เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 35 36 [37] 38 39 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328792 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 540  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 20:12

ความข้างต้นนั้นให้เผอิญไปสอดรับกับความในบัตรสนเท่ห์ที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขาธิการได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร  และได้ทรงพระราชบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑” ว่า

“เมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๔๕๓, กรมปราจิณ ส่งจดหมายฉบับ ๑ เข้าไปให้ฉัน, เปนบัตรสนเท่ห์ซึ่งทิ้งมาโดยไปรษณีย์, มีข้อความพูดกับฉันเปนเชิงบอกกล่าว, ใจความในบัตนสนเท่ห์นั้นมีว่า ผู้เขียนจดหมายเปนสมาชิกแห่งสมาคมอัน ๑  ซึ่งถือความยุติธรรมเปนเจ้าเปนใหญ่,  และถ้าผู้เปนเจ้าเปนใหญ่พระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว  พระนามก็ต้องมาเข้าในที่ประชุม  เปนทางวินิจฉัย.  ชื่อของฉันได้เคยเข้าที่ประชุมครั้ง ๑ แล้ว,  คือเมื่อครั้งนายทหารถูกเฆี่ยนเพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน,  ในครั้งนั้นก็เห็นกันแล้วว่าฉันเปนผู้ไม่มียุติธรรมและปราศจากความเมตตาต่อนายทหาร,  แต่เห็นว่ายังมิได้เปนพระเจ้าแผ่นดินประการ ๑,  และนายทหารนั้นๆ เองก็มีความผิดประพฤติไม่ดีจริงด้วยประการ ๑,  สมาคมจึ่งนิ่งไว้”

เมื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องทหารวิวาทกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  และเรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สั่งโบยทหารจากเอกสารทางราชการ  กลับพบหลักฐานที่ตรงข้ามกับข้อความที่ระบุไว้ในบัตรสนเท่ห์ และที่นายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์  และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ ได้บันทึกไว้ใน “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” โดยสิ้นเชิง  กล่าวคือ หนังสือ “ยุทธโกษ” ซึ่งเป็น “นิธิและโอษฐ์ของทหารบกในประเทศสยาม” หรืออีกนัยหนึ่งคือ จดหมายเหตุของกรมยุทธนาธิการ  ได้บันทึกเรื่องราวเดียวกันนั้นไว้ว่า

“เหตุเกิดจากการที่ทหาร ๓ นาย คือนายร้อยเอกสม  เจริญผล  นายร้อยตรีจั่น และนายดาบบางจากกรมทหารราบที่ ๒ ได้ชวนนายสิบ พลทหาร ถอดเครื่องแบบและวนกันไปเดินเที่ยวเล่น  ระหว่างทางได้พบกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ๒ นายเดินมากับผู้หญิง  นายร้อยเอกสมและพรรคพวกจึงเข้ารุมตีพวกที่เดินมานั้น  หลังจากไต่สวนแล้ว  ปรากฏว่าทหารมีความผิดจริง  จึงต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง”

ในขณะที่ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๒๖  วันที่  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๕๒  ได้ลงประกาศ “แจ้งความกรมยุทธนาธิการ” ซึ่งมีความว่า
“ด้วยนายร้อยเอก สม  นายร้อยตรี จั่น  กรมทหารราบที่ ๒  ประพฤติตนไม่สมควรกับตำแหน่ง  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอด นายร้อยเอก สม  นายร้อยตรีจั่น  จากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์แล้ว ฯ
                                                                     ศาลายุทธนาธิการ
                                                     วันที่  ๑๙  มิถุนายน  รัตนโกสินทรศก ๑๒๘
                                                              (ลงพระนาม)  จิรประวัติวรเดช
                  ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 541  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 20:13

ความในเอกสารราชการทั้งสองฉบับนั้นระบุตรงกันว่า ทหารเป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก  มิใช่มหาดเล็กเป็นผู้ทำร้ายทหารดังที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ กล่าวอ้าง  ทั้งยังมีความสอดรับกับความใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

“(๑) เรื่องนายทหารถูกเฆี่ยนเพราะวิวาทกับมหาดเล็กของฉัน,... เปนเหตุการณ์อันได้เกิดขึ้นในมิถุนายน, ๒๔๕๒,  ในเวลานั้นพวกกรมรถม้าของฉันอยู่ที่วังจันทร์ ,  และกรมทหารราบที่ ๒ อยู่ที่โรงเชิงสพานมัผฆวานรังสรรค์,  ฉะนั้นจึ่งเปนอันมีชายหนุ่มๆ สองพวกอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน,  ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเกิดเหตุระหองระแหงกันบ้าง,  เนื่องด้วยการแย่งผู้หญิงกันเปนต้น.  การทุ่งเถียงและพูดแดกดันกันนั้นคงจะได้มีแก่กันอยู่นาน,  ในที่สุดคืนหนึ่งจึ่งได้ถึงแก่ตีกันขึ้น,  และหม่อมราชวงศ์เหรียญ , พนักงานรถม้าของฉันคน ๑ ได้ถูกนายทหารราบที่ ๒ ตัวแตก.  เมื่อเกิดชำระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมีนายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา.  กรมนครชัยศรี เอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชำระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลาและยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น, เห็นว่าเปนโทษหนัก, จำเปนต้องลงอาญาให้เปนเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึ่งได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีและถอดจากยศยศ.  การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยโดยความขอร้องของฉันเลย,  ตรงกันข้ามฉันเปนผู้ท้วงว่าแรงเกินไป,  แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง.  หาไม่จะกำราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเปนคนมีพวกมากเที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร”
   
การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช สั่งลงพระราชอาญาโบยนายทหารคนละ ๓๐ ทีนั้น  จึงเป็นการลงอาญาในความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาลแล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน  ซึ่งเป็นการกระทำผิดยุทธวินัยอย่างร้ายแรง  เพราะ “ยุทธวินัยเปนหลักสำคัญที่สุดของทหาร  การที่กองทัพจะได้ชัยชะนะในสงคราม  ก็ย่อมต้องอาศรัยการที่ทหารรักษายุทธวินัยโดยเคร่งครัดนั้นเป็นใหญ่  ส่วนในเวลาสงบศึกกองทัพจะมีระเบียบเรียบร้อยรักษาเกียรติยศเปนกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จริงมิใช่กองโจรก็โดยอาศรัยยุทธวินัยๆ นี้องเปนอาการที่จะทำให้เห็นว่ามิใช่โจร ซึ่งถืออาวุธเหมือนกัน”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 542  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 20:15

   ในส่วนที่นายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์  และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ บันทึกไว้ว่า “เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงทราบ  รับสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒ สอบสวน  ทหารรับสารภาพจึงถูกสั่งขัง แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงให้เฆี่ยนหลังเพื่อมิให้เป็นตัวอย่างต่อไป” นั้น  นอกจากจะมีหลักฐานปรากฏชัดในพระราชบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษรมทหารบกราบที่ ๒ ต้นสังกัดของนายทหารที่ต้องโทษนั้นจะทรงท้วงว่า การลงอาญาโบยครั้งนั้น “แรงเกินไป” แล้ว  ใน “ประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่อง เปนลูกผู้ชาย” ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ “มายังบรรดาบุตรข้าราชการที่ได้มาถวายตัว และที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีที่อยู่ในจังหวัดวัง กับทั้งผู้ที่มารับราชการเปนครั้งคราว  ทราบทั่วกัน”  ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ได้ทรงกล่าวถึงการลงอาญาโบยไว้ในประกาศฉบับนั้นว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเปนต้น  ก็ทรงพระราชดำริห์ว่าน่าจะไม่เปนประโยชน์  เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉาน  ที่จะบังคับได้ด้วยอาญา  ถึงแม้จะจะใช้อาญาเท่าใด  ถ้าแม้นลูกผู้ดีจะเกิดมีทิฐิมานะขึ้นมาแล้วไซร้  จะห้ามปรามยึดเหนี่ยวไว้ไม่ได้เลย  แต่ถ้าแม้ว่าตัวลูกผู้ดีนั้นรู้สึกเห็นว่าสิ่งใดผิด  ก็จะไม่พักให้ใครต้องใช้อาญา  คงจะต้องรักตัวรักชื่อเสียงและอดสิ่งที่ชั่วที่ผิดนั้นเสียเอง”   

ส่วนที่บันทึกของนายร้อยตรีเหรียญ  ศรีจันทร์ และนายร้อยตรีจรูญ  ษะตะเมษ ได้กล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลงอาญาโบยหลวงรักษานารถเพราะไม่ยอมให้ภรรยาของตนเข้าร่วมแสดงการฟ้อนรำในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช  และมีพระบรมราชโองการให้ถอดหลวงรักษานารถจากยศบรรดาศักดิ์  พร้อมทั้งเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที  และนำไปขังคุก ๑ ปีนั้น  เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว ไม่พบว่ามีพระบรมราชโองการให้ถอดหลวงรักษานารถจากยศบรรดาศักดิ์และให้นำไปขังคุก ๑ ปี ดังความเชื่อของคณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  หากแต่พบบันทึกของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงชิวห์  บุนนาค อดีตผู้อำนวยการกองวัง  สำนักพระราชวัง  ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์และได้บันทึกถึงเรื่องราวครั้งนั้นไว้ว่า
“ในการซ้อมโขนหรือละคร  เริ่มซ้อมใหม่  มักจะทรงปล่อยไม่กวดขันประการใด  แต่ในวันซ้อมใหญ่จะขาดไม่ได้  จึงมีพระบรมราชโองการปิดประกาศไว้ในโรงละครว่า “ถ้าผู้ใดง่วงเหงาหาวนอน  ก็อนุญาตให้ไปนอนที่ตึกสนมได้”  มีใครบ้างที่อยากไปกรมสนม  คือ คุกของราชบริพารที่ถูกลงพระราชอาญานั่นเอง

ได้กล่าวมาแล้วว่า  เรื่องที่ผิดเล็กๆ น้อย มักจะทรงพระกรุณา  แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ทรงพระพิโรธ  ในปีนั้นข้าราชการกรมมหรสพหลวง  ได้แสดงโขนถวายสมเด็จพระพันปีหลวงทอดพระเนตรในงานขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน  วันนั้นเป็นวันซ้อมใหญ่นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้ถูกเกณฑ์มาเฝ้ารับเสด็จและดูการซ้อมโขนหลวงด้วย  เป็นของธรรมดามีงานแสดงถวายทอดพระเนตรที่ไหน  น.ร.ม.ก็ต้องไปเฝ้ารับเสด็จด้วยที่หน้าโรงโขนหลวงสวนมิสกวัน  ครั้นเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงขึ้นประทับบนมุขเบื้องบน  เหล่านักเรียนมหาดเล็กหลวงก็ติดตามไปนั่งเฝ้าเบื้องหลัง  พิณพาทย์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี  แล้วก็ขึ้นเพลงสาธุการไหว้ครูตามแบบอย่าง โขน ละคร  พวกโขนออกมารำถวาย  จนถึงตอนเทพบุตรนางฟ้าออกมารำฟ้อน  กรีดกรรำร่ายซ้ายขวา  ทอดพระเนตรเห็นนางฟ้าขาดไป  เหลือแต่เทพบุตรผู้เดียว  จึงรับสั่งเรียก เฟื้อ (หมายถึงเจ้าคุณจางวาง  พระยาประสิทธิ์ศุภการ) ไปสอบถามดูถี  นางฟ้าขาดหายไปไหน  สักครู่หนึ่ง  เจ้าคุณจางวางกราบทูลว่า ตัวนางฟ้าลาไปแต่งงาน  ครบกำหนดลาหลายวันแล้วไม่เห็นกลับมา  ถ้าจะถูกสามีหน่วงเหนี่ยวไว้

ทรงพระพิโรธตวาดลั่น  มันถือดีอย่างไร  ให้ตำรวจหลวงไปจิกหัวทั้งคู่มาดูหน้ามันสักหน่อย  เจ้าคุณจางวางจึงใช้ให้ตำรวจหลวงนำรถยนต์ไปเอาตัวมาเฝ้าโดยเร็วที่สุด ในระหว่างนี้ทรงพระสึรเสียงสิงหนาทก้องโรงโขน  บรรดาเทพบุตรนางฟ้าลงหมอบอยู่ตัวสั่น  พิณพาทย์ลาดตะโพนเงียบกริบ  แม้ในป่าช้าเงียบสงัดยามค่ำคืนก็ยังมีเสียงจิ้งหรีดเรไรเล็ดลอดออกมาได้ยิน  แต่บรรยากาศที่นี้ไม่ไม่มีเสียงแม้แต่ไอหรือจาม  เพราะเกรงหัวจะหลุดออกจากบ่า  ต่างนั่งหรือหมอบประหม่างันงก  หัวใจแทบจะหยุดเต้นไปตามกัน  พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาทุกคนจะต้องรู้สึกเช่นนี้   สักครู่ใหญ่ๆ เจ้าคุณจางวางก็นำสองคน  สามีและภรรยาพร้อมด้วยตำรวจหลวงเข้ามาเฝ้าหน้าพระที่นั่ง  แต่ก่อนที่จะนำตัวเข้ามาก็ได้บอกกับสงคนไว้แล้วให้รับสารภาพผิดแต่โดยดี  บางทีอาจทรงยกโทษได้บ้าง  ทรงทอดพระเนตรเห็นแล้ว  ตรัสว่า อ้อ นางฟ้ามันงามอย่างนี้  เอ็งทั้งคู่รู้สึกว่ามีความผิดหรือไม่ประการใด  ทั้งคู่กราบถวายบังคม  สามีกล่าวคำขอเดชะ  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งคู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์   บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท  ขอพระราชทานอภัยเป็นที่พึ่ง  ทรงรับสั่งว่า  มึงรู้รับผิดก็ดีแล้ว  กูจะให้โบยหลัง ๖๐ ที   ส่วนนางฟ้าของเอ็งกูจะงดโทษให้  จงไปเข้าแถวรำของเอ็ง  ทั้งคู่กราบถวายบังคม  เจ้าคุณจางวางกราบบังคมทูลว่า  เห็นฝ่ายชายบอบบางนัก เกรงว่าจะรับพระราชอาญาไม่ถึง ๖๐ ทีจะสิ้นลมไปเสียก่อน  ทรงรับสั่งตอบว่า  งั้นข้าลดโทษให้เหลือ ๓๐ ที  แต่ต้องตีให้เมียมันได้ยินเสียงด้วยนะ  เจ้าคุณจางวางให้ตำรวจหลวงนำตัวไปลงหวายที่หลังโรง  น.ร.ม.บางคนอยู่ด้านหลังแอบเล็ดรอดไปดูเหตุการณ์  มาเล่าให้ฟังว่า ให้จิกปลายหวายเลยหลังไปหน่อย  เสียงขวับแรกยังไม่ร้อง  เจ้าคุณจางวางถามว่า

ไม่เจ็บใช่ไหม?

เจ็บขอรับ

แล้วทำไมถึงไม่ร้อง  พอถึงหนที่ ๒  ที่ ๓  ก็ร้องโหยหวนดังขึ้นทุกทีจนครบ ๓๐ ที  ทรงรู้สึกสลดพระราชหฤทัยอยู่เหมือนกัน  เจ้าคุณจางวางเข้ามากราบบังคมทูลว่า สลบไป  ข้าพระพุทธเจ้าให้หมอแก้ไข  ให้ตำรวจหลวงนำตัวไปส่งบ้านแล้ว  ทรงหายขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกลับทรงมีพระเมตตาตรัสว่า “เฟื้อ, คอยดูมันบ้างก็แล้วกัน”  นี่แหละ  ถึงยังไง  ยังไง  ก็ยังมีพระมหากรุณาอยู่เสมอ  ผู้เป็นข้าราชสำนักย่อมรู้ดี  ยามทรงพระพิโรธก็ลงโทษ  เมื่อถึงยามโปรดก็ทรงพระมหากรุณาใหม่  ขอให้ตั้งใจประพฤติตนดีเท่านั้น”     
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 543  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 20:16

อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการลงโทษโบยที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อการกำเริบจนถูกจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว  จะเห็นได้ว่า เรื่องทั้งหมดล้วนถูกต่อเติมเสริมแต่งจนผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง  เช่นเดียวกับการบิดเเบือนข้อเท็จจริงใน “คดีพญาระกา” อันเป็นชนวนเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อต้นปี ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตไม่นานนัก  และบรรดาผู้พิพากษาผู้เป็นศิษย์ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นได้พร้อมกันกราบถวายบังคมลาออกจากราชการตามเสด็จพระอาจารย์ถึง ๒๘ คน  รวมถึงเรื่องที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงถูกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทรงตำหนิในเรื่องให้ราชเลขานุการในพระองค์มีหนังสือไปเตือนผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือในเรื่องการสั่งสอนศิษย์  และเรื่องที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงแสดงความเป็นอริต่อกัน  จนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต้องทรง “...พูดไกล่เกลี่ยเสียขนานโตจึ่งได้เปนอันระงับความลงได้, หาไม่ท่านพี่ชายทั้ง ๒ องค์นั้นอาจจะถึงวางมวยกัน...”  เมื่อเวลาเย็นวันที่  ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๕๓  รวมทั้งการสมคบกันก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐  ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาในเวลาใกล้เคียงกัน  ทั้งตัวบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นบุคคลชุดเดียวกันทั้งหมด  โดยมีผู้ที่ต้องพระราชอาญาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้เฝ้าในที่รโหฐานเป็นผู้ออกอุบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น  เมื่อประมวลเหตุวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากังกล่าวแล้ว  ชวนให้คิดต่อไปว่า ผู้ที่ปล่อยข่าวการโบยนายทหารเมื่อตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการโบยมหาดเล็กในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพียงเพื่อจะทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเพิ่งเสด็จเสวยสิริราชสมบัติทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ  แต่เมื่อคณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้ประชุมปรึกษาและขยายความ  จนถึงขั้นสมคบกันจะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปเป็นแบบรีปับลิก หรือสาธารณรัฐ โดยจะเชิญเสด็จพระเจ้าพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี  จึงทำให้คณะก่อการกำเริบซึ่งได้กระทำการอันเป็นการตระบัดสัตย์สาบานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต้องถูกจับกุมคุมขัง  แล้วนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการศาลรับสั่งพิเศษ  จนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
ประหารชีวิต ๓ นาย 
จำคุกตลอดชีวิต ๒๐ นาย
จำคุก ๒๐ ปี  ๓๒ นาย
จำคุก ๑๕ ปี  ๖ นาย
จำคุก ๑๒ ปี  ๓๐ นาย
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 544  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 20:20

ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด ดังต่อไปนี้

“ด้วยได้ตรวจดูคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร  ซึ่งได้พิจารณาปฤกษาโทษในคดีผู้มีชื่อ ๙๑ คนก่อการกำเริบ  ลงวันที่  ๔ พฤษภาคมนี้ตลอดแล้ว
เห็นว่ากรรมการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหทายทุกประการแล้ว  แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้  มีข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา  ราไม่ได้มีจิตรพยาบาทคาดร้ายแก่พวกนี้  เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษ  โดยถานกรุณาซึ่งเปนอำนาจของเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้
เพราะฉะนั้นบรรดาผู้มีชื่อ ๓ คน  ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่าเปนโทษชั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น  ให้ลดลงเปนมีโทษชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต

แลบรรดาผู้มีชื่อ ๒๐ คน  ซึ่งวางโทษไว้ว่าเปนชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น  ให้ลดลงเปนมีโทษชั้นที่ ๓  คือให้มีโทษจำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี  ตั้งแต่วันนี้สืบไป

แต่บรรดาผู้มีชื่ออีก ๖๘ คน  ซึ่วางโทษในชั้นที่ ๓  ให้จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ คน  แลวางโทษชั้นที่ ๔  ให้จำคุก ๑๕ ปี  ๖ คน  แลวางโทษชั้นที่ ๕  ให้จำคุก ๑๒ ปี  ๓๐ คน นั้น  ให้รอการลงอาญาไว้  ทำนองอย่างเช่นที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๔๑  แล ๔๒  ซึ่งว่าด้วยการรอลงอาญา  ในโทษอย่างน้อยนั้น  แลอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศก่อน

แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คน ที่ให้ลงโทษชั้นที่ ๒  กับผู้มีชื่อ ๒๐ คน ที่ให้ลงโทษชั้นที่ ๓  รวม ๒๓ คนดังกล่าวมาข้างต้นนั้น  ให้ถอดจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียม  ซึ่งเคยมีกับโทษเช่นนั้น

สั่งแต่พระที่นั่งอัมพรสถาน  ณ วันที่  ๕  พฤษภาคม  รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑”

ต่อมาเมื่อได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕  เมื่อวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๖๗  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องพระราชอาญาให้จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก ๒๐ ปีในความผิดฐานเป็นกบฏ เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ให้กระทรวงยุติธรรมปล่อยตัวเป็นอิสระเสียทั้งสิ้น  รวมเป็นเวลาที่ถูกจำขังตามกระแสพระบรมราชโองการเพียง ๑๓ ปีเศษ  แต่ในส่วนการเร่งรัดพัฒนาการศึกษาให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษา  ก่อนที่จะพระราชทานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย  ดังที่ได้มีพระราชปรารภไว้ในที่ประชุมเสนาบดีเมื่อคราวเกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน ร.ศ. ๑๓๐ นั้น  ยังไม่บรรลุผลสำเร็จสมดังพระราชประสงค์  แม้ในมณฑลกรุงเทพฯ ก็ยังไม่อาจประกาศใช้พระราชประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้ครบทุกตำบล   เพราะมีเหตุขัดแย้งกันในระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ  และแม้นว่าคณะราษฎรจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วก็ตาม  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ยังต้องมีบทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๖๕ เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖ , ๑๗
(๒) สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

เป็นอันว่ารายงานเรื่อง "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐" ได้จบลงโดยสมบูรณ์แล้ว  ในลำดับต่อไปขอเรียนเชิญเพื่อนๆ นักเรียนชาวเรือนไทยได้ร่วมกันวิพากษ์ต่อไปครับ  เผื่อท่านอาจารย์ใหญ่จะให้เกรดงามๆ ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 545  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 21:07

ตัวบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นบุคคลชุดเดียวกันทั้งหมด  โดยมีผู้ที่ต้องพระราชอาญาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้เฝ้าในที่รโหฐานเป็นผู้ออกอุบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น  เมื่อประมวลเหตุวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากังกล่าวแล้ว  ชวนให้คิดต่อไปว่า ผู้ที่ปล่อยข่าวการโบยนายทหารเมื่อตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการโบยมหาดเล็กในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะมีจุดมุ่งหมายในเบื้องต้นเพียงเพื่อจะทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเพิ่งเสด็จเสวยสิริราชสมบัติทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ 

เห็นจะต้อง จุดจุดจุดจุด อีกแล้ว
ถ้าเป็นอย่างที่คุณ V_Mee ว่ามา  ก็มีใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ขุ่นเคืองใจมาตั้งแต่ถูกลงโทษในคดีพญาระกา (อ่านรายละเอียดได้จากกระทู้ เจ้าพระยามหิธร) แล้วมาใส่สีตีข่าว จากเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่    เหมือนกับจะลองดีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยไม่ยำเกรงพระบรมเดชานุภาพ
จากนั้นนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งก็งับเหยื่อ  ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์     กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนกลายเป็นกบฏร.ศ. ๑๓๐  ไป
ที่จริงข้อหาล้มล้างราชบัลลังก์ในระบอบราชาธิปไตย  ถ้าเป็นต้นรัตนโกสินทร์ละก็ ประหารลูกเดียว  ลูกเด็กเล็กแดงพลอยไม่รอดด้วยอีกต่างหาก
เท่าที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ลงโทษเพียงแค่นี้ถือว่าเบามากแล้ว   
ในระบอบประชาธิปไตยในภายหลังของไทย   ผู้วางแผนประทุษร้ายต่อผู้นำทางการเมือง โดนโทษหนักกว่านี้มาก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 546  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 22:43

คุ้มค่าแห่งการรอคอยจริงๆ คุณวีหมี
ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 547  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 23:12

เข้ามาลงชื่อว่ายังไม่ได้ขาดเรียนไปใหนครับ

เนื้อหาดีๆแบบนี้ จะขาดเรียนได้อย่างไร

ผมมีความปรารถนาอีกประการหนึ่งครับ
ทำอย่างไร จึงจะมีเนื้อหาในกระทู้แบบนี้ รวมเล่มตีพิมพ์ครับ

สงสัยจะต้องมีใครไปนำเรียน คุณครูวรชาติ ออกหนังสืออีกสักเล่มนะครับ
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
alias1124
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 548  เมื่อ 21 ก.ค. 10, 12:09

มารายงานตัวฟังเรื่องกบฎ รศ 130 ด้วยอีกคนครับ  ตอนแรกเห็นท่านอาจารย์ใหญ่
อยากจะจบกระทู้นี้ ไปๆมาๆ ยังยืดต่อได้  ผมเองก็อยากให้กระทู้นี้ยังหายใจได้ต่อ
ไปอีกซักนิด ก็ยังดีนะครับ  ยิงฟันยิ้ม 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 549  เมื่อ 21 ก.ค. 10, 12:30

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 550  เมื่อ 21 ก.ค. 10, 12:34

เคยเขียนถึงกบฎ ร.ศ. 130 ไว้   ขอนำมาลงประกอบคำบอกเล่าของคุณ V_Mee และคลิปวิดีโอของคุณเพ็ญชมพู

http://vcharkarn.com/reurnthai/130.php
กบฎ ร.ศ. ๑๓๐

เทาชมพู pinkandgrey@doramail.com

     ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสอาดศรี 
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จงเป็นที่ศีวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน
ให้รีบหาปาลีเมนต์ขึ้นเป็นหลัก  จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เริ่มเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล  รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย

     กลอนข้างบนนี้เป็นของนักคิดนักเขียนผู้ล้ำยุคในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ คือเทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เขียนไว้เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙ เรียกร้องให้จัดตั้ง Parliament หรือการปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในขณะที่สยามยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีใครคิดว่า ๕ ปีต่อมา ความคิดของเทียนวรรณได้รับการสานต่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ แม้จะล้มเหลวลงตั้งแต่ยังไม่ทันลงมือก็ตาม

    ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔(ร.ศ. ๑๓๐) นายทหารหนุ่มและพลเรือนกลุ่มหนึ่งถูกทางการจับกุมในข้อหาคบคิดวางแผนการปฎิวัติ ลดอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาใต้กฎหมายแบบเดียวกับอังกฤษและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์อื่นด้วย คนพวกนี้ยังไม่ทันจะลงมือทำ แผนก็รั่วไหลจนถูกจับกุมได้เสียก่อน รวมผู้ก่อการจำนวน ๙๒ คน

     สิ่งที่น่าตกใจอย่างแรกคือบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่คนอื่นคนไกลพระมหากษัตริย์ ทหารส่วนใหญ่มาจากหน่วยทหารรักษาพระองค์ ส่วนพลเรือนหลายคนเป็นนักกฎหมายหนุ่มระดับปัญญาชนของประเทศ ในจำนวนนี้มีอยู่มาก ที่เป็นลูกศิษย์และมหาดเล็กใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทำให้เป็นที่เดือดร้อนพระราชหฤทัยมาก ทรงรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษพวกนี้อย่างเคร่งครัด ท่ามกลาง "ข่าวลือ" ว่าทรงอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่พวกกบฎเองก็ไม่ยอมรับพระองค์ในตอนนั้นเพราะทรงจับพวกเขาเข้าคุกเข้าตะราง การที่ต้องทรงยืนอยู่บนทางสองแพร่งทำให้ลำบากพระทัย จนถึงกับขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงยับยั้งไว้ ทรงให้เหตุผลว่าทรงเชื่อถือในพระราชอนุชา และ

     "…ถ้าเมื่อใดฉันไม่ไว้วางใจให้เธอกระทำการในน่าที่แล้ว ฉันจะไม่รอให้เธอเตือนเลย ฉันจะบอกเธอเองทันที"

     ย้อนมาดูว่ากบฎ ร.ศ. ๑๓๐ เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด ก็จะประมวลมาได้ถึงสาเหตุ ๓ อย่างใหญ่ๆคือ

     ๑ อุดมการณ์แบบตะวันตก ที่เผยแพร่มากับตำรับตำราวิชาการและสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าประเทศทางตะวันตกที่เจริญแล้วล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดี(อย่างฝรั่งเศส) หรือไม่ก็มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(อย่างอังกฤษ) ชาวสยามรุ่นใหม่จึงคิดว่า ถ้าจะทำให้สยามเจริญขึ้นมาได้ ก็ต้องเปลี่ยนการปกครองให้เป็นแบบประเทศตะวันตกเสียก่อน

     ๒ ความไม่พอใจ "ระบบราชการ" ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าระบบเจ้าขุนมูลนาย และความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓ คือเกิดภัยธรรมชาติและโรคระบาดติดต่อกันหลายปี ทำให้ราษฎรในหัวเมืองลำบากกันมากถึงขั้นต้องอพยพทิ้งถิ่น ปลูกข้าวไม่ได้ ถึงขั้นบางคนก็อดตาย พอดีกับช่วงนั้น รัฐเก็บภาษีการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้เดือดร้อนกันมากขึ้นด้วย

     ๓ เรื่องนี้เกือบจะเรียกว่าเป็นสาเหตุส่วนตัวของผู้ก่อการที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ได้ คือความไม่พอใจต่อ ' กองทหารเสือป่า ' ที่ตั้งขึ้นในปีนั้น ทหารจำนวนมากรู้สึกว่าเสือป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและข้าราชสำนักเป็นคู่แข่งของฝ่ายทหาร ได้รับความสำคัญและสิทธิพิเศษมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องใช้งบประมาณสิ้นเปลืองเพื่อทำกิจกรรมกันมาก ทั้งที่เสือป่าเองก็ไม่ได้มีความสามารถในการรบเท่ากับทหาร

     หนึ่งในผู้ก่อการ ถึงกับเห็นว่าควรปฏิวัติเพื่อให้… 'ทหารมีเกียรติยศเพิ่มขึ้น ให้เชิดหน้าชูตาขึ้นอีก '
      เรื่องนี้ก่อความโทมนัสให้พระเจ้าอยู่หัว เพราะทหารที่ก่อกบฎก็คือทหารผู้ใกล้ชิดพระองค์นั้นเอง ถึงกับมีพระราชปรารภว่า

     "…ตัวเราเวลานี้ตกอยู่ในที่ลำบาก ยากที่จะรู้ว่าภัยอันตรายจะมาถึงตัวเวลาใด เพราะเรารู้สึกประหนึ่งว่าเป็นตัวคนเดียว หาพวกพ้องมิได้ ฤาที่เป็นพวกพ้องก็พะเอินเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอันหาอำนาจมิได้"

     แต่ถึงกระนั้น เมื่อมีคำพิพากษาออกมา ตัดสินโทษประหารชีวิตสำหรับหัวหน้าผู้ก่อการ เมื่อมาถึงขั้นตอนพระราชวินิจฉัย ก็ทรงให้ลดหย่อนผ่อนโทษลงแค่จำคุกตลอดชีวิต คนอื่นก็ได้รับโทษน้อยลง ลดหลั่นกันลงไป แล้วมีการลดโทษลงมาอีกเรื่อยๆจนพ้นโทษกันหมดทุกคนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ หนึ่งปีก่อนจะประชวรและเสด็จสวรรคต

     จุดมุ่งหมายเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจ แต่ทรงเห็นว่าประชาชนทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจในระบอบนี้เพียงพอ เมื่อเริ่มทดลองสอนประชาธิปไตยด้วยการสร้างดุสิตธานี ก็ทรงส่งแบบจำลองการสร้างไปให้นักโทษที่ถูกคุมขังได้มีส่วนร่วมในการช่วยสร้างด้วย ม.ล.ปิ่น มาลากุลผู้เป็นข้าราชบริพารรุ่นเยาว์ในรัชกาลที่ ๖ได้บันทึกไว้ภายหลังว่า

      " ภายหลังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าว่า เขาเหล่านั้นซาบซึ้งในพระบรมราโชบายเป็นอย่างยิ่ง และช่วยกันทำด้วยความจงรักภักดี ทั้งเกิดความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด เพราะเท่ากับพระราชทานชีวิตให้เกิดใหม่ ได้ทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลทุกปี"
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 551  เมื่อ 21 ก.ค. 10, 16:34

เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วดีจริงเหรอคะ ฮืม

ทำไมคนไทยไม่ว่าสมัยนั้นหรือสมัยนี้ ชอบที่จะตามอย่างตะวันตกคะ
เฮ้อ คิดๆไป ก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ใช่มั๊ยคะ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 552  เมื่อ 21 ก.ค. 10, 21:01

ร.ศ. 130  ปัจจัยแวดล้อมไม่หนุนนายทหารกลุ่มนี้ครับ     พระบารมีในระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังแข็งแกร่งอยู่มาก   เหตุผลของกลุ่มกบฏก็หนักไปทางเจ็บแค้นส่วนตัวเสียมากกว่าส่วนรวม       ผมมองงั้นนะครับ  มันเลยไปไม่รอด
ส่วนพ.ศ.  2475  ปัจจัยแวดล้อมหนุนมากครับ  อ่านในกระทู้นี้แล้วจะเข้าใจ     ผมยังคิดต่อไปว่าถ้าเขาทำในปี 2475 ไม่สำเร็จ    เป็นไปได้ว่าเกิดมีอีกในปีต่อๆมาก็ได้ครับ   
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 553  เมื่อ 25 ก.ค. 10, 01:19

ไม่ได้มาเรียนอาทิตย์เดียวเอง ยกเลิกคลาสไปแล้วหรือคะ  ร้องไห้

นักเรียนยังรอความเมตตาค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 554  เมื่อ 25 ก.ค. 10, 07:48

อาจารย์ของคุณ Sirinawadee ไปเปิดวิชาใหม่ ให้เรียนกันหามรุ่งหามค่ำ อยู่ที่นี่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0
เชิญติดตามได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 35 36 [37] 38 39 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง