เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 20 21 [22] 23 24 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328804 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 315  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 19:02

โชคดีที่ไม่เกิดในสมัยนั้นนะคะ โดนบังคับให้เปลี่ยนแปลงความเคยชินของตัวเอง คงอึดอัดน่าดูเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 316  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 19:27

หมากกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ราวกับฝิ่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์   จึงมีการโค่นหมากกันเป็นไร่ๆ   หมากหายเข้าตลาดมืด  ใครจะกินต้องส่งซิกกับคนขายเพื่อจะซื้อมากินด้วยราคาแพงกว่าปกติ     พลูก็เจอชะตาเดียวกัน    กินหมากแล้วออกจากบ้านต้องบ้วนปากแปรงฟันให้หายคราบน้ำหมาก
แม้จะมีความทุลักทุเลในการดำเนินชีวิตแบบอารยะวัธนธัม    ชาวไทยก็ยังทนไหว  เพราะยังมีงานรื่นเริงต่างๆให้ไปสังสรรค์กันได้ไม่ขาด     นอกประเทศเขายิงกันตูมๆ แต่สยามซึ่งกลายมาเป็นประเทศไทย ก็ยังสนุกสนานกันได้อยู่
จนกระทั่งญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาเบอร์แบบสายฟ้าแลบ ในวันอาทิตย์ที่  ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔   ก็เหมือนสัญญาณแรกของฝันร้าย สำหรับคนไทยที่ยืดเยื้อต่อมาถึง ๔ ปี

ใครดูหนังPearl Harbor คงนึกภาพวันเครื่องบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดได้ออก เพิร์ลฮาเบอร์โกลาหลอลหม่าน  เรือรบ"อริโซน่า" โดนระเบิดเข้าเต็มรักจนจมดิ่งลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวในเวลาไม่กี่วินาที   คร่าชีวิตลูกเรือทั้งลำเรือในพริบตา  ตามมาด้วยความเสียหายอีกหลายอย่างที่อยากจะให้ไปหาวิดีโอหนังเรื่องนี้มาดูกันเอง
ไปเจอหนังตัดตอนในยูทูป เวอร์ชั่นอิตาเลียน  มันตื่นเต้นและเห็นภาพชัดกว่าสารคดีของจริง   ก็เลยเอามาฝากกันค่ะ


ถ้าใครไปเที่ยวโฮโนลูลู  ไปดูอนุสรณ์สถานของเพิร์ล ฮาเบอร์ ก็ยังเห็นเรือรบจมอยู่ในน้ำ มองลงไปเห็น  เขาเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ได้กู้่ขึ้นมา

ความเสียหายที่เพิร์ลฮาเบอร์ได้รับ ทำให้อเมริกาประกาศผาง โดดเข้าร่วมรบกับฝ่าย "พันธมิตร" (ที่คนละความหมายกับ"เสื้อเหลือง"นะคะ) คืออังกฤษและฝรั่งเศส ทันที
เท่ากับว่าญี่ปุ่นไปปลุกเสือให้ออกจากถ้ำแล้ว     ก็เหลือแต่ว่าจะเป็นฝ่ายถลกหนังเสือได้  หรือถูกเสือขย้ำเท่านั้น

ส่วนคนไทย ไม่รู้เรื่อง เพราะข่าวสารยังมาช้ามาก   ช่วงปลายปีอยู่ในฤดูหนาว อากาศเย็นสบาย   บ้านเมืองมีงานใหญ่ต่างๆสำหรับประชาชนออกเที่ยวเตร่กัน  งานออกหน้าออกตาสมัยนั้นคืองานรัฐธรรมนูญ  จัดหลายวันติดต่อกันให้ชาวกรุงออกเดินเที่ยวเตร่ชมร้านรวงของราชการที่มาออกในงาน    คล้ายๆงานกาชาดสมัยนี้
งานรัฐธรรมนูญสมัยโน้นเป็นงานไฮโซ    เราไปงานกาชาดเดี๋ยวนี้ อาจจะใส่เสื้อยืดลากรองเท้าแตะ    แต่งานรัฐธรรมนูญเป็นแหล่งรวมของคนโก้ทั้งหญิงชาย   ประกอบกับรัฐบาลเองก็หนุนให้ประชาชนแต่งตัวอย่างอารยะ   ชายจึงสวมเสื้อนอก และหญิงสวมชุดราตรีหรูหรา  ไปเดินชายกระโปรงลากฝุ่นในงานกันอย่างหนาตา

คนกรุงเทพเที่ยวงานจนดึกดื่นก็กลับบ้านหลับสบาย    ไม่รู้ล่วงหน้าแม้แต่น้อยว่า เช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จะตื่นขึ้นมาพบว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบุกประเทศไทยเสียแล้ว
เมื่อโกโบริยาตราทัพเข้ามา ก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกเลยสำหรับคนไทย   แม้แต่อนาคตของจอมพล ป. เอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ก.ค. 10, 20:15 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 317  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 20:35

ในเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นจู่โจมไทยแบบสายฟ้าแลบ  ทางด้านตะวันออก เครี่องบินขับไล่เซ็นโตกิโจมตีสนามบินวัฒนานครซึ่งมีกำลังเพียงส่วนน้อยรักษาอยู่  ยิงกองบังคับการและอาคารไม่ยั้งจนเสียหายแบบไม่มีใครรู้ล่วงหน้า  พอตั้งตัวได้  เครื่องบินไทยบินขึ้นต่อสู้ ๓  ต่อ ๒๕ เครื่องทางฝ่ายโน้น  ก็เลยถูกข้าศึกยิงตกทั้งหมด  เราเสียทั้งเครื่องบินและนักบิน
ทางใต้ ญี่ปุ่นยกพลบุกสายฟ้าแลบพร้อมกันหลายแห่ง   ตั้งแต่จังหวัตประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงปัตตานี   ที่ประจวบฯ กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อยึดกองบินน้อยที่ ๕ แต่ทหารไทยที่นี่ไม่หมู  นาวาอากาศโท ม.ล.ประวาศ ชุมสายกับทหารอากาศไทยอีกราว ๑๒๐ คนปักหลักสู้อย่างทรหด  จนญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่า ๕๐๐ คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนทหารอากาศไทยเสียชีวิต ๔๐ คน บาดเจ็บสาหัส ๔ คน  ไทยก็ยังสู้จนกระทั่งมีคำสั่งจากกรุงเทพให้หยุด
ญี่ปุ่นบุกสายฟ้าแลบ แต่ทางไทยก็ไม่ยอมแพ้   วันที่ ๘ ธันวาคมนี้เองเป็นที่มาของวีรกรรมยุวชนทหาร จังหวัดชุมพร เมื่อรบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร นอกจากตำรวจทหารที่เข้าสู้กับญี่ปุ่น  ก็ยังมียุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัย เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่  จนเสียชีวิตไปหลายคน

ส่วนรัฐบาลไทย กระทำการพลิกล็อคถล่มทลาย

คงจะจำได้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลระดมอาวุธยุทโธปกรณ์   ระดมพลเข้าประจำที่  จอมพล ป.ออกเยี่ยมบำรุงขวัญทหาร   และถึงขั้นออก พ.ร.บ.ให้ประชาชนรบอย่างสุดใจขาดดิ้น หากเกิดสงคราม   มีการปลุกใจทางวิทยุทุกวันให้รบข้าศึกถึงที่สุด   ถ้าสู้ไม่ไหวก็ให้เผาทำลายเสียให้หมด      คนไทยก็รบจริงๆ เมื่อข้าศึกจู่โจมเข้ามา
คืนวันที่ ๗ ธันวาคม  ตอนห้าทุ่ม  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี  แต่จอมพลป.ท่านไม่อยู่  ไปราชการที่อรัญประเทศ   มีแต่รมว.ต่างประเทศรับหน้าศึกแทน   ท่านทูตญี่ปุ่นแจ้งว่าญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาแล้ว  ตอนนี้จำเป็นต้องยกพลขอผ่านประเทศไทย  ขอให้ไทยยินยอมด้วย
คืนนั้น คณะรัฐมนตรีถูกตามตัวกันอลหม่าน  ได้กันมาไม่ครบ ตามกันมาตามมีตามเกิดเพราะฝ่ายที่เป็นทหารก็ไม่อยู่   นายกฯก็ไม่อยู่   ไม่มีใครตัดสินใจว่าจะยอมหรือไม่ยอมได้   เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่จอมพล ป.เพียงผู้เดียว
ผลก็คือกว่าจอมพล ป. จะกลับกรุงเทพมาประชุมได้ก็ล่วงเข้าวันรุ่งขึ้น    ญี่ปุ่นกับไทยรบกันตายไปแล้วมากมาย    กว่าจอมพลป. จะตัดสินใจได้ว่า ยอมเขา    และสั่งให้ทหารไทยกับคนไทยหยุดรบ  ยอมให้ญี่ปุ่นกรีฑาทัพเข้าประเทศไทยโดยดี

คำพูดของจอมพล ป. คือ
"ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน  เพราะเราไม่มีกำลัง . . . "
และอีก ๓ วันต่อมาคือวันที่ ๑๑ ธันวาคม    จอมพลป.ก็ให้ความเห็นประวัติศาสตร์ อีกครั้งหนึ่งว่า
"..แต่ในใจของผมเห็นว่าเมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม  ๑๐๐ %  เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา . . ."
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 318  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 21:27

อ่านรายงานการประชุมของคณะรัฐมนตรีในคืนวันที่ ๗ ธันวาคม ต่อกับเช้าวันที่ ๘ ธันวาคมแล้ว  ยาวเหยียดเกินกว่าจะลอกลงมาได้
อ่านแล้วก็รู้สึกว่า คนที่มีเสียงสำคัญ ไม่อยากให้ไทยรบกับญี่ปุ่นคือพล ต.ต.อดุล  อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นเพื่อนรักและขุนพลตำรวจคู่ใจของจอมพล ป.  ท่านแถลงยาวกว่าเพื่อน   ใจความคือเห็นความสำคัญของแสนยานุภาพญี่ปุ่นมากเอาการ   เห็นว่าขนาดอเมริกาญี่ปุ่นยังกล้าทำสงครามด้วย  ประเทศไทยเล็กๆอย่างเรา เขาขออย่างสุภาพว่าขอแค่ผ่าน ก็ถือว่าให้เกียรติไทย
พลต.ต. อดุล เห็นว่าญี่ปุ่นส่งเรือรบ ๑๕ ลำมาปิดอ่าวไทย  แสดงว่าอเมริกา ดัทช์หรืออังกฤษคงมาช่วยไทยไม่ได้  ถ้ามาก็ต้องปะทะกับเรือญี่ปุ่น   อังกฤษหรืออเมริกาหรือชาติไหนๆก็ไม่สามารถจะช่วยชาติอื่นได้  ทุกชาติต้องช่วยตัวเอง
ถ้าไทยจะสู้จนวาระสุดท้าย (ก็อย่างที่ออกพ.ร.บ.มาก่อนหน้านี้) ก็สู้ได้นานไม่ถึงปี    ถ้ารบกันแล้วแพ้   ไทยก็แพ้แบบกลายเป็นขี้ข้า  เป็นเมืองขึ้น ๑๐๐%
มีประโยคสำคัญอยู่ในความเห็นของพลต.ต.อดุล   ขอลอกมาให้อ่านกัน   เมื่ออ่านแล้วจะเห็นยังไงก็ตามแต่ความคิดแต่ละคน

" รัฐบาลที่จะสู้นั้นหมายความว่ารัฐบาลจะต้องออกไปอยู่นอกประเทศ    เท่าที่ปรากฏในยุโรปหลายประเทศแล้ว   รัฐบาลที่อยู่นอกประเทศปรากฏว่ามีเสียงไม่ดังพอ..."
" แผ่นดินที่เขายึดไว้ได้นั้น  เขาก็จำเป็นจะต้องตั้งคนไทยนั้นเองเป็นรัฐบาลใหม่    เมื่อได้ตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว  ก็เป็นอันว่ารัฐบาลไทยปกครองไทยแต่ว่าอยู่ในบังคับเขาเต็มที่"
" ผมเห็นว่าเราควรพูดจาผ่อนไปบ้างตามสมควร    เพราะเราขืนสู้ก็สู้ไม่ได้   และไม่มีใครเขาช่วยเราได้อย่างเต็มที่"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 319  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 22:25

สรุปก็คือรัฐบาลตกลงยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน   โดยตกลงกันอย่างสันติว่าจะไม่สู้รบกัน จะเคารพกันและกัน   รัฐบาลก็สั่งให้ทหารและพลเรือนหยุดยิง หยุดต่อสู้กับญี่ปุ่น
โกโบริถึงมาพำนักอยู่ใกล้ๆบ้านสวนของอังศุมาลินได้   ไม่มีกำหนดเวลา  จนกว่าแม่ทัพจะสั่งให้เคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ถึงจะไปจากไทย

คนไทยก็ออกจะงุนงง ตกอกตกใจกับการตื่นขึ้นมาพบทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มเมือง     ความจริงสายลับของญี่ปุ่นแทรกซึมเข้ามาในไทยก่อนหน้านี้นานนับปีแล้ว  ในรูปของหมอฟันบ้าง พ่อค้าบ้าง   คืนวันที่ ๗ ธ.ค. ก็ลุกขึ้นถอดเสื้อเชิ้ตสวมเครื่องแบบญี่ปุ่นออกมาเดินกันพรึ่บตามถนนหนทาง   คนไทยที่ยังไม่กลับบ้านเข้านอนก็ตื่นตระหนกกันว่าเกิดอะไรขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลขอเป็นอันดับแรกๆคือให้ทหารญี่ปุ่นเหล่านี้กลับเข้าบ้านช่องที่พัก  อย่าออกมาเดิน
แต่ในเมื่อไม่มีสงครามให้เห็น  ชาวกรุงเทพก็เลยค่อยรู้สึกหายตกใจในเวลาไม่นาน   แล้วก็แห่กันมายืนดูญี่ปุ่นตามถนนหนทาง ราวกับดูพาเหรด
โดยไม่รู้เลยว่าจะได้เห็นกันต่อมาอีกถึง ๓ ปี ย่างเข้า ๔ ปี
บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 320  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:18

ขออนุญาติท่านอาจารย์ทั้งหลายเข้ามาเช็คชื่อว่ายังคงติดตามและขอขอบพระคุณที่ได้เล่าถึงความรู้ให้ทราบครับ....

ได้ทราบตั้งแต่ปฏิวัติ๒๔๗๕เกี่ยวกับพระยาทรงฯจนถึงยุคจอมพล ป.แต่ข้องใจเกี่ยวกับกบฏแมนฮัตตัน....ว่าตกลงใครเป็นผู้ก่อการ?แล้วมีใครต้องโทษภัยบ้าง?อย่างไร?

เห็นว่าในกระทู้ไม่ได้กล่าวถึงก็เลยสงสัยน่ะครับ.....เพราะบุคคลเหล่านี้ก็เริ่มต้นมาด้วยกัน...กรรมของแต่ละท่านก็ได้มาเห็นถึงลูกหลาน.....แต่ครั้นจะเล่าถึงพระยาทรงฯแล้วเข้าซอยไปถึงจอมพลฯแปลก....แล้วไม่จบ สงสัยว่านักเรียนโง่ผู้นี้คงอกแตกเสีย....ขออาจารย์กรุณาด้วยครับ....

แต่ตอนนี้พ่อโกโบริออกฉากมาแล้ว.....ก็จะขอให้พ่อดอกมะลิเชิญต่อไปครับ...
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 321  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:19

ขอเสริมครับ

ข้อมูลในหนังสือ "ทหารเหลือใช้สงคราม" ของท่านพลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์  ท่านเล่าว่าตอนนั้นท่านประจำอยู่ที่วัฒนานคร วันที่ญี่ปุ่นบุก ท่านก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมทหารในกองร้อยให้พร้อม จากนั้นทุกคนขึ้นรถกำลังแล่นออกจากกองร้อย ก็ปรากฏว่าได้รับคำสั่ง "ให้กลับเข้าที่ตั้ง" ทำให้ท่านผู้การถาวรออกอาการงงพอควร ผิดกับตอนที่จะไปตีฝรั่งเศสในแดนเขมรเป็นคนละเรื่องเดียวกันครับ

สำหรับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นนั้น มีเกร็ดอีกนิดหนึ่งในหนังสือ "สงครามมืดญี่ปุ่นบุกไทย" ของลุงสรศัลย์ แพ่งสภาผู้ล่วงลับ ท่านกล่าวว่า ญี่ปุ่น กลัวเรือดำน้ำของไทยอยู่พอควร(เรือดำน้ำไทยก็ต่อมาจากอู่ของบริษัทมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นนั่นเอง)

ในแผนยุทธการที่ญี่ปุ่นวางไว้ จะบุกประเทศด้านตะวันออกพร้อม ๆ กัน ได้แก่ จีน,เวียตนาม(ตอนนั้นเป็น โคชิจีน),ไทย,มาเลเซีย,สิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อทำให้ประเทศในแถบนี้ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้

ช่วงที่ญีุ่่ปุ่นขึ้นฝั่งโคชินจีนได้นั้น ก็บังเอิญให้เรือตรวจการณ์ของอังกฤษที่คอยลาดตระเวนในอ่าวไทย ได้ตรวจพบการเคลื่อนไหวของกองกำลังทางเรือของญี่ปุ่น...........แต่ท่านผู้ดี ท่านคิดว่าไม่อยากจะไปยุ่ง....ก็เลยปล่อยผ่านไป และก็ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนกลับมายังประเทศไทยแต่อย่างใดด้วยเช่นกัน

จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถบุกเข้ามาได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะถ้ามีการแจ้งเตือนมา เราอาจจะได้อ่านประวัติศาสตร์เรือดำน้ำไทยเข้าทำยุทธนาวีกับกองทัพที่ต่อเรือมาให้เราใช้ครับ และญี่ปุ่นน่าจะสูญเสียมากกว่านี้

สำหรับผลกรรมของท่านผู้ดีนั้น ก็จะสนองในอีกไม่กี่วันต่อมา กล่าวคือญี่ปุ่นก็ไปเยี่ยมเยือนถึงสิงคโปร์และมาเลเซีย พร้อมของว่างเป็นลูกระเบิด ส่วนอาหารหลักเป็นกระสุนปืนทั้งใหญ่และเล็กครับ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 322  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:22

ภาพในปัจจุบันของอดีตเรือดำน้ำแห่งประเทศไทย

โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453
 
โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือนี้มีคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสวรรค์ (ฉ่าง แสง-ชูโต ต่อมาเป็นนายพลเรือเอก พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาได้เป็นนายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็น จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระฯ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดีฯ ทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.129 (พ.ศ. 2453) โครงการนี้ได้กำหนดให้มี “เรือ ส.(1) จำนวน 6 ลำ” ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้อธิบายไว้ว่า “เรือ ส. คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก….. แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้โดยเห็นว่าต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่น คง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้” เวลานั้นเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้ อยู่
 
 

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้าง นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ ได้เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึง “เรือดำน้ำ” ว่า “เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค้า” และได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ 8 ลำ สำหรับประจำอยู่กับกองทัพเรือที่จันทบุรี

ทหารเรือไทยและคนไทยได้มีโอกาสเห็นเรือดำน้ำจริงๆ เป็นครั้งแรกที่ไซ่ง่อน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2454 ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส ได้จัดเรือดำน้ำมาแล่น และดำถวายให้ทอดพระเนตรในบริเวณที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเทียบท่าอยู่

เรือเหล่านี้ขึ้นระวางประจำการแล้วได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญคือ เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจากที่ ร.ล.ธนบุรี และเรือตอร์ปิโดถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำ 4 ลำได้ลาดตระเวนเป็นแถว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นการดำน้ำที่นานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมี หมวดเรือดำน้ำเป็นต้นมา

เรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย (มี 4 ลำ)
1. ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่สอง (ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่หนึ่ง เป็นเรือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
2. ร.ล.วิรุณ
3. ร.ล.สินสมุทร
4. ร.ล.พลายชุมพล
 

ข้อมูลจาก http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_od_submarine_thai.htm

หลังสงคราม เรือดำน้ำทั้งหลายกลายมาเป็น "โรงจ่ายไฟฟ้า" ไปเสียนี่ !!!!


บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 323  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:25

เทียบกับภาพในอดีตของเรือหลวงมัจฉานุ

http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=6810.msg55704


ภาพวันที่ออกจากอู่ของมิตซูบิชิ จากโกเบสู่เ้จ้าพระยา

เรือหลวงมัจฉาณุ-เรือหลวงวิรุณ



บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 324  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:31

ช่วงที่ไทยมีเรือดำน้ำใช้นั้น ลือกันว่าเป็นช่วง "ขาขึ้น" ของกองทัพเรือ จะขออะไรท่านผู้นำให้หมด ถ้ามาเทียบกับปัจจุบันเป็นคนละเรื่องครับ น่าจะสืบเนื่องมาจากเรื่อง "กรณีเรือขุดแมนฮัตตัน" ที่เพื่อนสมาชิกสงสัยกันมานั่นแหละครับ

แต่กรณี "แมนฮัตตัน" นี่อยู่ราว ๆ 2486 แล้วครับ คงต้องรอ คุณ Navarat.c และ อ.เพ็ญชมพู เล่าอีกสักหน่อยนะครับ  

สำหรับผลงานที่น่าภูมิใจเกี่ยวกับเรือดำน้ำของไทย ก็คือกรณีที่สมเด็จพระราชบิดาฯ ในรัชกาลปัจจุบัน ครั้งทรงศึกษาวิชาทหารที่เยอรมัน ภายหลังที่ทรงเปลี่ยนมาเรียนด้านการทหารเรือแล้ว ทรงได้รับรางวัลชนะเลิศสำหรับการออกแบบ "เรือดำน้ำขนาดเล็ก" ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 325  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 23:41

ที่สงสัยไม่ใช่เหตุอะไรครับอาจารย์....

เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ถูกเลี้ยงโดย"เตี่ยใจ"....หรือนายสุดใจ อมรเวช.....แกเล่าให้ฟังว่าแกเป็นพี่ชายของ "จุก เบี้ยวสกุล"

ตอนเด็กแกก็คุยให้ฟังโขมงโฉงเฉงตั้งแต่บ้านอยู่ก่อนสะพานแขวนจะสร้างว่าแกเป็นทหารยุคกบฏแมนฮัตตัน.....

ก็เลยจำได้แล้วเอามาถามนั่นล่ะครับ...ว่ามันอย่างไรกัน...
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 326  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 07:02

เรื่องเรือใต้น้ำนั้น  กองทัพเรือไทยอยากจะมีไว้ใช้ในราชการ  แต่นายทหารเรือไทยไม่เคยมีใครได้เรียนรูเวิธีการรบด้วยเรือใต้น้ำ  เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น  กระทรวงทหารเรือมีดำริให้ส่งนายทหารเรือไทยไปฝึกการบังคับเรือใต้น้ำที่ประเทศเดนมาร์ค  แต่ทางเดนมาร์คปฏิเสธ  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์พระราชทานให้ นายนาวาตรี ผลวงหาญสมุท (ต่อมาเป็นนายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุท - บุญมี  พันธุมนาวิน) ไปเรียนการบังคับเรือใต้น้ำที่กองทัพเรืออังกฤษ  ที่ส่งไปได้คนเดียวเพราะอังกฤษรับฝึกให้แบบไม่ค่อยเต็มใจนัก 

อ่านเรื่องวัธนธีมนำไทยสู่มหาอำนาจแล้ว  นึกถึงที่แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เวลาคุณยายจะออกจากบ้านแต่ละทีต้องวุ่นหาผ้าถุงมานุ่งทับโจงกระเบนอีกที  ส่วนหมวกนั้นไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะคนบ้านนอกเช่นคุณยายท่านคุ้นชินกับการสวมงอบอยู่แล้ว  แต่มาบังคับให้ท่านนุ่งผ้าซิ่น  แม่เล่าว่าคุณยายท่านว่าเกิดมาท่านเคยแต่นุ่งโจงให้ท่านนุ่งเป็นฝรั่งทำไม่เป็น  เสียดายไม่ได้ถามแม่ว่า เวลาคุณตาคุณยายจะออกจากบ้านต้องจูบกันตามวัธนธัมใหม่หรือเปล่า  เพราะเมื่อเด็กๆ ผมยังช่วยคุณยายตำหมากอยู่บ่อยๆ  แล้วหลังบ้านก็ปลูกต้นพลูไว้ต้นเบ้อเริ่ม  นึกถึงคุณยายเคี้ยวหมากปากแดง (ถึงจะห้ามแต่ก็คงคุมไม่ได้) จูบคุณตาสวมเสื้อราชปะแตน  คงแปลกดีพิลึก 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 327  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 07:14

ยุค "วัธนะธัมนำไทยสู่มหาอำนาจ"

   
ท่านอาจารย์เทาชมพูท่านยกให้ผมเป็นกูรูใหญ่กว่าอะไรนั่น ผมเป็นแค่นักเล่าเรื่องจริงที่ผ่านไปแล้วในอดีตในรูปแบบที่อ่านแล้วเหมือนนิยาย คนจะได้อยากเข้ามาล้อมวงฟัง หาใช่นักประวัติศาสตร์ไม่ พวกนั้นท่านต้องมีเชิงอรรถ มีอ้างอิง หรืออย่างน้อย ต้องมีปริญญาในทางนี้พ่วงท้ายเพื่อเป็นประกัน สามารถคัดบางบทบางตอนไปอ้างอิงต่อในวิทยานิพนธ์ได้ ส่วนเรื่องที่ผมเขียนมานี้ ใครอย่าเสี่ยงไปทำอย่างนั้นนะครับ เอาไปก็ได้ แต่คุณต้องไปทำการบ้านในการค้นหาที่มาที่ไปต่อเอาเอง

แต่เมื่อท่านให้เกียรติยอผมมาก็ขอสนองพระคุณท่านหน่อย เอารูปที่ท่านหามาลงให้เป็นการคารวะ แต่อาจจะไม่ใช่ภาพที่ท่านพูดถึงนะครับ ผมนึกถึงภาพนั้นออกเหมือนกัน เป็นภาพเดี่ยวครึ่งตัว แต่นาทีนี้ ผมหาไม่เจอ

อ้างถึง
"มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" สวมหมวก เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญ!
เมื่อรัฐบาลไปทูลขอสมเด็จพระพันวัสสาไม่ได้  ก็หันไปขอความร่วมมือจากคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) ให้ท่านสวมหมวก  ออกงานต่างๆ เพื่อจะโชว์ประชาชนว่าผู้ใหญ่ยศศักดิ์สูงก็เห็นดีด้วย   ตอนนั้นเจ้าคุณแพท่านอายุ ๙๐ เข้าไปแล้ว  
เคยเห็นรูป  แต่เสียดายว่าหาในเน็ตไม่เจอ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 328  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 07:27

คุณพระประยูรวงศ์ท่านรับจ๊อบเป็นพรีเซนเตอร์ ส่วนพวกพริ๊ตตี้ที่ออกมาโชว์ตามงานต่างๆต้องสดสวยหน่อย ดอกไม้ของชาติจะได้ตามแฟชั่นโดยไม่ต้องฝืนใจ ยุคนั้นพ่อค้าขายหมวกยิ้มปากฉีกถึงรูหูทุกราย แต่ข่าวไม่แจ้งว่ามีใครกักตุนหมวกไว้ค้ากำไรล่วงหน้าหรือเปล่า ถ้าเป็นสมัยใหม่นี้คงได้มีการกล่าวหากันมั่งว่ารัฐบาลมีนโยบายแอบแฝง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 329  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 08:02

อ้ะ..คราวนี้มาดูมาลานำไทยภาคประชาชน

รัฐบาลก็มีลูกเล่นทั้งดึงทั้งดัน สตรีนางใดไม่สวมหมวกจะไปติดต่องานราชการใดๆ ราชการจะไม่ทำให้ แต่นั่นไม่พอ ปกติผู้หญิงก็ไม่มีธุระปะปังอะไรจะไปติดต่อราชการอยู่แล้ว จึงต้องมาแนวแจกของ อันนี้ชาวบ้านชอบ แต่คราวนี้จะได้ไปฟรีไม่ได้แล้ว ต้องสวมหมวกมา ผมทำลูกศรให้ดูให้ป้าอ้วนนุ่งผ้าถุงที่ออกท่าทีกระวนกระวายว่าเขาแจกกันไปถึงไหนแล้ว เมื่อไหร่จะถึงคิวตน จะได้กลับไปขายกล้วยปิ้งต่อซะที หมวกของป้าไม่ค่อยเข้ากับเครื่องแบบที่ป้าต้องใส่ทุกวันนัก แต่เขาก็ให้ ขอให้มีอะไรแปะไว้บนศรีษะก็พอ

ผมนึกถึงสมัยเรียนถาปัดอยู่ ไม่เกี่ยวกับจอมพล ป.นะครับ แต่ตอนนั้นมหาวิทยาลัยมีกฎให้นิสิตต้องผูกเนคไทมาคณะ พวกเราก็ไม่ค่อยนำพาเท่าไหร่ อยู่ๆมีข่าวว่าวันนี้ทางคณะจะเอาจริง ถ้าตรวจเจอจะโดนหักคะแนนความประพฤติ พวกนอกกฎก็เหมือนป้าอ้วนข้างบน จะมีผ้าอะไรสักชิ้นซุกซ่อนไว้เผื่อฉุกเฉินอยู่แล้ว แต่ก็วุ่นวายกันน่าดู คนหนึ่งสุดท้ายแล้วหาอะไรไม่ได้ก็เอาเชือกผูกรองเท้ามาห้อยคอไว้ ผมยังจำท่าที่อาจารย์ผู้ปกครองเอาแขนโอบคอเพื่อนคนนั้นเดินคุยกระซิบกระซาบกันไปทางห้องคณบดี รอสักพักออกมาหน้าหายิ้มไม่เจอ อาจารย์บอกว่าเนคไทแปลกดี มีความคิดสร้างสรร คราวนี้ยกโทษให้ แต่คราวหน้าเจออีก จะถูกหักคะแนนสองเท่า


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 20 21 [22] 23 24 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.124 วินาที กับ 20 คำสั่ง