คุณเปรมเป็นลูกชายคนโต และเป็นคนเดียวที่พอจะเป็นหน้าเป็นตาของตระกูล เจ้าคุณพ่อคงไม่อยากให้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกล เผื่อไปป่วยตายเสียใครจะสืบตระกูล คุณเปรื่องลูกชายคนรองก็ไม่ได้รับราชการ แม่ปรุงก็เป็นหญิง ไม่มีบทบาทอยู่แล้ว
เจ้าคุณพ่อเองเชื้อสายจีน เห็นความสำคัญของลูกชายคนโตว่าจะต้องถือกระถางธูปในงานทำศพพ่อ อีกอย่างสมัยรัชกาลที่ ๕ นักเรียนไทยยังไปนอกกันค่อนข้างน้อย มาเฟื่องฟูเอาสมัยรัชกาลที่ ๖ คุณเปรมจึงส่งลูกไปเรียนบ้าง
สมัยรัชกาลที่ ๕ คุณเปรมเป็นมหาดเล็กอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน มีโอกาสดีกว่า ที่จะรุ่งเรืองในราชการอยู่ทางนี้
คุณเปรม เป็นบุตรพระยาธรรมจรันยาฯ (ตามเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นเชื้อสายแขก ไม่ใช่เชื้อสายจีน) ถ้าพิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาธรรมจรันยาฯ (จำเริญ/เจริญ บุรณศิริ) (เป็นพระยาธรรมจรันยาฯ คนเดียวในสมัยรัชกาลที่ ๕ ) ดูท่านก็ส่งเสริมให้บุตรชายของท่านเรียนหนังสือ อย่างที่ได้ยกหลักฐานมาแสดง บุตรชายของท่านได้ไปเรียนต่างประเทศ ๒ คน นอกจากนี้ นายขจร หรือ เขจร บุตรชายของเจ้าคุณธรรมจรันยาฯ ก็เรียนในโรงเรียนหลวง เรียนดีมากจนได้รับรางวัลพระราชทานหลายครั้ง นี่แสดงว่าพระยาธรรมจรันยาฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อ้างว่าเป็นบิดาคุณเปรมนั้น อาจจะเป็นคนละคนกันในความเป็นจริง
อีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ คุณเปรม เกิดราว พ.ศ. ๒๔๒๐ (แก่กว่าแม่พลอย ๕ ปี) น่าแปลกใจว่า คุณเปรมรับราชการเป็นมหาดเล็กมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๕ ได้อย่างไรโดยไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทั้งที่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษในหมู่มหาดเล็กสมัยนั้นออกจะเฟื่องฟู ที่สำคัญคือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีมหาดเล็กจำนวนมาก ที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปรับราชการในกระทรวงหรือตามหัวเมืองต่างๆ แต่คุณเปรมเป็นมหาดเล็กมาจนอายุ ๓๐ ปีเศษ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้รับราชการพิเศษอะไรเลย น่าสงสัยว่า คุณเปรมคงจะมีอะไรบกพร่องกระมัง จึงไม่ได้เจริญในหน้าที่ราชการอย่างมหาดเล็กในสมัยนั้น
ส่วนเรื่องที่คุณเทาชมพูเสนอว่า คุณเปรมในเรื่องเป็นบุตรชายคนโตของตระกูลพระยาธรรมจรันยาฯ เจ้าคุณจึงไม่ส่งให้คุณเปรมไปเรียนเมืองนอกนั้น ด้วยเป็นคติคนจีนที่ย่อมรักบุตรชายคนโตมากในฐานะผู้สืบตระกูล เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องพระสุริยภักดี (สนิท) บุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาพิไชยญาติ (ทัต) ที่สมเด็จไม่ยอมให้ลูกชายท่านไปเรียนหนังสือกับพระภิกษุตามวัด เพราะกลัวลูกชายลำบาก ผลก็คือพระสุริยภักดี (สนิท) เขียนหนังสือไม่เป็น แต่รับราชการได้โดยการวาดรูป เรื่องนี้อาจจะเป็นข้อมูลที่นำสร้างเรื่องคุณเปรมได้กระมัง
ส่วนที่คุณวีมี เล่าเรื่องนายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) เสียชีวิตเพราะมอเตอร์ไซค์นั้น ฟังดูก็นึกถึงคุณเปรมเจ็บหนักเพราะขี่ม้า และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน เรื่องนี้ ทำให้คิดว่า วัตถุดิบในการสร้างคุณเปรมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ อาจจะมีมากกว่าเรื่องตระกูลบุนนาค และอาจจะมีเรื่องระยะเวลาของข้อมูลจริงกับเนื้อเรื่องสี่แผ่นดิน ที่คนแต่งต้องแปลงเปลี่ยนเรื่องจริงให้ให้ดูว่าไม่ได้เจาะจงเอาเรื่องของใครคนใดมาแต่งเฉพาะ เพราะถึงจะเปลี่ยนชื่อคน แต่ระยะเวลายุคสมัยเหมือนกับข้อเท็จจริง คนอ่านย่อมจับได้ว่าเป็นเรื่องของใคร ดังนั้นคนแต่งสี่แผ่นดินจึงจัดการเปลี่ยนแปลงสลับข้อมูลเรื่องเล่าที่เป็นวัตถุดิบเรื่องใหม่ แต่ยังพอจับเค้าวัตถุดิบได้
อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว อาจจะต่างจากความคิดของคนอื่นที่มีมาแล้วบ้าง
