ขอโทษด้วยนะครับ เจตนาของผมไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมรับฟังแต่อย่างใด แต่ช่วงนี้ยุ่งมากๆๆๆ ไม่มีเวลาเขียนยาวหรือไปค้นหนังสือ
สิ่งที่ผมพยายามจะพูดคือ เอกสารที่คุณเทาชมพูใช้อ้างอิงนั้นเป็นข้อมูลจากแหล่งเดียว คือข้อมูลของผู้ชนะ และก็ไม่ได้เป็นหลักฐานชั้นต้น(รวมถึงหลายๆส่วนที่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักฐานชั้นต้น) พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้นถูกเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็ระบุว่ามีการแก้ไขดัดแปลงถ้อยความในหลายๆตอน รวมทั้งยังได้รับการแก้ไขโดยพระราชหัตถเลขาของพระจอมเกล้าเอง(ซึ่งการการถึงเหตุการณ์ในช่วงเปลี่ยนราชวงศ์คือการอ้างถึงบรรพบุรุษของพระองค์เอง) หลายๆตอนในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ก็พิลึกกึกกือเกินจะเชื่อ เช่นตอนส่งราชทูตไปฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์ซึ่งเราเพิ่งจะเอามาเล่ากันอย่างสนุกเมื่อไม่นานมานี้ ตัวอย่างที่ใกล้มากกว่านี้คือการเลื่อนตำแหน่งของเจ้าพระยาจักรี ซึ่งคงต้องยอมรับกันว่าไม่สอดคล้องกับหลักฐานชั้นต้น
ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะเชื่อเรื่องในพงศาวดารนี้ไม่ได้เสียทั้งหมด แต่การอ่านจะต้องทำใจให้เป็นผู้เรียบเรียงด้วยว่าถ้าเป็นคุณคุณจะเขียนอย่างไร การบิดเบือนเรื่องราวในพงศาวดารนี้ทำกันเป็นปกติมานาน เรื่องราวเดียวกัน เขียนคนละสมัย คนละปัจจัยการเมือง ก็เขียนออกมาต่างอารมณ์กันมากเหลือเกิน ลองเอาพงศาวดารฉบับจักรพรรดิพงศ์ และ ฉบับพันจันทนุมาศ มาเทียบดูเหตุการณ์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะเห็นว่าอารมณ์ผิดกันมาก เรื่องของเรื่องก็คือพงศาวดารไทยไม่ใช่ปูมประวัติศาสตร์แบบที่ตะวันตกยึดถือ แต่เป็น วงศ + อวตาร ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเจตนารมณ์นั้นคือเพื่อสดุดีพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระราชอำนาจอยู่
ถ้าเราคุยกันเรื่องช่วงการเปลี่ยนราชวงศ์ตรงนี้ผมมองว่าน่าจะแยกประเด็นออกเป็นดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงสมดุลทางอำนาจนี้เกิดขึ้นอย่างไร - เห็นได้อย่างชัดเจน และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
2.เหตุการณ์ช่วงจลาจลแล้วแท้จริงเป็นอย่างไร - สำหรับผู้สนใจแสวงหาความจริง เอกสารที่มีอยู่เชื่อว่าจะเรียบเรียงออกมาได้
3.ถือเป็นการชิงราชสมบัติหรือเปล่า - คงเห็นกันชัดเจน แต่อย่างที่ผมเคยบอก อย่าเอาจริยธรรมมาจับตรงนี้ เพราะนี่เป็นกลไกที่สำคัญสำหรับระบบราชาธิปไตย
4.พระเจ้าตากเสียพระจริตหรือไม่ - ผมเองไม่อยากจะคุยในประเด็นนี้จริงๆ บางครั้งพามาหาหมอ หมอยังไม่แน่ใจเลย แล้วบรรทัดฐานเรื่องความคิด ถ้าคุณต่างจากคนอื่นมากหน่อย เขาก็ว่าคุณบ้า อย่าว่าอะไรเลย เพื่อนผมก็ว่าผมบ้าอยู่บ่อยๆ ( แต่หมอไม่แน่ใจ

)
5.การเปลี่ยนแปลงนี้ให้ผลอย่างไรกับราชอาณาจักร - ผมเห็นว่าเรื่องนี้ชัดเจนและเกี่ยวเนื่องกับข้อ 1 และ 3
ที่สำคัญคือตอนนี้เราจะใช้กรอบคิดแบบตะวันตกคือแสวงหาความจริง ไม่ใช่สดุดีพระพุทธยอดฟ้าหรือพระเจ้าตาก พูดตามตรงคือเนื้อความที่คุณเทาชมพูเอามาลงผมก็รู้อยู่แต่แรกแล้วว่ามาจากไหน เพราะผมก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ที่อยากให้บอกแต่ต้นว่ามาจากที่ไหนก็เหมือนกับเวลาคุณอ่าน paper ทางวิชาการ การ refer ถึงเอกสารอื่น ถ้าเรารู้ว่ามาจากไหนแต่ต้น เราก็สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นได้ โลกคงวุ่นวายน่าดูถ้าศาลจะพิพากษาคดีใดโดยฟังเรื่องเล่าจากโจทก์หรือจำเลยเพียงฝ่ายเดียว เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะไปคนละทางแน่นอน การพิพากษานั้นจะต้องฟังความรอบข้างมาประมวลเพื่อหาข้อยุติ แต่อยากจะฝากไว้ตรงนี้อีกนิดหนึ่งคือ ข้อยุติก็ไม่ได้หมายความว่าความจริงจะต้องเป็นอย่างนั้นไปด้วย เป็นเพียงความเชื่อว่าน่าจะเป็น ซึ่งก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อเมื่อมีหลักฐานใหม่