เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329410 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 30 มิ.ย. 10, 22:34

ระบบดาวนับตามจำนวนตอบกระทู้อย่างที่อ.เทาชมพูว่า ถูกต้องแล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 07:02

อ้างถึง
ระหว่างพระยาทรงฯ ถูกเนรเทศ   ทางนี้  คณะกรรมกาศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น  เพื่อพิจารณาโทษในคดีการเมืองปี ๒๔๘๑   ที่กรมขุนชัยนาทฯทรงตกเป็นจำเลยด้วยนั้น  ได้สรุปตอนท้ายคำพิพากษาว่า
" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มิได้ทรงสละพระบรมเดชานุภาพโดยเต็มพระทัย    หากเป็นการกระทำชั่วขณะหนึ่งซึ่งหวังจะมีโอกาสได้รับพระราชอำนาจคืนสู่สภาพเดิมภายหลัง"โดยคณะกรรมการศาลตัดสินว่า
"...ได้ร่วมคิดกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   กับพวก ที่จะบั่นทอนผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญ  ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่เวลานั้นให้สูญสิ้นไป"
และชี้ขาดในตอนท้ายว่า
" พระปกเกล้าฯ  พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์  หลวงรณสิทธิพิชัย และบุคคลอื่นอีกหลายคน ได้รู้เห็นสนับสนุนด้วย"

น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ถึงยุคปัจจุบันนี้แล้ว ผมเคยอ่านพบในหลายแห่งว่า คนเขียนหนังสือสารคดีการเมืองบางคนยังเชื่อและอ้างอิงคำพิพากษาศาลพิเศษของหลวงพิบูลอยู่เลย เขียนว่าผู้นั้นกระทำผิดอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่ายังอ่านมาไม่พอหรือจงใจบิดเบือนต่อเพราะมีจุดประสงค์เร้นลับ ที่จะปลูกฝังความเกลียดชังคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเชิดชูความเชื่อทางการเมืองของตนและกลุ่มของตน

ในเรื่องการเมืองแล้ว ไม่แปลกที่ตัวแสดงซึ่งกาลข้างหน้าจะเป็นประวัติศาสตร์จะโกหกหน้าด้านๆพูดออกทีวี  หรือให้สื่อนำไปเขียน ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคนส่วนใหญ่ก็เห็น  จะแปลกก็ตรงที่มีคนเสื้อสีเดียวกันพร้อมจะเชื่ออย่างสนิทใจ อะไรก็ได้ที่คนบนเวทีจะพูด และสนับสนุนคำโกหกนั้นออกสื่อต่อๆกันไป


ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 09:34


อ้างถึง
ระหว่างที่พระยาทรงฯ ตกระกำลำบากอยู่ที่ไซ่ง่อน     ทางประเทศไทย พระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ต้องทรงหลบลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ    ทยอยกันไปเรื่อยๆตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ 
เริ่มตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ อย่างที่คุณนวรัตนเล่าให้ฟังแล้ว  ต้องเสด็จออกจากบ้านเกิดเมืองนอนภายใน ๒๔ ช.ม.
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุลก็เสด็จออกไปในอีกไม่นาน
ปีนัง สิงคโปร์และชวากลายเป็นที่ชุมนุมของเจ้านายผู้ลี้ภัยการเมือง   เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็ทรงอึดอัดกับความหวาดระแวงของรัฐบาล
พอกบฏบวรเดชสิ้นสุดลง    กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ก็ต้องเสด็จลี้ภัยไปปีนังทันที   เพราะรัฐบาลกำลังหมายตาจะได้ตัวอยู่
ปี ๒๔๗๖   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางรำไพฯ เสด็จออกจากสยาม ไปอังกฤษ   พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสรรคตที่อังกฤษ มิได้ทรงมีโอกาสกลับมา   ส่วนสมเด็จพระนางรำไพฯ ทรงต้องรออีกหลายปีถึงเสด็จกลับมา
เจ้านายที่ทรงลี้ภัยไปต่างแดน มีจำนวนถึง ๒๙ องค์
เจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวที่ยังเหลืออยู่ในสยาม คือกรมขุนชัยนาทฯ ก็ถูกจับข้อหากบฏ  กลายเป็น "นักโทษชายรังสิต"   ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต และลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต   ทั้งที่มิได้ทรงเกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง

สรุปว่า พระยาทรงฯ ก็มิได้เคราะห์ร้ายแต่ผู้เดียว


ผมเป็นคนเชื่อเรื่องกรรมในทางพระพุทธศาสนา กรรมบางอย่างก็ส่งผลในชาตินี้ภพนี้กรรมบางอย่างก็ส่งผลในชาติภพต่อๆไป ไม่มีใครหนีพ้น
เรามาติดตามวิบากกรรมของพระยาทรงกันต่อว่าจะจบลงเช่นไร


เวลาผ่านไปอย่างช้าๆเลยกว่าหนึ่งเดือนยังไม่รับข่าว พระยาทรงขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนเพื่อติดตาม ได้รับแจ้งว่า ทางกระทรวงอาณานิคมที่ปารีสขอให้ทางการตำรวจอินโดจีนส่งข้อมูลอีกสองสามประการเพื่อประกอบการพิจารณา  กว่าจะได้รับคำตอบแน่นอน น่าจะเป็นอีก3เดือนข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว
ข้อเท็จจริงก็คือ ฝรั่งเศสเริ่มมีความสงสัยว่ารัฐบาลหลวงพิบูลสะสมกำลังทางทหาร และสั่งซื้ออาวุธสงครามมากมายจะเอามาทำอะไร กระทรวงอาณานิคมอยากทราบวัตถุประสงค์แท้จริง และเรื่องราวลึกๆในสัมพันธภาพระหว่างหลวงพิบูลและพระยาทรง

แต่3เดือนสำหรับพระยาทรงหมายถึงค่าใช้จ่ายเดือนละสองร้อยกว่าเหรียญ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งว่ารัฐบาลอินโดจีนยินดีจะช่วยเหลือเกื้อกูลทุกอย่าง ขอให้บอกเท่านั้น แต่ท่านได้แต่แสดงความขอบคุณ เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครให้อะไรใครฟรีๆ แต่ท่านก็ต้องกลับมาคิดหนักว่า จะอยู่กันต่อไปอย่างไรในภาวะที่มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับเลยเช่นนี้

ขณะนั้นคุณหญิงและบุตรสาวได้เริ่มต้นกิจการขายอาหารไทยที่พนมเปญ มีลูกมือคนไทยอีก2คนเป็นผู้ช่วย แต่ยังชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ เมื่อเป็นความจำเป็นบังคับ จึงต้องสลับตัว เอาภรรยาและลูกไปช่วยดูแลงานบ้านที่ไซ่ง่อน และให้ท.ส.ไปควบคุมกิจการร้านอาหารแทน




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 10:26

ข่าวร้ายๆทะยอยมาไม่หยุด หนังสือพิมพ์ลงข่าวรัฐบาลไทยประหารชีวิตจำเลยในคดีกบฎ18คนตามคำพิพากษาของศาลพิเศษ พระยาทรงตั้งแต่ต้องมาลี้ภัยอยู่อินโดจีน ท่านยังแสดงอาการปกติแบบคนปลงตก มีปัญหาอะไรก็แก้กันไปไม่ยอมนั่งทนทุกข์ บัดนี้ข่าวที่ญาติมิตร และลูกศิษย์ลูกหาผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านต้องมาโดนโทษถึงตายเพียงเพราะเคยเกี่ยวข้องกับท่านเท่านั้นเอง ถ้าท่านกระทำความผิดจริงก็ไปอย่าง แต่นี่เป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งกันอย่างโจ่งแจ้ง ข่าวนี้จึงทำเอาท่านเศร้าซึมลงไปถนัดตา ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ท่านอาลัยรักมากคือร้อยโทเสริม พุ่มทอง บิดาเป็นคนยากจนอยู่บ้านนอกไม่สามารถส่งเสียบุตรชายได้ ท่านจึงได้รับอุปการะและรักน้ำใจเด็กคนนี้มาก เมื่อถูกเอาตัวมาจองจำที่บางขวางท่านมีจดหมายไปถึงญาติให้ช่วยดูแลเสื้อผ้าอาหารให้เสริมด้วย เมื่อเสริมถูกประหาร ท่านได้มีจดหมายสั่งการไปอีก ให้ญาติขายสมบัติทุกอย่างของท่านที่ยังอยู่ติดบ้าน ประเภทขันเงิน เครื่องเรือน เครื่องดนตรีไทย ซออู้ซอด้วงที่ท่านสะสมไว้เป็นของรัก ปืนพกที่ตำรวจยึดไป ให้ขอคืนเอามาขายให้หมด สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพร้อยโทเสริม และคนอื่นๆที่ไม่มีญาติมิตรจัดการให้ ขาดเหลือให้แจ้งมายังท่าน

หากเขาแจ้งมาจริงๆท่านก็คงลำบาก พระยาทรงจนกรอบ เงินสดที่มีก็ใกล้จะหมดในไม่ช้า เหลือแต่เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่ติดตัวคุณหญิงของท่านอยู่เท่านั้น ความมืดมนในชีวิตข้างหน้ายังรออยู่ ท่านจะปล่อยจิตใจให้เศร้าหมองยาวนานไม่ได้


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 13:56

นึกได้ว่าเคยอ่านเจอคุณสศษพูดถึง คุณประยูร ภมรมนตรี เสียหมดเครดิตเลยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 14:20

จะมีกี่คนที่คุณสาม ส พูดแบบให้เครดิตล่ะคะ?   ยิ้ม

ก่อนคุณนวรัตนจะเล่ากระทู้นี้ให้ฟัง   ดิฉันจำได้แต่คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ว่า พระยาทรงฯลี้ภัยไปอยู่อินโดจีน   ไปตกยาก   ถึงขั้นอดตายที่นั่น  เป็นชีวิตที่น่าเศร้าของนายทหารชั้นผู้ใหญ่
เพิ่งรู้จากการอ่านนี่แหละว่า  มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น
เลยชักสงสัยว่า คำบอกเล่าที่เล่าต่อๆกันมา คงเป็นข่าวที่แพร่มาทางประเทศไทย ให้คนภายนอกได้ยินกันอย่างนั้น เพื่อจะไม่ตั้งข้อสงสัยมากกว่านี้กระมังคะ

อ้างถึง
น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ถึงยุคปัจจุบันนี้แล้ว ผมเคยอ่านพบในหลายแห่งว่า คนเขียนหนังสือสารคดีการเมืองบางคนยังเชื่อและอ้างอิงคำพิพากษาศาลพิเศษของหลวงพิบูลอยู่เลย เขียนว่าผู้นั้นกระทำผิดอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่ายังอ่านมาไม่พอหรือจงใจบิดเบือนต่อเพราะมีจุดประสงค์เร้นลับ ที่จะปลูกฝังความเกลียดชังคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเชิดชูความเชื่อทางการเมืองของตนและกลุ่มของตน

ผมเห็นใจนักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ มันหนักขึ้นทุกทีที่จะแยกแยะใครถูกใครผิดในเหตุการณ์ก่อนตนเกิดจากข้อมูลที่สื่อที่ทำไว้ แม้นักอ่านเรื่องการเมืองสมัยนี้ก็ตาม คุณเชื่อหรือว่าสิ่งที่คุณเชื่อมันไม่ใช่เรื่องโกหก ที่จงใจโกหกโดยพวกที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

คนมักจะเต็มใจเชื่อเรื่องที่ตัวเองอยากเชื่ออยู่แล้ว    มากกว่าเชื่อเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจแต่แรกของตัวเอง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 14:35

จะมีกี่คนที่คุณสาม ส พูดแบบให้เครดิตล่ะคะ?   ยิ้ม
ยิงฟันยิ้ม น่าจะนับนิ้วมือได้นะครับ แล้วก็คงเป็นพระสงฆ์เสียเกินครึ่ง  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 15:34

อ่านกระทู้มาจนถึงค.ห.หลังๆนี้  ไม่ว่าเรื่องไทย เรื่องญวน หรือลาว   หลายครั้ง  ก็ได้แต่นึกถึงพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง                    คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป                    ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ                   จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย 
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย         ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 15:46

คุณม้าครับ ขอโทษที่กลับมาคุยด้วยช้าหน่อย

ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องทีพลโทประยูรเขียนไว้จะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด พอๆกับที่ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องเท็จสรรปั้นแต่งขึ้นมาทั้งหมดเหมือนกัน แต่พลโทประยูรถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของคณะราษฎรตั้งแต่ต้น และอยู่ยงคงกระพันแม้จะถูกหลวงพิบูลสั่งจับไปใส่ตะรางแล้วเปลี่ยนใจเป็นเนรเทศให้ไปไกลตัว แต่ให้มีตำแหน่งนักการทูตเป็นต้น กลับมาแล้วเดี๋ยวก็งอนกันเดี๋ยวก็ดีกันตลอดมาจนจบยุคจอมพล ป. ผมก็ต้องใช้วิจารณญาณของผมในการที่จะคัดสรรจะเอาตอนไหนมาสกัดให้เหลือแต่เนื้อล้วนๆ นำเสนอต่อท่านบ้าง ลอกลงไว้ทั้งท่อนบ้าง ข้อความบางตอนที่ต้องลอกก็เพราะเกรงว่า ถ้าไปขัดเกลาสำนวนของท่านเข้าแล้ว จะถูกผู้เชี่ยวชาญหาว่าผมเป็นฤาษีแปลงสารไป

ความจริงไม่ใช่แต่เรื่องของพลโทประยูรหรอกครับ เรื่องที่เอาของทุกท่านมา ผมก็ทำอย่างที่กล่าวนั้นเช่นเดียวกันกัน

ในกระทู้นี้ มีบางตอนที่ผมสกัดเอามาจากท่านสศษด้วย แต่นี๊ดเดียวจริงๆ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 16:10

เรื่องพลโทประยูรไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๗ พร้อมกับหลวงศุภชลาศัยที่วังไกลกังวลนั้น  เคยได้ยินคุณพระมหาเทพกษัตรสมุห เท่าเล่าวว่า  เวลานั้นท่านยังเป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย  คอยถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ อยู่  เพราะเวลานั้นเหลือแต่ทหารรักษาวังอยู่เพียง ๒ กองร้อยและพระตำรวจหลวงอีกหยิบมือเดียวที่คอยถวายอารักขา  ทหารมหาดเล็กซึ่งมีหน้ที่สำคัญในการถวายอารักขายังกลายเป็นฝ่ายคณะปฏิวัติ  คุณพระท่านเล่าว่าท่านคอยยืนขวางอยู่ที่พระทวารพระตำหนัก  พอคณะของหลวงศุภชลาศัยไปถึงท่านว่าแต่ละคนต่างก็มีอาการเกร็งด้วยเกรงในพระบารมีกันทั้งหมด  เฉพาะอย่างยิ่งพลโทประยูร  ภมรมนตรี ที่โตมาในพระราชสำนักพร้อมๆ กับคุณพระนั้น  เมื่อคุณพระถามว่า ตายูรแกเอากับเขาด้วยหรือ  ตายูรนั้นก็ถึงกับออกอาการสั่นด้วยเกรงพระบารมีขึ้นมาทันที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 16:30

^
^
อย่างที่คุณวี_มีเล่านี่น่ะครับ พลโทประยูรไม่มีวันเขียนเป็นอันขาด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 20:25

มีข่าวลือเล็กๆ เกี่ยวกับพระยาทรงสุรเดช กับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ย้อนหลังกลับไปในพ.ศ. ๒๔๗๕
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองและพระราชทานธรรมนูญชั่วคราวแล้ว    แทนที่บ้านเมืองจะสงบ  คลื่นใต้น้ำก็เริ่มแรงจากกลุ่มต่อต้านผู้ก่อการฯ
หนึ่งในนั้นคือ"คณะชาติ"  มีหัวหน้าคือหลวงวิจิตรวาทการ    (ซึ่งหลายปีต่อมา  ได้เข้าทำงานอยู่กับจอมพล ป.)
คุณหลวงวิจิตรฯ ส่งคนมากราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จไปประทับที่หัวหิน ในเดือนก.พ.( สมัยนั้นปีใหม่เริ่มนับจากเมษายน   มีนาคมจึงเป็นปลายปี ๗๕) ว่าอย่าเสด็จกลับเข้ากรุงเทพ
เพราะพวกทหารมีพระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้า จะคอยดักยึดรถไฟพระที่นั่งที่บางซื่อ (ซึ่งเป็นแดนทหาร)   แล้วจะบังคับให้ทรงเซ็นลาออกอย่างพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย
เพื่อจะสถาปนาสยามเป็น republic
ถ้าไม่ยอมเซ็นพระนาม   ก็จะจับพระองค์ไว้  ให้เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์นำทรัพย์มาไถ่พระชนม์ชีพ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวนี้   ก็ตรัสกับพระยามโนฯนายกรัฐมนตรีว่า ทรงเชื่อ   เพราะในบรรดาผู้ก่อการทั้งหมด พระยาทรงฯเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมมาเข้าเฝ้า   
ในตอนนั้นพระยาทรงฯ ก็ยังมีอำนาจอยู่มาก  เป็นคนที่ทหารเชื่อฟัง
เมื่อรู้ข่าวนี้   พระยามโนฯ จึงพาพระยาทรงสุรเดชเข้าเฝ้า   เพื่อยืนยันว่าไม่เป็นความจริง   จะไม่มีเหตุการณ์ตามข่าวเป็นอันขาด
เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพ   พระยาทรงสุรเดช ก็ถวายอารักขาอย่างเข้มแข็ง   ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น   เป็นเหตุให้โล่งใจได้ว่า พวกหัวรุนแรงยังไม่ได้พระยาทรงฯไปเป็นพวก
*******************
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 20:59

ระหว่างไปค้นชื่อพ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ เพื่อโพสต์ลงกระทู้ นิยายเก่าเล่าใหม่  ก็เลยเจอเรื่อง "กบฏวังหลวง" เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย จากคุณวิกี้
เลยเอามาลงไว้ให้อ่านกันค่ะ

คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
ภาพศพ 4 อดีตรัฐมนตรีคดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 คือการสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คน ในสายของนายปรีดี พนมยงค์ ในเวลาดึกสงัดบนถนนสายเปลี่ยวอย่างมีเงื่อนงำ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กบฏวังหลวงยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น พันตรีโผน อินทรทัต ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพอยู่ที่พบที่อำเภอดุสิต ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, พันตำรวจเอกบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลก็ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เป็นต้น

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น นายปรีดี หัวหน้าขบวนการมีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท เป็นต้น

สำหรับบุคคลทั้ง 4 ที่เสียชีวิต ประกอบไปด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ, นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถูกจับกุมตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี เป็นต้น และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง โดยตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัสไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา เพราะ ดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบุคคลทั้ง 4 นี้ ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับของทางการ ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อการหรือเป็นแกนนำ แต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมายและประกาศฉบับต่าง ๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้มีความระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นบุคคลทั้ง 4 ก็ได้เข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำเป็นประจำอยู่แล้วในข้อหาทางการเมืองต่าง ๆ โดยติดอยู่หนึ่งเดือนบ้าง 2 เดือนบ้างก็ถูกปล่อยตัวออกมาพบครอบครัว ซึ่งการถูกจับกุมในครั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับการให้ประกันตัว

 
พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ (ยศขณะนั้น) ผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหาค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับ ดร.ทองเปลว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 3.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพอยู่เสมอ

จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

 
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกร ในปี พ.ศ. 2500หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ เป็นต้น

คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวาผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ โดยศาลพิพากษาในปี พ.ศ. 2504 จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และร.ต.ท.ธนู ศาลได้ยกฟ้อง แต่กระนั้นก็ยังมีความเชื่อว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนที่เคยเป็นทหารและตำรวจในสังกัดของจอมพล ป. มาก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้ทหารและตำรวจเหล่านี้ค้ำจุนอำนาจไว้

ในหนังสือ "13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" ของ พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย


รายการย้อนรอย ตอน คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี
วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. ISBN 974-8585-47-6
เพลิง ภูผา. ย้อนรอยขบวนการยึดอำนาจ ปฏิวัติเมืองไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เครือเถา, พ.ศ. 2550. 232 หน้า. ISBN 978-974-8337-16-6
ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. ISBN 974-90614-5-4
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3_4_%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2492".
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 21:20

สมัยโน้นเขาลือกันว่าคนที่รู้ว่าใครเป็นคนยิงก็เพราะตนเองเป็นคนยิง เขาลือนะครับ ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ

เรื่องทำมาหากินนั้น พระยาทรงท่านก็คิดจนสมองแทบแตกก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร การค้าอะไรๆก็ต้องใช้ทุน ที่ต้องมีหนักกว่านั้นคือประสพการณ์  ไช่ง่อนมีคนญวน85% จีน8% ฝรั่งเศส5% ที่เหลือเป็นชนชาติอื่นๆรวมกันทั้งตัวท่านด้วย คนไทยน้อยมาก แม้จะดูคึกคักขึ้นตั้งแต่เกิดกบฎบวรเดช มีนายทหารหนีตายมาอยู่กันที่นี่หลายคน นอกจากพระองค์เจ้าบวรเดชกับพระชายา ที่เสด็จทางเครื่องบินที่ขับโดยหลวงเวหนเหินเห็จแล้ว ก็มีอีกเป็นชุดๆขี่ม้าหนีจากทางโคราชและอุบล ข้ามแดนแล้วมุ่งสู่กรุงพนมเปญ เช่น
พระยาเสนาสงคราม
พระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์
พระยาเทพสงคราม
พระปัจจะนึกพินิศ
หลวงจรูญฤทธิไกร
หลวงลพบาดาล
หลวงอาจณรงค์
หลวงหาญรณยุทธ
หลวงโหมรอนราญ
หลวงไล่พลรบ
ขุนเริงรณชัย
และทหารชั้นประทวนระดับจ่าและนายสิบอีกหลายคน

พวกที่ติดตามพระองค์เจ้าบวรเดชไปอยู่ไซ่ง่อนล้วนมีความเป็นอยู่อย่างยากจน จะทำมาค้าขายอะไรเล็กๆน้อยๆก็สู้คนญวนคนจีนไม่ได้ ขาดทุนป่นปี้ บางคนย้ายกลับไปอยู่พนมเปญเพราะค่าครองชีพที่ถูกกว่า หรือไม่ก็ยอมกลับไปมอบตัวติดคุกในเมืองไทย บางคนก็ยอมตนไปขายแรงงานอยู่ต่างจังหวัด พระยาทรงท่านเคยเดินสวนกับพระองค์เจ้าบวรเดชครั้งหนึ่งบนถนนกลางกรุงไซ่ง่อน ต่างฝ่ายต่างมองเห็นกันโดยบังเอิญแล้วแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น ไม่ยอมทักทายกัน มีแต่หลวงจรูญวุฒิไกรผู้เคยรู้จักกันก่อน มาเยี่ยมและไปมาหาสู่ หลวงจรูญเป็นลูกชายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี จึงพอจะมีฐานะดีกว่าเพื่อน มีอาชีพหลักเป็นครูสอนคาราเต้ให้นายตำรวจฝรั่งเศสและญวน เพราะมีวิชานี้ตั้งแต่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น อาชีพเสริมคือลงทุนค้าไม้ ออกบ้านนอกไปเลือกซื้อซุงมาขาย กำไรบ้างขาดทุนบ้างแต่พออยู่ได้ หลวงจรูญเป็นเพื่อนที่ดีและให้คำแนะนำเมื่อพระยาทรงอยากจะลองทำตามดูบ้าง แต่เมื่อเดินทางไปดูไม้กันสองสามครั้งแล้วไม่ได้ของดีตามราคาคุยของพวกนายหน้า ก็เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านก็เลิก

ส่วนท.ส.ที่สลับตัวมาอยู่พนมเปญก็ดำเนินงานร้านข้าวแกงต่อโดยมีผู้ช่วยเดิมสองคนนั้น แม้จะไม่รุ่งนัก ก็ยังมีรายได้พออยู่พอกิน แต่ไม่เหลือกำไรที่จะส่งไปช่วยค่าใช้จ่ายทางไซ่ง่อนได้  ในพนมเปญนี้มีนายทหารไทยที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกพระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยมาอยู่ก่อนคือพันโท หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนพินทุ)เปิดร้านขายหนังสือพอเลี้ยงตัวได้ ทั้งสองคบหาสมาคมกันเป็นเพื่อนคู่ทุกข์

หลวงรณนี้เป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการ” คณะราษฎร์สายทหาร แต่ถูกประกาศจับพร้อมพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ตอนนั้นเล่นเอาประชาชนงงงันไปหมดว่าพวกนี้เล่นอะไรกัน หลวงรณโชคดีได้กลับบ้านหลังจากรัฐบาลนายควงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศนิรโทษกรรม และสมัครเข้ารับราชการต่อ เมื่อจอมพลป.กลับมาเป็นนายกครั้งใหม่แล้วได้พยายามล้างบาป ให้ไปเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในยุคที่ทหารอยากจะเป็นอะไรก็เป็นได้  แต่ก็ดี มีผลงานพอสมควรจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก




บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 01 ก.ค. 10, 22:39

ประเด็นเรื่องพลโทประยูร ภมรมนตรีนั้น มีเหตุอยู่ที่หนังสือ "ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า" นั้นเคยมีคดีอยู่ครับ

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติขึ้น ตามคำแนะนำขององค์การศึกษาสหประชาชาติ และคณะกรรมการคณะนี้ได้รับหน้าที่ดำเนินการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติสืบ ต่อมา คณะกรรมการดังกล่าวนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการรับช่วงงานต่อๆ กันไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดี ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ประเภทสารคดีแก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยพลโท ประยูร  ภมรมนตรี และคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๑๙ ได้ให้สิ่งที่เป็นหลักฐานแก่สำนักพิมพ์นั้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ภาพไว้ในหน้าต้นแห่งหนังสือเล่มนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๒ นายปรีดี  พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่ามีข้อความมากมาย หลายประการในหนังสือเล่มนั้นที่ฝ่าฝืนความจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานและ ไม่สมเหตุสมผลแห่งหนังสือประเภทสารคดีตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้กำหนดไว้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อผดุงไว้ และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเพื่ออนาคตของกุลบุตรกุลธิดาของชาติไทย เห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดีและเพื่อให้ความเสียหายที่นายปรีดี  พนมยงค์ ได้รับจากคำจูงใจของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นกลับคืนดี กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่ง ชาติ ประเภทสารคดี ที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโท ประยูร  ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือดีเด่นประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจนั้นด้วย

          ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓

          นายสิปปนนท์  เกตุทัต

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

ประกาศ เรื่องกระทรวง ศึกษาธิการเพิกถอนรางวัลชมเชย

หนังสือชื่อ  ชีวิต  ๕  แผ่นดินของข้าพเจ้า

เรียบเรียงโดย  พล.ท.ประยูร  ภมรมนตรี

และคำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัด บรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒


 

          ตามที่คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประจำปี  ๒๕๑๙  ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการได้ตัดสินใจและให้เอกสารหลักฐานรางวัลชมเชย หนังสือดีเด่นประจำปี  พ.ศ.  ๒๕๑๘  ประเภทสารคดี  แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ  ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง  ชีวิต  ๕  แผ่นดินของข้าพเจ้า  เรียบเรียงโดย  พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี  ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งได้โฆษณาจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปนั้น

          นายปรีดี พนมยงค์  จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำเลยที่  ๑  ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งเป็นจำเลยที่  ๒  ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่  ๘๕๘๖/๒๕๒๓  ฐานโฆษณาหนังสือที่มีข้อความฝ่าฝืนความจริงทำให้โจทก์เสียหาย

          กระทรวงศึกษาธิการจำเลยที่  ๑  โดยนายสิปปนนท์  เกตุทัต  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นได้มีประกาศลงวันที่  ๑๔  มีนาคม  ๒๕๒๓  เพิกถอนการให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มที่  พล.ท.ประยูร  ภมรมนตรี  เรียบเรียง และเพิกถอนเอกสารหลักฐานที่ให้แก่  ห.ส.จ.  บรรณกิจเทรดดิ้งนั้นแล้วห้างหุ้นส่วน จำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  ขอรับผิดที่ได้โฆษณาหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งทำให้นายปรีดี พนมยงค์  ได้รับความเสียหาย  และยอมส่งมอบหนังสือ  ชีวิต  ๕  แผ่นดินฯ  ที่เหลืออยู่อีก  ๑ พันเล่ม  ต่อศาลแพ่งเพื่อทำลาย  และได้ทำสัญญาประนีประนอมต่อศาลยอมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องทุกประการ ศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่  ๗ กรกฎาคม  ๒๕๒๕  ให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒  จึงประกาศขอขมานายปรีดี  พนมยงค์  ณ  ที่นี้พร้อมทั้งได้นำประกาศกระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ไว้ต่อท้ายคำขอขมาของ ห้างฯ  ด้วย

          ประกาศมา  ณ  วันที่  ๗ กรกฎาคม  ๒๕๒๕

            ลงชื่อ  ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง  จำเลยที่  ๒

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 20 คำสั่ง