เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329509 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 12:41

ขอเล่าถึงความเป็นมาของ "คณะกรรมการราษฎร " ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วย สมาชิกซึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งขึ้น จำนวน ๗๐ นาย ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
   ในที่ประชุม ได้เลือก พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ส่วนคณะกรรมการราษฎรมีรายชื่อต่อไปนี้
๑. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา)  กรรมการราษฎร 
๒. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)  กรรมการราษฎร 
๓. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)  กรรมการราษฎร 
๔. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)  กรรมการราษฎร 
๕. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ)  กรรมการราษฎร 

๖. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญหลง)  กรรมการราษฎร 
๗. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น)  กรรมการราษฎร  ๘. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)  กรรมการราษฎร 
๙. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)  กรรมการราษฎร 
๑๐. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)  กรรมการราษฎร 
๑๑. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์)  กรรมการราษฎร 
๑๒. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม  กรรมการราษฎร 
๑๓. รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี  กรรมการราษฎร 
๑๔. นายแนบ พหลโยธิน  กรรมการราษฎร 

   ในขณะที่รัฐสภากำลังเปิดประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการราษฎร
อันมีพระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานข้อกังขามายังพระยามโนปกรณนิติธาดาว่าการใช้คำว่า "กรรมการราษฎร" แทน "Minister" หรือ "เสนาบดี" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงเห็นว่าไม่เหมาะ ในฐานะที่กรุงสยามมีกษัตริย์ "กรรมการราษฎร" หนักไปในทาง Commissar ของโซเวียตในรัฐสภา

           ผลของการลงมติที่ประชุมรัฐสภาให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" และ
ใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทน "ประธานคณะกรรมการราษฎร" และนี่คือที่มาของคำว่า "รัฐมนตรี"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 13:07

อ้างถึง
อย่างไรก็ดี  ในคณะรัฐบาลชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร(นายกรัฐมนตรีที่เรียกตามศัพท์ของหลวงประดิษฐ์) คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร นอกนั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อประชุมสภาครั้งแรก ในวาระ2นั้น พระยาพหลได้แถลงต่อที่ประชุมดังนี้ “…บัดนี้มีรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารให้แก่สภาฯแต่บัดนี้…”

ขอเลี้ยวแยกออกซอยไปเล็กน้อย   จากที่คุณนวรัตนกล่าวไว้ 
ในบทบัญญัติ ๓๙ มาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้  ได้ให้อำนาจคณะกรรมการราษฎรไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  คือ
- มีอำนาจออกกฎหมายใดๆก็ได้เอง  ในกรณีฉุกเฉินเรียกประชุมสภาไม่ทัน
- มีอำนาจให้อภัยโทษ
- มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างประเทศ
- มีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ในการตั้ง และถอดถอนเสนาบดี
- มีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงคราม
- มีสิทธิ์กระทำการได้แทนพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร

คำถามที่อาจจะอยู่ในใจบางคนก็คือ    อุดมการณ์ของคณะราษฎร์ที่จะให้ "อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย"  มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือเปล่า
"คณะกรรมการราษฎร" เป็นใคร เหตุใดจึงไม่มีตัวตนอยู่ในประกาศ ๖ ข้อของคณะราษฎร์  ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคนร่าง
ประกาศ ๖ ข้อ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

และคำถามสุดท้ายคือ คณะกรรมการราษฎร มีชาวบ้านรวมอยู่ด้วยสักคนหรือเปล่า?
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:02

ขออนุญาติเสริมข้อมูล (นอกเรื่อง) นะครับ

ที่มา : พันทิป (ไม่รับประกันความถูกต้องของข้อมูล)


พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕



หมวด ๑

ข้อความทั่วไป


มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

มาตรา ๒ ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ

๑ .กษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓ .คณะกรรมการราษฎร

๔ .ศาล



หมวด ๒

กษัตริย์


มาตรา ๓ กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์

มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมรดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน

มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย

มาตรา ๗ การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ



หมวด ๓

สภาผู้แทนราษฎร


ส่วนที่ ๑

อำนาจและหน้าที่

มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย พระราชบัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้

ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้นจากสภา โดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจนัดประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้


ส่วนที่ ๒

ผู้แทนราษฎร

มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดังนี้

สมัยที่ ๑

นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นาย เป็นสมาชิกในสภา

สมัยที่ ๒

ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑ ผู้แทนที่ราษฎรจะได้เลือกตั้งขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นาย ทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่ง ให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้ เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ

๑ สอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตร ซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้

๒ อายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์

๓ ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ

๔ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก

๕ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

๖ เฉพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่า เป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่า จะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย

มาตรา ๑๒ การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ ให้ทำดังนี้

๑ ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล

๒ ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล

๓ ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนินวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทน ในสภาโดยตรง

มาตรา ๑๓ ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้ว แม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง

ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกตั้งผู้อื่นขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่าง แต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ

๑ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

๒ ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ

๓ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง

๔ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบล ให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑

มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใด ๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่สองมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้

มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวรจะต้องออกจากตำแหน่งให้นับว่าขาดจากตำแหน่งเมื่อขาด คุณสมบัติดังกล่าวในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาวินิจฉัยให้ออก ในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา

มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาญายังโรงศาล จะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อน ศาลจึงจะรับฟ้องได้

ส่วนที่ ๓

ระเบียบการประชุม

มาตรา ๑๘ ให้สมาชิกเลือกกันขึ้นเป็นประธานของสภา ๑ นาย มีหน้าที่ดำเนินการของสภาและมีรองประธาน ๑ นายเป็นผู้ทำการแทน เมื่อประธานมีเหตุขัดข้องชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ได้

มาตรา ๑๙ เมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถมาได้ ก็ให้รองประธานแทนเป็นผู้รักษาความเรียบร้อยในสภา และจัดการให้ได้ปรึกษาหารือกันตามระเบียบ

มาตรา ๒๐ ถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมทั้ง ๒ คน ก็ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานคนหนึ่งชั่วคราวประชุมนั้น

มาตรา ๒๑ การประชุมปกติให้เป็นหน้าที่ของสภาเป็นผู้กำหนด

การประชุมพิเศษจะมีได้ต่อเมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕ คนได้ร้องขอ หรือคณะกรรมการราษฎรได้ร้องขอให้เรียกประชุม การนัดประชุมพิเศษ ประธานหรือผู้ทำการแทนประธานเป็นผู้สั่งนัด

มาตรา ๒๒ การประชุมทุกคราว ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้

มาตรา ๒๓ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๔ สมาชิกไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใด ๆ ที่ได้กล่าวหรือแสดงเป็นความเห็น หรือในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้หนึ่งผู้ใดว่าจะกล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่

มาตรา ๒๕ ในการประชุมทุกคราว ประธานต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำในสภาจดรายงานรักษาไว้และเสนอเพื่อให้ สมาชิกได้ตรวจแก้ไขรับรอง แล้วให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมลงนามกำกับไว้

มาตรา ๒๖ สภามีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้สอบสวนพิจารณาทำความเห็นในเรื่องหนี่งขึ้นเสนอต่อในที่ประชุมใหญ่ เพื่อปรึกษาตกลงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ประธานอนุกรรมการนั้น เมื่อสภาไม่ได้ตั้ง ก็ให้อนุกรรมการเลือกกันเองตั้งขึ้นเป็นประธานได้

อนุกรรมการมีอำนาจเชิญบุคคลใด ๆ มาชี้แจงแสดงความเห็นได้ อนุกรรมการและผู้ที่เชิญมาได้รับสิทธิในการแสดงความเห็นตามมาตรา ๒๔

ในการประชุมอนุกรรมการนั้น ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า ๓ นาย จึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษาการได้ เว้นแต่อนุกรรมการนั้นจะมีจำนวนตั้งขึ้นเพียง ๓ คน เมื่อมาประชุมแค่ ๓ คน ก็ให้นับว่าเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๒๗ สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ (ในชั้นแรกนี้ ให้อนุโลมใช้ข้อบังคับสภากรรรมการองคมนตรี เฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญนี้ไปพลางก่อน)



หมวดที่ ๔

คณะกรรมการราษฎร


ส่วนที่ ๑

อำนาจและหน้าที่

มาตรา ๒๘ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา

มาตรา ๒๙ ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะแก่การฉุกเฉินนั้น ๆ ก็ทำได้แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง

มาตรา ๓๐ คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจให้อภัยโทษ แต่ให้นำความขึ้นขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

มาตรา ๓๑ ให้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะกรรมการราษฎรในกิจการทั้งปวง

สิ่งใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่ง หรือระเบียบการของคณะกรรมการราษฎร หรือกระทำไป โดยธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นโมฆะ

ส่วนที่ ๒

กรรมการราษฎรและเจ้าหน้าที่ประจำ

มาตรา ๓๒ คณะกรรมการราษฎร ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการราษฎร ๑ นาย และกรรมการราษฎร ๑๔ นาย รวมเป็น ๑๕ นาย

มาตรา ๓๓ ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่ง ขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก ๑๔ นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้น ๆ เป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่า กรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประสานนโยบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากเจ้าหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น

มาตรา ๓๔ กรรมการคนใดมีเหตุอันกระทำให้กรรมการคนนั้นขาดคุณสมบัติอันกำหนดไว้สำหรับผู้แทนในมาตรา ๑๐ ก็ตาม หรือตายก็ตาม ให้สภาเลือกกรรมการแทนสำหรับตำแหน่งนั้น ๆ

ในเมื่อสภาได้เลือกตั้งกรรมการแล้ว สภาชุดนั้นหมดกำหนดอายุตำแหน่งเมื่อใด ให้ถือว่ากรรมการชุดนั้นย่อมหมดกำหนดอายุตำแหน่งด้วย

มาตรา ๓๕ การตั้งการถอดตำแหน่งเสนาบดี ย่อมเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ พระราชอำนาจนี้จะทรงใช้แต่โดยตามคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร

มาตรา ๓๖ การเจรจาการเมืองกับต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของกรรมการราษฎร และกรรมการอาจตั้งผู้แทนเพื่อการนี้ได้

การเจรจาได้ดำเนินไปประการใด ให้กรรมการรายงานกราบบังคมทูลกษัตริย์ทรงทราบ

การให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรี เป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร

มาตรา ๓๗ การประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร

ส่วนที่ ๓

ระเบียบการประชุม

มาตรา ๓๘ ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการราษฎรให้อนุโลมตามที่บัญญัติ ในหมวดที่ ๓



หมวดที่ ๕

ศาล

มาตรา ๓๙ การระงับข้อพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานี้



ประกาศมา ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ และให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:23

ธรรมนูญประชาธิปก (ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ ๗ ฉบับที่ ๑ จากจำนวน ๒ ฉบับ)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โดย พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre)

***แปลจากภาษาอังกฤษ*** (จากพันทิป ซึ่งนำมาจาก วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 2,  2523, หน้า 132-134 )

Outline of Preliminary Draft

มาตรา ๑ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๓ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๕ ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้แต่ให้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี ๕ นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะ รายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๙ ภายในระยะเวลา ๓ วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่งเป็นรัชทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององค์มนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด ๕ ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท

มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราว ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

มาตรา ๑๑ อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา ๑๒ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดยพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยคำแนะ นำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:39

ธรรมนูญประชาธิปก (ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ ๗ ฉบับที่ ๒ จากจำนวน ๒ ฉบับ)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:42

ขอบคุณคุณภาณุเมศร์ค่ะ

อ้างถึง
มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดังนี้
สมัยที่ ๑
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นาย เป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒
ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑ ผู้แทนที่ราษฎรจะได้เลือกตั้งขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นาย ทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่ง ให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้ เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป
*******************
     " ผมรู้สึกว่ามีบางข้อที่ผมยังไม่สนิทใจ     เราต้องการให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับราษฎร   แต่เหตุใดเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  จึงต้องมีสมาชิกสภาถึง ๒ ประเภท    แทนที่จะเป็นผู้แทนจากราษฎรโดยตรงเพียงประเภทเดียว   กลับให้คณะราษฎร์มีอำนาจแต่งตั้งประเภทที่ ๒ ถึง ๗๐ คน    แล้วยังมีเงื่อนไขอีกว่า จะเหลือแต่ประเภทผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งโดยตรง   ก็เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขต ได้สอบไล่วิชาประถมศึกษา  ได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง  และอย่างช้าไม่เกิน ๑๐ ปี นับจากนี้  เงื่อนไขนี้มันโผล่มาจากไหน"
                                                     จาก "ราตรีประดับดาว"
                                                         ของ ว.วินิจฉัยกุล
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:47

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย Raymond B. Stevens ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เเละ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล)

ข้อความนี้ใน คคห. 63 ของผมพิมพ์เกินนะครับ  แท้จริงแล้วเป็นข้อความอธิบาย คคห. 64 ครับ

ใน คคห. 63 นั้น  เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยในปัจจุบัน จึงมีการใช้คำบางคำที่ยังไม่ได้ใช้ในสมัยนั้น (ตามความหมายในปัจจุบัน เช่น  นายกรัฐมนตรี)
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:53

ผมอ่านเจอว่าท่านโดนวางยาพิษใชหรือไม่ครับ
นายพันเอกพระยาทรง สุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น
หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ใน อินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ
แม้กระทั่งยามยากในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง
แม้ว่า ต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้ม ปฏิปักษ์ของท่าน
คือจอมพลป. ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง
สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายใน เขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารรับใช้ต้องทำพิธีอย่างศพอนาถา

บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 14:58

ขออนุญาตเสริมข้อมูล (นอกเรื่อง) ครั้งสุดท้ายครับ


ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑


ราษฎรทั้งหลาย


เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎร ตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า


คณะราษฎร

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ต้นฉบับ
http://upload.wikimedia.org/wikisource/th/9/9f/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2475.pdf
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 16:02

“….ท่านสุภาพบุรุษที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านเอาความยุ่งเหยิงมาสถิตย์แทนความเป็นระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวเองให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายอยู่ในวังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหาร และจัดรูปกองทัพแบบปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตัวเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าในราชการอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ เหล่านี้กระทำไปในนามของราษฎร…..
……รัฐบาลนี้อ้างว่าได้จัดตั้งขึ้นโดยราษฎรและเพื่อราษฎร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราก็ต้องมีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้บริหารในทางที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลายร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐมนตรีและเพื่อนพ้องของรัฐมนตรีเท่านั้น มิฉนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่…..”
                                                                    จาก เมืองนิมิตร : ความฝันของนักอุดมคติ
                                                                     ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน
************************


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 22:37

อ้างถึง
ผมอ่านเจอว่าท่านโดนวางยาพิษใชหรือไม่ครับ
นายพันเอกพระยาทรง สุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น
หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ใน อินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ
แม้กระทั่งยามยากในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง
แม้ว่า ต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้ม ปฏิปักษ์ของท่าน
คือจอมพลป. ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง
สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายใน เขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารรับใช้ต้องทำพิธีอย่างศพอนาถา

ตอนจบของชะตากรรมพระยาทรงก็เป็นไปอย่างที่คุณwerachaisubhongเอามาจากอินเทอเน็ตนั่นแหละครับ แต่นั่นถือว่าเป็นหนังตัวอย่างของเรื่องที่ผมจะเอามาเสนอต่อไปก็แล้วกัน ผมรับรองว่าเนื้อหาของกระทู้นี้เข้มข้น ไม่เคยมีมาก่อนไม่ว่าในเวปไหน ดูซีครับ ผมไปต่างจังหวัดวันสองวัน กลับมามีหลายท่านเอาข้อมูลข้างเคียงมาเสริมให้เพียบ ขอบคุณทุกท่านมากครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 22:47

ต่อความจากตอนที่แล้ว

อ้างถึง
หลังจากนั้นไม่นาน “สี่ทหารเสือ” คือทั้งพระยาพหล พระยาทรง พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์ก็ได้พร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากหน้าที่ ทั้งในด้านทหารและด้านการเมืองทุกตำแหน่ง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24มิถุนายน2476 เป็นต้นไป นับเป็นข่าวใหญ่ของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ถึงกับมีหน้าม้าจัดการเดินขบวนของกรรมกรขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยต่อการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” ถือเป็นการเดินขบวนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
เบื้องลึกของเรื่องนี้ก็คือ อดีตเพื่อนรักนักเรียนนายร้อยเยอรมันที่มีฝีมือการฟันดาบเอเป้ทัดเทียมกัน ทั้งคู่ประลองกีฬานี้กันบ่อยๆก็จริง แต่วันหนึ่งพระยาพหลวิ่งควงมีดปังตอมาทั้งๆที่นุ่งผ้าโสร่งผืนเดียว ตะโกนหาพระยาทรงว่า ไอ้เทพ มึงทำอย่างนี้มาฟันกับกูดีกว่า พระยาทรงได้ยินเสียงมาก่อนตัวก็หลบฉากออกจากห้องมาขึ้นรถ ให้ขับไปหาเพื่อนอีกสองเสือ บอกว่า ไอ้พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว ได้ความว่า พระยาทรงไปแก้คำสั่งการทางทหารของเจ้าคุณพหล พอนายทหารคนสนิทรายงานให้ทราบขณะที่ท่านเข้าครัวกำลังทำกับข้าว เลือดปรี๊ดขึ้นหน้าคว้ามีดสับหมูได้ก็จะไปสับคนที่ไม่เห็นแก่หน้าท่าน กลุ่มสามเสือปรึกษากันแล้วก็สรุปว่า เราไปบอกพระยาพหลว่าถ้าอยู่ไปแล้วต้องมาทะเลาะกันเองอย่างนี้ ก็ลาออกจากตำแหน่งตามที่ตั้งใจกันไว้ตั้งแต่ก่อนว่า หากปฏิวัติสำเร็จแล้ว จะวางมือให้คนอื่นเขาทำงานการเมืองกันไปดีกว่า แล้วให้พระประศาสตร์ผู้ที่พระยาพหลรักใคร่ชอบพอที่สุดไปชวนพระยาพหลให้ลาออกด้วย ซึ่งก็สำเร็จเป็นไปตามนั้น หลังจากการลาออกจากตำแหน่งแล้ว พระยาทรงและพระประศาสตร์จะเดินทางไปพม่าเพื่อดูงานและพักผ่อนสักระยะหนึ่งก่อนจะกลับเข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งใหม่
 
พระยาพหลนั้น ข้อมูลอีกกระแสหนึ่งอ้างว่า ที่รีบลงชื่อขอลาออกไปด้วยนั้นเพราะไม่อยากให้ทั้งสามคนเปลี่ยนใจ แต่หวังว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะยับยั้งใบลาออกของตน เพราะมีการเดินขบวนแสดงความเสียดายหากจะลาออกจริง ทว่าไม่เป็นไปเช่นนั้นเพราะคนทางสายนายกได้ไปกราบบังคมทูลไว้ให้ทรงปล่อยบุคคลทั้งสี่ไป เพื่อจะได้ตั้งนายทหารสายขุนนางเข้ามาแทนที่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 23 มิ.ย. 10, 22:59

ความจริงแล้ว พระยามโนเจอเรื่องที่สี่เสือขอลาออกนี้เข้าท่านก็เกือบสลบ หลังจากปรึกษากับพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแนะนำท่านว่าให้ฟังเสียงพวกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองดู การทำงานข้างหน้าจะได้สมัครสมานกันราบรื่น เมื่อเชิญหลวงพิบูลมาปรึกษาแล้ว สรุปว่าให้เชิญพลตรี พระยาพิไชยสงคราม(แก็บ สรโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหล และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนพันโทหลวงพิบูลสงครามจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงพิบูลเป็นผู้ไปเจรจาทาบทามนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองด้วยตนเอง พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นตกลงรับเพราะเห็นด้วยกับหลวงพิบูลเรื่องการโยกย้ายทหารที่พระยาทรงสั่งการไว้ โดยหลวงพิบูลขอให้ช่วยแก้ไข และหาทางป้องกันไม่ให้พระยาทรงกลับเข้ามามีอำนาจอีกได้ เมื่อทั้งสองท่านตกลงลงแล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา ตามที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอ

แต่กลับเป็นว่า ภายในระยะเวลาประมาณเดือนเดียว คำสั่งโยกย้ายนายทหารที่พระยาศรีสิทธิสงครามออกมาแบบสายฟ้าแลบนั้น ได้สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่วงการทหารอีกครั้งหนึ่ง ล่าสุดมีสายลับมารายงานหลวงพิบูลว่า กำลังจะมีคำสั่งชุดใหม่ออกมาโยกย้ายนายทหารพวกผู้ก่อการให้พ้นจากสายบังคับบัญชา หลวงพิบูลจึงตัดสินใจที่จะทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนตามที่บรรดาผู้ก่อการทั้งทหารและพลเรือนมาขอร้อง โดยมีเหตุผลว่า พวกขุนนางภายใต้ความเห็นชอบของกษัตริย์กำลังจะดำเนินการริดรอนอำนาจของคณะราษฎร เพื่อหาทางฟื้นฟูระบบราชาธิปไตยขึ้นมาอีก แต่หลวงพิบูลประมาณตนเองว่ายังบารมีไม่ถึงที่จะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จึงไปเชิญพระยาพหลมาเป็นผู้นำในครั้งนี้

เพียงแปดสิบวันหลังนายกรัฐมนตรีปิดสภา ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นแล้วบังคับให้พระยามโนลาออก ซึ่งท่านก็ยอมลาออกโดยดี และในที่สุดเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง หลังมีข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับกบฏบวรเดช ท่านจึงเดินทางไปหลบภัยที่ปีนัง ซึ่งท่านคิดถูกแล้ว ถ้าอยู่ เขาคงหาข้อหาให้ท่านติดคุกแน่นอน แต่ท่านก็เลยถึงแก่พิราลัยที่นั่น ไม่ได้กลับเมืองไทยอีก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 24 มิ.ย. 10, 06:54

การปฏิวัติดังกล่าวนับว่าเป็นการปฏิวัติเงียบ หวังเพียงเพื่อจี้นายกให้ลาออก  เมื่อสำเร็จและตกลงในการวางตัวว่าใครจะไปใครจะมาในค.ร.ม. เสร็จแล้ว พวกผู้แทนที่ถูกปิดสภาไปก็ทำหนังสือถึงประธานสภา ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อเปิดสภาใหม่ เมื่อสภาเปิดก็โหวตให้พระยาพหลเป็นนายกรัฐมนตรีตามโผ แทนพระยามโนที่ลาออกไป

พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่2ของสยาม แทนที่จะเป็นคนที่1เพราะตอนนั้นยังเหนียมๆไปหน่อย

เมื่อเป็นนายกแล้ว ผู้แทนสายพลเรือนก็เรียกร้องให้เอาหลวงประดิษฐ์ที่ถูกรัฐบาลที่แล้วเนรเทศไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศสกลับมา เมื่อกลับมาและได้เป็นรัฐมนตรีเสร็จสรรพ ส.ส.อุตรดิษฐ์ก็ได้เสนอให้สภาตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลวงประดิษฐ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหาของพระยามโนหรือไม่ สภาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญประกอบด้วย หม่อเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พระยานลราชสุวัจน์ พระยาศรีสังกร เป็นองค์คณะพิจารณา และอนุมัติให้มองซิเออร์กียองกับเซอร์โรเบิร์ต ฮอลแลนด์(โอ๊ะโอ๋ -ทำไมไปพ้องกับชื่อของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมด้วย) มาเป็นผู้เชี่ยวชาญสำหรับให้ความเห็นต่อคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนฝรั่งสองคนนี้มาได้อย่างไรคงอย่าไปเดาเลย เดี๋ยวถูก เอาเป็นว่าหลังฟังความเห็นแล้วคณะกรรมการก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้หลวงประดิษฐ์พ้นมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหา

คืนวันที่สภาลงมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอ บรรดาส.ส.ก็ได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีต่อหลวงประดิษฐ์ที่บริเวณสภากันยกใหญ่ โดยเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่ายกันข้อครหา


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 24 มิ.ย. 10, 07:35

การที่พระยาภะรตราชา ถูกนิสิตจุฬาฯ ขับไล่นั้น  ถ้าคนที่รู้จักท่านคงเห็นว่าไม่แปลก  เพราะถึงจะเป็นครูแต่ท่านก็ดุและเจ้าระเบียบไม่แพ้ท่านผู้การกรมทหารปืนใหญ่ที่กล่าวถึงกันเรื่อง ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์  
เรื่องที่ท่านออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น  ท่านเคยเล่าให้ฟังก่อนถึงอนิจกรรมไม่นานว่า  "นโยบายของกันไม่เข้ากับนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎร์  กันเลยออกจากจุฬาฯ"  คำว่า "กัน" นั้นท่านมักจะใช้เป็นสรรพนามแทนตัวท่านเวลาพูดกับนักเรียนหรือผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่า

มองซิเออร์กียอง ที่คุณพี่นวรัตนกล่าวถึงนั้นเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่คณะรัฐบาลจ้างมาเป็นกรรมการร่างกฎหมายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ แล้วครับ  ผลงานสำคัญของที่ปรึกษานี้ คือ การยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งร่างมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖  มาเสร็จสมบูรณ์เอาปลายรัชกาลที่ ๗  เพราะเวลาร่าง  ที่ปรึกษากฎหมายท่านเป็นชาวฝรั่งเศส  ท่านก็ร่างเป็นภาษาฝรั่งเศส  แล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษเพราะนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ  แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทยสำหรับให้คนไทยอ่านรู้เรื่องอีกที  นี่จึงเป็นพยานความล่าช้าในหลายๆ เรื่อง

ขออนุญาตเลี้ยวออกนอกเรื่องพระยาทรงสุรเดชไปที่เรื่องการร่างกฎหมาย  เมื่อจะแก้ไขสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตกนั้น  ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ออกแรงบีบรัฐบาลไทยให้ร่างกฎหมายตามแบบประเทศของตน  ข้างฝ่ายอังกฤษก็จะให้เราใช้หลักกฎหมายจารีตแบบอังกฤษ  ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็จะให้ใช้ระบบประมวลเหมือนตน  สุดท้ายพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลือกแบบประมวล  เพราะมีการเขียนกฎหมายไว้ขัดเจนแน่นอนสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า  แต่ระบบกฎหมายฝรั่งเศสเป็นแบบกล่าวหา   ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าตนไม่ผิด  แต่อังกฤษใช้ระบบไต่สวน  โดยมีความเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ากระทำผิด  ระบบกฎหมายของศาลเราเลยเป็นแบบผสมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เมื่อถึงยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  ท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศสก็คงจะเลื่อมใสวิธีการแบบฝรั่งเศส  เลยเอาระบบศาลฝรั่งเศสมาใช้กับศาลพิเศษ  แล้วผู้ถูกกล่าวหาในศาลพิเศษก็เลยต้องโทษกันเป็นระนาว   เพราะไม่มีโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองในศาลได้เลย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 มิ.ย. 10, 17:13 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง