เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329639 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 510  เมื่อ 13 ก.ค. 10, 21:13

อ่านมาถึงตอนนี้ ห้าร้อยกว่าความคิดเห็น แล้วใจหายครับ

จบแล้วหรือนี่ อายุกระทู้นี้ยังไม่มากเลย

เรียนทุกท่านตามตรงว่า ผมนิยมชมชอบ ตามอ่านเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ ไปยาวๆครับ
อ่านไปคิดตามไป เปิดโลกจินตนาการย้อนยุคไปหลายทศวรรษ

(ผมเกิดไม่ทันครับ จึงสนใจเป็นพิเศษ)


แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องขอบพระคุณ ท่านเจ้าของกระทู้ และกูรู ทุกๆท่านที่เข้ามาเสริมนะครับ
อยากให้รวมเล่มพิมพ์จังเลย
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
yanang
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 511  เมื่อ 13 ก.ค. 10, 21:20

ขอบพระคุณอาจารย์ทุก ๆ ท่านจากใจเลยค่ะ

กระทู้นี้ทำให้หูตาสว่างขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวเอง
ที่เมื่อก่อนต้องการรู้เรื่องอะไรซักเรื่อง ก็ไปหาหนังสือมาอ่าน อ่านจบเพียง 1 เล่ม
ก็เป็นอันบอกตัวเองว่า  เรารู้เรื่องนั้น ๆ แล้ว แต่พอได้อ่านกระทู้นี้ เห็นได้ชัดเลยว่า
คนเราจะพูดได้ว่ารู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนั้น ต้องค้นคว้า วิเคราะห์ และสังเคราะห์
ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง ยิ่งถ้าได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคน
ที่สนใจในเรื่องเดียวกันแล้ว  ไม่ต้องบรรยายถึงความสุขและความสนุกที่ได้รับเลย
ว่ามันจะมากมายเพียงใด  

ขอลงทะเบียนเป็นลูกศิษย์ในคลาสต่อ ๆ ไปเลยนะคะ  ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 512  เมื่อ 13 ก.ค. 10, 21:50

อ้านเรื่องสี่ทหารเสือแล้ว  มีข้อที่น่าสังเกตที่อยากจะฝากไว้ในกระทู้นี้ คือ เมื่อเริ่มปรับปรุงกองทัพบกในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  นักเรียนไทยได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมัน  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยที่สุดในโลก  เคร่งถึงขนาดที่ว่า นายทหารทุกคนแม้อยู่ในบ้านยังต้องแต่งเครื่องแบบทหาร  แต่น่าแปลกที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในช่วงรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖  นักเรียนนายร้อยเยอรมันแทบไม่มีบทบาทในกองทัพเลย  เริ่มจากกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการและเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นนักเรียนนายร้อยเดนมาร์ค  เมื่อเสด็จในกรมสิ้นพระชนม์ลง  ตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมตกอยู่แก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) ผู้ที่ไต่เต้ามาจากพลทหาร  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ อสัญกรรมลง  เสนาบดีคนถัดมา คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร) ผู้จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก  ส่วนตำแหน่งเสนาธิการทหารบกนั้นตกแก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นักเรียนนายี้อยรัสเซีย  เมื่อทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทิวงคตแล้ว  ล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๖ จึงทรงย้ายทูลกระหม่อมบริพัตร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากเสนาบดีทหารเรือมาเป็นเสนาธิการทหารบกซึ่งปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการทหารบก  นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพ

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ทูลกระหม่อมบริพัตรย้ายไปเป็นเสนาบดีกลาโหม  แล้วย้ายไปเป็นเสนาบดีมหาดไทย  โดยมีพระองค์เจ้าบวรเดช นักเรียนนายร้อยเยอรมัยมาเป็นเสนาบดีกลาโหมแทน  ในช่วงรัชกาลที่ ๗ นี้เองที่นักเรียนนายร้อยเยอรมันเริ่มมีบทบาทในกองทัพมากขึ้น  จนสี่ทหารเสือก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และนักเรียนนายร้อยเยอรมันก็มาห้ำหั่นกันในกบฏบวรเดช  จนถูกตา ป. คว้าพุงปลาไปกิน

อังกฤษ รัสเซีย เดนมาร์ก เยอรมัน สยาม แบ่งตำแหน่งกันไปมา สุดท้ายฝรั่งเศสแย่งพุงปลาไปกิน แถมยังแย่งชนิดที่เรียกว่า เยอรมันตายยกเข่งด้วยสิครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 513  เมื่อ 14 ก.ค. 10, 14:19

ขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 514  เมื่อ 14 ก.ค. 10, 15:32

ไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์สนุกอย่างนี้มาก่อนครับ  ถ้าหากว่ารวมเล่มได้ก็ดีนะครับ

นอกจากเข้ามาขอบคุณท่านอาจารย์ทั้งหลายแล้ว   หวังว่าคงไม่ขอมากไป คือผมยังค้างคำถามในใจอยู่อีกข้อ
อยากรู้ชะตากรรมของสี่ทหารเสือครับ
รู้ไปแล้วสาม  พระยาทรงไปเสียชีวิตด้วยโรค(ที่ส่อว่า)กล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่เขมร    พระยาพหลเป็นอัมพาต  เส้นโลหิตแตก     พระยาฤทธิ์อัคเนย์หันไปถือศีลเข้าวัดเข้าวา แล้วตายไปตามอายุขัย     
เหลือพระประศาสน์พิทยายุทธ์    ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง    ท่าน Navarat  จะเฉลยให้หายข้องใจได้ไหมครับ

ผมขอกราบลาไปเข้าห้องเรียนใหม่เรื่องหลวงอดุลเสียทีครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 515  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 07:12

^
เรื่องของพระประศาสตร์ เขียนไว้ในกระทู้ตอนต้นๆแล้วนี่ครับ ลองย้อนไปดูใหม่

ส่วนพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ผมเคยปรารภว่า กระทู้นี้จะไม่สมบูรณ์ถ้ายังหาไม่ได้ชัดว่า ชะตากรรมท่านต้องไประหกระเหิรอย่างไรในมลายูและสิงคโปร ก่อนที่จะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนหลังการประกาศนิรโทษกรรมนักการเมือง บัดนี้ผมได้หนังสือเล่มเดียวที่มีประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับท่านโดยสมบูรณ์มาอยู่ในมือแล้วอย่างฟลุ๊กๆ

หนังสือนี้หนาพอสมควรและกระดาษเหลืองกรอบ ต้องค่อยๆพลิกอ่านอย่างระมัดระวัง เขียนโดยคอลัมนิสต์ที่ติดตามและมีโอกาสเข้าไปทำตนสนิทสนมหลังจากที่ท่านละกิจกรรมทางโลกแล้ว แม้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเบื้องหลังตั้งแต่การปฏิวัติแบบลักไก่ของทหารเสือทั้งสี่ ตามแผนเสธฯ.ของพระยาทรง และการแย่งชิงอำนาจที่ได้มาระหว่างแกนนำของคณะราษฎรดังที่ผมเขียนไปแล้ว ก็มีบางเรื่องที่น่าสนใจ ควรนำมาลงเพิ่มไว้ด้วย ผมจะค่อยๆย่อยมาลงเท่าที่สำคัญ ท่านผู้อ่านโปรดติดตามในกระทู้นี้ต่อไปนะครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 516  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 07:17

ความในคคห.117
อ้างถึง
ก่อนหน้าที่หลวงพิบูลจะลงมือปฏิบัติการกวาดล้างบุคคลน้อยใหญ่ที่ตนระแวง วันหนึ่งพระยาฤทธิ์อัคเณย์กำลังปฏิบัติราชการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่ที่กระทรวงเกษตรธิการ พ.ต.ท.ขุนศรีศรากร (ชลอ  ศรีธนากร) ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และ ลูกน้องอีกคนหนึ่ง  ได้เข้าพบเพื่อแจ้งว่า “เจ้าคุณพหลให้เชิญใต้เท้าไปประชุมที่วังปารุสกวันเดี๋ยวนี้”

พระยาฤทธิ์ฯรู้สึกงงเล็กน้อย เมื่อพบกันแล้วพระยาพหลบอกว่าหลวงพิบูลจะเอาเรื่อง พระยาฤทธิ์เองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีอยู่ เพราะหลวงพิบูลเคยเรียกไปกล่าวหาตรงๆว่ามีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีพยานหลักฐานว่า ได้ลงนามในฐานะรัฐมนตรีเกษตร อนุมัติให้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ เรืออากาศโทม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน  ท่านก็บอกว่าอ้าว นั่นเป็นมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้เข้ารับงานราชการได้ไม่ใช่เหรอ ท่านก็อนุมัติไปตามขั้นตอนที่ข้างล่างเสนอมา ไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว ไม่เคยพบกันด้วยซ้ำ แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งท่านไม่ได้แก้ตัว เพราะหลวงพิบูลบอกว่าท่านสนิทสนมกับพระยาทรง ก็แล้วจะให้ท่านทำอย่างไร พระยาพหลบอกว่าในเมื่อเขาจะลงมือกันอยู่แล้ว ท่านก็ขอไม่ได้ ให้พระยาฤทธ์รีบหลบไปต่างประเทศก่อนดีกว่า ว่าแล้วก็ให้นายตำรวจสันติบาลจัดการส่งให้พระยาฤทธิ์ออกไปปีนังอย่างปลอดภัย  และเพื่อจะให้ออกไปแล้วไม่ย้อนกลับมาอีก รัฐบาลจึงแถลงการณ์ว่าพระยาฤทธิอัคเณย์ผู้ต้องหาคดีกบฏหนีไป ผู้ใดจับมาได้จะให้ค่าหัว 1หมื่นบาท พระยาฤทธิ์ก็เลยไม่กล้ากลับเมืองไทยจนกระทั่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

ข้อเท็จจริงจากหนังสือ “ชีวิตทางการเมืองของพระยาทรง” ท่านเล่าไว้คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนตรงที่ว่า เมื่อเข้าไปแล้วในห้องนั้นมิได้มีเฉพาะพระยาพหลผู้เป็นเพื่อน หากมีทั้งหลวงประดิษฐ์ หลวงพิบูล หลวงธำรง และนายดิเรก ชัยนาม เป็นเลขานุการจดบันทึกการประชุม พอท่านนั่ง หลวงพิบูลก็พูดขึ้นว่าที่ประชุมให้เป็นผู้เจรจา ตนได้รับมอบหมายจากหลวงอดุล รองอธิบดีตำรวจให้เอาหลักฐานเกี่ยวกับพระยาฤทธ์มาให้ที่ประชุมพิจารณา แล้วก็ว่าไปตามใจความล้อมกรอบข้างบน

เรื่องสำคัญที่ขาดไปคือ หลวงพิบูลบอกว่าตำรวจมีหลักฐานว่าพระยาฤทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ตนถูกยิงที่สนามหลวงโดยฝีมือนายพุ่ม

นายพุ่มเป็นนักเลงกิ๊กก๊อกรับจ๊อบอยู่แถวสุพรรณ ติดคุกมาแล้ว7ครั้ง ตำรวจจับเป็นได้ทันทีและให้การว่ามายิงเพราะแค้นพี่ชายอาชีพโจรที่ถูกตำรวจจับตัดคอเสียบประจาน แต่โดนตำรวจใช้วิชามารไม่นานก็เปิดปากสารภาพ ได้ผู้ต้องหาหลายคนส่งฟ้องศาล ที่สุดแห่งคดีนี้ ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต พันตำรวจเอก พระยาธรณีธิเบศร์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรกลางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่ถูกคณะราษฎร ปลดออกจากราชการ แต่มีเหตุอันควรจึงลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต นายพุ่ม ทับสายทองมือปืนรับจ้าง พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ20ปีเพราะให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี

หลวงพิบูลบอกพระยาฤทธิ์ว่า ตำรวจสืบมาแล้วว่าพระยาธรณีเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับพระยาฤทธิ์ ท่านก็รับว่าจริง แต่ไม่สนิทกัน ทำงานไม่ได้พบกันเลย

หลวงพิบูลบอก มีรายงานตำรวจอีกฉบับหนึ่งว่า พระยาฤทธิ์ขึ้นเหนือไปปรึกษากับพระยาทรงเรื่องจะกบฏ
ท่านนั่งงงทบทวนเวลาตามที่ถูกกล่าวหาแล้วก็นึกขึ้นได้ว่าท่านไปตรวจราชการพร้อมคณะข้าราชการผู้ใหญ่กรมป่าไม้ที่เชียงราย เวลานั้นพระยาทรงไปพักร้อนที่กว๊านพะเยาเลยเจอกันในร้านอาหารโดยบังเอิญ แล้วทานข้าวด้วยกันเป็นโต๊ะใหญ่ มีนายทวี บุณยเกตุสมาชิกคณะราษฎรที่ติดตามไปในคณะก็นั่งอยู่ด้วย แล้วจะไปคุยกันเรื่องจะกบฏได้อย่างไร

หลวงพิบูลบอกว่า ถ้าอย่างนั้นในฐานะผู้ต้องหา ท่านก็ต้องไปสู้คดีในศาลเพราะตำรวจจะสั่งฟ้องแน่นอน แต่ในฐานะเป็นผู้ก่อการผู้ใหญ่ ที่ประชุมเสนอทางเลือก2ทางให้ก็คือ หนึ่ง ลาออกจากราชการแล้วเดินทางไปอยู่เมืองนอกเสีย หรือสอง ยอมขึ้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงในศาล ท่านย้อนถามว่า ศาลไหน หลวงพิบูลตอบว่า ศาลพิเศษที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นต่อไป ท่านเลยบอกว่า ถ้าเป็นศาลพิเศษละก็ ท่านลาออกแล้วไปอยู่ต่างประเทศดีกว่า

ตอนเลิกประชุมแล้วนั่นแหละ พระยาพหลจึงพูดกับพระยาฤทธิ์ว่า เสียใจด้วย ไม่มีทางจะช่วยได้ และตราบใดที่หลวงอดุลยังอยู่ ท่านเห็นจะไม่มีทางที่จะกลับบ้านได้
ขณะนั้น ท่านคิดถึงแต่ลูกชายที่สอบแข่งขันได้ทุนของทางราชการไปเรียนวิชาสัตวแพทย์ที่ฟิลลิปปินส์ ถามพระยาพหลว่า ถ้าพ่อโดนข้อหากบฏแล้ว จะเรียกลูกท่านกลับและให้ออกจากราชการด้วยไหม ที่ท่านถามอย่างนี้เพราะลูกๆของบรรดาผู้ที่มีโทษกบฏต้องออกจากมหาวิทยาลัย หรืองานราชการ ตามนโยบายคณะราษฎรที่ปฏิบัติอยู่ พระยาพหลบอกว่าไม่ และจะดูแลครอบครัวให้ด้วย

แต่หลังจากที่ท่านเดินทางไปแล้ว นายเสรี เอมะศิริก็ถูกเรียกกลับมาเดินเตะฝุ่นในกรุงเทพตามชะตากรรม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 517  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 13:08

เหตุการณ์ต่อมาหลังจากที่พระยาฤทธิ์เดินทางไปแล้วไม่กี่เดือน ก็มีการกวาดล้าง  จับกุมกันเป็นการใหญ่ และรัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาตัดสินคดีที่เรียกว่ากบฏพระยาทรงที่ท่านได้อ่านกันไปแล้ว คำฟ้องของตำรวจที่อัยการนำมาในศาลก็มาพาดพิงถึงท่านอีก โดยเบิกความว่าหลวงอดุลเรียกตัวพยานที่ให้การจนพระยาธรณีและนายพุ่มติดคุกคราวโน้นนั้น ไปสอบสวนอีกเพราะเชื่อว่าพยานยังปิดบังผู้เกี่ยวข้องคนอื่นอยู่ พยานก็ให้การใหม่ซัดทอดพระยาฤทธิ์ หลวงรณ(ที่หนีไปอยู่ในพนมเปญก่อนพระยาทรงเล็กน้อย) และจำเลยอื่นๆสองสามคนที่สุดท้ายศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิตหมด พยานอ้างว่าที่ตอนนั้นมิได้ให้การอย่างนี้เพราะกลัวอำนาจมืด นี่เห็นว่าตัวการใหญ่สองคนหนีไปต่างประเทศแล้วจึงได้กล้าเปิดเผยกับหลวงอดุล

ท่านผู้อ่านพิจารณากันเอาเองก็แล้วกันว่าจะเชื่อใครเป็นผู้มีอำนาจมืด ส่วนพระยาฤทธิ์ท่านบอกว่าท่านตัดสินใจถูก ถ้าคิดสู้คดีในครั้งนั้นก็มีหวังได้เป็นศพ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 518  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 13:14

พระยาฤทธิ์ยังดีกว่าพระยาทรง ตำรวจให้เวลาถึงสามวันที่จะเตรียมตัวออกเดินทาง ท่านจึงมีโอกาสสั่งเสียใครต่อใคร จนได้ข่าวว่าลูกน้องในกระทรวงเกษตรจะแห่มาส่งรัฐมนตรีกันครึ่งกระทรวง เห็นท่าจะไม่ดี ท่านเลยเผ่นออกจากกรุงเทพด้วยรถเร็วช่วงเช้า ไปนอนรอในหัวหินห้าหกชั่วโมงเพื่อต่อรถด่วนที่จะวิ่งไปถึงปีนังอันเป็นจุดหมายปลายทาง คนไปส่งท่านที่สถานีรถไฟเก้อกันเยอะ เลยทำให้ท่านถูกเขม่นหนักเข้าไปอีก

พระยาฤทธิ์ท่านลี้ภัยไปกับหลานชายอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่มีนายตำรวจสันติบาลที่คอยติดตามท่านอยู่ เป็นเงาตามไปด้วยจนถึงปลายทาง
ที่ปีนังท่านต้องพักโรงแรมอยู่สามสี่วันจึงหาบ้านเช่าได้ ด้วยความช่วยเหลือของขุนโรจนวิชัย นายทหารไทยในกองทัพของพระองค์บวรเดช หลังจากนั้นคุณหญิง ภรรยาของท่านจึงได้มาอยู่ด้วย

เมื่อหายใจหายคอปลอดโปร่งสักพัก ท่านจึงได้เดินสายไปเยี่ยมคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องลมสลาตันมาอยู่ที่ปีนังก่อนท่าน ท่านแรก เจ้าคุณมโนแสดงความรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นพระยาฤทธิ์ แต่พอฟังเรื่องแล้วก็ไม่พูดอะไร หลังจากนั้น ได้ขอติดตามพระยามโนไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทันทีที่ทอดพระเนตรเห็น ทรงมีรับสั่งว่าเราไม่พูดเรื่องการเมืองกันนะ หลังจากนั้นการสนทนาจึงเป็นแต่เรื่องสารทุกข์สุขดิบ จืดชืด เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่พระยาฤทธิ์ได้เข้าเฝ้าเจ้านาย ในขณะที่หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพลงข่าวครึกโครมว่า พระยาฤทธิ์ได้ไปเข้าเฝ้าเจ้านายองค์นั้นองค์นี้ รวมถึงไปบันดุงเพื่อเฝ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ด้วย ตามข่าวปล่อยของรัฐบาล

ว่ากันตามเนื้อผ้า ผู้ใหญ่ทุกท่าน เจ้านายทุกพระองค์คงต้องระแวงโดยธรรมชาติว่าอดีตแกนนำคณะราษฎรจะมาไม้ไหน อยู่ๆโผล่มาอ้างว่าทะเลาะกัน หากพูดอะไรมากไปแล้ว ปรากฏว่าเขาไม่ได้ทะเลาะกันจริง ก็คงเป็นภัยกับตนเองโดยไม่ใช่เรื่อง



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 519  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 14:45

คุณนวรัตนเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้วค่ะ  คุณบุ๊ค

ส่วนสี่ทหารเสือคนสุดท้อง คือ พระประศาสน์พิทยายุทธ

พระประศาสน์เป็นผู้ที่ถูกหลวงพิบูลหมายหัวอยู่ด้วยอีกคนหนึ่งเพราะเห็นว่าสนิทสนมกับพระยาทรงมาก หลวงประดิษฐ์รู้ข่าวก็รีบไปขอกับหลวงพิบูลในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เยอรมัน เลยรอดตัวไปได้อย่างฉิวเฉียด แต่ก็ได้พบกับชะตากรรมลำบากแสนสาหัสในระหว่างสงคราม และเมื่อเบอร์ลินโดนสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิดและปืนใหญ่ ลูกสาวเสียชีวิต ครอบครัวต้องพลัดพราก วันที่กองทัพรถถังของรัสเซียตลุยกรุงแตก พระประศาสน์มอบตัวและอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูต แต่ก็ถูกจับไปไว้ที่ค่ายกักกันเชลยศึกในไซบีเรีย ที่หน้าหนาวมีความเยือกเย็นขนาดลบ40 องศาใต้ศูนย์ โดยที่มีโอเวอร์โค้ทเพียงต้วเดียว ทรมานทรกรรมในนรกน้ำแข็งอยู่ถึง 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว กว่าจะเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้ก็หวุดหวิดความตายเต็มที และก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าขาดทุน ไม่มีเงินทอง บ้านช่องในเมืองก็ไม่มี ต้องไปอยู่ที่บ้านสวนที่บางซ่อน

ในบั้นปลายชีวิต ท่านกลับเข้ารับราชการได้รับการปลอบใจจากรัฐบาลใหม่ให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ก็กลายเป็นคนดื่มเหล้าจัดมาก จนป่วยเป็นโรคตับ และถึงแก่กรรมไปหลังจากนั้นไม่นาน

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 520  เมื่อ 15 ก.ค. 10, 14:46

เหตุที่กรมพระยาดำรงต้องทรงนิราศมาอยู่ปีนังนั้นก็ด้วยเหตุว่า ท่านประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่พระราชวังไกลกังวลร่วมกับเจ้านายหลายพระองค์หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเกิดกบฏบวรเดช รัฐบาลเรียกระดมพลทหารหัวเมืองรอบกรุงเทพไปช่วยปราบกบฏ ทหารเพชรบุรีภายใต้การนำของ พันตรี หลวงสิทธยานุการ (สิทธิ์ แสงชูโต) แข็งข้อ โดยให้เหตุผลว่าทหารของตนมีหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเตรียมนำกำลังทหารมาล้อมวังถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าจะไปกันใหญ่ เดี๋ยวพวกรัฐบาลจะมาหาว่าพระองค์เป็นหัวหน้ากบฏเสียเอง จึงทรงห้าม ให้ทหารเพชรบุรีอยู่เฝ้าถนนและทางรถไฟอยู่ในจังหวัดของตนอย่าให้ทหารฝ่ายใดทั้งนั้นล่วงล้ำลงมาก็แล้วกัน และเพื่อแสดงความเป็นกลาง และไม่ทรงปรารถนาให้ฝ่ายใดอ้างพระองค์เป็นประกัน จึงตัดสินพระทัยเสด็จทางเรือ โดยเรือพระที่นั่งศรวรุณ ลำเล็กนิดเดียว มุ่งไปสงขลาในตอนค่ำ รอนแรมกลางทะเล3วัน3คืนจึงถึงที่หมาย เจ้านายที่มิได้โดยเสด็จทางเรือ มีสมเด็จกรมพระยาดำรง สมเด็จกรมพระยานริศ และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ที่ไปทางรถไฟเพื่อสมทบกับพระองค์ที่นั่นก็เจอเหตุการณ์ระทึกใจไปตลอดทาง รางรถไฟถูกถอดออกบ้าง แกล้งกักขบวนรถไว้บ้าง เพราะนายสถานีและพวกตำรวจเห็นว่าเป็นพวกกบฏ เกือบจะเกิดเหตุร้ายหลายหน

เมื่อปราบกบฏสิ้นแล้ว รัฐบาลก็หันมาเพ่งเล็งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและบรรดาเจ้านายทั้งนั้นว่าสนับสนุนฝ่ายกบฏอยู่ดี พอหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ถูกเชิญไปให้การในข้อหากบฏ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสะเทือนพระราชหฤทัยมาก ถึงกับในที่สุด ทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ และเสด็จไปประเทศอังกฤษ ส่วนกรมพระยาดำรงทรงเลือกเสด็จไปประทับที่ปีนัง จนถึงปลายปีพ.ศ.2485 จึงได้เสด็จกลับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 521  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 07:51

คนไทยอื่นๆที่พระยาฤทธิ์ได้พบก็คือพระประศาสตร์ผู้ถูกเนรเทศที่โชคดีกว่าเพื่อนเพราะหลวงประดิษฐ์ขอไว้ให้ส่งไปเป็นทูตในเยอรมัน จะว่าโชคดีก็ไม่ถูกทีเดียวเพราะเป็นระหว่างสงคราม ในที่สุดก็เกือบตายดังที่ผมเล่าในกระทู้บนๆแล้ว การพบกันครั้งนี้ได้ก็เพราะพระประศาสตร์นั่งรถไฟจากกรุงเทพมาลงเรือโดยสารที่ปีนัง จึงได้มีโอกาสติดตามข่าวสารการเมืองว่ามันเกิดอะไรขึ้น พระประศาสตร์บอกว่านี่เป็นขั้นเริ่มต้น เชื่อว่าหลวงพิบูลจะทำการกวาดล้างใหญ่ในเร็วๆนี้

นอกจากนั้นก็ได้พบนักโทษการเมืองสมัยกบฏบวรเดชที่หนีมาก่อนบ้าง ที่ถูกเนรเทศมากักขังไว้ที่ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา แต่หนีมาได้บ้าง เช่น พระยาศราภัยพิพัฒน์ นายหลุยส์ คีรีวัต พระยาสุรพันธ์เสนี โหรแฉล้ม เลี่ยมเพชรรัตน์ ขุนอัคนีรัถการ ไม่นานพระยาเสนาสงคราม(ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) นายทหารคนสำคัญของฝ่ายพระองค์บวรเดชก็ย้ายจากอินโดจีนฝรั่งเศสมาอยู่ที่ปีนังอีกคนหนึ่ง พระยาเสนามีบาดแผลที่คณะปฏิวัติยิงเมื่อ24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นศัตรูคู่แค้นกับคณะราษฎร์  เมื่อพบกันใหม่ในสถานภาพเช่นนี้ พระยาฤทธิ์ได้ขอขมาลาโทษ และพระยาเสนาก็เป็นชายชาติทหารพอที่จะอโหสิให้ เลิกแล้วไม่มีบาปต่อกัน

พระยาฤทธิ์โชคดีกว่าพระยาทรงที่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญอยู่ถึงเดือนละ600บาท มีคนไปรับแล้วส่งมาให้ได้4เดือน  การกวาดล้างใหญ่ได้เกิดขึ้นจริงๆตามคำทำนายที่พระประศาสตร์บอกไว้ก่อนขึ้นเรือไปเยอรมัน ปรากฏว่า รัฐบาลออกหมายจับพระยาฤทธิ์โดยตั้งเงินรางวัลจับเป็นไว้ถึง10000บาทในข้อหากบฏ เงินเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญก็ถูกตัด ไม่ได้รับตั้งแต่นั้น

ยังโชคดีที่ไม่มีใครบ้าจี้ มาจับตัวพระยาฤทธิ์ไปรับสินบนค่าหัว แต่ท่านก็ต้องผันตนเองไปเป็นพ่อค้า ขายของเล็กๆน้อยๆแต่ไม่ค่อยได้กำไร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 522  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 07:57

อยู่ที่ปีนังสองปี อังกฤษเริ่มไม่ไว้ใจคนไทยเพราะหลวงพิบูลไปตีซี้กับญี่ปุ่นผิดลูกหูลูกตา จึงสั่งให้ทั้งหมดยกเว้นบุคคลสำคัญให้3 นอกนั้นต้องไปอยู่สิงคโปร อยู่ได้อีกสองปีญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกทั่วแหลมทอง ตั้งแต่เมืองไทยไปยันมลายู ไทยหยุดรบตั้งแต่นกกระจอกยังไม่ได้กินน้ำ ทหารลูกพระอาทิตย์ก็มุ่งลงใต้ อังกฤษสู้พลางถอยพลาง โดยมีสิงคโปรเป็นปราการสุดท้าย
อีกเดือนเศษๆหลังหยุดยิงกับญี่ปุ่นไทยก็ประกาศสงครามกับอังกฤษ
 
นั่นเป็นข่าวร้ายอันคาดไม่ถึงของคนไทยที่นั่น อังกฤษถือว่าทุกคนเป็นชนชาติศัตรู จับคนไทยทั้งหมดสองร้อยกว่าคนไปขังไว้ในสถานกักกันเชลย รวมทั้งพระยาฤทธ์ด้วย แต่อยู่ได้10วัน พระยาศราภัยผู้ที่กำลังทำงานเป็นโฆษกของวิทยุอังกฤษในสิงคโปรได้ยื่นคำร้อง ขอให้อังกฤษปล่อยผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นผลสำเร็จ คนไทยที่เหลือต้องถูกคุมขังอยู่อีกห้าสิบกว่าวันก็ถูกปล่อยเป็นอิสระโดยกองทัพญี่ปุ่น หลังการใช้แสนยานุภาพทางอากาศถล่มสิงคโปรพอเบาะๆ อังกฤษก็ยกธงขาวยอมแพ้โดยดี

พระยาฤทธ์บอกว่าทหารอังกฤษแท้ๆอยู่ในสิงคโปรไม่เท่าไร ส่วนใหญ่เกณฑ์มาจากเมืองขึ้น ที่หน้าเป็นฝรั่งก็พวกออสซี่ หน้าเป็นแขกโพกผ้าก็มาจากปัญจาบ พวกแขกไม่อยากรบเพราะญี่ปุ่นประกาศว่า หากชนะสงครามจะปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษมาร่วมวงไพบูลย์ของชาวเอเซีย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 523  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 08:18

ระหว่างสงคราม ข้าวยากหมากแพงอย่างหนัก ปกติสิงคโปรและมลายูต้องพึ่งข้าวจากพม่าและไทยอยู่แล้ว ในช่วงรบกัน คมนาคมสะดุด สิงคโปรขาดแคลนหนัก พระยาฤทธิ์อาศัยใบบุญของราชนาวีที่นำเรือไปรับน้ำมันที่สิงคโปรมีกำหนดเป็นปกติ ทหารเรือใจดีเห็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในสภาพน่าสลดใจก็แบ่งข้าวให้กิน แต่ก็พออยู่ได้แบบประทังไปวันหนึ่งๆ อาศัยอยู่คนเดียวในกระต๊อบหลังคามุงจากย่านชานเมือง สภาพชีวิตใกล้ขอทานเข้าไปทุกที

พระยาฤทธิ์ก็ได้รับสถานภาพของอิสระชนเหมือนนักโทษการเมืองทั้งหลายในเมืองไทย เมื่อรัฐบาลนายควงประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในปลายสงคราม

โดยไม่รอช้าท่านรีบจับรถมุ่งหน้าสู่บ้านเกิดเมืองนอน มีหนุ่มสิงคโปรลูกจีนจะเข้าไปหาญาติในเมืองไทยร่วมเดินทางเป็นเพื่อนช่วยหิ้วของให้ เพราะหวังจะอาศัยบารมีท่านในเรื่องความสะดวก ทั้งสองมุ่งหน้าไปเคด่ะห์ในมลายูก่อน ขณะนั้นชื่อไทรบุรี ญี่ปุ่นยกให้กลับมาเป็นของไทย เพื่อขอพบท่านข้าหลวง ออกปากขอยืมเงิน500บาทเป็นค่าเดินทาง ท่านข้าหลวงก็ดีใจหาย ให้ท่านพักฟื้นที่นั่นสองสามวันแล้ว ก็ฝากท่านเข้ามากับขบวนรถไฟที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ ได้รับความสะดวกขึ้นมาก
พระยาฤทธิ์หอบข้าวหอบของเข้าบ้านตนเองท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคน เพราะไม่ได้รับข่าวคราวอะไรจากท่านเลยมานานนม  รวมเวลาที่ไปตกทุกข์อยู่ทั้งหมดร่วมเจ็ดปี

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงพาดหัวในวันรุ่งขึ้นว่า “เสือ24มิถุนาเข้าเมืองไทยแล้ว”


บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 524  เมื่อ 16 ก.ค. 10, 08:53

สิ่งที่ผมอยากรู้มากที่สุดคือ หาก ๔ ทหารเสือคณะราษฎร์ ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน จะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนทำเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง