เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 31358 ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 12:04

จังหวัดลำปาง
อำเภอแม่ทะ  มีประวัติการก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 ที่ว่าการอำเภอแม่ทะเดิมมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ทะปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ที่บ้านป่าตัน หมู่ที่ 5 ตำบลป่าตัน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยอาศัยชื่อตำบลเป็นชื่อของอำเภอเรียกว่า อำเภอป่าตัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2452 ขุนตันธนารักษ์ นายอำเภอป่าตันสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่า กรมทางรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการวางรางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ โดยมีเส้นทางผ่านเนื้อที่บ้านแม่ทะ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ทะ จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปที่นั่นและเปลี่ยนชื่อจากอำเภอป่าตันเป็น อำเภอแม่ทะ

อำเภอห้างฉัตร
ห้างฉัตรเป็นอำเภอที่มีความเจริญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวง ได้ใช้เส้นทางห้างฉัตรเป็นทางติดต่อ เมื่อเดินทางถึงห้วยแม่ตาลได้หยุดพักพลที่นี้ บรรดาชาวเมืองจึงตกแต่งที่ประดับด้วยราชวัตรฉัตรอันงดงาม ภายหลังที่แห่งนั้นได้เป็นเมืองขึ้นมา จึงเรียกว่าเมืองนั้นว่า เมืองห้างฉัตร แต่ต่อมาชาวบ้านออกเสียงเพี้ยนเป็น "หางสัตว์" เมื่อตั้งเป็นอำเภอจึงเรียกว่า อำเภอหางสัตว์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงประกาศเปลี่ยนนามอำเภอนี้เป็น อำเภอห้างฉัตร เพื่อให้ถูกต้องตามความหมายเดิม

บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 12:20

จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อำเภอแม่สะเรียง เมืองยวมเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าดั้งเดิมคือ ละว้าและกะเหรี่ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเรียกชื่อว่า อำเภอเมืองยวม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอเมืองยวมนั้นไปพ้องกับอำเภอขุนยวมซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอแม่สะเรียง ตามชื่อของลำน้ำแม่สะเรียงที่ไหลผ่านอำเภออีกสายหนึ่งแทน อำเภอแม่สะเรียงในอดีตยังเคยเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย

บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
cooling
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 13:03

ได้ความรู้มากจริงๆ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 14:20

หันมาทางภาคกลางบ้างนะครับ
จังหวัดพิจิตร
อำเภอบางมูลนาก  พ.ศ. 2450ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกเหนือวัดบางมูลนาก แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอภูมิอย่างเดิมมิได้เปลี่ยนเป็นอำเภอบางมูลนาก จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2459กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอ ที่ว่าอำเภอเมืองภูมิตั้งอยู่ที่ ตำบลบางมูลนากจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางมูลนากเป็นต้นมา

อำเภอโพทะเล เดิมเรียกว่าอำเภอบางคลาน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำพิจิตร(น่านสายเก่า)บรรจบกับแม่น้ำยม ในท้องที่ ตำบลบางคลานปัจจุบัน และต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำยม ในท้องที่ตำบลโพทะเล จึงเปลี่ยนเป็นอำเภอโพทะเล จนถึงปัจจุบัน

จังหวัดนครสวรรค์
อำเภอโกรกพระ แต่เดิมนั้นชื่ออำเภอเนินศาลา ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินศาลา เมื่อ ร.ศ.113 (พ.ศ.2431) ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากการติดต่อคมนาคมของประชาชนในสมัยนั้น อาศัยการเดินทางโดยทางเรือเป็นส่วนใหญ่ สถานที่ตั้งอำเภอเดิมไม่สะดวกในการติดต่อจึงได้ย้ายมาตั้งที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ที่บ้านโกรกพระ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโกรกพระ เมื่อ ร.ศ. 118 หรือ (พ.ศ. 2442)

อำเภอเมืองนครสวรรค์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 โดยหลวงสรรพากรซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรก ได้สร้างขึ้นที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบ้านแก่ง จึงเรียกชื่ออำเภอว่า อำเภอบ้านแก่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่ตำบลปากน้ำโพ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อำเภอปากน้ำโพ เมื่อ พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอตามที่ตั้งศาลากลาง จึงเรียกว่า อำเภอเมืองนครสวรรค์

จังหวัดอ่างทอง
อำเภอไชโย นี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า อำเภอบ้านมะขาม เมื่อบ้านไชโยตั้งเป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2439 โดยทางราชการได้นำชื่อวัดและหมู่บ้านตำบลไชโยมาเป็นชื่ออำเภอ ส่วนชื่ออำเภอบ้านมะขามก็ยกเลิกไป และแม้ที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ที่ตำบลจรเข้ร้องก็ไม่ได้ชื่อว่าอำเภอจรเข้ร้อง กลับได้ชื่อว่า อำเภอไชโย เพราะถือว่าชื่อไชโยเป็นสิริมงคลมากกว่า

อำเภอวิเศษชัยชาญ เดิมชื่ออำเภอไผ่จำศีล ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองอ่างทองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 โดยตั้งที่ว่าการอำเภอทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลไผ่จำศีล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2451 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอไผ่จำศีลเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ

จังหวัดสุพรรณบุรี
อำเภอสามชุก  เมื่อปี พ.ศ. 2437 ทางราชการได้ตั้งอำเภอมีชื่อว่า อำเภอนางบวช ครั้นถึงปี พ.ศ. 2454 ได้มีการเสนอขอจัดตั้งอำเภอทางฝ่ายเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณหมู่บ้านเขาพระ ตั้งชื่อว่า อำเภอเดิมบาง และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนางบวชมาอยู่บริเวณหมู่บ้านสามเพ็ง ตำบลสามชุกด้วย จนในปี พ.ศ. 2457 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากอำเภอเดิมบางเป็น อำเภอสามชุก เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่

อำเภออู่ทอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจรเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่อำเภอจรเข้สามพันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพันมาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483

จังหวัดสิงห์บุรี
อำเภอบางระจัน เดิมชื่อ "อำเภอสิงห์" จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอสิงห์ มาเป็นอำเภอ "บางระจัน" ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จนถึงปัจจุบัน

เดียวมาต่อนะครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 15:12

มาต่อกันเลยนะครับ

จังหวัดกาญจนบุรี
จากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ชื่อ สถิต เลิศวิชัย ได้บันทึกไว้ว่าอำเภอท่ามะกานั้น เดิมชื่อ อำเภอลาดบัวขาว ตั้งขี้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยเอาพื้นที่เขตตำบลท่าผา ตำบลธรรมเสน และตำบลลาดบัวขาวรวมกันตั้งเป็น "อำเภอลาดบัวขาว" ในสมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี  ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 หรือรัตนโกสินทรศก 124 ทางราชการได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอลาดบัวขาวมาตั้งใหม่ที่ตำบลพงตึก และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอลาดบัวขาวเป็น อำเภอพระแท่น ทั้งนี้เพราะในเขตอำเภอมีปูชนียสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือ "พระแท่นดงรัง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปของชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 2453 สมัยขุนศรีสรนาสน์นิคมหรือมหาจันทร์ ปุญสิริเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพระแท่นจากตำบลพงตึกมาตั้งใหม่ที่หมู่บ้าน "ถ้ำมะกา" ทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง โดยซื้อที่ดินของขุนอารักษ์อรุณกิจ จำนวน 10 ไร่ 20 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท และที่ดินของนายชื่น จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท รวมเป็นเนื้อที่ของอำเภอ 12 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ใช้เป็นที่สร้างที่ว่าการอำเภอพระแท่นหลังใหม่ เนื่องจากที่ท่าน้ำหน้าอำเภอมีต้นมะกาต้นใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 สมัยขุนรามบุรีรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) เป็นนายอำเภอ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่จากอำเภอพระแท่นเป็น อำเภอท่ามะกา ซึ่งยังคงขึ้นอยู่ท้องที่จังหวัดราชบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 จึงได้โอนมาขึ้นอยู่กับท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบัน

อำเภอท่าม่วง
อำเภอท่าม่วงจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2441 ที่บ้านท่าไม้รวก ตำบลม่วงชุมในปัจจุบัน โดยเริ่มแรกเนื่องจากอำเภอที่ตั้งขึ้นมีอาณาเขตติดต่อกับ "วัดใต้" (วัดมโนธรรมารามในปัจจุบัน) จึงตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอใต้ ต่อมาความเจริญของลำน้ำเปลี่ยนไป ประชาชนอพยพลงมาทางใต้ เพราะบริเวณท่าไม้รวกเดิมเป็นลำน้ำคด ไม่สะดวกในการสัญจรของเรือ แพ จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งใหม่บริเวณใกล้กับวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง และตั้งชื่ออำเภอใหม่ว่า อำเภอวังขนาย ต่อมาปี พ.ศ. 2484 พระวรภักดิ์พิบูลย์ นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าอำเภอนี้ควรตั้งชื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะอำเภอตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าม่วง และอยู่ท้ายตลาดท่าม่วงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จึงขออนุญาตเปลี่ยนชื่อจากอำเภอวังขนายเป็น อำเภอท่าม่วง ตามชื่อตำบลที่ตั้ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน

จังหวัดลพบุรี
อำเภอโคกสำโรง ที่ว่าการอำเภอโคกสำโรงนี้ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขาพุคา ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง เรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอพุคา” มณฑลอยุธยา สมัยนั้น ขุนสุรณรงค์ เป็นนายอำเภอ พ.ศ. 2342 ต่อมาสมัยหลวงอนุมานสารกรรม (กลิ่น) เป็นนายอำเภอ พ.ศ. 2342 ได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเดิมมีพลเมืองน้อย การคมนาคมลำบากมาก จึงได้ย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ อยู่ทางที่ว่าการอำเภอปัจจุบันทางด้านเหนือประมาณ 4 เส้น แต่จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏได้ใช้ชื่ออำเภอว่า “กิ่งอำเภอสระโบสถ์” และยกฐานะเป็นอำเภอในเวลาต่อมา แต่สถานที่ตั้งอยู่บ้านโคกสำโรง ซึ่งปรากฏว่าเป็นศูนย์กลางของพลเมืองที่จะมาติดต่อได้สะดวก ขณะนั้นที่บ้านโคกสำโรงมีราษฎรคนหนึ่ง ชื่อนายติ่ง เป็นคนมีเงิน และมีคนนับถือมากนายติ่งได้ขอแรงราษฏรช่วยกันสร้างที่ว่าการอำเภอโคกสำโรงเป็นอาคารไม้ หลังคาแฝกอำเภอใหม่นี้ย้ายมาสร้างระหว่าง พ.ศ. 2352 และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2467 สมัยขุนศรีนฤนาท (เต่า สมชนะ) เป็นนายอำเภอได้ย้ายตัวที่ว่าการอำเภอมาปลูกใหม่ ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอปัจจุบันได้ขอแรงราษฏรหาไม้มาปลูกสร้างและมุงหลังคากระเบื้อง อยู่มาจนปัจจุบันนี้

อำเภอบ้านหมี่  ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2426 ชื่อเรียกตั้งครั้งแรกว่า อำเภอสนามแจง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ริมเขาสนามแจง ต่อมาย้ายไปตั้งอยู่บ้านห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ตามที่ตั้งว่า อำเภอห้วยแก้ว
พ.ศ. 2441 มีการสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่าน ทางราชการจึงย้ายอำเภอมาสร้างใหม่ที่ตำบลบ้านเซ่า (ตำบลบ้านหมี่ในปัจจุบัน) ได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอกลับไปเป็นอำเภอสนามแจงอีก
พ.ศ. 2457 เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านเซ่า ตามตำบลที่ตั้ง
พ.ศ. 2483 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอบ้านเซ่าเป็น อำเภอบ้านหมี่ มาจนถึงปัจจุบันนี้
อำเภอบ้านหมี่ มีความหมายมาจากที่ชาวพวน หรือ ไทยพวน ที่อพยพมาจากหัวพันทั้งห้าทั้งหกในประเทศลาวมาตั้งภูมิลำเนาในท้องที่อำเภอนี้ได้นำเอาชื่อบ้าน คือ "บ้านหมี่" หรือ "เซ่า" ติดมาด้วย แล้วนำเอาชื่อบ้านมาตั้งหลักแหล่ง คำว่า เซ่า หรือ เซา เป็นภาษาพวนเดิม หมายถึง หยุดหรือพัก ส่วนคำว่า หมี่ นั้นหมายถึง การมัดเส้นไหมเป็นเปลาะ เพื่อให้มีหลากสีสัน เนื่องจากราษฎรในละแวกนั้นมีความถนัดในการทอผ้าชนิดต่าง ๆ เมื่อมาตั้งหลักแหล่งจึงตั้งชื่อบ้านเป็นเครื่องหมายในการประกอบอาชีพว่า "บ้านหมี่"

จังหวัดนครนายก
อำเภอปากพลี แต่เดิมอำเภอนี้ชื่อว่า อำเภอบุ่งไร่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอหนองโพธิ์ โดยรวมบ้านหนองโพธิ์และบ้านหนองน้ำใหญ่มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ราชการ แต่เอาเฉพาะคำว่า "หนองโพธิ์" และในปีเดียวกันได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าแดง ตำบลปากพลี พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อำเภอเขาใหญ่ เพราะท้องที่ได้ครอบคลุมถึงเขาใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอปากพลี ตามชื่อตำบลที่ตั้ง

อำเภอบ้านนา  แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า อำเภอท่าช้าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2446 ตามประวัติอำเภอนี้เคยเป็นแขวงเมืองนครนายก ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเฉพาะท้องที่อำเภอบ้านนาเคยเป็นที่ตั้งกองโพนช้างหรือกองจับช้างป่าไว้เป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกสงครามมาแต่สมัยโบราณ ปรากฏว่ายังมีหลักฐานอยู่ที่บ้านมะเฟือง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา ซึ่งในอดีตเมื่อ 30 กว่าปี หมู่บ้านนี้มีชื่อเรียกว่า "โรงช้าง" และยังมีเศษเสาโรงช้างของกรมพาหนะคชบาล เหลือซากอยู่เป็นหลักฐาน แต่ในปัจจุบันเสาโรงช้างได้ชำรุดผุพังไปจนหมดสิ้นแล้ว
อำเภอบ้านนาเคยโอนไปขึ้นอยู่กับจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกจังหวัดนครนายกโดยให้อำเภอต่าง ๆ ไปขึ้นอยู่กับจังหวัดปราจีนบุรี ยกเว้นอำเภอบ้านนาให้ไปขึ้นกับจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อำเภอบ้านนาจึงได้กลับมาขึ้นกับจังหวัดนครนายกจนกระทั่งปัจจุบัน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อำเภอพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า อำเภอรอบกรุง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น อำเภอกรุงเก่าและเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2500 เป็นชื่ออำเภอพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

อำเภอวังน้อย แต่เดิมชื่ออำเภออุทัยน้อย มีนายอำเภอคนแรกคือ หลวงอุทัยบำรุงรัฐ ต้นตระกูล บุญญานันต์ ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งที่ได้รับพระราชทานโดยตรงจากรัชกาลที่ 6






บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 15:36

มาต่อกันอีกครับ
จังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอตรอน ชื่อเดิมของอำเภอตรอน มีชื่อว่า อำเภอเมืองตรอน และเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยเมื่อ พ.ศ. 2430 ตอนนั้นเมืองพิชัยแบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอด้วยกันคือ เมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองตรอน เมืองลับแล และเมืองน้ำปาดเมืองตรอนมีชื่อเต็มว่า เมืองตรอนตรีสินธุ์ (ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมศึกษาของอำเภอตรอนก็มีชื่อว่า "โรงเรียนตรอนตรีสินธุ์") และที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่ตำบลบ้านแก่ง ตรงกับที่กล่าวแล้วในตอนต้น
ในปี พ.ศ. 2457 ได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอ ดังนั้นอำเภอเมืองตรอนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น อำเภอบ้านแก่ง ด้วย(ต่อมา พ.ศ. 2475ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ อำเภอตรอน จนถึงปัจจุบัน)


 
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 15:45

เพิ่งเดินทางเฉียดอำเภอตรอนเมื่อปลายเดือนที่แล้วนี้เอง

เห็นป้ายชี้ทางไปอำเภอ ยังคุยกับคนในรถเลยว่า

"ไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอนี้มาก่อนเลย ชื่อเหมือนภาษาต่างประเทศ"

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 16:36

มาต่ออีกครับ

จังหวัดนครปฐม
อำเภอกำแพงแสน ได้ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2449 ที่วัดห้วยพระ ตำบลห้วยพระ อำเภอดอนตูม โดยใช้ชื่อว่า อำเภอกำแพงแสน ตั้งตามชื่อเมืองโบราณ ต่อมาได้ปี พ.ศ. 2453 ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอใหม่จากวัดห้วยพระไปที่ชายทุ่งสามแก้ว ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1.6 กิโลเมตร และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจากเดิมตามชื่อหมู่บ้านว่า อำเภอสามแก้ว ตั้งอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2460 จึงได้กลับมาใช้ชื่อว่า อำเภอกำแพงแสน ตามเดิม เพื่อเป็นการรักษาชื่อเมืองโบราณไว้

อำเภอบางเลน ตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2439 แต่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ที่ว่าการอำเภอเดิมตั้งอยู่ที่บ้านบางไผ่นารถ ใกล้บริเวณวัดบางใผ่นารถ ตำบลบางไทรป่า ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ใช้ชื่อว่า อำเภอบางไผ่นารถ ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งอยู่ในเขตตำบลบางปลา ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ใช้ชื่อว่า อำเภอบางปลา ภายหลังอำเภอบางปลาแบ่งการปกครองเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลบางปลาและตำบลบางเลนในปี พ.ศ. 2479 ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอมาที่ตำบลบางเลน (อยู่บริเวณตลาดเก่าในปัจจุบัน) จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางปลาเป็น อำเภอบางเลน ครั้นถึง พ.ศ. 2521 หลวงพ่อกิติวุฒโทแห่งจิตตภาวันวิทยาลัย ซื่งเป็นชาวบางเลน ได้มอบที่ดินมรดกของท่านไห้ทางราชการและได้บริจาคเงินก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มาตั้งอยู่ริมถนนพลดำริห์ ในท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จนกระทั่งปัจจุบัน โดยมี เรือโทกฤษณ์ จินตะเวช ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบางเลน ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

อำเภอสามพราน ในอดีตนั้นมีชื่อเรียกว่า อำเภอตลาดใหม่ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสร้างขึ้นในที่ดินของพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงครามรามภักดีสุริยะพาหะ (อี้ กรรณสูต) ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นเรียกว่าตลาดใหม่ ในปี พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ทำการไปสร้างใหม่ในตำบลสามพราน เนื่องจากที่ทำการเดิมคับแคบ ให้บริการประชาชนได้ไม่สะดวก พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสามพราน ตามชื่อสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลนครชัยศรี ต่อมาปี พ.ศ. 2474 ทางราชการยุบมณฑลนครชัยศรีลง อำเภอสามพรานจึงขึ้นอยู่กับเมืองราชบุรีอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2476 ได้ยุบมณฑลทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร อำเภอสามพรานจึงได้ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครปฐม ตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการของราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476

จังหวัดนนทบุรี
อำเภอบางใหญ่ ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2447 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่กว้างขวางมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชการดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้แบ่งเขตการปกครองตำบลบางใหญ่และบางม่วงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอบางแม่นางในปี พ.ศ. 2460 ขึ้นอยู่กับอำเภอบางใหญ่จนถึงปี พ.ศ. 2464 จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
ต่อมาอำเภอบางใหญ่ซึ่งกลายเป็นอำเภอทางใต้สุดของจังหวัดนนทบุรีหลังจากการแบ่งเขต มีรูปพื้นที่คล้ายกรวยยื่นออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่า "หัวแหลมบางกรวย" กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอตามบริเวณที่ตั้งอำเภอและตามการเรียกของคนสมัยนั้นเป็น อำเภอบางกรวย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พร้อม ๆ กับที่อำเภอบางแม่นางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอบางใหญ่" แทน

จังหวัดสมุทรปราการ
อำเภอบางบ่อ หมู่บ้านบางบ่อได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2439[3] ในครั้งแรกตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่บ้านคอลาด (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านทางตอนเหนือของตำบลบางบ่อ) จึงได้ชื่อว่า อำเภอคอลาด แต่เนื่องจากที่ตั้งนี้อยู่ห่างไกลจากตำบลอื่นมาก ประชาชนมาติดต่อราชการไม่สะดวก ในปี พ.ศ. 2443 ทางการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางพลี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลำคลองจาก 3 ทางไหลมาบรรจบกัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อำเภอบางเหี้ย ตามลำคลองสำคัญสายหนึ่งของท้องถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "คลองด่าน"
ในปี พ.ศ. 2472 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบางบ่อ แต่ก็ยังใช้ชื่ออำเภอตามเดิม จนกระทั่งในปลายปีถัดมา (พ.ศ. 2473) กระทรวงมหาดไทยจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางเหี้ยเป็น อำเภอบางบ่อ ตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอและตามชื่อที่ประชาชนนิยมเรียก และใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา ส่วนตำบลบางเหี้ยที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ตำบลคลองด่าน" ในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2483 เนื่องจากทางการ (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี) เห็นว่าไม่ไพเราะและไม่เป็นมงคล ครั้นในปี พ.ศ. 2486 จังหวัดสมุทรปราการถูกยุบลงเนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอบางบ่อถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นมาอีกครั้ง อำเภอบางบ่อจึงกลับมาอยู่ในการปกครองของทางจังหวัดจนถึงปัจจุบัน



บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 17:25

มาทางจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้างนะครับ
จังหวัดขอนแก่น
อำเภอมัญจาคีรี เมื่อปีพ.ศ. 2419 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านสวนหม่อน พ.ศ. 2430 ไปที่ตำบลกุดเค้า แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอกุดเค้า" ตามตำบลที่ตั้ง จึงกลับใช้ชื่อ "มัญจาคีรี" ดังเดิมเมื่อ พ.ศ. 2481

จังหวัดชัยภูมิ
อำเภอภูเขียว ในปี พ.ศ. 2460 ขุนสารกิจคณิตดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูเขียว ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอภูเขียวเป็น อำเภอผักปัง เพื่อให้ตรงกับสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอและได้เปลี่ยนใช้ชื่อ "อำเภอภูเขียว" อีกครั้ง
เมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งการเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอภูเขียวครั้ง
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 10:47

มาต่ออีกครับ
จังหวัดยโสธร
อำเภอเมืองยโสธร ปี พ.ศ. 2443 ได้รวมเข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานี แล้วแบ่งเป็น 2 อำเภอ เรียกอำเภออุทัยยโสธรและ อำเภอปจิมยโสธร ปี พ.ศ. 2450 เมืองยโสธรถูกยุบลงเพื่อรวมกับจังหวัดอุบลราชธานี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ทางการได้ย้ายอำเภออุทัยยโสธรไปตั้งที่ตำบลลุมพุก และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว ส่วนอำเภอปจิมยโสธรซึ่งตั้งอำเภออยู่ในเมืองต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอยโสธร ในปี พ.ศ. 2456
ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดยโสธรโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุมออกจากจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรวมกันเป็นจังหวัดยโสธรตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515 และเป็นกำเนิด อำเภอเมืองยโสธร ในปัจจุบัน

เอำเภอมหาชนะชัย นั้นตั้งอยู่บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมหาชนะชัยเป็น อำเภอฟ้าหยาด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2460 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอฟ้าหยาดเป็น "อำเภอมหาชนะชัย" อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515 อำเภอมหาชนะชัยจึงได้ย้ายไปขึ้นกับจังหวัดยโสธรจนถึงปัจจุบัน

บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 10:52

มาแอบเก็บเกี่ยวความรู้อีกแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
ขอมานั่งรอ ของทางภาคใต้บ้างนะคะ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 11:52

มาแอบเก็บเกี่ยวความรู้อีกแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
ขอมานั่งรอ ของทางภาคใต้บ้างนะคะ

ใจตรงกันเลยครับ
เช่นอำเภอระเกาะ, อำเภอกลาง, อำเภอมะกรูด
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 12:20

มาต่อกันอีกนะครับ
จังหวัดศรีสะเกษ
อำเภอกันทรลักษ์  เดิมมีชื่อว่า เมืองอุทุมพรพิไสย ขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่บ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพร ริมเชิงเขาน้ำตก (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา) เมื่อ พ.ศ. 2410 ย้ายเมืองอุทุมพรพิไสยจากบ้านตวด มาตั้งอยู่ที่บ้านผือใหม่ (ปัจจุบันบ้านผือใหม่ อยู่ในท้องที่ตำบลเมือง อำเภอกันทรลักษ์) ตั้งเป็น อำเภออุทุมพรพิไสย เมื่อ พ.ศ. 2425 รวมอำเภออุทุมพรพิไสยกับอำเภอกันทรลักษ์ซึ่งอยู่ที่บ้านลาวเดิม (ปัจจุบันเป็นบ้านหลักหิน ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ) เข้าเป็นอำเภอเดียวกันแล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านเก่า ตำบลน้ำอ้อม เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกันทรลักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2445 ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์จากบ้านขนาเก่า ไปตั้งที่บ้านผืออีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอกันทรลักษ์เป็น อำเภอน้ำอ้อม เมื่อ พ.ศ. 2480 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอน้ำอ้อม เป็น "อำเภอกันทรลักษ์" จนถึงปัจจุบันนี้

อำเภอขุขันธ์ นั้นแต่เดิมเรียกว่าเมืองขุขันธ์โดยในระยะแรก ปกครองแบบจตุสดมภ์ มีเจ้าเมืองปกครอง ถือเป็นหัวเมืองชั้นนอก พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยการปกครองใหม่จากเดิม เป็น “เมือง” “อำเภอ” “ตำบล” และ หมู่บ้าน จากผลการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เกิดหน่วยการปกครองที่เรียกว่า “อำเภอ” ขึ้นคือ “อำเภอห้วยเหนือ” ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ มาจนถึงปลายปี พ.ศ. 2449 ได้มีการย้ายที่ทำการศาลากลางเมืองขุขันธ์ไปตั้งอยู่ที่อำเภอกลางศรีสะเกษ และยังคงใช้นามว่า “ศาลากลางเมืองขุขันธ์” ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงตั้งอยู่ที่เดิม
* พ.ศ. 2459 ได้มีการเปลี่ยนแปลงนามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เป็น “จังหวัด” เมืองขุขันธ์ จึงมีนามว่า “จังหวัดขุขันธ์” ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงใช้นามเดิมและขึ้นต่อจังหวัดขุขันธ์
* พ.ศ. 2481 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนาม “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนามจังหวัดศรีสะเกษ และเพื่อรักษาเกียรติประวัติของเมืองขุขันธ์ อันเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอีสานใต้ จึงได้เปลี่ยนนาม “อำเภอห้วยเหนือ” เป็น อำเภอขุขันธ์ ขึ้นต่อจังหวัดศรีสะเกษ มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอราษีไศล
พุทธศักราช 2456 เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอคง โดยเอานามตำบลที่ตั้งเป็นชื่ออำเภอ
พุทธศักราช 2482 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอราษีไศล ตามเดิม เพราะต้องการอนุรักษ์ชื่อเมืองเดิมไว้

อำเภออุทุมพรพิสัย
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 เดิมเรียกว่า อำเภอประจิม โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บ้านสำโรงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลสำโรง มีพระประชุมชันตุนิกรเป็นนายอำเภอคนแรก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 นายบุญมา ศิลปาระยะ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณโดยรอบที่ว่าการอำเภอประจิม มีต้นมะเดื่อขึ้นอยู่จำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอประจิมเป็น อำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งมีความหมายว่า "ถิ่นของต้นมะเดื่อใหญ่"

จังหวัดอุบลราชธานี
อำเภอบุณฑริก  ก่อนยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เป็นชุมชนเล็ก ๆ เรียกว่า เมืองบัว อยู่ที่ตำบลนาจะหลวย ขึ้นกับอำเภอเดชอุดม โดยมีพระอภัยเป็นเจ้าเมืองปกครอง เมื่อพระอภัยถึงแก่อนิจกรรม ได้แต่งตั้งให้นายใสเป็นเจ้าเมือง ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงบุณฑริกเขตตานุรักษ์" ราวปี พ.ศ. 2402 หลวงบุณฑริกฯ จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่ที่บ้านโนนสูง และยังเรียกว่าเมืองบัว ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น กิ่งอำเภอบุณฑริก เมื่อปี พ.ศ. 2466 มีขุนจิตต์ประศาสตร์ (พุ่ม วนิกุล) เป็นปลัดกิ่ง และได้ย้ายที่ตั้งอำเภอมาอยู่ที่บ้านโพนงาม ฝั่งตะวันออกของลำโดมน้อย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอโพนงาม ภายหลังกลับมาใช้ชื่อกิ่งอำเภอบุณฑริกอีกครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอบุณฑริก

อำเภอตระการพืชผล ในปี พ.ศ. 2452 ทางราชการได้รวมเขตปกครองอำเภอตระการพืชผลกับอำเภอพนานิคมเข้าด้วยกันเป็น อำเภอพนานิคม และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ แต่ยังใช้ชื่อเดิม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามที่ตั้งเป็น อำเภอขุหลุ เมื่อปี พ.ศ. 2460 ครั้นถึง พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นอำเภอพนานิคมอีกครั้ง และสุดท้ายเพื่อรักษาความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ทางการจึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอตระการพืชผลอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2483

อำเภอวารินชำราบ  เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองเมืองอุบลราชธานี ที่ว่าการอำเภอหลังแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2451 ใช้ชื่อว่า อำเภอทักษิณูปนิคม ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรกคือ ท้าวธรรมกิติกา (เป้ย สุวรรณกูฏ) ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 สมัยของขุนภูมิพิพัฒน์เขตร์ (แท่ง เหมะนัค) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนที่ 2 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี ข้ามแม่น้ำมูลมาตั้งอยู่ที่บ้านคำน้ำแซบ ตำบลธาตุ แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอวารินชำราบ

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงจะหมดเท่านี้นะครับ ถ้าท่านใดมีเพิ่มเติมมาอีกก็ได้นะครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 12:30

เข้ามาชวนคุย
วารินชำราบ แปลว่าอะไรคะ
(ยังไม่ได้ไปเปิดรอยอินค่ะ)
มีอำเภอหรือตำบลชื่อฟ้าแดดสูงยางหรือเปล่า   เปลี่ยนชื่อแล้วหรือยังคะ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 07 ก.ค. 10, 13:10

มาภาคตะวันออกกันบ้างนะครับ

จังหวัดฉะเชิงเทรา
อำเภอบ้านโพธิ์  นั้นเริ่มต้นโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรกคือขุนประจำจันทเขตต์
และในช่วงต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบแบบเสือป่าเพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกัน ประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ
และจึงมีการเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่งจากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบลที่ตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2460 (ตามรายงานกิจการจังหวัดประจำปี 2401-2502) สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ

จังหวัดชลบุรี
อำเภอศรีราชา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง เริ่มจากเมืองบางพระนั้นได้ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) เรียกว่า อำเภอบางพระ ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้กราบทูลต่อกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ซึ่ง เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจีนบุรี ขอให้ย้ายอำเภอบางพระมาตั้งที่ศรีราชา แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอบางพระเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 (ร.ศ. 136) จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบางพระมาเป็น อำเภอศรีราชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีหลวงบุรีรัตถคามบดีเป็นนายอำเภอศรีราชาคนแรก

หมดภาคตะวันออกแล้วครับ
พักเที่ยงเดียวมาต่อครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 20 คำสั่ง