เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329595 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 03:30

ลูกเขาตื่นมาเชียรบอลเอะอะ ผมเลยตาสว่าง เข้ามาเปิดดูเรือนไทย

คุณหญ้านางครับ จิ๊กซอร์ตัวนี้ตัวเบ่อเร่อ ผมดีใจมากจะที่มีผู้นำตอนสุดท้ายแห่งชีวิตของพระยาฤทธิ์อัคเนย์มาเติมเต็มให้กระทู้นี้ครับ ในอินเทอเน็ตไม่มีเรื่องราวของท่านเลย ทราบจากหนังสือเล่มหนึ่งว่าถูกเนรเทศไปอยู่ปีนัง ชีวิตย่ำแย่พอๆกับพระยาทรง พอญี่ปุ่นจะขึ้น อังกฤษก็ให้ย้ายไปสิงคโปรพร้อมกับผู้ลี้ภัยคนไทยเกือบทั้งหมด ยอมเว้นให้เฉพาะเจ้านายสูงอายุอย่างกรมพระยาดำรงฯ กรมพระยานริศฯ  กรมพระสวัสดิ์ฯ  พระยาฤทธิ์และครอบครัวต้องไปเช่าบ้านถูกๆเดือนละ30เหรียญ เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบที่ผมใช้คำว่า หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ต้องขอให้กำลังใจคุณหญ้านาง ต่อไปใครเข้าเวปมาหาเรื่องราวของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ก็จะได้เรื่องได้ราวที่ถูกต้องออกไป เป็นประโยชน์และเป็นวิทยาทานสำหรับผู้ใฝ่รู้ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 04:52

จาก 28 มกราคม ซึ่งป็นวันยุติกรณีพิพาทอินโดจีน ไปจนถึง 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เวลาเกือบจะทั้งปีนี้ถือว่าเป็นยุคเฟื่องที่สุดของชายชื่อแปลก ท่านได้เลื่อนยศจากพลตรีเป็นจอมพลไปแล้ว คนก็เรียกว่าท่านจอมพลบ้าง ท่านผู้นำบ้าง คราวนี้ท่านอยากเป็นสมเด็จเจ้าพญา ภรรยาของท่านซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงที่อายุน้อยมากแค่36ปีเศษไปแล้ว พันเอกหญิงก็ได้เป็นแล้ว คราวนั้นเกือบจะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิง หากท่านปรีดีมิได้โต้คัดค้านเสียงแข็งในที่ประชุมค.ร.ม.ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร จอมพลพิบูลไม่พอใจมาก เลยเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ก็ต้องเลือกทางที่สอง เวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากเลือกทางเวนคืน จอมพลพิบูลจึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่ก็ได้ ตัวท่านเองได้เปลี่ยนนามสกุลจากขีตตะสังคะมาเป็นพิบูลสงคราม แต่ชื่อแปลกก็แปลกไปหน่อยเลยย่อเสียนิด เป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเรียกสั้นๆว่าจอมพลป. ดังนั้นในกระทู้นี้ ผมจึงจะปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเรียกท่านว่าจอมพลป. แทนหลวงพิบูลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในยุคเฟื่องของจอมพลป. ดังกล่าวข้างต้น ท่านได้ทำอะไรต่อมิอะไรไว้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี ระหว่างที่ผมจำเป็นต้องบกพร่องในหน้าที่วันสองวันนี้ ใคร่ขอความกรุณาท่านกูรูเทาชมพูเพ็ญ ขยายความเรื่องรัฐนิยมที่ท่านเคยเขียนๆไว้แล้วแต่ก่อนมากมาย นอกจากหมวกกับหมากแล้วยังมีอย่างอื่นอีกแยะที่เริ่มต้นในช่วงนี้ ที่ยาวไปจนหมดยุคแล้วหยุดก็มี ยาวมาจนทุกวันนี้ก็มี แล้วผมจะโยงเข้าสู่เรื่องพระยาทรงในเขมรในอันดับต่อไป ก็รัฐนิยมของท่านไม่ได้ใช้บังคับแต่ในกรุงเทพนี่ครับ เล่นไปซะทั่วพระราชอาณาจักรซึ่งรวมถึงดินแดนที่ได้กลับคืนมาใหม่ๆจากอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย สนุกไม่จืดเลยทีเดียว



บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 05:08


ขออนุญาตเดา (ทั้งเดาทั้งมั่วแน่ๆค่ะ  อายจัง) บ้างนะคะ

ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ          บรรทัดนี้เข้าใจ
ฉันจะเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือ สงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย    สงวนความเป็นสตรีไทยซี่งงดงามทั้งกายใจ หรือเปล่าคะ..
ฉันจะทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี          ประมาณว่า จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อเกียรติ ของทหารหญิง 
คุณงามความดีที่จะยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา                  บรรทัดนี้เข้าใจ
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น        เบากว่าปุยนุ่น เพราะกระจายไปได้ไกล จะเสียสละไปทุกพื้นที่ไกลยิ่งกว่าที่ปุยนุ่นจะปลิวไปถึง...

เดาเสร็จแล้ว ก็มานั่งเรียนต่อค่ะ...รอเรื่องรัฐนิยมเรื่องอื่นๆด้วยคนนะคะ... ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 08:01

ตอนนี้เปิดเทอมแล้ว  บางวันต้องลงเรือนไปทำหน้าที่เรือจ้าง   เย็นกลับมาจะพาชาวเรือนไทยไปสวมหมวก ท่องอดีตรัฐนิยมกันค่ะ
คุณหญ้านางคะ    ถ้าหากหนังสืองานอนุสรณ์งานศพของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ยาวนัก ก็สแกนหนังสือมาทั้งหน้าลงกันให้อ่านได้ไหม อยากรู้ว่าชีวิตบั้นปลายของท่านเป็นอย่างไร
ดิฉันหาของพระประศาสน์พิทยายุทธเจอในเน็ต    ชีวิตเจ้าคุณพหลกับเจ้าคุณทรง  ท่านกูรูใหญ่(ยิ่งกว่า)ที่ชื่อนวรัตนได้คำตอบพร้อมเฉลยแล้ว    แฟนรอหน้าเวทีกันตรึม   เหลือพระยาฤทธิ์ฯนี่แหละที่ยังไม่ได้มา    ฟังที่คุณหญ้านางเล่า  ท่านก็ดูจะลำบากในบั้นปลายไม่น้อยกว่ากัน

คำปฏิญาณทหารหญิง ถ้าให้มาตีความกันอีก ๑๐ คนก็เชื่อว่าจะได้อีก ๑๐ คำตอบ   ครึกครื้นดีจริงๆ   ใครอยากจะตีความอีกเชิญเลยนะคะ  ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกไม้งาม  จะเป็นต้นไม้หรือกิ่งไม้ก็ได้ตามสะดวก
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 08:13

จริง ๆ แล้วมีอีกหนึ่งบทคำไว้อาลัยที่เขียนโดน พลเอก กฤช ปุณณกันต์ ที่แสดงอีกแง่มุมในชีวิตของ
พระยาฤทธิ์อาคเนย์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ดิฉันเป็นคนเล่าเรื่องไม่เก่ง ทำได้อย่างมากก็เพียงคัดลอกแบบย่อส่วนมาให้
ได้อ่านกัน พิมพ์ไปแล้วก็กลัวว่าจะเยอะและหนักกระทู้ เกรงใจทั้งผู้อ่านที่ติดตามและเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ  อายจัง
แต่ถ้าท่านใดสนใจ ดิฉันยินดีมาพิมพ์ให้อ่านวันหลังนะคะ จากนี้ขอเป็นผู้ติดตามต่อไปอย่างเดิม



มาลงชื่อ รออ่านอีกคนค่ะ (หากไม่เป็นการรบกวนนะคะ)  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 08:41

จาก 28 มกราคม ซึ่งป็นวันยุติกรณีพิพาทอินโดจีน ไปจนถึง 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เวลาเกือบจะทั้งปีนี้ถือว่าเป็นยุคเฟื่องที่สุดของชายชื่อแปลก ท่านได้เลื่อนยศจากพลตรีเป็นจอมพลไปแล้ว คนก็เรียกว่าท่านจอมพลบ้าง ท่านผู้นำบ้าง คราวนี้ท่านอยากเป็นสมเด็จเจ้าพญา ภรรยาของท่านซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงที่อายุน้อยมากแค่36ปีเศษไปแล้ว พันเอกหญิงก็ได้เป็นแล้ว คราวนั้นเกือบจะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิง หากท่านปรีดีมิได้โต้คัดค้านเสียงแข็งในที่ประชุมค.ร.ม.ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร จอมพลพิบูลไม่พอใจมาก เลยเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ก็ต้องเลือกทางที่สอง เวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากเลือกทางเวนคืน จอมพลพิบูลจึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่ก็ได้ ตัวท่านเองได้เปลี่ยนนามสกุลจากขีตตะสังคะมาเป็นพิบูลสงคราม แต่ชื่อแปลกก็แปลกไปหน่อยเลยย่อเสียนิด เป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม คนเรียกสั้นๆว่าจอมพลป. ดังนั้นในกระทู้นี้ ผมจึงจะปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเรียกท่านว่าจอมพลป. แทนหลวงพิบูลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ในคดีดำที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑ นายปรีดี  พนมยงค์ โจทก์ยื่นฟ้องนายรอง  ศยามานนท์ ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ จำเลย กรณีที่ศาสตราจารย์ผู้นั้นบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมิ่นประมาทใส่ความ ซึ่งในที่สุดจำเลยรับผิดตามฟ้องนั้น คำบรรยายฟ้องตอนหนึ่งมีดังนี้

“เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลโทมังกร พรหมโยธี เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อมาอีก ๖ วัน คือ ในวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกันนี้ ก็ได้มีกฤษฎีกาเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งว่า ให้จอมพลพิบูลฯ มีอำนาจสิทธิ์ขาดผู้เดียวในการสั่งทหารสามเหล่าทัพ อันเป็นอำนาจพิเศษยิ่งกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดอื่น ๆ

ครั้นต่อมาในปลายเดือนพฤศจิกายนนั้นเอง คือก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จอมพลพิบูลฯ ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิม โดยสถาปนา ‘ฐานันดรศักดิ์’ (Lordship) ตามแบบฝรั่งขึ้นใหม่ คือ ดยุก, มาควิส, เคานท์, ไวสเคานท์, บารอน ฯลฯ โดยตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาใหม่ คือ สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, เจ้าพญา, ท่านพญาฯลฯ ส่วนภรรยาของฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้นให้เติมคำว่า ‘หญิง’ ไว้ข้างท้าย เช่น ‘สมเด็จเจ้าพญาหญิง’

แต่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เรียกว่า ‘สมเด็จหญิง’ และฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีคำว่า ‘แห่ง’ (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น... พญาแห่งเมือง... ฯลฯ ทำนองฐานันดรศักดินายุโรป เช่น ดยุก ออฟ เบดฟอร์ด ฯลฯ ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้ให้แก่รัฐมนตรีและข้าราชการไทยตามลำดับตำแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย เช่น จอมพลพิบูลฯ ได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ ก็จะได้ดำรงฐานันดรเจ้าศักดินาเป็น ‘สมเด็จเจ้าพญาแห่ง...’

ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้นทายาทสืบสันตติวงศ์ได้เหมือนในยุโรปและญี่ปุ่น อันเป็นวิธีการซึ่งนักเรียนที่ศึกษาประวัติศาสตร์นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ทราบกันอยู่ว่า ท่านนายพลผู้นั้นได้ขยับขึ้นทีละก้าวทีละก้าว จากเป็นผู้บัญชาการกองทัพแล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุล ๓ คนที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองประเทศฝรั่งเศส ครั้นแล้วนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ก็เป็นกงสุลผู้เดียวตลอดกาลซึ่งมีสิทธิ์ตั้งทายาทสืบตำแหน่ง

รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยนั้น ได้คัดค้านจอมพลพิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นเหตุให้จอมพลพิบูลฯ ไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน

รัฐมนตรีส่วนข้างมาจึงลงมติในทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม เมื่อจอมพลพิบูลฯ แพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่าเมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้

โจทก์กับรัฐมนตรีส่วนหนึ่งกลับใช้ชื่อและนามสกุลเดิม แต่จอมพลพิบูลฯ เปลี่ยนนามสกุลเดิมของท่านมาใช้ตามราชทินนามว่า ‘พิบูลสงคราม’ และรัฐมนตรีบางท่านก็ใช้ชื่อเดิม โดยเอาสกุลเดิมเป็นชื่อรอง และใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งชื่อและนามสกุลยาวๆ แพร่หลายจนทุกวันนี้”


พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ให้การเป็นพยานในคดีอาชญากรสงคราม ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นจำเลย มีความตอนหนึ่งรับกันกับคำฟ้องของนายปรีดีข้างต้น ดังนี้

“ตอนที่ จอมพล ป. นำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่เป็นสมเด็จเจ้าพญาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพญาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยยึดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่ได้สายสะพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาชาย ซึ่งมีจอมพล ป. คนเดียวที่ได้สายสะพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพญาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาหญิงตามไปด้วย

ข้าพเจ้า รู้สึกว่า จอมพล ป. นั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกันเอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิวทำนองเดียวกับตราครุฑหรือตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้ขึ้นในทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดินเว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น...”

http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=12&s_id=5&d_id=8&page=2&start=1

 

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 11:37

เรื่องตั้งตำแหน่งยศขุนนางอย่างฝรั่งนี้  ดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจของบุคคลบางคนในคณะราษฎร  ซึ่งคงจะเห็นแบบอย่างมาจากญี่ปุ่น  ที่มีการเอาบรรดาศักดิ์ขุนนางอย่างฝรั่งมาใช้กันอย่างแร่หลายตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเมจิเป็นต้นมา

ย้อนกลับมาดูที่เมืองไทยเราบ้าง  เมื่อเลิกบรรดาศักดิ์ข้าราชการไทยกันไปแล้ว  รัฐบาลคณะราษฎรก็ระแวงเจ้านายฝ่ายเหนือจะประกาศตนป็นเอกราชจากรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จึงมีความคิดที่จะให้เลิกยศ "เจ้า" ที่ใช้กันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔  แล้วจะให้มีการตั้งราชวงศ์ฝ่ายเหนือขึ้นใหม่ให้มีฐานันดรเป็นพระองค์  หม่อมเจ้า  หม่อมราชวงศ์  หม่อมหลวง  แต่ก็มีผู้ค้านขึ้นว่า จะเป็นการตั้งราชวงศ์ขึ้นแข่งกับพระราชวงศ์จักรี  แนวความคิดนั้นจึงเลิกไปแต่ก็มีผู้เสนอให้ตั้งบรรดาศักดิ์เป็นดยุค  มาควิส  เคาท์ แบบใร่งขึ้นแทน  สุดท้ายเมื่อเรื่องไปถึง "ท่านผู้นำ"  ท่านเกษียนหนังสือด้วยลายมือสั้นๆ ว่า "ไม่เอา และไม่ให้เงิน"  เรื่องความคิดตั้งบรรดาศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือคราวนั้นจึงเป็นอันตกไป  แต่มาโผล่ขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ในยุค "วัธนะธัมนำไทยสู่มหาอำนาจ" แทน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:04

อ้างถึง
แต่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เรียกว่า ‘สมเด็จหญิง’ และฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีคำว่า ‘แห่ง’ (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น... พญาแห่งเมือง... ฯลฯ ทำนองฐานันดรศักดินายุโรป เช่น ดยุก ออฟ เบดฟอร์ด ฯลฯ ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้ให้แก่รัฐมนตรีและข้าราชการไทยตามลำดับตำแหน่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย เช่น จอมพลพิบูลฯ ได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ ก็จะได้ดำรงฐานันดรเจ้าศักดินาเป็น ‘สมเด็จเจ้าพญาแห่ง...’

บรรดาศักดิ์ไทยที่ต่อท้ายด้วยชื่อเมือง   เราเคยมีแนวคล้ายคลึงกันมาแล้วในพระนามทรงกรมของเจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๕   ซึ่งว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงได้ไอเดียจากบรรดาศักดิ์เจ้านายและขุนนางฝรั่ง พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอจึงทรงกรมเป็นพระนามจังหวัดต่างๆ  
เมื่อมาฟื้นขึ้นอีกครั้งสมัยจอมพล ป. ก็อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า  ประชาธิปไตยไทยสมัยท่านไม่ได้เดินไกลออกจากระบอบสมบูรณาฯได้กี่ก้าวนัก  เผลอๆก็เดินกลับไปด้วยซ้ำ   เปลี่ยนแต่กลุ่มบุคคลเท่านั้น
*********************
ท่านกูรูใหญ่ยิ่งกว่า-ตัวจริงเสียงจริง  สั่งการบ้านไว้เรื่องรัฐนิยม  
ก่อนอื่นขอเล่าแบคกราวน์ของโลกในพ.ศ. 2484 ให้เห็นแบบพาโนราม่าก่อนนะคะ     ยุโรปกำลังลุกเป็นไฟด้วยสงคราม   อเมริกาลังเลว่ากระโจนเข้าไปช่วยจะคุ้มไหม   ยังไงเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังไม่เจ็บตัว  ขณะที่ฝรั่งเศสตายสนิท  ส่วนอังกฤษก็ร่อแร่เต็มที    ก็พอดีญี่ปุ่นแผ่แสนยานุภาพรุกคืบหน้าทางเอเชีย   มีปาซิฟิคขวางอยู่เท่านั้นเอง  
ถ้าหากว่าญี่ปุ่นจับมือกับเยอรมันแบ่งโลกครองกันคนละครึ่ง  อิทธิพลของอเมริกาทางเอเชียก็จะอับแสงลงไป
ส่วนทางสยามของเรา เหตุการณ์ภายในประเทศค่อนข้างดีสำหรับรัฐบาล   ถ้าถือหลักว่า "รัฐคือตัวฉัน" จอมพล ป. ท่านก็ดูจะสบายใจ  เพราะว่ากวาดล้างคนที่ท่านสงสัยว่าเป็นศัตรูเหี้ยนเตียนไปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒    
ทหารเสือที่กอดคอกันมาก็แยกย้ายหนีภัยการเมืองไปคนละแห่ง    เหลือท่านเท่านั้นมีอำนาจสูงสุด  
คนที่พอจะคานและคัดค้านได้บ้างก็คือนายปรีดี เวลาอยู่ในสภา   แต่ในเมื่อนายปรีดีไม่มีกำลังทหารอยู่ในมือ ก็ไม่น่าวิตกนักในสายตาผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในตอนนี้เองก็เป็นโอกาสให้ท่านจอมพล ป. พัฒนาประเทศได้ตามความคิดเห็นของท่าน   เป้าหมายรวมคือทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อารยะได้รวดเร็วฉับไว  วิธีการคือปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยเสียใหม่    ราษฎรเคยอยู่กันมาอย่างที่สมัยโน้นเรียกว่าอีเหละเขละขละ แต่สมัยนี้อาจเรียกว่าโหล่ยโท่ย   ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ให้ศิวิลัยซ์   ด้วย"รัฐนิยม"  คือรัฐเป็นผู้กำหนดค่านิยมเสียเอง
รัฐนิยมก็เลยเข้ามากำหนดชีวิตประจำวันของคนไทยเสียใหม่  ให้ "อารยะ" เช่นแต่งกายเสียใหม่ให้ภูมิฐาน    เลิกกินหมากจะได้ไม่บ้วนน้ำหมากเปรอะเปื้อนถนนหนทาง    เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้มีระเบียบแบบแผน หญิงฟังเป็นหญิง ชายฟังเป็นชาย  ชื่อต้องมีความหมายไพเราะน่าฟังด้วย
เริ่มพูดจากันอย่างมีแบบแผน เหมือนฝรั่งพูด   ฝรั่งเขามีสรรพนามสั้นๆแค่ I  เรามีมากเกินเหตุเช่น กู ข้า  อั๊ว ฉัน ผม กระผม  มากมายเกินไป ไม่จำเป็น  ชายหญิงใช้ "ฉัน" คำเดียวพอ
นี่คือเหตุผลหนึ่งของการสวมหมวก  เพราะท่านไปต่างประเทศมา เห็นผู้คนเขาแต่งกายกันเป็นระเบียบ  ผู้ชายสวมเสื้อนอกกางเกงขายาว ผู้หญิงนุ่งกระโปรงมีหมวกมีถุงมือ    ท่านก็รู้สึกว่าประเทศมหาอำนาจเขามีผู้คนแต่งกายดี   ถ้าเราจะเป็นมหาอำนาจให้ได้ในวันหนึ่งก็ต้องเริ่มด้วยแต่งกายดี แบบเขา
ตรรกะแบบนี้ ชาวเรือนไทยอาจจะหงายหลังพลิกหลายตลบ   แต่ ปี 2484  ถือเป็นเรื่องซีเรียสเอาจริงเอาจัง   จนมีคำขวัญว่า "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ"
สวมหมวก เพื่อประเทศไทยจะได้เจริญ!
  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:28

จอมพล ป.ตระหนักถึงภัยสงครามที่ล้อมรอบประเทศไทย  นับแต่ทำสงครามอินโดจีนจนได้ดินแดนบางส่วนคืนมาแล้ว  ท่านก็ย่อมรู้ว่ามันไม่จบแค่นี้  จึงเริ่มปรับปรุงหาอาวุธยุทโธปกรณ์และเตรียมพร้อมสามเหล่าทัพ ใน ๓ ภาคของไทย   แต่ในเมืองหลวงก็ยังสนุกสนานกันด้วย "วัธนธัม" ใหม่  
แม้แต่ภาษาไทยก็ถูกแก้ไขใหม่ให้อ่านสะดวกรวดเร็ว  ตัวอักษรหลายตัวเช่น ธ ฒ ฌ ฎ ฏ  ถูกตัดทิ้งไป   ครูภาษาไทยได้รับคำสั่งให้สอนหนังสือด้วยตัวสะกดแบบใหม่  แม้แต่หนังสือเรียนก็สะกดแบบใหม่ด้วยเช่นกัน    ทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ครูอย่างยิ่ง
ในพ.ศ. ๒๔๘๔ นี้เอง มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ถ้าเกิดเมื่อก่อน ๒๔๗๕   ก็คงเป็นที่สั่นสะเทือนจิตใจของราษฎร   ต้องตระเตรียมงานพิธีกันมากมาย  แต่ในปีนี้ เป็นเรื่องเงียบเชียบแทบจะเรียกได้ว่า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นั่นคือ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จสวรรคตที่แคว้นเค้นท์ ในประเทศอังกฤษ  ช่วงที่อังกฤษกำลังร้อนระอุด้วยไฟสงคราม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประชวรด้วยโรคพระหทัยมาหลายปีแล้ว   พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด  ไม่ได้ดีขึ้น   เหตุการณ์ต่างๆทางเมืองไทยก็ไม่ได้ทำให้สบายพระทัย    
เป็นได้ว่าคงจะรู้พระองค์ว่าจะดำรงพระชนม์ต่อไปไม่่นาน   จึงทรงสั่งเสียไว้ว่า ถ้าสวรรคตเมื่อไรก็ขอให้แต่งพระศพด้วยพระภูษาแดง ทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียว  นำลงหีบแล้วถวายพระเพลิงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้    ไม่ต้องไปรอรับเกียรติยศใดๆทั้งจากต่างประเทศและจากประเทศไทย
ในงานถวายพระเพลิงก็ไม่ต้องมีประโคมแห่แหนใดๆ  มีไวโอลินคันเดียวพอ   เล่นเพลงที่ทรงโปรดขับกล่อมในงาน    และถ้ารัฐบาลยังมีอำนาจอยู่ก็ห้ามนำพระบรมอัฐิกลับบ้านเมืองเป็นอันขาด
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงปฏิบัติตามทุกประการ  พระบรมศพได้ไปถวายพระเพลิงที่สุสานสามัญ ณ Golders Green ในลอนดอน
และทรงเก็บพระบรมอัฐิรักษาไว้ ตามพระราชประสงค์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:42

      ม.จ.พูนพิศมัย ทรงเล่าไว้ตอนนี้ว่า
      "สมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสวรรคตอยู่กับนางพยาบาลคนเดียว    งานพระบรมศพก็มีรถยนต์สมเด็จพระนางรำไพฯ และพระญาติวงศ์ชั้นเด็กๆตามไป ๓ รถ  ไม่มีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยได้     เพราะเกรงไปว่าจะเป็นการเมือง  ในฐานะที่พระองค์ถูกเป็นศัตรูของรัฐบาลไทย   จึงไม่มีใครกล้าแม้แต่จะนึกถึงด้วยความสงสาร
      ในเวลาที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๖)  ได้เพียรวิ่งสืบถามถึงการศึกษาและการงานที่ได้ทรงทำไว้ก่อนเสวยราชย์     ยังไม่มีใครกล้าจะรับหาหลักฐานให้ได้    เพราะเกรงจะถูกหาว่าเป็นพวกของพระปกเกล้า! ได้แต่ดูในราชกิจจาฯ และถามจากพวกเจ้าๆ  และขุนนางเก่าๆได้ ๒-๓ คน    ใครจะพูดถึงก็ได้แต่ติเตียนซ้ำเติม    แม้พวกทีได้ทรงชุบเลี้ยงมา   ก็มีที่ชื่อตรงจงรักจริงๆเพียง ๔-๕ คน
    เป็นอันว่ารัชกาลที่ ๗ ได้จบลงอย่างอนาถใจ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 15:47

มาดูกันว่า รัฐนิยม ๑๒ ฉบับ กำหนดอะไรบ้าง เพื่อนำประเทศไปสู่อารยะ และปลุกใจให้รักชาติ

รัฐนิยม ฉบับที่ 1 
เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามที่เรียกขานประชาชนว่าคนไทย ชื่อประเทศก็ควรเรียกว่าประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 2 ประกาศไม่ให้คนไทยประพฤติตนเป็นตัวแทนของต่างชาติ และไม่ให้ขายที่ดินให้ต่างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 3 
เรื่องการเรียกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทย มิให้แบ่งแยก เป็นความต่อเนื่องจากรัฐนิยมแบบแรก นั่นคือการเรียกชื่อว่า “ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ ไทยอิสลาม” ให้เรียกว่า “ไทย” โดยรวมเพื่อขจัดความแตกต่าง ซึ่งกำหนดให้เลิกเรียกชื่อชาวไทยโดยใช้ชื่อไม่ต้องตามเชื้อชาติ และนิยมของผู้เรียก แต่ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้รัฐบาลมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นดินมั่นคงของประเทศและความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ
กล่าวได้นับว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ชาวไทยมุสลิม” เป็นคนไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปชนผืนแผ่นดินไทย มีข้อความว่าด้วยรัฐบาลเห็นว่า “การเรียกว่าไทย” บางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ได้ การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวก หลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ และไทยอิสลาม ก็ดีไม่สมควรแก่สถานของประทศไทย ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้จึงประกาศไว้ในรัฐนิยมไว้ ดังนี้
      1 ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้เรียก 2 ให้ใช้คำว่า ไทย แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยกรัฐนิยมฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ ชื่อที่ไม่ต้องตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก แต่ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวล โดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้โดยรัฐบาลมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศและ ความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ24 กล่าว ได้ว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าชาวไทยมุสลิมเป็นคนไทยเช่นเดียวกับ คนไทยทั่วไปชนผืนแผ่นดินไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 4 
เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 5 
เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภค บริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 6 
เรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 7 
เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 8 
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 9 
เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งกำหนดให้ชนชาติไทย ถือเป็นพลเมืองดีที่จะต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติอย่างน้อยต้องให้อ่านออก เขียนได้ และถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้รู้ภาษาไทยหรือหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้เพื่อ ไม่ให้เกิดความแตกแยกและความแตกต่างของท้องที่ถิ่นกำเนิด
รัฐนิยม ฉบับที่10 
เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย : กำหนดให้คนไทยต้องแต่งกายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าเป็นสุภาพชน เช่น ผู้ชายสวมหมวกใส่เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือปิด สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าหุ้มส้นและหรือหุ้มข้อ และถุงเท้า ส่วนผู้หญิงก็ต้อง สวมหมวก ใส่เสื้อนอกคลุมไหล่ สวมผ้าถุง ใส่รองเท้าหรือหุ้มส้นและถุงเท้า เป็นต้น
รัฐนิยม ฉบับที่ 11 
เรื่องกิจประจำวันของคนไทย ( ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2484 ) โดยชนชาติไทยพึงบริโภคอาหารให้ตรงเวลา ไม่เกินวันละ 4 มื้อ และนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต้องมุ่งมั่นทำงาน พักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทั้งชำระร่างกายแล้วจึงรับประทานอาหารว่าง ในเวลากลางคืนก็ควรใช้ในการพบปะสนทนาในครอบครัว มิตรสหาย ทั้งใช้ศึกษาหาความรู้ หรือในการมหรสพ ส่วนวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายและจิตใจ เล่นกีฬา พักผ่อน ทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น
รัฐนิยม ฉบับที่ 12 
เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ ประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485
บันทึกการเข้า
ธีร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 54



ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 16:08

 ยิ้ม ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันเฉลยเรื่องกางเกงครับ ปกติเห็นกางเกงแบบนี้จากภาพ จอมพล ป. ซึ่งเป็นภาพถ่ายเดี่ยวเลยไม่นึกสงสัย แต่ว่าในความเห็นที่ 260 เป็นการถ่ายหมู่ เห็นมีกางเกงอยู่หลายทรง จึงนึกแปลกในขึ้นมาครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 16:38


รัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องการแต่งกาย เช่นยกเลิกโจงกระเบนมานุ่งกางเกง (สำหรับผู้ชาย) และผ้าซิ่นหรือกระโปรงสำหรับผู้หญิง   ออกจากบ้านต้องสวมหมวก

แม้สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงอยู่ในวังสระปทุมอย่างสงบ จำกัดการติดต่อกับโลกภายนอกไว้น้อยที่สุด เว้นแต่พระราชกรณียกิจเช่นเรื่องสภากาชาดไทยที่ทรงไม่เคยละทิ้ง     ยุค "วัธนธัม"ของรัฐบาลก็ยังยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวเข้าจนได้  

เช่นมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนไปเข้าเฝ้า  ขอพระราชทานฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ให้ทรงพระมาลา เพื่อนำไปเผยแพร่ภายนอกว่า สมเด็จฯทรงร่วมมือปฏิบัติตัวตามนโยบายของรัฐบาล เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน

สมเด็จฯ กริ้ว ตรัสตอบว่า

"ทุกวันนี้ จนจะไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว  นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก  ไม่ใส่  อยากจะให้ใส่ก็มาตัดเอาหัวไปตั้ง แล้วใส่เอาเองก็แล้วกัน"

หมดเรื่องหมวกไปเรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังไม่จบสิ้นอยู่ดี    

รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเปลี่ยนชื่อ  ผู้ชายมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นชาย  ผู้หญิงมีชื่อฟังรู้ว่าเป็นหญิง

รัฐบาลเกิดเห็นว่าพระนาม "สว่างวัฒนา" สมควรเป็นชื่อผู้ชาย  ก็ส่งตัวแทนมาขอให้ทรงเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับ "รัฐนิยม"

สมเด็จฯทรงกริ้วทันทีเมื่อทรงทราบ  ตรัสด้วยความแค้นพระทัยว่า

" ชื่อฉัน ทูลหม่อม (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชทาน   ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"

ผลก็คือ ทรงดำรงพระนามไว้ได้ตามเดิมจนกระทั่งหมดยุค ก็ไม่มีใครมาเซ้าซี้ให้เปลี่ยนพระนามอีก

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 17:30

เคยได้อ่านเรื่องราวของ สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จาก bloggang เหมือนกันค่ะ
อ่านแล้วนึกสงสารพระองค์ท่านฯ มากเลยค่ะ  (ขออภัยนะคะ ใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูก เศร้า )
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 08 ก.ค. 10, 18:50

มาต่อ ที่คุณเพ็ญชมพูอุตสาหะไปหาเรื่องเก่าในอดีตมาให้

เมื่อรัฐบาลไปทูลขอสมเด็จพระพันวัสสาไม่ได้  ก็หันไปขอความร่วมมือจากคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค) ให้ท่านสวมหมวก  ออกงานต่างๆ เพื่อจะโชว์ประชาชนว่าผู้ใหญ่ยศศักดิ์สูงก็เห็นดีด้วย   ตอนนั้นเจ้าคุณแพท่านอายุ ๙๐ เข้าไปแล้ว 
เคยเห็นรูป  แต่เสียดายว่าหาในเน็ตไม่เจอ

ย้อนกลับมาถึงรัฐนิยม ๑๒ ฉบับ   จะเห็นว่าไม่มียุคไหนเลยที่นโยบายของรัฐก้าวเข้ามาถึงในมุ้งในม่าน  ในห้องในหับของชาวบ้านถึงขนาดนี้   กำหนดกระทั่งว่ากินอาหารให้ตรงเวลา   อาบน้ำก่อนกินอาหาร  กลางคืนหาเวลาคุยกับลูกเมียฯลฯ 
ราวกับว่าประชาชนไม่เคยทำมาก่อน  เสื้อผ้าก็ต้องแต่งอย่างนี้ ไม่แต่งอย่างนั้น    ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบนห่มผ้าแถบไม่ได้ ต้องสวมเสื้อมีแขน(ที่เรียกว่าเสื้อปิดไหล่) และผ้าถุงหรือกระโปรง สวมหมวกด้วย จึงจะถูกต้อง
คำว่าประชาธิปไตยที่เคยเป็นอุดมการณ์  เหมือนจะถูกลืมไปแล้วโดยสิ้นเชิง

เราอาจจะอ่านแล้วขำว่าบ้า ทำเข้าไปได้ยังไง  แต่ในยุคโน้นเป็นเรื่องปฏิบัติกันจริงจัง

ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่รัฐบาลเล็งบังคับก่อนกลุ่มอื่น คือข้าราชการ   เพราะในยุคนั้นข้าราชการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม   บริษัทห้างร้านยังมีน้อย นักธุรกิจส่วนใหญ่คือพ่อค้าเชื้อสายจีน ซึ่งไม่มีบทบาทในสังคมเท่าไร   ข้าราชการจึงตกเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่จะสนองนโยบายออกมาให้เห็นผล
รัฐสั่งให้เลิกงานแล้วกลับบ้านปลูกผักทำสวนครัว  ก็ต้องทำกัน      ครูต้องสอนภาษาไทยแบบใหม่ เช่น ฉันกล่าวขอโทส  ตาดีมืแป แกไปนาตาขำ ( มื-อ่านว่า มือ นะคะ)  แม้ตอนที่สงครามเกิดขึ้นแล้ว  ระเบิดจะมาทิ้งเมื่อไรยังไม่รู้  ข้าราชการก็ต้องหยุดงานบ่ายวันพุธ(หรือพฤหัส จำไม่ได้แม่นค่ะ) ไปรำวงมาตรฐาน ที่กำหนดขึ้นมาให้มี "วัธนธัม" ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง