู่ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
อ่างทอง เมืองวิเศษชัยชาญ
อุดรธานี บ้านหมากแข้ง
อุตรดิตถ์ บางโพท่าอิฐ
อุทัยธานี เมืองอุทัย เมืองสะแกกรัง
อุบลราชธานี บ้านดอนมดแดง
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 13:38

มหาสารคาม บ้านลาดกุดนางใย

ถ้าว่ากันตามที่มาของชื่อ มหาสารคามแล้ว คงมาจากชื่อ บ้านลาดกุดยางใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อที่แพร่หลายมากกว่า บ้านลาดกุดนางใย

กุดยางใหญ่ หรือกุดนางใย เป็นแหล่งน้ำสำคัญในช่วงแรกตั้งเมืองมหาสารคาม อยู่ทางด้านตะวันออกของตัวเมืองมหาสารคาม ติดกับวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม

ในช่วงราว พ.ศ. ๒๔๐๒ พระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้มอบหมายให้ท้าวมหาชัย (กวด) บุตรอุปฮาช (สิง) และท้าวบัวทอง บุตรอุปฮาช (ภู) พาผู้คนจากเมืองร้อยเอ็ด มาหาที่ตั้งเมืองใหม่ ท้าวบัวทองเห็นว่าบริเวณบ้านลาดริมฝั่งแม่น้ำชีน่าจะเป็นบริเวณที่เหมาะจะตั้งเมือง ส่วนท้าวมหาชัย (กวด) เห็นว่าบริเวณบ้านจาน ซึ่งอยู่ระหว่างหนองกระทุ่ม (บริเวณสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดมหาสารคาม) กับกุดยางใหญ่น่าจะเหมาะสม ดังในใบบอกของพระขัติยวงษา(จัน) ที่มีไปยังกรุงเทพ ขอตั้งบ้านลาดกุดยางใหญ่ เป็นเมือง ท้าวมหาชัย (กวด)ได้เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ท้าวบัวทองได้เป็นอรรคฮาช ท้าวไชยวงษา (ฮึง) เป็นอรรควงษ์

คำว่า กุดยางใหญ่ จึงน่าเป็นที่มาของชื่อเมือง กล่าวคือ ในสารตราเจ้าพระยาจักรีที่มีมาถึงพระขัติยวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ลงวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู สัปตศก ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ เรื่องการขนานนามบ้านลาดกุดยางใหญ่ เป็นเมืองมหาสาลคามนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว แนวทางการตั้งชื่อเมืองก็มักจะหาเค้าเงื่อนจากชื่อเดิมบ้าง หรือสิ่งสำคัญของบริเวณนั้นบ้าง แล้วตั้งชื่อใหม่เป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต ๒ - ๓ ชื่อ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงเลือกเพียง ๑ ชื่อ แล้วพระราชทานไปยังหัวเมืองใหม่นั้น
 
มหาสาลคาม คำนี้มาจาก มหา = ใหญ่  สาล = ต้นยาง เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานรุ่นเก่า ระบุว่า ต้นสาละคือต้นไม้ยืนต้นประเภทต้นรัง ต้นยาง  และคาม = กุด  แท้จริง กุด หมายความถึงบริเวณที่ลำน้ำไหลมาสิ้นสุด แต่ราชสำนักกรุงเทพฯ เข้าใจว่า กุด คือ กุฏิ หรือที่อยู่อาศัย (ดังกรณีตั้งบ้านกุดลิง เป็นเมืองวานรนิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ) ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็น มหาสารคาม จนถึงทุกวันนี้

เรียบเรียงโดย ธีรชัย บุญมาธรรม

http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=15863
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:14

ต่อชื่อจังหวัดที่เคยติดตามด้วยความสนใจครับ

ปทุมธานี    

                        ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า          พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
                        ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี       ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

              จังหวัดปทุมธานีเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองมาไม่น้อยกว่า 300 ปี นับตั้งแต่รัชสมัย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
               พ.ศ. 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
สมเด็จพระนายรายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก
              ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาอีกเป็นครั้งที่ 2
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านสามโคกเช่นกัน
              และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่
จากเมืองเมาะตะมะ เรียกว่า "มอญใหญ่" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือน
อยู่ที่บ้านสามโคกเช่นเดียวกัน จากชุมชนขนาดเล็ก บ้านสามโคกจึงกลายเป็น เมืองสามโคก ในเวลาต่อมา

              ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคก เป็น เมืองประทุมธานี และ
             เมื่อ พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "จังหวัด"
แทน "เมือง" และให้เปลี่ยนการสะกดชื่อใหม่จาก "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" กลายเป็น จังหวัดปทุมธานี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:29

ฉะเชิงเทรา        
        
          “ฉะเชิงเทรา” กับ “แปดริ้ว” คือสองชื่อที่เรียกขานเมืองนี้ “ฉะเชิงเทรา” เป็นชื่อที่ทางราชการ
             ส่วน “แปดริ้ว” เป็นภาษาชาวบ้านใช้เรียกกันมาช้านาน
        
แปดริ้ว       ได้ชื่อจากขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว
                หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง "พระรถเมรี" เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้ว
ชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด
 
(ไม่ทราบว่ามีเวอร์ชั่นนางสิบสองถูกฆ่าด้วย เพราะที่ได้ยินจะเป็นถูกควักลูกตาและจับขังคุก)

ฉะเชิงเทรา     มีต้นเค้าหนึ่งมาจากหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ภาคปกิณกะ ภาค 1 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    ซึ่งมีความพาดพิงถึงเมืองฉะเชิงเทราว่า

                “...ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้าง ชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง
                      อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร แปดริ้วเป็นชื่อไทย...”
              นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านจึงมีความเห็นว่า “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำเขมร
ว่า “สตึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” ซึ่งแปลว่า “คลองลึก”
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:34

(คำว่าคลองในภาษาเขมรนี้ยังปรากฏอยู่ในภาคใต้ด้วยที่

           ชื่อ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ ใน จ.สงขลา จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าในเอกสารโบราณ เช่น
ตำราพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุง พ.ศ. 2242 เรียกว่า “ฉทิงพระ” ชื่อ “จะทิ้งพระ”หรือ “สทิงพระ”
ในชื่อตำบลอำเภอดังกล่าว จึงมาจากชื่อ “ฉทิงพระ” หรือ “จทิงพระ” เป็นคำภาษาเขมรโบราณ แปลว่า แม่น้ำพระ
หรือ คลองพระ (พระในภาษาเขมร หมายถึง พระพุทธรูป ไม่ใช่พระภิกษุ)
         คำ “จทิง” หรือ “ฉทิง” เป็นภาษาเขมรโบราณ หมายถึง คลอง หรือแม่น้ำ ปัจจุบันใช้เป็น “สทึง”
แต่ชาวบ้านลืมชื่อเดิมเสียแล้ว จึงแต่งนิทานขึ้นมาว่า มีคนจะเอาพระทิ้งที่คลองนั้น เลยเรียกว่าคลองจะทิ้งพระ และ
ตำนานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจะเอาพระธาตุหรือเอาพระมาทิ้งไว้

          นอกจากนี้ยังมีชื่อหมู่บ้านตำบล อีกแห่งหนึ่งในแถบนั้นชื่อ "จะทิ้งหม้อ” หรือ “สทิงหม้อ” ใน อ.สิงหนคร
ชื่อนี้ในเอกสารเก่าๆ เรียก “จทิงถมอ” ซึ่งเป็นคำภาษาเขมรโบราณอีกเช่นกัน แปลว่า คลองหิน ซึ่งตรงนั้นก็มีชื่อ “คลองสทิงหม้อ” อยู่ด้วย

ส่วนคำเขมร ลึก - เทรา > ไทย - ชำเรา)

ความเห็นนี้คงอาศัยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ด้วย เพราะเมืองฉะเชิงเทราตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกง
เมืองนี้อยู่ในอำนาจการปกครองขิงขอมมาก่อน เป็นไปได้ว่า ชาวเมืองในสมัยโบราณอาจจะเรียกแม่น้ำบางปะกง
ว่า “คลองลึก” หรือคลองใหญ่ ตามลักษณะที่มองเห็น และด้วยอิทธิพลเขมรจึงไดเรียกชื่อแม่น้ำ
เป็นภาษาเขมรว่า “สตรึงเตรง” หรือ “ฉ่ทรึงเทรา” เรียกไปนานๆ ก็เพี้ยนกลายเป็น “ฉะเชิงเทรา”
เมืองที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำก็พลอยได้ชื่อว่า “ฉะเชิงเทรา” ไปด้วย

        อย่างไร ก็ตาม คนจำนวนมากมักมีความเห็นต่างไปว่า ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” น่าจะเพี้ยนจาก “แสงเชรา”
หรือ “แซงเซา” หรือ “แสงเซา” อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปตีได้ ตามที่พงศาวดาร
ฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้มากกว่า เพราะการออกเสียงใกล้เคียงกันมาก
        ยิ่งเมื่อประกอบความคิดที่ว่า เมืองตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเวลาที่ชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ
น่าจะเป็นคำไทยหมดแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างนนทบุรี นครไชยศรี
และสาครบุรี ซึ่งล้วนแต่มีเชื้อสายไทยอิทธิพลอินเดีย ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองนี้ไม่ใช่คำเขมร หากแต่เป็นคำไทย
ที่เพี้ยนมาจากชื่อเมืองในพงศาวดารนี่เอง
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 04:37

สวัสดีครับทุกท่าน หลังจากที่ไม่ได้เข้ามานาน  ยิงฟันยิ้ม

สวัสดีครับคุณ SILA เรื่องชื่อเมืองฉะเชิงเทรา ผมค่อนข้างเชื่อว่า มาจากคำเขมร ส่วนชื่อ "แสงเชรา" ในพงศาวดารนั้น ในทางกลับกัน ผมคิดว่า ผู้บันทึก จดเสียงเพี้ยนจากคำเขมร มาเป็น แสงเชรา ตามที่หูคนไทยสมัยนั้นคุ้นเคยครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 05:05

เพชรบุรี  ภาษาปากเรียกว่า เมืองพริบพรี หรือ เมืองเพชรพลี (ทำนองเดียวกับ ราด-ลี = ราชบุรี) ชื่อเมืองเพชรบุรี น่าจะผูกมาจากภาษาสันสกฤตว่า วัชรปุระ ซึ่งชื่อนี้มีปรากฎอยู่ในรายนามเมืองต่างๆ ที่ปราสาทพระขรรค์ (ถ้าจำไม่ผิด จะเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นะครับ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีบางท่านแย้งว่า รายชื่อต่างๆ นี้ อาจเป็นเมืองในเขตเขมรมากกว่า) ต่อมา ชื่อนี้จึงแผลงเป็น พัชรบุรี (ว แผลงเป็น พ และ ป แผลงเป็น บ) และเป็น เพชรบุรี ในเวลาต่อมา ภาษาปากคงกร่อนเป็น พัด-บุ-ลี, เพด-บุ-ลี, เพด-พลี, พริบ-พรี ซึ่งไม่ควรเป็นต้นคำของคำว่า เพชรบุรี

กรณีเอาชื่อที่เพี้ยนแล้ว มาตั้งเป็นต้นกำเนิดชื่อ มีตัวอย่างให้เห็นเช่น ชื่อบางกอก กล่าวคือ ในช่วงที่มีการประมวณความรู้เรื่องต้นกำเนิดคำว่าบางกอก มีบางท่าน (จำไม่ได้แล้วว่าใคร  อายจัง) เสนอแนวคิดว่า บางกอก อาจเพี้ยนมาจาก หม่างก๊อก ซึ่งเ็ป็นคำที่คนจีนใช้เรียกกรุงเทพฯ .... หรือ อีกกรณี ไปจับเอา ชื่อที่ฝรั่งเขียนบนแผนที่ว่า bancok (น่าจะเขียนประมาณนี้ครับ จำไม่ได้แล้ว) แล้วไปตีความว่า ถอดมาจาก บ้านเกาะ หรือ บ้านโคก ...     
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 05:56

เรื่องการศึกษาผูกชื่อเมืองนี้น่าสนใจมากครับ ต้องขอขอบคุณ คุณ weerachaisubhong ที่เปิดประเด็น

เท่าที่ผมติดตามเรื่องนี้มา (หกปีที่แล้ว  อายจัง) ดูเหมือนว่า ชื่อเมืองที่เป็นคำบาลี-สันสกฤต ของทางภาคเหนือ จะแปลงชื่อพื้นเมือง ให้เป็นคำแขก ที่เห็นชัดคือ

เชียงใหม่ ก็แปลงเป็น นวนคร (นพนคร)
เมืองแม่ปิง (เมืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำปิง) ก็แปลงเป็น พิงค์นคร หรือ นครพิงค์

กำแพงเพชร ก็แปลงเป็น วัชรปราการ (ชื่อเดิมของกำแพงเพชร ตามจารึกเรียก นครชุม ตามพงศาวดารเรียก ชากังราว)

บางชื่อ ก็ไม่มีร่องรอยของชื่อถิ่น หรือ มีก็เลื่อนๆ เช่น สุโขทัย และ ศรีสัชนาลัย

ส่วนชื่อจังหวัดทางภาคกลาง - ภาคอีสาน - ใต้ บางจังหวัด (หรือ อำเภอ) มีหลักฐานว่า เป็นชื่อเดิมตั้งแต่สมัยเขมรเรืองอำนาจ เช่น

พิมาย - วิมายะ
อยุธยา - อโยธยา
ลพบุรี - ลวปุระ (ต่อมาแผลงเป็น ลพบุรี ภาษาปากว่า ละโว้ .... ชื่อนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่า ละโว้ เพี้ยนมาจาก ละวะ (ปุระ) ... แต่ก็เป็นไปได้ที่ผูกมาจากชื่อถิ่นว่า ละโว้ หรือ คำอะไรซักคำ ซึ่งถ้าใช่ก็คงเป็นภาษามอญโบราณ) ตามรูปศัพท์แล้ว ลว คือ พระลพ ราชบุตรของพระราม ดังนั้น ลวปุระ ก็คือ เมืองของพระลพ
นครชัยศรี / นครปฐม - ในจารึกหลักที่ ๒ กล่าวถึงการบูรณะพระเจดีย์องค์ใหญ่มากที่เมืองร้างชื่อ "นครพระกฤษณ์" ซึ่งหมายถึง ทวารกะ / ทวารวดี ไมเคิล ไรท์ เชื่อว่า นครพระกฤษณ์ นี้ หมายถึง เมืองโบราณนครปฐม อันเป็นที่ตั้งขององค์พระองค์เจดีย์
สุพรรณบุรี - สุวรรณปุระ ชื่อสันสกฤตนี้ มีรายนามอยู่ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ชื่อที่จารึกหลักที่ ๑ บันทึกไว้คือ สุพรรณภูมิ และจารึกของพญาลิไทบันทึกไว้คือ สุพรรณภาว ส่วนชื่อภาษาปากมีหลายชื่อ เช่น พันพูม พันธุม (บุรี) สองพันบุรี (จระเข้) สามพัน ชื่อภาษาปากเหล่านี้ ผมเชื่อว่า เพี้ยนมาจากชื่อ สุพรรณภูมิ ครับ

สุราษฎร์ธานี - มีแม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสำคัญ .... น่าสนใจว่า ใครเป็นผู้ตั้งชื่อทั้งของจังหวัด และแม่น้ำ ? ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยไหน ? เพราะว่า ชื่อทั้งสองนี้ ช่างพ้องต้องกันกับ เมืองสุรัต และแม่น้ำตาปี ในรัฐคุชราต ของประเทศอินเดีย

ไชยา - เป็นอำเภอในจังหวัดสุราษฏร์ธานี แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญเกี่ยวกับวัฒนธรรมศรีวิชัย ... นักวิชาการไทยรุ่นก่อนๆ หลายท่าน เชื่อว่า ไชยา เป็นชื่อที่กร่อนมาจาก ศรีวิชัย (ศรี) วิ-ไช-ยา, ไช-ยา ... (อาจ กร่อนมาจาก ชัยปุระ ก็ได้เช่นเดียวกัน  ลังเล) ไม่มีหลักฐานประเภทจารึก ที่ยืนยันแนวคิดนี้ แต่ในจารึกรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เรียกเมืองไชยานี้ว่า ครหิ

นครศรีธรรมราช - น่าจะเป็นชื่อที่ผูกขึ้นใหม่ หลายจากที่กษัตริย์ผู้ครองเมืองยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาจากลังกาแล้ว จึงผูกชื่อเมืองล้อกันกับ พระเจ้าโศกมหาราช ผู้เป็นธรรมราช ดังนั้น ชื่อ ศรีธรรมโศก จึงปรากฎเป็นนามกษัตริย์ของเมืองนี้หลายพระองค์ น่าสังเกตว่า ในตำนานสร้างเมืองสุโขทัย (จำไม่ได้แล้วว่า อยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่เท่าไหร่) จะอ้างถึงชื่อศรีธรรมโศกด้วยว่าเป็นต้นวงศ์พระปทุมสุริยวงศ์ ต้นวงศ์พระร่วง ... นั่นเป็นนิทาน  ยิงฟันยิ้ม ... แต่หลักฐานปฐมภูมิก็สร้างความประหลาดใจให้ไม่น้อย เนื่องจาก จารึกดงแม่นางเมือง พบที่จังหวัดนครสวรรค์ จารึกด้วยภาษาเขมร และ บาลี ระบุถึงราชาที่มีพระนามว่า ศรีธรรมโศก .... ช่วงแรกรับพุทธศาสนาจากลังกาของทั้ง นครศรีธรรมราช และ สุโขทัย (ก่อนวงศ์พระร่วง ?) น่าจะมีความเชื่อในเรื่องชื่อ ศรีธรรมราช ศรีธรรมโศก เหมือนกัน ... คติศรีธรรมราชนี้ ทางสุโขทัย ได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในสมัยพญาลิไท โดยการผูกนามพระองค์เป็น มหาธรรมราช

ชื่อภาษาปาก หรือ ชื่อเพี้ยนของนครศรีธรรมราช นี้ คือ ลิกอร์ (Ligor) ซึ่งคงเพี้ยนมาจากคำว่า นอกอร์ หรือ นะกอร์ หรือ นิกอร์ เหตุเนื่องจากพ่อค้าต่างชาติสมัยนั้น (น่าจะราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) ฟังและออกเสียง "น" เป็น "ล" ... ดังนั้น ลิกอร์ จึงไม่ควรถือว่า เป็นชื่อเดิมของนครศรีธรรมราช แต่ต้องถูกจัดอยู่ในบัญชีชื่อเพี้ยนตามหูฝรั่ง-แขก-จีน  ยิ้มกว้างๆ

ชื่อที่เก่ากว่า "นครศรีธรรมราช" คือ ชื่อตามภาษาสันสกฤตที่ว่า "ตามพรลิงค์" มีหลักฐานยืนยัน ทั้งในจารึก และจดหมายเหตุจีน  
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 08:41

ชื่อเดิมของจังหวัดนครสวรรค์
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่านครสวรรค์มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ก่อนสุโขทัยเป็นราชธานี มีชื่อในศิลาจาลึกของสุโขทัย โดยเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคญในการทำศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี กระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังเรียกชื่อว่า เมืองชอนตะวัน  และเปลี่ยนเป็น นครสวรรค์ ในที่สุด แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า เมืองปากน้ำโพ ในประวัติศาสตร์มีหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า นครสวรรค์ เคยเป็นเมืองเกษตรกรรมมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม เป็นที่ตั้งของกลุ่มชนชาวจีนที่มาทำมาค้าขายระหว่างประเทศ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 20 คำสั่ง