เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328800 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 24 มิ.ย. 10, 09:27

ขอบคุณนะครับ คุณวี_มี เอ้าทุกท่านโปรดทราบตามนั้น
ผมขอต่ออีกนิดนึง แล้วเชิญท่านช่วยกันเสริมเรื่องข้างเคียงอย่างเคยนะครับ

พระยาพหลกล่าวในที่ประชุมสภาในวาระแรกว่า

“ข้าพเจ้าเป็นนักรบ ไม่ใช่นักพูด ไม่เจนจัดในทางการเมือง ไม่สันสัดในการปกครองแผ่นดิน จะดำเนินการไปไม่ครบถ้วนทุกสถาน แต่เมื่อโปรดเกล้าตามคำแนะนำของประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะทหารได้ขอร้องให้รับตำแหน่ง ฉะนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็จะขอรับตำแหน่งไปเพียง10หรือ15วันเท่านั้น”

การกล่าวเช่นนี้จึงได้ใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนอย่างยิ่ง แต่เมื่อครบ15วันเมื่อกราบบังคมทูลขอลาออก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงยับยั้งไว้ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้ใจของประชาชน และสามารถประสานสามัคคีกับทุกฝ่ายได้ดี พระยาพหลจึงยินยอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

แรกๆก็ดูจะไปได้ด้วยดี แต่แล้วมีบุคคลระดับกรรมกร แต่มีตำแหน่งเป็นเลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่าพระองค์หมิ่นประมาทตนในหนังสือสมุดปกขาว คราวที่มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ ท้าวความตอนที่ว่า ทรงเขียนว่าการที่กรรมกรรถรางนัดหยุดงานนั้น มิใช่เดือดร้อนจริงแต่มีคนยุยง เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้ามีเงินเดือนกินสบายเท่านั้น

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตไม่จบง่ายๆ เพราะมีผู้ไปแจ้งความและอัยการก็สั่งฟ้องคนฟ้องว่าเป็นกบฏและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายคนนี้ก็เลยทำเรื่องขอให้สภาตีความกฏหมายรัฐธรรมนูญว่าตนมีสิทธิ์ฟ้องพระมหากษัตริย์หรือไม่ สภาเถียงกันยืดเยื้อยาวนานก็ออกแนวเลี่ยงบาลีว่า ไม่ควรรับพิจารณาเรื่องที่ยื่นโดยบุคคลภายนอก อีกไม่กี่วัน หลวงประดิษฐ์ก็ยื่นญัตติด่วนให้สภาตีความรัฐธรรมนูญมาตรา3นี้ อ้างว่าเป็นพระราชประสงค์ที่ทรงอยากจะทราบด้วยว่าตกลงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร  สภาก็อภิปรายยืดเยื้อยาวนานอีก สรุปลงมติว่าสภาไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดี  เรื่องเลยไม่จบไปจริงๆ เพราะได้กลายเป็นข้ออ้างข้อนึงที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏบวรเดช”


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 24 มิ.ย. 10, 20:35

ขอเสิฟเครื่องเคียงของว่าง   คั่นเวลาก่อนดินเนอร์ตัวจริงจะมาถึง  ยิงฟันยิ้ม
พูดถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   มีหลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าท่านพยายามอะลุ้มอล่วย ไม่เข้มงวดกับอำนาจเก่า (คือสถาบันกษัตริย์) เท่าที่จะทำได้    เพราะไม่ประสงค์จะให้มีรอยร้าวกันมากกว่านี้ 
พระยามโนปกรณ์ฯ ย้ำเตือนในที่ประชุมเสมอว่า " เราไม่ใช่ศัตรูของเจ้า(นาย)"   ท่านเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึงสัปดาห์ละ ๓ วัน  คืออังคาร พฤหัส เสาร์  หลังประชุมคณะกรรมการราษฎร เพื่อทูลปรึกษาข้อราชการ     แม้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีสิทธิ์จะตัดสินได้อย่างเมื่อก่อน  แต่ก็ถวายพระเกียรติว่าให้รับทราบ
เรื่องบางเรื่อง ท่านก็ถือหลัก Let bygones be bygones  คืออะไรแล้วก็ให้แล้วกันไป  เมื่อส.ส.มานิต วสุวัต ซึ่งถ่ายหนังวันปฏิวัติเอาไว้ ประสงค์จะนำออกฉายตามโรง  พระยามโนฯก็ระงับด้วยเหตุผลว่า จะเป็นการซ้ำเติมพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป  นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง

นโยบายสมานฉันท์ของพระยามโนฯ ถูกมองว่าท่านเป็น "ซากตกค้างมาจากระบบเก่า" (สมัยนี้อาจจะเรียกว่าอำมาตย์)  ปฏิกิริยาของฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เริ่มแรงขึ้น จนกลายเป็นการขัดแย้งแม้แต่ในเรื่องไม่เกี่ยวกับสถาบัน
พูดง่ายๆว่าก็เลิกเกรงใจประธานกันแล้ว 
สี่ทหารเสือ (ที่ต่อมาลาออก)ขาดประชุมกันถี่ยิบ     บางคนขู่ว่าถ้าเสนอประเด็นเข้าไปแล้วไม่ได้ตามขอ ก็จะลาออก 
คลื่นใต้น้ำทำนองนี้แรงขึ้นทุกวัน  จนในที่สุดก็เป็นอย่างที่คุณนวรัตนเล่าไว้ข้างบนนี้  คือพระยามโนฯก็ถูกจี้ให้ลาออกไป
*****************
ส่วนเรื่องเลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายเพื่อจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่าพระองค์หมิ่นประมาทตน   เรื่องอลหม่านอยู่ที่สภาพักหนึ่ง   แล้วก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย คืออัยการตั้งข้อหากบฎและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ   เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ  ผู้ใดละเมิดมิได้" 
อย่างไรก็ตาม   ก็ถือว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ตกเป็นจำเลยราษฎร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 24 มิ.ย. 10, 22:02

ในระยะหนึ่งปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จนถึงพระยามโนฯถูกจี้ให้ออกจากตำแหน่ง    เรามาดูกันว่าผลงานของคณะราษฎร์เป็นอย่างไร
กลุ่มผู้ก่อการฯ มีอุดมการณ์ที่ปูพื้นมาจาก"ความเข้าใจ" ว่าสังคมไทยมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้  (โปรดกลับไปอ่านประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ ๑  ที่คุณภาณุเมศร์นำมาลงไว้) มากกว่าเป็นปัญหาที่มีหลักฐานมายันกันให้เห็นจะจะ ว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมโดยด่วน  ยังไงก็รอรัฐธรรมนูญจากสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อได้สังคมมาอยู่ในมือแล้ว  คณะราษฎร์ก็เข้าใจว่า "ไม่พร้อม" จะให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเองแต่ฝ่ายเดียว   แต่เห็นความจำเป็นว่าประชาชนจะต้อง" เล่าเรียนเขียนอ่านจบประถม ๔ " ให้พร้อมเสียก่อนภายในเวลา ๑๐ ปี  ระหว่างนี้ก็มีสมาชิกสภาประเภทแต่งตั้งเป็นพี่เลี้ยงกำกับอยู่
การเห็นความไม่พร้อมของประชาชน เกิดขึ้นพร้อมๆกับความจำเป็นของผู้ก่อการฯ ที่จะจัดหาผู้มาดูแลสังคม โดยเฉพาะในเมืองหลวง ต่อไปอีกนานนับปี
เรื่องนี้เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นแรกๆของคณะราษฎร์  

เรื่องที่ ๒  ก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากความเข้าใจว่า  คนชั้นสูง(ซึ่งสมัยนี้ก็น่าจะเรียกว่าอำมาตย์ ) เป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่กุมเงินทองความมั่งมีเอาไว้ในมือ   ขณะที่ราษฎรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ( ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจเรียกว่าไพร่ หรือรากหญ้า) เป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบ ให้ยากจนกว่าที่ควรเป็น   เพราะเงินถูกดึงไปทางฝ่ายแรกเสียหมด
เพราะฉะนั้น  ถ้าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้  ก็ต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสียใหม่   ผู้นำความคิดทางนี้คือนายปรีดี พนมยงค์  
ตราบใดที่ประชาชนยังยากจนข้นแค้น   เพราะเงินทองไหลวนเวียนอยู่ในมือชนชั้นสูงมากกว่าที่ควร    การปกครองแบบใหม่จะให้สิทธิอย่างไรกับประชาชน ก็ไม่มีประโยชน์
ดังนั้นงานบริหารของรัฐบาล  ก็มุ่งเป้าไปที่จัดทำงบประมาณกระทรวงต่างๆเสียใหม่ทันที เพื่อจัดสรรเงินทองให้ถูกต้องลงตัว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 11:59

สมัยที่พระยามโนเป็นนายก ได้มีเจ้านายระดับพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าหลายองค์ร่วมกับกลุ่มขุนนาง ขออนุญาตจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ”ขึ้นคู่กับสมาคมของคณะราษฎร ซึ่งเลี่ยงไปใช้ชื่อว่าสมาคม “คณะราษฎรสราญรมย์” เพราะข้อห้ามของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ยังไม่อนูญาตให้ผู้ใดจัดตั้งพรรคการเมือง รัฐบาล(ซึ่งคุมเสียงโดยคณะผู้ก่อการ)พิจารณาเห็นว่าวัตถุประสงค์แท้จริงของสมาคมคณะชาติไม่น่าจะเป็นสมาคมธรรมดาจึงไม่อนุญาต แถมยังส่งกองทัพตำรวจลับเข้าเกาะติดชาวสมาคมนี้ ได้รายชื่อที่เหวี่ยงแหมาได้เป็นกระบุงโกย ครั้นเปลี่ยนนายกมาเป็นพระยาพหล พวกคณะชาติเก่าก็กลายพันธุ์เป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง มีสมาชิกประเภทฮาร์ดคอร์ประชุมกันเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นคือพระยาศรีสิทธิสงคราม

การกระทำของหลวงพิบูลที่ปฏิวัติแล้วปลดท่านกลางอากาศนั้นเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่ที่สร้างความโกรธแค้นให้แก่พระยาศรีสิทธิสงครามอย่างยิ่ง คือการส่งทหารมาขับไล่ไสส่งท่านออกจากห้องทำงานแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ถือเป็นการหยามเกียรติที่เกินกว่าเหตุ การพบปะคุยกันของคณะกู้บ้านกู้เมืองจึงออกแนวที่จะต้องจัดทัพลุยกับพวกรัฐบาลบ้าง โดยชูพระยาศรีสงครามเป็นแม่ทัพ ครั้นเหตุการณ์ที่รัฐบาลปล่อยให้เรื่องคนระดับหัวหน้าม็อบฟ้องพระเจ้าอยู่หัวหมิ่นประมาทยืดเยื้อ ทำให้ในสภาก็มีสมาชิกบางคนอภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันด้วยถ้อยคำจาบจ้วงรุนแรง ขนาดสมัยนั้นอ่านแค่หนังสือพิมพ์ไม่ได้ถ่ยทอดสด ประชาชนก็ยังแสดงความไม่พอใจความถ่อยสถุลของบรรดาท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้กันอย่างกว้างขวาง พระยาศรีสิทธิสงครามเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินการ เมื่อจุดประเด็นกับพวกนายทหารประจำการระดับคุมกำลัง มีหลายคนเห็นด้วยที่จะเข้าร่วม โดยกำหนดเป็นแผนยุทธการป่าล้อมเมือง ให้ทหารอิสานเป็นกำลังหลัก เคลื่อนพลเข้ากรุงเทพ มีทหารสระบุรีและอยุธยาเข้าสมทบด้านทิศเหนือ ด้านตะวันออกให้ทหารจากฉะเชิงเทราและนครนายก ด้านใต้ให้ทหารจากเพชรบุรีและนครปฐม ส่วนทหารกรุงเทพทั้งหมดจะหนุนคณะกู้บ้านกู้เมือง ไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:02

หลวงพิบูลเองก็ได้รับรายงานจากตำรวจสันติบาลว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตุ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไร  จึงร่างสาส์นขึ้นมาฉบับหนึ่ง ความตอนสำคัญดังนี้
“…..บัดนี้ปรากฏตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะทำให้เกิดความความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลมีกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าดังที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะผู้ก่อการก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง ที่กล่าวมานี้มิใช่ขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….”

จดหมาย“ปราม” นี้ ส่งไปขอแสดงความนับถือยังนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน และเจ้านายที่ใกล้ชิดกับวังศุโขทัยสองสามองค์รวมทั้งพระองค์บวรเดชด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:05

จะว่าไปแล้ว จดหมายฉบับนี้ถือว่าได้ผลที่นำชัยชนะมาสู่รัฐบาลได้ในที่สุด ไม่ใช่ว่าคนที่ได้รับจะกลัวหัวหด แต่เป็นเพราะพระองค์บวรเดช ที่ถูกกันออกไปอยู่เฉยๆ เลยได้ทรงทราบว่าฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองน่าจะกำลังทำอะไรอยู่แน่ๆ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเก่าก็คงจะทรงหาข่าวได้ว่าเขาจะเริ่มต้นเคลื่อนพลจากโคราชแน่ แต่น่าจะรออะไรสักอย่าง ซึ่งนายทหารระดับท่านทรงทราบดีว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง และผมก็ว่าของผมเองนะครับ ว่าการที่พระองค์ทรงสามารถทำให้นายทหารอิสานทั้งปวงต้องยอมรับให้พระองค์เป็นแม่ทัพแทนพระยาศรีที่ยอมลดตนเองลงมาเป็นรอง ก็เพราะทรงนำเงิน2oo,oooบาท ใส่กระเป๋าขึ้นไปเป็นทุนกระทำการปฏิวัติด้วย

การเข้ามาของพระองค์บวรเดชบังเกิดผลดีแก่รัฐบาลโดยทางอ้อม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:09

จากคำพิพากษาศาลพิเศษคดีกบฏ 2482 ตอนนึง

 “…รัฐบาลมีหลักฐานว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จ่ายเงินให้พระองค์เจ้าบวรเดชในช่วงนั้น 200,000บาท ซึ่งศาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานให้พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นค่าใช้จ่ายในการกบฏ”

เงินดังกล่าวมากแค่ไหน ก็ลองคำนวณดูนะครับ สมัยนั้นเงินเดือนรัฐมนตรีอยู่ในราวๆเดือนละไม่เกิน2000บาท สมัยนี้ประมาณ60,000บาท ก็ต่างกัน30เท่า
ผมอ่านหนังสือหลายเล่ม เอาข้อความที่เกี่ยวพันในเรื่องนี้มาจับแพะชนแกะให้ท่านได้อ่านกันบ้าง

พโยม โรจนวิภาต เขียนไว้ในเรื่อง “พ.27 สายลับพระปกเกล้า” ประมวลได้ว่า  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบอุปนิสัยของพระองค์เจ้าบวรเดชดี และทรงทราบว่าพระองค์บวรเดชขึ้นไปเคลื่อนไหวทางภาคอิสานในเรื่องกู้บ้านกู้เมืองโดยปกปิดไม่ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าอยู่ที่ใด ด้วยเกรงว่าหากทรงมีรับสั่งห้ามแล้วตนจะขัดพระราชบัญชามิได้  แต่เป็นไปไม่ได้เลยว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงคบคิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช

หนังสือเล่มเดียว กันยังลงพระราชกระแสที่ทรงรับสั่งต่อพระยาพหลนานก่อนหน้านั้น เรื่องเกี่ยวกับพระองค์บวรเดช สอดรับกับ “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของพลโทประยูร ภมรมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายผู้ก่อการว่า “เรื่องของพล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เลขาธิการ(คณะรัฐมนตรี)นำหนังสือทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเคยทรงปรารภและเตือนว่า เจ้านายองค์นี้เป็นผู้ใหญ่ เคยเป็นครูบาอาจารย์และผู้บังคับบัญชาของพระองค์ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ตักเตือนกันไม่ได้  ทางที่ดีถ้าพวกแก(ทรงใช้สรรพนามเรียกพลโทประยูรอย่างนั้นเพราะทรงคุ้นเคย ด้วยเป็นเด็กของเจ้านายมาก่อนที่จะไปร่วมกับคณะผู้ก่อการ)ฉลาดรู้จักไซโค ท่านองค์นี้ชอบโก้และเจ้ายศเจ้าอย่าง ถ้าจัดหานายทหารไปประจำพระองค์ จัดรถยนต์ให้มีทหารขับ และทูลเชิญไปในงานสำคัญๆ หรือแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาการทหาร ก็จะเป็นประโยชน์ และเป็นการป้องกันให้สงบนิ่งอยู่ในที”

พวกผู้ก่อการนอกจากจะไม่สนใจจะสนองสิ่งที่ทรงแนะนำแล้ว คราวนี้หลวงพิบูลยังไปแหย่รังแตนเข้าอีก ก็เสมือนขึ้นปี่กลองเตือนให้นักมวยออกไปไหว้ครูกลางเวทีนั่นแล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:16

แล้วเงินที่สำนักงานทรัพย์สินจ่ายให้พระองค์บวรเดชมาจากใคร ในหลวงท่านไม่ได้ทรงเซนต์เชคหรือมีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินทุกยอดด้วยพระองค์เอง ผมก็ไม่มีหลักฐานโดยตรงแต่ก็ถ่ายข้อความเหล่านี้มาจากหนังสือของพลโทประยูรทั้งสิ้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้สติปัญญากลั่นกรองเอาเอง




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:25

ต่ออีกตอนหนึ่งนะครับ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:35

พอนายหารหัวเมืองอื่นๆทราบว่าพระองค์บวรเดชเป็นแม่ทัพในสงครามกู้บ้านกู้เมือง ไม่ใช่พระยาศรีสิทธิสงครามเสียแล้ว ก็เปลี่ยนใจเป็นทิวแถว เพราะเกรงว่าถ้าชนะพระองค์บวรเดชจะนำ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจะกลับมาอีก จึงพร้อมใจกันใส่เกียรถอยหลัง พวกที่มาแล้วก็ใส่เกียรว่าง แผนการยุทธของพระองค์บวรเดชที่ตั้งชื่อเสียหรูว่า “แผนล้อมกวาง” เพราะจะเอาจำนวนพลมารายล้อมกรุงเทพให้รัฐบาลกลัวแล้วเจรจาให้ลาออกโดยดีนั้น กลับเจอเอา“กวางแปลก”ที่ดุดันกระหายเลือด สั่งอาวุธหนักทุกชนิดจะขึ้นไปถล่มพวกพรานบ้านนอก นี่ขนาดแม่ทัพเรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้เอาเรือปืนขึ้นไปจอดยังสพานพระรามหกแล้วยิงถล่มฐานทัพอากาศดอนเมืองที่ทหารฝ่ายบวรเดชมายึดไว้ มีแค่ปืนกลต่อสู้อากาศยาน แต่พอใช้ยิงคนไปตับหนึ่งแค่หกเจ็ดนัด พวกทหารหัวเมืองก็เผ่นหนีเอาตัวรอดกระเจิดกระเจิง ทัพใหญ่รีบขึ้นรถไฟกลับไปโคราชทิ้งทัพหน้าไว้ยันทหารฝ่ายรัฐบาลที่แก่งคอย พระยาศรีสิทธิสงครามนำหน้าทหารที่ยังยอมสู้ตายตั้งรังปืนกลรออยู่ที่ช่องหินลับ ซึ่งเป็นช่องแคบที่รถไฟจะต้องวิ่งผ่าน เกิดรบกันดุเดือดก็ที่นั่น แต่พระยาศรีโชคไม่ดี คืนนั้นไปตรวจแนวหน้าบังเอิญหมู่ลาดตระเวนของฝ่ายรัฐบาลเซอะซะเข้ามาเลยเกิดยิงกัน กระสุนนัดหนึ่งฟลุ๊กถูกท่านที่ด้านข้างลำตัวอย่างจัง ท่านยังมิได้เสียชีวิตทันที แต่ผู้ที่จัดการให้ท่านพ้นทุกข์ไปว่ากันว่าเป็นฝีมือของนักเรียนนายร้อยปีสุดท้าย ที่เขารีบติดยศเอามาปราบกบฏชื่อ “ว่าที่ร้อยตรีตุ๊” ศพของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ถูกกระทำทารุณขนาดที่หลวงพิบูลซึ่งลิงโลดขึ้นมาดูศพด้วยความดีใจยังถึงกับสลด และสั่งการให้ทำอะไรไว้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่กันบ้าง เสร็จศึกว่าที่ร้อยตรีตุ๊ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก สุดท้ายของท่านผู้นี้ นิสิตนักศึกษารุ่น14ตุลารู้จักดีในชื่อว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร

พอได้ข่าวทัพหน้าแตก พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชก็ขึ้นเครื่องบินหนีไปมอบตัวกับฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมเขมร เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองตามสูตร กบฏบวรเดชก็ยุติลง มีสมาชิกคณะชาติถูกเชคบิลติดคุกกันเป็นแถว ศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้นพิพากษาตัดสินถอดยศและจำคุกนายทหารแบบเหวี่ยงแหคลุมไปแทบจะหมดกองทัพ ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็หลายราย แต่ระหว่างรอการประหาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน รัฐบาลเลยต้องลดโทษนักโทษทุกคนตามประเพณีของบ้านเมือง ท่านที่ต้องโทษประหารชีวิตก็ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตในครั้งนี้ และถูกส่งไปปล่อยเกาะตะรูเตาในเวลาต่อมา



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 12:51

เมื่อทราบข่าวกบฏ พระยาพหลได้มีคำสั่งให้โทรเลขไปตามพระยาทรง กับพระประศาสตร์ที่อยู่ในระหว่างลาพักและกำลังเดินทางอยู่ต่างประเทศให้กลับไปช่วยปราบกบฏ โดยให้รีบกลับทันทีและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏว่ากว่าจะได้รับโทรเลข เรือได้ออกจากท่าโคลัมโบไปแล้วกำลังมุ่งหน้าสู่ยุโรป จึงได้โทรเลขกลับไปว่าตนไม่มีอำนาจจะสั่งการกัปตันให้นำเรือย้อนกลับเข้าท่าได้ จะกลับได้เร็วที่สุดก็ต่อเมือ่เรือถึงท่าที่ปอร์ตซาอิด เมืองอียิปต์ แล้วต้องรอเรือโดยสารที่จะย้อนกลับมาอีก ฉะนั้นจึงอย่าได้รอตน ขอให้ดำเนินการที่สมควรไปเลย

เรื่องนี้กลายเป็นว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยว่าจะเกิดกบฏ จึงได้เดินทางหนีออกไปต่างประเทศ ตามคำพิพากษาศาลพิเศษที่นำมาอ่านในศาล เมื่อเกิดกบฏ ศาลบอกว่า พระยาทรงโทรเลขตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ให้จัดการกันเอง

จากกบฏ2476 ก็ต่อยอดไปเป็น กบฎพระยาทรง หรือกบฏ2482 ด้วยประการฉนี้
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 13:43

ตามอ่านครับ
ผมไม่แน่ใจว่าพระยาทรงรู้เห็นด้วยกับกบฏบวรเดชหรือเปล่า   แต่อยู่ในแวดวงเดียวกัน น่าจะระแคะระคายมั่ง  ไม่มากก็น้อย   เพียงแต่ไม่ได้ลงมือร่วมด้วยช่วยกัน
หลวงพิบูลปราบกบฏได้แล้ว   ก็ยิงกระสุนนัดเดียว  นกถูกกวาดเกลี้ยงแทบจะหมดกองทัพ  เป็นโอกาสให้สถาปนานิวเอราของเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยต่อมาได้  ไม่มีใครเป็นเสี้ยนหนาม
ผมเชื่อว่าคนอย่างหลวงพิบูลในปัจจุบันนี้ก็ยังมี
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 13:47

ในความเห็นที่ ๗๗ ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงคณะราษฎรเข้าใจความ "ไม่พร้อม" ของราษฎร  จึงต้องจัดให้ประชาชนจะต้อง" เล่าเรียนเขียนอ่านจบประถม ๔ " ให้พร้อมเสียก่อนภายในเวลา ๑๐ ปี  นี่ย่อมเป็นพยานยืนยันว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจริงดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชดำริ

เรื่องการวางรากฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไคยนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักแน่มาตั้งแต่เริ่มทรงรับราชสมบัติ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเรียนพระราชปฏิบัติเรื่องแนวพระราชดำริการศึกษาชาติ  ในเรื่องนี้คุณมหาดเล็กในล้นเกล้าฯ เล่ากันว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้กราบบังคมทูลสัญญาว่าจะจัดการศึกษาให้ประชาชนได้เล่าเรียนจบชั้นประถมศึกษาภายใน ๑๕ ปี นับแต่เสด็จเสวยราชย์  ซึ่งก็สอดึล้องกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  ซึ่งเมื่อครบ ๑๕ ปีนับแต่เสวยราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗  ก็จะมีนักเรียนจบชั้นประถม ๓ (สมัยนั้นมีแค่ประถม ๓) ตาม พรบ.ประถมศึกษาพอดี  แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ไม่สามารถขยายการจัดตั้งโรงเรียนได้ทั่วถึงทังประเทศจึงทำให้ยังไม่สามารถทำให้เด็กไทยทุกคนเรียนจบชั้นประถมศึกษา  จึงกริ้วเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เสียยกใหญ่  

อนึ่งก่อนที่จะประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา  ก็ทรงสร้างเมืองจำลองดุสิตธานีเพื่อสอนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ทั้งทรงผลักดันให้กระทรวงนครบาลนำรูปแบบประชาธิปไตยในดุสิตธานีไปเริ่มจัดในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ ก่อน  แต่เสนาบดีกระทรวงนครบาลก็อ้างว่าไม่พร้อม  เพราะในมณฑลกรุงเทพฯ เองยังมีปัญหาจัดการศึกษาไม่ครบทุกตำบล  เมื่อเสนาบดีมหาดไทยกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะชราทุพพลภาพ  จึงโปรดให้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย  เพื่อจะได้เร่งรัดจัดการศึกษาและวางรากฐานประชาธิปไตยไปพร้อมกันทั่วประเทศ  แต่เผอิญสวรรคตเสียก่อนปัญหานี้จึงค้างคามาจนเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง  แล้วเรื่องการศึกษาก็เป็นข้ออ้างต่อมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 15:50

เข้าปีที่ ๗๘ แล้ว    ก็ยังไม่รู้ว่าพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยหรือยัง?
กลับมาที่ประเด็นที่เล่าค้างอยู่ดีกว่านะคะ
--------------------------
คณะราษฎร์เข้าใจแต่เพียงว่า เศรษฐกิจตกต่ำเพราะเงินส่วนใหญ่อยู่ในมือชนชั้นสูง เช่นสถาบันและนายทุนพ่อค้าทั้งหลายที่เป็นคนรวยในประเทศ
เมื่อยึดการปกครองได้ ก็มีอำนาจเข้าจัดการกับเงินของบุคคลเหล่านี้ได้  ด้วยการยึดเงินปีของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์    ยึดเงินเดือนอภิรัฐมนตรี และเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น
พอลงมือทำ  พบว่าเงินที่ได้มาไม่เข้าเป้า   เพราะเงินของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้รับกันฟุ่มเฟือยอย่างที่คาดคะเนไว้แต่แรก     อภิรัฐมนตรีได้เงินเดือน ๓๐๐๐ บาท    มีกันอยู่ไม่กี่คน   ถึงถูกตัดออกไปรัฐบาลก็ได้เงินเข้าคลังปีละไม่กี่หมื่น   
เงินที่เจ้านายได้กัน เป็นเบี้ยหวัดเงินปี  ก็ได้คนละเล็กละน้อย   เช่นหม่อมเจ้าได้ปีละ ๑๐ ตำลึงหรือ ๔๐ บาท  คงที่มาตั้งสมัยรัชกาลที่ ๕   ซึ่งตอนนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นรายได้ที่ดีสำหรับเจ้านายที่อยู่อย่างประหยัด (หาอ่านได้จากหนังสือประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์)  แต่ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๗ เงินเท่านี้ถือว่าให้พอเป็นพิธีเท่านั้น   รัฐบาลตัดไปก็ได้เงินเข้าคลังไม่เท่าไร

รัฐบาลออกพ.ร.บ.ช่วยเหลือคนจน ตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร์   คือพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา   แต่ไม่ได้ผล    เพราะเจ้าหนี้ทั้งหลายเมื่อรู้สึกว่าถูกบีบโดยภาครัฐ  ก็หยุดให้กู้เงิน   ถ้าจะให้กู้ก็หาวิธีเลี่ยงกฎหมาย   
ไปๆมาๆ  ลูกหนี้ก็เดือดร้อนหาเงินกู้ไม่ได้  หรือกู้ได้ก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย  สรุปแล้วก็คือเท่าเดิม
รุ้ง จิตเกษม เป็นคนหนึ่งที่รู้จักเจ้าหนี้เงินกู้ อย่างชาวอินเดียเพื่อนร่วมงานของเขา   เวลาผ่านจากปี ๒๔๗๕ มาหลายปี   พวกนี้ก็ยังออกเงินกู้และเก็บดอกเบี้ยเป็นล่ำเป็นสัน   ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรกับพ.ร.บ.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 25 มิ.ย. 10, 17:33

ส่วนพระราชบัญญัติภาษีมรดก ที่นายปรีดี พนมยงค์เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร  เพื่อเป็นการนำเงินจากคนรวยมาเข้ารัฐ    เสนอตั้งแต่ปี ๒๔๗๕    แต่ผลคือยืดเยื้ออยู่ ๓ ปี กว่าจะผ่านสภาได้   และเมื่อใช้ได้แค่ ๓ ปีต่อมาก็ยกเลิกไป  ด้วยเหตุผลต่างๆเช่นไม่ยุติธรรม เจอคนหลีกเลี่ยงกันมาก   ทำให้คนไม่ยอมลงทุนเพื่อสะสมเงินทอง  ผลคือไม่มีการลงทุนก็ไม่มีงานทำ  คนจนก็เดือดร้อนฯลฯ  ในที่สุดก็ต้องยกเลิก

ทั้งที่เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ที่ประกาศไว้ คือลดช่องว่างระหว่าง "เจ้า" กับ" ไพร่"    แต่เรื่องบางเรื่องที่ควรง่ายก็กลับยืดเยื้อเสียยิ่งกว่าภาษีมรดก  นั่นคือการยกเลิกบรรดาศักดิ์   
ในตอนแรก คณะกรรมการราษฎรก็เต็มอกเต็มใจจะเลิกความเป็นขุน หลวง พระ พระยา   คือบรรดาศักดิ์ใหม่ก็ไม่มี และบรรดาศักดิ์เก่าก็ไม่ใช้       แต่ก็มีการยื้อกันไปยืดกันมา จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติคลอดออกมาได้ก็กินเวลาถึง ๑๐ ปี
หลังจากนั้นอีกแค่ ๒ ปี  นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นคือนายควง อภัยวงศ์ อนุญาตให้นำบรรดาศักดิ์กลับมาใช้ได้อีก  ก็กลับมาใช้กันตามเดิม
เมื่อยกเลิกบรรดาศักดิ์  ผู้ที่ยังอยากใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล แทนนามสกุลเดิมก็มีไม่น้อย   อ่านได้จากกระทู้ของคุณหลวงเล็ก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง