กระทู้นี้มีแม่เหล็ก ดึงผู้ไม่ประสงค์แสดงตัวเข้าสมัครสมาชิกได้ ๒ คนแล้ว หวังว่าคงจะมีอีก

อยากฟังเรื่องพระยาสุรพันธ์ ยังไม่มีเวลาไปค้นประวัติของท่าน ขอเชิญคุณ Karen เล่าก่อนนะคะ
เรื่องชาติพันธุ์วรรณา ถ้ามีเวลาจะย้อนกลับไปหยิบพระอภัยมณีมาปัดฝุ่นเล่าต่อ เพราะยังบรรยายชาติพันธุ์ไม่จบ
ขอต่อจากที่เล่าค้างไว้
*******************
อ่านมาถึงค.ห.๔๙ อาจมีคนนึกว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงประมาทเกินไป ที่ไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้ากบฏขึ้นมาจริงๆ ทั้งที่มีรายงานลับแจ้งเข้ามาล่วงหน้า
ฝ่ายที่จงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ออกจะเคืองๆท่านอยู่ ว่าถ้าสั่งจับพวกนี้เสียแต่แรก เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก็จะไม่เกิดเรื่องใหญ่โตขนาดนี้
ตำรวจคนหนึ่งทูลท่านหญิงพูนฯ ว่า
" พิโธ่ เราตามมันมาตั้ง ๓-๔ เดือนแล้ว ท่านไม่เชื่อได้! ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับทูลกระหม่อมแล้ว กระหม่อมจะไม่สงสารเลยจนนิดเดียว"
คำตอบของสมเด็จฯกรมพระนครสวรรค์นั้น จับใจยิ่งนัก
" ก็เราเคยฝึกหัดมาให้เชื่อในเกียรติของยุนิฟอร์ม"และ
" ฉันอาจจะทำผิดได้ดังคนสามัญทั้งหลาย แต่ฉันไม่เคยทำชั่ว!"ผลจากการที่ทรง "เชื่อในเกียรติของยุนิฟอร์ม" ก็คือทรงถูกจู่โจมเข้าจับกุม และคุมขังอยู่ในตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยฝีมือนายทหารซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา นั่นเอง
จากนั้น กลุ่มนายทหารผู้ก่อการฯ ก็ปรึกษากันว่า จะจำคุกท่านตลอดชีวิต และริบทรัพย์สินทั้งหมด เรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงขอร้อง ผ่อนผันให้ลดโทษลงเป็นเนรเทศและริบวังบางขุนพรหมเป็นของรัฐบาล ทั้งที่วังนี้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แท้ๆ
พระยามโนฯ และพระยาพหลฯ ยินยอมตามนี้ แต่ทหารหนุ่มๆไม่ยอม ต้องเจรจากันอยู่นานถึงได้ตกลงกันว่าเป็นโทษขั้นเนรเทศและริบวังบางขุนพรหม
เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ - ผู้ทรงอยู่ในฐานะจะสืบราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๖ ด้วยได้อีกพระองค์หนึ่ง - ผู้ทรงสำเร็จวิชานายทหารจากเยอรมัน เช่นเดียวกับพันเอกอีกหลายๆคนที่ก่อการปฏิวัติ - ผู้ทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทย มีอำนาจเป็นที่คร้ามเกรงกันทั่วสยาม - ผู้ซึ่งทรงเชื่อในเกียรติของทหารด้วยกัน ก็ต้องเสด็จออกจากสยามอย่างกะทันหันในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕ พร้อมด้วยพระชายา พระโอรสธิดา มีเงินติดพระองค์ไป ๙๐๐๐ บาท นั่งรถไฟเที่ยวพิเศษ คือไม่แวะสถานีไหนเลย จากกรุงเทพลงไปทางใต้จนถึงชายแดน จากนั้นทหารผู้ควบคุมก็ปล่อยให้ลงจากรถ แบบปล่อยทิ้งเอาไว้ที่นั่น มิได้อินังขังขอบด้วยอีกว่าจะทรงไปที่ไหนอย่างไร
เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ เสด็จออกจากชายแดนสยามไปถึงปีนัง ทรงพำนักอยู่ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง หาที่ลี้ภัยจนกระทั่งตกลงพระทัยว่าจะไปประทับที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศดี ไม่ต่างจากสยามนัก และค่าครองชีพก็ไม่แพงเหลือบ่ากว่าแรงอย่างในยุโรป
ณ เมืองบันดุง ทรงสร้างตำหนักที่ประทับขึ้น แล้วทรงอยู่ที่นั้นตลอดพระชนม์ชีพ มิได้มีโอกาสเสด็จกลับมาเห็นบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย
สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๗ ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา พระชนม์ ๖๓ พรรษา