เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 27 28 [29] 30 31 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329406 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 420  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 07:48

ปี2487เป็นปีที่สัมพันธมิตรเริ่มรุกกลับฝ่ายอักษะอย่างเป็นมรรคเป็นผล งานของเสรีไทยทั้งสายอเมริกา และสายอังกฤษซึ่งสมัยเริ่มต้นก็ต่างคนต่างทำ กว่าจะประสานแผนงานกันได้ บัดนี้มาถึงจุดสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับเสรีไทยในประเทศได้ เป็นที่ทราบกันว่าปฏิบัติการใต้ดินในลักษณะนี้ หากขาดความร่วมมือจากขบวนการที่ทีอุดมการณ์เดียวกันในพื้นที่ ก็ไม่มีทางสำเร็จ ก่อนหน้านั้น อังกฤษและอเมริกันได้ฝึกพวกนักเรียนไทย กว่าจะมีความชำนิชำนาญในการใช้วิทยุสื่อสารและอาวุธยุทธวิธีเอาตัวรอดในป่าก็ใช้เวลาเป็นปี แต่ปรากฏภายหลังว่า พวกที่ให้เรือดำน้ำพามาส่งขึ้นฝั่งบ้าง ให้โดดร่มลงมาบ้าง หายจ้อยเพราะไม่มีทางเล็ดรอดหนวดปลาหมึกยักษ์ของหลวงอดุลไปได้เลย ปลาหมึกที่ว่ามิได้เลี้ยงเอาไว้เพื่อจะใช้ทำนายผลฟุตบอลหรือเลือกเบอร์หวย แต่เป็นโครงข่ายตำรวจที่ทั้งลับและไม่ลับ งานถนัดของหลวงอดุลอธิบดีตำรวจที่ทำรับใช้นายผู้เป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่ครั้งนักเรียนนายรัอย แต่คราวนี้หลวงอดุลมิได้คิดว่าเสรีไทยเป็นศัตรูทางการเมืองจึงนำพวกที่จับได้ไปเลี้ยงดูอย่างดีไม่ให้ญี่ปุ่นรู้ระแคะระคาย แต่วันหนึ่งจับวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชรเสรีไทยสายอังกฤษได้ จึงได้พาไปที่บ้านนายปรีดี เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขนามสกุลเดิมคือ ณ ป้อมเพชร ทั้งสองจึงได้ล่วงรู้ความคิดของกันและกันว่าต่างคนต่างทำอะไรอยู่ แม้หลวงอดุลจะสะสมเชลยเสรีไทยไว้ในคอลเลคชั่นแล้วกว่าสิบคน แต่นายปรีดีก็ยังไม่ไว้ใจหลวงอดุลเต็มร้อยว่าจะมีการถ่ายทอดไปถึงจอมพล ป.หรือไม่ กว่าจะยอมรับและร่วมมือกันทำงานเพื่อชาติ เรื่องส่วนตัวเอาไว้ก่อนก็อีกครึ่งหนึ่งของภาวะสงครามแล้ว

นายปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้า ความคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่นก็คล้ายกับที่พระยาทรงคิดจะทำ เพียงแต่ท่านมีศักยภาพมากกว่าและด้วยตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่มีความน่าเชื่อถือยิ่ง ท่านพยายามส่งคนที่ไว้วางใจไปเมืองจีนเพื่อติดต่อรัฐบาลเจียงไคเชกให้สนับสนุนขบวนการเสรีไทยและให้แจ้งอังกฤษ อเมริกันทราบถึงความเคลื่อนไหวนี้ แต่ตอนแรกกองทัพจีนของนายพลเจียงยังระส่ำระสายต่อต้านญี่ปุ่นไม่อยู่ ต้องรบพลางถอยพลาง รัฐบาลก็ย้ายเมืองหลวงตามไปด้วย ไม่ได้ม้วนถนนตึกรามบ้านช่องแบกหนีไปปูที่ใหม่นะครับ แค่กองบัญชาการย้ายไปที่ไหนก็เรียกเมืองหลวงแล้ว สุดท้ายที่นายจำกัด พลางกูรไปพบได้สำเร็จก็ที่จุงกิง ทำให้วอชิงตันได้รับทราบความสำคัญนี้เป็นครั้งแรก แต่นายจำกัดก็สละชีพเพื่อชาติไทยเพราะสงครามในเมืองจีนดังที่ผมเคยกล่าวไปแล้ว

คนที่สองที่ทำงานได้ผลเกินคาดคือนายสงวน ตุลารักษ์ คนนี้สามารถเชื่อมสายสื่อสารในทางลับระหว่างจีนกับไทยได้ ซึ่งส่งผลในการแนวรบด้านเหนือที่กองทัพไทยกำลังประจันหน้ากับกองพล93ของจีนอยู่ที่เมืองเชียงตุง จอมพล ป.ท่านโดนญี่ปุ่นบีบให้ส่งทหารไปตีจีนทางด้านนี้ ท่านก็ไม่ได้อยากจะไปสู้กับพญามังกรหรอก สั่งให้แม่ทัพไปหาทางเจรจาซูเอี๋ยกับแม่ทัพจีน เขาก็ไม่เล่นด้วย อยู่ดีๆใจอ่อนขึ้นมาเฉยๆยอมยิงกันเฉพาะวันที่ญี่ปุ่นมาตรวจแนวรบ  จอมพล ป. ท่านนับเป็นเครดิตของท่านว่าเห็นม๊ะ ฉันก็ร่วมรบกับญี่ปุ่นไปอย่างงั้นหร็อก ไม่เห็นจะเสียหายเล้ย
ก็ตอนนั้นทหารจีนไม่ได้บอกทหารไทยว่าที่ทำอย่างนั้นเพราะรัฐบาลจีนสั่งมา เขาเชื่อคนอื่น มิได้เชื่อท่าน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 421  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 08:34

นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เดินทางจากจีนต่อไปอเมริกา และอยู่ที่นั่นเพื่อเจรจากับรัฐบาลอเมริกันและพบปะพวกเสรีไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน2486 ถึงกุมภาพันธุ์2487 โปรดสังเกตุว่าผมจะเริ่มให้ความสำคัญกับเดือนและพ.ศ. เพราะเดี๋ยวเราจะต้องนำมาวิเคราะห์หาผู้ที่เป็นปริศนาอันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง หลังจากอเมริกานายสงวนก็ไปลอนดอนก่อนจะไปประจำการอยู่ในเมืองแคนดี้ของศรีลังกา ที่นั่นเป็นฐานทัพใหญ่ของอังกฤษเพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นในเอเซีย

ข้อความต่อไปนี้สำคัญนะครับ เมื่อคืนนี้ผมลงทุนค้นหนังสือเล่มยักษ์จนตาแฉะเพื่อหาข้อความอย่างนี้แหละ

นายสงวน ตุลารักษ์ ให้ข้อมูลว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯคือหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจก็มีท่าทีชัดเจนว่าไม่นิยมญี่ปุ่นอยู่เป็นอันมาก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย นายสงวนคงจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าพล.ต.อ.อดุลเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จและไม่สำเร็จของปฏิบัติการต่างๆของเสรีไทยที่ส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย ดังนั้นภารกิจที่จำเป็นของเสรีไทยที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทยก็คือการประสานระหว่างนายปรีดีและพล.ต.อ.อดุลให้ได้ และหากเป็นไปได้ก็คือทำการประสานให้นายปรีดีและพล.ต.อ.อดุลร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ไม่เคยทาบทามให้พล.ต.อ.อดุลเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยเลย ทั้งๆที่ตระหนักว่าจุดยืนและทัศนคติของอธิบดีกรมตำรวจนั้นสอดคล้องกับของตนเอง เหตุผลก็คือพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสเป็นตำรวจที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพซึ่งจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่ผิดกฏหมายบ้านเมือง และยังเป็นมิตรสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงครามอีกด้วย

ผมได้เน้นข้อความที่สำคัญๆให้ท่านผู้อ่านดาวน์โหลดใส่ความจำของท่าน เพื่อความมันส์อันต่อเนื่อง ผมจำเป็นต้องพาท่านไปพนมเปญในซีนต่อไป หลังเบรครับทานอาหารเช้าของผมแล้ว  อ้อระหว่างผมเบรคขอเชิญทุกท่านอย่างเคยนะครับ จะลงคคห.อย่างไรตามสะดวก ผมเข้ามาต่อได้เสมอ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 422  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 08:58

ระหว่างท่านกูรูใหญ่ไปรับประทานอาหารเช้า  ที่อาจจะเลื่อนจากเช้าเป็นสาย เพราะมัวแต่มาทำงานฟรี ส่งเรือนไทยอยู่   ดิฉันก็จะเข้ามาคั่นรายการที่หน้าม่านตามเคย
ขอทวนความนิดหนึ่งว่า เสรีไทยเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อนจากฝีมือคนไทยกลุ่มเล็กๆที่เรียน ทำงาน หรือพักอาศัย    ไม่ได้เกิดเป็นขบวนการในไทย  แต่อย่างที่คุณนวรัตนอธิบายไว้คือขบวนการเสรีไทยนอกประเทศจะทำงานได้ผลก็ต้องประสานกับคนไทยในประเทศที่อุดมการณ์เดียวกัน
คนไทยที่ประสานได้ คือนายปรีดี พนมยงค์   ซึ่งไม่โปรญี่ปุ่นและญี่ปุ่นก็ไม่โปรท่าน
แต่นายปรีดีคนเดียวก็ยังมีเครือข่ายไม่กว้างขวางพอ  ต้องประสานกับผู้มีอำนาจกว้างขวางกว่าในสังคมไทยขณะนั้น   ในที่สุด สปอตไลท์ก็ไปจับที่พลต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส
เมื่ออ่านประวัติของนายปรีดี พนมยงค์  หลายๆแหล่งข้อมูลก็บอกว่าท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ   แต่เมื่อไปหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีชื่อพล ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส เข้ามามีบทบาทมาก    ตอนแรกที่แปลกใจว่าชื่อนี้โผล่ขึ้นมาจากไหน  เพราะใครๆก็รู้ว่าท่านเป็นนายตำรวจคู่บารมีของจอมพล ป.   จะเป็นไปได้ยังไงว่าท่านเป็นหัวหน้าใหญ่อีกคนหนึ่งของเสรีไทยในประเทศ
จากข้อมูลหลายๆแห่งเช่นกัน    สอดคล้องกันว่าท่านตำรวจใหญ่ท่านร่วมมือกับเสรีไทยจากต่างประเทศอย่างลับๆ   ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้    จนอาจพูดได้ว่าถ้าไม่ได้พลต.ต. อดุล    เสรีไทยอาจทำงานไม่ได้ผล   เพราะถ้าเข้ามาเหยียบจมูกตำรวจในไทยโดยตำรวจใหญ่ไม่เปิดไฟเขียวให้  ป่านนี้เสรีไทยอาจหายสาบสูญกันไปเกือบหมดหน่วยปฏิบัติการแล้วก็ได้  รวมทั้งวนัสด้วย ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้มาพบอังศุมาลิน
เราก็คงนึกกันออกว่าตำรวจไทยมีอำนาจขนาดไหน    เว้นแต่กองทัพญี่ปุ่นในไทยแล้ว ตำรวจไทยสามารถเสกประชาชนทุกคนให้ล่องหนได้ทั้งชั่วคราวและถาวร
แต่ท่านนายพลตำรวจทำอย่างนั้นทำไม   ข้อนี้ตีความกันได้หลายกระแส     กระแสหนึ่งบอกว่าจริงๆแล้วท่านไม่ชอบญี่ปุ่น เพราะท่านเองก็รักชาติเหมือนกัน   กระแสนี้ไปไกลถึงกับบอกว่าท่านแอนตี้ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยกทัพเข้าไทย     กระแสที่สองบอกว่าท่านอาจเหยียบเรือสองแคม   คือร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นด้วยตามหน้าที่และร่วมมือกับเสรีไทยด้วย เพราะไม่อยากจะทุ่มทุนไปทางญี่ปุ่นเต็มร้อย ประกอบกับเห็นทางว่าพันธมิตรจะชนะในตอนท้าย    
ถ้ามีแค่ ๒ กระแส   ดิฉันก็จะเฉลยคำตอบออกมาได้ตรงกับคุณนวรัตน  ว่าผู้ใหญ่ ๒ คน ๒ ขั้ว ที่พระยาทรงแปลกใจนั้น  คำตอบตรงกัน   x = นายปรีดี y = พลต.ต.อดุล
แต่....
ไปเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่ง  บอกว่าเสรีไทยในประเทศ มีอีกคน    ดิฉันก็แทบล้มตึง    เพราะกลายเป็น ๓  ไม่ใช่ ๒ อย่างที่คิดเสียแล้ว
คนที่ ๓ นั้นคือ...
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 423  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:17

การทำงานของพลต.อ. อดุล อธิบดีตำรวจในเรื่องเสรีไทย  ข้อมูลแบ่งเป็น ๒ ทาง   ทางหนึ่งบอกว่าท่านตัดสินใจอำนวยความสะดวกให้เสรีไทยเพราะมีการประสานงานมาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต่างประเทศก็จากนายปรีดี  และท่านตกลงที่จะร่วมมือ  แต่ข้อมูลอีกทาง ระบุว่า พลต.อ. อดุลนั่นแหละเป็นคนก่อตั้งเสรีไทยในประเทศขึ้นมาเองเลย  ไม่ใช่ประสานต่อจากใคร


ในหนังสือ  นักอพยพ ของ พลตำรวจตรี ชอบ สุนทรพิพิธ เล่าไว้ว่า

ท่านผู้นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบุคคลท่านแรก ที่ได้เริ่มปรับปรุงกิจการของกรมตำรวจ ให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง เที่ยงธรรม เป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น ท่านยังมีบุญคุณต่อชาติไทยอย่างประมาณค่ามิได้อีกด้วย ในฐานะที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และในขณะเดียวกันท่านก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะดำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ ท่านได้จัดตั้งหน่วยเสรีไทยฝ่ายตำรวจขึ้น ภายในประเทศสายหนึ่ง โดยท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาย และดำเนินการแบบใต้ดิน เหยียบจมูกทหารญี่ปุ่นมาตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในฐานะที่เกือบจะเรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒  

ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือ ฯพณฯ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคนั้นนั่นเอง

และจากหนังสือเรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ เขียนโดย ๔๘๕ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในยามสงครามของ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ไว้ว่า

สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก

ท่านได้คัดเลือกนายตำรวจบางคน เดินทางออกไปนอกประเทศ ร่วมกับนายทหารอากาศ ทหารบก ไปติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษ  โดยไปทางเครื่องบินบ้างทางเรือดำน้ำบ้าง หลังจากได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว อเมริกาได้ส่งนักเรียนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกา มาโดดร่มลงในประเทศไทยก่อน ต่อมาอังกฤษจึงส่งนักเรียนไทยที่เรียนในอังกฤษ มาโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง และเดินทางเข้ามาโดยทางเท้าบ้าง

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

เรื่องนายพลผู้ซื่อสัตย์ ได้ดำเนินความต่อไปว่า

พวกนักเรียนไทยที่มาโดดร่มลงในประเทศไทยนี้ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินงานใต้ดิน บางคนก็ทำหน้าที่ส่งข่าววิทยุที่นำติดตัวมา บางคนก็ทำหน้าที่ประสานงาน โดยเดินทาง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกาและอังกฤษ บางครั้งก็ไปเพียงแค่อินเดีย

ทางประเทศอเมริกาก็มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยอยู่  ทางอังกฤษคุณหลวงอดุลฯ ก็มอบให้ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ติดต่อกับอังกฤษ และคุณหลวงอดุลฯ ได้ส่งคุณบูรณศิลป์ อดุลเดชจรัส บุตรชายของท่านไปอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ติดต่อกับลอร์ดหลุยซ์เม้าท์แบตเท็น แม่ทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใกล้ชิด

ท่านได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ท่านได้ดำเนินการอยู่นี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอยู่เช่นเดียวกัน โดยต่างคนต่างทำ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอีกเหมือนกัน ทั้งสามท่านนี้ต่างคนต่างดำเนินงานของตนไป แต่คงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน คือต่อต้านญี่ปุ่น

นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เล่ารายระเอียดเพิ่มเติมว่า

ท่านกับ บุญมาก เทศะบุตร์ ได้โดดร่มจากเครื่องบิน บี ๒๔ ลงที่ในป่าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๗ แต่พลัดกันไปคนละทาง ท่านถูกนำตัวไปพบกับหลวงอดุลฯ ในกรุงเทพ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๗ และได้แจ้งให้ทราบภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากทางสหรัฐอเมริกา ว่าให้มาติดต่อกับทางหลวงอดุลและหลวงประดิษฐ์โดยตรง โดยขอให้ร่วมมือกันทำงาน สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยในประเทศ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าอาวุธ การฝึกฝน การเมืองหลังสงคราม ฯลฯ
แต่ถ้าหากไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่ทางสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือ เพราะงานจะมีอุปสรรคอย่างแน่นอน คุณหลวงอดุล ฯ จึงตัดสินใจพาวิมลเข้าพบหลวงประดิษฐ์ ที่บ้านของ นายดิเรก   ชัยนาม รองเมือง ซอย ๒ จึงเป็นอันว่าหลวงอดุลกับหลวงประดิษฐ์ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันทำงานตั้งแต่วันนั้น จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มปรากฏผลงานในประเทศของเสรีไทยสายอเมริกา และเป็นวันที่ได้กำลังตำรวจทั้งประเทศมาร่วมด้วย

กลับมาที่เรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ อีกครั้งหนึ่ง

การดำเนินงานของคุณหลวงอดุลฯ นั้น ท่านได้กระทำโดยแบ่งการปฏิบัติออกไปเป็นเรื่องเป็นรายไป คนหนึ่งรับมอบงานไปปฏิบัติอย่างหนึ่ง โดยคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าผู้นั้นมีหน้าที่อย่างไร ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่ต้องแบ่งงานกันเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความลับรั่วขึ้นก็จะเกิดเสียหายเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว งานของคนอื่น ๆ ไม่เสียไปด้วย เพราะการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ถ้าใช้คน ๆ เดียวทำแล้วถ้าความลับแตกออก และถูกญี่ปุ่นจับตัวไปหรือถูกฆ่าตาย งานก็เสียหมด จึงจำเป็นต้องแยกงานกันทำ

แต่ก็เป็นโชคของประเทศไทยอย่างมาก ที่ความลับต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำไปแล้ว ญี่ปุ่นจับไม่ได้เลย บางครั้งฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยท่าน ว่าทำการต่อต้านแบบใต้ดิน เคยส่งคนออกทำการสืบสวนแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ญี่ปุ่นได้ส่งคนเข้ามาดูว่าคุณหลวงอดุลฯ ทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันหรือเปล่า โดยทำทีว่ามาเยี่ยมคำนับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในวังปารุสกวันบ้าง และด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นมาดูก็คงเห็นคุณหลวงอดุลฯ นั่งทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันมิได้หายไปไหน

ในการดำเนินงานของท่านนั้น ท่านได้ออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนจนตลอดสว่างทุกคืน แม้ท่านจะต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัด ท่านก็ไปตอนกลางคืน สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสงสัยท่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีหลักฐานที่จะทำอะไรได้

ท่านเป็นคนรอบคอบการที่จะเดินทางไปไหน ๆ ท่านไม่ใช้เส้นทางซ้ำกันเลย ท่านเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และท่านไม่เคยยอมบอกใครว่าท่านจะไปไหน แม้คนที่นั่งรถไปกับท่านด้วยกัน ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เมื่อไปถึงที่แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าไปไหน
ด้วยความรอบคอบนี้ท่านจึงปลอดภัย และทำการกู้ประเทศไทยจนสำเร็จ

ท่านได้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกญี่ปุ่นตลอดเวลาสงคราม นักเรียนไทยที่มาจากอเมริกาและอังกฤษ โดยโดดร่มลงมาก็ดี โดยทางน้ำทางบกก็ดี ท่านได้เอาตัวมาเก็บไว้ที่กองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ทำประหนึ่งว่าเอาตัวควบคุมไว้ทำการสอบสวน ฐานโดดร่มลงมาในประเทศไทย แต่ในเวลากลางคืนท่านได้พาพวกนี้ไปทำการส่งวิทยุ ติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดสถานที่ส่งวิทยุไว้หลายแห่งด้วยกัน เสร็จแล้วก็นำตัวกลับมาคุมไว้ที่สันติบาลตามเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จับอะไรไม่ได้

พวกนักเรียนไทยเหล่านั้นเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณยอด บุรี คุณประทาน เปรมกมล คุณธนา โปษะยานนท์ คุณการุณ เก่งระดมยิง เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดีเพราะเคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนเหล่านี้ด้วยคนหนึ่ง พวกเสรีไทยเหล่านี้ไหมุนเวียนกันออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่งวิทยุแจ้งที่พักของกองทหารญี่ปุ่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินหรือเรือดำน้ำ เข้ามารับทหารที่บาดเจ็บเพราะเครื่องบินตก เป็นต้น

และบางคราวมีราชการลับที่จะต้องหารือ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ท่านก็ได้ส่งเสรีไทยเหล่านี้บางคน ออกไปทำการติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง ฝ่ายอังกฤษส่วนมากท่านได้จัดส่ง คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเสรีไทยฝ่ายอังกฤษออกไปเจรจา ฝ่ายอเมริกาท่านก็จัดส่ง คุณการุณ เก่งระดมยิง ออกไปเจรจา การเดินทางนั้นส่วนมากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนัดให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมารับ โดยมาลงที่สนามบินลับที่สร้างขึ้นในเวลากลางคืน

คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนที่รอบคอบในการทำงานใต้ดินนี้ ท่านได้ทำบัญชีรายชื่อไว้ว่าผู้ใดบ้างที่ได้ร่วมมือทำงานอยู่ด้วย ทั้งผู้ที่โดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และผู้ที่อยู่ ณ ต่างประเทศ เพราะท่านมองเห็นการไกลว่า ต่อไปอาจมีผู้แอบอ้างว่าได้ร่วมมือทำงานใต้ดินกับท่าน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้วย่อมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนั้น จนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒) บัญชีนี้ก็ยังอยู่ในมือท่าน ตลอดจนหลักฐานในการทำงานใต้ดินที่สำคัญ ๆ คงเก็บอยู่ที่ท่าน

ด้วยผลงานอันดีเด่นที่ได้กระทำเพื่อประเทศชาติแล้วนี้ หลังจากสงครามสงบแล้ว อเมริกาได้ช่วยจนกระทั่งประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อันคุณงามความดีของท่านนี้สุดที่คนไทยจะลืมเสียได้ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยกู้ประเทศไทยไว้ในยามที่บ้านเมืองคับขันเต็มไปด้วยศัตรู หากการทำงานของท่านพลาดไปเพียงนิดเดียว บ้านเมืองก็จะพินาศ แม้แต่ชีวิตของท่านเองก็คงไม่รอดไปได้
http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W3453677/W3453677.html

ตัวแดงข้างบนนี้  บอกชัดเจนว่าพลต.อ. อดุล ทำงานเสรีไทย ตามคำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกทีหนึ่ง    เพราะฉะนั้น ถ้าข้อมูลนี้ถูกต้อง   ก็กลายเป็นว่าหัวหน้าเสรีไทยในประเทศตัวจริง คือจอมพล ป.นั่นเอง
เพราะฉะนั้น  4 = 1ปรีดี + 1 อธิบดีตำรวจอดุล + 2 คือตัวจอมพล ป.
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 424  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:21


 ซึ่งส่งผลในการแนวรบด้านเหนือที่กองทัพไทยกำลังประจันหน้ากับกองพล93ของจีนอยู่ที่เมืองเชียงตุง จอมพล ป.ท่านโดนญี่ปุ่นบีบให้ส่งทหารไปตีจีนทางด้านนี้ ท่านก็ไม่ได้อยากจะไปสู้กับพญามังกรหรอก สั่งให้แม่ทัพไปหาทางเจรจาซูเอี๋ยกับแม่ทัพจีน เขาก็ไม่เล่นด้วย อยู่ดีๆใจอ่อนขึ้นมาเฉยๆยอมยิงกันเฉพาะวันที่ญี่ปุ่นมาตรวจแนวรบ  จอมพล ป. ท่านนับเป็นเครดิตของท่านว่าเห็นม๊ะ ฉันก็ร่วมรบกับญี่ปุ่นไปอย่างงั้นหร็อก ไม่เห็นจะเสียหายเล้ย
ก็ตอนนั้นทหารจีนไม่ได้บอกทหารไทยว่าที่ทำอย่างนั้นเพราะรัฐบาลจีนสั่งมา เขาเชื่อคนอื่น มิได้เชื่อท่าน


ข้อมูลแนวรบด้านเชียงตุงหรืออีกชื่อในยุควัธนธัมก็คือสหรัฐไทยเดิมนั้น ในหนังสือของท่านผู้การถาวร ท่านเล่าไว้ว่าตอนแรกก็รบกันครับ แต่ไป ๆ มา ๆ ช่วงหลัง ๆ ขาดแคลนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงพอ ๆ กันทั้งสองฝ่าย สุดท้ายต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ยิ่งช่วงวันท้าย ๆ ก่อนสงครามจะยุติ ฝ่ายไทยก็ยิงปืนใส่เหมือนกัน แต่เป็นไปในลักษณะ "ยิงเพื่อระบายกระสุนทิ้ง" คงจะเป็นในลักษณะยิงนกก็น่าจะได้

เรื่องแนวรบด้านเชียงตุงนี้ สามารถเขียนได้อีกตอนใหญ่ ๆ ครับ สนุกสนานไม่แ้พ้ประวัติท่านเจ้าคุณทรงฯ แต่อย่างใด ทั้งเรื่อง "เดินนับไม้หมอนกลับบ้าน" , "รองเท้าทหาร(COMBAT)ตราช้าง" ฯลฯ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 425  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:26

การทำงานของพลต.อ. อดุล อธิบดีตำรวจในเรื่องเสรีไทย  ข้อมูลแบ่งเป็น ๒ ทาง   ทางหนึ่งบอกว่าท่านตัดสินใจอำนวยความสะดวกให้เสรีไทยเพราะมีการประสานงานมาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต่างประเทศก็จากนายปรีดี  และท่านตกลงที่จะร่วมมือ  แต่ข้อมูลอีกทาง ระบุว่า พลต.อ. อดุลนั่นแหละเป็นคนก่อตั้งเสรีไทยในประเทศขึ้นมาเองเลย  ไม่ใช่ประสานต่อจากใคร



สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก



นั่นสิครับ ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ หรือว่าคุณหลวงจะสวมวิญญาณนักฟุตบอลที่โชว์ลีลาขั้นเทพ สับขาหลอกไปมา.. ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 426  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:29

ชนกันกลางอากาศอีกแล้ว
เรื่องยังไม่จบ  จำต้องเล่าอีกสักค.ห.หนึ่ง  ถึง งานใต้ดินของจอมพล ป. ที่ประสานกับจีน
ข้อมูลก็น่าตื่นเต้นระทึกใจ ยิ่งกว่าเจมส์บอนด์ 007
พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เล่าไว้ว่า
"หลังจากไทยยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านเมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ แล้ว ความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็กระชับแน่นมากขึ้นตามลำดับ มีการลงนามในความตกลงร่วมยุทธกับฝ่ายทหารญี่ปุ่นเมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งกองทัพพายัพและส่งขึ้นไปยึดดินแดนสหรัฐไทยเดิม หรือรัฐฉานของพม่าในปัจจุบัน เพื่อยันกองทัพจีนไว้ เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถรุกเข้าพม่าได้โดยสะดวก

กองทัพพายัพสามารถเข้ายึดเชียงตุงเมืองหลวงของสหรัฐไทยเดิมได้เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ พลตรีหลวงหาญสงคราม(จอมพล ผิน ชุณหะวัณ บิดาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยเข้ายึดเชียงตุงกระทำพิธีอัญเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสาที่เมืองนี้ด้วยตัวของท่านเอง

ครั้นเดือนถัดมาเมื่อสถานการณ์เริ่มพลิกผัน ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อเมริกันในยุทธนาวีที่มิดเวย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มตระหนักถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจ จึงเริ่มหาทางออกด้วยการติดต่อกับจีนหวังให้เป็นสะพานเชื่อมโยงสู่สหรัฐและอังกฤษ

งานใต้ดินของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็เริ่มขึ้น

เริ่มงานใต้ดิน
พลเอก เนตร เขมะโยธิน นายทหารที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.พิบูลสงครามในขณะนั้น ได้บันทึกจุดเริ่มต้นของงานใต้ดินครั้งนี้ไว้ว่า

"เมื่อกองทัพพายัพของไทยซึ่งได้รับมอบหน้าที่ให้ทำการรบในแคว้นฉานของพม่า(ต่อมาเรียกว่าสหรัฐไทยเดิม)ได้รุกถึงเส้นพรมแดนระหว่างประเทศพม่ากับแคว้นยูนานของประเทศจีน ครั้นแล้วกองทัพพายัพกับกองทัพจีนก็ตรึงกันอยู่เพียงแค่นั้น ระหว่างนั้นเองทางเราก็ติดต่อกับกองทัพจีนว่า เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนประเทศจีนต่อไปอีก เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถานการณ์บังคับ เราอยากจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีนทางด้านนี้เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันมากกว่าที่จะเป็นศัตรูต่อกัน

ครั้นต่อมาเราก็ได้รับคำตอบจากทางด้านจีนว่า ยินดีจะพบกับผู้แทนของกองทัพไทย…"

เมื่อมีความคืบหน้าเช่นนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็สั่งการเพิ่มเติมเพื่อขยายผลแห่งความสำเร็จทันที

ลักลอบพบปะกับจีน
เนื่องจากข่าวความสำเร็จครั้งแรกนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเพื่อให้ได้ท่าทีที่ชัดเจน จอมพล ป.จึงสั่งการให้จัดนายทหารข้ามแดนไปพบกับฝ่ายจีนโดยตรง

"ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งให้กองพลที่ ๓ ของไทยซึ่งประจันหน้าอยู่กับกองพลที่ ๙๓ ของจีนที่เมืองเชียงล้อส่งนายทหารชั้นผู้น้อยข้ามพรมแดนปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีนเป็นการหยั่งท่าทีกันดูก่อน

ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ ของไทยในขณะนั้นคือ พล.ต.หลวงหาญสงคราม จึงได้ส่ง พ.อ.หลวงไกรนารายณ์ พ.ท.แสวง ทัพภะสุต กับนายทหารอีก ๒-๓ นายลอบไปพบและติดต่อกับผู้บัญชาการทหารจีนที่เมืองเชียงล้อเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ การพบกันครั้งนั้น ทางกองพลที่ ๓ ได้รายงานตรงมายังจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้นแล้วท่านจอมพลได้ส่งมาให้ พล.ท.จีระ วิชิตสงคราม เสนาธิการกองทัพบกสนามทราบ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่พึงพอใจ แต่การพบปะกันครั้งนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้น และเป็นการพบกันระหว่างผู้บังคับหน่วยทหารในแนวรบเท่านั้น ทั้งสองฝ่ายจึงนัดพบกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการพบปะครั้งสำคัญ เพราะได้ตกลงกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งผู้แทนของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแต่ละฝ่ายซึ่งมีอำนาจเต็มไปเจรจาหารือกันต่อไป

ในตอนนี้เองที่ข้าพเจ้าได้มีบทบาทร่วมการปฏิบติงานใต้ดินกับเขาด้วย"

พันเอกโยธี
"พันเอกโยธี"เป็นนามรหัสที่ฝ่ายพันธมิตรตั้งให้กับ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ในฐานะตัวแทนของฝ่ายเสรีไทยไปร่วมปฏิบัติงานที่เมืองแคนดี ลังกา และต่อมาท่านได้เขียนบันทึกประสพการณ์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไว้ในหนังสือชื่อ"งานใต้ดินของพันเอกโยธี"ซึ่งจัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของไทย

ผมนำเรื่องราวของ เสธ.ทวี มาเล่าให้ฟังไปแล้ว ชีวิตของ พล.อ.เนตร เขมะโยธินก็นับว่ามีความโลดโผน ตื่นเต้น แทบไม่ต่างกัน อย่างที่เล่ามาถึงตอนนี้ว่า ท่านกำลังจะไปทำงานใต้ดินให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๗ เป็นผลให้งานใต้ดินของท่านต้องสิ้นสุดลงไปด้วย พล.อ.เนตร เขมะโยธินก็จะไปเข้าร่วมกับเสรีไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจกู้ชาติต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 427  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:40



นั่นสิครับ ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ หรือว่าคุณหลวงจะสวมวิญญาณนักฟุตบอลที่โชว์ลีลาขั้นเทพ สับขาหลอกไปมา.. ?

ค.ห.ดิฉันข้างบนนี้เป็นการเอาข้อมูลหลายแหล่งมาโชว์กันให้เห็นทั้งหมด    ยังไม่ได้ย่อยว่าความจริงน่าจะเป็นยังไง  แค่อ่าน ก็คงพอเดาได้ว่า ชวนมึนงงขนาดไหน   นี่ขนาดเอามาให้เห็นเบาะๆ ยังไม่ได้ขนมาทั้งหมด  ถ้าขนมาหมด  กองเชียร์ก็คงเป็นลมตกสแตนด์ทั้งกอง
ฝากคุณนวรัตนช่วยตัดสินเป็นคนแรกได้ไหมคะ?

เพราะข้อมูลที่ชนกันสนั่นจากหลายแหล่งนี้  กลายเป็นว่า ฮีโร่ของเสรีไทยมีทั้งนายปรีดี  พลต.อ.อดุลและม้ามืดที่ไม่มีใครนึก คือจอมพล ป.  ท่านเอง
เรื่องพลต.อ. อดุลก่อตั้งเสรีไทยสายตำรวจมาแต่แรกเอง หรือว่ายอมประสานงานร่วมกับเสรีไทยสายนายปรีดี    เอาไว้ก่อน    เพราะจะเป็นแบบไหนก็ดูจะไม่ส่งผลลัพท์ให้แตกต่างกันนัก   ค่าของ X  ยังไม่แตกต่างคนละขั้ว   เอาเป็นว่าท่านเป็นเสรีไทยในประเทศ
แต่คำถามที่ค้างคาใจคือ พล ต.อ. อดุลทำงานลับใต้จมูกจอมพล ป.   หรือว่าท่านทำตามคำสั่งจอมพล ป.  กันแน่
คำตอบทางที่ ๒ ก่อให้เกิดตัวแปรสำคัญ  คือถ้า ใช่ แบบที่สอง   จอมพล ป. ก็ทั้งประสานงานกับจีนโค่นญี่ปุ่นโดยมีเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่ทางยุทธศาสตร์   และยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยตัวจริงในประเทศไทย  โดยนายปรีดีเองก็ไม่รู้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 428  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 09:45

บอกแล้วไงคะ ว่าถ้าจะปั่นกระทู้ให้ถึง ๕๐๐ ได้ก็เรื่องเสรีไทยนี่แหละ ลากยาวจนพระยาทรงท่านคอยตอนจบ  จนเมื่อยแล้วเมื่อยอีกอยู่ที่พนมเปญ   ไม่มีโอกาสออกโรงสักที
ขอเชิญท่านผู้อ่านออกความเห็น ค่ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 429  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 10:42

อ้างถึง
ค.ห.ดิฉันข้างบนนี้เป็นการเอาข้อมูลหลายแหล่งมาโชว์กันให้เห็นทั้งหมด    ยังไม่ได้ย่อยว่าความจริงน่าจะเป็นยังไง  แค่อ่าน ก็คงพอเดาได้ว่า ชวนมึนงงขนาดไหน   นี่ขนาดเอามาให้เห็นเบาะๆ ยังไม่ได้ขนมาทั้งหมด  ถ้าขนมาหมด  กองเชียร์ก็คงเป็นลมตกสแตนด์ทั้งกอง
ฝากคุณนวรัตนช่วยตัดสินเป็นคนแรกได้ไหมคะ?

ผมเคยแสดงทัศนะของผมไว้ในกระทู้นี้

คคห.116
ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

คคห.182
ความยากลำบากของผู้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็เป็นดังที่ผมปรารภในกระทู้แล้วๆ ว่ายากที่คนในชั้นหลังจะทราบว่าข้อความอะไรเป็นเท็จ อะไรเป็นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีย์ในยุคปัจจุบัน เห็นภาพเดียวกันแท้ๆคนยังเชื่อเป็นสองทาง
แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก โดยเฉพาะเรื่องค้นหาความจริงที่จะเลือกเชื่อจากหนังสือกองพะเนินเทินทึกที่แต่ละเล่มมีรายละเอียดชนิดที่เรียกว่า“คนละเรื่องเดียวกัน” ยิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งเมาตัวหนังสือ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 430  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 10:57

^
ยังสรุปไม่ได้ครับ

ผมอยากจะเชิญชวนให้ท่านอาจารย์เทาชมพูลองหา "คำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส พยานโจกท์ ให้การคดีอาชญากรสงคราม จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำเลย" ผมมีอยู่ไม่รู้ซุกอยู่ซอกไหน อ่านแล้วต้องร้องเอ้อเหอ ๆ ไปตลอด ไม่นึกว่าเพื่อนจะยำเพื่อนแบบตรงไปตรงมาขนาดนี้ คุณป้าจียังบอกว่า"ยังเด็ก แต่ทราบว่าตอนนั้นคุณหลวงอดุล มาที่บ้านเราบ่อยมากเลย ตอนหลังพี่ไปเจอหนังสือที่หลวงอดุลท่านเป็นพยานตอนคุณพ่อเป็นอาชญากรสงคราม พี่ไม่เข้าใจเลย คำให้การของหลวงอดุล แหม ด่าคุณพ่อจังเลย ให้การอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคุณหลวงอดุล เป็นเพื่อนกันมา รักกัน ต่างคนต่างไอ้ กู มึง สนิทสนมกัน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 431  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 11:18

เคยถามผู้เชี่ยวชาญที่ไปขอความรู้ท่าน   ว่าทำไมไม่มีกรรมการชี้ชัดเรื่องประวัติศาสตร์ลงไปให้รู้คำตอบจริงๆเสียที    นักเรียนจะได้ไม่งง  ท่านก็ตอบยิ้มๆทีเล่นทีจริงว่า ถ้างั้นนักประวัติศาสตรก็ตกงานหมดน่ะซี
ประวัติศาสตร์เป็นวิชาสำหรับฝึกให้คิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองและสรุป   ไม่ใช่วิชาสอนให้เชื่อ   แต่ไม่รู้ว่าในโรงเรียนเขาสอนกันแบบไหนอย่างไรนะคะ   ไม่เคยไปเข้าชั้นเรียน

เรื่องเสรีไทย  ประมวลจากข้อมูล  ได้คำตอบไม่มีข้อสงสัยเรื่องนายปรีดีว่าเป็นผู้ประสานงานรายใหญ่ของเสรีไทยในประเทศ     แต่คำถามก็คือ ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่แต่ผู้เดียวหรือ    ถ้าหากว่าไม่ใช่  มีท่านอื่นด้วย  เราก็ควรจะรำลึกถึงวีรกรรมของท่านอื่นๆนั้นด้วยเช่นกัน     มิฉะนั้นก็จะไม่ยุติธรรมที่ถูกมองข้ามไป
พลต.อ.อดุล เมื่อคำนึงถึงฐานะอธิบดีตำรวจแล้ว  มีบารมีและเครือข่ายกว้างขวางกว่านายปรีดี ในการคุ้มครองเสรีไทยให้ทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง     เพราะลำพังแต่นายปรีดีซึ่งเป็นพลเรือน  มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  แม้่เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงยิ่ง แต่ก็ไม่มี"กำลังคน" อยู่ในมือโดยตรงอย่างอธิบดีตำรวจ
การจะคุ้มครองเสรีไทย  ทำได้ยากกว่าพลต.อ. อดุล    หากว่าข่าวเล็ดรอดไปถึงญีปุ่นได้    ญีปุ่นก็จะไม่เกรงใจ เพราะรู้ว่านายปรีดีเป็นคนละขั้วกับจอมพล ป.   ก็คงปราบปรามทั้งเสรีไทยและนายปรีดี    แต่นี่มีเครือข่ายตำรวจของพล ต.อ.อดุลเป็นข่ายเพชรเจ็ดชั้นป้องกันอยู่อีกชั้นหนึ่ง

ส่วนคำถามสุดท้าย ว่าจอมพล ป.หนุนหลังพล ต.อ.อดุลอยู่อีกทีหรือเปล่า     ถ้าหากว่าพลต.อ.อดุลยำเพื่อนรักเสียเละตอนขึ้นศาลอาชญากรสงคราม   (ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้  ไม่รู้จะหาไปหาที่ไหน)  ก็เป็นได้ว่าท่านอธิบดีตำรวจทำงานลับอยู่ใต้จมูกเพื่อนเก่า 

จอมพล ป.ไม่ใช่เสรีไทย   แต่ว่าต่อต้านญี่ปุ่นตามแบบของท่านคือดอดไปจับมือกับจีน  ข้อนี้คุณม้าเวบมาสเตอร์ ก็ไม่เชื่ออีกนั่นแหละ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 432  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 11:42

ถ้าจะรอกระทู้นี้ชำระประวัติศาสตร์ท่อนนี้ให้จบเสียก่อน สงสัยพระยาทรงท่านจะต้องตรากตรำอยู่ในพนมเปญจนเลยเกษียน ไม่ได้กลับบ้านเก่าไปพักผ่อนเสียที

ลองตามไปดูให้ท่านไปตามบทของท่าน พอถึงตอนวิเคราะห์ กระทู้อาจจะวิ่งฉิวโดยไม่ต้องปั่นก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 433  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 11:43

คุณนวรัตนอาจจะลำบากใจแม้ว่าหาหนังสือเจอแล้ว ที่จะลอกลงมาตรงๆ   ถ้างั้นกรุณาเก็บความมาเล่าได้ไหมคะ ว่าพลต.อ. อดุลให้การถึงจอมพล ป. ว่ายังไง  ในทำนองไหน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง  เสรีไทยออกมาเดินสวนสนามฉลองสันติภาพกันครั้งใหญ่ เมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘  แล้วก็ยุบขบวนการอย่างเป็นทางการเพราะหมดภาระหน้าที่แล้ว   แต่เสรีไทยที่ไม่เป็นทางการก็ยังธำรงอยู่   กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี
ส่วนพลต.อ. อดุลได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก พลเอก พลอากาศเอก  และพลเรือเอก     และข้ามจากกรมตำรวจไปสู่กองทัพบก  คือจากอธิบดีตำรวจเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี ๒๔๘๙  เราก็คงพอมองออกว่า เมื่อท่านเป็นเสือข้ามห้วยไปกินตำแหน่งแม่ทัพ  ก็ย่อมก่อความชะงักงันให้การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่โตมาตามขั้นตอนทหาร    ด้วยเหตุนี้กระแสความไม่พอใจจึงเกิดขึ้นในกองทัพ    ในปีต่อมาพ.ศ.๒๔๙๐ ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ส่วนสมาชิกเสรีไทยที่ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ในสายของนายปรีดี  ก็เติบโตขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองสำคัญ  มี ๒ กลุ่มคือ พรรคสหชีพของนักการเมืองอีสาน มีแกนนำคือนายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล  กลุ่มที่ ๒  เป็นพวกอดีตเสรีไทยที่ไม่ใช่อีสาน  เช่นนายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ นายเดือน บุนนาค
นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองที่หนุนนายปรีดีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก คือ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายทองเปลว ชลภูมิ นายดิเรก ชัยนาม มล.กรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
แต่เรื่องนี้ชักจะไกลพระยาทรงฯออกไปทุกทีแล้ว ขอเบรคไว้แค่นี้ก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 434  เมื่อ 12 ก.ค. 10, 11:46

ก่อนจะสิ้นเมษายนของปี 2487 วันหนึ่งที่บ้านร้านขนมไทย พระยาทรงมีแขกคนไทยหิ้วกระเป๋าเดินทางมาหาท่านและแนะนำตัวเองว่า ตนเป็นนายทหารยศร้อยเอกเป็นลูกศิษย์ของท่านมากราบเยี่ยมอาจารย์ด้วยความเคารพ พระยาทรงท่านงุนงงมากที่มีศิษย์ซึ่งท่านจำไม่ได้ และเป็นนายทหารประจำการ กล้ามาเยี่ยมท่านขณะที่คนอื่นไม่กล้าทำ แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนายร้อย นายทหารที่ผ่านสถาบันนี้ก็ถือเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กับท่านทุกคน ท่านจึงต้อนรับเขาในฐานะศิษย์

นายร้อยเอกคนนี้ ท.ส.ของท่านมิได้เปิดเผยนามจริง แต่สมมติให้ชื่อร.อ.เล็ก ผมก็จะเรียกตามไปในชื่อนี้ด้วยก็แล้วกัน

ร.อ.เล็กเล่าว่าตนได้รับคำสั่งให้เรียนงานการพิมพ์แสตมป์และธนบัตรที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา3ปี สำเร็จแล้วเดินทางกลับโดยทางเครื่องบินมาลงที่ไซ่ง่อน แทนที่จะขึ้นเครื่องต่อไปกรุงเทพเพื่อรีบกลับบ้านไปหาครอบครัวที่จากกันมานานหลายปี กลับแบกกระเป๋าพะรุงพะรังหาทางไปขึ้นรถขนส่ง อีกหลายชั่วโมงจากไซ่ง่อนมาพนมเปญ เพราะตั้งใจจะมาเยี่ยมเคารพอาจารย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากแม้จะไม่คุ้นเคยก็ตามที แม้จะฟังแปลกๆท่านก็เชิญขึ้นบ้าน เลี้ยงอาหารกลางวันกันตามมีตามเกิด การสนทนาก็ไปในแนวคำถามคำตอบเกี่ยวกับสารทุกข์สุขดิบ หน้าที่การงาน บ้านเมืองของเขาของเรา ครั้นได้เวลาอันควรที่แขกควรจะลากลับได้แล้ว ท่านก็ถามร.อ.เล็กว่าจะพักที่ไหน

พระยาทรงท่านหมายถึงจะพักที่โฮเต็ลไหน ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในพนมเปญ ร.อ.เล็กก็ทำหน้างงๆอึกอักอยู่ พระยาทรงท่านเลยบงการท.ส.ให้จัดที่นอนให้แขกในเรือนหลังเล็กที่ร.อ.สำรวจพักอยู่กับมารดาของตนคนละห้อง โดยมารดาของร.อ.สำรวจจะต้องย้ายขึ้นไปนอนบนเรือนใหญ่ที่พระยาทรงและครอบครัวพักอยู่ เขาเดือดร้อนกันขนาดนั้นร.อ.เล็กก็ยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนไม่มีเงินพอค่าโรงแรมซะงั้น ทีค่าเครื่องบินค่ารถที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาตั้งไกลยังจ่ายได้


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 27 28 [29] 30 31 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง