ขอเสิฟเครื่องเคียงของว่าง คั่นเวลาก่อนดินเนอร์ตัวจริงจะมาถึง

พูดถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีหลักฐานหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าท่านพยายามอะลุ้มอล่วย ไม่เข้มงวดกับอำนาจเก่า (คือสถาบันกษัตริย์) เท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ประสงค์จะให้มีรอยร้าวกันมากกว่านี้
พระยามโนปกรณ์ฯ ย้ำเตือนในที่ประชุมเสมอว่า " เราไม่ใช่ศัตรูของเจ้า(นาย)" ท่านเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวถึงสัปดาห์ละ ๓ วัน คืออังคาร พฤหัส เสาร์ หลังประชุมคณะกรรมการราษฎร เพื่อทูลปรึกษาข้อราชการ แม้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีสิทธิ์จะตัดสินได้อย่างเมื่อก่อน แต่ก็ถวายพระเกียรติว่าให้รับทราบ
เรื่องบางเรื่อง ท่านก็ถือหลัก Let bygones be bygones คืออะไรแล้วก็ให้แล้วกันไป เมื่อส.ส.มานิต วสุวัต ซึ่งถ่ายหนังวันปฏิวัติเอาไว้ ประสงค์จะนำออกฉายตามโรง พระยามโนฯก็ระงับด้วยเหตุผลว่า จะเป็นการซ้ำเติมพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง
นโยบายสมานฉันท์ของพระยามโนฯ ถูกมองว่าท่านเป็น "ซากตกค้างมาจากระบบเก่า" (สมัยนี้อาจจะเรียกว่าอำมาตย์) ปฏิกิริยาของฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เริ่มแรงขึ้น จนกลายเป็นการขัดแย้งแม้แต่ในเรื่องไม่เกี่ยวกับสถาบัน
พูดง่ายๆว่าก็เลิกเกรงใจประธานกันแล้ว
สี่ทหารเสือ (ที่ต่อมาลาออก)ขาดประชุมกันถี่ยิบ บางคนขู่ว่าถ้าเสนอประเด็นเข้าไปแล้วไม่ได้ตามขอ ก็จะลาออก
คลื่นใต้น้ำทำนองนี้แรงขึ้นทุกวัน จนในที่สุดก็เป็นอย่างที่คุณนวรัตนเล่าไว้ข้างบนนี้ คือพระยามโนฯก็ถูกจี้ให้ลาออกไป
*****************
ส่วนเรื่องเลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง แต่งตั้งทนายเพื่อจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวหาว่าพระองค์หมิ่นประมาทตน เรื่องอลหม่านอยู่ที่สภาพักหนึ่ง แล้วก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย คืออัยการตั้งข้อหากบฎและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้"
อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ตกเป็นจำเลยราษฎร