เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329387 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 11:18


ในปลายปีพระยาทรงกับพระสิทธิก็ไปประเทศจีนด้วยกันอีกหลายเดือน กลับมาแล้วพระยาทรงทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทหาร ได้รับการบรรจุเข้าประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก เสนอโครงการก่อตั้งโรงเรียนรบชั้นสูงสำหรับนายทหาร(สมัยนี้น่าจะเรียกว่าโรงเรียนเสนาธิการกระมัง)  คงจะตามที่ได้ไปดูงานมาในหลายประเทศ สภากลาโหมเห็นชอบอนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในค่ายกาวิละปัจจุบัน ท่านจึงคัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียน แต่หลวงพิบูลก็มิได้ไว้ใจ ส่งคนของตนขึ้นไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่ากำลังซ่องสุมผู้คนจะก่อการใหญ่หรือเปล่า


โรงเรียนที่พระยาทรงฯ ไปจัดตั้งน่าจะเป็นประเภท "โรงเรียนเหล่ารบพิเศษ" นะครับ อ้างอิงจากหนังสือ "นักเรียนนายร้อยฯ" ของคุณลุงสรศัลย์

ลักษณะก็คือจะเป็นสถานที่ฝึกสอนเฉพาะทางให้กับหน่วยต่าง ๆ โดยได้แนวคิดมาจากรูปแบบการฝึกศึกษาของระบบทหารเยอรมันครับ  ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อความในหนังสือ "คนไทยในกองทัพนาซี" ของท่าน พันเอกวิชา ฐิตวัตร นะครับ
กล่าวคือเมื่อเริ่มแรก ต้องไปเรียนในโรงเรียนรวมเหล่าของทหาร เทียบกับบ้านเราก็คงเป็นนักเรียนนายร้อย(Kadet : ขเด็ท) พอจบออกมา นักเรียนท่านใดชำนาญด้านไหน ก็จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนเฉพาะทางนั้น ๆ  เช่น เหล่าม้า เหล่าปืนใหญ่ เหล่าสื่อสาร เหล่าทหารราบ เหล่าทหารสารบัญ เหล่าทหารช่าง ฯลฯ

ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางกองทัพบกของไทย ก็จัดตั้งโรงเรียนเหล่าเฉพาะทางตามแต่ละประเภทไว้อยู่แล้ว เช่น ศูนย์การทหารราบ(ค่ายธนรัช) ศูนย์การทหารปืนใหญ่(ค่ายพหลโยธิน) ศูนย์การทหารม้า(ค่ายอดิศร) ศูนย์การทหารช่าง(ค่ายภานุรังษี) นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนตามเหล่าต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสารบรรณ(อยู่แถวใกล้ ๆ สถานีรถไฟสามเสน) โรงเรียนการบัญชี(อยู่ตรงสะพานซังฮี้) ฯลฯ

และนอกจากนี้ หลักสูตรของนักเรียนนายร้อยไทย ก็ได้ปรับปรุงให้เป็นเหมือนกับระบบสหรัฐ(ซึ่งกองลอกแนวคิดเยอรมันมาอีกที)นั่นเองครับ เพราะสหรัฐก็แบ่งศูนย์การฝึกทหารออกตามเหล่า อย่าง ฟอร์ตเบนนิ่ง(Fort Benning) ก็เทียบได้กับศูนย์การทหารราบบ้านเรา, ฟอร์ตน๊อกซ์ (Fort Nox) ก็เทียบได้กับศูนย์การทหารม้าบ้านเรา ฯลฯ เป็นต้น ครับ  

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 13:56

^
^
ขอบคุณคุณsamun007ที่ให้ความเห็นนะครับ ที่ผมเดาไปอย่างนั้นก็เพราะเห็นว่าเวลาที่พระยาทรงใช้ในการจัดตั้งโรงเรียนรบที่ว่านับว่าน้อยมาก ถ้าหลักสูตรเป็นแค่การเรียนการสอนในห้องส่วนใหญ่ ก็คงพอไหว แต่ถ้าเป็นหลักสูตรรบพิเศษที่จะต้องฝึกในภาคสนามกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ผมคิดว่าไม่น่าจะเตรียมของเตรียมคนทันในระยะเวลาแค่2-3เดือน แต่ผมเองก็ไม่ได้ชำนาญการด้านหลักสูตรทางการทหารนะครับ อาจจะผิดก็ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 13:59

แล้วพระยาทรงท่านอยู่ของท่านดีๆแล้ว คนในสภาก็เอาเรื่องคอขาดบาทตายมาให้ท่าน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท1 ที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มนึง มีร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนครผู้ที่ปากกล้าเสียงดังฟังชัดที่สุด และเป็นบ.ก.หนังสือพิมพ์รายวัน “ชุมชน” ด้วย ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลผู้ใด และออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด  เมื่อพระยาพหลประกาศยุบสภาแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พรรคพวกของตนในราคาถูกแสนถูก แถมยังมีผ่อนส่งอีกต่างหาก ถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายตามศัพท์อันทันสมัย เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท1เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง37ต่อ5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง37คะแนน หลวงพิบูล5แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องนี้จะทำความโกรธแค้นอับอายให้แก่หลวงพิบูลอย่างสาหัสเพียงไร แน่นอนพระยาทรงจะต้องถูกสงสัยว่าพยายามที่จะแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่แค่เอื้อมของตน

และในช่วงที่การเมืองยังไม่นิ่งนั้นก็มีข่าวพาดหัวว่า หลวงพิบูลถูกนายลี บุญตาคนสวนในบ้านบุกขึ้นไปยิงถึงห้องนอน แต่กระสุนพลาดเป้า หลวงพิบูลไม่เป็นอะไร ส่วนนายลีถูกจับ ต่อมาอีกเพียงหนึ่งเดือนก็มีข่าวพาดหัวอีกว่า หลวงพิบูลถูกวางยาพิษ ต้องถูกส่งไปล้างท้องกันทั้งครอบครัว แขกที่ไปรับประทานอาหารมื้อนั้นด้วยก็โดนลูกหลง โดนยาต้องไปล้างท้องกับเขาด้วย ทั้งสองเหตุการณ์ดัง

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปสืบจากตน และด้วยการเสียงของส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท ๑ ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 14:05

รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย

คราวนี้มาดูเรื่องที่เล่ากันในครอบครัวของท่านบ้าง

อ้างถึง
มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมา    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารรักษาพระองค์คนนั้นชื่อ พันตรี หลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)



คนที่สอง พันตำรวจตรีหลวงรณสฤษฏ์ ก่อนหน้านั้นถูกย้ายไปปลั่งอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แล้วให้ย้ายไปอยู่ปากพนัง นครศรีธรรมราช โดยมีคำสั่งลับไปที่ผู้บังคับบัญชาว่าอย่าอนุญาตให้ออกไปนอกเขตเมืองคอน ครั้งนี้รัฐบาลส่งนายตำรวจสันติบาลไปคุมตัวมากรุงเทพ รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่า ระหว่างเดินทางอยู่บริเวณตำบลในจังหวัดชุมพร หลวงรณสฤษฏ์ได้แย่งปืนพกตำรวจแล้วยิงตนเองตาย

คนที่สาม พันตรีหลวงสงครามวิจารณ์ นายทหารกองหนุน ลาออกจากราชการแล้วไปทำการค้าอยู่ที่จังหวัดยะลา กรมตำรวจสั่งให้ร้อยตำรวจเอก ขุนพันธ์ราชเดช เจ้าของไอเดียจตุคามรามเทพที่ปั่นกระแสตลาดพระจนฮิตติดซีลลิ่ง ไปจับกุมตัวได้โดยละม่อมที่บ้านเอาแล้วไปคุมตัวไว้ที่ปัตตานี ครั้นเมื่อจะนำไปขึ้นรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์เพื่อส่งเข้ากรุงเทพ รัฐบาลแถลงว่า ระหว่างนั้น มีโจรมลายูเก้าคนพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าปล้นตัวหลวงสงคราม ระดมยิงปืนใส่ตำรวจบาดเจ็บสองคน ตำรวจจึงยิงป้องกันตัว คนร้ายหนีไปได้หมด แต่หลวงสงครามถูกลูกหลงเสียชีวิต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 14:15

ส่วนผู้ที่ถูกจับส่วนหนึ่งประกอบด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) - อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ - อดีตรัฐมนตรี
พระวุฒิภาคภักดี
พันเอก พระสิทธเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) อดีตรัฐมนตรี
พันโท พระสุวรรณชิต (วร กังสวร)
ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร
ร้อยเอก หลวงภักดีภูมิภาค
ร้อยโท ชิต ไทยอุบล
หลวงสิริราชทรัพย์
นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
นายดาบ พวง พลนาวี - ข้าราชการรถไฟ พี่เขยทรงสุรเดช
พันเอก หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) - ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์ - นายทหารประจำการ
พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ - อดีตรัฐมนตรี
ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ (คลี่ สุนทรารชุน) นายทหารประจำ รร.รบ เชียงใหม่
พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์) - นายตำรวจประจำการ
พันตรี หลวงไววิทยาศร (เสงี่ยม ไววิทย์) - นายทหารประจำการ
ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี - ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท แสง วัณณศิริ- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท สัย เกษจินดา- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท เสริม พุ่มทอง- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยโท บุญลือ โตกระแสร์- ลูกศิษย์พระยาทรง รร.รบ เชียงใหม่
ร้อยเอก ชลอ เอมะศิริ - หลานชาย พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ 1 ใน 4 ทหารเสือ
พลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
นายโชติ คุ้มพันธ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พระยาวิชิตสรไกร
ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 20 กว่าคน เช่น นายเลียง ไชยกาล ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน นายมังกร สามเสน และนายทหารจากโรงเรียนรบ เชียงใหม่อีกหลายนาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 14:21

ในวันปฏิบัติการนั้น ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ใช้เครื่องบินสื่อสารเดินคำสั่งและนำรายงานกลับมาให้กองบก.วังสวนกุหลาบที่พำนักของนายกรัฐมนตรีทุกระยะ

พระยาทรงที่รัฐบาลแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากบฏในครั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการนำศิษย์โรงเรียนรบที่เพิ่งจบหลักสูตรตระเวณดูงานทหารตามกรมกองต่าง ๆ แต่เมื่อถึงกรมทหารราชบุรี ปรากฎว่ามีเครื่องบินสื่อสารมารออยู่ พันเอกหลวงประจักรกลยุทธเป็นผู้มากับเครื่องบินลำดังกล่าวได้นำซองขาวมายื่นให้ เป็นคำสั่งให้ปลดนายทหารออกจากราชการ ลงนามโดยพันเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1 พันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
2 ร้อยเอกขุนคลี่พลพฤนท์ ประจำบก.โรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
3 ร้อยเอกสำราญ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทของผู้อำนวยการโรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
4 พันตรีหลวงธุระไวทยะวิเศษ ประจำบก.โรงเรียนรบ เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
5 พันเอกหลวงมหิทธิเมธี ผบ.มณฑ.5 จังหวัดราชบุรี เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
6 พันตรีหลวงพิชิตปัจจนึก ครูกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
7 ร้อยเอกขุนรณมัยพิศาล ประจำกองเกียกกายทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
8 ร้อยเอกขุนประสิทธิ์สินธวาคม ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
9 ร้อยเอกชลอ เอมะศิริ ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
10 ร้อยเอกเพชร ศุขสว่าง รองผบ.ร2 พัน4 เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
11  ร้อยเอกเจือม เอี่ยมคะนุช ประจำแผนกที่2 กรมจเรทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ
12ร้อยตรีบุญมาก ฤทธิ์สิงห์ สำรองราชการ บก.ทหารบก เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ

ทั้งนี้ให้สังกัดกองบัญชาการจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 14:43

พอรับทราบคำสั่งแล้ว พระยาทรงก็ยินยอมให้นายทหารที่มาควบคุมตัวเข้ากรุงเทพทันที รัฐบาลหลวงพิบูลแถลงว่า เพื่อตอบแทนคุณงามความดี จึงได้สั่งให้เนรเทศไปอยู่ในอินโดจีน
ผมเห็นในบันทึกของพันเอก พระอินทรสรศัลย์ ที่พี่สรศัลย์ แพ่งสภานำรูปมาพิมพ์ไว้ในหนังสือของท่าน ระบุว่า วันที่ 30มกราคม2481 ท่านมีกิจกรรมในวันนั้นคือไป“ส่งพระยาทรงไปญวน” แต่พี่สรศัลย์บอกว่า คนไปส่งถูกทหารกันไว้ ไม่ให้เข้าไปในสถานีรถไฟ แต่นักข่าวที่ได้สัมภาษณ์พระยาทรงเขียนไว้ว่า
“ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าถูกปลดด้วยเรื่องอะไร และไม่สนใจด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รู้สึกขอบคุณรัฐบาลที่ให้ไปพักผ่อน ดีเหมือนกัน จะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเสียที”

ผมดูช่วงเวลาแล้วเห็นว่า ท่านมีเวลาไม่เกิน24ชั่วโมง เท่าที่ท่านกระทำแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน ไม่รู้จะเตรียมตัวเตรียมใจได้แค่ไหน และจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขตามที่พูดปลอบใจตนเองหรือไม่ อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ เราจะตามไปดูกันต่อจากนี้

ส่วนพรรคพวกของท่าน หรือผู้ที่เผอิญไปมีช่วงหนึ่งของชีวิตอยู่ในขอบเขตของท่านที่ถูกจับกุมมา รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ มีพันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นประธาน ศาลพิเศษนี้ได้ตัดสินว่า มีการเตรียมการยึดอำนาจโดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำ และตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลยจำนวน 21 คน คือ

1นายลี บุญตา - คนทำสวนในบ้าน ที่ใช้ปืนไล่ยิงหลวงพิบูล
2 พันโท พระสุวรรณชิต
3 ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์
4 นายดาบ พวง พลนาวี
5 พลโท พระยาเทพหัสดิน
6 นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยึ
7 ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
8 ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์
9 นายทอง ชาญช่างกล
10 พันเอก หลวงมหิทธิโยธี
11 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
12 พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์
13 ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์
14 พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท
15 พันตรี หลวงไววิทยาศร
16 พันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล
17 จ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวี
18 ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี
19 ร้อยโท แสง วัณณศิริ
20 ร้อยโท สัย เกษจินดา
21 ร้อยโท เสริม พุ่มทรง

ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ
1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
2 พลโท พระยาเทพหัสดิน
3 พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์

นอกจากนั้น ศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน ปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน

ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าผู้ถูกลงโทษทั้งหมด เป็นแพะรับบาปที่ถูกสามสหายร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อย ได้แก่หลวงพิบูล หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงพรหมโยธี สร้างสถานะการณ์หาหลักฐานพยานเท็จมาปรักปรำว่าร่วมกันกระทำความผิด เพราะเพียงเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนทางการเมืองเท่านั้น การกำจัดบุคคลเหล่านี้ก็ใช้อำนาจของศาลพิเศษที่บรรดาผู้พิพากษาคือผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้ง และไม่ให้มีทนายจำเลยตามหลักยุติธรรมสากล กบฏพระยาทรงสุรเดช คือการกบฎที่รัฐบาลประกาศเอาเองทั้งๆที่ไม่มีการเคลื่อนไหวกำลัง หรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร นอกจากที่เป็นข่าวกับหลวงพิบูลสงคราม3ครั้งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนอกจากครั้งแรกที่เชื่อว่าหลวงพิบูลถูกนายพุ่มยิงจริงๆแล้ว อีกสองครั้งต่อมาล้วนเป็นการจัดฉากของบรรดาคนสนิท แต่หลวงพิบูลทราบหรือไม่ให้ทราบก็แล้วแต่ เพราะเขาต้องการให้ดูแนบเนียนเท่านั้น และเรื่องลงนามคำสั่งประหารเหยื่อการเมืองทั้ง18คนนี้ หลอกหลอนหลวงพิบูลและหลวงอดุลตลอดเวลาเมื่อถูกซักถามในภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปพ้นยุคที่ตนมีอำนาจบาตรใหญ่ ต่างคนก็ต่างโทษกันว่ากระทำไปโดยที่ตนมิได้รู้เห็น ไม่สมกับที่เป็นชายชาติทหาร




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 15:15

รถไฟได้พาพระยาทรง ผู้ที่ยังยืดอกสมชายชาติทหาร พร้อมกับร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส.คู่ใจ ท่ามกลางห้อมล้อมของทหารและตำรวจที่ติดตามไปคุมตัวท่าน ให้เดินทางออกไปนอกประเทศอย่างเรียบร้อย ถึงสุดท้ายปลายทางชายแดนด้านทิศตะวันออกของประเทศสยามที่ด่านอรัญประเทศ ท่านเข้ามอบตัวกับทางการของอินโดจีนฝรั่งเศสในฐานะผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ด่านได้รับรองและให้เกียรติเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงได้จัดการนำท่านขึ้นรถต่อไปยังพนมเป็ญเพื่อพบกับผู้บังคับบัญชาของเขาต่อไป

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถือว่าไม่ใช่อาชญากร ทุกชาติที่เจริญแล้วย่อมให้เกียรติ เมื่อเสร็จพิธีรีตองอันพึงต้องกระทำแล้ว ฝรั่งเศสก็อนุญาตให้ท่านเป็นอิสระ

พระยาทรงไม่มีเงินติดตัวมากนัก รัฐบาลไล่ท่านออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญอย่างหินโหด ท่านต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด สิ่งที่ท่านทำได้ขณะนั้นก็คือ เช่าบ้านไม้โกโรโกโสในราคาเดือนละ21บาทอยู่กันสองคน รอการติดต่อจากครอบครัวของท่าน


บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 15:54

^
^
ขอบคุณคุณsamun007ที่ให้ความเห็นนะครับ ที่ผมเดาไปอย่างนั้นก็เพราะเห็นว่าเวลาที่พระยาทรงใช้ในการจัดตั้งโรงเรียนรบที่ว่านับว่าน้อยมาก ถ้าหลักสูตรเป็นแค่การเรียนการสอนในห้องส่วนใหญ่ ก็คงพอไหว แต่ถ้าเป็นหลักสูตรรบพิเศษที่จะต้องฝึกในภาคสนามกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ผมคิดว่าไม่น่าจะเตรียมของเตรียมคนทันในระยะเวลาแค่2-3เดือน แต่ผมเองก็ไม่ได้ชำนาญการด้านหลักสูตรทางการทหารนะครับ อาจจะผิดก็ได้

สำหรับข้อมูลประกอบเกี่ยวกับโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ผมขอยกมาประกอบดังนี้ครับ


ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมานี้ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้านการจัดหลักสูตร การจัดการศึกษา ตำรา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ และนโยบายที่ได้รับมอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ของนายทหารนักเรียนที่มีอยู่แล้วก่อนเข้ารับการ ศึกษา รวมทั้งให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางด้านวิชาการตามยุคตามสมัย จากการพัฒนาการดังกล่าว สามารถแบ่งวิวัฒนาการของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เป็น ๓ สมัยด้วยกัน คือ.-

๑.  สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่สถาปนาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.๒๔๗๕

๒.  สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗(รร.สธ.ทบ.ถูกยุบเลิก ๒ปี ๒๔๗๕-๗๖) จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

ปี พ.ศ.๒๔๘๘

๓.  สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงไปในแนวทางของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ต่างประเทศหลายประเทศ

ก่อนที่จะเปิดการศึกษาเป็นหลักสูตรที่แน่นอน ตั้งแต่ชุดที่ ๑ นั้น ได้มีการเปิดการศึกษาทดลอง และฝึกหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการทหารบกขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๑ เพื่อรับผิดชอบงานด้านการยุทธศึกษา และการสอนวิชาทหารบก การแก้ไขและกำหนดแบบธรรมเนียมทหาร การติดตามและรวบรวมวิชาการทหารต่างประเทศ และรวบรวมแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งหลังจากนั้น กรมเสนาธิการทหารบก ก็ได้มีการพัฒนาโดยลำดับ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖ จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ยังดำรงพระยศเป็น พลตรี ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก ได้ทรงสั่งการให้ทำการคัดเลือกนายทหารจากกรมกองต่าง ๆ เข้ามาสำรองราชการในกรมเสนาธิการทหารบก เพื่อเข้ามาศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็มีการพิจารณาคัดเลือกผู้มีความเหมาะสม ให้เข้ารับราชการประจำในกรมเสนาธิการทหารบกต่อไป การคัดเลือกนายทหารเข้ารับการศึกษาทดลองทำงานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการนี้ ได้กระทำทั้งสิ้น ๓ ครั้ง ดังนี้.-

ครั้งที่ ๑ ใช้ระยะเวลาการศึกษาทดลอง ๔ เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ๒๔๔๖ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๖ นาย มีผู้เหมาะสมได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๕ นาย

ครั้งที่ ๒ ใช้ระยะเวลาศึกษาทดลอง ๙ เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๔๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๔๔๗ มีผู้เข้ารับการศึกษาทดลอง ๙ นาย มีผู้ได้รับการบรรจุเข้าประจำกรมเสนาธิการทหารบก ๓ นาย

ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๔๔๘ มีการปรับปรุงการศึกษาให้มีระยะเวลาการศึกษาที่แน่นอนขึ้น โดยกำหนดการศึกษาวิชาการ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง คือ วันอังคาร และ วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น. มีผู้เข้ารับการศึกษา ๖ นาย หลังจากสำเร็จการศึกษา ไปทำหน้าที่และเป็นเหล่าเสนาธิการ ๒ นาย

การศึกษาทดลองทั้ง ๓ ครั้งดังกล่าว ปรากฏว่าได้ผลดี จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกอย่างจริง จังในโอกาสต่อมา

 

ที่มา :http://cgsc.rta.mi.th/cgsc/index.php?option=com_content&view=article&id=1&Itemid=8

 
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 16:00

อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีลักษณะรูปแบบการฝึกศึกษาคล้าย ๆ กันคือ วิทยาลัยเสนาธิการ ซึ่งรับทุกเหล่าทัพครับ
http://jsc.rtarf.mi.th/

สำหรับกรณีโรงเรียนรบของพระยาทรงฯ จริง ๆ แล้วท่านอาจจะจัดรูปแบบการฝึกศึกษาอย่างที่คุณ Navarat ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็เป็นได้ครับ หรืออาจจะเป็นไปตามมุมมองของคุณลุงสรศัลย์ก็ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากการจัดโครงสร้างยังไม่ชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ในสมมติฐานทั้งสองทางครับ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 19:25

รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย


ไม่เคยเห็นวิสามัญฆาตกรรมรายไหน ที่ตำรวจลงบันทึกว่าผู้ร้ายอยู่เฉยๆ  ไม่ได้ต่อสู้ แต่ถูกยิงตายอยู่ดี

แถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไรก็ตาม     มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว   ที่พันตรีนายทหารผู้ต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เชื้อเชิญเข้าไปในบ้านด้วยดี  แสดงว่าไม่ได้อีโหน่อีเหน่เลยว่าตัวเองเข้าชะตาร้าย
แต่พอรู้ว่าถูกหมายจับ  ก็เปลี่ยนใจควงปืนสั้นกระบอกเดียว มาดวลกับปืนกลมือ ๒ กระบอก  ทั้งที่นุ่งโสร่งอยู่ผืนเดียวอย่างนั้น

ปกติตำรวจที่เขามาเชิญผู้ต้องหาไปสอบสวน   เขาพกปืนกลมือกันด้วยหรือคะ  
****************
พันตรีหลวงราญรณกาจ ถูกยิงในห้องนอนจากทางด้านหลัง เมื่อกำลังแต่งตัวอยู่หน้ากระจกเงา    ตายต่อหน้าลูกเมีย 
แต่ไม่เคยมีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ในศาล       นายตำรวจผู้ยิงก็ไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด   เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่
*************
มีเรื่องสายลับของรัฐบาลมาเล่าสู่กันฟังนิดหน่อยค่ะ  ขอเวลาสักพัก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 20:12

^
^
เรื่องที่โหดเหี้ยมไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะทำกับคนไทยได้ ในสมัยที่บ้านเมืองน่าจะมีอารยะแล้วนี้
มันเกิดขึ้นได้จริงๆในยุคนั้น

เขาจึงเรียกว่ายุคทมิฬไงครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:12

ก่อนหน้าที่หลวงพิบูลจะลงมือปฏิบัติการกวาดล้างบุคคลน้อยใหญ่ที่ตนระแวง วันหนึ่งพระยาฤทธิ์อัคเณย์กำลังปฏิบัติราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่ที่กระทรวงเกษตรธิการ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร (ชลอ  ศรีธนากร) ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และ ลูกน้องอีกคนหนึ่ง  ได้เข้าพบเพื่อแจ้งว่า “เจ้าคุณพหลให้เชิญใต้เท้าไปประชุมที่วังปารุสกวันเดี๋ยวนี้”

พระยาฤทธิ์ฯรู้สึกงงเล็กน้อย เมื่อพบกันแล้วพระยาพหลบอกว่าหลวงพิบูลจะเอาเรื่อง พระยาฤทธิ์เองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีอยู่ เพราะหลวงพิบูลเคยเรียกไปกล่าวหาตรงๆว่ามีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีพยานหลักฐานว่า ได้ลงนามในฐานะรัฐมนตรีเกษตร อนุมัติให้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ เรืออากาศโทม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน  ท่านก็บอกว่าอ้าว นั่นเป็นมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้เข้ารับงานราชการได้ไม่ใช่เหรอ ท่านก็อนุมัติไปตามขั้นตอนที่ข้างล่างเสนอมา ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบกันด้วยซ้ำ แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งท่านไม่ได้แก้ตัว เพราะหลวงพิบูลบอกว่าท่านสนิทสนมกับพระยาทรง ก็แล้วจะให้ท่านทำอย่างไร พระยาพหลบอกว่าในเมื่อเขาจะลงมือกันอยู่แล้ว ท่านก็ขอไม่ได้ ให้พระยาฤทธ์รีบหลบไปต่างประเทศก่อนดีกว่า ว่าแล้วก็ให้นายตำรวจสันติบาลจัดการส่งให้พระยาฤทธิ์ออกไปปีนังอย่างปลอดภัย  และเพื่อจะให้ออกไปแล้วไม่ย้อนกลับมาอีก รัฐบาลจึงแถลงการณ์ว่าพระยาฤทธิอัคเณย์ผู้ต้องหาคดีกบฏหนีไป ผู้ใดจับมาได้จะให้ค่าหัว 1หมื่นบาท พระยาฤทธิ์ก็เลยไม่กล้ากลับเมืองไทยจนกระทั่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:18

ส่วนสี่ทหารเสือคนสุดท้อง คือ พระประศาสน์พิทยายุทธ

พระประศาสน์เป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลหมายหัวอยู่ด้วยอีกคนหนึ่งเพราะเห็นว่าสนิทสนมกับพระยาทรงมาก หลวงประดิษฐ์รู้ข่าวก็รีบไปขอกับหลวงพิบูลในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน เลยรอดตัวไปได้อย่างฉิวเฉียด แต่ก็ได้พบกับชะตากรรมลำบากแสนสาหัสในระหว่างสงคราม และเมื่อเบอร์ลินโดนสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก วันที่กองทัพรถถังของรัสเซียตลุยกรุงแตก พระประศาสน์มอบตัวและอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูต แต่ก็ถูกจับไปไว้ที่ค่ายกักกันเชลยศึกในไซบีเรีย ที่หน้าหนาวมีความเยือกเย็นขนาดลบ40 องศาใต้ศูนย์ โดยที่มีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว ทรมานทรกรรมในนรกน้ำแข็งอยู่ถึง 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้ก็หวุดหวิดความตายเต็มที และก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน ไม่มีเงินทอง บ้านช่องในเมืองก็ไม่มี ต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน

ในบั้นปลายชีวิต ท่านกลับเข้ารับราชการได้รับการปลอบใจจากรัฐบาลใหม่ให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ก็กลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และถึงแก่กรรมไปหลังจากนั้นไม่นาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:23

ส่วนพระยาพหล สีเสือคนหัวปี หลวงพิบูลเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีสมใจนึกแล้ว ก็ขจัดท่านออกจากทุกตำแหน่งโดยเอาไปขึ้นหิ้งไว้ในตำแหน่ง “เชษฐบุรุษ”

ผมจะเขียนอะไรขึ้นใหม่ หรือเรียบเรียงอย่างไรก็คงจะได้ดีเท่าที่พี่สรศัลย์ แพ่งสภาเขียนไว้แล้วไม่ได้ เชิญท่านอ่านดู


นักเรียนเยอรมันสมัยโน้นก็เหมือนศิษย์เก่าสถาบันต่างๆ สมัยนี้ รวมๆ กันไปกินไปพบปะกันที่นั่นที่นี่บ้านโน้นบ้านนี้ ก่อน 24 มิถุนายน ไม่เท่าไหร่ ไปพบปะเฮฮากันอยู่ที่วังท่านนิล (พลตรี ม.จ.นิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก) สะพานเหลือง ที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมแมนดารินนั่นน่ะ
ท่านนิลรับสั่งฐานะเพื่อนสนิทว่า เห็นด้วยกับการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ที่จะทำอะไรกันนี่น่ะมันไม่ชิงสุกก่อนห่ามไปหน่อยเรอะ ยังงั้นอีกห้าสิบปีราษฎรก็ยังตามไม่ทัน แกไม่เคยมีความรู้พื้นฐานซักนิด แกนึกวาดภาพไม่ออก

ท่านนิลทรงเตือนว่า

…..พวกเรานี่มันเป็นทหารมาทั้งชีวิต พจน์ทั้งซื่อทั้งตรง เห็นทุกคนดีหมด ระวังรุ่นเด็กจะหลอกเชิด เราจะเป็นเพียงหลักเกาะเป็นแป้นสำหรับเหยียบก้าวกระโดดต่อไป เมื่อไหร่เขาสร้างฐานได้แน่นหนามีบารมีสูงพอ เมื่อนั้นแกก็สิ้นความหมาย พจน์ตัวหัวหน้าใหญ่จะน้ำตาตก ไม่ใช่เพราะหมดวาสนา แต่เพราะสิ้นอิทธิพลหมดทางควบคุมยับยั้งความวุ่นวายของรุ่นเด็ก ที่ต่างจะแย่งอำนาจฉกโอกาส แสวงลาภยศทรัพย์สินเป็นส่วนตัวกัน ทิ้งหลักการดั้งเดิมของคณะราษฎร

เทพก็เหมือนกัน เรียนหนังสือเก่งเปรื่องปราดเป็นครูบาอาจารย์นั่นแหละระวังให้ดี ลูกศิษย์จะล้างครู…..

คำพูดเหล่านี้ไม่สู้จะเป็นที่สบอารมณ์เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯนัก น้ำกำลังเชี่ยว


ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง