เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328794 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 22:24

เข้าปีที่ ๗๘ แล้ว    ก็ยังไม่รู้ว่าพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยหรือยัง?

มาถึงขั้นนี้แล้ว คงต้องคิดว่าจะทำยังไงกันต่อไปเท่านั้นแหละครับ

นึกได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งพูดไว้โดนใจมากว่า "ผ่านไป ๘๐ ปีคนไทยบางกลุ่มเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ และอาจต้องใช้เวลาอีก ๘๐ ปี กว่าคนกลุ่มนี้จะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ด้วย"
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 23:37

แถมยังส่งกองทัพตำรวจลับเข้าเกาะติดชาวสมาคมนี้ ได้รายชื่อที่เหวี่ยงแหมาได้เป็นกระบุงโกย ครั้นเปลี่ยนนายกมาเป็นพระยาพหล พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์เป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง มีสมาชิกประเภทฮาร์ดคอร์ประชุมกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือพระยาศรีสิทธิสงคราม


โดยส่วนตัวผมคิดว่าท่านเจ้าคุณดิ่น ไม่น่าจะ HardCore มากเท่าใดนะครับ เพราะบุคคลิกของท่านค่อนข้างจะไปในแนวทางเสนาธิการเสียมากกว่าจะเป็นระดับปฎิบัติการ

ผู้ที่เป็น Hard Core ตัวจริงน่าจะเป็น พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว อี๋ นพวงศ์) มากกว่าครับ เพราะตอนที่คณะราษฏร์ไปจับตัวท่านก็ต้องทั้ง "ตีให้มึน" และ "ยิงให้เจ็บ"

ซึ่งแนวทางการจับกุมก็มาจากแผนของ พระยาทรงสุรเดช ด้วยนั่นเอง


ภายหลังเสือคู่นี้ก็ตามราวีกันไปอีกนาน ถึงขนาดท้ายิงกันตัวต่อตัว แต่พระยาทรงสุรเดชไม่กล้าสู้ด้วย เพราะท่านพระยาเสนาสงคราม ได้เหรียญแม่นปืนนั่นเองครับ

ภายหลังท่านเจ้าคุณดิ่นได้รวบรวมพรรคพวก ท่านพระยาเสนาสงครามก็มาร่วมด้วย และก็เป็นเพราะท่านพระยาเสนาสงครามนี่แหละ ที่ทำให้กองหนุนจากนครสวรรค์ลงมาช่วยไม่ทัน ทำให้แผนยุทธการผิดพลาดไปหมดครับ จนเป็นเหตุให้ พันโทแปลก รบชนะได้

ข้อมูลจากหนังสือ "เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันย์ผู้นิราศ" ของนายหนหวยครับ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 00:07

ความจริงแล้ว พระยามโนเจอเรื่องที่สี่เสือขอลาออกนี้เข้าท่านก็เกือบสลบ หลังจากปรึกษากับพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแนะนำท่านว่าให้ฟังเสียงพวกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองดู การทำงานข้างหน้าจะได้สมัครสมานกันราบรื่น เมื่อเชิญหลวงพิบูลมาปรึกษาแล้ว สรุปว่าให้เชิญพลตรี พระยาพิไชยสงคราม(แก็บ สรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนพันโทหลวงพิบูลสงครามจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงพิบูลเป็นผู้ไปเจรจาทาบทามนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นตกลงรับเพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลเรื่องการโยกย้ายทหารที่พระยาทรงสั่งการไว้ โดยหลวงพิบูลขอให้ช่วยแก้ไข และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงกลับเข้ามามีอำนาจอีกได้ เมื่อทั้งสองท่านตกลงลงแล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา ตามที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอ



ข้อมูลที่ผมแต้มสีลงไปนั้น เมื่อสอบทานกับข้อเขียนของ คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) พบว่ามีข้อมูลดังนี้ครับ

"...ภายหลังพระยาศรีฯได้ถูกย้ายจากตำแหน่งราชการทหารมารับตำแหน่งราชการ ทางกระทรวงธรรมการ  อยู่มาจนกระทั่งพระยาพหลฯ พร้อมด้วยนายทหารอีก ๓ นายลาออกจากคณะรัฐบาล  เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ ด้วยมีเรื่องขัดใจกับพระยามโนฯ  พระยามโนฯหวังจะเอาพระยาศรีฯเป็นกำลังต่อไป  จึงได้แต่งตั้งพระยาศรีฯดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก  ในวันที่พระยาศรีฯจะไปรับมอบหมายงานที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง  พระยาพหลฯก็นำคณะยึดอำนาจการปกครองจกพระยามโนฯเป็นคำรบสอง  เมื่อวันที่ ๒๐  มิถุนายน  พระยาศรีฯจึงไม่ได้รับตำแหน่งนั้น
   อย่างไรก็ดี พระยาพหลฯและหัวหน้าบางคนในคณะของท่านก็ใคร่จะได้พระยาศรีฯปช่วยราชการ เหมือนกัน  พระยาพหลฯจึงได้ทำความเข้าใจกับพระยาศรีฯ ว่าการที่ไมได้จัดการให้พระยาศรีฯได้รับตำแหน่งทางการทหารในเวลานั้นก็เป็น ด้วย เมื่อได้ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และเป็นในยามมืดมนอนธการเช่นนี้   เพื่อให้คน ทั้งปวงมีความเชื่อมั่นในความสงบของบ้านเมือง  ตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางราชการทหาร  จำต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย  ขอให้พระยาศรีฯอยู่ในความสงบไปพลางก่อน  ต่อผ่านระยะแห่งความยุ่งยากไปแล้วก็จะได้จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งในราชการทหารสืบไป  ทั้งนี้มีความรู้สึกฉันมิตรอันจริงใจของพระยาพหลฯและนายทหารชั้นหัวหน้าของ คณะผู้ก่อการบางคนที่มีต่อพระยาศรีสิทธิสงคราม
   อย่างไรก็ดี  พระยาศรีฯ คงมีความเข้าใจผิดคิดว่าปิยมิตรไม่ไว้วางใจในตนเสียแล้ว  ก็คงจะมีความโทมนัสใจ  และประกอบกับคงจะมีความข้าใจผิดในคติการเมืองของคณะราษฎรในบางปะการ  จึงเป็นเหตุบันดาลให้พระยาศรีฯไปร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช  ก่อการกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น  จนถึงได้นำทหารหัวเมืองมาทำยุทธการกับเหล่าทหารของรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น  ในที่สุดฉากแห่งชีวิตของท่านนายพันเอกผู้นี้ปิดลงด้วยการสู้รบจนถึงแก่ความ ตายในสมรภูมิสมเยี่ยงชาติทหาร


ลุงคำตัน ชีวิต/อุดมการณ์/ความหวัง
ทันพงษ์  รัศนานันท์  บรรณาธิการ"

http://www.thaioctober.com/forum/index.php?action=printpage;topic=575.0
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 09:45

ขอบคุณคุณ Samun007 ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนทัศนะกันในกระทู้นี้นะครับ ท่านพล.ต.พระยาเสนาสงคราม(ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์) นั้น ผมยกให้ท่านเป็นระดับซูปเปอร์ฮาร์ดคอร์ทั้งสามีและภรรยา คนที่เขียนเรื่องของท่านได้ดีที่สุดอีกคนหนึ่งก็คือท่านพลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ แม้เนื้อหาเดิมๆจะเอามาจากนายหนหวยก็ตาม

“วันเกิดเหตุซึ่งมีการปะทะคารมกันนั้นมีบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกต่อหน้านายทหารในสโมสรนายทหารชั้นผู้ใหญ่กระทรวงกลาโหม โดย พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้เปรยขึ้นมาในกลุ่มนายทหารพันเอกด้วยกันรอบๆโต๊ะบิลเลียดว่า"เขาเล่ากันว่า พระราชวงศ์จักรีจะปกครองเมืองไทยอยู่เพียง 150 ปีเท่านั้น นี่ก็ครบ 150 ปีแล้ว เขาว่าจะมีคนคิดกบฎ"พูดจบก็สังเกตปฏิกริยาจากนายทหารที่ได้ยินคำพูดนี้ แน่นอน…เรื่องคอขาดบาดตายแบบนี้ต่อให้มึนขนาดไหนก็หายเป็นปลิดทิ้ง แต่แล้วก็ปรากฎมีเสียงสวนตอบอย่างหนักแน่นดังสนั่นแหวกความเงียบมาว่า

"ใครกบฏก็รบกันซีวะ…กูก็เลือดราชวงศ์จักรีเหมือนกัน ไม่ยอมให้ใครมาเหยียบได้ง่าย" เจ้าของเสียงคือ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม เสือร้ายเจ้าพ่อ พล.1 รอ.พร้อมสายตาแข็งกร้าว…”

เรื่องราวขัดแย้งระหว่างสองเสือเริ่มปะทุขึ้นแล้ว !!!
^
^
ขอเชิญติดตามได้ในลิงค์นี้

http://www.bloommedia.co.th/webboard/viewtopic.php?f=23&t=691

http://www.bloommedia.co.th/webboard/viewtopic.php?f=23&t=731


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 09:52

ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้น ต้องดูตามสำนวนของพลโทประยูร ภมรมนตรี

สั่งเก็บผบ.พล ๑
เมื่อพล.ต. พระยาเสนาสงครามถูกปลดออกจากราชการ ก็ขับรถยนต์คันเล็กสองคนตายายมารังควานจอดรถท้าทายพระยาทรงอยู่หน้าวังปารุสกวันเป็นประจำ ทำให้ท่านเจ้าคุณทรงเคียดแค้นรำคาญสั่งให้ลูกน้องเก็บ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องกระทบกระเทือนสร้างความหวั่นไหวให้แก่ประชาชนในเรื่องระบบการยิงทิ้ง จึงอาสาจะจัดการระงับ ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็ไปพบ น.ต.หลวงสกลนภากาศ(มล สิงหเสนี)ซึ่งเป็นญาติห่างๆและเป็นลูกเขยพระยาเสนาสงคราม ขอร้องให้ท่านย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและสงบนิ่งอยู่ เหตุการณ์บ้านเมืองย่อมผันแปรไป โดยพร้อมที่จะซื้อบ้านที่อยู่ของท่านที่ถนนนครชัยศรี หลวงสกลนภากาศก็รับรองว่าจะช่วยเจรจาให้สำเร็จ ขอเงินขายบ้าน5000บาท ข้าพเจ้าได้อ้อนวอนขอเงินจำนวนนี้จากท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและว่าการคลังอยู่ด้วย ท่านรู้สึกอิดหนาระอาใจว่าเล่นการเมืองอย่างนี้อยากจะลาออก แต่ในที่สุดก็รับปากที่จะจัดหาเงินรายได้พิเศษมาให้ แต่การดำเนินการเบิกจ่ายล่าช้า ท่านเจ้าคุณทรงก็มาต่อว่าเร่งรัดและเกิดขัดใจ เลยลงมือเสียเอง โดยให้ร้อยโทขุนนามนฤนาท ซึ่งไปประจำเป็นนายทหารติดต่อกับฝ่ายตำรวจจัดการให้สิบเอกสวัสดิ์กับสิบเอกเทียนฟู้ เป็นคนมาดักยิงพระยาเสนาสงครามที่หน้าบ้าน บาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย แต่ท่านรู้ตัวมาก่อนจึงได้ยิงต่อสู้กับมือปืนบาดเจ็บ ต้องแอบไปรักษาตัวอยู่ที่วัดนครปฐม ข้าพเจ้ารู้สึกขุ่นหมองเจ้าคุณทรงเป็นอย่างมากว่ามีกำลังทหารอยู่ในมือทั้งกองทัพ ไม่น่าจะมาทำให้มีเรื่องสะเทือนใจทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล


ผมไม่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนแต่แรกก็เพราะเห็นว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าวมิใช่เรื่องที่พระยาทรงมีกับคณะผู้ก่อการ อันจะนำไปสู่วิบากที่ท่านจะประสพในชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมจะเขียนดังต้นเรื่องที่เกริ่นไว้ แต่ยังไปไม่ถึงสักที นี่จะหมดโควต้าร้อยความเห็นที่ท่านเจ้าของห้องตั้งเป้าไว้แล้ว เห็นทีจะต้องขอต่อรองเพิ่มมาอีกสักห้าหกสิบ ก็เรื่องข้างเคียงของพระยาทรงมีเยอะมาก ที่ท่านยกมากันก็เป็นข้อมูลดีๆสนุกๆทั้งนั้น ที่ผมละเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับท่านพระยาเสนาสงครามไป ไม่ได้กล่าวถึงแต่แรก ก็นึกเสียดายอยู่ เพราะเท่ากับตัดส่วนสำคัญของพระยาทรงในเรื่องความไม่ดีของท่าน ที่ชอบใช้วิธีการรุนแรงลอบทำร้ายศัตรู ทั้งๆที่น่าจะใช้สมองเสธ.เอากำลังทหารเข้าบีบจับเป็นมาให้ได้ โดยใช้จิตวิทยาประกอบอย่าให้พระยาเสนาตัดสินใจใช้ปืน ฉะนั้นจึงต้องขอขอบคุณคุณSamun007 อีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมกลับมามีโอกาสกล่าวถึงเรื่องนี้ แทนที่จะไปหาโอกาสเขียนแถวๆบทสรุป

เพราะกรรมก็ตามสนอง มาคิดๆดูแล้ว หลวงพิบูลคงทราบนิสัยพระยาทรงในเรื่องนี้ดีอยู่ พอตนถูกนายพุ่มยิงเอาปางตายที่ท้องสนามหลวง เผอิญ(หรือไม่เผอิญก็ไม่ทราบ) ร้อยตำรวจเอกขุนนามนฤนาท อยู่ในที่เกิดเหตุขนาดเป็นผู้อุ้มหลวงพิบูลขึ้นรถพยาบาล แต่บอกว่าเผอิญผ่านเข้ามาในเหตุการณ์ ตอนนั้นจำเลยไม่ได้ซัดทอดขุนนามเลยรอดตัวไป แต่ชื่อขุนนามและพระยาทรงคงอยู่ในbad listไปแล้วเพราะมีประวัติตามที่พลโทประยูรเขียน เรื่องที่หลวงพิบูลตัดสินใจเชคบิลกับพระยาทรงและพรรคพวกน่าจะมีเหตุมีปัจจัยมาอย่างนี้ ดังนั้น แม้เรื่องกบฎ2482พระยาทรงจะถูกเนรเทศ แต่ขุนนามก็เป็น1ใน18ที่โดนประหาร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 09:55

ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)นั้น ผมก็ยังเชื่อว่าท่านเป็นนักรบระดับแนวหน้าที่ผมใช้คำว่าhardcore แต่ไม่ถึงขนาดsuper hardcoreไปควงปืนท้าดวลกับผบ.หน้ากรมทหาร ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็เชื่ออีกเหมือนกันว่าคงไม่มีใครเลือกให้เป็นแม่ทัพ พระยาเสนาท่านกระเปิ๊บกระป๊าบดังว่า จึงไปปฏิบัติการนำทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์ลงมากรุงเทพไม่สำเร็จ

ที่น่านับถือพระยาศรีอย่างยิ่ง แม้จะผิดแผนไปหมด แต่การที่ท่านไม่ยอมพ่ายหนีอย่างขี้ขลาดตาขาว ก็คือการถอยมาอยู่ที่ช่องหินลับอย่างมีชั้นเชิง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่กำหนดไว้ว่า หากเพลี่ยงพล้ำฝ่ายรัฐบาล ก็จะใช้จุดยุทธศาสตร์นี้ยันทัพที่ติดตามตีได้ และท่านได้อยู่บัญชาการรบเอง ไม่ได้สั่งให้ลูกน้องว่าเอ็งอยู่ กูจะไป แม้นโชคชะตาจะกำหนดให้ท่านต้องเสียชีวิตทั้งๆที่การรบยังไม่ถึงขั้นแตกหัก เพราะออกมาเดินตรวจแนวรบให้กำลังใจทหารในคืนที่มืดมิดโดยมีปืนพกกระบอกเดียว
แต่การเสียชีวิตของท่านก็ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นการตายที่สมศักด์ศรีชายชาติทหาร พนักงานกรมรถไฟยังได้จัดพิธีรำลึกวันพระยาศรีขึ้นในทุกปีของวันที่23 ตุลาคม ณ ตำแหน่งที่เป็นที่เคยเป็นมั่นสุดท้ายของท่าน นายสถานีหินลับจะเป็นผู้ทำพิธีที่เรียบง่าย ด้วยการนำคนรถไฟ ชาวบ้าน และเด็กๆ ทยอยนำดอกไม้มาวางที่ป้าย ซึ่งการรถไฟจัดทำไว้ ไม่มีศาลให้คนมาขอหวยรกรุงรัง  ป้ายนั้นมีข้อความว่า

        ที่มั่นสุดท้าย-ที่ตาย
                 ของ
       พระยาศรีสิทธิสงคราม
            (ดิ่น ท่าราบ)
         คราวกบฏบวรเดช


เมื่อขบวนรถผ่านมาในเวลานั้น จะต้องชลอความเร็วตามปกติเพราะเป็นทางโค้งและแคบ นายสถานีจะกระโดดขึ้นไปบนรถข้างพนักงานขับ แล้วยิงปืน 18 นัด สลุตให้แก่ท่าน เป็นเกียรติยศเทียบเท่าเสนาบดี

พิธีดังกล่าวกระทำตามคำสั่งของนายพันเอกพระยาสฤษดิการบรรจง(สมาน ปันยารชุน) ผู้ว่าการการรถไฟในสมัยนั้น ซึ่งถูกให้ออกจากราชการเพราะการท้าทายอำนาจรัฐอย่างโจ่งแจ้งในเรื่องนี้ แต่ก็น่านับถือคนรถไฟ ผู้ว่าการคนต่อๆมาไม่มีใครยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และยังคงถือปฏิบัติต่อมาจนปัจจุบัน


เรื่องของท่านดิ่น น่าจะเปิดเป็นกระทู้อีกกระทู้หนึ่ง เอาไว้เมื่อผมจบ และหายเหนื่อยจากกระทู้นี้ก็แล้วกัน



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 10:38

ผมไม่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนแต่แรกก็เพราะเห็นว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าวมิใช่เรื่องที่พระยาทรงมีกับคณะผู้ก่อการ อันจะนำไปสู่วิบากที่ท่านจะประสพในชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมจะเขียนดังต้นเรื่องที่เกริ่นไว้ แต่ยังไปไม่ถึงสักที นี่จะหมดโควต้าร้อยความเห็นที่ท่านเจ้าของห้องตั้งเป้าไว้แล้ว เห็นทีจะต้องขอต่อรองเพิ่มมาอีกสักห้าหกสิบ

ขอโทษที่เกริ่นไว้กำกวมไปหน่อย   ที่ว่าตั้งเป้าไว้ ๑๐๐ ค.ห.  หมายความว่า ตั้งใจจะให้ทำให้ได้ อย่างน้อย ๑๐๐ ค.ห.   เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดให้เล่าได้มาก    คนก็รู้กันน้อย   ไม่อยากให้จบเร็วๆ
คุณนวรัตนจะเขียนยาวสักกี่พันค.ห.ก็ได้ค่ะ   
เรื่องพระยาเสนาสงคราม และพระยาศรีสิทธิฯ เป็นเรื่องเข้มข้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากจะขออาราธนาคนมาเล่าให้ฟังนานแล้ว
คุณหญิงเสนาสงคราม ท่านยังกะโจน ออฟ อาร์ค ออฟ สยาม  ยังไงยังงั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 12:46

อ้างถึง
คุณนวรัตนจะเขียนยาวสักกี่พันค.ห.ก็ได้ค่ะ

เอิ๊กกก...เ ป็ น  ล  ม
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 17:55


"ใครกบฏก็รบกันซีวะ…กูก็เลือดราชวงศ์จักรีเหมือนกัน  ไม่ยอมให้ใครมาเหยียบได้ง่าย" เจ้าของเสียงคือ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม เสือร้ายเจ้าพ่อ พล.1 รอ.พร้อมสายตาแข็งกร้าว…”
ขอให้ข้อมูลข้างเคียง  เพื่อช่วยปั่นทู้ให้ถึง 1000 เร็วๆครับ
ราชสกุลนพวงศ์ ของพระยาเสนาสงคราม  สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส หรือ พระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส พระนามเดิม พระองค์เจ้านพวงศ์
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระอินทรอำไพ (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับ กรมหลวงบริจาภักดี ศรีสุดารักษ์) ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ (๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๕)
พระองค์เจ้านพวงศ์ ทรงเป็นพระโอรสหนึ่งในสองพระองค์ที่ประสูติก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (อีกพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส กำกับดูแลกรมล้อมพระราชวัง ต่อมาโปรดฯให้กำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เพิ่มอีกตำแหน่ง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๒๙ (๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐) พระชันษา ๔๖ ปี

พระยาเสนาสงคราม มีนามเดิมว่าม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์  ผมก็ไม่ทราบว่าท่านพ่อของท่านเป็นหม่อมเจ้าโอรสองค์ไหนของกรมหมื่นมเหศวร      แต่ถ้าลำดับชั้น   ท่านเป็นเหลนทวดของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ
ดังนั้น  ท่านจึงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเลือดราชวงศ์จักรี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 26 มิ.ย. 10, 21:00

ความคิดเห็นของศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่อสถาบันกษัตริย์   ลงในน.ส.พ.ศรีกรุง  ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
"พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่    บางพระองค์อาจเป็นได้ทั้งโง่และทั้งหยิ่ง   นี่แหละเป็นเหตุที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินดำเนินไปในทางผิดหวัง    ทำให้ประชาชนเห็นตระหนักยิ่งขึ้นทุกขณะว่า  ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกถึงความดีของมนุษย์"

ไม่มีพระราชวงศ์ท่านใดออกมาคัดค้าน  หรือแสดงปฏิกิริยาอย่างใดกับความเห็นของศรีบูรพา     ศรีบูรพาอาจรู้สึกผิดหวังต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง  ดังที่แสดงในข้อเขียน  และหวังว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะนำความสมหวังมาให้ประชาชน   อย่างน้อยก็ดีกว่าเดิม
แต่ระบอบการปกครองของไทย ในช่วงหนึ่ง   หลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง   เป็นระบอบที่ประทับตรา "กบฏ" ให้สุภาพบุรุษนักเขียนผู้เชื่อมั่นในประชาธิปไตย   จนกระทั่งต้องลี้ภัยการเมืองไปถึงแก่กรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีน 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 06:20

อ้างถึง
ผมไม่แน่ใจว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยกับกบฏบวรเดชหรือเปล่า   แต่อยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะระแคะระคายมั่ง  ไม่มากก็น้อย   เพียงแต่ไม่ได้ลงมือร่วมด้วยช่วยกัน

ข้อความที่คุณbookaholicได้ตั้งคำถามไว้ ผมก็เชื่อว่าท่านคงทราบแน่ แต่พระยาทรงท่านอาจจะเบื่อการเมืองจริงๆ ก่อนหน้านั้นจึงได้ลาออก พร้อมกับชวนสี่เสือออกพร้อมกันทั้งคณะ แล้วตัวท่านกับพระประศาสตร์ก็รีบเดินทางไปพม่า  แล้วจึงเกิดเหตุการณ์หลวงพิบูลปฏิวัติพระยามโนโดยชูพระยาพหลขึ้นบังหน้า พอท่านกลับมา ถึงหลวงพิบูลจะเชิญให้ร่วมงานกันอีก ท่านก็ปฏิเสธ แม้จะเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ ส่วนพระยาฤทธิ์และพระประศาสตร์ยอมรับคำชวนโดยดี เรื่องนี้หลวงพิบูลจึงตั้งข้อสงสัยว่า พระยาทรงคงจะต้องการตำแหน่งบังคับบัญชาทหาร เช่นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเป็นต้น ตำแหน่งอื่นๆไม่เอา มักใหญ่ใฝ่สูงมาก คิดไปโน่น ทั้งๆที่ท่านพอใจจะเป็นนายทหารธรรมดาๆ รับราชการไปตามหน้าที่เท่านั้น

ส่วนข่าวกบฎในปีเดียวกัน ท่านก็ต้องระแคะระคายเท่าๆกับที่รัฐบาลรู้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดวันไหนเท่านั้น ท่านจึงขอลาไปดูงานยาวถึงยุโรป จะได้ไม่ต้องเกี่ยวข้องด้วย เพราะหากอยู่ก็เปลืองตัว ตอนปฏิวัติท่านเป็นเบอร์2 หลวงพิบูลยังเด็กๆรุ่นน้องรอฟังคำสั่งท่าน แค่ปีเดียว หลวงพิบูลก็เติบโตขึ้นมาเสมอบ่าเสมอไหล่ เมื่อท่านลาออกจากตำแหน่งไปแล้วก็เท่ากับยอมให้เขาล้ำหน้า เมื่อเกิดกบฏขึ้นมา เป็นทหารก็ต้องเข้าสนามรบ แล้วตอนนั้นใครจะเป็นคนสั่งใคร ออกเดินทางไปแล้ว20วันก็เกิดกบฏขึ้นตามคาด

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 08:35

เมื่อเกิดกบฏและพระยาพหลนายกรัฐมนตรีสั่งให้กลับกรุงเทพทันทีตามที่เล่าไปแล้วนั้น เมื่อลงจากเรือที่อียิบต์และกว่าจะจับเรือขากลับ เมื่อเรือแวะที่ท่าโคลัมโบ ก็ได้รับข่าวล่าว่าเขาก็ปราบกบฏกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีข่าวลือกันให้แซดว่า ในแนวหน้าที่ทุ่งบางเขนนั้น หลวงพิบูลยกปืนพกขึ้นจะยิงพันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) เพื่อนของพระยาทรง เพราะความระแวง ไม่ไว้ใจผู้ที่ไม่ใช่พวกของตน

เมื่อเสร็จศึก พระสิทธิ์ได้รับการปลอบใจจากพระยาพหล แต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก พระสิทธิ์ก็ลาออกจากรัฐมนตรีและตำแหน่งหน้าที่ประจำการฝ่ายทหาร เดินทางไปดูงานทางทหารที่ประเทศพม่ากับพระยาทรง ระหว่างที่อยู่ในพม่า ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น หลวงพิบูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกคนร้ายจ่อยิงขณะกำลังอยู่ในรถจะเดินทางกลับจากพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลที่สนามหลวง โชคดีที่กระบี่เกะกะขา หลวงพิบูลก้มลงจัดกระบี่ในจังหวะที่คนร้ายลั่นไก กระสุนพลาดศรีษะไปทะลุท้ายทอย ถากแก้มไปเป็นรอยเลือดอาบ ตำรวจจับคนร้ายได้ทันควัน สารภาพว่าตนเป็นนักเลงสุพรรณชื่อพุ่ม ทับสายทอง มายิงล้างแค้นให้พี่ชายที่เป็นโจร ถูกตำรวจจับตายแล้วตัดหัวเสียบประจาน เพราะเข้าใจว่าหลวงพิบูลเป็นคนสั่ง ไม่มีผู้ใดจ้างวานตนมายิง คดีนี้ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยหลายคน แต่นายพุ่มติดคุกคนเดียว 20 ปีตามคำพิพากษาของศาล เมื่อพระยาทรงได้ทราบข่าวว่าหลวงพิบูลถูกยิง ก็รีบเดินทางกลับเมืองไทยมิให้ต้องสงสัย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 08:40

กลางปีนั้น เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฎนายสิบขึ้น นำโดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด วางแผนที่จะกระทำการในวันที่ 5 สิงหาคม 2478 มุ่งจะจับพระยาพหล และหลวงพิบูล เป็นตัวประกัน ส่วนหลวงประดิษฐ์ จะจับตายเท่านั้น แต่ยังไม่ทันได้ลงไม้ลงมือ ความลับรั่วเสียก่อน รัฐบาลจึงจับกุมผู้ก่อการ เป็นนายสิบทั้งสิ้นรวม 8 คนได้ทั้งหมด ตั้งศาลพิเศษชำระคดี หัวหน้าฝ่ายกบฏ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต นำไปยิงเป้าที่ป้อมพระจุล นอกนั้นจำคุกมากน้อยลดหลั่นกันไป ผู้ต้องหาทั้งหมดสารภาพ แต่ไม่ยอมรับว่ามีนายทหารอยู่เบื้องหลังดังที่รัฐบาลเชื่อว่าน่าจะมี  โดยเฉพาะพยายามจะให้ซัดทอดพระยาทรงมากที่สุด แต่ไม่สำเร็จ


ในปลายปีพระยาทรงกับพระสิทธิก็ไปประเทศจีนด้วยกันอีกหลายเดือน กลับมาแล้วพระยาทรงทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทหาร ได้รับการบรรจุเข้าประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก เสนอโครงการก่อตั้งโรงเรียนรบชั้นสูงสำหรับนายทหาร(สมัยนี้น่าจะเรียกว่าโรงเรียนเสนาธิการกระมัง)  คงจะตามที่ได้ไปดูงานมาในหลายประเทศ สภากลาโหมเห็นชอบอนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในค่ายกาวิละปัจจุบัน ท่านจึงคัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียน แต่หลวงพิบูลก็มิได้ไว้ใจ ส่งคนของตนขึ้นไปสอดแนมดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ว่ากำลังซ่องสุมผู้คนจะก่อการใหญ่หรือเปล่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 09:36

มาต่อเรื่อง "เค้าโครงเศรษฐกิจ"ของปรีดี พนมยงค์
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของดร.ปรีดี   มุ่งไปในทางที่ให้รัฐเป็นผู้บริหารเศรษฐกิจและสังคมเสียเอง  ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม    คือให้ประชาชนเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของรัฐ ผลิตด้านเกษตรและอุตสาหกรรม  ไม่ได้ทำเอง ขายเอง รวยเองหรือเป็นหนี้เอง อย่างเมื่อก่อน  ในการตอบแทน รัฐก็ต้องมีสวัสดิการให้ประชาชนทุกคน เพื่อจะมีกำลังกายกำลังใจทำงานต่อไป

แนวทางปฏิบัติ ในเค้าโครงเศรษฐกิจแบบนี้ก็คือ

๑   ให้รัฐซื้อที่ดินของเอกชน โดยจ่ายเงินหรือออกใบกู้ให้เจ้าของเดิม
* ถ้าใครดูทีวีเมื่อวันสองวันก่อน จะเห็นความคิดนี้กลับมาในรูปของการซื้อที่ดิน ที่มีเจ้าของแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์   เพื่อให้ประชาชนได้ทำมาหากิน*
๒   รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนทำงานตามคุณวุฒิ กำลังและความสามารถของตน
*  ข้อคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ ความฝันของนักอุดมคติ   รุ้ง จิตเกษมเห็นด้วยกับข้อนี้*
๓   รัฐหาเงินมาใช้ในการลงทุนเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ด้วยการเก็บภาษีมรดก  ภาษีเงินได้  ภาษีการพนัน  ออกสลากกินแบ่ง และกู้เงินจากต่างประเทศ
* คณะกรรมการราษฎร หรือคณะรัฐมนตรี ดำเนินการบางส่วนไปแล้ว    บางส่วนยกเลิกเช่นภาษีมรดก  บางส่วนยังดำเนินการมาจนทุกวันนี้ เช่น ภาษีเงินได้   ออกสลากกินแบ่ง และกู้เงิน    ส่วนการพนัน ในเมื่อเราถือว่าผิดกฎหมาย ก็มีแต่บ่อนเถื่อน ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี*
๔   สนับสนุนให้รัฐพึ่งตัวเอง  คือสามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างบริโภคเอง
*  ข้อนี้ยังไม่เคยบรรลุผล   ไทยยังต้องสั่งสินค้าจากต่างประเทศมากมายจนถึงทุกวันนี้  โดยเฉพาะน้ำมัน*
๕  จัดทำสหกรณ์
*  ข้อนี้มีแล้วในปัจจุบัน*
๖   จัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ
*  มาทำจริงๆ ๒๕ ปีหลังจากนั้น*

สี่วันหลังจากความแตกแยกในคณะรัฐมนตรี    เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ก็พับฐานไป    ดร.ปรีดีต้องออกไปอยู่นอกประเทศ    ๕ เดือนกว่าจึงได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่จี้พระยามโนฯนายกเดิมออกไป
แต่นายปรีดีก็ต้องสัญญาว่า "จะไม่ใช่วิธีใดๆที่จะบังคับซื้อที่ดิน แล้วบังคับจ้างแรงงาน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 27 มิ.ย. 10, 11:11

ความพ่ายแพ้ของเค้าโครงเศรษฐกิจเกิดจากอะไรก็ตาม มองได้หลายอย่าง
-  กระแสต่อต้านจากผู้สูญเสีย มีมากกว่ากระแสสนับสนุนของผู้เห็นชอบ
-  การไม่ได้ศึกษาสภาพแท้จริงของสังคมไทยสมัยนั้นมากพอ ทำให้ไม่มีหลักฐานแข็งแกร่งที่จะมายืนยัน
-  ความไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นชอบกับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้
-  ความเป็นไปไม่ได้ในการปฏิบัติ   ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม
ผลก็คือ นอกเหนือจากการทหารที่เข้ามามีบทบาท กำหนดทิศทางและบุคคลในคณะรัฐมนตรี   จนเกิดกบฏติดตามกันมาไม่ขาดสายแล้ว   เศรษฐกิจก็ยังอยู่ในมือคนมีเงิน เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
      เป็นเวลานานหลายสิบปี  กว่าสังคมไทยจะค่อยๆปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศคือเกษตรกรและกรรมการ  เช่นเรื่องสหกรณ์   แต่ก็ยังพูดไม่ได้ว่า เป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็งและทำให้คนใช้แรงงานได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการก็ยังทำอะไรบางอย่างให้ประชาชนสับสนอยู่บ้าง   เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ  กระแสประชาธิปไตยถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนา  ส่งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน
กระแสตอบรับดีมาก   มีทั้งชาวกรุงเทพ และชาวชนบทส่งความเห็นกันมาคึกคัก  ทั้งชาวบ้านและพระภิกษุ  มีสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับการร้องเรียน ร้องทุกข์  ออกความเห็นเรื่องข้าราชการ   กฎหมาย กฎระเบียบ ฯลฯ
แต่ผลก็คือ  รัฐบาลเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปลีกย่อย ไร้สาระ  ไม่ได้เห็นความสำคัญ   ไม่ได้กระตือรือร้นอะไรกับความคิดเห็นของประชาชน   กลายเป็นว่าออกความเห็นได้ก็ออกความเห็นไป  ไม่ว่ากัน   แต่ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติ
คุ้นๆยังไงชอบกล   เหมือนเกิดทัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 20 คำสั่ง