เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329378 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 18:54

เห็นค.ห.คุณวีมี ทำให้ต้องย้อนกลับไปอ่านรายงานการประชุมวันที่ ๗-๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ อีกครั้ง  ไม่มีตอนไหนที่นายปรีดี พนมยงค์คัดค้าน  ท่านเป็นเสียงหนึ่งที่ยอมตกลงว่า ให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
ความคิดของนายปรีดี เน้นหนักไปทางลงรายละเอียดว่า  ถึงยอมก็ต้องยอมแบบมีเงื่อนไข   ไม่ใช่ยอมไปหมดแล้วแต่ญี่ปุ่นจะกำหนดมา
ถ้าทำสัญญากัน ก็ควรจะเป็นสัญญาผูกมัดญี่ปุ่นฝ่ายเดียว   ไม่ใช่ไทยต้องไปร่วมผูกมัดตัวเองด้วย    
พูดง่ายๆว่า ยอมเรื่องให้กองทัพบุกเข้ามาโดยไม่ขัดขวาง  แต่ไม่ได้หมายความรวมไปว่าเรายอมเรื่องอื่นด้วย  

ขอลอกคำพูดมาให้อ่านกันนะคะ
"ต้องไปซ้อมความเข้าใจกับเขาอีกว่า  ที่พูดกันนี้้เฉพาะในเรื่องทางทหารเท่านั้น     ส่วนทางอื่นนั้น  เขาจะต้องเคารพเรา  และจะมาเอาการเศรษฐกิจการคลังด้วยนั้นไม่ได้  นี่ต้องซ้อมความเข้าใจให้เขาเข้าใจเสียด้วย"

แต่มีการประชุมในครั้งหลังๆ  ที่นายปรีดีมีท่าทีไม่เห็นด้วย เป็นอีกเรื่องหนึ่งค่ะ จะค่อยๆแกะออกมาให้อ่านกันอีกที

อ่านจากที่คุณวีมีเล่า   ดิฉันก็คิดว่า จอมพล ป.คงไม่ได้ไปเจรจากับอังกฤษฝ่ายเดียวหรอก  น่าจะเจรจากับญี่ปุ่นมาก่อนหน้านี้ด้วย   เพราะตัวท่านเองก็รับออกมาในที่ประชุมเองในเรื่องนี้    ส่วนเรื่องเตรียมกองทัพให้พร้อม ปลุกใจประชาชนทุกวัน  น่าจะเป็นนโยบายทำตัวเก่งมากกว่าอย่างอื่น  แต่ปฏิบัติจริงๆเป็นไง อีกเรื่อง   เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังถึงเหตุผลนี้
เมื่อเกิดสถานการณ์ขั้นแตกหักต้องตัดสินใจว่าจะทำยังไง    อย่างแรกที่ค.ร.ม.คิด คือคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลก่อนอื่น    เพราะงั้น คนที่รู้ใจกันแล้ว ก็พูดได้เต็มปากว่า ยอมญี่ปุ่นเขาเถอะ

อย่างไรก็ตาม  การตัดสินใจของจอมพลป. ในขั้นที่ ๑ นี้  น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งกับรัฐบาลและประชาชน   เพราะคนไทยก็ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อมากกว่านี้    ส่วนญี่ปุ่นก็รักษาคำพูดไว้ดี คือไม่ข่มเหงโหดร้ายทารุณคนไทย อย่างที่เคยทำกับจีนและเกาหลี เป็นแผลบาดลึกมาจนทุกวันนี้
คนไทยทั่วไปถึงไม่ค่อยจะเกลียดญี่ปุ่นเท่าไร    หลังจากหายตื่นเต้นตกใจแล้วก็เริ่มค้าขายกับญี่ปุ่น  โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่ญี่ปุ่นซื้อไม่อั้น
ความรู้สึกไม่เกลียดญี่ปุ่น ทำให้ไทยไม่มีบาดแผลสงครามร้าวลึก อย่างในอีกหลายๆประเทศที่เจอพิษสงทหารญี่ปุ่น     เป็นเหตุให้เรื่องคู่กรรม เป็นที่ยอมรับในหมู่คนไทยด้วยดี   ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องของศัตรู     และทำให้ญี่ปุ่นก็ยินดีรับเรื่องนี้ไปเผยแพร่ เป็นตัวอย่างความดีของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา

แต่พอถึงการตัดสินใจขั้นที่ ๒ ของจอมพล ป.   ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข้อมูลแล้วรับไม่ได้   ไม่เห็นด้วยเลยถึงการร่วม "วงไพบูลย์" กับญี่ปุ่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 19:37

ผ่านมาอีก ๒ วัน  ถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔  คณะรัฐมนตรีก็ประชุมกันอีกครั้ง   คราวนี้สุ้มเสียงจอมพล ป. เห็นชัดว่าท่านยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข    จนอาจจะเรียกว่าท่านโปรญี่ปุ่นก็ว่าได้
เมื่อนายปรีดีรายงานด่วนว่าเกิดเรื่องขัดแย้งกันระหว่างศุลกากรกับญีปุ่นที่ท่าบี.ไอ.   เพราะญี่ปุ่นจะเข้าไปเอาสินค้าในคลังเอาไปใช้   ศุลกากรไม่ยอมก็ถูกญี่ปุ่นจับมัดไว้ทั้งคืน    ตอนเช้าเอาชะแลงไปงัดคลังสินค้า    ในเมื่อทางรัฐบาลสั่งลงไปว่าให้ยอม  จะเอาอะไรก็เอาไป  ทางศุลการักษ์ก็ยอม  เพียงแต่จะขอจดหีบห่อไว้เป็นหลักฐาน   ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมให้จด  ทุบตีเอาข้าราชการไทยบาดเจ็บไปสองคน  นายปรีดีบอกว่าถ้างั้นถอนเจ้าหน้าที่ไทยออกหมดเสียดีกว่า   ขืนมี ก็จะเกิดเรื่องกับญี่ปุ่นอีก

คำตอบของจอมพล ป. น่าอัศจรรย์มาก  ขอลอกประโยคเด็ดๆมาให้อ่านกัน

" เราควรจะนึกว่าสมัยนี้ กฎหมายก็ดี  ศีลธรรมก็ดี  เราพึ่งไม่ได้   เราต้องพึ่งอำนาจ....เมื่อเขาใช้อำนาจแล้ว   เราจะไปร้องว่าผิดกฎหมาย   เราจะไปร้องว่าผิดกฎนานาชาติ   เราจะไปร้องว่าผิดกฎศีลธรรมนั้น    ผมนึกว่าปัจจุบันนี้เป็นการพ้นสมัย    เพราะฉะนั้นในการที่ข้าราชการของเราถูกข่มเหง  หรือได้ถูกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น   เราก็ควรจะนึกว่าอำนาจของเรายังไม่มีพอ"
" ...เช่นเขาบอกว่าเขาจะมาเอาโรงเรียนแห่งหนึ่งหรือสถานทูตอังกฤษนั้น   เขาจะใช้เป็นที่ทำงานของเขาละ   ถ้าจะเจรจากันในทางการทูต  มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ  แล้วเจรจาผ่านไปทางเซอร์โยไซอาร์ครอสบี้   อย่างนี้ผมเองก็เห็นว่าทำไม่ได้เหมือนกัน   เพราะฉะนั้นเมื่อทหารของเขาเข้ามาแล้ว  จะเอาที่ไหนเขาก็ไปยึดเอา   อย่างนี้เป็นของธรรมดา"
" แต่ถ้าจะมาถามต่อว่าต่อไปเขาจะปฏิบัติหรือไม่  และจะคาดคั้นเอากับผม    ผมก็ไม่รู้ใครจะตอบได้     ถ้าเวลานี้ผมมีกองทัพอยู่ในมือสักล้านคน   มีเครื่องบินสักหมื่นลำก็ตอบได้  นี่มันไม่มี"


ถ้าเห็นว่ายังไม่เด็ดพอ  มาฟังข้อความนี้  แล้วจะเข้าใจว่าที่ดิฉันบอกข้างบนนี้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลปลุกใจให้รักชาติ ออกวิทยุไม่เว้นแต่ละวันว่าให้สู้สุดใจขาดดิ้น   ทำไปทำไม
"ผมได้เคยพูดเมื่อก่อนนี้ว่า   เรารบตายอย่างชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นของวิเศษมีเกียรติยศ   แต่นั่นเป็นการปลุกขวัญประชาชน    เพราะว่าตามหลักการโฆษณาของรัฐบาลในเวลาก่อนมีเรื่อง  กับเวลามีเรื่องแล้วนั้น เป็นคนละอย่าง    เมื่อก่อนมีเรื่องนั้น เราจะต้องทำตัวเก่งด้วยประการทั้งปวง    เดี๋ยวนี้มันก็ผ่านไปแล้ว    ที่ว่าเราจะต้องต่อสู้จนคนสุดท้าย ก็ไม่มีชาติไหนเลยที่สู้่จนคนสุดท้าย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 21:34

ยกคำพูดท่านมาอีกครั้ง
" ใครจะเป็นคนกู้(ชาติ) กว่าจะมีสมเด็จพระนเรศวรส่งเข้ามาสักคนหนึ่ง  และการกู้ชาติในสมัยนี้เป็นของที่ยาก    เพราะฉะนั้นผมนึกว่าที่ตกลงไปแล้วนั้นเป็นของดีที่สุด"
" ถ้าเราไปดื้อดึงเข้า  ชาติของเราตายแล้วก็จะไม่มีวันฟื้น   ถ้าหากว่าเราได้ผ่อนผันคล้ายๆว่าพายุแรงมาเราก็ผ่อนโอนไป  อย่าให้ต้นไม้ถึงกับหักได้   ต้นไม้นั้นยังคงอยู่นี้  ถ้าเปรียบกับต้นไม้ และต่อไปข้างหน้า ลูกมันก็อาจจะออกมาซึ่งเราจะเก็บผลกินได้อีก"
"...ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่"


ถ้าท่านจอมพล ป. คิดว่ารัฐบาลคืออันหนึ่งอันเดียวกับชาติ  ข้างบนนี้ เปลี่ยนคำว่าชาติเป็นรัฐบาล เราก็คงพอเข้าใจความหมายได้

เล่ามาชักจะเครียด  ขอนำรำวงมาตรฐานมาคั่นโปรแกรมสัก ๑ ค.ห. ค่ะ
เนื้อเพลง คือการปลุกใจ ตามนโยบายของจอมพล ป.   



บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 21:43

ประทับใจคำพูดของท่านจอมพลค่ะ

..คนที่เกิดมาเป็นผู้ชายอาจจะไม่ได้มีความเป็นลูกผู้ชายไปเสียทุกคนนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 22:12

      มีคำพูดของจอมพล ป. อีกตอนหนึ่งที่ดิฉันคิดแปดตลบแล้ว ยังไม่เห็นด้วย     เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ตอนนายปรีดีมาฟ้องว่าญี่ปุ่นไปบุกคลังสินค้า ทำร้ายเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์  
      จากรายงานการประชุม เข้าใจว่าในระยะเริ่มแรกจะมีข่าวเข้ามาเป็นระยะ ว่าญี่ปุ่นทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของคนไทยบ้าง  จอมพลป.ท่านก็คงได้รับฟังข่าวพวกนี้   ท่านก็เลยพูดในที่ประชุมค.ร.ม. ว่า ที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นไปซื้อขนมแล้วไม่ให้สตางค์  ไปกินเบียร์แล้วไม่ให้สตางค์   ไปเที่ยวผู้หญิงอย่างว่าแล้วไม่จ่ายเงิน  ทั้งหมดนี้ท่านจอมพล เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย  พูดไปก็ไม่ดี ไม่ควรพูด เพราะ...
     " จะทำให้คนที่อ่อนการศึกษาของเราเองมีความเคียดแค้น     เพราะคนอ่อนการศึกษานั้นแกไม่เห็นการใหญ่ๆ    แกเห็นแต่งานชิ้นเล็กๆ   ไม่ใช่ว่าผมจะว่าพวกสามล้ออ่อนการศึกษา  แต่สามล้อนั้นถ้าคนญี่ปุ่นขึ้นแล้วไม่ให้สตางค์ นั่นเป็นปัญหาเป็นตายของแกทีเดียว     ตัวอย่างเช่นนี้เป็นปัญหาเป็นตายสำหรับคนชนิดหนึ่ง    แต่ปัญหาสำหรับรัฐบาลนั้น  การที่เราจะกู้ชาติรักษาชาติของเรานั้นไม่ใช่เป็นปัญหาที่เป็นตายอะไร   เป็นปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่.."
    ก็ตอนปฏิวัติกันเมื่อปี ๒๔๗๕   ท่านและคณะราษฎร์ก็ประกาศอุดมกาณ์ให้ประชาชนได้เป็นใหญ่ไม่ใช่หรือ   ทำไมปัญหาของประชาชนคนขี่สามล้อจึงกลายเป็นปัญหาเล็กไม่ควรเก็บมาคำนึงถึงไปได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 09:41

ในรายงานการประชุมครั้งเดียวกันนี้  จอมพล ป. พูดยาวมาก   ถอดออกมาได้หลายหน้ากระดาษ   มีอีกตอนที่ท่านพูดไว้น่าสนใจมาก
คือ ท่านก็ออกคำสั่งเรื่องชาวญี่ปุ่นบุกเข้าไปในสถานที่ราชการว่า
๑ ให้ข้าราชการไทยห้ามเขา บอกว่ามันผิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับแม่ทัพญี่ปุ่น
๒  ถ้าญี่ปุ่นขืนจะเข้าไปให้ได้  ให้บอกว่าไปตกลงกับคณะกรรมการไทย-ญี่ปุ่นที่ตั้งขึ้นเสียก่อน
๓ ถ้ายังไม่ยอมฟัง ก็ปล่อยให้เข้า แล้วรายงานมาที่นายกรัฐมนตรี

ก็นับว่าเป็นหลักการที่ดี มีระเบียบแบบแผนทางปฏิบัติ  อย่างน้อยข้าราชการไทยจะได้ไม่งงงวยว่าควรทำตัวยังไงดี    คลังสินค้า ของรับผิดชอบของตัวเองแท้ๆ ญี่ปุ่นบุกเข้ามาเอาชะแลงงัดตามใจชอบ  ปล่อยตามสบาย  เดี๋ยวข้าราชการก็โดนข้อหาผิดวินัย ทำของหลวงหาย ถูกตัดเงินเดือนหรือไล่ออก     แต่ถ้าท่านนายกออกกฎให้ชัดเจน  ข้าราชการก็จะได้หายใจโล่งอก

แต่ท่านจอมพล ป. ท่านไม่ได้หยุดแค่ออกกฎ   ท่านพูดต่อไป  ฟังแล้วก็คงมีบางคนในคณะรัฐมนตรีสะอึกไม่มากก็น้อย    ขนาดดิฉันอ่านรายงานการประชุมเมื่อ ๖๙ ปีให้หลัง ยังรู้สึกว่าแปลกมากๆ

" คือถ้าใครทำรุนแรงกับญี่ปุ่นในเวลานี้   คนนั้นก็เท่าๆกับขายชาติ  ไม่ใช่คนรักชาติ     ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าผมจะชอบเขา   ความจริงผมก็ชอบอยู่แต่กับเมืองไทย    แต่ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า   ถ้าใครไปทำรุนแรงกับญี่ปุ่น ก็เท่ากับเป็นการขายชาติ"
" ในเวลานี้เราจะต้องผูกมิตรกับญี่ปุ่นเป็นของสำคัญ    ถ้าเปรียบเหมือนเรานั่งในบ้าน   ไฟจะไหม้ก็ไหม้ที่หน้าบ้านของเราก่อนที่อื่น"


ถ้อยคำของจอมพล ป.  ทำให้ดิฉันนึกถึงฉากหนึ่งใน"สี่แผ่นดิน" ขึ้นมาได้  เป็นเหตุการณ์ในแผ่นดินที่ ๔ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา  ญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยได้แล้ว

คุณเสวี ลูกเขยของพลอย พูดว่า
" เวลานี้ญี่ปุ่นกำลังตีฟิลิปปินส์ของอเมริกัน และกำลังเข้าโจมตีมลายูของอังกฤษ   จากนั้นจะไปพม่าและชวา  เกาะบอร์เนียวและอินเดีย  เขาเข้าตีทุกด้านพร้อมกันหมด....ในเอเชียนี้   ต่อไปก็จะมีแต่ญี่ปุ่นกับเราเท่านั้น  ที่จะเป็นชาตินำ  เพราะเราไหวตัวทัน  เข้ากับเขาเสียแต่แรก  ใครไม่ร่วมมือกับญี่ปุ่นเวลานี้เท่ากับไม่รักชาติ"
ตาอั้นเอามือตบโต๊ะอย่างแรง แล้วพูดว่า
" มากไปเสียแล้วละ เสวี   กันรู้แล้วว่าเสวีเป็นพวกญี่ปุ่น   แต่อย่าเที่ยวว่าคนอื่นเขาไม่รักชาติ   ใครๆก็รักชาติด้วยกันทั้งนั้น   และคนที่เขารักชาติจริงๆ เขาก็จะต้องว่าเสวีนั่นแหละเป็นคนขายชาติให้ญี่ปุ่น"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:22

เรื่องญี่ปุ่นจะบุกเมืองไทยที่กำลังสนุกเข้าด้ายเข้าเข็ม ในฐานะนายทหารระดับผู้นำของประเทศ พระยาทรงท่านคาดเดาไว้แล้ว ไม่คิดว่านโบบายที่ประกาศตนเป็นกลางของรัฐบาลจะเป็นผล ระหว่างที่กระบอกเสียงปั่นสมองประชาชนผ่านคู่สนทนาสองคนคือนายมั่นกับนายคงให้ราษฎรเตรียมอาวุธทุกชนิดช่วยทหารไทยปกป้องแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้หลาวแเหลน กระทั่งหมามุ่ย ก็สามารถนำมาใช้ยับยั้งข้าศึกได้ เอ้าใครไม่รู้จักหมามุ่ยยกมือ

ในการประชุมสภาป้องกันราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายก่อนที่จะต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ พระยาทรงสุปความเห็นชัดเจนว่า ชาติที่เป็นกลางได้ต้องมีกำลังทหารมหาศาลที่จะป้องกันเขตแดนของตนจากมหาอำนาจคู่สงครามที่ต้องการรุกล้ำเข้ามาเพื่อสร้างความได้เปรียบฝ่ายศัตรู หากไม่มีกำลังทหารก็ต้องมีภูมิประเทศที่หินโหดเป็นปราการ

การใช้โฆษณาปาวๆให้ต่อสู้กับมหาอำนาจที่กำลังพลมากกว่าอาวุธดีกว่า เป็นการหลอกตัวเองและหลอกราษฎรที่ไม่รู้อิโน่อิเหน่ให้ตายฟรีๆโดยไม่มีประโยชน์อันใดต่อชาติ ประเทศเล็กที่อยู่ระหว่างคมหอกคมดาบของมหาอำนาจที่ประจันหน้ากัน จะต้องทำตนอย่างไรจึงจะรักษาตัวรอดได้ คำตอบคือ ก็ต้องเลือกอยู่กับผู้ที่จะชนะในยกสุดท้าย นั่นน่ะของตาย พูดอีกก็ถูกอีก แต่แม้จะรู้ว่าใครใหญ่กว่าใครและเลือกข้างถูกก็จริง  แต่ตอนเขารบกันในบ้านเราก็ละเอียดอยู่ดี  แต่ละเอียดแล้วเป็นฝ่ายชนะย่อมดีกว่าละเอียดแล้วเป็นฝ่ายแพ้

การยอมยกธงขาวให้ญี่ปุ่นผ่าน เป็นการซื้อเวลาไม่ให้บ้านเมืองละเอียดเร็วเกินไป ก็พี่ยุ่นแกเล่นขู่จะใช้เครืองบินรบถล่มพระบรมมหาราชวังก่อนเลย คงศึกษาประวัติศาสตร์มาว่าฝรั่งเศสเคยเอาเรือปืนเข้ามาขู่คนไทยอย่างนี้แล้วสำเร็จง่ายดายกระมัง จอมพล ป.ท่านก็เอาข้อนี้มาแก้ตัวกับคนไทยว่าทำไมจึงยอมแพ้เร็ว หมามุ่ยที่เตรียมไว้ยังไม่ได้ใช้เลย คนไทยก็เข้าใจ แต่เป๊บเดียวไปประกาศสงครามกับอังกฤษกับอเมริกาเสียแล้ว อันนี้ไม่เข้าใจ

พระยาทรงท่านเลือกข้างสัมพันธมิตรตั้งแต่ไก่โห่ แต่วิธีนี้คงไม่ช่วยให้ไทยต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งๆหน้าได้  นอกจากจะใช้วิธีการของฝรั่งเศสเสรี ดึงญี่ปุ่นออกจากเมืองไปรบกันในป่าด้วยกลยุทธสงครามกองโจร



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:24

ฐานะความเป็นอยู่ท่านดีขึ้นมามาก แม้จะไม่ถึงกับสบายแต่ก็ไม่ต้องตีนถีบปากกัด เออ..ครับ ผมเล่าข้ามไปว่าร้านขนมในบ้านสวนของท่านถูกค้นพบโดยสมเด็จกรมพระวรจักรฯ เจ้านายพระทัยดีองค์หนึ่งของเขมร ทรงเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์นโรดมในพระบรมโกศ พระองค์ทรงรู้กิตติศัพท์ของพระยาทรงสุรเดชและทรงเห็นใจมาก จึงทรงเมตตาเสนอให้เช่าบ้านหลังหนึ่งซึ่งเคยเป็นวังของพระเชษฐ์ภคินี(พี่สาว)ของพระองค์ในราคาเพียงเดือนละ15เหรียญ บ้านนี้ใหญ่ขึ้นกว่าที่เดิมและข้อสำคัญอยู่ในทำเลที่ดีขึ้นมาก ขนมไทยจึงขายดีขึ้น ตั้งโต๊ะสี่ห้าโต๊ะให้คนมานั่งทานในร้านก็ได้  พระยาทรงท่านก็มีงานหลักในงานควบคุมคุณภาพการผลิต ทำการชั่งตวงวัดส่วนผสมของขนมเองเพื่อรักษามาตรฐานความอร่อยให้คงที่  เมื่อเสร็จงานหลักประจำวันท่านก็มีงานเสริม ซื้อจักรยานเก่ามาถอดเปลี่ยนอะไหล่ แล้วซ่อมสร้างใหม่สวยงาม ขายได้กำไรคันละ 10 เหรียญ

เอาเป็นว่าระหว่างที่ผมไปยุ่งกับงานศพของน้าอยู่นั้น ท่านแข็งแรงมีเนื้อมีหนังขึ้น มีกำลังพอที่จะคิดการอะไรใหญ่ๆได้แล้ว



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:28

ตอนที่ไทยยึดครองดินแดนเขมรที่เคยเป็นของไทยมาในสมัยที่สยามเป็นนักล่าเมืองขึ้นใหญ่ประจำถิ่นกลับมาอยู่ในก้อมกอดอีกครั้งหนึ่ง คนเขมรที่ไม่ชอบการปกครองของฝรั่งเศสที่ผมเล่าไว้แล้วในต้นกระทู้ ก็อพยพครอบครัวเข้าไปในหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารตามศัพท์ที่เคยเรียกขานกัน วันหนึ่งๆหลายสิบครัวเรือน ตอนนั้นพระยาทรงก็ส่งคนเข้าไปแทรกซึมหาข่าวว่าข้าราชการ บุคคลสำคัญของไทยมีทัศนคติอย่างไรในเรื่องสงครามที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า แต่ยังไม่ทันจะเป็นผล เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่รวดเร็วมาก

รัฐบาลไทยได้จัดแบ่งการปกครองใหม่ในเขมร โดยยุบจังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย มารวมเป็นจังหวัดเดียวตั้งชื่อว่าจังหวัดพิบูลสงครามเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้พิชิต และสร้างอนุสาวรีย์ไก่ขาวกางปีกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจอมพล ป.เพราะท่านเกิดปีระกา ไว้เป็นอนุสรณ์กลางจังหวัดนี้ แต่ไหง๋เอาไก่ที่เขาเอาไปทำข้าวมันไก่ ไม่ใช้ไก่ชนพระนเรศวรเป็นสัญญลักษณ์ผมก็ไม่เข้าใจ อนุสาวรีย์นี้พอสงครามเลิกคนเขมรก็ทุบลงไปเป็นอิฐหักกากปูนตามระเบียบ

การปกครองของจังหวัดพิบูลสงคราม แบ่งออกเป็น 6 อำเภอ คือ

อำเภอไพรีระย่อเดช (ตามเขตอำเภอบ้านพวกเดิม)ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงไพรีระย่อเดช (ชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช) ผู้บัญชาการกองพลบูรพา และรองแม่ทัพด้านบูรพา
อำเภอกลันทบุรี (ตามเขตอำเภอกลันทบุรีเดิม)
อำเภอพรหมขันธ์ (ตามเขตอำเภอพรหมขันธ์เดิม)
อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต (ตามเขตอำเภอสำโรงเดิม)ตั้งชื่อตาม พันเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต)  แม่ทัพด้านอีสาน และผู้ช่วยแม่ทัพบกในขณะนั้น
อำเภอวารีแสน (ตามเขตอำเภอวารีแสนเดิม)
อำเภอจอมกระสานติ์ (ตามเขตอำเภอจอมกระสานติ์เดิม)
ต่อมาทางการได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพิบูลสงครามใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอจอมกระสานต์ไปขึ้นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย จังหวัดพระตะบอง มาขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนโดยเอาชื่อแม่ทัพนายกองของไทยที่ดังๆในการรบกับฝรั่งเศสมาตั้ง ท่านคงจะเข้าใจความรู้สึกของคนเขมรในท้องที่เหล่านั้นได้ ว่าจะสับสนเพียงไรกับชื่อยาวๆจำยาก แม้คนไทยแท้ๆที่นั่นยังเรียกไม่ถูก จำไม่ได้


จังหวัดพระตะบอง เป็นอีกจังหวัดหนึ่งของเขมร ที่พอไทยเข้าไปยึดครองใหม่ก็เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอต่างๆ ดังนี้

อำเภอเมืองพระตะบอง ตามเขตอำเภอพระตะบองเดิม
อำเภอพรหมโยธี ตามเขตอำเภอสังแกเดิมตั้งชื่อตาม นายพันเอกหลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี)
อำเภออธึกเทวเดช ตามเขตอำเภอระสือเดิมตั้งชื่อตามพลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศสนาม
อำเภอมงคลบุรี ตามเขตอำเภอมงคลบุรีเดิม
อำเภอศรีโสภณ ตามเขตอำเภอศรีโสภณเดิม
อำเภอสินธุสงครามชัย ตามเขตอำเภอตึกโชเดิม) ตั้งชื่อตาม พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพเรือ
อำเภอไพลิน ตามเขตอำเภอไพลินเดิม

ต่อมาทางการไทยได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพระตะบองเสียใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย ไปขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:31

ในเมืองลาวก็สลับสับสนเช่นเดียวกับเขมร

รัฐบาลไทยได้จัดตั้งจังหวัดลานช้าง ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวนี้คือ แขวงไซยะบูลีของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจังหวัดลานช้าง ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ

อำเภอสมาบุรี ตามเขตอำเภอสมาบุรีเดิม
อำเภออดุลเดชจรัส ตามเขตอำเภอปากลายเดิม ตั้งตามนามของ พลตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ หรือ อดุล อดุลเดชจรัส)
อำเภอแก่นท้าว ตามเขตอำเภอแก่นท้าวเดิม
อำเภอเชียงฮ่อน ตามเขตอำเภอเชียงฮ่อนเดิม
อำเภอหาญสงคราม ตามเขตอำเภอหงษาเดิม ตั้งตามนามของ พันเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) ผู้บัญชาการกองพลพายัพ

สุดท้าย

จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ หรือ แขวงจำปาสักของลาวในปัจจุบันแต่ครั้งนั้น รัฐบาลไทยขีดเส้นใหม่ให้จังหวัดนี้ยังกินอาณาบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดสตึงแตรง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพระวิหาร ของเขมรไว้ด้วยความคิดอันแยบยลที่ท่านเดาเอาเองก็แล้วกัน ว่ามีความประสงค์อันใด

อำเภอที่ขึ้นกับจังหวัดนี้มีดังนี้

อำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์ (ตามเขตอำเภอนครจัมปาศักดิ์เดิม)
อำเภอวรรณไวทยากร (ตามเขตอำเภอมูลปาโมกเดิม)ซึ่งตั้งตามพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพฝ่ายไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน
อำเภอธาราบริวัตร (ตามเขตอำเภอธาราบริวัตรเดิม)
อำเภอมะโนไพร (ตามเขตอำเภอมะโนไพรเดิม)
กิ่งอำเภอโพนทอง (ตามเขตกิ่งอำเภอโพนทองเดิม)
ต่อมาทางการได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพิบูลสงคราม มาขึ้นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 10:44

เรื่องจัดเขตแดนใหม่ เอาเมืองโน้นไปขึ้นกับเมืองนี้ เอาดินแดนเขมรไปไว้กับลาว คนเขมรก็พอทำใจ แต่พี่ท่านเล่นเอาวัธนะธัมนำไทยไปสู่มหาอำนาจไปบังคับใช้ คนเขมรยังพอฝืนใจมารำวงหลังอาหารกลางวันเพลงไทยไทรโยคได้ แต่เล่นแรงสั่งโค่นต้นหมาก ตัดต้นพลู ไม่ให้คนเขมรกินหมากเพราะเป็นคนไทยแล้ว ผู้หญิงต้องสวมหมวก คนเขมรก็เริ่มอกจะแตก พอถึงให้ผู้ชายต้องหอมเมียก่อนออกจากบ้าน ผู้นำครอบครัวก็สั่งให้สมาชิกลูกเด็กเล็กแดงอพยพกลับไปอยู่กับฝรั่งเศสนายเก่าดีกว่า นายใหม่มันบ้าๆบอๆเต็มที ตอนแรกๆคนเขมรอพอพไปอยู่เขตไทยวันหนึ่งหลายสิบครอบครัว ตอนหลังๆอพยพออกมาเป็นร้อย ในเขมรวุ่นวายเดือดร้อนกันไปทั่ว แนวร่วมของพระยาทรงที่คอยส่งข่าวในเขตไทยให้ถึงกับสลายตัว

ในลาวไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่รำวงนี่ดูท่าพี่น้องที่นั่นจะชอบ หรือเขารำของเขาอยู่นานแล้ว จอมพลแปลกไปอำของเขามาว่าเป็นวัธนะธัมไทยผมก็ไม่รู้นะ


พูดถึงเรื่องนี้ ผมสงสัยขึ้นมาว่าแล้วทางพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ของเราจะเป็นอย่างไร เข้าไปถามนายกูเกิน ๆก็ส่งบทความมาหลายบท เจ็บแสบเข้าทรวง วัธนะธัมไทยให้ตั้งพระพุทธรูปในโรงเรียนและสถานที่ราชการ ให้นักเรียนและข้าราชการสวดมนต์ ตอนเคารพธงร้องเพลงชาติทำเอาบ้านเมืองที่เคยสงบสันติ ลุกเป็นไฟทันที
อ่านบางตอนตามสำนวนดั้งเดิมของเขาก็แล้วกัน

การเชื่อมโยงศาสนาพุทธ เข้ากับ "ความเป็นคนไทย" นี้ ไปไกลถึงขั้นที่ช่วงหนึ่งหลวงพิบูลฯสั่งให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ สำรวจว่ามีข้าราชการคนใดบ้างไม่นับถือศาสนาพุทธ และพยายามชักชวนคนเหล่านี้ "ให้มานับถือศาสนาพุทธเสียให้หมด หากผู้ใดไม่ยอมเปลี่ยนก็ให้ทางราชการตั้งข้อรังเกียจต่างๆ เช่น ไม่พิจารณาเลื่อนเงินเดือนเป็นต้น" (คำพูดหลวงอดุลเดชจำรัส ในที่ประชุม ครม. 23 เมษายน 2484 ผมควรชี้ว่าหลวงอดุลฯ กำลังเน้นที่คนนับถือคริสต์ ไม่ใช่อิสลาม) และมีการออกระเบียบกรมตำรวจไม่รับคนที่ไม่นับถือพุทธเป็นตำรวจ(มีข้อยกเว้น "ไปพลางก่อน" ให้ 4 จังหวัดภาคใต้) หลวงพิบูลฯเองกล่าวสนับสนุนข้อบังคับนี้ว่า "เมืองไทยเป็นของไทยมิควรจะให้คนศาสนาอื่นอยู่!"

อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลพยายามทำ "ให้เป็นไทยจริงๆ" คือเรื่องภาษา กรณีภาคใต้ หลวงพิบูลฯแสดงความไม่พอใจที่ "ปรากฏว่าทางใต้ การติดต่อพูดจาทางราชการบางทีต้องพูดภาษาแขก ไม่ใช้ภาษาไทย หนักเข้าต้องพูดภาษาแขกหมด" (ประชุม ครม. 21 กุมภาพันธ์ 2482) และกล่าวว่า "อยากสั่งข้าราชการให้พยายามพูดภาษาไทยกับชาวพื้นเมือง" (ประชุม ครม. 31 มกราคม 2482) ประยูร ภมรมนตรี เสนอว่าให้หาทางส่งข้าหลวงที่คนท้องถิ่นนิยม แล้ว "หาวิธีบังคับให้แก(คนท้องถิ่น)พูดภาษาไทย"
ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ตำหนิว่า ที่ผ่านมาเรื่องภาษาไทยนี้ "พวกข้าหลวงอะลุ้มอะล่วยเกินไป" ให้กับคนอิสลามในท้องถิ่น
………………………………………………………………………………………………..................................................................
        
จนกระทั่งมีการบังคับให้ประชาชนที่เป็นชายใส่กางเกง ไม่ให้ใส่สะโหร่ง ผู้หญิงไม่ให้สวมผ้าคลุมหัว ในโรงเรียนไม่ให้มีการพูดและสอนภาษามลายู และภาษาอาหรับ โดยให้พูดและสอนภาษาไทยเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่ให้มีการอ่านคำภีร์อัล-กุรอาน แล้วอย่างนี้ใครที่ไหนที่รับได้ ลองนึกดูนะครับเกิดมีผู้มีอำนาจในบ้านเรามาบอกเราว่า ห้ามคุณเข้าวัด ห้ามสวดมนต์ ห้ามพูดและเรียนภาษาไทย ห้ามทักทายโดยการยกมือไหว้ ท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังได้รับการปฎิบัติจากเจ่าหน้าที่รํฐอย่างไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ นโยบายต่างๆเกิดจากการไม่เข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่าง ทำให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น
 
          เมื่อถูกกดขี่ข่มเหงมากเข้าก็เกิดความชิงชัง เคียดแค้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เริ่มมีการรวมกลุ่ม แยกสังคมออกจากกันระหว่างชาวไทยพุทธ กับชาวมุสลิม เกิดเหตุพิพาทขึ้มมาเจ้าหน้าที่รัฐมักจะเข้าข้างเฉพาะชาวไทยพุทธ  และปฎิบัติกับชาวไทยมุสลิมไม่อย่างเท่าเทียม
         จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่หมู่บ้าน ดุซงญอ ในจังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดขึ้นมาจากขณะนั้น โจรชาวจีนมลายูมีมาก และมักจะเข้ามาปล้นสะดมชาวบ้านแถวนั้นอยู่บ่อยๆ จึงทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 500 คน หรืออาจมากกว่านั้น เพื่อทำพิธีอะไรบางอย่างอาจจะเป็นการเพื่อบูชาให้ตัวเองอยู่ยงคงกระพัน ไว้ต่อสู้กับโจรจีนมลายูก็เป็นได้ แต่เมื่อเรื่องนี้รูไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐสยามเข้าก็เลยส่งตำรวจมาปราบปรามคิดว่า ชาวบ้านเตรียมการก่อกบฎ มีการต่อสู้กันอยู่นานและทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตไปถึง 400 คน เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 40 นาย จนเป็นที่กล่าวถึงว่า "กบฎดุซงญอ"  จนถึงทุกวันนี้

ปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เกี่ยวพันเชื่อมโยงมาจนถึงปัญหาทุกวันนี้  ถ้ายังจำได้เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ "กรือเซะ" ผู้ก่อการร้ายก็เอาวันเดียวกันนี้ปฎิบัติการ ไม่ใช่แค่ไม่มีใครลืม แต่มันกลับถูกนำมาเป็นการยุยงผู้ที่สูญเสียญาติในครั้งนั้น รวมถึงผู้ที่มีความเกลียดชังเจ้าหน้าอยู่แล้วให้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วย  ปัญหาต่างๆ ความเคียดแค้นมันถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งมาสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างเป็นวัฎจักรที่ไม่หมดสิ้น

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………...............


มาถึงตรงนี้ผมต้องขอสารภาพ ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านเรื่อง “ตนกู อับดุล ราห์มัน ชาวสยามที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย” คงจำได้เมื่อผมเล่าถึงคำพูดของท่านที่ผมประทับใจจนต้องนำมาเขียนเรื่องดังกล่าว

ผมเพิ่งจะเข้าใจความหมายแฝงที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ในใบหน้ายิ้มๆขณะที่ท่านพูกว่า “ I was  Siamese, but not a Thai” มันละเอียดอ่อนกว่าที่ผมเคยนึกคิดมาก เมืองเคดะห์ของท่านตนกูได้กลับไปเป็นเมืองไทรบุรีของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่2เมื่อญี่ปุ่นตีอังกฤษในมลายูแตกแล้วยกดินแดน3รัฐให้เป็นของเล่นของจอมพล ป. แม้ว่าข้าราชการไทยไม่ได้ฮึกเหิมเหมือนตอนหักเขมรและลาวมาจากฝรั่งเศส และพยายามรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีในดินแดนมลายู แต่เรื่องที่คนมุสลิมถูกรังแกในนราธิวาสคงเป็นข่าวใหญ่ก่อนที่ข่าวร้ายเรื่องญี่ปุ่นยกดินแดนของตนให้ไทยมาแล้ว ท่านตนกูคงจะทราบดี โชคดีของคนไทยที่อำนาจของจอมพล ป.อ่อนลง ไม่สามารถพยายามหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่าอีกได้ต่อไป มิฉนั้นเราอาจมีมาเลเซียเป็นศัตรูถาวร

แผลหัวใจของคนมุสลิมที่ถูกกรีดไปแล้ว พอตกสะเก็ด ยังไม่เป็นแผลเป็นก็มีนักการเมืองไปสะกิดให้เลือดกระฉูดออกมาอีก เลอะนองแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย
ในเขมรและลาวเองก็เถอะ ถ้าไม่ต้องคืนเขาไปหลังสงคราม ตอนนี้ถึงจะครอบครองแผ่นดินของเขาได้ ก็คงจะยังต้องรบราฆ่าฟันกันไม่จบ นับศพได้ไม่ถ้วน


บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 13:51

สมัยยังเด็กอยู่ชายแดนภาคใต้ คนในท้องถิ่นที่รู้จักมีความรู้สึกไม่ชอบข้าราชการและตำรวจจริงๆค่ะ
จำได้ว่าเคยมีเหตุการณ์ทหารกับตำรวจทะเลาะกัน ชาวบ้านเอาใจเชียร์ทหารกันเกือบยกหมู่บ้าน

ยังไงก็แล้วแต่ ทั้งๆที่บ้านเคยเป็นเขตพื้นที่อันตราย แต่คนไทยคนมุสลิมหรือคนจีนอยู่ร่วมกันอย่างสันติค่ะ
ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครนับถือศาสนาอะไร

โชคดีที่ไม่เกิดในสมัยที่รัฐบาลพยายามทำ "ให้เป็นไทยจริง"  ขยิบตา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 14:30

ชาติหว่านสงคราม ประชาชนหว่านความรัก

นักอุดมคติท่านผู้หนึ่งว่าไว้

มนุษย์ส่วนมากในโลกมีความเป็นมิตรต่อกัน แต่พอแบ่งสี แบ่งชาติ แบ่งศาสนาแล้ว ก็อาจเกลียดกัน ถึงฆ่ากันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล
การรักชาติ รักศาสนาของตนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกินขีด จะกลายเป็นคลั่งชาติ คลั่งศาสนาอันนำไปสู่สงครามระหว่างมนุษยชาติ

สงครามการเมือง เกิดจากนักการเมืองปลุกปั่น ปลูกฝังความเกลียดชังขึ้นมาแทนความรัก ญาติพี่น้องฆ่ากัน กว่าจะรู้ตัวว่าชัยชนะที่ได้มาบนซากศพของพี่น้อง หรือผู้ที่เคยเป็นญาติมิตร คนชาติเดียวกันทั้งนั้น  ไม่คุ้มค่าเลยกับความสูญเสีย ...ก็สายเกิน
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 14:35

ท่านผู้อ่านคงจำมองซิเออร์ วิกเตอร์ บูรฺเกย หรืออาบูสมัยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญได้ นายคนนี้เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสแม่เป็นไทย คบหาติดต่อพระยาทรงอยู่ตั้งแต่เมืองไซ่ง่อนและเป็นผู้ที่พระยาทรงเจาะจงให้พาตนนำเงิน800เหรียญที่มีคนของรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสนำมาให้ไปบริจาคต่อกับสภากาชาด เพื่อจะได้เข้าหูเจ้าของเงิน ครั้งสุดท้ายอาบูมาหาท่าน บอกว่าตนกำลังจะเดินทางไปฝังตัวกับญาติพี่น้องทางแม่ที่กรุงเทพ เพื่อสืบเสาะดูว่ามีใครในบ้านเมืองที่คิดจะต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อจะได้หาทางเชื่อมโยงร่วมทำงานใหญ่กันต่อไป พระยาทรงท่านเห็นดีด้วย แต่เตือนว่าต้องระมัดระวังตัวให้ยิ่งยวด สายลับไทยเยอะแยะแทบจะเดินชนกันตายอยู่แล้วยังมีสายลับของญี่ปุ่นมาเสริมเข้าไปอีก อาบูต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบให้มาก อย่าเอาแต่ได้โดยไม่คิดเสีย อาบูแสดงความขอบคุณแล้วก็ร่ำลา ยังไม่ได้พบกันอีกเลย

ระหว่างที่แสนยานุภาพของญี่ปุ่นในอินโดจีนเคลื่อนพลเข้าประชิดชายแดนทั้งด้านเขมรและลาว ในอ่าวไทยมีเรือรบและเรือลำเลียงพลคึกคักรอคำสั่งปฏิบัติการอยู่นั้น นายทหารบกยศพลตรีของกองทัพลูกพระอาทิตย์ก็ขอนัดหมายมาพบ เพื่อเยี่ยมคำนับท่านที่บ้านในกรุงพนมเปญถึงสามครั้ง โดยครั้งที่3ซึ่งเป็นครั้งสำคัญที่สุด มากันถึง5คน ระหว่างนั้น คุณทวีวงศ์ พันธุมเสน บุตรชายคนที่สอง เคยเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น4-5ปีทำหน้าที่ล่าม

คำถามแรกหลังบรา บรา บรา บรากันแล้ว ญี่ปุ่นอยากทราบว่า ในฐานะที่ร่วมงานสำคัญยิ่งยวดกันมา พระยาทรงสุรเดชคิดว่า หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงอดุลเดชจรัส หลวงสินธุสงครามชัย เป็นคนอย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่

พระยาทรงได้แจ้งความรู้สึกไปโดยสุจริตใจว่า บุคคลทั้งสี่มีความรักชาติบ้านเมือง และมีอุดมการณ์สูงคล้ายคลึงกัน
หลวงพิบูลนั้น ผู้ที่ใครได้คบหาแล้วยากที่จะมองข้ามความสุภาพอ่อนน้อม มีความสามารถผูกใจคนให้นิยมรักชอบตนได้ดียิ่ง
ญี่ปุ่นสวนกลับมาตรงนี้ว่า แล้วจะเชื่อได้ไหมว่าหลวงพิบูลจะจริงใจต่อญี่ปุ่น ท่านก็ตอบอย่างมีชั้นเชิงว่า คนญี่ปุ่นน่าจะทราบดีกว่าท่าน คบเป็นมิตรสนิทสนมกันมานานแล้วมิใช่หรือ
ญี่ปุ่นเสียงอ่อยลงบอกว่า ไม่มีความมั่นใจเลย พฤติกรรมของหลวงพิบูลบางอย่างเอนไปเอนมา แล้วหลวงอดุลล่ะ คนคนนี้เป็นอย่างไร
พระยาทรงตอบว่า คนนี้เป็นคนทำงานเอาจริงเอาจัง มีแนวทางนโยบายชาตินิยมน่าสรรเสริญ ญี่ปุ่นถามเข้มว่า แล้วหลวงอดุลชอบญี่ปุ่นหรือไม่
พระยาทรงหัวเราะ ใครๆก็รู้กันทั้งเมืองว่าหลวงอดุลเกลียดญี่ปุ่น แต่โดยส่วนตัวที่คบกันแบบเพื่อนฝูงแล้ว ญี่ปุ่นคนไหนรัก คนไหนชอบหลวงอดุล หลวงอดุลก็รักก็ชอบตอบเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป  ญี่ปุ่นก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่

เอ้า ตานี้หลวงสินธุ์ แม่ทัพเรือ พระยาทรงก็บอกว่าคนนี้เป็นคนตรงไปตรงมา นิสัยซื่อสัตย์มั่นคงเด็ดเดี่ยว เห็นประจักษ์ในวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่ามีความรู้ความสามารถ ทำงานจริง น่านับถือ

คนสุดท้าย หลวงประดิษฐ์ พระยาทรงท่านบอกว่าตามสายตาท่านแล้ว เป็นคนสุขุมล้ำลึก มีความรักชาติ แล้วก็เงียบ ญี่ปุ่นก็ผงกหัวขึ้นๆลงๆ ไม่ว่ากระไร นิ่งไปสักครู่ก็ยิงคำถามสำคัญ ช้าๆและหนักแน่นว่า พระยาทรงสุรเดชสนใจจะทำงานการเมืองในช่วงนี้หรือไม่ ท่านยิ้มเปิดเผย ตอบว่าไม่ขอสนุกด้วยอีกแล้ว เพราะท่านได้รับบทเรียนที่ล้ำค่า คนอย่างท่านไม่เหมาะที่จะเป็นนักการเมือง

บัดนั้น คณะนายทหารที่มาด้วยก็ช่วยกันหว่านล้อมพร้อมข้อเสนอประกอบเหตุผลมากมาย ท่านก็ยืนยันคำตอบเดิม ผมพยายามจะแคะไค้มานำเสนอท่านผู้อ่านว่า ญี่ปุ่นตั้งข้อเสนออย่างไร แต่ก็ล้มเหลวเพราะท.ส.ของท่านผู้เขียนบันทึกนี้ได้หักปากกาทิ้งเสียแล้ว จบกัน

นายพลลูกพระอาทิตย์ทั้งห้าสุดปัญญาจะเปลี่ยนใจนายพันเอกผู้มักน้อย ไม่ยอมขายตัวเป็นหุ่นเชิดให้รัฐบาลทหารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้ ก็ลุกขึ้นคำนับอย่างสุดซึ้ง ขอลากลับไปรับทานซูชิดีกว่า กว่าจะสิ้นสุดไปจากสายตาซึ่งกันและกันได้  โค้งกันไปโค้งมาเกือบสิบครั้งตามธรรมเนียม





บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 10 ก.ค. 10, 16:02

ผมเป็นนักเรียนมาสายสุด    อาจารย์เข้าห้องเชคชื่อไปแล้วหลายวัน   ผมพึ่งมาถึง     
เข้ามารายงานตัวก่อนครับ    หลังจากนั้น   ค่อยย้อนกลับไปอ่านกระทู้ไล่หลัง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง