เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 78292 นิยายเก่าเล่าใหม่
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 22:24

สืบเนื่องจากค.ห.ของคุณหลวงเล็กและคุณศิลา ในท้ายกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?action=post;quote=66430;topic=3337.105;num_replies=107;sesc=cd5883f36601b9ea17aab0d31695a896
คุณวันดีมาขบหินแตกเสียแล้ว   ขอบคุณมาก   
การมีเครือข่ายนักอ่านหนังสือมันดีฉะนี้เอง

ขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาเล่าเรื่องนวนิยายเก่าๆ 
ให้คนรุ่นหลังอย่างผมได้ทราบ
เป็นไปได้ขอฟังอีกครับ   ยิงฟันยิ้ม

และ

        ขอบคุณคุณหลวงสำหรับคำตอบ และจะรอฟังอาจารย์เล่าเรื่องนิยายสมัยก่อน ครับ

          คาดว่าคงมีเรื่องของ ราชินีนิยายพาฝัน (หรือนักเขียนนิยายน้ำเน่าตัวแม่ - ที่คุณชูวงศ์พูดเอง)
ซึ่งเพิ่งมีการจัดงานเนื่องในวาระ "วางปากกา(หยุดเขียน)" ไปเมื่อไม่นานมานี้ (ทราบว่าอาจารย์ไปร่วมงานด้วย)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 22:45

ขอเชิญทุกท่านที่จำได้ว่าย้อนกลับไปตอนเด็ก และวัยรุ่น อ่านหนังสืออะไรบ้าง มาร่วมวง   เพื่อดิฉันจะได้ไม่ต้องเล่าอยู่คนเดียว
ไม่จำเป็นต้องเลือกเฉพาะนวนิยาย เป็นการ์ตูน เรื่องสั้น  บทกวี อะไรก็ได้ ที่เป็นหนังสือ
ส่วนชื่อกระทู้นี้  นิยาย หมายถึง fiction หรือเรื่องแต่ง  ไม่ได้หมายถึงนวนิยาย ค่ะ

ย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษก่อน  ดิฉันเป็นเด็กที่อ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนวัย  ขณะที่เพื่อนๆยังอ่านนิทานกันอยู่
เราข้ามไปถึงเรื่องสั้น และนวนิยายแล้ว
แต่เด็กสมัยนั้น อ่านหนังสือกันมากกว่าเดี๋ยวนี้   เพราะไม่มีความบันเทิงอย่างอื่นมาดึงความสนใจไปจากหนังสือ
ขนาดที่ว่า ครูต้องห้ามนำหนังสืออ่านเล่นมาอ่านในโรงเรียน   เห็นเมื่อไร โดนริบหนังสือ แล้วครูไม่คืนด้วย

โชคดีที่ในบ้าน พ่อแม่เป็นนักอ่านทั้งคู่  ลูกสาวก็เลยไม่ถูกห้ามเรื่องอ่านหนังสือ   พ่อแม่ยังหาหนังสือมาให้อ่านด้วยซ้ำไป  อยากอ่านอะไรก็อ่านได้หมด

อยู่ป. ๑ อ่านนิทานฝรั่งที่แปลเป็นไทย   เรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด  เอาไปร.ร.เลยถูกครูริบไป
เมื่ออยู่ประถม ๓  เริ่มอ่าน สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน    ได้หนังสือมาจากบ้านครูที่สอนพิเศษตอนเย็น  จริงๆก็คือไปทำการบ้านที่บ้านครูซึ่งอยู่ที่ถนนหลังสวน  ข้างร.ร.   ตอนนั้นยังเป็นซอย   ไม่ใช่ถนนอย่างเดี๋ยวนี้
พอเลิกเรียนพวกเราก็เดินออกประตูหลังของร.ร. เกาะกลุ่มกันไปตามซอย    เดินข้ามสะพานข้ามคูน้ำเข้าไปในบ้านของครู    
ทำการบ้านเสร็จ พ่อแม่ยังไม่มารับ   ครูก็ตามใจ   เอาหนังสือของลูกชายมาให้อ่านฆ่าเวลา
พี่คนนั้นก็ใจดี  ไม่ว่าอะไร   ดิฉันจึงได้อ่าน สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน เป็นครั้งแรก  นั่งหัวเราะท้องคัดท้องแข็งอยู่หน้าตู้หนังสือของพี่นั่นเอง

สามเกลอเป็นหนังสือปกอ่อนเล่มบางๆ   หน้าปกฝีมือวาดของคุณอาภรณ์ อินทรปาลิต  น้องชายคุณป.อินทรปาลิต



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ก.ค. 10, 18:53 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 22:57

ตัวอย่างปกหนังสือสามเกลอที่เอามาให้ดู   เนื้อเรื่องไม่โป๊นะคะ    แต่ปกน่าหวาดเสียวไปหน่อยสำหรับเด็กประถม   เล่มนี้อ่านตอนโตขึ้นมาอีกหน่อยแล้ว  
เป็นเรื่องตอนที่นวลลออกับประไพ ไปหาหมอเสน่ห์ให้ทำเสน่ห์  แต่ว่าสามเกลอบุกเข้าไปช่วยทัน   เป็นเรื่องที่คุณป. เขียนเตือนสติผู้หญิงว่าอย่าหลงเชื่อหมอเสน่ห์    พวกนี้หลอกลวง
ไปเจอรูปในกูเกิ้ลก็เลยเอามาลง   ให้ดูฝีมือวาดของคุณอาภรณ์   ซึ่งวาดผู้หญิงได้เซกซี่มาก

หลังจากอ่านสามเกลอที่บ้านของครู  ก็หลงฝีมือคุณป.อินทรปาลิต     ปีต่อมา   ไปพบหนังสือขายอยู่ที่ร้านเครื่องเขียนตรงข้ามตลาดวัดมหรรณพ์  ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ
พ่อแม่มักไปจ่ายของที่ตลาด       ลูกสาวเดินเข้าร้านเครื่องเขียนไปดูดินสอยางลบไปตามเรื่อง  เจอหนังสือสามเกลอก็ขอเงินแม่ไปซื้อ
ก็เลยกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของป.อินทรปาลิตตั้งแต่อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ   อ่าน "ซูเปอร์แมนแกละ" ที่เป็นเรื่องยาวติดต่อกันสักร้อยกว่าเล่มได้ละมัง  
จำได้แม้แต่ว่า คุณป. ออกหนังสือพิมพ์เล็กๆ ชื่อ หรรษา   เขียนนิยายลงในนั้น   พาดหัวข่าวนิยายแบบหนังสือพิมพ์  แต่ออกไม่นานก็เลิกไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ก.ค. 10, 18:55 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 06:58

ผมจำไม่ได้จริงๆว่าได้เริ่มอ่านหนังสือ "ต้องห้าม" ไม่ให้เอาไปโรงเรียน(ถ้าเอาไปจะโดนครูริบ)เมื่อไร จำได้แต่ว่าทุกๆต้นเดือนจะคอยไปถามร้านขายหนังสือใกล้บ้านว่า "หนูเล็กลุงโกร่ง" ออกหรือยัง "ตุ๊กตา" ออกหรือยัง ถ้าออกแล้วจะรีบวิ่งมาขอสตางค์แม่ไปซื้อ หนูเล็กลุงโกร่งเล่มละ2.50บาท ตุ๊กตาขนาดปกใหญ่ขึ้นอีกนิดนึง ดูเหมือนว่าจะ3บาท หรือ3.50 ไม่แน่ใจ เป็นหนังสือการ์ตูนทั้งสองเล่ม




บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 07:22

ขอร่วมรำลึกความหลังด้วยคนนะคะ

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ที่บ้านจะมีหนังสือการ์ตูนของ Walt Disney เด็กๆก็ชอบเป็นปกติ เพราะเป็นมีรูปภาพทำให้จินตนาการง่าย

พอเป็นเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย ได้อ่านพล นิกร กิมหงวน หรือสามเกลอ เป็นนิยายไทยเรื่องแรกที่ได้อ่าน และทำให้รักการอ่าน
หนังสือมาตั้งแต่ตอนนั้น ปกติที่บ้านรับ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นประจำ เลยลองอ่านเพชรพระอุมา ปรากฏว่าติดนิยายเรื่องนี้อีก

มาตอนนี้ ชอบอ่านหนังสือแนวย้อนยุคมากเลยค่ะ ชอบประวัติศาสตร์ และชอบนิยายที่เกี่ยวกับเมืองไทยสมัยก่อน อยากให้เมืองไทย
มีบรรยากาศร่มเย็นเหมือนสมัยก่อนทีบรรยายในนิยายน่ะค่ะ... ยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 07:32

ส่วนพลนิกรกิมหงวนนั้น อยู่เต็มลิ้นชักของญาติในบ้านเดียวกัน ตอนแรกๆเห็นหน้าปกก็น่าสนใจดี แต่พลิกๆไปแล้วไม่เห็นมีการ์ตูนสักตัวก็ยัดกลับเข้าที่ จำไม่ได้เหมือนกันว่าในที่สุดแล้วได้เริ่มต้นหยิบมาอ่านเมื่อไหร่ พออ่านเล่มแรกได้ก็ติดเลย วันหนึ่งแม่เห็นเข้าก็ถามว่าอ่านอะไร ผมก็บอกว่าพลนิกรกิมหงวน แม่บอกว่าไม่อยากให้อ่านเลย มีแต่เรื่องหยาบโลนกับเที่ยวผู้หญิง ผมก็งงๆว่าแม่พูดถึงเรื่องอะไร แต่กลัวโดนริบเลยต้องแอบๆอ่าน

อ่านเยอะๆหลายเล่มเข้าก็ได้รู้จักเจ๊หนอมของสามเกลอ วันไหนนั่งรถผ่านเข้าไปในซอยกลาง(บางกะปิ) จะคอยมองซ้ายมองขวา บ้านไหนหวาจะเข้าข่ายเป็นซ่องชั้นสูงของเจ๊หนอม อยากรู้อยากเห็นบรรดาลูกสาวของเจ๊แกว่าจะเป็นยังไง อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่า ที่ผมอ่านหนังสือแตก และเริ่มต้นนิสัยรักการอ่านจนกลายเป็นหนอนตัวเล็กๆประจำห้องสมุดโรงเรียนไปได้ ก็เพราะพลนิกรกิมหงวนของป.อินทปาลิตนี่แหละครับ มีบุญคุณต่อผมมาก



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 09:05

ดีใจที่มาเจอแฟนหนังสือตุ๊กตาเข้าอีกคนค่ะ     เคยท้อใจว่าในเน็ตคงหาคนจำการ์ตูนชุดนี้ไม่ได้    เจอแต่คนที่ชอบการ์ตูนขายหัวเราะ  ถือว่าย้อนหลังไปมากที่สุดแล้ว
เจ้าของการ์ตูนตุ๊กตา เป็นผู้ชายชื่อคุณพิมล กาฬสีห์   เอาลูกๆมาเป็นแม่แบบในการสร้างเด็กน้อยตัวนำในหนังสือ   ชื่อหนูนิด หนูไก่ หนูหน่อยและหนูแจ๋ว
บ้านคุณพิมลอยู่สุขุมวิทแถวซอยทองหล่อหรือไม่ก็ไปดีมาดี  ถือว่าสุดเขตเมืองแล้วในยุคนั้น   พอพ้นสะพานพระโขนงไปก็เป็นทุ่งนา
คุณพิมลเคยเป็นพิธีกรในรายการเกมโชว์ทางช่อง ๔ วิกบางขุนพรหมด้วย

ส่วนหนูเล็กลุงโกร่งของคุณ อดิเรก  เป็นการ์ตูนผจญภัยสำหรับเด็กผู้ชาย
สนุก และสะอาด ไม่มีเนื้อหารุนแรง   
มาเดาได้ทีหลังว่ารูปโฉมลุงโกร่งน่าจะมาจากตัวการ์ตูน กุฟฟี่ ของดิสนีย์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 09:24

คุณเทาชมพูจำตัวการ์ตูนที่ชื่อ ลูกบอมบ์ ได้หรือเปล่า                      




ปัจจุบัน ลูกบอมบ์ คือ น.พ.มณฑล กาฬสีห์ เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนตุ๊กตา




http://www.oknation.net/blog/print.php?id=376416

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 09:41

ย้อนกลับไปนึกก็น่าแปลกที่แม่ไม่ห้ามอ่านพล นิกร กิมหงวน ทั้งที่สามเกลอก็ทะลึ่งตึงตัง  แถมยังเที่ยวเตร่แบบผู้ชาย
อาจเป็นเพราะแม่รู้ว่าลูกสาวอ่านเจอก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร   อย่างชื่อเจ๊หนอม อ่านผ่านตาไปโดยไม่สนใจเลย   มานึกได้ตอนคุณนวรัตนเท้าความถึงนี่เอง
ไปอ่านรู้เรื่องก็ตรงอารมณ์ขันของสามเกลอ อย่างเช่นนิกรชอบร้องลิเก กระดิ่งทอง     หรือดร.ดิเรกชอบอ้างชื่อมหาราชาชื่อประหลาดๆ    อ่านแล้ว หัวเราะกลิ้งไปกลิ้งมา

ป.อินทรปาลิตเป็นนักเขียนที่เขียนได้สารพัดแนว    สมองของท่านเหมือนคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมหลากหลาย    โปรแกรมตลก โปรแกรมเศร้าเคล้าน้ำตา   โปรแกรมรักหวานจ๋อย  โปรแกรมบุ๊ดุเดือด ฯลฯ
เชื่อว่าคุณนวรัตนคงเคยอ่าน เสือใบ  เสือดำ ของป.อินทรปาลิต   ที่รัฐบาลหรือใครสมัยนั้นที่ใหญ่มากๆ ออกคำเตือนว่าอย่าเขียนให้อ้ายเสือเป็นพระเอก  
เสือใบกับเสือดำเป็นสุภาพบุรุษจอมโจร   ปล้นคนรวยให้คนจน  ฆ่าคนเลวที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง     เสือใบเป็นไงจำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าชื่อเรวัต  ส่วนเสือดำนั้นรูปหล่อ สวมเชิ้ตดำ สวมหมวกคาวบอยสีดำ   ชื่อระพินทร์
ตอนจบถูกตำรวจยิงตายทั้งคู่

นิยายของคุณป. ที่เป็นหลายเล่มต่อๆกันมีอีกมาก  เรื่องบู๊อีกเรื่องชื่อนางแมวป่า  นางเอกเป็นโจรสาวแสนสวยชื่อวนิดา  
เธอเป็นสาวสวยเซกซี่   มีพระเอกหลายคน  ตอนจบเป็นไงจำไม่ได้อีกเหมือนกันจำได้แต่ว่านางเอกปล้นเป็นว่าเล่น  ใจถึงและเด็ดขาดเสียด้วย
เรื่องยังกะบอนนี่แอนด์ไคลด์

ถ้าใครเรียนในร.ร.คริสต์  คงเคยอ่านหนังสือพิมพ์สำหรับเด็ก ชื่อ กองหน้าร่าเริง กับ วีรธรรม  
มีเรื่องสั้น เรื่องแปล ความรู้รอบตัว สนุกๆ ให้อ่านกัน  เหมาะกับเยาวชน

พอจบ ป. ๔ ขึ้นมัธยม ๑    ดิฉันก็หัดอ่านนวนิยาย ตามที่แม่อ่าน    ในตอนนั้นมีนิตยสารสำหรับครอบครัวอยู่ ๓ เล่มที่แม่ซื้อประจำ  คือศรีสัปดาห์  สตรีสาร และเดลิเมล์วันจันทร์
ส่วนอีกเล่ม เจ้าของเขารู้จักพ่อเลยส่งให้อ่านฟรี  ชื่อ แสนสุข รายสัปดาห์
ในนิตยสารแสนสุขนี้เอง   ที่อ่านเรื่องแรกของ ก.ศยามานนท์  เธอเป็นนักเขียนสตรียอดฮิท    เรื่องนั้นชื่อ ราชินีในดวงใจ   นางเอกชื่อจันทรกานต์ เป็นสาวนักเรียนนอก สวยหวาน จนได้สมญาว่า Queen of heart
พระเอกเป็นม.ร.ว.หนุ่มเพื่อนบ้าน  หล่อ รวย ผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว
อดีตคนรถบ้านพระเอกถูกไล่ออกแล้วมาสมัครเป็นคนขับรถบ้านนางเอก   กระซิบบอกนางเอกว่า พระเอกฆ่าน้องสาวตัวเองตายเพราะรังเกียจที่น้องสาวไปทำอะไรสักอย่างที่ไม่สมศักดิ์ศรีวงตระกูล
นางเอกเลยเกลียดพระเอก   พระเอกดียังไงก็ไม่ยอมดีตอบ    จนมารู้ทีหลังเมื่อคนรถลวงไปต่างจังหวัดเพื่อจะรวบหัวรวบหางเอาเป็นเมีย  ว่าคนรถน่ะแหละฆ่าน้องสาวพระเอกเสียเอง  เพราะหลงรักข้างเดียว เธอไม่เล่นด้วย
พระเอกก็มาช่วยไว้ทัน  จบแฮปปี้เอนดิ้งตามระเบียบ

อ่านแล้ว ไม่ชอบนางเอกเลย ว่าทำไมเธออุตส่าห์ร่ำเรียนสูงจากเมืองนอก  จึงโง่ได้ขนาดนั้น    เครดิตพระเอกกับเครดิตคำบอกเล่าของคนขับรถมันต่างกันลิบลับ
เธอแยกแยะไม่ออกเอาจริงๆหรือ   ว่าใครบอกอะไรไม่จำเป็นต้องจริง  เขาโกหกก็ได้
ก็เพราะทนนางเอกไม่ได้  นิยายเรื่องแรกในชีวิตของเด็กหญิง  ว.วินิจฉัยกุลจึงเกิดขึ้น  ด้วยการแต่งตอนจบของนิยายเรื่องนี้เสียใหม่  
ให้คุณจันทรกานต์ตกกระป๋องไป    มีนางเอกใหม่ที่ฉลาดกว่า เข้ามาคว้าพระเอกไปแทน
เขียนใส่สมุดไว้ด้วยตัวดินสอ  เฉพาะตอนจบของเรื่อง  เสียดายหายไปนานแล้ว ไม่ได้เก็บไว้

เรื่องของก.ศยามานนท์ที่ชอบมากและชอบมาจนเดี๋ยวนี้คือ เรื่องชุดสำหรับเด็ก ชื่อจ้อนกับแดง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 09:50

คุณเทาชมพูจำตัวการ์ตูนที่ชื่อ ลูกบอมบ์ ได้หรือเปล่า                      



ปัจจุบัน ลูกบอมบ์ คือ น.พ.มณฑล กาฬสีห์ เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนตุ๊กตา

อัศจรรย์ใจมาก  เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อลูกบอมป์   ไม่รู้ว่าเป็นการ์ตูนตัวไหน
เพราะการ์ตูนตุ๊กตาที่ดิฉันอ่าน  แน่ใจว่าไม่มีตัวการ์ตูนตัวนี้     หนูนิดเป็นพี่ชายคนโต  หนูไก่รองลงมา หนูหน่อยเป็นคนที่สามและหนูแจ๋วเป็นน้องเล็กสุด 
หนูนิดชื่อพจนาถ  หนูไก่ชื่อพิมพ์พิมล   หนูหน่อยชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว  หนูแจ๋วชื่อแดงเล็ก
เพิ่งรู้ว่ามีลูกบอมป์ด้วย  คงจะเขียนขึ้นในยุคหลังที่ดิฉันเลิกอ่านการ์ตูนแล้ว

จำได้แต่ว่าการ์ตูนตุ๊กตาที่ดิฉันอ่านในยุคหลัง  หนูไก่เป็นคนตอบจดหมายคนอ่าน  เธอเล่าว่าตอนนั้นเธออายุประมาณ ๓๐ แล้ว
พี่น้องจริงๆมี ๓ คนคือพี่คนโตชื่อตุ๊กตา ไม่มีตัวตนในหนังสือ คุณพ่อเอาชื่อมาเป็นนามปากกา   แล้วก็ถึงตัวเธอ  กับน้องอีกคน   ส่วนหนูนิดกับหนูแจ๋วเป็นตัวสมมุติ
บันทึกการเข้า
ponl
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 10:15

จำได้ว่าผมเริ่มอ่านจากหนังสือการ์ตูนย์เล่มละบาทก่อนตอนอยู่ป. 1 นิยายเรื่องแรกที่อ่านจนจบคือ อยู่กับก๋ง ตอนนั้นเรียนอยู่ป. 6 เป็นหนังสือนอกเวลาของพี่ชายครับ
เรื่องพล นิกร กิมหงวน นีมาอ่านครั้งแรกตอนอยู่ ม.1 สนุกมาก แอบเอาเข้าไปอ่านในห้องเรียนวิชาภาษาไทย
โดยเอาหนังสือภาษาไทยบังหน้าอ่านไปหัวเราะไปแต่ไม่โดนริบนะครับ  จำได้ว่าตอนนั้นขำสำนวนเจ้าแห้วมาก หัวเราะกับเจ้าคุณปัจจนึก ที่โดนล้อเรื่องหัวล้าน  ลูกมะอึกเป็นยังไงก็ไม่รู้จักแต่ก็ขำ (จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เคยเห็นลูกมะอึกว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร  ทำไมถึงเอามาล้อท่านเจ้าคุณให้เคืองได้)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 10:17

จ้อนกับแดง ลงเป็นตอนในนิตยสารชาวกรุง  ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่พ่ออ่าน    เนื้อหาสาระในส่วนอื่นๆค่อนข้างหนัก สำหรับกลุ่มคนอ่านผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว   ลูกสาวอ่านไม่รู้เรื่อง
แต่มีจ้อนกับแดง ที่ลูกสาวพ่อได้อ่าน แล้วติดตั้งแต่ตอนแรก   ชื่อ "เหตุเพราะน้องแดง"
แล้วก็มีตอนต่อๆมา ตามมาอีก    เป็นชีวิตเด็กชายอายุราวสิบขวบสองคน ในบ้านที่อบอุ่น  ในกรุงเทพแถวสุขุมวิท(สมัยนั้นเรียกว่าบางกะปิ)  
คนเล่าเรื่องที่ใช้คำว่า "ผม" คือจ้อน ลูกคนโต  เป็นเด็กผู้ชายแข็งแกร่งและซุกซน  ช่างพูดช่างบรรยาย   ส่วนน้องชายคือ "แดง " เป็นเด็กหน้าตาน่ารัก สุขุม ใจดีมีน้ำใจ
บางตอน เศร้าจนไม่อยากอ่านซ้ำ   เช่น ตะเกียบเจ๊กชุน  เรื่องของเด็กกำพร้าในร.ร.    เรื่องของอังเคิลกุสตาฟ และเด็กชายกำพร้าที่จบลงด้วยความตายของเด็กน้อย
คุณก. สร้างจ้อนกับแดงจากลูกชายเล็กๆ ๒ คนของเธอเอง     อายุเขาสองคนแก่กว่าดิฉันนิดหน่อย   เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเจอตัว   ทราบแต่ว่าปัจจุบันอยู่ในออสเตรเลีย
ชีวิตของจ้อนกับแดงอ่านตอนดิฉันอายุ ๑๐ กว่าขวบก็สนุกสนาน อยากจะติดตามเข้าไปในหนังสือด้วย     แต่ไม่ได้คิดอะไรมาก   มาอ่านอีกทีตอนเป็นผู้ใหญ่ถึงรู้สึกว่าชีวิตเขาไฮโซเอาการ
เป็นเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ฐานะดีทีเดียว แม้ว่าไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ก็รู้     พ่อทำธุรกิจเป็นเอเย่นต์สินค้าหลายอย่าง  แม่เป็นแม่บ้าน    เพื่อนบ้านที่เข้าๆออกๆ เป็นตัวประกอบ เป็นชาวต่างชาติ เช่นจีน(จากฮ่องกงหรือไต้หวันก็ไม่ทราบ) และเยอรมัน    
บ้านของจ้อนกับแดงเป็นตึกเล็กๆสีขาวหม่นมีสนามให้วิ่งเล่น  มีสระน้ำที่ปลูกสตรอเบอรี่เลื้อย   มีเทอเรซที่มีซุ้มองุ่น   คุณแม่ปลูกกุหลาบหลากสีที่สนาม
ในยุคที่บ้านทั่วไปในกรุงเทพ  ยังเป็นบ้านไม้   ส่วนใหญ่อยู่ในตรอกที่มีสะพานไม้กระดาน พาดให้เดินผ่านไปตามหน้าบ้านแต่ละบ้าน
จ้อนกับแดงตอนเด็กๆ  แต่งชุดคาวบอย  ที่ไปสั่งตัดให้มีที่สอดมีดพกโบวี่  คาดเข็มขัดปืน ด้วย     เท่ขนาดไหนคิดดู
เด็กกรุงเทพทั่วไปยังนุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียววิ่งปุเลงๆหลังเลิกเรียนอยู่เลย

ถึงฤดูร้อน จ้อนกับแดงได้ไปเที่ยวบางแสน หัวหิน ศรีราชา ระยอง    โอย สมัยนั้นมันไฮโซพอกับพาลูกไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง หรือโตเกียว ทีเดียวเชียว
แต่จ้อนกับแดงก็เป็นเด็กน่ารัก มีน้ำใจ สุภาพ ทำอะไรน่าเอ็นดูหลายอย่าง   ไม่ใช่เด็กหยิ่งยโส หรือบ้าวัตถุไม่ลืมหูลืมตา     เป็นเด็กดีที่เกิดมาโชคดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 10:29

จ้อนกับแดงมีน้องสาวบุญธรรม ชื่อน้อยโหน่ง  เป็นเด็กหญิงหน้าตาน่ารัก แต่แก่แดด ช่างสอนช่างเจรจา    น้อยโหน่งเดินหลงทางเข้ามาในบ้าน    พ่อแม่เธอเป็นเพื่อนของแม่ของจ้อนและแดง   อยู่บ้านซอยถัดไป  พอพ่อน้อยโหน่งต้องไปรับราชการต่างจังหวัด   แม่ก็เลยขอน้อยโหน่งมาอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ตัวละครประจำอีกคนคือมะลิ สาวใช้ผู้เป็นแม่ครัว ดูแลบ้าน เลี้ยงหมา ฯลฯ ทำทุกอย่างสารพัด   ในบ้านมีหมา ๓ ตัวชื่อโจ จิม เจฟ

รสนิยมและกิจกรรมต่างๆในเรื่องค่อนข้างจะออกทางฝรั่งๆ  เช่นกินน้ำชากันตอนบ่าย  กินขนมนมเนยต่างๆ  เครื่องดื่มก็เป็นไวน์มะยม ไวน์ส้มโอ    บ้านคุณตา(ลุงของแม่)ที่จังหวัดประจวบก็เป็นตึกโอ่อ่าประดับบ้านด้วยเครื่องตกแต่งจากยุโรป    เพื่อนฝูงของครอบครัวก็เป็นฝรั่งเสียส่วนมาก
การทักทายก็โอบกอดและจูบกัน    เป็นเรื่องปกติ
แต่เมื่อนึกถึงแบคกราวน์ว่าเรื่องนี้ น่าจะสืบทอดมาจากค่านิยมในสังคมของชนชั้นสูงในกรุงเทพ  ที่รับอิทธิพลอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก  ก็ไม่น่าแปลกใจ
รสนิยมแบบนี้  "ปริศนา" ของ ว.ณ ประมวลมารค ก็แบบเดียวกัน  แทรกปะปนในเนื้อเรื่อง เป็นเนื้อเดียวกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 13:08

ผมได้อ่านจ้อนกับแดงตอนรวมเล่มเป็นปกแข็งเดินทองแล้ว จำได้ว่าชอบมากเหมือนกัน เด็กสองคนนี้มีของเล่นยั่วฝันของเด็กผู้ชายมาก เช่นชุดคาวบอยมีเข็มขัดปืนคู่ สมัยนั้นหนังแนวบู้มีแต่หนังคาวบอยกับอินเดียนแดง เด็กๆก็ชื่นชอบตัวพวกนี้เหมือนเด็กสมัยลูกผมชื่นชอบหุ่นยนต์ญี่ปุ่นประเภทยอดมนุษย์ ไม่ทราบเด็กสมัยนี้เขาคลั่งไคล้ตัวอะไร ส่วนผมชอบเล่นเป็นอินเดียนแดงเพราะหาเครื่องแต่งตัวง่าย แค่ถอดเสื้อเอาผ้าพันคอของแม่มาโพกหัว เด็ดใบมะม่วงมาปักเป็นขนนกก็ออกรบกับพวกญาติๆเขาได้แล้ว อาวุธใช้ลูกกระดาษยิงด้วยหนังสติ๊ก สุดท้ายพวกอินเดียนแดงก็แตกกระเจิงก่อนเพราะหลวมตัวไปถอดเสื้อ โดนลูกกระดาษทีก็ร้องจ๊าก พวกคาวบอยใส่เสื้อ โดนยิงทีแค่แยกเขี้ยวเฉยๆ ตอนหลังๆนี่ผู้ใหญ่ห้ามขาดไม่ให้เล่นยิงลูกกระดาษ กลัวพวกเราจะตาบอด ใครเล่นจะโดนไม้เรียว เจ็บกว่าลูกกระดาษเยอะ สงครามระหว่างอินเดียนแดงกับคาวบอยในบ้านผมจึงยุติลงได้

แต่ผู้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่า หลังจากเลิกเล่นคาวบอยกับอินเดียนแดง ญาติผมก็ชวนไปเล่นทหารพลร่ม เอาผ้าปูที่นอนมาผูกปลายด้วยเชือก แล้วปีนต้นมะม่วงขึ้นไปบนหลังคา เอาปลายเชือกอีกด้านหนึ่งมาพันตัวไว้ใต้รักแร้ ตั้งท่าจะกระโดดลงมาอยู่แล้ว ตาคำคนสวนเห็นเข้าออกมาชี้โบ้ชี้เบ้โวยวาย เสียฤกษ์หมดเลยเลิกกระโดด ตอนขากลับขณะปีนต้นมะม่วงลงมา คิดได้เองว่าเล่นกระโดดร่มนี่ท่ามันจะไม่รุ่งเท่าไหร่ เพราะต้องปีนต้องไต่สูงไปหน่อย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 13:46

ถามคนใกล้ตัวว่าตอนเล็กๆอายุสักสิบขวบ คุณแต่งตัวยังไง   คืออยากรู้ว่าเขามีชุดคาวบอยอย่างจ้อนกับแดงไหม    เขาบอกว่า ไม่มี   ยังกะมันหาได้ง่ายๆงั้นนี่
ตอนเล็กๆผมก็นุ่งขาสั้น  ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว     แฟชั่นเสื้อเด็กผู้ชายที่จำได้คือเสื้อฮาวายลายหนังสือพิมพ์   ใส่ไปดูหนังกับพ่อแม่   
ส่วนยีนส์แบบคาวบอย ต้องรอเป็นหนุ่มวัยรุ่นก่อนถึงจะมี
จ้อนกับแดง น่าจะเป็นชีวิตในฝันของเด็กผู้ชายจริงๆ    เหมือนหนูน้อยโหน่งเองก็แต่งตัวเหมือนบาร์บี้รุ่นจิ๋วเลยเชียว  เวลาไปเที่ยวประจวบ 
เธอมีผ้าคลุมผมมีแก๊ปเป็นกระบังหน้า สั่งจากอเมริกา  เกิดมาไม่เคยเห็นผ้าคลุมผมแบบนี้  เลยจำได้แม่นยำจากหนังสือ

แฟชั่นโดดร่มของคุณนวรัตน  คล้ายลูกสาวคนเล็กของดิฉัน  ตอนอายุ ๔ ขวบ เอาสายม่านมาพันคอแล้วโดดทิ้งตัวลงมาจากที่นอน    ดีที่พี่เลี้ยงโผล่ไปเห็นเข้าก่อน ร้องลั่นให้หยุดเสียทัน    ไม่งั้นป่านนี้คงเหลือลูกคนเดียว

สมัยดิฉัน  การ์ตูนต่างชาติที่ชื่นชอบมากมีของวอลท์ ดิสนีย์เจ้าเดียว      การ์ตูนญี่ปุ่นยังไม่เกิด      ร้านหนังสือที่ขายหนังสือเล่มของดิสนีย์ จากอเมริกา คือผดุงศึกษา วังบูรพา  เป็นนิทานประกอบภาพสีสวย เล่มใหญ่ มีทั้งซินเดอเรลลา สโนไวท์ ปีเตอร์แพน ฯลฯ
อ่านเสียจนขาดวิ่นหมดอายุ       ไม่รู้จะหาที่ไหนมาแทน   สามสี่ปีก่อนระหว่างรอทรานสิทที่สนามบินซีแอตเติ้ล  ไปเจอซินเดอเรลลาเจ้าเดิม พิมพ์ใหม่ขนาดย่อลงเหลือนิดเดียวเท่าสมุดไดอารี่  เลยรีบซื้อมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก
อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในห้องหนังสือของบ้าน

ผดุงศึกษา วังบูรพา  พิมพ์หนังสือแปลของอ.สนิทวงศ์   เธอแปลพวกเทพนิยาย และ วรรณกรรมเด็กบันลือโลก เช่น Heidi , Rebecca of Sunnybrook Farm, Beautiful Joe, Little Women, Jo's Boys
ฝีมือแปล ราบรื่นและเรียบร้อย อ่านเพลิน
เพราะอ่านหนังสือแปลตั้งแต่เด็ก    ก็เป็นเหตุให้หัดแปลหนังสือในเวลาต่อมา     และที่ดีอีกอย่างคือไม่เกลียดไม่กลัวหนังสือแปล
ประโยคหลังนี้ต้องอธิบายหน่อยว่าหมายถึงอะไร

ย้อนหลังไปสมัยกึ่งศตวรรษก่อน   หนังสือแปลไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเดี๋ยวนี้    คนอ่านมีน้อยมาก  เรียกได้ว่าหยิบมือเดียว 
นักอ่านส่วนใหญ่ชอบอ่านเรื่องไทยๆ    ถ้าต้องเลือกอ่านระหว่าหนังสือแปล กับเรื่องไทย  ก็มักจะมองข้ามเรื่องแปลไปหยิบเรื่องไทยอ่านดีกว่า   ไม่ชอบรสนมรสเนย   นี่หมายถึงคนอ่านทั่วๆไปนะคะ
เพราะเหตุนี้  นักเขียนไทยถ้าเจอเรื่องแปลสนุกๆ จึงต้องขัดเกลาให้หมดกลิ่นนมรสเนย   เติมเครื่องแกงและน้ำปลาพริกเข้าไป   บางท่านก็ทำได้เก่งมากคือหมดกลิ่นรสฟิชแอนด์ชิป    กลายเป็นแกงเขียวหวานเนื้อได้เนียนสนิท
คนอ่านรุ่นปัจจุบันไม่เข้าใจ    ก็กล่าวหาว่านักเขียนไทยละเมิดลิขสิทธิ์เรื่องฝรั่งบ้าง   ไปลอกเขามาดัดแปลงแล้วไม่บอกที่มาบ้าง   ฯลฯ   ความจริงแล้ว บริบทของสังคมสมัยนั้นคืออะไรที่ไม่มีรสชาติไทย จะขายได้ยาก คนไม่ชอบเสพกัน  แต่ถ้าทำเป็นไทยๆแล้ว จะบริโภคได้สนิทใจ
ตอนนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นยังไง  คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก     ถ้ามันมี เพราะเราเป็นภาคีของสนธิสัญญาเบิร์นส์มาแต่สมัยไหนก็ไม่รู้    มันก็ไม่มีผลทางปฏิบัติอยู่ดี
เราจึงมีไผ่แดง ที่ได้เค้าจาก The Little World of Don Camillo   มีหลายชีวิต ที่เขาว่าเหมือน The Bridge of San Luis  Rey  และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเรื่อง     ไม่ใช่ว่าท่านผู้เขียนท่านคิดเองไม่เป็น  แต่ท่านอยากให้อ่านของฝรั่งที่ต้องปรุงรสเป็นไทยเสียก่อน

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง