เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 16876 เพลงลาวดวงเดือน
คนฟังเพลง
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 08 ก.พ. 01, 13:19

เพลงลาวดวงเดือนนี่น่าจะเป็นเพลงเศร้านะ แต่ไม่เห็นมีใครร้องแบบเศร้าๆซักคน

เนื้อร้องในบทความใช้คำว่า"โอ๊ะ"("โอ๊ะพี่เป็นห่วง") แต่ที่ได้ยินส่วนมากจะเป็น"อก" = "อกพี่เป็นห่วง"(เวลาร้องจะกลายเป็น"อ๊ก"ตามทำนองเพลง) ไม่ทราบว่าคำว่า"โอ๊ะ"หมายความว่าอะไร ใครรู้บ้าง ช่วยอธิบายหน่อยนะครับ
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ก.พ. 01, 16:55

ทําไมถึงคิดว่าเศร้าละครับ
ในความเห็นผม ผมว่าเป็นการบรรยายความรัก ถึงจากกันก็ยังได้กลิ่นนาง
และ ที่จากกัน ก็แค่เวลาดึกแล้ว พรุ่งนี้ก็คงเจอกันใหม่
หรือไม่ก็มาจีบใหม่ ไม่ก็มาตื้อใหม่ ฿(เหมือน ใครแถวนี้จัง :-) )
แล้ว ช่วงสุดท้ายอาจแปลได้ว่า พึ่งพบกันมา กลิ่นยังติดตัวอยู่เลยก็ได้

และเพลงเดิม ลาวดําเนินเกวียน ก็น่าเป็นเพลงสนุกๆชมธรรมชาติไม่ใช่หรือครับ
แต่ข้อนี้เดาเอาเอง ขอผู้รู้ช่วยอธิบายด้วย
เพลงที่มีลูกล้อลูกขัดมักจะเป็นเพลงสนุกๆอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
นิรันดร์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ก.พ. 01, 17:56

เวลาผู้ชายไปจีบผู้หญิง แล้วอยากจะได้อะไรบางอย่าง
บางทีก็ตีบทเศร้า ๆ เผื่อเจ้าหล่อนจะสงสารบ้างไง
สาวขี้สงสารก็เลยมักตกเป็นเหยื่อผู้ชายเล่นละครแบบนี้เเหละ
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ก.พ. 01, 18:08

เพลงลาวดวงเดือนนี่ ฟังมาคร่าวๆ ว่า เดิมมิได้ชื่อนี้
และเป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยหนุ่ม(จำชื่อไม่ได้อีก ไม่แน่ใจว่าสูงศักดิ์ด้วยหรือไม่)
ที่ต้องขึ้นไปราชการที่เมืองเหนือ และเกิดรักใคร่ชอบพอกับลูกสาวเจ้าเมือง
ถึงขั้นจะสู่ขอกัน แต่ท่านเจ้าเมืองเกิดไม่ยอมยกลูกสาวให้
ตกลง หนุ่มเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นคร่ำครวญถึงสาวเจ้าในยามเดือนเพ็ญ

แฮะ.. แฮะ.. ต้องขอโทษที่จำความมาได้เพียงแค่นี้
บันทึกการเข้า
คนฟังเพลง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 00:09

ที่ว่ามันเศร้าก็เพราะ เนื้อร้องท่อนที่๒เค้าบอกว่า "โอ้เป็นกรรมหนอ ต้องจำจากไกล..." กรมหมื่นพิชัยผู้แต่งท่านต้องจากสาวที่ท่านรักไปไกลจริงๆ แล้วยังไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลยตลอดชีวิต ไม่เศร้าไงไหว แงๆๆ
บันทึกการเข้า
คนฟังเพลง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 00:16

ขออนุญาตแก้หน่อย ที่บอกว่าเนื้อร้อง"ท่อนที่สอง"นั้น ขอเปลี่ยนเป็น"เที่ยวกลับ"นะครับ ไม่งั้นบรรดาเซียนดนตรีจะมาว่าเอา

อ้อ!ที่ถามเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะได้อ่านบทความของเรือนไทยชิ้นล่าสุดมาน่ะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 09:32

โอ๊ะ  ถ้าหากว่าไม่ใช่ภาษาถิ่น(ขออภัยไม่มีความรู้เรื่องภาษาถิ่น)
แต่เป็นภาษาไทยกลาง  ก็คือ โอ้ นั่นเอง
แต่เพี้ยนเสียงวรรณยุกต์ไปตามทำนองเพลงในท่อนนั้น
คนรุ่นหลังมาเปลี่ยนเป็น   อก  แต่เสียงก็ยังสูงอยู่นั่นเองเลยออกมาเป็น อ๊ก
เพลงนี้เมื่อกรมหมื่นพิไชยฯ ทรงแต่ง ไม่มีโน้ตหรือการบันทีกเนื้ออย่างที่เราทำกันในปัจจุบัน
เป็นการบรรเลงและการร้องจากความทรงจำของนักดนตรีนักร้อง มาเรียบเรียงบันทึกลงทีหลัง
เนื้อก็เลยไปตามเสียงคนร้องค่ะ
บันทึกการเข้า
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 15:40

เคยได้ฟัง "ลาวดวงเดือน"  ที่ขึ้นต้นว่า "โอ้ละหนอ จันทราเอย  ช่างไม่เมตตา กรุณากระต่ายน้อย .... จำต่อไม่ได้ .... แต่ยังจำท่อนท้ายได้ว่า

หนาวเหนับจิตหนาว
ยิ่งหนาวราวไข้
หนาวที่ไม่สมใจที่หมายปอง
หนาวน้ำค้างพร่างพรม
ซ้ำลมรำเพย
บ่เหมือนเจ้าเลย
เอ๋ยลาวละหนอ

อาจจะจำได้กระท่อนกระแท่น
หากมีใครจำเนื้อร้องได้ถูกต้องครบถ้วน  อยากขอความกรุณาบอกด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 16:04

สงสัยว่าจะเป็น "โสมส่องแสง" หรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ก.พ. 01, 19:10

ใช่ครับเพลงโสมส่องแสงสองชั้น
อาจารย์มนตรี ตราโมทผู้ล่วงลับไปแล้ว
เป็นผู้ประพันธ์ ท่านเอาเพลงลาวดวงเดือนมาขยายเป็นเถา

เนื้อร้อง๒ชั้น(เขียนจากความจำนะครับ อาจมีพลาดบ้าง)

โอ้ว่าโอ๋จันทราเอย
เชิญเมตตากรุณากระต่ายน้อย
เสียแรงหวังเฝ้าตั้งตาคอย
มิเอื้อมอาจสอยมาชมเอย

อกข้อนสะท้อนจิตหา
เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้าละหนอ เศร้าอารมณ์
ฟูมฟกอกตรมระทมใจ

หนาวจับจิตหนาว
ยิ่งหนาวราวไข้
หนาวที่ไม่สมใจหมายเชย
น้ำค้างพร่างพรม
ซ้ำลมรำเพย
หนาวใจไร้เชย
เอ๋ยชมละเหนอ
บันทึกการเข้า
copy
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ก.พ. 01, 01:19

ประวัติเพลง ลาวดวงเดือน
เรียบเรียงโดย อาจารย์สันติเทพ ศิลปบรรเลง

    "โอ้ละหนอ...ดวงเดือนเอย... ข้อยมาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง..."

    เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงไทยอมตะ อันไพเราะจับใจคนไทยทั้งชาติมานานจนทุกวันนี้ และจะเป็นเพลงอมตะคู่ชาติไทยสืบไป แต่เบื้องหลังของเพลงมีความเศร้าอันลึกซึ้งแอบแฝงอยู่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะได้ทราบ

    ผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม หรือ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และเจ้าจอมมารดามงกุฎ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๒๕

    พระองค์เจ้าชายเพ็ญ ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับมาแล้วทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม

    กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงสนพระทัย ดนตรีไทยเป็นอย่างมาก เมื่อเสด็จกลับจากอังกฤษแล้ว ทรงโปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า วงพระองค์เพ็ญ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายเครื่อง และยังทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ  พระองค์หนึ่ง  โดยได้ทรงแต่งเพลง ลาวดวงเดือน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน

    ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นสมัยที่ดนตรีไทย โดยเฉพาะ ปี่พาทย์ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตามบ้านท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ และวัดวาอาราม ต่างก็มีวงปี่พาทย์เป็นประจำกันมากมาย เจ้านายหลายพระองค์ก็มีวงปี่พาทย์ประจำวัง มีครูบาอาจารย์ไว้ฝึกสอนปรับปรุงคิดประกวดประขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็มีวง วังบูรพา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็มีวง วังบางขุนพรหม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารก็มีวงปี่พาทย์ชื่อว่า วงสมเด็จพระบรม
และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ก็มีวงปี่พาทย์วงหนึ่งของพระองค์เรียกว่า วงพระองค์เพ็ญ

ซึ่งแต่ลงวงล้วนแต่มีนักดนตรีที่มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมทัดเทียมกัน

    กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม นอกจากจะทรงสนพระทัยในวงปี่พาทย์ของพระองค์ เยี่ยงเจ้านายท่านอื่นๆแล้ว ยังทรงเป็นนักแต่งเพลงชั้นดี พระองค์หนึ่งด้วย ทรงคิดประดิษฐ์ทำนองเพลงใหม่ๆ แปลกๆอยู่เสมอ พระองค์ทรงโปรดท่วงทำนองลีลาของเพลง ลาวดำเนินทราย เป็นอันมาก เพราะเพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงลาวอันอ่อนช้อยนุ่มนวล เห็นภาพพจน์บรรยากาศของภูมิประเทศ และวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ

    ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษมาใหม่  ได้ทรงเสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่ อันเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาสมัยนั้น สมัยนั้นพระยานริศราชกิจเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมณฑลพายัพ ได้จัดการรับเสด็จต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงค์ อย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดการรับเสด้จอย่างประเพณีชาวเหนือโดยแท้ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย

    ในงานต้อนรับเสด็จครั้งนี้ เจ้าอินทวโรรสแลเจ้าแม่ทิพยเนตรได้ชวนเชิญเจ้าพี่เจ้าน้อง และพระญาติวงศ์มาร่วมรับเสด็จโดยพร้อมเพียงกัน ในบรรดาพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น พร้อมด้วยธิดาองค์โต นามว่า เจ้าหญิงชมชื่น อายุเพิ่งย่างเข้า ๑๖ ปี มาร่วมในงานนี้ด้วย เล่ากันว่าเจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว อีกทั้งเจ้าหญิงชมชื่นเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวงประกอบกับความน่ารักนุ่มนวลละมุนละไมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

    พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อย อายุ ๑๖ ปีนี้มาก กล่าวกันว่า พระองค์เมื่อได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึง
ในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัยเหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก!!

    ในวันต่อมา พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงมณฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง เจ้าหญิชมชื่นได้มีโอกาสต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน

    นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นยิ่งนัก พระองค์จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์

    แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน และตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนี้ เจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น

    เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน เมื่อผิดหวังก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพด้วยความร้าวรานพระทัย คงปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์

    ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างต่าง นานา เป็นอันว่า ความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ

    คราใดสายลมเหนือพัดมา... พระองค์ชายของเราก็แสนเศร้ารันทดใจครานั้น... เศร้าขึ้นมาคราใด พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็เสด็จไปฟังดนตรีตามวังเจ้านายต่างๆ ทั้ง วังสมเด็จ วังบูรพา และวังบางขุนพรหม ทุกครั้งที่ทรงสดับดนตรีและทรงดนตรีพระองค์จะโปรดเพลง ลาวเจริญศรี เป็นพิเศษ เพราะเป็นเพลงที่นอกจากจะมีความไพเราะอ่อนหวานแล้วยังมีบทร้องที่ว่า

    อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี      พระเพื่อนพี่แพงน้องสองสมร
    งามทรงงามองค์อ่อนซ้อน       ดังอัปสรหยาดฟ้าลงมาเอย

    บทร้องนี้ ทำให้พระองค์หวนรำลึกถึงโฉมอันงามพิลาส ของเจ้าหญิงชมชื่นผู้เป็นที่รัก พระองค์จึงทรงระบายความรักความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจ ดังนี้...

    โอ้ละหนอ... ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
    โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
    ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุมภ์ ข้อยนี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
    จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
    หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
    หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย....เอ๋ย..เราละหนอ

    โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
    โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกอาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
    เห็นเดือนแรม เริดร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า (ละหนอ) เห็นมืดมน
    พี่จะทนทุกข์...ทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
    เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
    ถึงจะหวาน เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่เหมือนทรามเชย...เราละหนอ...

    นี่เอง เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ เป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึงรำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง คราใดที่ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่นพระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย ลาวเจริญศรี และลาวดวงเดือน ซึ่งขาดไม่ได้ตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน

    กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยสมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงาน เพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์ด่วนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น

    เพลงลาวดวงเดือน เพลงนี้ เป็นหลักฐานปรากฏผลงานการแต่งเพลงของพระองค์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถสืบทราบได้ว่าพระองค์ทรงแต่งเพลงใดขึ้นมาอีกหรือไม่ แม้ว่าจะทรงแต่งเพียงเพลงเดียว ลาวดวงเดือน ก็ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ และวิญญาณ ความรัก-ความหลัง ของพระองค์ทั้งหมดลงในเพลงนี้

    เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงอันประดุจอนุสรณ์แห่งความรักอมตะระหว่าง...
พระองค์เจ้าชายเพ็ญกับเจ้าหญิงชมชื่นผู้เลอโฉม และจะเป็นเพลงรักหวานซาบซึ้งตรึงใจ
อยู่ในห้วงหัวใจคนไทยทั้งชาติต่อไปอีกนานเท่านาน...
บันทึกการเข้า
SUPERWATT
อสุรผัด
*
ตอบ: 3



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 ก.ย. 10, 23:23

กระทู้นี้มีมา 10 ปีแล้วหรือครับเนี่ย
กำลัง research เกี่ยวกับเพลงลาวดวงเดือนน่ะครับ มาเห็นกระทู้นี้เลยจื่นเต้น  โห.. ตั้ง 10 ปีผ่านมาแล้ว
ตอนนั้นผม 10 ขวบ ยังคงเป่าขลุ่ย เพลงลาวจ้อย อยู่เลย ฮาๆๆๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ธ.ค. 19, 14:56

ขุดกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะกำลังรวบรวมเพลง ลาวดวงเดือนอยู่ค่ะ
เวลาผ่านไปเร็วมาก  ล่วงมาถึงปี 2019 จะเข้า 2020  คุณ SUPERWATT ป่านนี้คงจะเกือบ 30 ในอีกไม่กี่เดือน
เรียนหนังสือจบ ทำงานหลายปีแล้ว

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 ธ.ค. 19, 14:57

จากเพลงไทยเดิม ลาวดำเนินเกวียน มาเป็นเพลงร้องประสานเสียง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 ธ.ค. 19, 15:12

ลาวดวงเดือน กับดนตรีผสม สากลและไทยเดิม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 20 คำสั่ง