เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 18035 จลาจลสมัยปลายธนบุรี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 ก.พ. 01, 03:10

ยกขึ้นเป็นกระทู้ใหม่  ต่อจากกระทู้เก่าค่ะ

href='http://vcharkarn.com/snippets/board/show_message.php?dtn=dtn5&number=327'
target='_blank'>http://vcharkarn.com/snippets/board/show_message.php?dtn=dtn5&number=327
/>


การจลาจลปลายกรุงธนบุรี  พระยาสรรค์เป็นตัวชูโรงอันดับแรก
/>


เริ่มต้นการจลาจลอยู่ที่พระยาวิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่า
ได้สัมปทานการขุดทรัพย์สินที่อยุธยา
/>
ก่อนกรุงแตกชาวอยุธยาฝังทรัพย์สินเงินทองของตนลงดินไว้แล้วแยกย้ายกันหนี  
หนีไปได้ก็มี ตายกันไปก็มาก   พอถึงสมัยธนบุรี
จึงเกิดการตามล่าหาขุมทรัพย์ในอยุธยากันใหญ่
เป็นเหตุให้พระยาวิชิตณรงค์เกิดไอเดียขอสัมปทานผูกขาดการขุดไว้คนเดียว  
โดยถวายค่าสัมปทานแก่พระเจ้าตากปีละ ๕๐๐ ชั่ง
/>
ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพระยาวิชิตณรงค์ไม่ได้ขุดอย่างเดียว
แต่ไปรีดนาทาเร้นเอาจากราษฎรชาวอยุธยาด้วย  จะเพื่อให้คุ้มหรือไงไม่รู้ละ
ราษฎรก็เลยลุกฮือขึ้น



แต่ถ้าไม่เชื่อพงศาวดาร  
เอาแต่เนื้อล้วนๆมาก็บอกได้เพียงว่า  ในตอนปลายธนบุรี   เกิดจลาจลที่อยุธยา
ชาวบ้านฮือกันเข้าไปปล้นเผาบ้านพระยาวิชิตณรงค์เจ้าเมือง  
ฆ่าตายกันเรียบทั้งลูกเมีย    



พระเจ้าตากก็ให้พระยาสรรค์
ขุนนางธนบุรีไปปราบ   ทีนี้หัวหน้าพวกปล้นนั้นชื่อขุนแก้วเป็นน้องพระยาสรรค์เอง
   แทนที่พี่ชายไปปราบน้องจะยอมโดยดีเพราะเกรงพี่  
ก็กลับเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้เข้าเป็นพวกแล้วยกพวกมาถึงธนบุรี


/>
ธนบุรีนั้นเข้าง่ายดายจริงๆ  พระยาสรรค์พาพวกบุกเข้ามาล้อมวังได้สำเร็จ  
ไม่รู้ว่าทหารรักษาเมืองไปไหนกันหมด  
/>
ทหารที่ป้องกันพระเจ้าตากเหลือเพียงทหารฝรั่งล้อมวังและทหารราชองครักษ์ซึ่งเป็นพวกนับถือคริสตศาสนา
    พวกนี้สู้เต็มที่แต่กำลังน้อย  
พระเจ้าตากก็เสด็จไปที่คุกปล่อยนักโทษออกมาสู้  
แต่สู้ฝ่ายพระยาสรรค์เพียงคืนเดียวพระองค์ก็กลับใจไม่สู้


/>
จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีเล่าเอาไว้น่าวิเคราะห์มากว่า  
การสู้รบกันครั้งนี้  " ผู้คนบางเบาร่วงโรยนัก" หมายถึงว่าทางธนบุรี
กำลังฝ่ายพระเจ้าตากไม่มีเลย



การกบฎครั้งนี้แปลกมาก  
เพราะฝ่ายพระเจ้าตากมีทหารเก่งๆหลายคน  คือพระยาธิเบศร์ พระยารามัญ
พระยาอำมาตย์ พวกนี้สู้ตายลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมมายิงจนข้าศึกถอยหนี  
แต่แทนที่พระเจ้าตากจะตีพระยาสรรค์ให้แตกอย่างที่เคยทำกับข้าศึกมานับครั้งไม่ถ้วน
กลับบอกว่า



"….เสด็จกลับออกไปรับสั่งห้ามว่า  
สิ้นบุญพ่อแล้ว  อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย  พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์
มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าข้าวแดง"


/>
คือห้ามทหารพวกนั้นไม่ให้สู้ตายเพราะเห็นแก่พระคุณเจ้านาย    ทรงถือว่า
"สิ้นบุญท่านแล้วก็อย่าให้ทหารลำบากต้องมาตายแทน"


/>
การที่ทรงตัดสินพระทัยเช่นนี้ ก็ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่า
พระเจ้าตากมิได้เสียพระจริต  ตรงกันข้ามทรงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  
และยังมีพระกรุณาต่อข้าแผ่นดินด้วยดีเหมือนเดิม  
แต่บางคนก็ลงความเห็นว่า..เป็นเพราะทรงรู้ว่าอำนาจของพระองค์จบสิ้นลง
ไม่เข้มแข็งได้เหมือนเดิม


/>
พระยาสรรค์เมื่อชนะแล้วก็ไม่ได้ทำอันตราย
แต่ให้นิมนต์พระราชาคณะมาบรรพชาพระเจ้าตาก    
เรียกว่าบวชให้พ้นทางโลกไปเสีย

เรื่องนี้
พระเจ้าตากพอพระทัยมากที่ได้บวช  มิได้เสียดายราชสมบัติ



"
ทรงพระสรวล  ตบพระเพลา ว่า เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว…อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี ๔
เดือน ทรงผนวช"



คำว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" แปลว่า
การได้บวชโดยง่ายดายไม่มีพิธีรีตองอะไร  
เป็นสิ่งที่ทรงพระประสงค์อย่างยิ่ง


/>
พระยาสรรค์หัวหน้าคณะรัฐประหารได้อำนาจมาง่ายดายเกินคาด
ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น   เพราะในธนบุรีตอนนั้น ว่างคน

 
แม่ทัพสำคัญๆคือเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ไปทำศึกอยู่ข้างนอก  
พระยาพิชัยไปเป็นเจ้าเมือง  
กรมหมื่นอินทรพิทักษ์พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ก็ไม่อยู่ ไปเขมร  
เหลือแต่หลานชายคือกรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระยาสรรค์ก็จับตัวไว้ได้  
แล้วครองอำนาจอยู่ในธนบุรี
/>
พงศาวดารบอกว่าพระยาสรรค์กล่อมกรมขุนอนุรักษ์สงครามเป็นพวก  
รวมทั้งพระยาทั้งหลายที่เคยเป็นฝ่ายพระยาเจ้าตากด้วย


/>
เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ข่าวว่าธนบุรีเกิดเหตุร้าย
ก็ส่งหลานชายคือพระยาสุริยอภัยให้กลับมาโดยด่วน เข้าเมืองได้
(แต่บางแห่งบอกว่าพระยาสุริยอภัยอยู่ในกรุงธนไม่ได้ไปไหน)
แต่จะเป็นอย่างไหนก็ตาม
แน่ๆคือมีการปะทะกันในธนบุรีระหว่างฝ่ายธนบุรีและพระยาสุริยอภัย
/>
หัวหน้าฝ่ายพระยาสรรค์ คือกรมขุนอนุรักษ์สงคราม


/>
ถึงตอนนี้ต้องขอแทรกบทบาทผู้หญิงเก่งเอาไว้คนหนึ่ง คือเจ้าศิริรจจา
ภรรยาเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นน้องสาวเจ้าเจ็ดตนของทางเหนือ   สามีไม่อยู่
ตัวเองสามารถคุมทหารมอญออกรบ ช่วยพระยาสุริยอภัยสู้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม
/>
กรมขุนอนุรักษ์สงครามแพ้  พระยาสุริยอภัยก็คุมกำลังในเมืองเอาไว้ได้  
ส่วนพระยาสรรค์อ่อนน้อมบอกว่าไม่มีเจตนากบฎ เป็นเรื่องของกรมขุนอนุรักษ์สงคราม
ตัวเองตั้งใจจะรักษาเมืองไว้มอบให้เจ้าพระยาจักรี


/>
ถ้าหากว่าเราไม่เชื่อพงศาวดาร มองกันแต่เหตุการณ์ ก็จะเห็นว่า
การปะทะในตอนแรก เกิดจากฝ่ายพระยาสรรค์รบกับพระเจ้าตาก
กรมขุนอนุรักษ์สงครามอยู่ฝ่ายพระเจ้าตาก   ฝ่ายแรกชนะ  
พระเจ้าตากยอมแพ้แล้วผนวช

ต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ  
ถ้าหากว่าพระยาสรรค์ไม่รู้เห็นกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามจริงๆ  
ก็แปลว่ามีการปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงครามเป็นอิสระ
คุมกำลังทางทหารมารบกับพระยาสุริยอภัยได้  
โดยไม่ได้ปราบพระยาสรรค์เสียก่อน
/>
กลายเป็นศึกระหว่างหลานพระเจ้าตากกับหลานของเจ้าพระยาจักรีเสียแทน  
ฝ่ายหลานชายเจ้าพระยาจักรี ชนะ
/>
ส่วนพระยาสรรค์กลับบอกว่าเข้าข้างเจ้าพระยาจักรี  ที่ทำรัฐประหารมา  
ไม่ได้เพื่อตัวเอง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.พ. 01, 18:31

ขอตั้งข้อสังเกตดังนี้
1.กำลังทหารในกรุงธนบุรี สู้กำลังพระยาสรรค์ไม่ได้ถึงขั้นพระเจ้าตากทรงขอให้เลิกสู้ แสดงว่ากำลังมีน้อยกว่ากันมากหรือเปล่า?
2.พระยาสรรค์คนนี้เป็นบุตรของพระยาสรรค์คนเดิมที่เป็นทหารคนสนิทที่เคยร่วมรบในช่วงการรวบรวมแผ่นดิน แต่พระยาสรรค์คนเดิมก็เสียกำลังที่สะสมไว้ในศึกอะแซหวุ่นกี้ ตัวพระยาสรรค์ผู้ลูกเองก็เพิ่งรับราชการมาไม่กี่ปี จะนำกำลังมากมายจากที่ไหนไปปราบจลาจล
3.ถ้าพระเจ้าตากทรงทราบว่าตัวการก่อจลาจลเป็นน้องชายพระยาสรรค์ น่าจะให้พระยาสรรค์ไปเกลี้ยกล่อมโดยไม่ต้องนำกำลังไปด้วย เพราะการนำกำลังไปใช่ว่าจะช่วยอะไรได้

ถ้าอ่านจากหนังสือของอ.นิธิ จะเห็นว่ากำลังของพระเจ้าตากส่วนมากได้มอบให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกไปปราบจลาจลที่เขมร และกำลังส่วนน้อยที่เหลือไว้รักษากรุงได้มอบให้พระยาสรรค์ไปปราบจลาจล แล้วพระยาสรรค์ได้นำกำลังนั้นมาปฏิวัติ
ผมกลับเห็นว่ากำลังส่วนที่พระยาสรรค์ได้ไปน่าจะเป็นส่วนน้อย กำลังที่ใช้ปฏิวัติน่าจะเป็นกำลังจาก "แหล่งอื่น" ที่เตรียมไว้ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับการปราบจลาจลด้วย กำลังที่พระยาสรรค์นำออกจากกรุงธนบุรีน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อลดทอนกำลังของพระเจ้าตากโดยอ้างเหตุการณ์จลาจลมากกว่า โดยถ้ารวมถึงเหตุการณ์ที่ทัพพระยาสุรยอภัยมาถึงกรุงธนบุรีได้ในเจ็ดวันนับจากมีเหตุ ทั้งๆที่การเกณฑ์กำลังนั้นต้องอาศัยเวลา และเวลานั้นทัพของเจ้าพระยาจักรีที่ไปร่วมปราบเขมรโดยยกไปทางโคราชซึ่งพระยาสุริยอภัยดูแลอยู่กลับไม่เกณฑ์ทหารจากโคราชไปด้วย และทัพของเจ้าพระยาจักรี กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ก็เดินทัพช้ามาก (ยังไปไม่ถึงเขมรทั้งๆที่ทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ถูกญวนล้อมไว้ที่เขมรเรียบร้อยแล้ว) ก็น่าจะสงสัยอย่างที่อ.นิธิตั้งข้อสงสัยไว้
นอกจากนี้ ผมเคยได้อ่านพงศาวดารในสมัยร.๑ก่อนที่จะอ่านหนังสือของอ.นิธิ ก็เคยรู้สึกสงสัยอยู่ว่าร.๑ทรงให้ความช่วยเหลือพวกองเชียงสือในการสงครามแย่งชิงอำนาจในญวนอย่างมากจนแน่แปลกใจ ก็ดูจะสอดคล้องกับสมมติฐานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ก.พ. 01, 22:10

อ่านที่คุณเทาชมพูคัดลอกมาแล้ว
ทำให้สงสัยในหลายประเด็นว่า
เหตุการณ์ มันดูง่ายดายเหลือเกิน สำหรับกษัตริย์นักรบ ที่รบมาตลอดชีวิต แต่กลับพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย
แล้วถ้าพระเจ้าตาก ขอผนวชแล้ว ทำไมถึงยังต้องถูกสำเร็จโทษอยู่ล่ะครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 01:51

การที่กษัตริย์หรือผู้มีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางการเมืองไปผนวชหรือไปบวช ในประวัติศาสตร์ไทยยุคช่วงก่อนนั้นไม่มาก ไม่เป็นทางที่จะทำให้ผู้มีอำนาจวางใจได้เลยครับ

เจ้าพระฝางนั้นตั้งตนขึ้นเป็นผู้นำชุมนุมทั้งเป็นพระนั่นแหละ
พระเจ้าเอกทัศหรือขุนหลวงขี้เรื้อนก็ถูกพระราชบิดาจับผนวช จะได้ไม่กีดขวางการมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอุทุมพร แต่พระเจ้าเอกทัศก็ยังสึกออกมาอ้างสิทธิในราชสมบัติจนได้
ในสมัยอยุธยา การสมคบคิดวางแผนคิดโค่นล้มกษัตริย์ลง ทำได้แม้แต่ในกุฏีพระครับ

ถ้าพูดอย่างที่คุณเทาชมพูเชื่อ (หรือจะพูดอย่างอาจารย์นิธิเชื่อก็ได้ เพราะในที่สุดก็จะเหมือนกัน) พระเจ้าตากสินในขณะนั้นทรงพระสติแปรปรวนไปเสียแล้ว กลับกลายจากวีรกษัตริย์ผู้ทรงพระคุณไปเป็น potential ภัยคุกคามความมั่นคงของพระราชอาณาจักรแล้ว จะให้อยู่ในตำแหน่งไม่ได้ ขุนนางผู้ใหญ่ต้องถอดเสียไม่ให้ร้อนแก่แผ่นดิน (ขนบนี้มีมาแต่กรุงศรีฯ เช่นตอนขุนนางผู้ใหญ่คบคิดกับถอดแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับชู้เป็นต้น) แต่ถอดแล้วให้ท่านเป็นพระก็ไม่ใช่จะแก้ปัญหาได้ ตราบได้ที่ยังคงพระชนม์อยู่ ถึงพระเจ้าตากเองไม่ทรงพระประสงค์ก็อาจจะทรงถูกใช้เป็นเครื่องมือก่อความระส่ำระสายได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ของการรักษาความสงบเรียบร้อยของแผ่นดิน จำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลมครับ
ถ้าพูดอย่าง อ. นิธิฯ ก็ยิ่งชัด ก็กลุ่มขุนนางเก่าจะล้มระบบกรุงธนฟื้นระบบกรุงศรีอยู่แล้ว เมื่อทำสำเร็จ เก็บพระเจ้าตากสินไว้ไม่ได้หรอกครับ ต่อให้ทรงผนวชแล้วก็เถอะ เพื่อให้สิ้นปัญหาในภายหน้า จำเป็นต้องตัดไฟหัวลมเช่นกันครับ
การเมืองครับการเมือง เป็นอย่างนั้นแหละครับ เป็นความจำเป็นทางการเมืองอย่างนั้น

อธิบายเป็นภาษาความเชื่อแบบไทยโบราณว่า "สิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น"  ก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น พระเจ้าตากสินเองก็คงจะทรงตระหนักดีจึงได้รับสั่งว่า " สิ้นบุญพ่อแล้ว..."
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 02:15

แต่อันนี้เราพูดเลยล่วงหน้าเร็วเกินไปหน่อย เรื่องเพิ่งถึงแค่กบฏพระยาสรรค์ แต่ก็ถือว่าคุณพระนายถามน่ะครับเลยฟาสต์ฟอร์เวิร์ดไปหน่อย
คำถามคุณ Crazy Horse ผมเห็นภาพนึกตาม อ.นิธิไปได้อย่างคุณว่าได้เหมือนกัน แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการตีความ ก็ถือว่าช่วยกันตีความคนละแง่ละมุมนะครับ

ผมเห็นว่าเป็นไปได้ทั้งที่คุณว่า (ถ้าใช้ฐานการมองของ อ. นิธิ) แต่ในขณะเดียวถ้าลองเลือกตีความอีกทาง ก็เป็นไปได้ว่า พระเจ้ากรุงธนไม่ทรงทราบว่าผู้นำกบฏเป็นน้องชายพระยาสรรค์เอง จึงได้ทรงมอบกำลังให้ไปปราบ เพราะถ้าทรงทราบ คุณบอกว่าก็น่าจะทรงส่งพี่ให้ไปเกลี้ยกลอมน้องโดยไม่ต้องใช้รี้พล ผมกลับมองว่าถ้าผมต้องตัดสินใจ ผมจะไม่ให้รี้พลไปกับพี่เพื่อไปกล่อมน้องครับ ไว้ใจได้เมื่อไหร่ พี่น้องกันเดี๋ยวก็ไปเข้ากัน (ซึ่งในที่สุดก็ไปเข้ากันจริงๆ) ทหารคนอื่นๆ ก็ยังมีให้ทรงใช้ อย่างน้อยก็ข้าเดิมที่ต่อสู้ป้องกันพระองค์ตอนหลังที่ศึกพระยาสรรค์มาติดกรุงไง ถ้าเราเชื่อสมมติฐานว่า พระเจ้าตากเสียพระสติ หรืออาจไม่ถึงพระสติวิปลาศไปโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้ แต่พระสติอารมณ์แปรปรวนไปบ้างตามที่มีบันทึกไว้ที่คุณเทาชมพูอ้าง ผมก็ขอใช้วิชาจิตวิทยาเบื้องต้นจับว่า มีพระอาการระแวงนิดๆ ครับ ออกๆพารานอยด์ เช่น ระแวงฝรั่งเป็นชู้ ฯลฯ อันนี้ว่ากันตามหลักฐาน แล้วขนาดเราๆ ว่ากันด้วยเหตุผลคนปกติ ยังมีเหตุอันควรสงสัยพระยาสรรค์ได้เลย ว่าไม่ควรสงไปราชการครั้งนี้ พื้นพระอารมณ์ขณะนั้นจะไม่ทรงระแวงหรือ ถ้าทรงทราบว่าส่งพี่ไปปราบน้องยังงั้น
ผมจึงขอสงสัยว่า น่าจะไม่ทรงทราบว่าพระยาสรรค์เป็นพี่ผู้นำกบฎครับ อันนี้ต้องเรียนฝากคุณเทาชมพูตรวจสอบหลักฐานจริงๆในพงศาวดารด้วย

เรื่องพระยาสรรค์ไม่น่ามีรี้พลมากมาย เอามาจากไหน ในเมื่อพระยาสรรค์ไม่มีพลเดิมมาก ผมว่า แล้วแต่พระราชโองการให้ถือพลไปเท่าไหร่ครับ ไม่ใช่บารมีส่วนตัวพระยาสรรค์เอง ในเมื่อเป็นราชการรับสั่งมา
เรื่องกำลังที่เหลือกรุงธนเบาบางก็ใช่ อธิบายได้อย่าง อ. นิธิอธิบาย แต่อธิบายธรรมดาก็ได้ว่า ก็ทหารส่วนใหญ่ไปราชการทัพกับเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์ อีกส่วนถูกแบ่งไปปราบกบฎ ก็เหลือน้อย -เท่านั้น  

แต่เรื่องกำลังอีกส่วนที่ซุ่มอยู่ เป็นกองกำลังนอกแบบ ที่ว่า เป็นอะไรที่พงศาวดารไม่ได้จดไว้นี่ ก็เป็นการคาดคะเนของ อ. นิธินะครับ ผมว่า น่าสนใจตรงที่อาจารย์ใช้ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของตระกูลมาประกอบด้วย คุณ CrazyHorse อ่าน การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธน แล้ว จำได้ใช่ไหมครับตรงนั้น (ตระกูล สุรนันท์?) ผมว่าเป็นหลักฐานที่น่าสนใจดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 09:17

เรื่องส่งพระยาสรรค์ไปปราบขุนแก้วที่อยุธยา มีทางสันนิษฐานได้หลายอย่าง
๑) ไม่ทรงทราบว่าขุนแก้วหัวหน้าจลาจลที่อยุธยาเป็นน้องชายพระยาสรรค์  อย่างคุณนกข.ว่า
๒) ทรงทราบดี  แต่ทรงเชื่อว่าให้พี่ไปปราบน้อง น้องเกรงพี่จะต้องยอมให้จับโดยดี    ไม่เสียรี้พลเหมือนเอาแม่ทัพนายกองคนอื่นไปปราบขุนแก้ว  เพราะตอนนั้นกำลังในเมืองธนบุรีมีน้อยมาก  ถ้าต้องเปลืองไปในการปราบจลาจลก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
อีกอย่างหนึ่ง อาจจะทรงถือว่า จลาจลเริ่มต้นจากความไม่พอใจที่ราษฎรมีต่อพระยาวิชิตณรงค์  ไม่ใช่ว่าเป็นกบฎผีบุญที่ไม่พอใจต่อกษัตริย์  
ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเดือดร้อนของราษฎรโดยตรง   ขุนแก้วเพียงแต่ร้องทุกข์ขึ้นมาในลักษณะรุนแรงเท่านั้น
ถ้าหากว่าพระยาสรรค์ขออาสาว่าจะไปเอาตัวน้องชายมาถวายโดยไม่ให้เปลืองชีวิตไพร่พล  พระเจ้าตากก็อาจเห็นดีด้วย
๓) พระวิจารณญาณผิดพลาด  มองข้ามไปถึงสิ่งที่จะย้อนเป็นภัยแก่ตน เพราะพระสติแปรปรวนไปแล้ว

ดิฉันเชื่อข้อ ๒ ค่ะ  เพราะธรรมเนียมการเอาผู้ใหญ่ที่น่านับถือไปจับตัวผู้น้อยที่ก่อเรื่องร้ายแรง เป็นนโยบายที่ทำกันมาไม่แปลกอะไร  เพราะการเกลี้ยกล่อมให้ประนีประนอมยอมความ เป็นนโยบายอันดับต้นๆของการปราบปราม
 แม้ในมหาดไทยยุคสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็เอาหัวหน้าโจร(ที่มาสวามิภักดิ์) ไปปราม และปราบโจรรุ่นน้องกันมามากมายหลายสิบครั้ง
อ่านเรื่องพระเจ้าตากให้พระยาสรรค์ไปปราบขุนแก้วน้องชาย นึกถึงขุนช้างขุนแผน เมื่อขุนแผนพานางวันทองหนี  ขุนช้างไปถวายฎีกาว่าขุนแผนเป็นกบฎตั้งค่ายระดมรี้พลเป็นภัยแก่แผ่นดิน
พระพันวษาให้ขุนเพชรขุนราม ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นเป็นเพื่อนของขุนแผนไปปราบ และให้จมื่นศรีสรรักษ์ผู้ใหญ่ที่ขุนแผนนับถือคุมไปด้วย
เพราะอะไร?
ก็เพราะขุนแผนจะได้เกรงใจจมื่นศรี ผู้เกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ได้ง่าย   และขุนเพชรขุนรามเป็นเพื่อนกัน ขุนแผนจะได้ทำร้ายไม่ถนัด
แต่ขุนเพชรขุนรามมุทะลุไปด่าขุนแผนเข้าก่อน ก็เลยขัดใจถึงฆ่าฟันกัน   จมื่นศรีเกลี้ยกล่อมไม่สำเร็จ  แผนล้มเพราะคนที่ส่งไปไม่เข้าใจนโยบาย "ปราบด้วยสันติวิธี"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 18:13

คุณ CrazyHOrse ดิฉันไปเปิดหนังสือ "ไทยรบพม่า" ดูเรื่องทัพพระยาสุริยอภัยที่บอกว่ายกมาหลังเกิดจลาจลในธนบุรี ๗ วัน
พบว่า
พระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจ เมื่อค่ำวันเสาร์ เดือนสี่  แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ สู้กันทั้งคืนกับทหารรักษาพระองค์ ตอนเช้าพระเจ้าตากก็ยอมแพ้  เป็นอันว่ายึดได้วันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนสี่
 ส่วนพระยาสุริยอภัยยกทัพจากโคราชมาถึงธนบุรี วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕
ก่อนหน้านี้   เจ้าพระยาจักรีให้พระยาสุริยอภัยตั้งทัพอยู่ที่โคราชเพื่อฟังข่าวคราวทางธนบุรี นับตั้งแต่พระเจ้าตากสั่งเฆี่ยนพระสงฆ์แล้วค่ะ  เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของเมือง
เมื่อเกิดเหตุปะทะระหว่างกรมขุนอนุรักษ์และพระยาสุริยอภัย  เจ้าพระยาจักรีอยู่ที่เมืองเสียมราฐในเขมรค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 04:15

อ่านอันหลังสุดให้เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกจะข้ามตอนสำคัญอีกมั้ยเนี่ย
คุณเทาชมพูบอกว่า เจ้าพระยาจักรีให้พระยาสุริยอภัย คอยฟังข่าวทางกรุงธนบุรีเนื่องจากทราบข่าวพระเจ้าตากเฆี่ยนพระสงฆ์ อย่างนี้แสดงว่า ทางเจ้าพระยาจักรีท่านเตรียมการไว้แล้วหรือเปล่าครับ กะว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างกับ พระเจ้าตากแน่นอน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 08:55

ผมเห็นว่ามันก็เหมือนกับเรื่องเสียกรุงครั้งที่สองแหละครับ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าวางแผนหรือไม่วางแผนกันอย่างไร แต่อยู่ที่ความจริงที่ว่าสมดุลของอำนาจได้เปลี่ยนไปแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 09:00

ในหนังสือ "ไทยรบพม่า " อธิบายไว้อย่างนี้ค่ะ

" การที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทำแก่พระสงฆ์ดังกล่าวมา  เมื่อทราบถึงไหนคนทั้งหลายก็พากันตกใจ  เห็นว่าเกิดวิปริตขึ้นในบ้านเมือง   บางพวกก็โกรธแค้น  บางพวกก็สงสารพระสงฆ์ซึ่งต้องรับพระราชอาขญา  เกิดโกลาหลสะดุ้งสะเทือนกันไปทั่วพระนคร
ครั้นต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีซ้ำมีอาการเกิดทรงระแวงว่าข้าราชการพากันลอบลักพระราชทรัพย์  ให้โบยตีจำจองและบางทีก็เอาตัวผู้ต้องหาขึ้นย่างไฟจะให้รับเป็นสัตย์  แล้วพระราชทานรางวัลแก่ผู้เป็นโจทก์ฟ้องร้อง   ก็เลยเป็นเหตุให้คนพาลแกล้งใส่ความฟ้องผู้อื่นชุกชุมขึ้น  มีคนต้องโทษกักขังเฆี่ยนตี  และที่ถูกประหารชีวิตมากขึ้นทุกที
ข่าวที่วิปริตขึ้นในกรุงธนบุรีเห็นจะทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก   เมื่อราวเดือน ๑๑ หรือเดือน ๑๒  จึงให้รอการที่จะทำสงครามกับญวนไว้  แล้วให้พระยาสุริยอภัยผู้เป็นหลาน กลับมายังเมืองนครราชสีมา   ให้มาคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี   ถ้าเห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดเป็นจลาจลจริง  ก็ให้รีบยกกองทัพเมืองนครราชสีมาเข้ามารักษากรุงธนบุรีไว้  พระยาสุริยอภัยก็กลับมาคอยฟังเหตุการณ์อยู่ ณ เมืองนครราชสีมา"

คุณพระนายตั้งคำถามเข้าที   ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจดิฉันว่า
สมมุติว่าเหตุการณ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง  เจ้าพระยาจักรี( หรือสมเด็จเจ้าพระยามหาฯ)ไม่กลับมาธนบุรี  แต่เดินหน้าไปรบกับญวนตามเดิม    การรบนี้กว่าจะกลับมาได้ก็กินเวลานานเป็นปีสองปีสามปี    เราคิดว่าทางธนบุรีจะเป็นอย่างไร หากความวุ่นวายนั้นมีจริง?
(ถ้าความวุ่นวายไม่มีจริง ก็ไม่ต้องสมมุติซีนะคะ เพราะธนบุรีก็อยู่กันไปตามปกติ)
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 11:00

อืม สรุปว่ามีความวุ่ยวายจริง ๆ
ทีนี้ ผมคิดไปถึงอีกเรื่องนึงครับ แต่เป็นทำนองนิยายมากกว่า
ผมเคยอ่านเรื่อง เพลิงพระนาง เป็นเค้าของเรื่องพม่าเสียเมือง แต่เรื่องมาน่าสนใจตรงที่ว่า กษัตริย์ของพม่าผมจำไม่ได้ว่าในเรื่องใช้ชื่อเมืองมอญ หรือเมืองอะไร ตอนแรก ก็เป็นกษัตริย์ที่รบเก่ง รวมแผ่นดินพม่าที่มีหลายเผ่า ทั้งตองอู ไทยใหญ่ มอญ เป็นหนึ่งได้
หลังจากนั้น ในเรื่องนะครับ มีนางสนมคนนึงที่ วางแผนร้ายกาจ ผสมตัวยาสมุนไพรชนิดนึง ให้กษัตริย์องค์นี้ กิน แล้วก็เกิดอาการผิดปกติทางประสาทครับ วิกลจริต แล้วก็ฟั่นเฟือนไปเลย
ผมเพียงแต่คิดเล่น ๆ นะครับ ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วในสมัยก่อน มีสมุนไพรอันตราย ๆ แบบนี้อยู่จริงหรือเปล่า แล้วถ้าเอามีจริง จะมีการใช้มั้ยเนี่ย
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 11:58

ขออภัยครับ หายไปหลายวัน
ยังตามอ่านอยู่นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 16:49

พิมพ์ยาวแล้วพลาดยังไงไม่ทราบ หายหมดเลย
พิมพ์ใหม่ สั้นๆแล้วกันนะคะ

เมื่อพระยาสุริยอภัยควบคุมสถานการณ์ในธนบุรีได้แล้ว   เจ้าพระยาจักรีทราบก็ยกทัพกลับมา   แล้วก็สั่งให้ไต่สวนพระเจ้าตากต่อหน้าขุนนาง ถึงเรื่องเฆี่ยนตีพระสงฆ์ ลงโทษข้าราชการถึงขั้นย่างไฟ
พระเจ้าตากรับผิดทั้งหมด    จึงมีการปรึกษาขุนนางทั้งหลายเรื่องลงโทษ  ก็มีคำตัดสินออกมาว่าให้ประหารชีวิต
ก่อนถูกประหาร  พระเจ้าตากขอผู้คุมให้พาไปพบเจ้าพระยาจักรี ว่า
" ตัวเราก็สิ้นบุญ จะถึงที่ตายแล้ว  ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ  จะขอเจรจาด้วยสัก ๒-๓ คำ"
แต่เจ้าพระยาจักรีโบกมือมิให้นำมาพบ   ผู้คุมก็หามกลับไป   แล้วนำไปประหารด้วยการตัดศีรษะที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  ศพฝังที่วัดบางยี่เรือใต้  ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงเทพแล้วจึงขุดขึ้นมาพระราชทานเพลิง  
รัชกาลที่ ๑ และกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปพระราชทานเพลิงเองทั้ง ๒ พระองค์

หลังจากประหารชีวิตพระเจ้าตากแล้ว  ก็ไต่สวนกรมขุนอนุรักษ์สงครามและพระยาสรรค์ แล้วประหารชีวิตทั้ง ๒ คน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 16:57

กรมขุนอินทรพิทักษ์หรือเจ้าฟ้าจุ้ย  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่อยู่ที่เขมร  ได้ข่าวว่าพระราชบิดาถูกประหารไปแล้ว  ก็ตีฝ่าทัพเขมรที่ล้อมอยู่กลับเข้าเขตแดนไทยถึงปราจีน    ทหารพอรู้ข่าวก็หนีทัพกันหมดเหลือเจ้าฟ้าจุ้ยกับพระยากำแหงสงครามแม่ทัพคนสนิท กับทหารอีก ๕ คนไปซุ่มซ่อนตัวในป่า
กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพไปจับตัวมาได้ นำเข้าเฝ้า   รัชกาลที่ ๑  เห็นว่าไม่มีความผิด  ก็ตรัสถามว่าจะยอมสวามิภักดิ์หรือไม่  ถ้ายอมก็จะทรงเลี้ยงไว้    แต่เจ้าฟ้าจุ้ยไม่ยอม  ขอตายตามพระราชบิดา  ก็เลยถูกประหารพร้อมพระยากำแหงสงครามที่ยอมตายตามนาย  ส่วนทหารอีก ๕ คนถูกปล่อยตัว
การไต่สวนยังไม่จบแค่นี้    ขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากถูกประหารไปอีก ๓๙ คน
ที่แทรกเข้ามาคือกรมพระราชวังบวรฯ ทรงประหารขุนนางไปอีก ๘๐ เศษ  ล้วนแต่เป็นผู้มีเรื่องขุ่นเคืองกับพระองค์มาก่อน

เจ้านายผู้ชายพระญาติฝ่ายพระเจ้าตาก ที่เป็นผู้ใหญ่ ถูกประหารหมด   เว้นพวกผู้หญิงและเด็กๆไว้ รวมทั้งโอรสเล็กของพระเจ้าตากด้วย
กรมพระราชวังบวรฯ ทูลขอให้ประหารหมด  เพราะจะเป็นเสี้ยนหนามต่อไป  แต่ร. ๑ ทรงขอชีวิตไว้ทั้งหมด

มากริ้วอีกครั้งก็เมื่อตอนพระราชทานเพลิงพระเจ้าตาก  เจ้าจอมหม่อมห้ามและเจ้านายฝ่ายในของพระเจ้าตากที่ตอนนี้ย้ายมาเป็นฝ่ายในของร. ๑ พากันร้องไห้คร่ำครวญถึงเจ้านายเดิม   ก็เลยกริ้วสั่งเฆี่ยนหลังลายกันเป็นแถว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 17:09

ในพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีไปถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก   ลงวันที่ ๓ พฤกษภาคม ร.ศ. ๑๑๒
ทรงเท้าความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

"(การสั่งประหารพระเจ้าตาก) เป็นการจำเป็นเพราะมีผู้แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก   และถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้  เพราะผู้ที่ยังนับถือพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีบ้าง   จึงเป็นการจำเป็นต้องให้ประหารชีวิตเจ้ากรุงธนบุรีเสีย
แต่ถึงดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังไม่ได้สิ้นความนับถือหรือยกข้อเหตุที่ทำอันตรายแก่ครอบครัวของท่านอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ตั้ง  แล้วทำลายวงศ์ตระกูลแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเสีย  ตามคำขอแห่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทนั้นเลย   ได้ทำเฉพาะผู้เดียวแต่เจ้าจุ้ย ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  การที่ทำนั้นก็ทำโดยความที่เจ้าจุ้ยนั้นเองไม่เต็มใจจะอยู่รับราชการต่อไป  เพราะเห็นโทษของบิดา และเห็นตัวเป็นที่กีดขวางโอรสธิดาของเจ้ากรุงธนบุรี
นอกนั้นได้ทรงชุบเลี้ยงไว้หมดทั้งสิ้น   ใช่จะเป็นแต่เพราะเจ้าฟ้าเหม็น (หมายถึงพระนัดดา)  โอรสเจ้ากรุงธนบุรีอื่นๆคือพระพงศ์นรินทร์  พระอินทรอภัย อายุถึง ๑๔-๑๕ ปีแล้วทั้งสิ้น ก็ยังเอามาชุบเลี้ยงใช้สอย"

บุตรของผู้ถูกประหารในคราวนั้นทรงไว้ชีวิตไว้ทั้งหมดและนำมารับราชการทั้งหมดเช่นกันค่ะ
เชื้อสายพระเจ้าตากกลายมาเป็นข้าราชการสืบต่อกันมาในต้นรัตนโกสินทร์    ยังมีลูกหลานมาจนทุกวันนี้

หมดกระทู้นี้แล้วจะเล่าถึงลูกหลานของพระเจ้าตาก จนถึงปัจจุบันว่ามีนามสกุลอะไรบ้าง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง