เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 24790 ที่มาของชื่อจังหวัดในประเทศไทย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 09:19

ชื่อเดิมของจังหวัดแพร่
ชื่อ เวียงโกศัย น่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่ คือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร เมืองแพล เป็นชื่อที่ปรากฎ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้าน ที่ 4 โดยคำว่า แพล น่าจะมาจากศรัทธาของ ชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่า เมืองแพล และได้กลายเสียงเป็นเมืองแพร่ปัจจุบัน

ชื่อเดิมของจังหวัดน่าน
เมืองน่าน มีที่มาของชื่อปรากฏในตำนานพระอัมภาคว่า " นันทสุวรรณนคร " ส่วนในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกเมืองน่านว่า " กาวราชนคร " นัยว่าเป็นแค้วนของกาว อันหมายถึง ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแค้วนน่านแต่ดึกดำบรรพ์ และในตำนานเก่าๆ เรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า " กาวน่าน " ต่อมามีการเรียกชื่อเมืองน่านว่า " นันทบุรี " หรือ " นันท บุรีศรีนครน่าน " เข้าใจว่า เป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนา และภาษาบาลีเฟื่องฟูในล้านนา ที่มาของชื่อเมืองน่าน มาจากชื่อแม่น้ำน่าน อันเป็นที่ตั้ง ของเมืองที่อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน ชื่อของเมืองน่าน ได้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า เมืองน่าน คือ ตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
เมืองน่าน แม้จะมีการเรียกชื่อใหม่ว่า " นันท บุรี " หรือ" นันทบุรีศรีนครน่าน " ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษรนามนันทบุรี เป็นนามที่ไฟเราะ และมีความหมายมงคลนาม แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก จึงกลับมานิยมเรียก นามเมืองตามเดิมว่า " เมืองน่าน " ตลอดจนถึงปัจจุบัน

ชื่อเดิมจังหวัดลำปาง
คำว่า "กุกกุฏขคร" แปลว่าเมืองไก่ โดยมีเรื่องเล่า เหตุผลที่ได้ชื่อนี้คือ เมื่อสมัยครั้งพุทธกาลบริเวณเมืองลำปางมีการตั้งชุมชนแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อเมือง พระพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดสัตว์ที่เมืองนี้ เรื่องรู้ถึงพระอินทร์ พระอินทร์ก็เกรงว่าชาวบ้านที่นี่จะตื่นไม่ทันใส่บาตรพระพุทธเจ้า จึงได้ทำการเนรมิตไก่ขาวให้มาขันปลุกชาวบ้านให้มาใส่บาตรพระพุทธเจ้าทัน ทำให้ไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง

ชื่อเดิมจังหวัดลำพูน
หริภุญชัยนคร แปลว่า "เมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ" (หริ แปลว่า สมอ ส่วน ภุญชัย แปลว่า เสวย นคร แปลว่า เมือง)



บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:47

         สวัสดีครับ จะรออ่านความเห็นจากคุณ Hotacunus อีก

จังหวัดที่มีบทความเห็นเรื่องชื่อมากมายชวนมึน 

ภูเก็ต

           ข้อสันนิษฐานชื่อเดิม - ถลาง

                 ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  เชื่อกันว่ามนุษย์ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะถลาง  คือ 
พวกเงาะ (Negritos) ซึ่งน่าจะเป็นพวกเดียวกับเซมัง  ซาไก  อาศัยอยู่ตามบนเกาะที่กระจัดกระจาย
อยู่ในทะเลอันดามัน  ต่อมาก็มีพวกชนชาวมอญได้แผ่ขยายลงมาจากเมืองพะโค (Pegu) มาอยู่บริเวณนี้
ชนสายหนึ่งของพวกนี้  คือ  เซลัง (Selung หรือ Salon)
                ที่บางความเห็นกล่าวว่าเป็นคำพม่าที่ใช้เรียกชนพวก semang เซมัง ว่า "เซลัง"
                นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ามีคำพม่าเรียกชาวเลเผ่ามาซิง (มอแกล๊น มอแกน อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ
ตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน) ว่า ฉลาง แล้วไทยอาจเรียกเพี้ยนมาเป็นถลาง       

              พวกนักเดินเรือจากแถบอินเดียใต้  และอ่าวเบงกอล  เข้ามาค้าขายและขุดหาแร่ดีบุก
ที่บริเวณตักโกละ (คงจะได้เปลี่ยนชื่อเป็น ตะกั่วป่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง) รู้จักเกาะถลางในฐานะที่
เป็นส่วนหนึ่งของตักโกละ - ตะกั่วป่าตั้งแต่ครั้งนั้น

             ภูเก็ตปรากฏชื่อในปี พ.ศ. 700 บันทึกโดยนักสำรวจชาวกรีกชื่อ ปโตเลมี กล่าวถึงเกาะใหญ่
ทางทิศตะวันตกขอแหลมมาลายูและเรียกชื่อว่า จังซีลอน (JUNK CEYLON)
             ซึ่งมีผู้อธิบายว่าเพี้ยนมาจากคำว่า จ็อง สาลัง โดยคำว่า จ็อง ในภาษามาเลย์หมายถึงแหลม ตรงกับลักษณะ
ของเกาะภูเก็ตที่เป็นแหลมยื่นออกมา ส่วนคำว่า สาลัง เป็นคำที่เพี้ยนตามเสียงของคนมาเลย์ ที่พยายามออกเสียง
คำว่าถลางซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:54

ส่วนบางความเห็นกล่าวว่า

                   เกาะถลาง หรือ Junk Ceylon สมัยโบราณเป็นจุดสำคัญที่เรือสำเภา (Junk)
จากประเทศตะวันตกจะต้องผ่านเพื่อไปสู่แหลมมลายู ชาวมลายู (ซึ่งเป็นเจ้าทะเลยิ่งกว่าใครอื่นในสมัยนั้น)
จึงเรียกเกาะถลางว่า ยงซีลัง (Jong Silang) ซึ่งหมายถึง จุด หรือสถานที่ ชุมทาง หรือ
ทางผ่านของเรือเดินสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่คือเรือสำเภาที่ชาวมลายูเรียก ยง (Jong) และชาวอังกฤษเรียก จังก์ (Junk)
ฝรั่งถ่ายทอดสำเนียงภาษามลายูจากยงซีลัง (Jong Silang) มาเป็น จังซีลอน  
            
                  ส่วนฝรั่งเศสเรียก Jong Silang หรือ Junk Ceylon ว่า ยองสะลัม (Jonsalam)
ปรากฏตามหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าด้วยสนธิสัญญา
การค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศฝรั่งเศส    
                 จากสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้ได้รู้ว่าเกาะถลางสมัยนั้น กรุงศรีอยุธยาเรียกว่า เมืองถลางบางคลี

ชื่อถลาง หรือ Junk Ceylon ยังมีคำอธิบายที่มาเพิ่มเติมอีกว่า
 
                 ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า เกาะถลาง หรือ สลาง สมัยนั้นพื้นที่อาจเป็นแหลม
มีหญ้าคาขึ้นทั่วไป ชาวมลายูเลยเรียกแหลมหญ้าคาว่า อุยังลาแล ( อุยัง  - แหลม, ลาแล - หญ้าคา)
ต่อมาชาวต่างประเทศเรียกเสียงเพี้ยนเป็น อุยังลาลาง-อุยังสะลาง และเขียนเป็น จังซีลอน เพื่อให้ใกล้เคียงกับ
เกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ต่อมาคำว่าสะลาง กลายเสียงเป็น สะลาง-ฉลาง และ ถลาง ตามลำดับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:56

และ -           ฝรั่งคนหนึ่งคาดเดาไว้ว่า พวกโปรตุเกสเดินเรือมาถึงเกาะนี้ก่อนฝรั่งชาติอื่น
          ถามชาวมลายูว่าชื่ออะไร แขกคงเข้าใจว่าถามแหลมที่เรือจอดอยู่จึงตอบไปว่า "อุยงสะลัง" คือแหลมถลาง
ฝรั่งจึงเข้าใจว่าเกาะนี้ชื่อ อุยงสะลัง
                อังกฤษได้คำนี้มาจากโปรตุเกส อีกชั้นหนึ่งจึงออกเสียง ยองก์ หรือ ยังก์ ซึ่งแปลว่า "ตะเภา"
ส่วนสะลังนั้น อังกฤษคงฟังคล้ายเกาะลังกาซึ่งฝรั่งเรียกว่า "เล้ง" หรือ "เซลอน" ในภาษาอังกฤษ
เลยเอาคำสะลังเป็นเซลอน เกาะถลางจึงกลายเป็น "ยังก์เซลอน"
               
               นอกจากนี้ยังมีคุณหลวงอภิบาล กล่าวว่าเมืองถลาง แปลว่า "เมืองกาง" คือการตั้งขึ้นกลางป่า
แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกไม่เห็นด้วย ทรงเห็นว่าอังกฤษเรียกเกาะนี้ว่า ยังก์เซลอน คำว่า ยังก์ ไม่ทราบว่ามาอย่างไร
แต่เซลอนมาจากถลาง คนไทยชอบเอา "ก" หรือ "ต" เป็น "ส" เช่น ถนนเป็นสนน ตะพานเป็นสะพาน
คำถลางเรียกเป็น สลาง ฝรั่งฟังไม่ถนัด เรียกเป็นเซลอน
      นอกจากนี้ยังมีบุคคลสันนิษฐานไปต่างๆ นานา บ้างว่ามาจากคำว่าอ่าวฉลอง เกาะฉลามบ้าง ทองหลางบ้าง เป็นต้น
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:59

ภูเก็ต - ภูเก็จ

               พบหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกขานดินแดนแห่งนี้ของชาวทมิฬว่า “มณีคราม” ซึ่ง หมายถึง เมืองแก้ว
(หลักฐานปรากฏเมื่อ พ.ศ. 1568) ซึ่งมีความหมายตรงกับชื่อ  "ภูเก็จ"  (หมายถึงภูเขาแก้ว) ที่ปรากฏใน
จดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ 2328 และได้มีการเรียกขานเรื่อยจนกลายเป็น ภูเก็ต

             นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า “ภูเก็ต”นั้นเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ“บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา

             ส่วนคุณสุนัย ราชภัณฑารักษ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเห็นว่า

              ทางตะวันตกของเกาะนี้ มีสภาพเป็นเทือกเขาใหญ่น้อยลาดลงริมทะเล ถ้ามองจากท้องทะเลด้านนี้
ก็มองเห็นเป็นภูเขาไปทั้งเกาะ และ คำว่าภูเก็ตนั้นภาษาชาวพื้นเมืองเรียกว่าบูเก๊ะ เกาะที่แลเห็นเป็นภูเขาทอดยาว
ออกมาในทะเลจึงคงจะถูกเรียก "เกาะบูเก๊ะ"
             และโดยที่ฝรั่งออกเสียงคำหนักที่ลงท้ายด้วยสระไม่มีตัวสะกดไม่ค่อยชัดก็เลยออกเสียงเป็น "บูเก๊ต"
แล้วต่อมาก็กลายเป็น บูเก็ต หรือ ภูเก็ต ตามสำเนียงไทยไป     
           
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต เมื่อ พ.ศ.2435
และ พ.ศ.2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการเป็นจังหวัด และอำเภอ ได้ยกเลิกมณฑลภูเก็ตและเปลี่ยนมา
เป็นจังหวัดภูเก็ตแต่นั้นมา
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 11:02

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ได้ทรงพระราชนิพนธ์
จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ตอนหนึ่ง ทรงวิจารณ์ถึงคำว่า “ภูเก็จ”
               โดยใช้นามแฝงว่า นายแก้วมีความว่า

             "เกาะภูเก็จนี้เดิมเรียกว่า เกาะถลาง...เพราะเป็นชื่อเก่ากว่าภูเก็จเป็นอันมาก อังกฤษเรียกว่า ยั้งเซลอน
.....เมืองภูเก็จนั้นเป็นเมืองที่เพิ่งจะมีขึ้นใหม่ ๆ ผมดูว่าน่าจะมาจากภาษามลายูว่า "บูกิต" แปลว่า เขา
แล้วจึงแปลงมาเป็น "พูเก็ต" ต่อมา บางทีจะมีใครที่มีความรู้ภาษาไทยดีๆ มาคิดเขียนสะกดตัวเสียใหม่ ว่า "ภูเก็จ"
ให้สำเนียงคงอยู่อย่างเดิม แต่ให้มีคำแปลขึ้น คือผสมคำว่า "ภู" แปลว่า เขา กับ "เก็จ" แปลว่า ฝั่ง เข้าด้วยกัน....."

           
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 11:04

ภูเก็ต VS ภูเก็จ

               กรณีการผลักดันการกลับมาใช้ชื่อ ภูเก็จ อีกครั้ง
               ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
อธิบายว่า
      
                “คำว่า “ภูเก็จ” ที่ใช้ จ.จานสะกด แปลว่าภูเขาแก้ว แผ่นดินแก้ว หรือแผ่นดินเพชร หรืออะไรก็ได้
ที่เป็นอัญมณี ที่ความหมายเป็นอย่างนั้นเพราะ ภู แปลว่า ภูเขาหรือแผ่นดิน ส่วน เก็จ แปลว่า แก้วหรืออัญมณี
ความหมายมันแปลได้อยู่สองนัย นัยแรก หมายถึงแผ่นดินที่มีเพชร อีกความหมาย หมายถึง แผ่นดินที่มีค่า
แล้วถามว่าเพชรมีจริงไหม ก็มีจริงในประเทศไทยมีเพชรอยู่ 2 จังหวัด คือเพชรที่พังงาและที่ภูเก็ต
      
                 “แต่ยุคอย่างพวกเรา เราจะเห็นภูเก็ต สะกดด้วย ต.เต่าเสมอ เมื่อเห็นคำว่า ภูเก็ต ต.เต่า ก็เข้าใจว่า
ภูเก็ต ต.เต่าเป็นสิ่งที่เราใช้มาตลอด จนวันหนึ่งเราไปค้นหนังสือเอกสารทุกชิ้นของภูเก็ตสมัยก่อนรัชกาลที่ 5
มาใช้ภูเก็จ สะกดด้วย จ.จานทั้งสิ้น เราก็กล่าวหาคนโบราณว่าทำไมไม่มีโรงเรียนหรือไงเขียนผิดกันจัง
แต่ในที่สุดเราก็ทราบว่าเขาใช้ จ.จาน สะกดมาโดยตลอด”

                อ.สมหมาย เล่าต่อว่า คำว่า ภูเก็จ จ.จาน สะกด ปรากฏหลักฐานครั้งแรกเมื่อประมาณ 225 ปีก่อน
น่าจะปรากฏชัดเจนในปี พ.ศ.2328 เราได้เห็นคำว่า “ภูเก็จ” ในจดหมายของท่านผู้หญิงจันหรือ
ท้าวเทพกระษัตรี ที่เขียนไปถึงกัปตันฟรานซิส ไล้ท์ (พระยาราชกปิตัน) กล่าวถึงเรื่องคุณเทียน ประทีป ณ ถลาง
(บุตรท้าวเทพกระษัตรี) ได้รับพระราชทานตำแหน่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง อันแปลว่า ผู้ครองเมืองภูเขาแก้ว      
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 11:06

              นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆอีก เช่น พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลรายงานกิจการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็จ ครั้งเสด็จ
หัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128, หนังสือราชการเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเขียนถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ, ตราประทับของกระทรวงมหาดไทยประจำมณฑลภูเก็จ, เครื่องบินประจำ
มณฑลภูเก็จ และภาพแผนที่ระวาง เขียนโดยกรมแผนที่ทหารก็ใช้คำว่า “ภูเก็จ” จ.จานสะกด
           
               “เดิมคำว่า “ภูเก็จ” จ.จาน ใช้มาตลอด แต่ในช่วงเวลาประมาณต้นรัชกาลที่ 6 คำว่า “ภูเก็ต”
ต.เต่าเริ่มเข้ามา ภูเก็จ จ.จาน ซึ่งแปลว่าแผ่นดินแก้วแผ่นดินอัญมณี ก็หายไปกลายเป็นภูเก็ต ต.เต่า
โดยไม่ทราบสาเหตุ
               เพียงแต่เราสมมติฐานกันเอาไว้ว่าน่าจะมาจากการที่เราไปเขียนติดต่อกับชาวต่างชาติ
เป็นภาษาอังกฤษก่อนว่า Phuket เมื่อเขียนไปแบบนั้นเมื่อต้องการสื่อสารกันในประเทศไทยเราไปแปลผิด
กลายเป็น ตัว ต.เต่า ก็เลยใช้ตัว ภูเก็ต ต.เต่าสะกดมาโดยตลอด
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 11:09

           “ผู้รู้ที่สามารถในภาษามาลายู ติดต่อกับมาลายูได้ เขาก็ได้ศึกษาภาษาซึ่งกันและกัน ในภาษามาลายู
เขาใช้คำว่า “บูเก๊ะ” (หรือที่รู้จักกันดีว่าบูกิ๊ต) แปลว่า ภูเขา เมื่อแปลว่าภูเขา เลยเข้าใจว่า บูเก๊ะ กับคำว่า ภูเก็ต
คือคำเดียวกัน เราจึงแปลคำว่าภูเก็ตแปลว่าภูเขาเฉยๆ กลายเป็นว่าเมื่อเรารู้ว่า ภูเก็จ ตัวเดิมที่ใช้ จ.จานสะกด
เราถือว่าวันนี้เราใช้ภาษามาลายู ภูเก็ต เลยเป็นอาณานิคมทางภาษาให้มาลายูมาเกือบ 100 ปี ในการเสียเอกราช
ทางภาษาให้มาลายู เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงมันไม่ชัดเจนไม่ได้มีการประกาศไว้ เพียงแต่ค่อยๆเปลี่ยนไป
       
             จนปัจจุบันราชการใช้คำว่า “ภูเก็ต” ต.เต่าสะกดหมด ดังนั้นผู้ที่ศึกษาเรื่องพวกนี้จึงมีโอกาสได้เห็นเท่านั้น
ถ้านักเรียนเขียน “ภูเก็จ” ด้วยตัว จ.จานสะกด เพราะไปเห็นของจริงที่เขียนไว้ด้วย จ.จานสะกด มาส่งคุณครู
ก็ต้องถูกเรียกมาตีมือเพราะในปัจจุบันถือว่าเขียนผิด” ผศ.สมหมายเล่าแบบหยิกแกมหยอก
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 11:13

ส่งท้ายชื่อ ภูเก็ต ด้วยเรื่องราวที่ไม่น่าพึงใจในยุคโลกแคบ เมื่อคำว่า

               phuket ในปัจจุบันนี้ได้กลายไปเป็นคำแสลงตะวันตกที่ไม่น่ายินดีเลย เพราะ

จาก urban dict.

                 "phuket thailand"

           it's a line used in the film Juno as an interjection, because Phuket kinda sounds like 'F*** it'.
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 17:56

ราชบัณฑิตฯหรือหน่วยราชการไหนก็ตาม   กำหนดการถอดตัว ภ  เป็น Ph   กลายเป็นเรื่องจี้เส้นที่คนไทยหัวเราะไม่ออกมาพักใหญ่แล้ว    แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น
เข้าใจว่าไทยถอดตัวสะกดแบบโรมัน  แต่ในเมื่อเป็นอักษรอังกฤษ  คนอังกฤษและอเมริกันเขาออกเสียงแบบอังกฤษ  ตัวสะกด Ph เป็นเสียง F  Prince Philip ก็คือเจ้าชายฟิลิป   ไม่ใช่เจ้าชายพิลิป     
เมื่อมาเจอคำว่า Phuket ที่เราสะกดจากคำว่า ภูเก็ต   ฝรั่งก็หัวร่อกันงอหาย เพราะมันออกเสียงว่า fookit หรือ fooket   ซึ่งดันไปคล้ายกับคำด่าหยาบๆของฝรั่งว่า F*** it  อย่างที่คุณศิลาบอกไว้ข้างบนนี้ละค่ะ

เกาะ พีพี สะกดว่า Phi Phi  ฝรั่งออกเสียงว่า ฟีฟี    เรื่องนี้น่าเห็นใจ  เพราะถ้าสะกดตรงตัวว่า pee pee  จะแปลว่า ฉี่
บันทึกการเข้า
ศศิศ
พาลี
****
ตอบ: 326


อหังการ์ ล้านนาประเทศ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 23:02

สวัสดีครับผม ไม่ได้ขึ้นเรือนนานเลย... ยังคึกคักเช่นเดิมนะครับผม

ขอพูดถึงเมืองลำพูนเสียหน่อย

ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ได้สรุปชื่อเมืองเดิมไว้คือ "หริปุญไชย" แปลว่า เทพชุมนุม

ภายหลังในยุคของการเขียนตำนาน จึงกลายเป็น หริภุญชัย ไปเสีย

ส่วนคำว่า "ลำพูน" เป็นการผิดพลาดของทางราชการมากกว่า เพราะคนท้องถิ่นไม่เคยเรียกเมืองนี้ว่า ลำพูน เลย มีแต่เรียกว่า หละปูน ซึ่ง อ.ชัปนะ ปิ่นเงินว่า กลายมาจากคำว่า เลียะปุน ในภาษามอญโบราณ

บันทึกการเข้า

- ศศิศ -
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 23:22

เป็นเช่นนั้นจริงๆ.


สถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต........ออกเสียงภาษาอังกฤษแล้วคล้ายถามเขาว่า  เอากี้เพิ่มไหม?

ฝรั่งคนหนึ่งแซวทันทีที่เห็นป้าย ดอนเจดีย์ พนมทวน  Don Che Di   ดอนชีดาย


หัวเราะไม่ออกซีเรา
 เศร้า เศร้า
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 28 ก.ค. 10, 10:02

อ้างถึง
สุราษฎร์ธานี - มีแม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสำคัญ .... น่าสนใจว่า ใครเป็นผู้ตั้งชื่อทั้งของจังหวัด และแม่น้ำ ? ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยไหน ? เพราะว่า ชื่อทั้งสองนี้ ช่างพ้องต้องกันกับ เมืองสุรัต และแม่น้ำตาปี ในรัฐคุชราต ของประเทศอินเดีย

      สัปดาห์ก่อน รายการ รู้ รัก ภาษาไทย เสนอคำ (จังหวัด) สุราษฎร์ธานี และ ตาปี
ขอยกมาดังนี้ ครับ

            สุราษฏร์ธานี

          สุราษฎร์ธานี เป็นชื่อจังหวัดสำคัญในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เป็นเมืองเก่าตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย
และเป็นเมืองผ่านตามเส้นทางการค้าสายไหม.
     
        สุราษฎร์ธานี มาจากคำว่า สุราษฎร์ แปลว่า แว่นแคว้นอันงดงาม กับคำว่า ธานี แปลว่า เมือง.
ดังนั้นชื่อจังหวัดนี้จึงแปลว่า เมืองซึ่งเป็นดินแดนอันงดงาม.

        จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ
ประพาสมณฑลปักษ์ใต้ และได้ประทับ ณ เนินเขาใกล้กับเมืองพุนพินทรงเห็นภูมิประเทศงดงาม
เปรียบได้กับเมือง สุราษฺฏฺร (อ่านว่า สุ -ราส-ตฺระ) ของอินเดียซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำตาปี
จึงพระราชทานนามเมืองนี้ว่า สุราษฎร์ธานี  เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๕๘ และพระราชทานชื่อแม่น้ำ
ที่ไหลผ่านเมืองสุราษฎร์ธานีว่า แม่น้ำตาปี.

          อาณาจักร สุราษฺฏฺร (สุ -ราส-ตฺระ) ปรากฏหลักฐานอ้างถึงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นคุชราช (อ่านว่า คุด-ชะ -ราด) ประเทศอินเดีย.

------------------------------

ค้นเน็ทดูประวัติสั้นๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี -

             สุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชนพื้น เมือง ได้แก่
พวกเซมัง และมลายูดั้งเดิม ชึ่งอาศัยอยู่ ในเขตลุ่มน้ำหลวง (แม่น้ำตาปี) และบริเวณอ่าวบ้านดอน
ก่อนที่ชาวอินเดียจะอพยพเข้ามา ตั้งหลักแหล่ง และเผยแพร่วัฒนธรรม ดังปรากฏหลักฐาน
ในชุมชนโบราณที่ อ. ท่าชนะ อ.ไชยา เป็นต้น
               พุทธศตวรรษที่ 13 มีหลักฐานปรากฏว่าเมืองนี้ได้รวมกับอาณาจักรศรีวิชัย
เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลง จึงแยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐ
ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช
              ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน
และยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่าเมือง"กาญจนดิษฐ์"

           ครั้นเมื่อมีการปกครองแบบมณฑล ได้รวมเมืองทั้งสามเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา
ต่อมา พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา มาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองแห่งคนดี
(ความหมายชื่อเมืองต่างจากบทรายการ รู้ รัก ภาษาไทย)
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 28 ก.ค. 10, 10:03

              ตาปี

            แม่น้ำตาปีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภาคใต้ ต้นน้ำเกิดจากแอ่งน้ำบนภูเขาหลวง
ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเรียกแม่น้ำหลวง
ตามชื่อภูเขาต้นน้ำ เมื่อผ่านบ้านพุมเรียงก็เรียกแม่น้ำบ้านพุมเรียง เมื่อผ่านเมืองท่าข้ามก็เรียกแม่น้ำท่าข้าม.
         แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่าแม่น้ำตาปี
ตามชื่อแม่น้ำในอินเดียซึ่งไหลผ่านอาณาจักรโบราณชื่อ สุราษฺฏฺร (อ่าน สุ-ราด-สฺตฺระ)
ซึ่งทรงดัดแปลงมาเป็นชื่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีในคราวเดียวกัน

           ชื่อ ตาปี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า หญิงผู้มีความร้อนแรง ด้วยตำนานกล่าวว่า
แม่น้ำนี้เป็นธิดาของพระอาทิตย์ซึ่งมีรัศมีร้อนแรง. ชาวฮินดูเชื่อว่าเพียงรำลึกถึงแม่น้ำตาปี
บาปของบุคคลก็หมดสิ้นไปได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง